ถั่วลันเตา ธัญพืชเก่าแก่หลายพันปีที่กินดีได้ทุกส่วน

ถั่วลันเตา พืชตระกูลถั่วเก่าแก่ชนิดหนึ่ง นับอายุย้อนกลับไปได้ราว 8-9000 ปีเลยทีเดียว ที่มีถิ่นกำเนิดแถบประเทศเอธิโอเปีย และต่อมาจึงได้แพร่กระจายไปยังประเทศในแถบ เมดิเตอร์เรเนียน เอเชีย และเขตอบอุ่นต่างๆ ของโลก รวมถึงประเทศไทย เป็นพืชที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยวิตามิน และสารต้นอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังมีกากใยที่ยอดเยี่ยม เป็นแหล่งอาหารอันเลอค่า  ถูกใช้เป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารสไตล์ตะวันตกมากมาย ถั่วลันเตาอาจจะปลูกและดูแลยากสักหน่อย แต่ก็คุ้มค่ากับคุณค่าที่ได้จากถั่วประเภทนี้อย่างแน่นอน

ถั่วลันเตาหวาน

ข้อมูลทั่วไป

 ชื่อภาษาอังกฤษ : Pea/Green pea

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pisum sativum

ชื่อสามัญ : Sugar bean, Pea,Sweet pea, Garden pea, Green pea 

หลายคนคงอาจจะสงสัยว่า คำว่า ถั่วลันเตา ได้มาอย่างไร เพราะชื่อดูคล้ายกับชื่อในภาษาจีน ซึ่งจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์มีการสันนิษฐานว่า เมื่อครั้งประเทศจีนที่มีการนำเข้าถั่วลันเตาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ คนจีนเรียกถั่วนี้ว่า “ฮอลแลนด์เตา” หรือ “ฮอลลันเตา” ซึ่งคำว่า “เตา”  ภาษาจีนแปลว่า “ถั่ว” และคำนี้จึงถูกใช้เรียกต่อๆกันมาในหมู่คนจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย จนเกิดเป็นคำใหม่ในภาษาไทยว่า “ถั่วลันเตา” นั่นเอง

ลักษณะของต้นถั่วลันเตา  

ลำต้น

ถั่วลันเตามีลำต้นเป็นเถาเลื้อย ที่มีลำต้นหลัก และแตกกิ่งสาขาตามข้อของลำต้น ลำต้นหลักสามารถยาวได้มากกว่า 2 เมตร

ใบ

ลักษณะใบของถั่วลันเตาเป็นใบประกอบ มีก้านใบหลักแทงออกบริเวณข้อของลำต้น ประกอบด้วยหูใบ 1 คู่ มีลักษณะเรียบหรือหยักลึก โดยมีใบย่อยออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ใบมีสีเขียว โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ผิวใบเรียบ มีขนขนาดเล็ก มีเส้นใบชัดเจน

ถั่วลันเตา สรรพคุณ

ดอก

ดอกถั่วลันเตาออกเป็นช่อ ช่อละ 1-3 ดอก แทงออกบริเวณระหว่างโคนใบของข้อในลำต้น 

ผล

ซึ่งในที่นี้หมายถึง ฝักของถั่วลันเตาอ่อน จะมีลักษณะสีเขียว แบนเรียบ แต่จะนูนเฉพาะบริเวณของเมล็ด เมื่อฝักโตจะมีลักษณะอวบนูนทั้งฝัก มองไม่เห็นส่วนของเมล็ด ฝักจะโค้งคล้ายดาบ เมล็ดภายในฝักมีประมาณ 5-7 เมล็ด ขึ้นอยู่กับพันธุ์

ถั่วลันเตา โภชนาการ

ประโยชน์ของถั่วลันเตา

ถั่วลันเตา เป็นพืชมหัศจรรย์อีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วน ซึ่งประโยชน์ส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ที่คุณค่าทางโภชนาการที่สูง อีกทั้งยังจัดเป็นพืชสมุนไพรที่ช่วยบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยบางประเภทได้เป็นอย่างดีอีกด้วย โดยส่วนต่างๆ ที่เรานิยมนำมารับประทานได้แก่ 

  • ฝักอ่อนนำมาปรุงอาหารได้หลายเมนู เช่น ผัดผัก ผัดหมูถั่วลันเตา รวมถึงนำมาลวกหรือรับประทานสดเป็นผักจิ้มน้ำพริก
  • ยอดอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือ ใช้ปรุงอาหาร เช่น แกงเลียง แกงจืด เป็นต้น
  • เมล็ดสด นำมาใช้ปรุงอาหารจำพวกผัด ทอดต่างๆ เพิ่มสีสันหน้าตาชวนรับประทาน แถมยังมีคุณค่าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในตำรับอาหารตะวันตก ซึ่งโดยมากจะเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปถั่วลันเตากระป๋อง ถั่วลันเตาแช่แข็ง
  • เมล็ดแห้ง ใช้คั่วเกลือรับประทานเป็นอาหารว่าง ใช้ผลิตแป้งจากถั่วลันเตา
  • ต้น และใบถั่วลันเตา ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใช้เป็นแหล่งอาหารหยาบสำหรับเสริมโปรตีน

วิธีการปลูก และ ดูแลการปลูก

ถั่วลันเตาเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีระบบรากลึกในดินตื้น ดังนั้นจึงควรไถดินให้ลึกประมาณ 30 เซนติเมตรก็เพียงพอแล้วตากดินทิ้งไว้ราว 5-7 วัน โดยมั่นใจว่าไม่มีวัชพืชหลงเหลืออยู่ในดิน หลังจากนั้น ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักไว้ตามร่อง เพื่อปรับสภาพดิน และเพิ่มแร่ธาตุดิน แล้วไถพรวนดินอีกครั้ง พร้อมยกแปลงกว้าง 70-80 เซนติเมตร สำหรับแถวเดียว และกว้างประมาณ 140-150 เซนติเมตร หากพบว่าดินมีสภาพเป็นกรดจัด โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกในภาคกลางตอนล่าง ควรใส่ปูนขาวร่วมกับการหว่านปุ๋ยคอกไปพร้อมกัน

เมื่อเตรียมแปลงปลูกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงนำเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำไว้แล้วประมาณ 1 คืน และคลุกด้วยยากันเชื้อรา และหยอดเมล็ดลงหลุม หลุมละประมาณ 3-4 เมล็ด ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 30 เซนติเมตร กลบด้วยหน้าดิน และคลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากปลูก 3-5 วัน เมล็ดถั่วลันเตาจะเริ่มงอก เมื่อต้นอ่อนมีใบจริง 3-5 ใบ หรือสูงประมาณ 8-10 เซนติเมตร ให้ถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง โดยให้เหลือเพียงหลุมละ 2 ต้น หรือหากเป็นการหยอดแบบไม่เป็นหลุมให้ถอนเหลือต้นเดียวตามระยะที่เหมาะสม

ดิน

ถั่วลันเตาสามารถเติบโต และทนต่อสภาพดินทุกชนิดได้ดี แต่ชอบดินร่วนปนดินเหนียว การระบายน้ำดี เป็นกรดเล็กน้อย ระดับ pH 5.5-6.8 ดินมีความชื้น ไม่ชอบดินแห้ง และแล้ง เพราะเป็นพืชที่ไม่ทนต่อสภาพขาดน้ำ แต่ไม่ชอบดินที่มีน้ำท่วมขังหรือแฉะเกินไป  ชอบอากาศเย็น จึงนิยมปลูกในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิระหว่าง 10-27 องศาเซลเซียส

น้ำ

การให้น้ำจะให้เพียงวันละ 1 ครั้ง ในระยะ 1-2 เดือนแรก และค่อยลดเป็น 2-3/ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และความชื้นในดิน แต่ละครั้งที่ให้น้ำควรให้เพียงหน้าดินชุ่ม ไม่ควรให้น้ำมากจนดินแฉะ อาจให้โดยวิธีปล่อยน้ำไหลตามร่อง แต่จะเปลืองน้ำหรือแบบสปริงเกอร์

ปุ๋ย

สำหรับปุ๋ยที่นิยมใส่ คือ สูตร 15-15-15  ในอัตรา 30 กก./ไร่ ใส่ในที่ถั่วลันเตาเริ่มออกดอก โดยโรย ปุ๋ยตามแนวยาวของแถวทั้ง 2 ข้าง ระยะห่างจากโคนต้น 8-10 เซนติเมตร พร้อมพรวน ดินกลบปุ๋ย และรดน้ำตาม

สายพันธุ์ถั่วลันเตา

ถั่วลันเตา ที่นิยมปลูกกันทั่วโลกนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ว่ากันว่าในแถบบริเวณประเทศเอธิโอเปียนั่นเอง ก่อนจะมีการแพร่ขยายเข้ามาในแถบประเทศเมดิเตอร์เรเนียน ทางตุรกีและซีเรีย และเอเชีย โดยเชื่อว่าถั่วลันเตาการผสมข้ามพันธุ์ของพืชตระกูลถั่ว 2 ชนิด คือ Pisum arvense และ Pisum elatius Steven สายพันธุ์ที่ เพาะปลูกในไทยตอนนี้จึงเป็นลูกผสมระหว่างสองสายพันธุ์ดังกล่าว โดยในเมืองไทย พันธุ์ที่ใช้กินฝักยังถูกแบ่งออกได้เป็น 2 พวก นั่นก็คือ

พันธุ์ฝักใหญ่

เป็นพันธุ์ที่ให้ฝักขนาดใหญ่ ขนาดฝักยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5-4.0 เซนติเมตร เมล็ดในฝัก 5-7 เมล็ด ได้แก่ พันธุ์ฝาง-7 และพันธุ์ฝักใหญ่เชียงราย

พันธุ์ฝักเล็ก

เป็นพันธุ์ที่ให้ฝักขนาดเล็ก ฝักยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ฝักมีเมล็ด 2-7 เมล็ด ได้แก่ พันธุ์ฝักเล็กเชียงราย พันธุ์แม่โจ้ 1, พันธุ์แม่โจ้ 2, พันธุ์แม่โจ้ 12 และพันธุ์แม่โจ้ 55

ถั่วลันเตาหวาน

คุณค่าทางอาหาร ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน : 52 กิโลแคลอรี่
  • ใยอาหาร : 3.3 กรัม
  • โปรตีน : 4.3 กรัม
  • ไขมัน : 0.1 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต : 8.5 กรัม
  • แคลเซียม : 171 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส : 115 มิลลิกรัม
  • เหล็ก : 1.5 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 1 : 0.11 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 : 0.09 มิลลิกรัม
  • ไนอาซีน : 1.4 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี : 23 มิลลิกรัม
  • เบต้าแคโรทีน : 11.8 ไมโครกรัม

ข้อควรรู้ก่อนทานถั่วลันเตา

อย่างที่ทราบกันดีว่าถั่วลันเตามีคุณประโยชน์มากมายโดย ยอดอ่อน และฝักอ่อนอุดมด้วยสารเบต้าแคโรทีน และคลอโรฟิลล์ ที่ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อม และโรคทางตาต่างๆ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณ ลดการทำลายเซลล์จากแสงแดด ช่วยบำรุงเซลล์ ป้องกันเซลล์จากพิษของสารเคมี และช่วยขับสารพิษ และยังรวมถึงมีฤทธิ์ต่อต้านเซลล์มะเร็งด้วยความที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูง
เมล็ดถั่วลันเตา ที่อยู่ภายในฝัก ยังอุดมด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ดี เป็นแหล่งโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำมาทานเป็นอาหารว่างอันทรงคุณประโยชน์

แหล่งอ้างอิง

: http://hort.ezathai.org/?p=3860

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้