ปัจจุบันเกษตรกรหันมาให้ความสนใจในการเลี้ยงกุ้งฝอยกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี และที่สำคัญลงทุนไม่เยอะ อีกทั้งยังใช้เวลาในการเลี้ยงระยะสั้น เกษตรกรจึงหันมาสนใจ และเลี้ยงกุ้งกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริม นอกจากนี้แล้วกุ้งฝอย ยังสามารถเลี้ยงได้หลายแบบอย่างเช่น เลี้ยงในบ่อดิน และบ่อซีเมนต์ ซึ่งใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย และสะดวกต่อการทำความสะอาดอีกด้วย กุ้งฝอยเป็นกุ้งน้ำจืดขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายลูกกุ้งก้ามกราม พบทั่วไปในแหล่งน้ำจืดทั่วทุกภาคของประเทศไทย ชอบซ่อนตัวตามใต้ซอกหิน ก้อนหิน หรือเกาะตามพืชน้ำ กุ้งฝอยชอบอาศัยอยู่ในน้ำนิ่งหรือน้ำไหลเอื่อย ๆ มีลักษณะขุ่นมีระดับน้ำไม่ลึก กุ้งฝอยเป็นสัตว์น้ำที่มีรสชาติดีและมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งโปรตีน แคลเซียม และแร่ธาตุอื่น ๆ อีกมากมาย จึงทำให้มีความนิยมในการนำมาบริโภคกันเป็นอย่างมาก ซึ่งกุ้งฝอยสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย แต่ที่นิยมรับประทานกันมากที่สุดคือ กุ้งเต้น กุ้งฝอยทอด ตำกุ้ง พล่ากุ้ง แกงกุ้งฝอย น้ำพริกกุ้ง หรือบางคนก็นำมารับประทานสด ๆ เป็นต้น บางพื้นที่ยังนำกุ้งไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างกะปิ หรือกุ้งฝอยแห้ง นอกจากเป็นอาหารของมนุษย์แล้ว กุ้งฝอยยังมีความสำคัญในระบบห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติด้วย เนื่องจากเป็นอาหารของปลากินเนื้อหลายชนิด เช่น ปลาบู่ ปลาสลาด ปลากราย หรือปลาสวยงาม เป็นต้น
รู้จักกับกุ้งฝอย
อาจารย์ ดร.บัญชา ทองมี คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับโครงการเครือข่าย สวทช.ภาคเหนือ ได้รวบรวมไว้ว่า กุ้งฝอยเป็นกุ้งน้ำจืดขนาดเล็กมีชื่อสามัญว่า Lanchester, s Freshwater Prawn และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macrobrachium lanchesteri ,de Man ลูกฝอยกุ้งขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายลูกกุ้งก้ามกรามมาก แต่มีลักษณะเด่นที่สามารถแยกระหว่างลูกก้ามกรามและกุ้งฝอยได้คือ กรีของกุ้งฝอยมีลักษณะตรง ด้านบนมีฟันหยัก 4-7 ซี่ ด้านล่าง 1-2 ขณะที่กรีของกุ้งก้ามกรามมีลักษณะโค้งขึ้น มีฟันหยักด้านบน 12-15 ซี่ลูกกุ้งฝอยและกุ้งฝอยตัวเต็มวัยมีลักษณะลำตัวใส ซึ่งจะช่วยในการพรางตัว ป้องกันศัตรูธรรมชาติได้ดี ทั้งยังมีประสาทรับกลิ่น (กุ้งหาอาหารโดยใช้กลิ่นเป็นหลัก) มีขาเดิน 5 คู่ บริเวณด้านล่างของส่วนอก ขาเดินคู่ที่ 1 และ 2 บริเวณส่วนปลายจะมีลักษณะเป็นก้ามหนีบ โดยก้ามหนีบคู่ที่ 2 จะมีขนาดโตกว่าไว้สำหรับจับอาหารเข้าปาก บริเวณลำตัวมีลักษณะเป็นปล้อง ๆ มีทั้งหมด 6 ปล้อง บริเวณด้านล่างของปล้องที่ 1-5 จะมีขาว่ายน้ำ ปล้องละ 1 คู่ กุ้งฝอยไม่มีถุงลมช่วยในการลอยตัวเหมือนในปลา การเคลื่อนที่สามารถใช้ขาว่ายน้ำว่ายไปด้านหน้าหรือถอยหลัง งอตัวดีดออกไปในทิศทางต่าง ๆ กุ้งฝอยสามารถพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดทั่วทุกภาคของประเทศไทย ชอบซ่อนตัวตามใต้ก้อนหิน หรือเกาะตามพรรณไม้น้ำ ชอบอาศัยอยู่ในน้ำนิ่งหรือน้ำไหลเอื่อย ๆ ที่มีลักษณะขุ่นมีระดับน้ำลึกไม่เกิน 1 เมตร มีอินทรียวัตถุทับถมกัน โดยกุ้งฝอยกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์แต่ชอบกินของเน่าเปื่อยเป็นอาหาร ชอบออกหาอาหารเวลากลางคืนแต่สามารถกินอาหารในช่วงกลางวัน หากปริมาณออกซิเจนต่ำการกินอาหารจะลดลง
การแยกเพศของกุ้งฝอย
กุ้งฝอยตัวเต็มวัยจะสามารถแยกเพศได้ง่าย โดยกุ้งฝอยเพศเมียจะมีส่วนอวัยวะเพศใต้ท้องมีสีเขียว และดูได้จากด้านในของขาเดินคู่ที่ 3 มีช่องเปิดของไข่ และขาเดินคู่ที่ 5 มีช่องเปิดสำหรับ ส่วนกุ้งฝอยเพศผู้ เปลือกที่หัวจะมีสีขุ่นออกเหลือง และเพศผู้จะมีติ่งยื่นออกมาจากขาว่ายน้ำคู่ที่ 2 ส่วนขนาดลำตัวจะพบเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ มีช่องเปิดสำหรับเก็บน้ำเชื้อ ตัวผู้ตรงบริเวณส่วนปลายของขาว่ายน้ำคู่ที่ 2 จะมีลักษณะเป็นแผ่น 2 แผ่น โดยมีติ่งยื่นออกมา 1 ปีเรียก appendix interna เพศผู้ดูได้จากด้านในของขาเดินคู่ที่ 5 เป็นปุ่มสำหรับเป็นที่เปิดของน้ำเชื้อตัวผู้บริเวณส่วนปลายของขาว่ายน้ำคู่ที่ 2 จะเป็นลักษณะเป็นแผ่น 2 แผ่นมีติ่งยื่นออกมา 2 ติ่งเรียกว่า appendix musculina และลักษณะอื่น ๆ ที่พอจะแยกกุ้งฝอยและเพศผู้และเพศเมียได้คือ บริเวณส่วนหัวของกุ้งฝอยเพศผู้ มีสีน้ำตาลเหลืองส่วนในเพศเมียมีสีเขียว กุ้งตัวผู้จะมีขนาดเล็กรูปร่างเพรียวส่วนเพศเมียจะมีขนาดโตกว่ารูปร่างค่อนข้างป้อม (บัญชา ทองมี, 2555)
การผสมพันธุ์
กุ้งฝอยเพศเมียจะเริ่มมีไข่และผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 60 วันขึ้นไป จะสร้างไข่เก็บไว้ในถุงเก็บไข่ กุ้งเพศผู้จะพยายามติดตามกุ้งเพศเมียตลอดเวลา หลังจากกุ้งเพศเมียลอกคราบภายใน 3-6 ชั่วโมง ขณะที่เปลือกของกุ้งเพศเมียยังอ่อนอยู่จะมีการผสมพันธุ์กัน โดยกุ้งเพศผู้จะปล่อยน้ำเชื้อที่อยู่ในถุงเก็บน้ำเชื้อที่อยู่บริเวณ โคนขาช่วงที่ 5 ปล่อยน้ำเชื้อในถุงเก็บน้ำเชื้อเพศเมียเพื่อผสมกับไข่ ไข่ที่ผสมแล้วจะเคลื่อนไปอยู่ในส่วนล่าง ของท้องบริเวณขาว่ายน้ำ กุ้งเพศเมียจะมัดโบกขาว่ายน้ำตลอดเวลาเพื่อให้ไข่ได้รับออกซิเจน แม่กุ้งฝอยขนาดยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร จะมีไข่ประมาณ 200-250 ฟอง หลังจากผสมพันธุ์แล้ว 3 วัน ไข่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนและสีเหลือง ต่อมาอีก 7-9 วัน จะมองเห็นตัวอ่อนอย่างชัดเจน หลังจากนั้นไข่ในท้องแม่กุ้งฝอยจะเปลี่ยนเป็นสีเทาและฟักออกมาเป็นตัวเมื่ออายุ 21-25 วัน และตัวเต็มวัย 30-35 วัน (บัญชา ทองมี, 2555)
รูปแบบการเลี้ยงกุ้งฝอย
ธรรมชาติของกุ้งฝอยจะชอบซ่อนตัวตามใต้ก้อนหิน หรือเกาะตามพรรณไม้น้ำ ชอบอาศัยอยู่ในน้ำนิ่งหรือน้ำไหลเอื่อย ๆ ที่มีลักษณะขุ่นมีระดับน้ำลึกไม่เกิน 1 เมตร แต่ในปัจจุบันเกษตรกรได้นำกุ้งฝอยมาทำการเพาะเลี้ยงในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงแบบบ่อดินและบ่อซีเมนต์ แต่ส่วนใหญ่จะเลือกเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ที่สะดวกและดูแลได้ง่ายกว่า
การเลี้ยงในกระชังเพาะฟักและกระชังอนุบาล
วิธีเลี้ยงกุ้งฝอยทำได้2วิธี วิธีแรกคือปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงในบ่อเลี้ยงให้แพร่ขยายพันธุ์ในบ่อโดยตรง หรือวิธีที่สองปล่อยเฉพาะลูกกุ้งที่ได้จากการเพาะฟักลงเลี้ยงส่วนรูปแบบการเลี้ยงกุ้งฝอยมี2 แบบคือการเลี้ยงกุ้งฝอยในบ่อดินและการเลี้ยงกุ้งฝอยในกระชังในบ่อดิน และการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
- การเตรียมอุปกรณ์ กระชังเพาะฟักและกระชังอนุบาล
อุปกรณ์ที่ใช้เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องให้อากาศ กระชังอนุบาลและเลี้ยงกุ้งใช้กระชังสีฟ้าขนาด 1 x 1 x 6-8เมตร พร้อมอวนปิดด้านบนกระชังกันแมลงน้ำกระชังฟักไข่ใช้กระชังผ้าขาวหรือผ้าโอล่อนแก้วขนาด 1x1x1 ลบ.ม.ตะแกรงพลาสติกขนาดช่องตา 0.5 ซม. ขนาด 0.8×0.8×0.5 ลบ.ม.สำหรับใส่แม่พันธุ์กุ้ง
- การเตรียมบ่อดิน
สูบน้ำออกจากบ่อโรยปูนขาว 60-120 กก./ไร่ ตากบ่อให้แห้งใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ กั้นคอกล้อมรอบคันบ่อด้วยอวนสีฟ้าหรือตาข่ายตาละเอียดเพื่อป้องกันศัตรูธรรมชาติ เช่น ปลา กบ เขียดและแมลงน้ำเช่นตัวอ่อนแมลงปอมวนกรรเชียง จากนั้นเติมน้ำใส่บ่อสูง 40-50 ซม. กรองน้ำที่นำเข้าด้วยผ้ากรองตาถี่เพื่อป้องกันไข่ปลาและลูกปลาขนาดเล็กเล็ดลอดเข้าบ่อ ใส่ปุ๋ยมูลไก่อัตรา 60-120 กิโลกรัม/ไร่/สัปดาห์ ทิ้งไว้ 3-4 วันจนสีน้ำเริ่มเขียว เติมน้ำจนได้ระดับความสูงประมาณ 1 เมตร
- วิธีการเพาะฟักลูกกุ้ง
รวบรวมและคัดเลือกแม่กุ้งไข่แก่สีเทาใส (ระยะมีตา) จากบ่อดิน กระชังหรือจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน80-100 ตัว ใส่ในตะแกรงพลาสติกที่แขวนไว้ในกระชังฟักไข่ผ้าโอล่อนแก้วขนาด 1 x 1 x 1 ลบ.ม.ที่เตรียมไว้ในบ่อซีเมนต์หรือบ่อดิน ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูประดับโปรตีน 35% แก่แม่กุ้งฝอย โดยใส่ในภาชนะรูปจานยกขอบสูงป้องกันอาหารตกลงในกระชังฟักไข่ แบ่งให้อาหาร 2 ครั้งเช้าและเย็น ประมาณ 3-5 วันไข่จะฟักออกเป็นตัวคัดแยกแม่กุ้งที่วางไข่แล้วออกไปรวบรวมลูกกุ้งที่มีอายุรุ่นเดียวกันหรืออายุที่แตกต่างไม่เกิน 3 วันไปไว้ในกระชังอนุบาลคอกที่กั้นด้วยอวนสีฟ้าหรือกระชังอวนสีฟ้าที่กางไว้ในบ่อดิน
การเลี้ยงกุ้งฝอยในบ่อดิน
ปล่อยพ่อแม่พันธุ์กุ้งฝอยในบ่อดินในอัตรา 25-50 ตัวต่อรางรางเมตรให้อาหารที่มีระดับโปรตรีน 35% ตามสูตรที่กล่าวไว้ในหน้าท้ายสุด ผลผลิต 20-30 กิโลกรัม/บ่อ 1 งาน / 3 เดือน หรือรายได้ประมาณ 6,000-9,000 บาท/บ่อ 1 งาน / 3 เดือน (ราคากุ้งฝอยกิโลกรัมละ 300 บาท)
นำพ่อแม่พันธุ์กุ้งฝอยที่มีอายุตั้งแต่สองเดือนครึ่งเป็นต้นไป ปล่อยแบบคละเพศและขนาด ในบ่อดินหรือกระชังในอัตรา 25-50 ตัวต่อตารางเมตรเพื่อให้แพร่ขยายพันธุ์ลูกกุ้งลงในบ่อเลี้ยงโดยตรงข้อดีคือจัดการง่าย แม่พันธุ์กุ้งสามารถผลิตลูกกุ้งได้ตลอดปี ข้อเสียคือได้ผลผลิตที่ค่อนข้างต่ำเนื่องจากขนาดของกุ้งที่แตกต่างกันมากอาจเกิดการกินกันเอง การแก้ไขต้องทยอยจับกุ้งออกอย่างสม่ำเสมอ วิธีที่สองจะนำเฉพาะลูกกุ้งที่ได้จากการเพาะฟัก อาจจะอนุบาลจนมีอายุ 1 เดือนลงเลี้ยง วิธีนี้จะมีการจัดการที่ยุ่งยากกว่าเนื่องจากต้องเพาะและอนุบาลลูกกุ้งจนถึงระยะกุ้งคว่ำ แต่จะมีผลผลิตที่ได้จะสูงกว่าวิธีแรก
การเลี้ยงกุ้งฝอยในบ่อซีเมนต์
รวบรวมกุ้งเพศเมียจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวนประมาณ 80-100 ตัว แล้วนำมาพักไว้ในกระชังอย่างน้อย 1 คืน คัดเลือกเฉพาะกุ้งเพศเมียที่มีไข่แก่ มองเห็นตาของลูกกุ้งในท้อง เพาะฟักในตะแกรงที่แขวนไว้ในกระชังผ้า ขนาด 1×1 เมตรในบ่อซีเมนต์ ให้อาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีน 33% ให้อาหารประมาณ 5% ของน้ำหนักตัว แบ่งให้ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ประมาณ 3-4 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัว แยกแม่กุ้งออกจากกระชังแล้วคัดลูกกุ้งที่มีขนาดเดียวกันเพื่อสะดวกในการจัดการเพาะเลี้ยง นำลูกกุ้งที่ได้ไปอนุบาลในกระชังผ้าโอล่อนแก้วประมาณ 50,000 ตัวในบ่อขนาด 1×1 เมตร สัปดาห์แรกให้ไข่แดงต้มสุกเป็นอาหาร สัปดาห์ที่ 2-4 ใช้ไรน้ำจืดขนาดเล็กเป็นอาหาร จากนั้นจึงให้อาหารสำเร็จรูปชนิดผงเป็นอาหารที่มีโปรตีน 40% ให้อาหารในปริมาณ 10% ของน้ำหนักตัว ระยะนี้ต้องระมัดระวังขาข่ายไม่ให้อุดตัน ควรใช้แปรงขนาดเล็กขนอ่อนทำความสะอาดบ่อยครั้ง ใช้เวลาอนุบาลเป็นเวลา 1 เดือนจึงนำไปเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ได้
การเตรียมบ่อซีเมนต์ ทำความสะอาดบ่อด้วยปูนขาว ตากทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ กั้นคอกล้อมบ่อด้วยอวนพลาสติกสีฟ้าเพื่อป้องกันศัตรู เติมน้ำในบ่อโดยผ่านการกรองด้วยผ้าตาถี่ เพื่อป้งกันไข่ปลา และลูกปลาขนาดเล็ก ๆ เล็ดลอดลงไปในบ่อกุ้ง เติมน้ำสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยขี้ไก่อัตรา 60-120 กิโลกรัมต่อไร่ ทิ้งไว้ 3-4 วัน รอจนน้ำเริ่มสีเขียวจึงเติมน้ำจนได้ระดับ 1 เมตร จากนั้นจึงนำลูกกุ้งที่อนุบาลมาแล้วประมาณ 1 เดือนปล่อยลงในบ่อ อัตรา 30,000-50,000 ตัว เลี้ยงประมาณ 2 เดือนก็สามารถจับขายได้ มีอัตรารอด 80% ที่สำคัญการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ควรช่วยการหายใจด้วยระบบการเติมออกซิเจนด้วย
การจับกุ้งฝอยในบ่อ
- ใช้ยอตาถี่ยก โดยใช้จิ้งหรีดป่นขนาด 1 กำมือห่อด้วยเนื้อยกผูกด้วยยางรัดเป็นก้อน โดยผูกด้านหลังของยอ ให้ลูกตุ้มอยู่บริเวณยอทิ้งไว้ 10-15 นาที ก็ยกยอขึ้น กุ้งฝอยจะติดมาครั้งละจำนวนมาก
- ใช้สวิงช้อนรอบ ๆ บ่อ วิธีนี้ควรทำช่วงเย็นจะดี
- ใช้พุ่มไม้ เช่น ใบข่อย ใบสะแก ผูกมัดเป็นก้อนขนาดเท่าฟ่อนข้าว ผูกเชือกแขวนไว้ริมบ่อ กุ้งฝอยจะเข้ามาอาศัย แล้วใช้สวิงช้อนใต้บริเวณใบไม้เขย่าใบไม้ให้กุ้งร่วงลงในสวิง เราก็จะได้กุ้งเช่นเดียวกัน
- ไม่ควรจับกุ้งด้วยวิธีวิดน้ำให้แห้งบ่อ กุ้งจะตายหมดหรือจับยากมาก
การเพาะเลี้ยงกุ้งฝอย
รวบรวมและคัดเลือกแม่กุ้งไข่แก่สีเทาใส (ระยะมีตา) จากบ่อดิน กระชังหรือจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน 80-100 ตัว ใส่ในตะแกรงพลาสติกที่แขวนไว้ในกระชังฟักไข่ผ้าโอล่อนแก้วขนาด 1x1x1 ลบ.ม. ที่เตรียมไว้ในบ่อซีเมนต์หรือบ่อดิน ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูประดับโปรตีน 35% แก่แม่กุ้งฝอย โดยใส่ในภาชนะรูปจานยกของสูงป้องกันอาหารตกลงในกระชังฟักไข่ แบ่งให้อาหาร 2 ครั้งเช้าและเย็น ประมาณ 3-5 วันไข่จะฟักออกเป็นตัวคัดแยกแม่กุ้งที่วางไข่แล้วออกไป รวบรวมลูกกุ้งที่มีอายุรุ่นเดียวกันหรืออายุที่แตกต่างไม่เกิน 3 วันไปไว้ในกระชังอนุบาลคอกที่กั้นด้วยอวนสีฟ้า หรือกระชังอวนสีฟ้าที่กางไว้ในบ่อดิน
บ่อเลี้ยงกุ้งฝอยมีขนาดตั้งแต่ 1 งานถึง 1 ไร่ ควรเป็นบ่อที่สามารถถ่ายเทน้ำได้ดี ก่อนการเลี้ยง ควรตากบ่อให้แห้ง ถ้าเป็นบ่อเก่าให้ปรับสภาพโดยการใช้ปูนขาว 60 กิโลกรัมต่อไร่ จากนั้นเติมน้ำเข้าบ่อ ระดับน้ำลึก 30-40 ซ.ม. น้ำที่เติมควรกรองด้วยผ้าขาวตาถี่ (ผ้าโอล่อนแก้ว) เพื่อป้องกันไข่ปลาหรือลูกปลาที่จะหลุดรอดเข้าไป จากนั้นหว่านปุ๋ยมูลไก่ในอัตรา 60-90 กิโลกรัมต่อไร่ทิ้งไว้ 3-4 วัน น้ำจะกลายเป็นสีขาวให้เพิ่มระดับน้ำเป็น 1 เมตร นำลูกกุ้งอายุ 1 เดือนปล่อยในอัตรา .30-50 กรัม./1 ตารางเมตร ถ่ายเทน้ำออกในปริมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของน้ำในบ่อทุก 15 วัน ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปโปรตีน 35% หรือรำผสมปลาป่นในอัตรา 2:1 เพื่อลดต้นทุนค่าอาหาร ให้อาหารในอัตรา 10% ของน้ำหนักตัวกุ้ง
เลี้ยง 2-3 เดือน ก็จะสามารถทยอยจับกุ้งตัวโตขายได้ วิธีการจับสามารถทำได้โดยการดักลอบ ยกยอ การช้อนหรือลากอวน แต่วิธีการดักลอบโดยกำหนดขนาดของซี่ลอบและใช้ไฟล่อในเวลากลางคืน จะทำให้ได้กุ้งที่ไม่บอบช้ำและได้ขนาดใกล้เคียงกัน
การเพาะเลี้ยงน้ำเขียวและการเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์
การเพาะน้ำเขียว
- เตรียมบ่อซีเมนต์กลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร
- เตรียมน้ำเขียว คือ สาหร่ายคลอเรลล่า (Chlorella spp.) เพื่อเป็นอาหารของโรติเฟอร์ โดยเติมน้ำลงบ่อประมาณ 10 เซนติเมตร ละลายส่วนผสมของอินทรียวัตถุต่าง ๆ ดังนี้ปุ๋ยนา (16-20-0) 20 กรัม ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) 20 กรัม/ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) 2 กรัม/รำละเอียด 20 กรัม/ ปลาป่น 10 กรัม / กากถั่วเหลือง 10 กรัม / ปูนขาว 20 กรัม
- ละลายส่วนผสมดังกล่าวให้เข้ากันก่อนเทลงบ่อซีเมนต์
- เมื่อน้ำในบ่อซีเมนต์เริ่มเขียว (ประมาณ 3-4 วัน) เพิ่มน้ำได้ได้ระดับความสูง 25 เซนติเมตร หลังจากนั้นประมาณ 1-2 วัน น้ำจะเริ่มเขียวเข้ม เติมน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีโรติเฟอร์ลงในบ่อซีเมนต์ ในปริมาณ 20 ลิตร ทำการเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์เป็นเวลา 5-7 วัน จะสังเกตเห็นโรติเฟอร์อยู่ในบ่อ มีลักษณะเป็นฝุ่นสีขาวขนาดเล็ก สามารถเก็บเกี่ยวได้โดยสูบน้ำออกครึ่งบ่อ ให้น้ำที่สูบออกผ่านถุงกรองขนาดตาประมาณ 60-80 ไมครอน โดยนำถุงกรองที่มีปลายเปิดทั้งสองข้าง ปลายด้านหนึ่งสวมเข้ากับท่อถ่ายน้ำและผูกให้แน่น ปลายอีกด้านหนึ่งรวบปากแล้วผูกให้แน่น แช่ถุงกรองไว้ในน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้โรติเฟอร์แห้งตาย เมื่อจำนวนโรติเฟอร์มากพอก็เปิดถุงถ่ายโรติเฟอร์ลงในถังเพื่อรวบรวมนำไปเป็นอาหารของลูกกุ้งฝอย และหัวเชื้อเพื่อใช้ในการเพาะขยายพันธุ์โรติเฟอร์ครั้งต่อไป ในกรณีที่ต้องการปริมาณโรติเฟอร์สม่ำเสมอ และจำนวนมาก ควรมีการเพิ่มอาหารทุก ๆ 2-3 วัน โดยการลดน้ำลงแล้วเพิ่มอาหารลงไปใหม่ สามารถเก็บเกี่ยวโรติเฟอร์ได้อีกประมาณ 2-3 ครั้ง แล้วจึงล้างบ่อและเริ่มการเพาะใหม่
การเพาะโรติเฟอร์
รวบรวมโรติเฟอร์เพื่อทำการเพาะโดยการรวบรวมโรติเฟอร์ในบ่อดิน ใช้ถุงกรองแพลงก์ตอนสัตว์หรือกระชอนทำจากผ้าตาถี่ 40-60 ไมครอน กรองลากในบ่อดินหรือในแหล่งน้ำธรรมชาติ นำน้ำที่ได้มาตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ กรองเอาแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดอื่นที่โตกว่า เช่น ไรแดง โคพีพอด และตัวอ่อนแมลงออกโดยใช้ผ้าตาห่าง 100 ไมคร่อนมากรอง แล้วนำน้ำที่ผ่านการกรองมาเลี้ยงขยายในโหล โดยนำหัวเชื้อโรติเฟอร์ใส่โหลพร้อมให้คลอเรลล่า (น้ำเขียว) อัตรา 3 ต่อ 1 ให้อากาศ 3-4 วัน ปริมาณความหนาแน่นของเซลล์โรติเฟอร์ จะขยายเพิ่มขึ้น (สังเกตจากสีของน้ำเขียวที่ใส่ไปเข้มน้อยลงและน้ำกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มแทน ถ้ามองใกล้จะเห็นลักษณะเหมือนฝุ่นขาวเล็ก ๆ ล่องลอยอยู่ในน้ำ ) นำไปกรองด้วยผ้ากรองที่มีตาขนาดไม่เกิน 69 ไมครอน นำโรติเฟอร์ที่ได้ให้ลูกกุ้งฝอยกิน
ประโยชน์ของกุ้งฝอย
คุณค่าทางโภชนาการ
ในกุ้งฝอยสด 100 กรัม ประกอบไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการหลายชนิด อย่างเช่น
- โปรตีน 15.8 กรัม (ประมาณ 60% ของน้ำหนักแห้ง)
- คาร์โบไฮเดรต 1.0 กรัม
- ไขมัน 1.2 กรัม
- พลังงาน 78 แคลอรี่
- เหล็ก 0.008 กรัม
- ความชื้น 78.7 กรัม
- แคลเซียม 9.2 กรัม
- ฟอสฟอรัส 2.69 กรัม
เมนูอาหารยอดนิยมจากกุ้งฝอย
กุ้งฝอยเป็นสัตว์น้ำที่มีรสชาติดีและมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งโปรตีน แคลเซียม และแร่ธาตุอื่น ๆ อีกมากมาย จึงทำให้มีความนิยมในการนำมาบริโภคกันเป็นอย่างมาก ซึ่งกุ้งฝอยสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย แต่ที่นิยมรับประทานกันมากที่สุดคือ กุ้งเต้น กุ้งฝอยทอด ตำกุ้ง พล่ากุ้ง แกงกุ้งฝอย น้ำพริกกุ้ง หรือบางคนก็นำมารับประทานสด ๆ วันนี้เราจึงได้นำวิธีการทำเมนูยอดนิยมมานำเสนอ
ก้อยกุ้งหรือกุ้งเต้น
ส่วนผสมหรือวัตถุดิบ ดังนี้
- กุ้งฝอยเป็น ๆ (มีชีวิต) 200 กรัม
- น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- ข้าวคั่วโขลก 2 ช้อนโต๊ะ
- หอมแดงซอย 3 หัว
- พริกขี้หนูแห้งคั่วป่น 1 ช้อนโต๊ะ
- ผักชีฝรั่งซอย 2 ต้น
- ต้นหอมซอย 2 ต้น
วิธีทำหรือปรุงรส
- ล้างกุ้งฝอย พักในตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ
- ใส่กุ้งฝอยลงในอ่างผสม ใส่น้ำมะนาว ข้าวคั่ว หอมแดง และพริกป่น เคล้าให้เข้ากัน ใส่ผักชีฝรั่งและต้นหอม เคล้าให้เข้ากันทั่ว ตักใส่จานเสิร์ฟ
คำเตือนการบริโภคก้อยกุ้งหรือกุ้งเต้น
โรคพยาธิใบไม้ปอด ชนิดพาราโกนิมัส พยาธิเข้าไปฝังตัวอาศัยอยู่ในปิด เนือปอดจะถูกทำลาย การติดต่อโรคได้โดยการกินปูและกุ้งน้ำจืด ที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ปอด
กุ้งจ่อมทรงเครื่อง
ส่วนผสมหรือวัตถุดิบ ดังนี้
- กุ้งจ่อม 1 ถ้วย
- หมูสับ/บด 1 ถ้วย
- หอมแดง 5 หัว
- กระเทียม 5 หัว
- พริกขี้หนูสวน 20 เม็ด
- ตะไคร้ 2 ต้น
- ใบมะกรูด 10 ใบ
- พริกไทยดำเกล็ด 1 ช้อนชา
- น้ำตาลปี๊บ 1 ½ ช้อนชา
วิธีทำหรือปรุงรส
- ตั้งน้ำมันพืชให้ร้อน นำหมูสับลงกระทะผัดให้สุกใส่กุ้งจ่อมผัดให้เข้ากัน
- นำหัวหอมซอย ตะไคร้ซอย พริกแดงหั่นซอย ใส่ลงกระทะผัดให้เข้ากัน ชิมรสถ้าเค็มมากก็เติมน้ำตาลสักนิดหน่อย เพื่อให้มีรสกลมกล่อม
- เมื่อเข้าที่แล้ว โรยใบมะกรูดหั่นฝอย เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
แหล่งอ้างอิง
- อาจารย์ ดร.บัญชา ทองมี คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับโครงการเครือข่าย สวทช.ภาคเหนือ, เอกสารประกอบการศึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การเพาะเลี้ยงกุ้งฝอยในเชิงพาณิชน์
- อาจารย์ ดร.บัญชา ทองมี, การเพาะเลี้ยงกุ้งฝอยเชิงพาณิชน์
- ประวิทย์ สุรนีรนาท/ชีววิทยาเบื้องต้นของกุ้งฝอย