จิ้งหรีดเป็นแมลงปากกัดที่พบทั่วไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นแมลงที่ชอบกระโดด กินพืชเป็นอาหาร โดยจิ้งหรีดจัดเป็นอาหารประเภทหนึ่งที่ให้โปรตีนสูง ในปัจจุบันพบว่ามีคนหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อบริโภคและจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น เพราะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็ว ให้ผลผลิตสูง และที่สำคัญจิ้งหรีดยังถูกจัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ตลาดในประเทศไทยและต่างประเทศให้ความสนใจอีกด้วย ในบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับจิ้งหรีด สัตว์เศรษฐกิจที่ในปัจจุบันมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น รวมถึงให้เทคนิคและคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงจิ้งหรีดด้วย
ทำไมจิ้งหรีดถึงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ
นายเด่นชัย น่วมวงษ์ บรรณาธิการจากอะกรีพลัส จำกัด ซึ่งเป็นเว็บไซต์สื่อกลางในการนำเสนอเนื้อหาสาระและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตลาดภาคการเกษตร ได้ให้ข้อมูลว่าจิ้งหรีดจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจของไทยที่มีศักยภาพสูง โดยมีการขยายตัวของการผลิตในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก ซึ่งสามารถทำรายได้มูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาท/ปี ในปัจจุบันเป็นสินค้าอาหารที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ราคาถูก ต้นทุนต่ำ และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า อาทิ Snack food รสชาติต่าง ๆ จิ้งหรีดชนิดโปรตีนผงเพื่อนำไปแปรรูปเป็นเค้ก และคุกกี้ เป็นต้น โดยคุณค่าทางโภชนาการของจิ้งหรีดนั้นจะมีโปรตีน 12.9% ไขมัน 5.5% แคลเซียม 75.8 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และธาตุเหล็ก 9.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้จิ้งหรีดถูกจัดเป็นอาหารโปรตีนทางเลือกสำหรับมนุษย์ อาหารสัตว์ หรือวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้
ลักษณะทั่วไปของจิ้งหรีด
จิ้งหรีด (Cricket) เป็นแมลงปากกัด มีตารวม หนวดยาว ขาคู่หลังมีขนาดใหญ่และแข็งแรง กระโดดเก่ง มีลักษณะข้อปล้อง จิ้งหรีดที่พบในประเทศไทยอย่างแพร่หลายมี 4 ชนิด ดังนี้
ทองดำ (Gryllus bimaculatus De Geer) เป็นจิ้งหรีดขนาดกลาง มีรูปร่างสั้น หัวกลม หนวดยาว โดยมีลำตัวกว้างประมาณ 0.7 เซนติเมตร และมีความยาว 3 เซนติเมตร ซึ่งบริเวณลำตัวและขาจะเป็นสีดำ มีจุดสีเหลืองบริเวณโคนปีก 2 จุด เหมาะกับการเป็นอาหารสัตว์ เพราะสีดำเมื่อนำมาปรุงอาหารแล้วจะดูไม่น่ารับประทาน
ทองแดง (Gryllus testaceus walker) เป็นจิ้งหรีดขนาดกลาง มีขนาดเท่ากันกับพันธุ์ทองดำ แต่ขนาดลำตัวจะยาว 0.25-0.35 เซนติเมตร มีลักษณะเด่นคือบริเวณหัว ลำตัว และขา มีสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลเหลืองทอง ซึ่งพันธุ์นี้จะเหมาะกับการเป็นอาหารคน เพราะเมื่อนำไปปรุงอาหาร เช่น นำไปทอด จะมีสีเหลืองทองน่ารับประทาน
จิ้งหรีดทองแดงลาย (Acheta domesticus (Linnaeus)) มีชื่อเรียกอื่น ๆ ได้แก่ จิ้งหรีดขาว จิ้งหรีดบ้าน แมงสะดิ้ง จิ้งหรีดผี และแอ้ด ซึ่งเป็นจิ้งหรีดขนาดเล็กที่สุด บริเวณลำตัวมีสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายกับจิ้งหรีดทองแดง แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยตัวเมียจะมีปีกคู่หน้าสั้นครึ่งลำตัว ไม่ชอบบิน เคลื่อนไหวได้ไม่เร็วเท่ากับจิ้งหรีดชนิดอื่น ลำตัวมีความกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร และมีความยาว 2.05 เซนติเมตร จิ้งหรีดพันธุ์นี้นิยมเพาะเลี้ยงไว้เป็นอาหารของคนเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นจิ้งหรีดที่มีขนาดเล็กแต่มันให้ไข่ค่อนข้างเยอะ จึงมีความมันกว่าจิ้งหรีดชนิดอื่น
จิ้งโกร่ง (Brachytrupes portentosus Lichtenstein) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งก็คือ จิโปม หรือจี่โป่ง เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่สามารถรับประทานได้ มีลักษณะคล้ายกับจิ้งหรีด ลำตัวมีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และมีความยาว 3.5-4.5 เซนติเมตร โดยมีขนาดใหญ่ อ้วน สีน้ำตาล หนวดยาว หัวกลมใหญ่ ปากแบบกัดกิน บริเวณปีกมีลายเส้นเล็กน้อย มักจะอาศัยอยู่ในรู นิยมเพาะเลี้ยงเป็นอาหารของคน เพราะเป็นแมลงขนาดใหญ่กว่าจิ้งหรีด ทำให้ดูน่ารับประทาน เมื่อนำมาปรุงอาหารก็มีรสชาติอร่อย
กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้กล่าวว่าวงจรชีวิตของจิ้งหรีดโดยภาพรวมจะประกอบด้วย จิ้งหรีดระยะไข่ ระยะตัวอ่อน ระยะตัวเต็มวัย ระยะผสมพันธุ์ และระยะวางไข่ ซึ่งมีอายุตลอดช่วงชีวิตอยู่ที่ประมาณ 90-120 วัน และจิ้งหรีดแต่ละระยะก็จะมีรูปร่างที่แตกต่างกันไป ดังนี้
ระยะไข่ ในระยะนี้ไข่ของจิ้งหรีดจะเป็นสีเหลือง มีลักษณะยาวเรียวคล้ายกับเมล็ดข้าวสาร มีความยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร สามารถวางไข่ได้ 600-1,000 ฟอง ซึ่งจะวางไข่เป็นรุ่น รุ่นละ 200-300 ฟอง แต่ละรุ่นห่างกันประมาณ 15 วัน
ระยะตัวอ่อน ตัวอ่อนที่ฟักไข่ใหม่ ๆ มีสีขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีดำ หลังจากวางไข่ 3 สัปดาห์ ลูกจิ้งหรีดจะฟักออกจากไข่ โดยตัวอ่อนจะมีลักษณะคล้ายกับมด ไม่มีปีก ลอกคราบประมาณ 8 ครั้ง ถึงจะเป็นตัวเต็มวัย และเมื่อตัวอ่อนโตขึ้นจะเริ่มมีปีก ซึ่งเรียกว่า ระยะใส่เสื้อกั๊ก ระยะตัวอ่อนประมาณ 30-35 วัน
ระยะตัวเต็มวัย ในระยะนี้เป็นระยะที่สามารถแยกเพศได้อย่างชัดเจน โดยเพศผู้นั้นจะมีปีกคู่หน้าย่น มีหนาม ทำให้เกิดเสียงได้เมื่อใช้ปีกคู่หน้าถูกัน ซึ่งขนาดตัวจะเล็กกว่าเพศเมีย ส่วนเพศเมียจะมีปีกคู่หน้าเรียบ และมีอวัยวะวางไข่ที่ยาวแหลมคล้ายกับเข็มยื่นออกมาจากส่วนท้อง
ระยะผสมพันธุ์ จิ้งหรีดจะผสมพันธุ์หลังการลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยในเวลา 3-4 วัน โดยเพศผู้จะขยับปีกคู่หน้าถูกันทำให้เกิดเสียง ส่วนเพศเมียจะขึ้นคร่อมหลังตัวผู้ ซึ่งการผสมพันธุ์นั้นมีระยะเวลาประมาณ 10-15 นาที และเมื่อหมดการวางไข่รุ่นสุดท้ายตัวเมียก็จะตาย
ระยะวางไข่ จิ้งหรีดเพศเมียจะวางไข่ 3-4 วัน หลังจากผสมพันธุ์ โดยใช้อวัยวะวางไข่ที่ยาวแหลมคล้ายกับเข็มแทงลงในดินเพื่อวางไข่
การเพาะเลี้ยง
การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดจะต้องคำนึงถึงหลายสิ่งหลายอย่าง และก่อนที่จะเพาะเลี้ยงนั้นก็ต้องเตรียมสถานที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงจิ้งหรีดให้พร้อม เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ การจะนำมาเลี้ยงต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมก่อน และสิ่งที่ต้องเตรียมก่อนนำจิ้งหรีดมาเลี้ยง มีอยู่ดังนี้
การเตรียมพื้นที่
หากต้องการสร้างสถานที่หรือโรงเรือนสำหรับเลี้ยงจิ้งหรีด ต้องเลือกสถานที่ที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อจิ้งหรีด เช่น ขยะโรงงาน อุตสาหกรรม สารเคมี ฯลฯ ห้ามมีควันไฟรบกวน และต้องเป็นสถานที่คมนาคมสะดวก ซึ่งโรงเรือนสำหรับเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถปรับใช้โรงเรือนที่มีอยู่ได้ แต่โรงเรือนนั้นต้องแข็งแรง สามารถกันแดดกันฝน มีการระบายอากาศที่ดี ทำความสะอาดง่าย และสามารถป้องกันศัตรูของจิ้งหรีดได้ หากจะสร้างโรงเรือนไว้สำหรับเลี้ยงจิ้งหรีดควรสร้างหลังคาสูงอย่างน้อย 3 เมตร เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีกลิ่นและเชื้อโรค นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมด้วย สำหรับภูมิอากาศที่เหมาะสม อุณหภูมิควรจะอยู่ที่ 25-30 องศาเซลเซียส จิ้งหรีดจะสามารถกิน วางไข่ และเพิ่มประชากรได้อย่างเต็มที่ ถ้าหากอุณหภูมิต่ำจะทำให้จิ้งหรีดไม่สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ ในส่วนของพื้นที่ที่จะเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นก็ควรจะมีร่มเงา ไม่ตากแดด รวมถึงน้ำที่ใช้เลี้ยงจิ้งหรีดก็ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน โดยจะต้องเป็นน้ำสะอาด เพราะถ้าหากน้ำไม่สะอาดจะส่งผลให้เกิดโรคทางเดินอาหารได้ง่าย และดินของพื้นที่นั้นควรจะเป็นดินร่วนปนทรายหรือแกลบ เพราะถ้าเป็นดินแข็งจิ้งหรีดจะไม่สามารถแทงเข็มวางไข่ในดินได้นั่นเอง
อุปกรณ์ในการเลี้ยงจิ้งหรีด
สามารถใช้ได้หลากหลายรูปแบบตามความสะดวก และต้องเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เช่น ถัง กะละมัง หากต้องการเลี้ยงรูปแบบมาตรฐานก็ควรสร้างให้ทนทาน ทำความสะอาดง่าย แต่ละบ่อควรมีระยะห่างอย่างน้อย 50 เซนติเมตร เช่น
บ่อปูนซีเมนต์
มีหลากหลายขนาดขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เลี้ยง และความเหมาะสมของพื้นที่ โดยขนาดนิยมนั้นจะอยู่ที่ กว้าง×ยาว×สูง คือ 1×3×0.6 เมตร (พื้นที่ 3 ตารางเมตร) หรือ 1.6×4×0.6 เมตร (พื้นที่ 6.4 ตารางเมตร) เทปูนที่ก้นบ่อ 1 นิ้ว และต้องทาจารบีหรือน้ำมันที่ฐานบ่อ เพื่อป้องกันมดและแมลงเข้าบ่อ ข้อดีของบ่อซีเมนต์คือมีความแข็งแรงทนทาน สามารถใช้งานได้นาน ง่ายต่อการทำความสะอาด และการให้น้ำให้อาหาร ส่วนข้อเสียคือไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
บ่อแบบกล่อง
ใช้ไม้อัด หรือกระเบื้องสมาร์ทบอร์ด โดยขนาดที่นิยมคือ 1.2×2.4×0.6 เมตร (พื้นที่ 2.9 ตารางเมตร) และมีขาสูง 15-20 เซนติเมตร และต้องทาจารบี น้ำมัน หรือลอยน้ำที่ขาบ่อ เพื่อป้องกันมดและแมลงเข้าบ่อ ข้อดีของบ่อแบบกล่องคือมีความแข็งแรงทนทาน สามารถใช้งานได้นาน ต้นทุนไม่สูงมาก ป้องกันมดได้ดี น้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายไปในที่ต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้อย่างสะดวก ส่วนข้อเสียคือต้องคอยดูแลรักษามากกว่าบ่อปูน
บ่อพลาสติก
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ใส่ขันไข่จิ้งหรีด 3-5 ขัน/บ่อ ได้ผลผลิตจิ้งหรีดประมาณ 3-5 กิโลกรัม ซึ่งง่ายต่อการจัดการ เช่น การทำความสะอาด การให้น้ำให้อาหาร และการเคลื่อนย้าย ส่วนข้อเสียคือไม่มีความทนทานเท่าบ่อปูนซีเมนต์
นอกจากบ่อเลี้ยงจิ้งหรีดแล้วยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ อีก ที่ต้องเตรียมเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด โดยอุปกรณ์และสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องเตรียม มีดังนี้
- เทปกาว ขนาดความกว้าง 2-3 นิ้ว ใช้ติดภายในกล่องรอบขอบด้านบน เพื่อป้องกันจิ้งหรีดไต่ออกจากบ่อเลี้ยง โดยให้ติดต่ำกว่าขอบกล่องประมาณ 1 นิ้ว ชนิดผิวนอกลื่น กว้าง 1.5-2 นิ้ว
- มุ้งเขียว ใช้ในการปิดปากบ่อ หรือจะใช้เป็นตาข่ายไนล่อนในการคลุมด้านบนกล่อง โดยตัดให้มีความยาวกว่าขนาดกล่อง 30-40 เซนติเมตร อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยป้องกันจิ้งหรีดบินหนี และศัตรูเข้ามาทำลาย
- ยางรัดขอบบ่อ รัดตาข่ายกับขอบกล่อง ซึ่งนิยมใช้ยางในรถจักรยานยนต์ อุปกรณ์นี้จะช่วยป้องกันจิ้งหรีดบินหนีออกจากกล่องได้
- ที่อยู่ของจิ้งหรีด ใช้เกาะมุดหลบภัยเวลาลอกคราบ โดยคนส่วนใหญ่นิยมใช้แผงไข่ที่ทำจากกระดาษ หรือหญ้าแห้ง หรือกาบมะพร้าว อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะใช้ประมาณ 50% ของพื้นที่ เนื่องจากความหนาแน่นของที่อยู่จิ้งหรีดจะส่งผลต่อการระบายอากาศภายในบ่อ
- ภาชนะใส่น้ำ ควรใช้ภาชนะที่สะอาดเหมาะสมกับจำนวนและอายุของจิ้งหรีด ไม่ควรมีการชำรุด และไม่ทำจากวัสดุที่เป็นอันตรายต่อจิ้งหรีด ซึ่งภาชนะให้น้ำมีหลายรูปแบบ ได้แก่ ท่อพีวีซี (PVC) กรีดเป็นร่องปิดหัว-ท้าย อุดด้วยผ้าเพื่อซับน้ำสำหรับจิ้งหรีดดูดกิน และใช้ภาชนะให้น้ำสำหรับเลี้ยงไก่ ใช้ผ้าหรือฟองน้ำวางในถาด เพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดจมน้ำตาย ควรทำความสะอาดผ้าทุกวัน ถาดน้ำควรลึกเพียง 1-1.5 เซนติเมตร
- ภาชนะใส่อาหาร สามารถปรับใช้วัสดุใดก็ได้ที่ขอบไม่ลึกมากประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ต้องมีความสะอาด และมีจำนวนเพียงพอต่อจิ้งหรีด เพื่อให้จิ้งหรีดสามารถเข้าถึงอาหารได้ง่าย
- ภาชนะรองไข่ ภาชนะหรือวัสดุที่ใช้ให้จิ้งหรีดวางไข่ สามารถปรับใช้วัสดุใดก็ได้ที่มีความลึกมากกว่า 5 เซนติเมตร ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมใช้ขันพลาสติกกลมเป็นภาชนะรองไข่ ขนาดขันเส้นผ่านศูนย์กลาง 16-20 เซนติเมตร
- ทราย นำมาเป็นวัสดุเพื่อให้จิ้งหรีดวางไข่
อาหารของจิ้งหรีด
อาหารหลักของจิ้งหรีด ได้แก่ พืชต่าง ๆ วัชพืชที่มีลำต้น ใบลักษณะอ่อน เช่น ผักบุ้ง ฟักทอง เป็นต้น สำหรับพืชอาหาร ได้แก่ ต้นอ่อนและยอดอ่อนของพืชหรือหญ้าสดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นหญ้าขน หญ้าลูซี่ หรือผักตบชวา พืชเหล่านี้นิยมนำมาใช้เลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งทำให้เจริญเติบโตได้เร็วและให้ผลผลิตสูง ใน 2 วัน ให้หญ้า 1 ครั้ง ครั้งละ 1 กำมือ โดยไม่ต้องนำหญ้าเก่าออก และสำหรับอาหารเสริมรำอ่อน หรืออาหารสำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงไก่ จิ้งหรีด 1 บ่อ ใช้อาหาร 3 กิโลกรัม/รุ่น ราคาประมาณ 15 บาท/กิโลกรัม โดยการให้อาหารเสริมควรให้ในปริมาณที่กินหมดภายใน 2 วัน และการให้น้ำควรใช้ขวดพลาสติกเจาะรูบริเวณข้างขวด 2 รู และใช้ผ้าทำความสะอาดม้วนใส่รูเพื่อให้น้ำซึมสำหรับจิ้งหรีดที่อยู่ในระยะตัวอ่อน
การเลี้ยงดูแลจิ้งหรีด
จิ้งหรีดในแต่ละช่วงจะมีความแตกต่างกันไป เนื่องจากวงจรชีวิตของจิ้งหรีดจะประกอบด้วย ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน ระยะตัวเต็มวัย ระยะผสมพันธุ์ และระยะวางไข่ ดังนั้นจิ้งหรีดแต่ละระยะจะมีวิธีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน ดังนี้
การบ่มไข่
ควรมีการจัดวางให้เหมาะสม แยกพื้นที่ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ควรมีวัสดุปิดเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิและความร้อน อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับบ่มไข่อยู่ที่ 35-38 องศาเซลเซียส โดยขั้นตอนการบ่มไข่มีดังนี้
- นำไข่จิ้งหรีดใส่ถุงกระสอบ กระสอบละ 5-10 ขัน ไม่ควรใส่ไข่ปริมาณเยอะ เพราะจะส่งผลให้ไข่จิ้งหรีดรับความร้อนไม่เท่ากัน ควรมัดปากกระสอบไว้ ทั้งนี้ปริมาณการใส่ขันไข่จะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่การเลี้ยง ขนาดขันไข่ และความหนาแน่นของไข่อีกด้วย
- ปิดปากถุงกระสอบ ไม่ต้องปิดแน่นมาก ให้ปิดพอหลวม เพื่อให้อากาศเข้าไปได้ จากนั้นนำไปวางรวมกันในบ่อบ่มไข่
- ย้ายเข้าบ่อเลี้ยง เมื่อสังเกตเห็นไข่ตึงและมีสีเหลืองอมน้ำตาล จึงค่อยเอาขันไข่หรือกระสอบไข่ไปใส่ไว้ในบ่อเลี้ยง โดยทั่วไปไข่จิ้งหรีดจะใช้เวลาในการฟักประมาณ 7-10 วัน จึงจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน
การเลี้ยงจิ้งหรีดวัยอ่อน
หลังจากที่บ่มไข่แล้ว เมื่อจิ้งหรีดเริ่มฟักตัวค่อยย้ายลงบ่อ โดยให้เปิดปากกระสอบที่ใช้อบ และปล่อยให้จิ้งหรีดไต่ออกมาจากกระสอบให้หมดจึงย้ายดินออก ลูกจิ้งหรีดในช่วงนี้จะมีขนาดตัวที่เล็กมาก ๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับมด ดังนั้นต้องดูแลให้ดีทั้งการให้น้ำและอาหาร
• การให้น้ำ ในระยะตัวอ่อนควรใช้ฟองน้ำ หรือผ้าชุบน้ำให้ชุ่มแล้ววางในบ่อเลี้ยงจิ้งหรีด ตัวอ่อนจิ้งหรีดจะมาดูดกินน้ำที่ฟองน้ำ ไม่ควรให้น้ำโดยใส่ถ้วย จาน หรือถาดอาหารสูง เพราะจะทำให้จิ้งหรีดที่ตัวเล็กตกลงไปตายได้ และอีกหนึ่งวิธีที่สามารถให้น้ำจิ้งหรีดได้คือการวางใบตองและสเปรย์ฉีดพ่นน้ำ ซึ่งจะเหมือนธรรมชาติ อีกทั้งการฉีดพ่นละอองน้ำยังช่วยให้จิ้งหรีดคลายร้อน และลดความเครียดได้ด้วย
• การให้อาหาร ในระยะแรกเกิดควรให้อาหารที่เป็นผงละเอียด เพราะจิ้งหรีดตัวเล็ก จะกินอาหารเม็ดหรืออาหารอื่นได้ลำบาก อาจจะให้เป็นอาหารจิ้งหรีด หรืออาหารไก่เล็กบดละเอียด ใส่ในภาชนะขอบเตี้ย ๆ หรือหาเศษหญ้าแห้งมาพาดเพื่อให้จิ้งหรีดปีนเข้าไปกินอาหารได้ ควรมีโปรตีนอาหารอยู่ที่ 21% อาหารจะต้องมีความน่ากิน สามารถย่อยได้ง่าย และดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้สูง ปริมาณการให้อาหารควรให้ทีละน้อย ๆ เมื่อหมดแล้วค่อยเพิ่ม แต่จำเป็นต้องมีพื้นที่ในการให้อาหารอย่างเพียงพอ เพื่อให้จิ้งหรีดกินอาหารทันกัน ซึ่งจะทำให้มีขนาดตัวเท่ากันนั่นเอง
การเลี้ยงจิ้งหรีดวัยอ่อน-ตัวเต็มวัย
เริ่มนำแผงไข่ที่เตรียมไว้ลงในบ่อ จิ้งหรีดในช่วงนี้จะลอกคราบประมาณ 8 ระยะ ซึ่งช่วงลอกคราบจิ้งหรีดจะอ่อนแอมาก และจะกินกันเอง เพราะฉะนั้นต้องจัดเตรียมน้ำและอาหารไว้ให้เพียงพอ หรือเพิ่มหญ้าสด หรือหญ้าแห้งเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการหลบภัยให้กับจิ้งหรีด โดยระยะนี้จะใช้เวลา 45-50 วัน การรอดชีวิตจากวัยอ่อนถึงตัวเต็มวัยอยู่ที่ 90%
• การให้น้ำ ในระยะที่จิ้งหรีดเริ่มโต สามารถให้น้ำโดยใส่ภาชนะก้นตื้น หรือจาน และวางก้อนหินก้อนเล็ก ๆ ไว้ในจาน เพื่อให้จิ้งหรีดเกาะกินน้ำได้ง่ายขึ้น หรือใช้ท่อพีวีซีเจาะรู อุดด้วยผ้าที่ร่องเพื่อขับน้ำสำหรับจิ้งหรีดใช้กินได้
• การให้อาหาร สำหรับการให้อาหารจะใช้อาหารจิ้งหรีด หรืออาหารไก่เล็กบดละเอียด โดยให้ทีละน้อย ควรให้อาหารเช้า-เย็น เสริมด้วยหญ้าแห้ง หญ้าสด หรือพืชอาหารที่ปลอดสารพิษ ใน 2 วัน ให้หญ้า 1 ครั้ง ครั้งละ 1 กำมือ ถ้าหากหญ้าเก่าแห้งไม่ต้องนำออก เพราะสามารถเป็นพื้นที่อาศัยของจิ้งหรีด นอกจากนี้อาหารเสริมที่นิยมให้จิ้งหรีดเพื่อเพิ่มโปรตีนก่อนนำออกขายประมาณ 1 สัปดาห์ ได้แก่ พืชผักต่าง ๆ เช่น ฟัก-แฟง ฟักทอง ผักบุ้ง ผักโขม คะน้ากวางตุ้ง กล้วย ใบมันสำปะหลัง เป็นต้น ไม่ควรนำใบกระถินมาเลี้ยงจิ้งหรีด เพราะใบกระถินมีสารลูซีนิน (Leucenine) ซึ่งเป็นพิษ อาจทำให้จิ้งหรีดตายได้ โดยพืชผักต่าง ๆ ที่นำมาให้จิ้งหรีดกินนั้นจะต้องล้างทำความสะอาดก่อน หากเป็นพืชผักที่มาจากต้นน้ำหรือบริเวณใกล้เคียงที่มีการเลี้ยงสัตว์จำพวกวัว ควาย หมู หรือสัตว์อื่น ๆ ควรหลีกเลี่ยง เพราะน้ำเสียจากคอกสัตว์เหล่านี้มักมีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อจิ้งหรีด
การเลี้ยงจิ้งหรีดช่วงผสมพันธุ์วางไข่
เมื่อถึงช่วงผสมพันธุ์จิ้งหรีดจะเริ่มส่งเสียงร้อง โดยเพศเมียจะเริ่มวางไข่ภายใน 3-5 วัน หลังจากผสมพันธุ์ ช่วงนี้จิ้งหรีดจะกระวนกระวายหาที่วางไข่ ให้นำถาดใส่ขี้เถ้าแกลบรดน้ำให้ชุ่มพอประมาณมาวาง ซึ่งจิ้งหรีดจะใช้อวัยวะวางไข่แทงลงไปในดินและวางไข่เป็นกลุ่ม ควรรองไข่ในบ่อเลี้ยง 6-8 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้นำถาดที่รองไข่ไปอบเพื่อเลี้ยงขยายพันธุ์หรือขายต่อไป สามารถจับจิ้งหรีดขายได้ หรือจะเลี้ยงต่อเพื่อรองไข่อีกประมาณ 3-5 รอบ โดยขั้นตอนการรองไข่มีดังนี้
- ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อวัสดุที่ใช้รองไข่ เช่น แกลบ ก่อนใช้
- ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภาชนะที่ใช้รองไข่ เช่น ขันพลาสติก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16-20 เซนติเมตร ล้างให้สะอาด จากนั้นผึ่งให้แห้งก่อนนำมาใช้รองไข่
- วัสดุรองไข่ ใช้แกลบเผา 60% + ทราย 30% + ขุยมะพร้าว 10% นำมาผสมเข้าด้วยกัน หรือใช้เฉพาะแกลบเผาทั้งหมดก็ได้เช่นกัน โดยนำส่วนผสมดังกล่าวมาผสมกับน้ำพอหมาด เพื่อให้มีความชุ่มชื้นสามารถปั้นเป็นก้อนได้ นำใส่ขันให้หนา 5-7 เซนติเมตร โดยไม่ต้องอัดให้แน่น หรืออาจใช้ดินสำเร็จรูปที่ทำเป็นการค้าสำหรับให้จิ้งหรีดวางไข่ได้
- วางภาชนะและวัสดุที่ใช้รองไข่ในบ่อเลี้ยง ในระยะเวลา 6-8 ชั่วโมง (ทิ้งไว้ 1 คืนโดยประมาณ) ซึ่งถ้าหากวางนานเกินกว่านี้จะส่งผลให้อายุไข่จิ้งหรีดไม่เท่ากัน
การเก็บรวบรวมจิ้งหรีดจากบ่อ
สามารถเก็บจำหน่ายได้ทั้งระยะเสื้อกั๊ก และตัวเต็มวัย แต่ควรเก็บจิ้งหรีดให้หมดบ่อ เพื่อสะดวกต่อการทำความสะอาด และขั้นตอนการเตรียมบ่อสำหรับรุ่นถัดไปมีอยู่ ดังนี้
- งดการให้อาหาร 2-3 วัน ก่อนเก็บจิ้งหรีดออกจากบ่อ ควรนำถาดอาหารออกจากบ่อเลี้ยงเพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดมีกลิ่นตัว
- นำถาดน้ำออก โดยเคาะแผงไข่เพื่อขจัดมูลและฝุ่น จากนั้นนำกลับเข้าไปวางใหม่ด้านในของบ่อ จิ้งหรีดจะมาเกาะที่แผงไข่
- เขย่าแผงไข่ลงในกะละมังที่เจาะรูด้านล่าง เพื่อแยกมูลจิ้งหรีดออก แนะนำว่าไม่ควรลงเหยียบบ่อเลี้ยงในขณะที่เก็บเกี่ยวจิ้งหรีด เพราะจะมีเชื้อโรคเข้าไปปนเปื้อนได้
- ใช้สวิงรูปสามเหลี่ยมที่ทำด้วยลวดหรือไม้แขวนเสื้อสวมด้วยถุงพลาสติก ช้อนเอาจิ้งหรีดที่เกาะผนังบ่อใส่ในกะละมัง
- ล้างจิ้งหรีดด้วยน้ำสะอาด 3-5 ครั้ง ต้มในน้ำเดือด 10 นาที
- บรรจุใส่ถุง นำไปแช่ตู้อุณหภูมิระหว่าง -15 ถึง -20 องศาเซลเซียส ในระหว่างรอการแปรรูปและจำหน่าย เพื่อลดการเกิดฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้
เทคนิคการเลี้ยงจิ้งหรีดในฤดูกาลต่าง ๆ
การเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ใช่เพียงแค่ระยะของจิ้งหรีดเท่านั้นที่มีวิธีเลี้ยงแตกต่างกัน แต่การเลี้ยงจิ้งหรีดในแต่ละฤดูก็มีความแตกต่างเช่นกัน โดยเทคนิคการเลี้ยงจิ้งหรีดในฤดูกาลต่าง ๆ มีดังนี้
การเลี้ยงจิ้งหรีดในช่วงฤดูฝน
ในช่วงนี้จิ้งหรีดจะเจริญเติบโตได้ดี กินอาหารเก่ง แม่พันธุ์ก็จะวางไข่ได้ดี แต่จะต้องควบคุมปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของจิ้งหรีดด้วย และผู้เลี้ยงควรปฏิบัติตามดังต่อไปนี้
– ที่หลบซ่อนควรจัดให้โปร่ง และเปลี่ยนที่หลบซ่อนหากพบว่ามีความชื้นมาก
– การให้น้ำ ในช่วงฤดูฝนจะมีความชื้นในอากาศมาก น้ำที่ให้จิ้งหรีดจะไม่ค่อยแห้ง จึงต้องเปลี่ยนน้ำทุกครั้งที่ตรวจเช็ค หากเป็นจิ้งหรีดตัวเล็กควรให้น้ำชุ่ม ไม่ควรปล่อยให้น้ำขัง เพราะจะทำให้จิ้งหรีดจมน้ำตายได้
– การทำความสะอาดบ่อเลี้ยง ในช่วงฤดูฝนจิ้งหรีดจะกินอาหารค่อนข้างเยอะ และในขณะเดียวกันก็จะถ่ายมูลจำนวนมากเช่นกัน ผู้เลี้ยงควรเก็บมูลจิ้งหรีดเดือนละ 2 ครั้ง
การเลี้ยงจิ้งหรีดในช่วงฤดูหนาว
ในช่วงนี้จิ้งหรีดจะเจริญเติบโตได้ช้า เนื่องจากกินอาหารน้อย แม่พันธุ์วางไข่ได้ไม่ดี ซึ่งผู้เลี้ยงควรจะปฏิบัติดังนี้
– จัดที่หลบซ่อนของจิ้งหรีดให้ทึบ เพื่อป้องกันอากาศที่เย็น ซึ่งอากาศเย็นนั้นสามารถทำให้ลูกจิ้งหรีดตายได้ ดังนั้นควรจัดที่หลบภัยให้ทึบ แต่ไม่ต้องเอาหญ้าหรือผักที่แห้งออก
– การให้น้ำ ในฤดูหนาวอากาศจะมีความชื้นน้อย น้ำจะสามารถระเหยได้เร็ว ควรให้น้ำทุกวัน อาจนำวัสดุที่ดูดซับน้ำได้ใส่ในถาดน้ำด้วยเพื่อให้น้ำระเหยช้าลง สำหรับจิ้งหรีดตัวเล็กควรให้น้ำพอชุ่ม และทำความสะอาดภาชนะใส่น้ำทุกครั้งก่อนจะใส่น้ำใหม่
– การทำความสะอาด ควรทำเดือนละ 1 ครั้ง เนื่องจากในช่วงนี้จิ้งหรีดจะกินอาหารได้น้อยลง จึงทำให้ถ่ายมูลออกมาน้อย
การเลี้ยงจิ้งหรีดในช่วงฤดูร้อน
ในช่วงนี้จิ้งหรีดจะเจริญเติบโตได้ดี กินอาหารเก่ง แม่พันธุ์วางไข่ได้ดี แต่การเลี้ยงจิ้งหรีดในฤดูนี้ก็มีข้อควรระวังอยู่เช่นกัน ผู้เลี้ยงควรปฏิบัติตามดังนี้
– ควรจัดที่หลบซ่อนของจิ้งหรีดให้โปร่งและมีจำนวนมากพอ ถ้าอากาศร้อนมากควรมีการสเปรย์น้ำให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้จิ้งหรีดรู้สึกร้อน
– การให้น้ำ ในช่วงฤดูร้อนน้ำจะระเหยได้เร็ว ควรให้น้ำทุกวัน อาจนำวัสดุที่ดูดซับน้ำได้ใส่ในถาดน้ำด้วยเพื่อให้น้ำระเหยช้าลง สำหรับจิ้งหรีดตัวเล็กก็ควรให้น้ำแบบพอชุ่ม และทำความสะอาดภาชนะใส่น้ำทุกครั้งก่อนจะใส่น้ำใหม่
– การทำความสะอาดบ่อเลี้ยง ในช่วงฤดูร้อนจิ้งหรีดจะกินอาหารปริมาณเยอะ และในขณะเดียวกันก็จะถ่ายมูลจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้นควรเก็บมูลจิ้งหรีดเดือนละ 2 ครั้ง
ปัญหาในการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด และแนวทางแก้ไข
- ศัตรูของจิ้งหรีดเข้าทำลาย เนื่องจากบ่อที่ใช้เลี้ยงจิ้งหรีดนั้นมีช่องว่างให้ศัตรูเข้าบ่อได้ เช่น จิ้งจก ตุ๊กแก มด แมงมุม หนู นก ฯลฯ การป้องกันคือตรวจสอบความสะอาดภายในโรงเรือน จัดทำร่องน้ำรอบโรงเรือนเพื่อป้องกันมด หรือสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก และใช้ตาข่ายล้อมโรงเรือนเพื่อป้องกันนก หนู หรือแมลง
- จิ้งหรีดขาดน้ำตาย เกิดจากจิ้งหรีดหาน้ำไม่เจอ น้ำไม่เพียงพอ หรือแผงไข่ในบ่อเยอะเกินไป วิธีป้องกันคือใส่น้ำในภาชนะตื้น เพิ่มจุดให้น้ำ และใส่แผงไข่ในช่วงแรกเพียงเล็กน้อย
- จิ้งหรีดลอกคราบไม่ได้ เกิดจากการผสมเลือดชิด ส่งผลให้จิ้งหรีดอ่อนแอ ไม่แข็งแรง โดยปัญหานี้สามารถป้องกันได้โดยการนำจิ้งหรีดจากแหล่งที่ไม่เป็นโรคมาเลี้ยง และจับจิ้งหรีดตัวเต็มวัยมาผสมกับที่มีอยู่
- จิ้งหรีดกัดกินกันเอง เนื่องจากสารอาหารไม่ครบ หรือให้อาหารน้อยเกินไป วิธีแก้ไขคือให้อาหารเพิ่มขึ้น หรือให้อาหารเสริม เช่น พืชผัก ใบกล้วย และผักชนิดอื่น
- จิ้งหรีดท้องอืดตาย เกิดจากการให้อาหารในปริมาณที่มากเกินไป สามารถแก้ไขได้โดยการลดปริมาณอาหารลงเล็กน้อย และให้อาหารเสริม เช่น พืชผัก ใบกล้วย และผักชนิดอื่น เพื่อป้องกันท้องอืด
- จิ้งหรีดหงายท้องตาย มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ทำให้จิ้งหรีดมีกลิ่นเหม็น ซึ่งจะทำให้เกิดโรคท้องบวม (Cricket Iridovirus Infection), โรคอัมพาต (Cricket Paralysis Virus) และอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้จิ้งหรีดหงายท้องตายก็คือมีแก๊สในบ่อเลี้ยงมาก สำหรับสาเหตุที่เกิดจากโรคท้องบวมและโรคอัมพาตสามารถแก้ไขโดยการทำลายจิ้งหรีดที่เป็นโรค ล้างทำความสะอาดฆ่าเชื้อบ่อ และอุปกรณ์ รวมถึงปรับปรุงรูปแบบสุขาภิบาล เช่น ควบคุมการเข้า-ออก ทำรั้วรอบฟาร์ม เป็นต้น และถ้ามีแก๊สในบ่อเลี้ยงมากก็สามารถแก้ไขได้โดยให้อาหารพอหมด ลดการสะสมอาหารก้นบ่อ ให้อาหารที่ช่วยลดการเกิดแก๊สภายในบ่อ เช่น ต้นกล้วย พืชผักผลไม้ ฯลฯ และทำความสะอาดบ่อเลี้ยง และกำจัดมูลจิ้งหรีด
- จิ้งหรีดตายในหน้าร้อน เกิดจากโรงเรือนระบายอากาศได้ไม่ดี สาเหตุนี้สามารถแก้ไขได้โดยการวางโครงสร้างออกแบบทำโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน อาจติดตั้งพัดลมเพื่อช่วยระบายอากาศ วางบ่อเลี้ยงจิ้งหรีดให้ห่างกันเพื่อลดความแออัด หาวัสดุมาวางเพื่อช่วยลดความร้อนในบ่อ เช่น แกลบที่ฆ่าเชื้อราแล้ว หรือใบกล้วย ลดปริมาณการเลี้ยงจิ้งหรีดให้บางลง และฉีดพรมน้ำให้จิ้งหรีดเพื่อลดความร้อน แต่ห้ามฉีดเยอะจนเกินไป เพราะจะส่งผลให้เกิดเชื้อโรคได้
- แกลบหรือทรายที่ใช้ในการวางไข่เกิดปัญหาไม่ฟัก หรือขึ้นรา ควรป้องกันโดยการนึ่งแกลบหรือทรายก่อนนำมาใช้
- สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของจิ้งหรีด ซึ่งจิ้งหรีดเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในช่วงฤดูฝน แต่ในช่วงฤดูร้อน ต้องจัดการโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทสะดวก เช่น การใช้วัสดุที่สามารถกันความร้อนหรือเย็นในการก่อสร้าง การเปิดผ้าในรอบ ๆ โรงเรือน และเปิดพัดลมช่วยระบายอากาศ ส่วนในช่วงฤดูหนาวต้องจัดการโรงเรือนให้มิดชิด หรือทำให้อบอุ่นขึ้น โดยการปิดผ้าบังลมรอบโรงเรือน ปิดปากบ่อโดยใช้ผ้าห่ม กระสอบป่านและวัสดุอื่น ๆ
แหล่งที่มา
กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, คู่มือการเลี้ยงจิ้งหรีดฉบับประชาชน
นายสถิตย์ ตันชูชีพ, ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร, การเลี้ยงจิ้งหรีด