ชันโรงคืออะไร…ชันโรงเลี้ยงด้วยทุนน้อยกำไรงามจริงรึเปล่า

ชันโรง (Stingless Bee) แมลงขนาดเล็ก รักการทำงาน อยู่กันเป็นฝูง เป็นญาติของแมลงที่เรารู้จักดีอย่างผึ้ง แต่เปรียบชันโรงเหมือนพวกรักสงบ มันไม่ทำร้ายใครเหมือนกับที่พวกชันโรงไม่มีเหล็กใน แต่ก็เป็นพวกที่รักพวกพ้องมาก พวกมันจะปกป้องกันหากมีสัตว์เข้ามาทำร้าย ชันโรงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแมลงที่เชียวชาญในด้านการผสมเกสร และในปัจจุบันยังถือเป็นปศุสัตว์ที่สามารถทำและให้ผลกำไรดีมาก แต่…ชันโรงมีดีแค่นี้หรือ ทำไมเกษตรกรถึงได้ให้ความสำคัญและเริ่มมีการทำฟาร์มชันโรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังมีการศึกษาสายพันธุ์ต่าง ๆ ในกลุ่มของนักวิชาการ นักศึกษา นั้นเป็นเรื่องที่น่าสงสัยจริง ๆ ดังนั้นพวกเราน่าจะลองไปศึกษากัน

credit : Girl Door Honey
“ชันโรง” คำที่พอได้ยินครั้งแรกอาจจะมีคนสงสัยว่า คืออะไร เป็นอะไร และมีหน้าตาอย่างไร แล้วถ้าบอกว่า “ผึ้งจิ๋ว” บางคนน่าจะร้องอ๋อเลยก็ได้ ชันโรงเป็นแมลงตัวเล็กๆ ที่ไม่ใช่แค่จิ๋ว แต่มีความแจ๋วตรงที่สามารถเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจชั้นดีได้จากการเลี้ยงชันโรง ซึ่งทำรายได้งดงามให้แก่คนเลี้ยงมานักต่อนักแล้วแถมความต้องการด้านผลิตผลต่างๆ จากชันโรงก็ยังเพิ่มพูนต่อเนื่องแบบฉุดไม่อยู่อย่างที่เรียกว่า เมื่อมีอุปสงค์มากก็มีอุปทานมากตาม 

นั้นทำให้ kaset.today เริ่มที่จะสนใจในสัตว์ตัวจิ๋วอย่างชันโรงจนต้องทำบทความดี ๆมีสาระเพื่อตอบสนองตัวเองและเหล่านักอ่านที่กระหายความรู้เกี่ยวกับตัวชันโรง ว่าพวกมันมีดีแค่ไหน มีสายพันธุ์อะไรบ้างที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับเรา ลักษณะ ที่อยู่อาศัยเป็นอย่างไร รู้ให้ลึกให้เข้าใจกันไปเลย

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับชันโรง

ชื่ออวิทยาศาสตร์              : Trigona laeviceps

วงศ์ (Family)                   : Apidae

วงศ์ย่อย (Subfamily)        : Apinae

ไทร์บ (Tribe)                   : Meliponini


ชันโรงคืออะไร

เราจะมาขยายความเกี่ยวกับชันโรง เพื่อจะได้มีความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้นนะคะ “ชันโรง” ถือเป็นแมลงชั้นสูงอยู่กันป็นรัง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Stingless Bee’ ซึ่งความหมายก็ตามนั้นเลยคือ เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่ไม่มีเหล็กใน แต่ตัวจะเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ ถึง 2 หรือ 3 เท่า แล้วด้วยความที่ไม่มีเหล็กในชันโรงเลยไม่สามารถต่อยหรือต่อสู้กับศัตรูเหมือนผึ้งทั่วไป

แต่ชันโรงจะมีฟันกราม (Mandible) ที่แข็งแรง เพื่อปกป้องรังและต่อสู้กับศัตรู ตามหลักฐานการค้นพบซากฟอสซิสยุคครีเทเซียส (Cretaceous) ตอนปลาย ที่ รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ชันโรงได้มีวิวัฒนาการมาแล้วยาวนานไม่ต่ำกว่า 80 ล้านปี โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ‘Trigona laeviceps’ อยู่ในวงศ์ (Family) ‘Apidae’ ส่วนวงศ์ย่อย (Subfamily) คือ ‘Apinae’ และ ไทร์บ (Tribe) เป็น ‘Meliponini’

คลังความรู้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ชันโรงจัดเป็นแมลงที่มีอยู่ในเฉพาะเขตร้อนและกึ่งร้อนเท่านั้น จากการสำรวจได้ค้นพบชันโรงกว่า 500 ชนิดทั่วโลก ได้แก่ ทวีปอเมริกามีมากกว่า 300ชนิด ทวีปแอฟริกา 50 ชนิด ทวีเอเซีย 60 ชนิด ทวีปออสเตรเลีย 10 ชนิด และที่เกาะมาดากัสการ์อีก 4 ชนิด (Bradbear, 2009)  ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 5 สกุล คือ Melipona, Trigona, Meliponina, Detylurina, และ Lestrimelitta  โดยสกุล Trigona จะพบบ่อยในพื้นที่เขตร้อน (Heard, 1999; Michener, 2000; Klakasikorn et al., 2005)

ในประเทศมีรายงานว่าได้พบชันโรงกว่า 24 ชนิด กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ แต่ละภูมิภาคจะมีชื่อเรียกจำเพาะแตกต่างกันไป ดังนี้

  • ภาคกลาง จะเรียกว่า  “ตัวชันโรง หรือชันโรง” ซึ่งการเรียกเช่นนี้ก็คงจะเรียกตามพฤติกรรมการเก็บชันของแมลงนั่นเอง
  • ภาคเหนือ จะแบ่งการเรียกชันโรงตามลักษณะคือ ชันโรงตัวเล็ก จะเรียกว่า “ขี้ตังนี, ขี้ตัวนี, หรือขี้ตึง” และชันโรงตัวใหญ่ จะเรียก “ขี้ย้าดำ” ชันโรงตัวใหญ่มาก ก็จะเรียก “ขี้ย้าแดง หรือชันโรงยักษ์”
  • ภาคเหนือตอนล่าง จะเรียก “ตัวหูด”
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เรียกชันโรงว่า “แมงขี้สูด”
  • ภาคตะวันออก จะเรียก “ชำมะโรง หรือแมลงอีโลม”
  • ภาคตะวันตก เรียก “ตุ้งติ้ง หรือตัวติ้ง”
  • ภาคใต้ จะเรียกทั้งชันโรงตัวเล็กและตัวใหญ่ว่า “อุง, อุงแมลงโลม, อุงหมี, อุงแดง หรือ อุงดำ”  นอกจากนี้ก็จะมีชันโรงอีกหลายชนิดที่พบอยู่ทั่วทุกภาค เช่น ผึ้งจิ๋วขนเงิน ผึ้งจิ๋วหลังลาย ผึ้งจิ๋วรุ่งอรุณ ชันโรงใต้ดิน และชันโรงปากแตร

ลักษณะของชันโรงเป็นอย่างไร

ชันโรงมีปีกสองคู่ เป็นปีกแบบแผ่นบางใส (membranous) มีเส้นปีกเห็นได้ชัดเจนปีกคู่หลังเล็กและมีเส้นปีกน้อยกว่าปีกคู่หน้า ที่หัวมีหนวดแบบข้อศอก (geniculate) มีปากเป็นแบบกัดเลีย (chewing-lapping type) มีทั้งตาเดี่ยวและตารวม ชันโรงตัวผู้ มีตารวมขนาดใหญ่ ชันโรงงานมีขาคู่ที่ 3 เป็นขาแบบเก็บเกสร (carrying legs) มีอวัยวะ
พิเศษสำหรับเก็บเกสร (pollen basket) นอกจากนี้ที่ขา ลำตัว และหัวของชันโรงยังมีขนปกคลุม ตัวเมียมีอวัยวะวางไข่ ชันโรงไม่มีเหล็กในที่ใช้ในการต่อยได้เหมือนผึ้ง แต่มีการป้องกันตัวโดยใช้การกัด

credit : คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม

ตามลักษณะทางชีววิทยา ชันโรงจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน

1. ส่วนหัว จะมีดวงตาเล็กๆ หลายพันดวงตาเชื่อมต่อกันเป็นแผงเรียกว่า “ตารวม” จำนวน 2 ตา ซึ่งใช้เพื่อการมองเห็นได้รอบทิศรอบทางและมี “ตาเดี่ยว” 3 ตาอยู่บริเวณระหว่างตารวมสองข้าง สำหรับรับรู้ความเข้มของแสงกับแยกสีต่างๆ ที่มองเห็น แล้วตรงส่วนหัวนี้ก็ยังมีหนวด 1 คู่ และปากด้วย

2. ส่วนอก จะประกอบไปด้วย ปีกจำนวน 2 คู่ และขาจำนวน 3 คู่ ซึ่งขาคู่ที่ 3 ตรงส่วนขาหลังจะมีตะกร้าสำหรับ เก็บละอองเกสรของดอกไม้ แล้วขนกลับรังเพื่อใช้เป็นอาหาร

3. ส่วนท้อง จะเป็นส่วนช่องระหว่างส่วนหัวกับส่วนอก โดยชันโรงนางพญาจะมีลักษณะต่างจากชันโรงอื่นคือ ส่วนท้องจะอ้วนและกว้างกว่าส่วนหัวและส่วนอกอย่างเห็นได้ชัด


วรรณะของชันโรง

ถัดจากลักษณะจะมาว่ากันเรื่องวรรณะของชันโรง ซึ่งถือว่า ชันโรงเป็นแมลงสังคม (Eusocial Insects) ที่ภายในรังจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสังคมนี้จึงถูกแบ่งออกเป็น 3 วรรณะ คือ

วรรณะนางพญา (Queen) ในรังหนึ่งสามารถมีนางพญาได้ 1-2 ตัว ชันโรงวรรณะนางพญาจะมีลักษณะตัวขนาดใหญ่ ตรงส่วนอกและขามีสีเหลืองอ่อน จุดเด่นชัดจะอยู่ที่ส่วนท้อง ซึ่งอ้วนและกว้างมากกว่าส่วนอกและหัว นางพญามีหน้าที่เป็นแม่รังวางไข่ในถ้วยตัวอ่อนพร้อมกับควบคุมและทำกิจกรรมต่างๆ ภายในรัง

วรรณะตัวผู้ (Male) ลักษณะของชันโรงวรรณะตัวผู้คือ ขนาดตัวจะเล็กที่สุดในบรรดาวรรณะทั้งสาม ส่วนอกและส่วนท้องมีสีน้ำตาลเข้ม แล้วก็มีตารวมที่เจริญดีกับมีจำนวนปล้อง 13 ปล้อง ตรงส่วนปลายท้องของปล้องสุดท้ายจะมีครีบ 1 คู่ ซึ่งใช้สำหรับการผสมพันธุ์ ชันโรงวรรณะตัวผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับชันโรงวรรณะนางพญา

วรรณะงาน (Worker) ชันโรงวรรณะงานก็คือ ชันโรงทั่วไปที่เป็นสมาชิกภายในรัง มีจำนวนมากที่สุด ลักษณะของชันโรงวรรณนี้จะมีส่วนอกและส่วนท้องสีเหลืองเข้ม ลำตัวมี 12 ปล้อง ขาคู่หลังมีสีดำแผ่ขยายเป็นรูปใบพายและมีขนจำนวนมากที่คล้ายหวีใช้ในการเก็บละอองเกสรดอกไม้ ส่วนปีกจะยาวปกคลุมเลยส่วนท้อง หน้าที่ของชันโรงวรรณะงานมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทำความสะอาดรัง สร้างถ้วยตัวอ่อนและถ้วยอาหาร สร้างรัง ป้องกันรัง หาอาหาร และอื่นๆ ที่ล้วนมีความจำเป็นต่อรัง หน้าที่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นเมื่อชันโรงออกจากถ้วยตัวอ่อนและโตเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งหน้าที่จะเปลี่ยนไปตามอายุที่มากขึ้น


การผสมพันธุ์ของชันโรง

สำหรับการผสมพันธุ์ (Mating) นั้น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สพภ. ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ชันโรงจะมีการผสมพันธุ์ภายนอกรัง ในขณะกำลังบิน ตัวผู้จำนวนเป็นร้อยหรือเป็นพันตัวจะรวมตัวเป็นกลุ่มอยู่กลางอากาศ ซึ่งใกล้กับรังหรือใกล้สถานที่ที่จะสร้างรังใหม่ ทันทีที่นางพญาเป็นพรหมจรรย์บินเข้ากลุ่มก็จะเกิดการผสมพันธุ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว


การเจริญเติบโตของชันโรง

มาดูวงจรชีวิตของชันโรงที่มีอยู่ 4 ระยะ ได้แก่

ระยะไข่

นางพญาจะวางไข่ไว้ในหลอดรวง ซึ่งไช่จะมีลักษณะยาว วางตั้งอยู่บนอาหารที่มีความเหลวและข้นในถ้วยตัวอ่อนสีเข้มที่สุด ในระยะนี้ชันโรงวรรณะงานจะทำหน้าที่เลี้ยงตัวอ่อนกระทั่งพัฒนาไปเป็นดักแด้และตัวเต็มวัย ส่วนไข่นั้นๆ จะพัฒนาเป็นชันโรงวรรณะใดก็ขึ้นอยู่กับการได้รับการผสมน้ำเชื้อ หากไม่ได้รับการผสมน้ำเชื้อก็จะเป็นชันโรงวรรณะตัวผู้ แล้วถ้าได้รับการผสมก็จะเป็นชันโรงเพศเมียในวรรณะงานและวรรณะนางพญา

ระยหนอน

ลักษณะหนอนของชันโรงจะมีสีขาวขุ่นจนถึงสีครีม ตัวงอเป็นรูปตัวซี นอนลอยอยู่บนอาหารและมีการลอกคราบหลายครั้งก่อนจะเข้าดักแด้ในถ้วยตัวอ่อน ซึ่งจะมีสีเข้ม แล้วสีจะค่อยจางลงเรื่อยๆ ตามอายุของหนอนที่มากขึ้น

ระยะดักแด้

จะเป็นระยะที่ตัวหนอนอยู่ในถ้วยตัวอ่อน ซึ่งลักษณะอ่อนนุ่มและมีสีอ่อนลงกว่าเดิมมาก

ระยะตัวเต็มวัย

ชันโรงในระยะตัวเต็มวัยจะกัดถ้วยตัวอ่อนแล้วออกมา ขั้นตอนนี้อาจจะได้รับความช่วยเหลือจากชันโรงวรรณะงานที่อายุน้อยคอยช่วยกัดอยู่ด้านนอก โดยชันโรงรุ่นใหม่หมาดๆ จะมีสีลำตัวอ่อนและการเคลื่อนไหวเชื่องช้าแถมยังชอบเดินป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ ถ้วยตัวอ่อน แต่เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น สีของลำตัวก็จะเข้มขึ้น

credit : คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม

องค์ประกอบภายในรังชันโรง

credit : คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม

ปากทางเข้ารัง

ส่วนนี้จะมีหลายรูปแบบ คือ ปากทางเข้ารังแบบท่อสั้น ปากทางเข้ารังแบบท่อยาว และปากทางเข้ารังแบบไม่มีส่วนที่ยื่นออกมา ทั้งนี้สีของปากทางเข้ารังก็จะมีหลายสี บางรังจะมีสีค่อนข้างมืดหรือดำไปจนถึงสีค่อนข้างจะสว่าง ลักษณะของปากทางเข้ารังก็จะมีทั้งแบบเหนียวเหนอะหนะและแบบแห้งสนิท

credit : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

ถ้วยตัวอ่อน

ลักษณะของถ้วยตัวอ่อนจะเป็นรูปไข่และมีการเรียงตัวหลายแบบ เช่น “การเรียงตัวแบบกลุ่ม” จะเป็นการสร้างถ้วยตัวอ่อนบนเสาเล็กๆ โดยสร้างขึ้นมาจากผนังของโพรง แล้วเชื่อมต่อระหว่างถ้วยเรื่อยๆ จนเป็นกลุ่มเป็นก้อน  “การเรียงตัวแบบแผงซ้อน” แบบนี้จะเป็นการสร้างถ้วยตัวอ่อนแบบเชื่อมติดกันเป็นแผง ซึ่งอาจจะสร้างในแบบที่แผงแยกออกจากกัน แล้วมีเสาเชื่อมต่อระหว่างแผงก็ได้ หรือจะสร้างเป็นแผงเชื่อมกันไปเรื่อยๆ ในลักษณะเกลียวก็ได้ ทั้งนี้ชันโรงแต่ละชนิดจะมีรูปแบบการเรียงตัวของถ้วยตัวอ่อนแตกต่างกันไป

ถ้วยอาหาร

ลักษณะของถ้วยอาหารของชันโรงจะประกอบไปด้วยถ้วยเก็บน้ำผึ้งและถ้วยเก็บเกสร ซึ่งขนาดของ ถ้วยอาหารจะแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของชันโรง

อินโวลูครัม (Involucrum)

ส่วนนี้จะเป็นส่วนโครงสร้างของชันที่สร้างขึ้นบริเวณช่องว่างระหว่างถ้วยตัวอ่อนกับถ้วยอาหาร ซึ่งมักจะพบในรังของชันโรงที่มีการสร้างถ้วยตัวอ่อนแบบแผงซ้อนทั้งแบบรูปเกลียวหรือแบบที่แยกแผงออกจากกัน


ถิ่นที่อยู่ของชันโรง

จากการสำรวจแหล่งอาศัยของชันโรงส่วนใหญ่ของ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบอาศัยอยู่ตามรอยแตกของ หิน โพรงจอมปลวกหรือรังมด ตลอดจนต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรง โดยถิ่นที่อยู่อาศัยของชันโรงสามารถจำแนกได้เป็น 2 แบบ คือ

ในโพรงธรรมชาติ

credit : คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม

1.ชันโรงที่ชอบอาศัยอยู่ตามโพรงต้นไม้ใหญ่

ชันโรงจำพวกนี้ถือเป็นจำพวกโบราณที่สุด โดยมีการทำทางเข้า ออกเป็นรูเล็กๆ อีกทั้งเป็นพวกที่ไม่มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหากจะนำไปเพาะเลี้ยงในกล่องไม้ เนื่องจากอุณหภูมิของกล่องไม้กับโพรงต้นไม้ต่างกันอย่างมาก โพรงต้นไม้จะเย็นสบายตลอดเวลา แต่กล่องไม้ไม่ใช่

2.ชันโรงที่ชอบอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้

ชันโรงจะทำทางเข้าออกเป็นรูเล็กๆ ตามกิ่งไม้ ซึ่งกิ่งไม้จะมีขนาดไม่ใหญ่เท่ากับต้นไม้ ทำให้ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิค่อนข้างมากจึงเป็นเหตุให้ชันโรงจำพวกนี้มีแนวโน้มอย่างสูงที่จะถูกนำไปเลี้ยงได้

3.ชันโรงที่ชอบอาศัยอยู่ในดิน

ชันโรงประเภทนี้จะต้องเลี้ยงในดินเท่านั้น พฤติกรรมโดดเด่นคือชอบอาศัยอยู่ในจอมปลวกและมีความสามารถที่จะไล่ปลวกด้วยวิธีการใช้ยางไม้ปิดทางเข้าออกของปลวก แต่ในบางครั้งปลวกก็มักจะแก้เผ็ดโดยการขนดินผสมมูลปลวกอุดรังของชันโรงบ้าง เรียกว่าผลัดกันเอาคืน  

ตัวอย่างแหล่งอาศัยของชันโรงในโพรงไม้ธรรมชาติ ซึ่งพบอยู่ในเขตชุมชนและพื้นที่ทำการเกษตร ได้แก่

credit : คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม

ในโพรงเทียมหรือ
สิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น

แหล่งอาศัยของชันโรงในโพรงเทียมหรือสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น สามารถพบชันโรงได้ตามโพรงช่องว่าง หรือตามรอยแตกรอยแยกของสิ่งก่อสร้าง

credit : คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม

4. ชันโรงที่ชอบอาศัยอยู่ตามรอยแตกของบ้าน ซอกตึก กล่องไม้ผุ หรือตามกิ่งไม้

ชันโรงจำพวกนี้จะมีความทนทานเป็นอย่างดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ซึ่งมักจะพบได้เป็นจำนวนมากตามร้านขายขนม ร้านขายไม้ดอกไม้ประดับ ร้านขายดอกไม้หรือพืชทางการเกษตร

จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นว่า ชันโรงประเภทที่ 2 ประเภทที่ 3 และประเภทที่ 4 สามารถถนำไปเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงในกล่องไม้ได้ เพื่อจะช่วยประโยชน์ในการผสมเกสรพืชและเก็บผลิตผลจากน้ำผึ้ง 

การแพร่กระจ่ายของชันโรง

จากการค้นหาข้อมูลที่ได้จาก คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ได้ข้อสรุปได้ว่าชั้นโรงเป็นแมลงสัตว์สังคมขนาดเล็ก ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในรัง ดังนั้นพวกมึงจึงทนต่อสภาพอากาศที่รุนแรงไม่ได้ การกระจายสายพันธุ์ของชันโรงเลยถูกจำกัดเขตในบริเวณเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน สันนิฐานโดยนักวิชาการว่าชันโรงแพร่กระจายมาจากลาตินอเมริกาซึ่งเป็นศูนย์กำเนิดชันโรง ทั้งนี้เพราะได้เจอหลักฐานอย่างแท่งอำพัน ซากดึกดำบรรพ์ของชันโรง Creptotrigona prisca ในทะเลบัลติด (Baltic sea) มีอายุ 65ล้านปี ช่วงปลายยุคครีตาเซียส (Last Cretaceous) แล้วชันโรงได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ตั้งแต่ละติจูดที่ 32 องศาใต้ ไปจนถึง ละติจูดที่ 25 องศาเหนือ


สายพันธุ์ของชันโรง

มีการสำรวจชันโรงทั่วโลกซึ่งมีมากกว่า 500 ชนิด สำหรับในประเทศไทยมีการพบชันโรงประมาณ 34 ชนิด

credit : คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม

จากการสำรวจความหลากหลายทางสายพันธู์ชันโรงของโครงการรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งได้ข้อสรุปว่า ชันโรงแต่ละชนิดมีถิ่นที่อยู่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความสูงจากระดับนน้ำทะเล ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

พบต่ำกว่าระดับนำทะเล 650 เมตร

พื้นที่ที่พบ ได้แก่ อำเภอสารภี, ดอยหล่อ, แม่แตง,
ดอยสะเก็ด, สันกำแพง, แม่ริม และอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับจังหวัดลำพูนได้แก่ อำเภอเมือง, แม่ทา, บ้านโฮ่ง, ลี้ และเวียงหนองล่อง พบชันโรง 5 ชนิด ได้แก่ H. fimbriata, L. terminata, T. apicalis, T. collina และ T. melanoleuca

พบสูงกว่าระดับนน้ำทะเล 650 เมตร

พื้นที่ที่พบ ได้แก่ อำเภอแม่ออน, ดอยสะเก็ด และแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พบชันโรง 2 ชนิด ได้แก่ L. doipaensis, L. flavibrasis

พบได้ทั้งสองพื้นที่ทั้งพื้นที่ต่ำกว่าและสูงกว่า 650 เมตร

พบชันโรง 4 ชนิด ได้แก่ L. furva, T.fuscobalteata, T. laeviceps-pagdeni species complex,T. testaceitarsis-hirashimai species complex

สายพันธุ์ชันโรงสร้างรายได้

โดยทั่วไปชันโรงมีหลายสายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่นิยมและมีความโดดเด่น คือ

1.ชันโรงขนเงิน

เป็นพันธุ์ที่มีความแข็งแรงและมีขนาดตัวเล็กที่สุดในบรรดาชันโรงทั้งหลายลักษณะของชันโรงขนเงินดูผ่านๆ จะคล้ายแมลงวัน ตัวสีน้ำตาลอมดำ ปีกออกสีน้ำตาลเลื่อม ส่วนหัวค่อนกลม ตาโปนๆ ชันโรงพันธุ์นี้โดยธรรมชาติมักอาศัยอยู่ตามโพรงเหนือดิน ซึ่งพบได้ทั้งที่โพรงต้นไม้และตามอาคารบ้านเรือน ปากทางเข้ารังจะเป็นท่อสั้นๆ ถ้วยตัวอ่อนและถ้วยอาหารมีลักษณะเป็นกลุ่ม ส่วนวงจรชีวิตมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่จะใช้เวลา 7 วัน ระยะหนอนจะใช้เวลา 19 วัน ระยะดักแก้จะใช้เวลา 22 วัน และระยะตัวเต็มวัยจะมีอายุราว 35 วัน การเพาะเลี้ยงชันโรงขนเงินส่วนมากจะเลี้ยงไว้เพื่อเน้นการผสมเกสร

2.ชันโรงอิตาม่า

พันธุ์นี้ชาวบ้านมักจะเรียกว่า ผึ้งป่า เป็นพันธุ์ที่ขนาดใหญ่ ตัวสีดำ ปีกสีดำ ถ้ามีปีกสีขาวจะเป็นชันโรงอิตาม่าชนิดที่ชอบอยู่ในดินหรือในโขดหิน ซึ่งสายพันธุ์นี้ไม่สามารถนำมาเลี้ยงในกล่องได้ เพราะอุณหภูมิแตกต่างจึงไม่สามารถจะปรับตัวได้เหมือนชันโรงอิตาม่าชนิดปีกสีดำ รังของชันโรงอิตาม่าจะเป็นท่อยาว ตามธรรมชาติชันโรงอิตาม่าชอบทำรังอยู่ในโพรงไม้ การเลี้ยงจึงสามารถนำชันโรงพันธุ์นี้มาจากต้นไม้ แล้ววางถ้วยน้ำหวานบนขอนไม้ได้เลย

3.ชันโรงปากหมู

เป็นพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลักษณะตัวอวบ ๆ สีน้ำตาล ปีกมีสีน้ำตาล มีนิสัยไม่กัด ไม่ชอบรบกวน ขยันสร้างชันและสร้างถ้วยน้ำหวานเร็วมาก ขนาดของถ้วยน้ำหวนก็มีขนาดใหญ่ตามตัว ส่วนรังของชันโรงปากหมู ตรงปากทางเข้าจะเป็นแบบไม่มีส่วนที่ยื่นออกมา ลักษณะเหมือนปากท่อหนา ๆ บาน ๆ เนื่องจากชันโรงปากหมูเป็นพันธุ์ที่มีถ้วยน้ำหวานใหญ่และสร้างน้ำหวานเร็ว ทำให้ได้ปริมาณน้ำผึ้งมาก ชันโรงชนิดนี้จึงเหมาะที่จะเลี้ยง เพื่อเก็บน้ำผึ้ง


ความสำคัญรวมถึงประโยชน์ของชันโรง

มีมาเนิ่นนานแล้ว โดยคนในยุคสมัยก่อนจะนำชันหรือปล่องที่ชันโรงก่อขึ้นเป็นท่อยาวมาเป็นทั้งเชื้อไฟ ยางไม้ และไขผึ้ง นอกจากนี้ นักสะสมพระทั้งหลายยังนำชันนี้อุดฐานพระ ชาวอีสานก็นำชันอุดรูแคน โปงลาง ส่วนนักดนตรีไทยก็จะใช้อุดแผ่นไม้ของระนาดเอก เป็นต้น ทว่า ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดกลับเป็นความสามารถในการผสมเกสร ซึ่งชันโรงมีคุณสมบัติเด่นไม่เหมือนใคร ตามนี้

  • ชันโรงไม่มีพฤติกรรมทิ้งรังและไม่ชอบอพยพย้ายรัง
  • ชันโรงมีรัศมีการบินไม่ไกลนักมักจะหากินอยู่ใกล้ๆ กับรัง
  • ชันโรงสามารถผสมเกสรพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก
  • ชันโรงมีนิสัยไม่เลือกชอบลงดอมดอกไม้และมักจะเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ
  • ชันโรงไม่รังเกียจของเก่าหรือของที่ใช้ไปแล้ว
  • ชันโรงมีพฤติกรรมชอบเก็บเกสรจึงทำให้เกิดการผสมเกสรสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี
  • ชันโรงสามารถเก็บน้ำหวานได้จากพรรณไม้ต่างๆ ที่อยู่ในรัศมีที่หากิน
  • ชันโรงมีอายุที่ยืนยาวกว่าแมลงผสมเกสรชนิดอื่นๆ
  • ชันโรงสามารถนำไปเพาะเลี้ยงและขยายหรือเพิ่มจำนวนรังได้แถมการแยกรังยังไม่มีความสลับซับซ้อนอีกด้วย
  • ชันโรงให้น้ำผึ้งที่มีสรรพคุณดีมีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์และยังสามารถจำหน่ายได้ราคาดี

การเลี้ยงชันโรง

การจัดการรังของชันโรง

การเลี้ยงชันโรงจัดเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มผลิตผลพืชแบบมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้เลี้ยงจำเป็นต้องมีการจัดการที่ดี เพื่อให้ได้รับผลดีและน่าพอใจ โดยชันโรงแต่ละชนิดจะมีวิธีจัดการรังคล้ายๆ กัน ก่อนอื่นใดควรดูว่าจะเลือกชันโรงชนิดใดมาเลี้ยง

ในที่นี้ขอแนะนำว่า ควรเลือกชันโรงชนิดที่สามารถปรับตัวและทนต่อสภาพแวดล้อมที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา พร้อมกับสามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ ไม่มีนิสัยดุร้าย มีความกระตือรือร้น แล้วนางพญาจะต้องไข่ได้ปริมาณมาก ขนาดของรังไม่ใหญ่เกินไปและขยายพันธุ์ได้ง่าย และสามารถทนต่อการรุกรานของศัตรูทั้งตัวห้ำและตัวเบียนได้ดี

สิ่งที่ต้องใส่ใจหากจะเลี้ยงชันโรง คือ สถานที่ตั้งของรังจะต้องมีพืชหรือปริมาณอาหารที่สมดุลกับจำนวนของชันโรง แล้วจะต้องปลอดภัยจากทั้งลม สารเคมี และศัตรูต่างๆ โดย การจัดการรังของชันโรง ควรทำดังนี้

1. การตั้งวางรังของชันโรงควรจะมีขาตั้ง เพื่อป้องกันมดและควรจะทาน้ำมันขี้โล้ที่ขาตั้งหรือทำที่แขวน

2. การจัดวางรังควรจะทำให้กระจาย เพื่อให้ครอบคลุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการหาอาหารกับการผสมเกสร โดยอัตราส่วนที่เหมาะสมคือ จำนวน 4 รังต่อไร่ ในรัศมีการบิน 300 เมตรจากรัง

3. ควรจะตรวจสอบสภาพภายในรังอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อดูการเจริญเติบโต ความสมบูรณ์ของอาหาร รวมไปถึงศัตรูต่างๆ แล้วหากปริมาณอาหารไม่เพียงพอก็ควรจะย้ายที่ และถ้าภายในรังมีการเจริญเติบโตอย่างแน่นหนาก็ควรจะแยกขยายพันธุ์ออกไป

การขยายพันธุ์ของชันโรง

ส่วน การขยายพันธุ์ของชันโรง ก็ทำได้ตามขั้นตอนด้านล่าง

1. ให้เลือกช่วงที่เหมาะสมต่อการแยกขยายพันธุ์ของชันโรง ซึ่ง ‘ช่วงฤดูฝน’ จะเป็นช่วงที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นช่วงที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์

2. ให้ตรวจดูปริมาณของไข่ ดักแด้ และตัวเต็มวัย โดยดูให้มีปริมาณสมดุลและมีจำนวนพอสมควรก่อนจะทำการแยกรัง

3. ให้เริ่มการแยกไข่ ดักแด้ และตัวเต็มวัย ในปริมาณครึ่งหนึ่งจากของเดิม โดยให้มีหลอดของนางพญาติดไปด้วยจากนั้นก็นำไปใส่ในรังใหม่ ซึ่งจะต้องแห้งและไม่ชื้น

4. ให้ใส่ถ้วยอาหาร (คือ ถ้วยเกสรและถ้วยน้ำผึ้ง) ลงไปในรัง โดยวางไว้ใกล้ปากทางเข้าออกของรังและวางคนละข้างของปากทางเข้า

5. ให้นำขี้ชันหรือไขแปะไว้บริเวณทางเข้า เพื่อเป็นการล่อตัวเต็มวัยของชันโรงวรรณงานให้กลับเข้ารัง

6. ให้ทำการปิดทางเข้ารังเดิมของชันโรงด้วยขี้ชันหรือกระดาษ จากนั้นนำชันโรงที่มีนางพญา หรือรังเดิมออกห่างจากจุดเดิม 20-30 เมตร แล้วนำรังชันโรงใหม่ที่ทำการแยกขยายมาตั้งไว้ที่เดิม เพื่อให้ชันโรงวรรณะงานกลับเข้ารังและทำให้ปริมาณชันโรงเพิ่มขึ้นด้วย

7. ให้ย้ายรังเดิมกลับไว้ที่เดิมเมื่อถึงเวลาพลบค่ำ แล้วปิดปากทางเข้า (ถ้าใช้ขี้ชันก็ปล่อยทิ้งไว้รอให้ชันโรงกัดเอง แต่หากใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ก็ให้เปิดออก) แล้วนำรังใหม่ไปไว้ให้ห่างจากจุดเดิมไม่น้อยกว่า 50 เมตร

8. ควรจะเตรียมวัสดุสำหรับกันศัตรูของชันโรง อย่างเช่นใช้น้ำหรือน้ำมันขี้โล้ทาตามขาหรือหลักที่นำรังของชันโรงไปตั้งไว้

9. การสวมใส่เสื้อผ้าสำหรับการขยายพันธุ์ชันโรง ควรจะเป็นชุดที่ทำจากผ้าร่มและมีสีอ่อน เพราะชันโรงไม่ชอบสีเข้ม ถ้าใส่สีเข้ม ชันโรงจะกัดและเกาะติดไม่ยอมปล่อยจนตายไป แล้วก็ควรจะสวมหมวกตาข่ายและใส่ถุงมือด้วยทุกครั้ง

ข้อควรรู้ต่อการเพาะเลี้ยงชันโรง

1. สภาพแวดล้อม หรือสภาพภูมิอากาศที่ดีและเหมาะสมต่อชันโรง ควรจะมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส หากสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส จะทำให้ดักแด้ถูกยับยั้งการพัฒนาไปเป็นตัวเต็มวัย

2. สภาพพื้นที่ที่ตั้งรังชันโรง ควรจะอยู่ในที่ร่ม ไม่มีมด มวน หนอนแมลงวัน หรือไก่ และไม่มีการพ่นสารเคมีป้องกันหรือกำจัดแมลงใดๆ เพราะชันโรงไม่ทนต่อสารเคมี

3. สภาพน้ำ ควรจะมีแหล่งน้ำที่สะอาดสำหรับชันโรง

4. ชันโรงสามารถเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมที่ดีได้


ศัตรูของชันโรง

เนื่องจากชันโรงมีขนาดตัวที่เล็ก รวมถึงมีพฤติกรรมการบินที่ไม่เป็นแนวตรงหรือโค้ง โดยจะบินเป็นแบบหักมุมซ้ายบ้างขวาบ้าง จึงทำให้สามารถหลบศัตรูได้ง่าย และยากที่จะถูกจับกินแถมภายในรังก็ยังมีการเก็บยางไม้ เพื่อป้องกันศัตรูด้วย แต่ถึงอย่างไร ชันโรงก็ยังมีศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ มด ที่ชอบมากินน้ำหวาน มวน จะใช้ปากเจาะดูดน้ำเลี้ยงของชันโรง หนอนแมลงวัน เป็นตัวที่เข้าไปทำลายและกัดถ้วยน้ำหวานขณะที่อยู่ในระยะหนอน นก ส่วนมากจะเป็นนกที่ชอบกินแมลง และ ไก่ มักจะชอบจิกกินชันโรงที่บริเวณหน้ารัง


วิธีการล่อชันโรงธรรมชาติหรือป่า

เพื่อนำมาเลี้ยง สามารถทำได้ง่าย ๆ เลย โดยชันโรงธรรมชาติหรือป่าจะมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่เห็นรัง และแบบไม่เห็นรัง

กรณีไม่เห็นรัง

1. ให้นำยางชันโรงมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วผสมกับเอทิลแอลกอฮอล์ 95% ในอัตราส่วน 1:1 จากนั้นหมักไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ จนยางกับเอทิลแอลกอฮอล์ผสมเป็นเนื้อเดียวกัน

2. ให้นำขวดน้ำดื่มขนาด 1 ลิตร ต่อเข้ากับข้องอบริเวณปากขวดน้ำ จากนั้นนำยางที่หมักแล้วใส่ลงไปในขวดและเขย่าจนยางชันโรงเกาะจับทั่วทั้งขวด แล้วก็รอประมาณ 7 วัน เพื่อให้กลิ่นแอลกอฮอล์ระเหยไปจนหมด

3. ให้ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อขวดน้ำ แล้วห่อด้วยถุงดำอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้แสงเข้า อีกทั้งสีดำยังเป็นตัวดึงดูดชันโรงให้เข้าไปทำรังในขวดอีกด้วย จากนั้นก็นำขวดไปแขวนไว้ในบริเวณที่ต้องการ หรือที่พบเห็นตัวชันโรง ถ้าสังเกตเห็นชันโรงเริ่มเข้าออกจากขวดและเริ่มขนเกสรดอกไม้เข้าไปในขวด แสดงว่า ชันโรงได้เข้าสู่วงจรชีวิตของมันแล้ว เมื่อมีนางพญาและมีการวางไข่ก็ให้ตัดขวดออกครึ่งหนึ่ง แล้วเอาส่วนที่มีรังชันโรงมาใส่ลังหรือภาชนะเลี้ยง หลังจากนั้นก็นำไปวางไว้ในสวนผลไม้ หรือสถานที่เพาะพันธุ์ได้เลย

กรณีเห็นรัง

1. เมื่อเห็นรังชันโรงอยู่ตามโพรงต้นไม้และมีรูทางเข้าออก ให้นำท่อพีวีซี หรือสายยางทึบแสง (สีดำ) จ่อเข้าไปรูทางเข้ารัง ส่วนปลายท่ออีกด้านให้ต่อเข้ากับภาชนะที่จะใช้เพาะเลี้ยง แล้วหากมีรูทางเข้าออกหลายจุดก็ให้ปิดรูอื่นให้หมด เพื่อเป็นการบังคับให้ชันโรงเข้าไปอยู่ในภาชนะที่เตรียมไว้เพาะเลี้ยงเท่านั้น

2. ให้ทำการเลี้ยงไปสัก 2-3 เดือน หรือจนรังโตคับภาชนะ ก็จะได้น้ำผึ้งในปริมาณ 150-200 ซีซี

3. ให้ทำการแบ่งรังที่มีทั้งไข่อ่อนและไข่แก่ออกมาครึ่งหนึ่ง หรือ 2 กำมือ แล้วแยกไปไว้ในภาชนะใหม่


สร้างรายได้ด้วยการให้เช่ารังชันโรง

ตามที่กล่าวมาข้างต้นคงจะทำให้เห็นถึงรูปลักษณะ คุณสมบัติ และคุณประโยชน์ของชันโรง ซี่งปัจจุบันได้มีการให้ความสนใจแมลงตัวเล็กชนิดนี้อย่างกว้างขวาง รวมถึงมีผู้ได้นำไปเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพหลักอาชีพเสริมกันมากมายแถมยังมีอาชีพหนึ่งที่ช่วยก่อให้เกิดความน่าสนใจต่อคนที่เพาะเลี้ยงและคนที่สนใจจะเพาะเลี้ยง นั่นก็คือ การให้เช่ารังชันโรงซึ่งเท่าที่ทราบได้สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ไม่ว่าจะสวนมะม่วง สวนลิ้นจี่ สวนสตอเบอรี หรือสวนเมลอน ต่างต้องการให้ต้นผลไม้ของตนมีการผสมเกสรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะได้ออกดอกออกผลดีงาม ชาวสวนจึงสนใจให้ชันโรงเป็นตัวช่วย กิจการเช่ารังเลยกลายเป็นจุดสนใจเด่นขึ้นมา

การให้เช่ารังชันโรงจะมีการคิดค่าเช่าเป็นรัง รังละประมาณ 30 บาท จำนวนรังและวันที่จะเช่าก็ขึ้นอยู่กับชาวสวนกับผลไม้ของสวน บางสวนเช่าเพียง 15 วัน บางสวนก็เช่านานเป็นเดือน ซึ่งในการเช่ารังนี้จะมีการทำสัญญาข้อตกลงเรื่องถ้ารังหายและตัวชันโรงตายยกรัง จะต้องจ่ายเงินจำนวน 2,000 บาท ต่อรัง ให้กับเจ้าของรัง ทั้งนี้เป็นการป้องกันไม่ให้ชาวสวนประมาทเรื่องการใช้สารเคมี เพราะชันโรงไม่ทนต่อสารเคมีทุกชนิด และป้องกันเล่ห์กลในการแยกขายรังชันโรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย นอกจากนี้หากชาวสวนใดต้องการจะได้รังชันโรงไปไว้ที่สวนอย่างถาวรก็สามารถซื้อได้ในราคารังละ  1,200-1,500 บาท


ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้จากชันโรง

น้ำผึ้ง

จะเห็นได้ว่า การเพาะเลี้ยงชันโรงเรียกว่าเป็นการสร้างรายได้ที่ดี เพราะนอกจากการให้เช่าแล้วก็ยังจะมีสามารถขายน้ำผึ้งและชันแถมยังต่อยอดทำได้อีกหลาอย่าง อาทิ  สบู่ ครีมอาบน้ำ และยาหม่อง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้คนยังต้องใช้ในชีวิตประจำวัน มันจึงเป็นที่ต้องการ แล้วยิ่งเป็นของที่มาจากธรรมชาติก็ยิ่งน่ามี น่าเสาะหา น่าใช้ เหลือคณานับ

จากที่ได้เกริ่นไปบ้างแล้วเกี่ยวกับผลิตผลของชันโรง ขั้นต่อไปมาว่าเรื่องคุณประโยชน์กันบ้าง โดยเฉพาะผลิตผลตัวเด่นอย่าง น้ำผึ้ง น้ำผึ้งชันโรงจะมีสีแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของสายพันธุ์ ดอกไม้ที่เป็นแหล่งอาหาร และเวลาที่เก็บน้ำผึ้ง ซึ่งจะมีตั้งแต่สีอ่อนไปจนถึงสีเข้ม รสชาติจะออกหวานอมเปรี้ยว ส่วนสรรพคุณนั้นมีมากมาย เช่น

  • มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก
  • ช่วยชะลอความแก่และความเสื่อมของเซลล์
  • ช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศและการเจริญพันธุ์
  • ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
  • ช่วยต้านแบคทีเรียและลดการอักเสบ

พรอพอลิส

ในปัจจุบันราคาของน้ำผึ้งชันโรงตามท้องตลาดขายกันกิโลกรัมละ 1,500 – 2,000 บาท เป็นราคาที่สูงไม่เบาเลยนอกจากนี้ ชันโรงยังมีผลิตผลที่น่าสนใจอีกตัว ได้แก่พรอพอลิสหรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “ชัน” ซึ่งเป็นสารที่มี

ส่วนผสมของยางไม้และไข มีลักษณะเหนียวข้นสีน้ำตาลแก่จนถึงเกือบดำ พรพอลิสจัดเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรค และเพิ่มภูมิคุ้มกัน พรอพอลิส หรือชันมีประโยชน์หลายอย่าง อาทิ

  • เป็นตัวที่ใช้ยาหรืออุดสิ่งของต่างๆ เช่น ภาชนะบรรจุน้ำ ขันน้ำ จอกน้ำ เรือ ยุ้งฉาง เครื่องดนตรีอย่าง แคน, ระนาด, ฐานพระ และใช้ทำวัตถุมงคล
  • นำไปสกัดสารที่ต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคทั้งในคนและสัตว์ แล้วยังใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคทางหู คอ จมูก ใช้เป็นยารักษาการติดเชื้อในช่องปาก รักษาโรคเหงือก และรักษาโรคผิวหนัง
  • ใช้บรรเทาพิษเวลาถูกผึ้งต่อย
  • เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง เช่น ยาหม่อง สบู่ ยาสีฟัน และยาสระผม เป็นต้นทั้งหมดทั้งมวลข้างต้นล้วนเป็นข้อมูลที่จะช่วยเสริมความรู้สร้างความมั่นใจให้ผู้ที่สนใจและผู้ที่ต้องการจะเพาะเลี้ยงชันโรง ผึ้งจิ๋วที่ไม่มีพิษมีภัยมีแต่สร้างประโยชน์อย่างแท้จริง

แหล่งซื้อขายชันโรง

1. แหล่งซื้อขายหรือตลาดชันโรงมีมากมาย หลายแห่งเหล่านั้นมีขายทั้งพันธุ์ชันโรง รังชันโรง น้ำผึ้งชันโรง พรอพอลิสและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ยิ่งในยุคโลกโซเซียลมีเดียก็ยิ่งมีการซื้อขายหลากหลาย เป็นต้นว่า เว็บไซต์และแอพยอดฮิตอย่าง Lazada & Shopee แล้วก็ Facebook ของผู้เพาะเลี้ยงเอง สนนราคาก็จะตั้งแต่ 150 บาท ไปจนถึงเป็นพันบาทหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับปริมาณ รายละเอียดปลีกย่อย และสายพันธุ์

2. อีกแห่งที่เป็นแหล่งซื้อขายชันโรง นั่นก็คือ Facebook Group ชื่อ “ตลาดกลางซื้อขายชันโรงประเทศไทย (Central Market, Stingless Bee Thailand)” และ “ซันโรงประเทศไทย (Stingless Bee Thailand)” สองกลุ่มนี้เปิดสำหรับสมาชิกผู้ซึ่งเพาะเลี้ยงชันโรงและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องชันโรง ในกลุ่มจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และการซื้อขายสินค้าต่างๆ เช่น พันธุ์ชันโรง รังชันโรง น้ำผึ้งชันโรง พรอพอลิส ผลิตภัณฑ์แปรรูป และอุปกรณ์สำหรับการเพาะเลี้ยง สนนราคาจะเริ่มตั้งแต่ 100 บาท จนถึงเป็นพันกว่าบาท


ชันโรงกับเกร็ดความรู้และความเชื่อด้านวัตถุมงคลและเครื่องราง

ตั้งแต่โบราณกาลได้มีความเชื่อว่า ชันโรงเป็นแมลงที่ให้คุณมีพลังอานุภาพ อย่างเช่น ชันโรงใต้ดินจะมีดีทางป้องกันไฟ กันคุณไสยมนต์ดำ มหาอุต และแคล้วคลาด ผู้ที่รู้เรื่องไสยเวทย์จะนำไปอุดหลังเบี้ยแก้ โบราณจารย์ก็ได้นำไปอุดวัตถุมงคล อาทิ พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ กระดาษสาเขียนยันต์ ผงใบลานพระคาถา เพื่อไม่ให้พระคาถาหลุดหายออกไป แล้วยังเอาไปทำเครื่องรางต่างๆ

ส่วนชันโรงที่อยู่ตามโพรงไม้หรือจอมปลวกก็มีความเชื่อว่าเป็นของดีของหายาก ถ้าได้พบควรเก็บไว้ทำพิธีกรรมตามตำรา มีชันโรงอีกอย่างที่นิยมนำไปทำวัตถุอาถรรพ์คือ ชันโรงที่พบได้ตามซากโพรงไม้ยืนตาย นอกจากชันโรงจะมีคุณด้านต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วก็ยังมีคุณวิเศษด้านเมตตามหานิยมอีกด้วย


หลังจากที่ทุกคนอ่านจบแล้วมั่นใจได้เลยว่าตอนนี้ทุกคนต้องมีไอเดียดี ๆในการนำข้อมูลเกี่ยวกับชันโรงในบทความนี้ไปต่อ ยอดความรู้ และธุรกิจของตัวเองอย่างแน่นอน kaset.today ยังมีบทความดี ๆ เกี่ยวกับปศุสัตว์ให้ทุกคนได้อ่านอีกมาก

แหล่งอ้างอิง

คลังความรู้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สพภ. ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้