ตั๊กแตน (Grasshopper) เป็นแมลงที่น้อยคนจะไม่รู้จักเพราะเรามักจะเห็นมันได้ทุกที่ไม่ว่าตามบ้านเรือนหรือตามพื้นที่ไร่นาป่าเขา โดยลักษณะทั่ว ๆ ไปของตั๊กแตนที่สามารถสังเกตได้ คือ พวกมันมีตาขนาดใหญ่มองได้รอบตัวและมีความสามารถในการตรวจจับแสงและความมืดได้ดี มีหนวดเล็กและบางเหมือนเส้นด้ายความยาวนั้นสั้นกว่าลำตัว นอกจากนี้ยังมีอวัยวะสืบพันธุ์สั้นมาก ๆ โดยอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศเมียจะมีขนาดสั้นกว่าตั๊กแตนตัวผู้แต่จะมีขนาดตัวใหญ่กว่าตัวผู้มากมีปากแบบกิน (Chewing Type) ในส่วนของปีกคู่หน้ามีลักษณะคล้ายแผ่นหนังและคู่หลังมีความบางใส ขาคู่หลังจะยาวแข็งแรงและมีขนหนามเล็ก ๆ ที่ช่วยในการกระโดดและยึดเกาะตามที่ต่าง ๆ ได้ ส่วนขาคู่หน้าจะมีหน้าที่เพื่อใช้เดินเมื่อถึงช่วงฤดูออกหากินเราก็มักจะได้ยินเสียงของตั๊กแตน ซึ่งเสียงนั้นเกิดจากที่ตั๊กแตนถูขาที่ซ่อนอยู่บริเวณปีกหรือท้อง รวมถึงอาจเกิดจากการกระพือปีกที่ทำให้เกิดเสียงออกมาผ่านอวัยวะรับเสียง (Tympana) ที่อยู่บริเวณส่วนท้องท่อนแรกที่ช่วยในการสื่อสารหาคู่หรือไล่ศัตรูนั่นเอง
ตั๊กแตนถือเป็นแมลงที่ถูกขนานนามว่าเป็นศัตรูพืชอันดับต้น ๆ ของชาวไร่ชาวนา เพราะพวกมันจะเข้ามากัดกินและทำลายพืชผลทางการเกษตรโดยการกัดกินใบ ผล ดอกและลำต้น สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกเป็นอย่างมาก ตั๊กแตนจะระบาดมากในช่วงสภาพอากาศที่แห้งแล้งหรือช่วงฤดูหนาว เนื่องจากแมลงชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในสภาพอากาศที่อบอุ่นไปจนถึงอากาศร้อนแห้งแล้ง สำหรับบางพื้นที่ต้องประสบปัญหาจากการที่ตั๊กแตนเข้ามาทำลายพื้นที่การเกษตรจนเสียหายในวงกว้างจึงทำให้ต้องใช้วิธีฉีดพ่นยาฆ่าแมลงแทน ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ได้รับผลผระทบตามมาก็คือคนที่ต้องบริโภคผลผลิตเหล่านั้นที่อาจะเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีจากยาฆ่าแมลงเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมีอันตราย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านต้องเรียกว่าการฆ่าตั๊กแตนไม่ได้เป็นที่เห็นชอบจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก เพราะตั๊กแตนไม่ได้เป็นแค่แมลงศัตรูพืชแต่พวกมันยังมีประโยชน์ในด้านของระบบนิเวศที่ช่วยในการแพร่กระจายเกสรของพันธุ์ชนิดต่าง ๆ และตั๊กแตนยังเป็นแหล่งสะสมของพลังงานจำพวกโปรตีนเป็นอย่างมาก
ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องตั๊กแตนที่มนุษย์หันมาให้ความสนใจก็คงหนีไม่พ้นการนำมาเป็นอาหารหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ เพราะวิธีนี้นอกจากจะช่วยลดความเสียหายให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรแล้วก็ยังไม่ถึงขั้นต้องลายความสมดุลของระบบนิเวศด้วย เป็นภูมิปัญญาอีกแบบที่เปลี่ยนจากแมลงศัตรูพืชมาเป็นอาหารซึ่งคนที่กินก็จะได้รับแหล่งโปรตีนและพลังงานที่ดีจากธรรมชาติด้วย
หลายปีที่ผ่านมาตั๊กแตนขึ้นแท่นเป็นแมลงที่มีบทบาททางด้านการสร้างรายได้มาก ๆ เพราะไม่ได้นิยมแค่ในประเทศไทยเท่านั้นแต่จะเห็นได้จากในรายงานตลาดสินค้าอาหารจากแมลง (Edible Insects) ในสหรัฐฯ ที่ได้กล่าวว่าองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ยกให้แมลงเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแมลงเกือบ 500 สายพันธุที่มนุษย์เริ่มหันมาบริโภคเป็นอาหารในหลายประเทศ โดยหลัก ๆ จะมีตั๊กแตน มด ผึ้ง หนอนและจิ้งหรีด ด้วยเหตุนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตลาดการซื้อขายแมลงเพื่อการบริโภคก็มีอัตราที่จะเติบโตได้ในอนาคต อีกทั้งเกษตรกรชาวไร่ชาวนาก็สามารถเลี้ยงขายได้ในลงทุนที่ต่ำมาก ดังนั้น Kaset today จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงตั๊กแตนมาให้ทุกคนได้ศึกษากัน
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับตั๊กแตน
ชื่อภาษาไทย: ตั๊กแตน
ชื่อภาษาอังกฤษ: Grasshopper
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Caelifera
ตระกูลสัตว์: จัดอยู่ในไฟลัมอาร์โธรพอด
การจำแนกประเภทของตั๊กแตน
ตั๊กแตนหนวดสั้น(short-horn grasshoppers) จะมีลักษณะหนวดสั้น มี 3 ปล้อง ยาวไม่ถึงส่วนท้องอวัยวะสืบพันธุ์และอวัยวะสำหรับวางไข่สั้นที่จะมีการวางไข่ในดิน ลำตัวมีสีเทาหรือออกสีน้ำตาล สำหรับตั๊กแตนบางชนิดจะมีอวัยวะทำเสียงจากการเสียดสีของปุ่มที่เรียงกันเป็นแถวยาวด้านในของขาคู่หลัง และอวัยวะฟังเสียงบริเวณตรงส่วนท้องที่เรียกว่า Tympanum รองรับการกระทบของคลื่นเสียง
ตั๊กแตนหนวดยาว (long-horn grasshoppers) จะมีลำตัวออกสีเขียว หนวดยาวมีด้วยกัน 4 ปล้องและมีขนาดตัวที่ใหญ่ ในส่วนของอวัยวะวางไข่จะมีรูปร่างคล้ายดาบและมีความแข็งแรงมาก ส่วนใหญ่จะวางไขบนใบไม้หรือภายในเนื้อเยื้อของพืช สำหรับอวัยวะที่ทำให้มีเสียงเกิดจากการเสียดสีของปีกคู่หน้านั่นเอง
ตั๊กแตนแคระ (pygmy grasshoppers) จะมีลักษณะคล้ายกับตั๊กแตนหนวดสั้นแต่มีขนาดตัวที่เล็กกว่าประมาณ 13-19 มิลลิเมตรและมีสีสันที่ไม่ค่อยสดใส จะพบได้ตามแหล่งน้ำในป่า บ่อบึง พื้นดินแฉะ หรือโขดหินที่มีมอสขึ้นทั้งในสภาพอากาศแห้งแล้งหรือเขตร้อน ในส่วนของปล้องแรกจะยื่นยาว ๆ ปกคลุมส่วนปลายท้อง ปีกคู่หน้าสั้น ชอบกินสาหร่าย ไลเคน หรือพืชกลุ่มไบรโอไฟต์ในกลุ่มจำพวกมอสส์ ลิเวอร์เวิร์ต ฮอร์นเวิร์ตและมีความสามารถในการว่ายน้ำและดำน้ำ ตั๊กแตนแคระสร้างเสียงเองไม่ได้แต่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนจากกล้ามเนื้อเพื่อใช้ในการสื่อสารได้
ทำความรู้จักกับตั๊กแตนปาทังก้าแมลงยอดนิยม
ตั๊กแตนปาทังก้า (Bombay locust) เป็นตั๊กแตนที่มีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่และมีระยะเวลาประมาณ 56 วันในการพัฒนา
อวัยต่าง ๆ ของพวกมันให้แข็งแรง ช่วงยังเป็นตัวอ่อนพวกมันจะมีลำตัวสีเขียวและเหลืองแต่เมื่อเป็นเริ่มโตเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเข้ม ขนาดลำตัวยาว 6-8 เซนติเมตร ตัวผู้เล็กกว่าตัวเมียในขณะที่บินจะเห็นปีกคู่ในเป็นสีชมพู มีใบหน้ายาว ริมฝีปากบนใหญ่และดวงตาที่กลมโต ปีกและลำตัวมีสีน้ำตาลแดง ขายาวและครีบหางมีลักษณะคล้ายกับกรวย บริเวณแก้มทั้งสองข้างจะมีแถบสีดำพาดจากขอบตาไปถึงปาก ส่วนตรงอกคอดและด้านข้างอกจะมีแถบสีน้ำตาลดำพาดยาวลงไปจนถึงปีกหน้าและปีกปลายที่จะมีแถบสีนี้ได้ถึง 1-2 แถบ บริเวณหัวถึงปลาปีกจะมีแถบสีเหลืองอ่อน
ตั๊กแตนปาทังก้าจะเริ่มผสมพันธุ์ช่วงเดือนเมษายนที่อากาศมีอุณหภูมิสูงหรือสภาพอากาศแห้งแล้ง โดยจะวางไข่ไว้ในดินที่ความลึก 2-7 เซนติเมตรและจะมีการไข่ 1-3 ฝัก ซึ่งไข่ 1 ฝักจะมีไข่ประมาณ 96-152 ฟอง เมื่อวางไข่เสร็จตัวเมียจะตายทันที สำหรับระยะเวลาในการฟักไข่จะใช้เวลาประมาณ 35-41 วัน เมื่ออากาศร้อนขึ้นหรือพื้นที่ที่วางไข่มีความแห้งแล้งมากก็จะทำให้ตั๊กแตนมีการเจริญเติบโตได้ดี หลังจากตัวอ่อนฝักออกมาแล้วจะมีการลอกคราบ 7-8 ครั้งที่จะมีการเว้นช่วงการลอกคราบประมาณ 7 วันและอายุขัยของตั๊กแตนปาทังก้าจะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี ตั๊กแตนปาทั้งก้าสามารถพบได้ทั่วไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในเขตอากาศร้อนและกึ่งร้อนหรือบริเวณที่มีความแห้งแล้งตามป่า หนองน้ำ บึงบ่อ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืชไร่
สำหรับคนที่ชื่นชอบในการกินแมลงทอดหรือตั๊กแตนทอดน้อยคนที่จะรู้ว่าตั๊กแตนส่วนใหญ่ที่คนบริโภคกันก็คือตั๊กแตนปาทังก้า ด้วยความที่เป็นเป็นตั๊กแตนขนาดใหญ่เวลานำไปทอดก็จะได้ความกรุบ กรอบ หอมอร่อยตามแบบที่ใครหลายคนชอบทานกัน แต่ต้องบอกก่อนว่าก่อนที่มันจะมาเป็นแมลงทอดอร่อย ๆ ให้เรากิน ตั๊กแตนปาทังก้าเคยสร้างปัญหามาแล้วทั่วโลกเพราะเมื่อมันบินพาดผ่านไปที่ไหนผลผลิตการเกษตรก็แทบจะไม่เหลือเลยทีเดียว โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2506 ได้เกิดฝูงตั๊กแตนปาทังก้าระบาดในพื้นที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ชนิดที่ว่าเพียงคืนเดียวบรรดาข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลังที่ปลูกไว้นับร้อยนับพันไร่เสียหายจนเกือบหมด ซึ่งในช่วงนั้นต้องมีการพ่นยาฆ่าแมลงทางอากาศเพื่อให้สามารถกำจัดตั๊กแตนปาทังก้าได้เป็นวงกว้าง แต่ด้วยเป็นสารเคมีที่รุนแรงทำให้มีหลายฝ่ายที่ไม่เป็นด้วยกับการใช้วิธีนี้
สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาที่เหล่าชาวบ้านและเกษตรกรท้องถิ่นเห็นว่าดีที่สุดก็คือการจับตั๊กแตนปาทังก้าเพื่อนำมาบริโภคซึ่งมันก็ทำให้ปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชในประเทศไทยดีขึ้นมาก ซึ่งในปัจจุบันต้องเรียกได้ว่าตั๊กแตนปาทังก้าเป็นที่นิยมบริโภคมากขนาดที่คนแห่กันไปจับมาขายจนเกือบจะสูญพันธุ์ในไทยเลยทีเดียว ดังนั้น อีกวิธีที่จะช่วยให้เรายังคงได้กินตั๊กแตนอร่อย ๆ ไม่รบกวนระบบนิเวศและเพียงพอต่อการส่งขายก็คือการเลี้ยงตั๊กแตนในครัวเรือนเอง ซึ่งแน่นอนว่าวันนี้เราไม่พลาดที่จะรวบรวมข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้ามาฝากทุกคน เพราะฉะนั้นเดี๋ยวเรามาดูกันว่าเรามีวิธีการเตรียมอย่างไรบ้าง
วิธีเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าเพื่อส่งขาย
1) การเตรียมสถานที่สำหรับเลี้ยง
สำหรับวิธีการเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าเพื่อการปศุสัตว์จะต้องเลี้ยงในสถานที่ปิด มีอากาศถ่ายเท ไม่ชื้นจนเกินไปและแดดสามารถส่องเพื่อให้ตั๊กแตนได้เจริญเติบโตได้ดี โดยรูปแบบกรงเลี้ยงจะมีด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่
กรงมุ้งไนลอน: เป็นกรงขนาด 25 x 35 x 25 เซนติเมตร โดยการใช้ลวดขนาด 2 หุน ตัดทำเป็นโครงสี่เหลี่ยมแล้วประกอบเข้าด้วยกันใช้สายยางสีขาวใสขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร สามารถถอดเข้าออกได้ มีมุ้งผ้าขาวบางหุ้มปล่อยชายผ้าไว้ด้านหน้ากรงสำหรับเปิดปิด วางกรงลวดในถาดเพื่อความสะดวกในการยก ปูกระดาษที่พื้นในกรง ในกรงมีกระบอกน้ำโดยใช้ขวดน้ำขนาด 1-1.5 ลิตร ที่ตัดคอออก สำหรับใส่ต้นแครดไว้เป็นอาหารของตั๊กแตน ล้างทำความสะอาดกระบอกน้ำทุกวันตอนเปลี่ยนอาหาร สำหรับอาหารเสริมใช้รำข้าวสาลีใส่จานพลาสติกเล็ก ๆ กรงขนาดใหญ่เลี้ยงตั๊กแตนวัยอ่อนคือ วัย 1-วัย 5 ได้ประมาณ 300 ตัว
กรงมุ้งลวด: เป็นโครงอะลูมิเนียมขนาดกรง 60 x 60 x 100 เซนติเมตร ขากรงสูง 15 เซนติเมตรที่บุกรงด้วยมุ้งลวด ประตูด้านหน้ามี 2 ตอน คือ ครึ่งหนึ่งของด้านบนเป็นประตูบุลวดมีหูจับ ส่วนครึ่งล่างเป็นประตูทึบเพื่อป้องกันไม่ให้ตั๊กแตนออกขณะเปิดปิด พื้นกรงปูด้วยตะแกรงลวดตาข่ายและมีลิ้นชักความสูง 10 เซนติเมตรสามารถถอดเข้าออกได้ เพื่อรองรับมูลของตั๊กแตนและง่ายต่อการดึงออกมาทำความสะอาด ด้านบนของกรงทำให้ถอดบานมุ้งลวดออกได้ กระบอกน้ำใส่พืชอาหาร และภาชนะใส่อาหารเสริมเหมือนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น กรงมุ้งลวดนี้ไว้ใช้เลี้ยงตั๊กแตนตั้งแต่วัย 5 ขึ้นไป กรงละประมาณ 2,000-2,500 ตัว
3) การให้อาหาร
ตั๊กแตนจะได้กินต้นแครดสดเป็นอาหาร โดยเริ่มให้กินตั้งแต่วัย 1 ไปถึงตัวโตเต็มวัย ที่จะให้กินวันละ 2 ครั้ง ซึ่งต้นพืชนี้จะต้องมีการเปลี่ยนต้นใหม่ทุกวัน เมื่อถึงช่วงโตเต็มวัยก็จะเริ่มให้อาหารเสริมอย่างรำข้าวสาลีวันละ 1 ครั้ง ในส่วนของน้ำจะใส่ไว้ในจานกระเบื้องดินเผาที่มีการใส่หินไว้ในจาน เพื่อให้ตั๊กแตนได้มีที่ยึดเกาะและเป็นการป้องกันมิให้จมน้ำ นอกจากนี้จะต้องมีการเปลี่ยนน้ำและทำความสะอาดจานอยู่เสมอ
4) การทำความสะอาด
การทำความสะอาดกรงเลี้ยงตั๊กแตนสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการเปลี่ยนกระดาษปูกรงและล้างลิ้นชักที่รองรับมูลตั๊กแตน และจะต้องทำความสะอาดกระบอกใส่ต้นไม้และจานใส่น้ำทุกวัน เนื่องจากการทำความสะอาดกรงเป็นประจำจะทำให้สุขอนามัยของตั๊กแตนดี สะอาดและไม่ก่อให้เกิดโรคตามมา นอกจากนี้จะต้องระวังสิ่งแปลกปลอมหรือศัตรูที่จะเข้ามาสร้างความเสียหายและทำร้ายตั๊กแตนภายในกรงอย่าง อาทิ มด แมงมุม หนู หรือจิ้งเหลน
5) การคัดพ่อแม่พันธุ์และการขยายพันธุ์
การคัดเลือกพันธุ์ตั๊กแตนควรเลือกพ่อพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ จะตองดูจากความแข็งแรง บริเวณร่างกายไม่มีส่วนที่ขาดแหว่ง เพราะถ้าเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ไม่มีความสมบูรณ์ก็จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพลดลงหรือไม่ได้ตามขนาดที่ตลาดต้องการ สำหรับการจัดการผสมพันธุ์ทำได้โดยการนำขวดพลาสติกขนาด 1.25 ลิตรที่มีการตัดขวดให้มีความสูงประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นใส่ดินร่วนปนทรายและฉีดน้ำให้ดินมีความชื้นและพร้อมสำหรับการวางไข่ จากนั้นจึงปล่อยให้ตั๊กแตนเข้าไปผสมกันและคอยสังเกตการวางไข่ทุกครั้งว่าตั๊กแตนมีการผสมพันธุ์ติดหรือไม่ เพื่อที่จะได้หาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ใหม่ถ้าหากผสมพันธุ์ไม่ติดนั่นเอง
6) การเลี้ยงตั๊กแตนวัยอ่อนและหลังวัยอ่อน
ตั๊กแตนที่เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนจะถูกเลี้ยงไว้ในกรงฝัก เมื่ออายุได้ประมาณ 35 วันหรือช่วงวัย 5 ของตั๊กแตนจะมีลักษณะรูปร่างที่สังเกตได้ชัดคือ แผ่นอานม้าที่สันหลังอกขอบหลังแหลมเป็นรูปตัววี มีสีเหลืองนวลหรือสีเงินคาดและหน้าแถบสีมีจุดดำเรียงเป็นแนวเดียวกัน สำหรับตั๊กแตนที่โตเร็วขึ้นจะต้องมีการแยกจำนวนตั๊กแตนออกจากกรงเดิม เนื่องจากขนาดตัวที่เริ่มใหญ่อาจส่งผลให้ภายในกรงเริ่มคับแคบ จึงจะต้องมีการลดจำนวนประชากรภายในกรงทุกครั้ง เมื่อแยกสำเร็จตั๊กแตนตัวอ่อนเพศผู้จะมี 6 วัย ใช้เวลาใช้เวลาในการเจริญเติบโตเต็มที่ประมาณ 53 วัน ส่วนตัวอ่อนเพศเมียจะใช้เวลาราว 62 วันถึงจะโตเต็มเต็มวัย
7) การเก็บตั๊กแตนออกจำหน่าย
สำหรับช่วงวัยการเก็บตั๊กแตนเพื่อจำหน่ายจะเก็บตอนช่วงตั๊กแตนก่อนโตเต็มวัย ให้สังเกตจากตุ่มปีกของตัวอ่อนเจริญมาชนกันที่สันหลังกลางลำตัวยาวคลุมถึงส่วนท้องปล้องที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายก่อนลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัย สำหรับการเลี้ยงตั๊กแตนจะใช้ต้นทุนต่ำ ไม่ยุ่งยากเหมือนกับการเลี้ยงสัตว์ประเภทอื่นและระยะเวลาในการจำหน่ายในแต่ละรอบถือว่าสั้นกว่าอีกด้วย เพราะเวลาประมาณ 1 ปี สามารถให้ผลผลิตได้หลายรอบและจำหน่ายได้หลายรุ่นทั้งไข่ ตัวอ่อน และตัวโตเต็มวัย อีกทั้งราคารับซื้อตั๊กแตนสดในตลาดแมลงอาจสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาท ที่สามารถลงทุนได้ในราคาหลักร้อยแต่ได้กำไรมากถึง 2-3 เท่าเลยทีเดียว
ตลาดรองรับและการส่งออกตั๊กแตน
ตลาดการส่งออกตั๊กแตนในต่างประเทศเรายังไม่ค่อยชำนาญมากนัก เนื่องจากการเพาะเลี้ยงในประเทศยังไม่ค่อยกว้างขวาง ฟาร์มเลี้ยงแมลงยังมีไม่มากและการจัดจำหน่ายส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ตลาดภายในประเทศมากกว่าที่จะเน้นขายแบบรับซื้อจากฟาร์มแล้วส่งต่อผู้ค้ารายย่อยนำมาขายตามตลาดนัดหรือ street food โดยจะเน้นการทอดขายเป็นอาหารทานเล่นที่ยังไม่ค่อยมีการทำแบรนด์หรือแปรรูปส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่มองว่าการส่งออกแมลงของไทยก็นับว่าเป็นธุรกิจที่น่าลงทุนและยังไม่ค่อยมีคู่แข่งมากนัก จะเห็นได้จากที่ทางนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและรองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่าปัจจุบันในตลาดโลกมีความต้องการบริโภคแมลงเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจแมลงเฉพาะชนิดที่คนกินได้ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 12,800 ล้านบาท (400 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยตลาดเอเชียมีสัดส่วนถึง 30-40% ของทั้งโลกที่เหลือกระจายตัวอยู่ทั้งในโซนยุโรป ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง โดยใน 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแมลงเติบโตขึ้นปีละ 20% และ ตลาดแมลงกินได้ก็กำลังขยายตัวไปในอเมริกาและโซนอเมริกาเหนืออีกด้วย ดังนั้น นี่จึงถือเป็นการพลิกโฉมศัตรูพืชสู่อาหารยอดนิยม
ความต้องการของผู้บริโภคนั้นมาจากงประโยชน์ทางโภชนาการของตั๊กแตนปาทังก้า เพราะมันประกอบไปด้วยพลังงาน 157 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 1.2 กรัม โปรตีน 27.6 กรัม และไขมัน 4.7 กรัม เมื่อเทียบกับโปรตีนที่ได้จากไก่ 30.38 กรัมจะเห็นว่าโปรตีนจากตั๊กแตนแตนปาทังก้า เป็นอาหารชีวจิตที่ให้โปรตีนสูงเกือบเท่าโปรตีนไก่เลยทีเดียว อีกทั้งยังสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู ตั๊กแตนทอด ลาบตั๊กแตน ตั๊กแตนปิ้ง ตั๊กแตนอบเกลือหรือการแปรรูปโดยการนำมาทำเป็นแป้งทำขนมต่าง ๆ ดังนั้น เราต้องมองว่าการส่งออกแมลงกำลังจะได้โกอินเตอร์และสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ มีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งมีการคาดการณ์ว่าตลาดสินค้าอาหารจากแมลงในสหรัฐอเมริกาจะมีมูลค่าสูงขึ้นถึง 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563 ก็ยิ่งถือว่าการรับซื้อสินค้าจากแมลงในสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่มีความต้องการสูงและอาจมีการนำเข้าเพิ่มเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่กำลังมองหาช่องทางสร้างรายได้ การเลี้ยงตั๊กแตนหรือแมลงส่งออกนอกจากใช้ต้นทุนต่ำแล้วยังมีโอกาสที่จะขายได้ราคากิโลกรัมละ 300 – 400 บาทในอนาคตด้วย
จะเห็นว่าตั๊กแตนมีประโยชน์กว่าที่เราคิดมาก ๆ ทั้งนำมาขายสร้างรายได้ มีประโยชน์ต่อร่างกายเพราะมีสารอาหารสำคัญอย่างโปรตีน อีกทั้งยังมีโพแทสเซีม ฟอสฟอรัสและวิตามินบี ช่วยลดคอเลสเตอรอลได้เพราะในแมลงมีสารไคตินที่ช่วยสามารถจับตัวกับไขมันแล้วทำให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง ช่วยต่อต้านการติดเชื้อจากยีสต์ในระบบทางเดินอาหารได้อีกด้วย ถึงแม้ว่าสารอาหารที่ได้จากตั๊กแตนจะมีประโยชน์มากแต่ต้องควรระมัดระวังและอย่าบริโภคมากเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าการหันมาเลี้ยงตั๊กแตนถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้มีทุนก้อนใหญ่ เพราะอย่างที่บอกไปว่าการบริโภคแมลงกำลังเป็นที่นิยมและหลายประเทศกำลังจะยกระดับให้แมลงเป็นอาหารทดแทน ดังนั้น kaset.today หวังว่าอาชีพการเลี้ยงตั๊กแตนขายจะช่วยสร้างความมั่นคงให้หลาย ๆ คนได้อย่างดี
แหล่งที่มา
รายงานตลาดสินค้าอาหารจากแมลง (Edible Insects) ในสหรัฐฯ
ฮับผลิตแมลงของโลก’ เพิ่มทางเลือกสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย