ปลาคาร์ฟ เลี้ยงยังไงให้สุขภาพดีสีสวย แล้วมีกี่สายพันธุ์กันนะ

ปลาคาร์ฟ เมื่อเอ่ยถึงชื่อนี้ เชื่อแน่ว่า ผู้คนเป็นต้องรู้จักไม่มากก็น้อย เพราะด้วยความโดดเด่นเฉพาะตัวด้านความสวยงามบวกสีสันของปลาชนิดนี้ที่ถูกนำพาไปอยู่ในหลายสถานที่ อาทิ บ้านเรือน สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่วัดวาอาราม ทว่า ภายใต้ความงามเหล่านั้นรู้ไหม ปลาคาร์ฟ…มีความเป็นมาอย่างไร การเลี้ยงดูและเพาะเลี้ยงทำยังไง  รวมไปถึงข้อมูลอีกมากมายที่ไม่ควรจะพลาด…

ปลาคาร์ฟ เป็นสัตว์น้ำที่มีความเชื่องและเป็นมิตรจึงเป็นจุดดึงดูดที่มีเสน่ห์ในตัวเองจนทำให้คนที่ได้พบเห็นหลงใหล และด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่เหมือนพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก เรื่องความจรรโลงใจถือว่าจำเป็นไม่น้อย การเลี้ยงปลาคาร์ปจึงได้กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเรื่องผ่อนคลายอารมณ์ และการเลี้ยงปลาคาร์ฟให้ตัวโตสีสวยได้มาตราฐานก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่เหล่านักเลี้ยงปลาต่างหาข้อมูลกันอย่างหนัก เพื่อให้ปลาตัวเองมีสุขภาพดีตรงตามตำราให้ได้มากที่สุด 

แล้วยิ่งมีคนชื่นชอบและต้องการผ่อนคลายมากเพียงใด การเพาะเลี้ยงปลาคาร์ฟกลายมาเป็นปศุสัตว์ประเภทหนึ่ง ที่สร้างธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และมีหลายคนหันมาทำฟาร์มปลาคาร์ฟเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คุณรู้ไหมว่ามันไม่ได้จะทำกันง่ายๆ เพราะมันมีขั้นตอนในการนำเข้าปลา และคุณต้องปฏิบัติตามหากคุณอยากจะทำอาชีพนี้ ซึ่ง kesat today ก็ได้มีการอธิบายเบื้องต้นที่คุณควรรู้ และเท่าที่เห็นตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศก็ยังเป็นอาชีพที่ยังสามารถไปต่อได้ดี เกริ่นเท่านี้คงชักอยากจะรู้แล้วล่ะสิว่า ปลาชนิดนี้จริงอย่างที่พูดแน่หรือ...เรามาดูไปพร้อมๆ กันเลย...

ข้อมูลทั่วไปของปลา

ชื่อภาษาไทย : ปลาคาร์ฟ, ปลาแฟนซีคาร์ฟ, ปลาไนแฟนซี, ปลาไนสี, ปลาไนทรงเครื่อง

ชื่อภาษาอังกฤษ : Crap, Fancy Crap, Colored Crap, Koi fish

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyprinus carpio Linn.

ตระกูล : Cyprinidae


ปลาคาร์ฟหรือแฟนซีคาร์ฟคืออะไร

ปลาคาร์ฟ หรือ ที่รู้จักกันทั่วไปว่า ปลาแฟนซีคาร์ฟนั้น เป็นสัตว์น้ำจืดที่มีครีบนิ่มขนาดไม่ใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มปลาตะเพียน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอิหร่าน แล้วเมื่อประมาณ 3,100 ปีก่อน ชาวจีนเป็นชาติแรกที่ได้ศึกษาและได้เลี้ยงปลาคาร์ฟ จากเดิมทีปลามีที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติจะมีสีเพียงสีดำ สีเทาดำ หรือสีน้ำตาลเข้มเท่านั้น กระทั้งปลาบางตัวได้กลายพันธุ์เป็นสีส้ม ซึ่งตรงกับคำในภาษาจีนที่มีความหมายว่า “สิริมงคล” ดังนั้น ชาวจีนจึงนิยมนำมาเลี้ยงในบ้าน เพื่อความสวยงามบวกเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว

ส่วนในประเทศญี่ปุ่นเรียก ปลาคาร์ฟ ว่า โค่ย (Koi) หรือ นิชิกิกอย (Nichikigoi) ที่ญี่ปุ่นได้ศึกษาสัตว์น้ำจืดชนิดนี้หลังคริสต์ศตวรรษประมาณ 200 ปี และได้มีการนิยมเลี้ยง เพื่อไว้ดูเล่น แล้วก็ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้สวยงาม มีสีสัน มีรูปร่างที่ดีงาม จนกลายเป็น “ปลาแฟนซีคาร์ฟ” มีศูนย์กลางการเพาะเลี้ยงอยู่ที่บริเวณเขาแถบเมืองโอจิยะ จังหวัดนิอิกาตะ และเมืองฮิโรชิมา ปัจจุบันปลาคาร์ฟของญี่ปุ่นมีหลายสายพันธุ์และมีความงดงามมากกว่าแต่ก่อน

สำหรับประเทศไทยก็ได้มีการนำเข้าปลาคาร์ฟจากประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2493 ซึ่งเวลานั้นมีราคาค่อนข้างสูงมาก และในปี พ.ศ.2498 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้ทรงนำเข้าปลาคาร์ฟจากประเทศญี่ปุ่น โดยนำมาเป็นปลาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ แล้วทรงให้ชื่อใหม่ว่า “ปลาอัมรินทร์”และนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีผู้นำเข้ามาเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายจวบจนเดี๋ยวนี้


ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของปลาคาร์ฟ

  • ลำตัว

ปลาคาร์ฟมีลักษณะลำตัวเป็นรูปวงรี มีความหนามากที่สุดช่วงกลางลำตัว และส่วนปลายลำตัวจะมีลักษณะเรียว ด้วยรูปร่างเช่นนี้ยามมีภัยปลาคาร์ฟจึงสามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วและรวดเร็ว แต่ตามปกติวิสัยจะว่ายน้ำเรื่อยๆ เอื่อยๆ ไม่รีบร้อน  

  • ครีบ

ปลาคาร์ฟจะมีครีบตามนี้ คือ ครีบตรงกลาง ซึ่งไม่เป็นครีบคู่ ครีบด้านข้าง เป็นครีบคู่ ครีบบริเวณอก จะ อยู่ตรงข้างหลังใต้เหงือกแต่ละด้านของตัวปลาและใต้หน้าตัดตรงกึ่งกลางตัวปลา โดยครีบบริเวณนี้จะใช้เพื่อโบกพักขณะกำลังหาอาหาร ครีบหน้าหรือครีบท้อง เป็นครีบคู่ที่อยู่ทางด้านล่างกึ่งกลางตัวปลา ครีบหลัง จะอยู่ด้านบนสุดของลำตัว ครีบตรงนี้จะใช้เพื่อการทรงตัวคงที่ยามอยู่ในน้ำ แล้วก็ยังช่วยลดการดึงหรือลากสำหรับว่ายน้ำได้รวดเร็วขึ้น ครีบเดี่ยวด้านหลัง มีหน้าที่เช่นเดียวกับครีบหลัง หางหรือครีบหาง เป็นครีบเดี่ยวที่ช่วยให้ปลาคาร์ฟเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แล้วก็ช่วยในการบังคับและหยุดว่ายน้ำ

  • หัว

ส่วนหัวของปลาคาร์ฟจะไม่มีเกล็ด และตั้งแต่ด้านบนจนถึงส่วนใต้หัวมีลักษณะเป็นแท่งสมส่วน ส่วนบนของหัวปลาจะเป็นพื้ยแบบเรียบ ส่วนด้านข้างจะมนกลม

  • ริมฝีปาก

มีลักษณะบางเรียบ ภายในปากจะไม่มีฟัน แต่จะมีฟันอยู่ที่บริเวณลำคอจำนวน 1-3 แถว ซึ่งแถวหนึ่งจะมีฟันไม่เกิน 8 ซี่

  • เกล็ด

ปลาคาร์ฟจะมีเกล็ดไม่เหมือนกัน เช่น ปลาคาร์ฟจากญี่ปุ่นจะมีเกล็ดทั้งตัว ปลาคาร์ฟจากเยอรมันจะมี เกล็ดขนาดใหญ่เฉพาะบริเวณบนเส้นข้างลำตัวเท่านั้น


ปลาคาร์ฟมีกี่สายพันธุ์แต่ละชื่อมีลวดลายอย่างไร

คุณธิตินันท์ ขวัญสด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ สายพันธุ์ปลาคาร์ฟในปัจจุบัน โดยจะแบ่งตามลักษณะลวดลายและสีสันบนตัวปลา ซึ่งสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยม ได้แก่

  • โคฮากุ (Kohaku) เป็นสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง มีลายสีขาว-แดง ตามลักษณะที่ดีสีแดงจะต้องคมชัดสม่ำเสมอ สีขาวต้องไม่มีตำหนิ  
ปลาคาร์ฟ
credit : Hydrosphere The Pond Experts (Kohaku)
  • ไทโช ซันโชกุ (Thaisho Sanshoku) เป็นสายพันธุ์ที่มีพื้นลำตัวเป็นสีขาว ลวดลายสีแดงหรือสีดำเด่นชัด ตรงครีบหูมีแนบสีขาว  
ปลาคาร์ฟ
credit : NARITA KOI FRAMS JAPAN (Thaisho Sanshoku)
  • โชวา ซันโชกุ (Showa Sanshoku) เป็นสายพันธุ์ที่มี 3 สี สีขาวและสีแดงจะอยู่รวมตัวบนพื้นสีดำขนาดใหญ่ บริเวณเชื่อมต่อครีบจะมีสีดำ และลักษณะลำตัวจะเป็นรูปตัว Y
ปลาคาร์ฟ
credit : NARITA KOI FRAMS JAPAN
(Showa Sanshoku)
  • อุซึริ โมโน (Utsuri Mono) เป็นสายพันธุ์ที่มีสีดำพาดบนพื้นสีอื่น ซึ่งสีดำที่ปรากฏจะมีลักษณะเป็นปื้นยาวพาดบนตัวปลา
ปลาคาร์ฟ
credit : NARITA KOI FRAMS JAPAN
(Utsuri Mono)
  • เบคโกะ (Bekko) เป็นสายพันธุ์ที่มีสี 2 สี โดยจะมีลวดลายเป็นจุดสีดำขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไปอยู่บนพื้นสีต่างๆของตัวปลา
ปลาคาร์ฟ
credit : Koiphen
(Bekko)
  • อาซากิ ชูซุย (Asagi Shusui) เป็นสายพันธุ์สายตรงที่มาจากปลาไน มีเกล็ดสีฟ้าเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบและสวยงาม
ปลาคาร์ฟ
credit : MR.NARONGCHAI ENGKAWARASET
(Asagi Shusui)
  • โคโรโม (Koromo) เป็นสายพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างสายพันธุ์อาซากิกับสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งลวดลายบนตัวจะมีเกล็ดสีน้ำเงินกระจายเด่นอยู่
ปลาคาร์ฟ
credit : Ton Lopez
(Koromo)
  • ชิโร อุชึริ (Shiro Utsuri) เป็นสายพันธุ์ที่มีแถบลายสีดำคาดคลุมจากหลังลงไปถึงส่วนท้อง
ปลาคาร์ฟ
credit : Suresh Narasmhan
(Shiro Utsuri)
  • ฮิการิ โมโยโมโน (Hikari Moyomono) เป็นสายพันธุ์ที่มี 2 สี หรือมากกว่า โดยจะมีหนึ่งสีที่มีความแวววาวคล้ายโลหะ
ปลาคาร์ฟ
credit : MR.PREECHA ORANARAMKUL
(Hikari Moyomono)
  • ฮิการิ อุซึริโมโน (Hikari Utsurimono) เป็นสายพันธุ์ที่มีลวดลายพาดสีดำบนพื้นลำตัวที่มีความแวววาว
ปลาคาร์ฟ
credit : KOIKICHI FISH FARM (Thailand) (Hikari Utsurimono)
  • คินกินริน (Kinginrin) เป็นสายพันธุ์ในกลุ่มที่มีประกายเงินหรือทองบนเกล็ด และเกล็ดจะมีลักษณะนูนคล้ายไข่มุก
ปลาคาร์ฟ
credit : RENE GRILLOT
(Kinginrin)
  • ตันโจ (Tancho) เป็นสายพันธุ์ที่มีสีแดงเพียงสีเดียวอยู่บนส่วนหัว โดยจะเป็นรูปทรงกลมขนาดใหญ่หรืออาจจะเป็นรูปทรงอื่น
ปลาคาร์ฟ
credit : Amaru laorre
(Tancho)
  • คาวาริ โมโน (Kawari Mono) เป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีลวดลายตายตัว ซึ่งต่างจากสายพันธุ์อื่นที่จะมีลวดลายใหม่เกิดขึ้นตลอด
ปลาคาร์ฟ
credit : Shusui Woche
(Kawari Mono)

เราสามารถแยกเพศปลาคา์ฟ และ ลักษณะพ่อแม่พันธุ์ดีได้อย่างไร

การดูเพศปลาคาร์ฟ

  • ปลาคาร์ฟเพศเมีย

จะมีลักษณะตัวอ้วน สั้น ครีบอกเล็ก ลำตัวกว้าง ส่วนท้องจะใหญ่และนิ่ม ส่วนหัวค่อนข้าง กลมกับป้าน ในฤดูสืบพันธุ์ ส่วนท้องของปลาคาร์ฟเพศเมียจะขยายออกอย่างกว้างจนเกือบจะเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วเมื่อจับหงายท้องก็จะเห็นช่องเพศมีลักษณะใหญ่และนูนๆ กลมๆ

  • ปลาคาร์ฟเพศผู้

จะมีลักษณะตัวผอม ยาวเรียว และเว้าข้างในเล็กน้อย ครีบอกใหญ่และกว้าง บริเวณแก้มหรือ ครีบหูจะสากๆ  ถ้าจับรีดที่ช่วงท้องแค่เพียงเบาๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวไหลออกมา ในฤดูผสมพันธุ์ ปลาคาร์ฟเพศผู้ตัวที่แข็งแรงจะมีตุ่มเล็กๆ ใสๆ เกิดขึ้นที่บริเวณส่วนหัวและครีบอก

พ่อแม่พันธุ์ดีเป็นอย่างไร

การเลี้ยงปลาคาร์ฟที่จะทำให้ได้ปลามีมาตรฐาน คุณปรัชญา บุญมาแย้ม ได้กล่าวว่า ต้องเริ่มจากการคัดเลือกคุณภาพของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ รูปทรง และสีสัน ซึ่งปลาคาร์ฟที่ดีจะต้องมาจากสายพันธุ์หรือกรรมพันธุ์ที่ดี ซึ่งจะเรียกว่า สายพันธุ์นิ่ง คือ ลูกปลาที่ได้จะต้องมีลักษณะเหมือนพ่อแม่ อายุของปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ควรจะอยู่ระหว่าง 4-5 ปี หากอายุน้อยเปลือกไข่จะบาง  เมื่อได้รับการผสม ไข่มักจะเสียก่อนฟักเป็นตัว ถ้าอายุมากหรือแก่ เปลือกไข่จะหนาทำให้สเปิร์มไม่สามารถเจาะไข่ได้ ส่วนฤดูผสมพันธุ์จะอยู่ในฤดูร้อนหรือฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการแพร่พันธุ์


เลี้ยงปลาคาร์ฟยังไงให้สุขภาพดีสีสวย

ปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงปลาคาร์ฟ

1. การเลือกทำเลสร้างบ่อ คุณธิตินันท์ ขวัญสด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความรู้ไว้ว่าที่ตั้งของบ่อปลาคาร์ฟควรจะมีอากาศถ่ายเทได้ดี ในช่วงเช้าและช่วงเย็นควรจะมีแสงแดดส่องถึงไม่น้อยกว่า 3-4 ชั่วโมง ถ้าเป็นสถานที่โล่งแจ้งก็ควรทำหลังคาหรือร่มเงา เพื่อไม่ให้บ่อปลาโดนแสงแดดในเวลากลางวันมาก แต่ทั้งนี้การสร้างบ่อลงไปในพื้นดินจะเป็นการดี เพราะปลาคาร์ฟชอบอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส ซึ่งในพื้นดินอุณหภูมิของน้ำในบ่อจะเปลี่ยนแปลงช้าและมีอุณหภูมิต่ำกว่าบ่อบนดิน แล้วเพื่อป้องกันน้ำท่วมเวลาฝนตกก็ควรจะทำปากบ่อให้มีความสูงกว่าพื้นดินอย่างน้อย 20 เซนติเมตร

2. วัสดุที่ใช้ในการสร้างบ่อ วัสดุที่เหมาะสมควรจะเป็นซีเมนต์ เนื่องจากสามารถดัดแปลงเป็นบ่อธรรมชาติได้ง่าย มีความแข็งแรงทนทาน โดยผนังบ่อควรฉาบเรียบ เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลขณะที่ปลาว่ายไปชนผนัง นอกจากนี้ อุณหภูมิของน้ำในบ่อซีเมนต์จะมีการเปลี่ยนแปลงช้าแถมยังเกิดตะไคร่น้ำได้เร็ว ซึ่งตะไคร่น้ำนี้สามารถเป็นอาหารของปลาและยังดูดสิ่งสกปรกกับแอมโมเนียในน้ำได้ด้วย

3. ขนาดและรูปร่างของบ่อ ควรจะมีขนาดที่พอเหมาะสามารถดูแลได้ง่ายและจุน้ำได้ไม่เกิน 50 ตัน ส่วนเรื่องรูปร่างของบ่อก็มีหลายลักษณะให้เลือก เช่น รูปไข่ รูปสี่เหลี่ยม รูปวงกลม หรือจัดตามเนื้อที่ที่มีอยู่ก็ได้ แต่ถ้าเลือกบ่อรูปสี่เหลี่ยมก็ไม่ควรจะสร้างให้มีมุมภายในบ่อ เพราะจะทำให้เกิดการต้านกระแสน้ำจึงควรปรับให้มีลักษณะมนโค้ง เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก แล้วในบ่อก็ปล่อยโล่ง ไม่ให้มีสิ่งใดกีดขวางการว่ายน้ำของปลา พื้นที่ก้นบ่อควรจะลาดเอียงลงจุดศูนย์กลางของบ่อทำมุมประมาณ 20-30 องศา สำหรับให้ตะกอนสิ่งสกปรกตกลงไปที่ศูนย์กลางบ่อ ซึ่งจะมีช่องระบายน้ำเสียไปยังบ่อพักน้ำเสียอีกบ่อหนึ่ง

4. ความลึกของบ่อ ความลึกที่เหมาะสมของบ่อเลี้ยงปลาคาร์ฟคือ 100-200 เซนติเมตร และระดับน้ำในบ่อก็ควรจะต่ำกว่าขอบบ่อราว 20-30 เซนติเมตร เหตุที่ควรจัดระดับความลึกเท่านี้ก็เพราะ หากน้ำลึกมากไปจะทำให้มองเห็นปลาไม่ชัด แล้วถ้าระดับน้ำตื้นเกิน ปลาจะมีอาการตื่นตกใจ กินอาหารน้อย จนเกิดปัญหาต่อการเจริญเติบโตได้ และยังทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงง่ายอีกด้วย

5. แสงสว่างของบ่อ การเลี้ยงปลาคาร์ฟบ่อควรจะมีแสงสว่าง แต่ต้องไม่ให้แสงแดดส่องตรง ถ้าเป็นบ่อกลางแจ้งควรมีหลังคากันแดดหรือให้แดดส่องได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่หากจุดที่ตั้งบ่อมีร่มเงาจากต้นไม้หรือชายคาบ้านที่สามารถกันแสงแดดได้บางเวลาอาจไม่จำเป็นต้องสร้างหลังคาก็ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะแสงแดดที่ส่องลงบ่อมากเกินไปจะทำให้แพลงค์ตอนเจริญอย่างรวดเร็ว แล้วน้ำจะมีสีเขียวขุ่น ไม่ใส ทำให้มองตัวปลาได้ไม่ชัดและบ่อไม่สวยงาม

6. อุปกรณ์อื่นๆ ในการเลี้ยงปลาคาร์ฟยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีความจำเป็น เช่น

  • บ่อพักหรือถังพักน้ำ เพื่อสำหรับเก็บน้ำดีที่เป็นน้ำใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นน้ำประปาหรือน้ำบาดาลก็ได้
  • บ่อตกตะกอน เพื่อเป็นที่เก็บน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงปลา โดยการทำท่อต่อจากบ่อเลี้ยง ให้น้ำเสียผ่านช่องที่จุดศูนย์กลางบ่อ บ่อตกตะกอนมีประโยชน์มาก เพราะน้ำจากบ่อนี้จะถูกสูบไปยังเครื่องกรองและผสมกับน้ำดี แล้วนำไปใช้ในบ่อเลี้ยงได้อีก ขนาดของบ่อตกตะกอนควรจะมีปริมาตรจุน้ำได้ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาตรน้ำในบ่อเลี้ยง
  • บ่อหรือถังกรองน้ำ บ่อเลี้ยงปลาคาร์ฟนั้นน้ำในบ่อควรจะใสสะอาด เพื่อจะได้เห็นความสวยงามของตัวปลาดังนั้นการกรองน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งเป็นการทำให้น้ำใสสะอาด กำจัดของเสียที่ปลาขับถ่าย กำจัดเศษอาหาร และกรองตะกอนกับแพลงค์ตอนที่ลอยในน้ำ  
  • ระบบการหมุนเวียนของน้ำ ควรจะมีการติดตั้งระบบหมุนเวียนของน้ำ หรือเครื่องพ่นน้ำ เพื่อเป็นการเพิ่มการหมุนเวียนที่ดีและเพิ่มออกซิเจน ทำให้น้ำในบ่อมีการถ่ายเทตลอดเวลาและดีกับปลาด้วย เพราะได้รับออกซิเจนที่เพียงพอเสมอ
  • กระแสน้ำ การทำกระแสน้ำในบ่อ ทำได้โดยการปล่อยน้ำผ่านเครื่องกรองน้ำลงบ่อและผ่านท่อขนาดเล็ก เพื่อให้กระแสน้ำแรงขึ้น แล้วควรจะมีการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำบ่อยๆ จะเป็นการดีต่อความปกติของรูปร่างปลา
  • การเพิ่มออกซิเจน มีวิธีการเพิ่มออกซิเจนในบ่ออยู่ 2 วิธี คือ วิธีแรก ก่อนจะให้น้ำไหลผ่านเครื่องกรองลงสู่บ่อก็ควรให้น้ำได้รับออกซิเจนก่อน วิธีที่สอง ให้ติดตั้งเครื่องเพิ่มออกซิเจน หรือเครื่องพ่นน้ำในบ่อ

ขนาด สายพันธุ์ และจำนวนปลาที่เหมาะสม

ในการเลี้ยงปลาคาร์ฟจะคำนึงแค่เพียงปล่อยปลาในตู้ปลาหรือบ่อให้มาก เพื่อความสวยงามอย่างเดียวไม่ได้ ควรนึกถึงความเหมาะสมทั้งหลายด้วย อาทิ คุณสมบัติของน้ำ ออกซิเจนในกระแสน้ำ และสภาพแวดล้อม อีกประการที่มีความสำคัญก็คือ ขนาดกับจำนวนของปลา ซึ่ง ปลา 1 ตัว สามารถรอดชีวิตได้ในน้ำปริมาณ 100 เท่าของน้ำหนักตัวปลา แล้วถ้าต้องการให้ปลาเจริญเติบโตอย่างดี จำนวนปลา 1 ตัว จะต้องการน้ำไม่น้อยกว่า 1,000 เท่าของน้ำหนักตัวของปลาขึ้นไป  

ฉะนั้น หากปลา 1 ตัว มีน้ำหนัก 1 กิโลกรับ และมีความยาว 30-50 เซนติเมตร ในเนื้อที่ 1 ตารางเมตร ก็เหมาะที่จะเลี้ยงปลาตัวนี้ แต่ถ้ามีการใช้อุปกรณ์เสริม อาทิ ปั๊มอากาศ ปั๊มน้ำ รวมถึงมีระบบกรองที่ดี ก็อาจจะเพิ่มจำนวนปลา 4 ตัวต่อตารางเมตร ได้ ส่วนการเลี้ยงปลาคาร์ฟในตู้ปลาก็ควรตั้งตู้ปลาให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาจะได้เห็นปลาจากทั้งด้านข้างและด้านบน

สำหรับชนิดและสีของปลาคาร์ฟที่จะเลี้ยงรวมกัน ไม่ควรมีขนาดที่ต่างกันมากนัก ยกตัวอย่าง สีและสายพันธุ์ของปลาคาร์ฟจำนวน 10 ตัว ที่เหมาะจะเลี้ยงรวมในบ่อเดียวกัน ได้แก่

  • โคฮากุ (Kohaku) 4 ตัว
  • ไทโช ซันโชกุ (Taisho Sanshoku) 2 ตัว
  • โชวา ซันโชกุ (Showa Sanshoku) 2 ตัว
  • ชิโร อุซึริ (Shiro Utsuri) 2 ตัว

อาหารสำหรับปลาคาร์ฟ

ส่วนเรื่อง อาหารและการให้อาหาร ปลาคาร์ฟสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ โดยอาหารที่ดีมีคุณค่าจะทำให้ปลาคาร์ฟเจริญเติบโตได้ดีและมีสีสันสวยงามสดใสเสมอ ในปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปมากมายให้เลือกสรร ซึ่งล้วนดีและมีคุณค่าอาหารประเภทนี้จะช่วยบำรุงตัวปลาและสีสันของปลาให้คงความสวยงาม

โดยควรให้อาหารประมาณ 2-5 เปอร์เซนต์ของน้ำหนักตัวปลาต่อวัน หรือให้สังเกตอาการอิ่มของปลา ในวันหนึ่งควรจะให้อาหาร 2 ครั้ง คือ เช้าและบ่าย ทั้งนี้ยังสามารถให้ปลาคาร์ฟกินผักเป็นครั้งคราวได้ ผักจะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงดี ผักที่นิยมให้กิน อาทิ ผักบุ้ง ผักกาดขาว แตงโม ข้าวโพด ส่วนที่เป็นเนื้อ เช่น เนื้อปู ปลาหมึก แมลง ลูกน้ำ หนอนแดง เป็นต้น


รู้เทคนิคสักนิด เพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงปลาคาร์ฟมากขึ้น

นอกจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น การจะเลี้ยงปลาคาร์ฟให้มีสุขภาพดีและสมบูรณ์ จะต้องอาศัยความรักความเอาใจใส่ พร้อมกับใช้เทคนิคประสมความรู้ร่วมกันไปด้วย อย่างเช่น ปลามีอาการช็อค เมื่อเปลี่ยนน้ำหรืออุณหภูมิน้ำเปลี่ยนหรือไม่ ปลามีอาการส่อที่จะเป็นโรคหรือไม่ การเคลื่อนย้ายปลาจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง จะต้องทำด้วยความนุ่มนวล หากปลามีขนาดตัวใหญ่จะต้องมีความชำนาญในการจับปลา แล้วก็ให้หมั่นสังเกตอาการของปลาว่ายังเป็นปกติหรือไม่ นอกจากนี้ ก็ควรจะคอยเช็คอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี เมื่อขัดข้องต้องรีบแก้ไขโดยด่วน อีกประการ ถ้าปลามีสีไม่แจ่มใสเหมือนเดิม มีอาการอ้าปากไม่หุบ แผ่นปิดเหงือกอ้า ตัวคต หรือตัวสั้น ควรรีบหาสาเหตุและปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที


โรคที่เกิดกับปลาคาร์ฟและวิธีการรักษา

การเลี้ยงปลาคาร์ฟ ควรจะหมั่นสังเกตอาการ เป็นต้นว่า เซื่องซึม ไม่ค่อยกินอาหาร มีบาดแผลตามตัว ว่ายน้ำถูกตัวกับพื้นตู้หรือวัสดุต่างๆ ขับเมือกออกมามาก ว่ายน้ำแบบสั่นกระตุกหรือเร็วผิดปกติ ว่ายหมุนควง ทรงตัวไม่อยู่ ครีบหรือหางขาดแหว่ง ตามลำตัวมีสิ่งแปลกปลอมเกาะ เหงือกกางออกมาก เหงือกเปิดหรือบวมแดง เกล็ดตั้งชันผิดปกติ ตามีฝ้าขาวหรือจุดขาว มีเนื้อเยื่อหรือตุ่มเนื้อนูนขึ้นตามลำตัว หากปลามีอาการดังกล่าวก็รู้ได้เลยว่า ปลาเป็นโรคบางอย่างแล้ว ซึ่งโรคที่อาจจะเกิดกับปลาคาร์ฟ มีดังต่อไปนี้

1. โรคโซโคลกิต้า เป็นโรคที่เกิดจากการถ่ายน้ำหรือย้ายปลาบ่อยเกินไป ซึ่งเชื้อโซโคลกิต้าจะทำให้ปลาเป็นแผลขุ่นที่ผิวหนัง และอาจจะทำให้ตายได้

  • วิธีรักษา ให้ละลายเกลือป่นและด่างทับทิมแบบเจือจางลงไปในน้ำ เพื่อฆ่าเชื้อโซโคลกิต้า ก่อนจะนำปลาลงน้ำ ส่วนปลาที่เป็นโรคก็ให้แช่ตัวปลาในน้ำเกลือป่นและด่างทับทิมประมาณ 1-2 ชั่วโมง

2. โรคเหงือกเน่า โรคนี้เกิดจากเชื้อราคมลัม พาริส จะทำให้ปลาเกิดอาการซึม กินอาหารได้น้อย ไม่มีแรงว่ายน้ำ

  • วิธีการรักษา ให้ใช้ยาปฏิชีวนะชื่อ ออริโอมัยซิน ผสมกับอาหาร ในอัตราส่วน 1 ช้อนต่ออาหาร 1 ขีด แล้วให้ปลากินติดต่อกันเป็นเวลา 3-4 วัน ส่วนปลาที่มีอาการมากให้แช่ปลาในน้ำที่ผสมฟูราเนสทุกวัน วันละ 10 นาที จนกว่าจะมีอาการดีขึ้น

3. โรคหางและครีบเน่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในน้ำ ซึ่งมาจากขี้ปลาและเศษอาหารที่ตกค้าง ทำให้ปลายหางและครีบหลุด แล้วก็จะลามไปทั่วทั้งตัว

  • วิธีการรักษา โดยการถ่ายน้ำ ทำความสะอาดบ่อ และใช้มาลาไคท์กรีนผสมน้ำ ในอัตราส่วน 1 ขีดต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วแช่ปลาในน้ำที่ผสมเป็นเวลา 3-4 วัน กระทั่งอาการดีขึ้น

4. โรคเนื้อแหว่ง โรคนี้เกิดจากการที่ปลาได้รับบาดเจ็บจากหินหรือต้นไม้ในบ่อ และแผลติดเชื้อจากเชื้อโรคในน้ำ ทำให้เกล็ดหลุด มีจุดขาวตามลำตัว เกิดอาการอักเสบบวมเป็นรอยช้ำเลือด โรคนี้อาจจะทำให้ปลาตายได้

  • วิธีการรักษาให้ใช้ยาปฏิชีวนะชื่อ ออริโอมัยซิน ผสมกับอาหาร ในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่ออาหาร 1 ขีด โดยให้ปลากินเรื่อยๆ จนกว่าจะหาย

5. โรคเชื้อราบนผิวหนัง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราได้แพร่กระจายบนผิวหนังของปลาจนทำให้เนื้อของปลาเน่าเปื่อย โรคนี้อาจจะทำให้ปลาตายได้ หากไม่รีบรักษา

  • วิธีการรักษา ให้นำปลาแช่ลงในน้ำที่เจือด้วยเกลือป่นจางๆ และใช้สำลีชุบน้ำยาฟูราเนสทำความสะอาดบาดแผล แล้วแช่ปลาในน้ำผสมยาฟูราเนส เป็นเวลา 5-7 วัน จนปลามีอาการดีขึ้นหรือหายขาด   

6. โรคผิวหนังขุ่น เกล็ดพอง โรคนี้เกิดจากการให้อาหารที่มีโปรตีนและไขมันมากจนเกินไป ทำให้ระบบย่อยอาหารไม่ทำงาน ผิวหนังจะมีรอยเส้นเลือดขอด บวม และอักเสบ

  • วิธีการรักษา ให้แช่ปลาลงในน้ำเกลือจางๆ และให้กินอาหารผสมยาปฏิชีวินะชื่อ ออริโอมัยซิน แล้วก็ให้กินผักเสริมมากขึ้น

7. โรคลำไส้อักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากปลากินอาหารหมดอายุ หรือมีเชื้อราปน ปลาที่เป็นโรคนี้จะกินอาหารได้น้อย มีมูกเลือดปนกับอุจจาระ หรือบางทีจะถ่ายเป็นน้ำขุ่นๆ

  • วิธีการรักษา ให้กำจัดอาหารนั้นให้หมด แล้วแช่ปลาในน้ำเกลือจางๆ และให้อาหารอ่อน อย่างเช่น ลูกไรแดง หรือเนื้อปลาบด เมื่ออาการดีขึ้นค่อยให้อาหารสำเร็จรูป

8. โรคเห็บ โรคนี้เกิดจากตัวเห็บที่ติดมากับอาหารจำพวกผักที่ไม่สะอาด หรือติดมากับปลาตัวใหม่ เห็บจะดูดเลือดปลาทำให้ปลาว่ายน้ำติดขัดและเอาตัวถูตามผนังบ่อหรือเศษหิน จนทำให้เกิดบาดแผล

  • วิธีการรักษา ให้ใช้น้ำยามาโซเต็นผสมลงในบ่อเป็นเวลา 2-3 อาทิตย์ เพื่อป้องกันและทำลายตัวเห็บ

9. โรคหนอนสมอ เป็นโรคที่เกิดจากตัวหนอนรูปร่างคล้ายสมอ ยาวเหมือนเส้นด้าย ตัวหนอนนี้จะเจาะผิวหนังของปลาทำให้ปลาติดเชื้อ ที่ผิวหนังจะมีรอยสีแดงเป็นจ้ำ ครีบและเหงือกอักเสบ ปลาจะซึมและเบื่ออาหาร

  • วิธีการรักษา ให้ใช้น้ำยามาโซเต็นผสมกับน้ำ แล้วแช่ปลาทุกๆ 3 วัน จนปลามีอาการดีขึ้น แล้วก็หยอดน้ำยานี้ลงในบ่อ เพื่อฆ่าไข่ตัวหนอนสมอ

10. โรคพยาธิเส้นด้าย โรคนี้เกิดจากลูกน้ำหนอนแดงที่ปลากิน ซึ่งพยาธินี้จะเจาะเข้าไปเจริญเติบโตในตัวปลา แล้วออกมาสร้างรังตามผิวหนังใต้เกล็ดปลา ทำให้ผิวหนังมีสีแดงช้ำ

  • วิธีการรักษา ให้แช่ปลาในน้ำเกลือจางๆ ประมาณ 1-2 วัน แล้วพยาธิจะตายและปลาจะมีอาการดีขึ้น จากนั้นก็ผสมน้ำยามาโซเต็นลงในบ่อ เพื่อทำลายไข่พยาธิ

เทคนิคและข้อปฏิบัติในการดูแลรักษาปลาคาร์ฟป่วย

  • ให้แยกปลาที่ป่วยออกจากปลาตัวอื่น อย่าให้อยู่รวมกัน
  • วินิจฉัยโรคด้วยความรอบคอบ ถามผู้รู้หรือสัตวแพทย์
  • ให้ระมัดระวังเรื่องการคำนวณอัตราส่วนในการใช้ยาและการผสมยา
  • ควรละลายตัวยาให้เจือจางในภาชนะอื่น ก่อนจะใส่ลงไปในบ่อหรือตู้ปลา
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ ควรจะใช้ในช่วงเย็น เนื่องจากยาบางตัวจะทำปฏิกริยากับแสง
  • ไม่ควรจะใช้ยาปฏิชีวนะหลายตัวในเวลาเดียวกัน เพราะยาบางตัวจะทำลายฤทธิ์ยาของกันและกันได้
  • ควรจะแยกอุปกรณ์ทุกชิ้นของปลาป่วย ไม่ให้ใช่รวมกับปลาปกติ
  • ควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน วันละ 20-30 เปอร์เซ็นต์
  • การเปลี่ยนถ่ายน้ำควรจะใส่เกลือแกงลงไปในน้ำทุกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อโรคและลดความเครียดของปลา
ข้อควรระวัง การเลี้ยงปลาคาร์ฟมีข้อควรระวังที่ผู้เลี้ยงหรือคนทั่วไปอาจจะนึกไม่ถึงก็คือ สัตว์ที่ดูธรรมดา แต่มีพิษอย่าง คางคก มีอันตรายต่อปลาคาร์ฟยิ่งนัก หากคางคกไปวางไข่ในบ่อปลาและกลายเป็นลูกอ๊อด แล้วปลากินตัวลูกอ๊อด นี่จะทำให้ปลาคาร์ฟถึงแก่ชีวิตได้ เพราะลูกอ๊อดนั้นมีพิษ และไม่มียาแผนปัจจุบันที่จะรักษาได้ ผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟจึงควรจะหมั่นสำรวจบ่อ อย่าให้คางคกเข้าใกล้และวางไข่ในบ่อ

ปลาคาร์ฟจักรพรรดิ์ สวยจริงไหม

ปลาคาร์ฟ
CREDIT : PRACARP

ต่อไปจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับปลาคาร์ฟที่มีความสวยงามจนได้ชื่อว่าเป็น ราชาแห่งปลาคาร์ฟ ใช่แล้ว ที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ ปลาคาร์ฟจักรพรรดิ์ นั่นเอง  

ปลาคาร์ฟจักรพรรดิ์ หรือ Butterfly Koi เป็นสายพันธุ์ที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย โดยถูกเพาะพันธุ์จากการนำปลาคาร์ฟสายพันธุ์หลักมาทดลองผสมพันธุ์ จนได้เป็นปลาคาร์ฟจักรพรรดิ์ ซึ่งมีความสมบูรณ์แข็งแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์หลัก และทนทานต่อสภาพดิน ฟ้า อากาศเหมือนปลาคาร์ฟทั่วไป

ปลาคาร์ฟจักรพรรดิ์ มีลักษณะดีโดดเด่น ด้วยลำตัวเป็นกระสวยยาว กลม ไม่อ้วน สวนหัวใหญ่และแข็งแรง ครีบและหางยาวเสมอลำตัว ยามว่ายน้ำจะดูเหมือนผีเสื้อกำลังโบยบิน หรือมองคล้ายกระโปรงบานพลิ้วไหวตามแรงลม แม้ว่าทั้งครีบและหางจะยาวใหญ่ ทว่า ตัวปลาก็มีความแข็งแรงในการแหวกว่ายอยู่ในน้ำอย่างไม่เสียสมดุล ครีบและหางที่ยาวไม่มีผลต่อการว่ายน้ำของปลา

ฉะนั้น ในการเลือกซื้อเลือกหาปลาคาร์ฟจักรพรรดิ์ ควรเลือกตัวที่ไม่มีอาการว่ายส่ายไปส่ายมา เกล็ดเรียงตัวสวย และชิดสนิทตลอดทั้งตัว ไม่มีเกล็ดส่วนไหนบนตัวที่เปิดหรือกางออก  นอกจาก ความสวยงามแล้ว ปลาคาร์ฟจักรพรรดิ์ยังถือเป็นปลาแห่งสิริมงคลที่ผู้คนนิยมเลี้ยง เพื่อเสริมความเป็นมงคลแก่ตนด้วย


อยากนำเข้าปลาคาร์ฟต้องทำอย่างไร

มาว่ากันเรื่องที่ใครหลายคนน่าจะอยากรู้เกี่ยวกับ การนำเข้าปลาคาร์ฟเบื้องต้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าปลาคาร์ฟภายใต้ระบบกักกันโรคโดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

  1. ผู้นำเข้าจะต้องมีสถานกักกันโรคสำหรับปลาคาร์ฟ โดยสถานกักกันต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมประมง
  2. ปลาคาร์ฟที่นำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์น้ำเป็นภาษาอังกฤษ และลงนามรับรองโดยสัตวแพทย์หรือเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลประเทศผู้ส่งออก
  3. ปลาคาร์ฟจะต้องปราศจากโรคระบาด โดยจะต้องแสดงเอกสารการปราศจากโรคระบาดต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่
  4. ปลาคาร์ฟที่นำเข้าจะต้องระบุชนิด ขนาด และปริมาณให้ตรงกับหนังสืออนุญาต หรือไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในหนังสือนั้น
  5. เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ปลาคาร์ฟที่นำเข้าจะต้องนำไปกักกันโรคในสถานกักกันโรคเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 21 วัน
  6. หนังสืออนุญาตให้นำเข้าปลาคาร์ฟสามารถใช้ได้เพียง 1 ครั้ง เท่านั้น   

ฟาร์มปลาคาร์ฟในประเทศไทย

ทีนี้ก็จะแนะนำฟาร์มเลี้ยงปลาคาร์ฟที่ได้มาตรฐานในประเทศไทย สำหรับผู้ที่มองหา หรือต้องการจะเลี้ยงปลาคาร์ฟ

  • สยามโค่ย (Siam Koi) ผู้เป็นเจ้าของคือ พระเอกหนุ่มรูปหล่อขวัญใจสาวๆ หลายคน คุณวิลลี่ แมคอินทอชฟาร์มนี้จะมีบ่อปลาคาร์ฟประมาณ 7-8 บ่อ แบ่งตามอายุและราคา ที่นี่จะเน้นปลาคาร์ฟสายพันธุ์สวย สีสันแววงาม สนนราคาก็เป็นไปตามความสวยความงามนั่นเลย หากสนใจ สามารถติดต่อ หรือเข้าชมปลา ได้ที่ สยามโค่ย ถนนวิภาวดี ซอย 3 โทร.081 566 6467 หรือ ที่ https://www.facebook.com/SiamKoiJubJib/
  • ไทยคาร์ฟ (Thai Crap) เป็นฟาร์มขนาดไม่ใหญ่ นำเข้าปลาคาร์ฟ จากประเทศญี่ปุ่น โดยเจ้าของรับรองคุณภาพ 100% ว่า ลูกค้าจะได้ปลาคาร์ฟนำเข้าของแท้และดี ทั้งนี้ยังจัดหาปลาให้ได้ตามงบประมาณด้วย ที่ฟาร์มนี้จะมีปลาให้เลือกหลายขนาดหลากราคา สวยงามทั้งนั้น ราคาหลักพันก็มี สนใจติดต่อ หรือเยี่ยมชม ได้ที่ ไทยคาร์ฟ ถนนรังสิต-นครนายก ซอย 40 โทร.086 382 0311
  • Koikichi Fish Farm เป็นฟาร์มขนาดเล็ก เจ้าของเป็นคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย นำเข้าปลาคาร์ฟ จากประเทศญี่ปุ่น ปลาคาร์ฟที่ฟาร์มนี้มีสุขภาพแข็งแรงและสีสันสวยงาม นอกจากจะทำการขายแล้ว ที่นี่ยังมีการประมูลปลาคาร์ฟด้วย น่าสนใจดีใช่ไหม หากสนใจก็สามารถไปชม หรือ ติดต่อไปที่ Koikichi Fish Farm ถนนพุทธมณฑลสาย 3 โทร.081 642 7525 และ https://www.facebook.com/koikichifishfarm  หรือ www.koikichishop.com
  • บางกอกฟาร์ม เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ในพื้นที่ 15 ไร่ มีปลาคาร์ฟมากกว่า 20 สายพันธุ์ และมีประสบการณ์การเลี้ยงปลาคาร์ฟกว่า 30 ปี แถมยังเป็นฟาร์มครบวงจรที่ทั้งจำหน่วยปลาคาร์ฟสายพันธุ์แท้ จากประเทศญี่ปุ่น จำหน่ายอาหารปลา ยารักษาโรคของปลา และอุปกรณ์เลี้ยงปลา แล้วยังมีบริการทำความสะอาดบ่อกับรักษาปลานอกสถานที่อีกด้วย หากสนใจ ติดต่อ บางกอกฟาร์ม ถนนปัญญา-อินทรา โทร.02 914 1527 หรือ https://www.facebook.com/bangkokfishfarm/
  • โชคดี ณ คาร์ฟ ฟาร์ม เป็นฟาร์มปลาคาร์ฟที่มีคุณภาพ ในราคาที่จับต้องได้ แถมยังมีบริการจัดส่งฟรีทั่วประเทศด้วย สำหรับลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัด ใครสนใจ สามารถติดต่อสอบถาม ได้ที่ โชคดี ณ คาร์ฟ ฟาร์ม โทร.081-8288348 หรือ https://www.facebook.com/chokdeenakoifarm (บนหน้าเพจจะมีการอัพเดตข้อมูลปลาคาร์ฟบ่อยๆ)  
  • กาญจนาปลาคาร์ฟ เป็นฟาร์มปลาคาร์ฟที่ค่อนข้างจะครบวงจร คือ จำหน่ายปลายคาร์ฟและปลาประเภทสวยงามอื่นๆ รวมทั้งมีอุปกรณ์เกี่ยวกับปลา อาหาร และยารักษาโรค ไว้บริการด้วย หากสนใจ ติดต่อพูดคุยหรือสอบถามได้ที่ กาญจนาปลาคาร์ฟ ถนนกาญจนาภิเษก โทร.098 251 8540
  • มงคล โค่ย ฟาร์ม (Mongkol Koi Farm) เป็นอีกฟาร์มที่นำเข้าปลาคาร์ฟ จากประเทศญี่ปุ่น 100% ปลาของฟาร์มนี้จะตัวโตและมีสีสวยงาม การดูแลดี รับรองคุณภาพ สนนราคาก็ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสน ท่านใดสนใจ ติดต่อเจ้าของฟาร์มได้เลย ที่ โทร.090 572 6266 หรือ ที่ เพจ Facebook ชื่อ Mongkol Koi Farm  
  • ปู มด โค่ย ฟาร์ม (Poo Mod Koi Farm) เป็นฟาร์มนำเข้าปลาคาร์ฟสายพันธุ์แท้ จากประเทศญี่ปุ่น ด้วยราคาน่าจับต้อง ที่นี่มีปลาคาร์ฟหลายสายพันธุ์ สวยงาม การันตีคุณภาพ นอกจากนี้ ฟาร์มยังจำหน่ายอาหารปลาคาร์ฟที่มีคุณค่า ในชื่อ อาหารปลาคาร์ฟ ปู มด สูตรพิเศษ และมีผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อด้วย สนใจสามารถติดต่อหรือสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้ที่ ปู มด โค่ย ฟาร์ม (Poo Mod Koi Farm) สาขาราชพฤกษ์ โทร.099 446 5059 และ 085 519 6541 หรือ https://www.facebook.com/poomodkoifarm/
  • ร้านต้นอ้อ แฟนซีคาร์ฟ เป็นร้านจำหน่ายปลาคาร์ฟทั้งปลีกและส่ง ปลาที่นี่มีสีสันสวยงามและแข็งแรง มีคุณภาพแถมร้านก็ตั้งอยู่ที่ย่านจตุจักร ซึ่งไปมาสะดวก สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาคาร์ฟ ได้ที่ ร้านต้นอ้อ แฟนซีคาร์ฟ ตลาดปลา JJ Mall สวนจตุจักร โทร.093 965 9815

ปลาคาร์ฟกินได้รึเปล่า

ตามข้างต้นล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับปลาคาร์ฟที่ค่อนข้างเน้นในด้านลักษณะ กับความสวยความงาม แล้วถ้าจะบอกว่า ปลาคาร์ฟก็เหมือนปลาชนิดอื่นๆ ที่นำมาทำอาหารรับประทานได้ หลายคนอาจจะตกใจ แต่ในความเป็นจริงมันสามารถทานได้แถมยังมีประโยชน์มากมายด้วย อาทิ อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 มีโปรตีนสูง ช่วยบำรุงหัวใจ ต้านภาวะการอักเสบ บำรุงสุขภาพตา บำรุงกระดูก ช่วยควบคุมน้ำหนัก และปรับสมดุลลำไส้

รู้แบบนี้แล้ว คงมีคนอยากจะลอง แต่ก็คงจะมีอีกหลายคนทำใจไม่ได้ เอาเป็นว่า สำหรับคนที่อยากจะลิ้มลอง ควรดูแหล่งที่มาของปลาคาร์ฟเรื่องความสะอาดเป็นหลัก ส่วนผู้ที่ทำใจรับประทานไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เก็บและเลี้ยงปลาคาร์ฟไว้ เพื่อความจรรโลงใจ นั่นก็เป็นการอุดมประโยชน์ต่อสภาพจิตใจ ซึ่งดีไม่น้อยไปกว่าการรับประทานเลย


ปลาคาร์ฟศักดิ์สิทธิ์จริงไหม

สุดท้ายแต่ยังไม่ท้ายสุด เมื่อกล่าวถึงเรื่องสุขภาพของจิตใจที่เกี่ยวกับปลาคาร์ฟ ข้อมูลด้านความเชื่อต่างๆ ก็ล้วนข้องเกี่ยวกับสภาพจิตใจด้วยเช่นกัน

ความเชื่อเกี่ยวกับปลาคาร์ฟ

เนื่องจากปลาคาร์ฟเป็นปลาที่มีอายุค่อนข้างจะยืนยาว ดังนั้นจึงมีความเชื่อเกี่ยวกับปลาคาร์ฟตามนี้

  • ในความเชื่อของชาวจีน จะยกให้ปลาคาร์ฟเป็น สัญลักษณ์แห่งความสำเร็จในชีวิต เพราะปลาคาร์ฟเป็นปลาที่มีความอดทนสูง สามารถว่ายทวนน้ำตกและน้ำที่เชี่ยวกรากได้
  • สำหรับชาวญี่ปุ่นก็มีความเชื่อเรื่องปลาคาร์ฟ ในด้านความแข็งแรงและการประสบความสำเร็จในชีวิต โดยที่ญี่ปุ่นจะมีเทศกาลเด็กผู้ชาย ในวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งทุกบ้านที่มีลูกชายจะแขวนธงปลาคาร์ฟไว้หน้าบ้าน เพื่อขอให้เทพเจ้าปกป้องคุ้มครองลูกชาย และขอให้เติบโตด้วยความแข็งแรงและประสบความสำเร็จทุกอย่าง

ด้านการเสริมดวงและฮวงจุ้ย

ปลาคาร์ฟถือเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย รุ่งเรือง มีโชค ตามคำที่ออกเสียงในภาษาจีนว่า หลี่ ที่หมายถึง ผลกำไร หรือ ผลประโยชน์ การเลี้ยงปลาคาร์ฟจึงได้เป็นที่นิยมในหมู่นักธุรกิจและผู้ที่ต้องการประสบผลกำไรในกิจการต่างๆ รวมไปถึงผู้ที่ปรารถนา ความเจริญรุ่งเรืองและโชคลาภความหมายของจำนวนปลาคาร์ฟ สื่อถึงสิ่งเหล่านี้

  • ปลาคาร์ฟ 1 ตัว หมายถึง จุดเริ่มต้นที่ดีของครอบครัวหรือธุรกิจ เหมาะสำหรับธุรกิจที่เพิ่งจะเริ่มต้น หรือประดับตกแต่งบ้านใหม่
  • ปลาคาร์ฟ 2 ตัว หมายถึง ความรักและความซื่อสัตย์
  • ปลาคาร์ฟ 3 ตัว หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า
  • ปลาคาร์ฟ 6 ตัว หมายถึง ความโชคดี
  • ปลาคาร์ฟ 8 ตัว หมายถึง การเสริมฮวงจุ้ย เพื่อค้าขายร่ำรวยและอุดมสมบูรณ์
  • ปลาคาร์ฟ 9 ตัว หมายถึง ก้าวไปข้างหน้าและมีชีวิตยืนยาว
แล้วสำหรับคนที่ไม่ได้เลี้ยงปลาคาร์ฟ แต่ต้องการจะเสริมฮวงจุ้ยและสิริมงคล ก็สามารถประดับตกแต่งบ้านเรือนด้วยภาพปลาคาร์ฟที่สวยงามได้เช่นกัน ซึ่งภาพปลาคาร์ฟจะมีความหมายดีๆ เช่น
  • ภาพปลาคาร์ฟ หมายถึง ให้ความอุดมสมบูรณ์ในด้านการเงิน
  • ภาพปลาคาร์ฟ 1 ตัว หมายถึง การเริ่มต้นที่ดี
  • ภาพปลาคาร์ฟ 2 ตัว หมายถึง ความรัก ความซื่อสัตย์
  • ภาพปลาคาร์ฟ 3 ตัว หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า
  • ภาพปลาคาร์ฟกำลังว่ายน้ำ หมายถึง ให้คนในครอบครัวมีอายุยืนยาว
  • ภาพปลาคาร์ฟคู่ใบบัว หรือดอกบัว หมายถึง การมีกินมีใช้อย่างเหลือเฟือ

จากข้อมูลทั้งหมดทั้งมวล จะเห็นได้ว่า ปลาคาร์ฟ เป็นปลาที่มีคุณค่ามากมายยิ่งนัก หากสนใจหรือชื่นชอบปลาคาร์ฟ ทั้งผู้ที่อยากจะเลี้ยงและผู้ที่ต้องการจะทำธุรกิจด้านนี้ ควรจะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้ลึกซึ้ง เพราะยิ่งลึกเท่าใดคุณก็จะได้เห็นความอะเมซิ่งของปลาชนิดนี้มากเท่านั้น และ kaset.today ยังมีบทความดี ๆ อีกมากมาย

แหล่งอ้างอิง

NARITA KOI FARMS JAPAN

KOIKICHI ONLINE AUCTION

คุณปรัชญา บุญมาแย้ม

คุณธิตินันท์ ขวัญสด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าปลาคาร์ฟภายใต้ระบบกักกันโรค

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้