ปลากะพง หรือปลากะพงขาว ปลาเศรษฐกิจราคาดี กับการเพาะเลี้ยง

ปลากะพงขาวเป็นปลาน้ำกร่อยอีกชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสามารถหาพันธุ์ได้ง่าย เลี้ยงง่าย โตเร็ว เนื้อมีรสชาติดี และราคาค่อนข้างสูง จึงเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ปลากะพงขาวนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในเขตจังหวัดชายทะเลของประเทศไทย นอกจากการเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายในประเทศแล้วยังมีการส่งออกขายที่ต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็น ประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และประเทศจีน เป็นต้น การเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวในประเทศไทย เริ่มโดยสถานีประมงจังหวัดสงขลา เริ่มทำการทดลองเพาะพันธุ์ปลากะพงโดยวิธีการผสมเทียม เมื่อปี พ.ศ. 2514 แต่ประสบผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2516 จากนั้นจึงมีการศึกษาเกี่ยวกับปลากะพงมาเรื่อย ๆ ทำให้การเพาะพันธุ์ปลากะพงในประเทศไทยพัฒนาไปอย่างมาก และทำให้ปัจจุบันเกษตรกรในประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์ปลากระพงได้เป็นจำนวนมาก

ปลากะพง คือ
blog.sahathaishoponline.com

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับปลากะพง

ปลากะพงเป็นปลาน้ำกร่อย มีขนาดใหญ่ เป็นปลาที่มีราคาแพง นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น ปลากะพงทอดน้ำปลา ต้มยำปลากะพง ปลากะพงราดพริก ปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว ปลากะพงนึ่งมะนาว เป็นต้น เนื้อปลาให้รสชาติดี ปลากะพงที่มีจำหน่ายในท้องตลาดและส่งออกเป็นปลาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเป็นหลัก โดยปลากะพงเองมีหลายสายพันธุ์ เช่น ปลากะพงขาว ปลากะพงดำ ปลากะพงแดง และปลากะพงลาย แต่ปลากะพงที่นิยมนำมารับประทาน และเลี้ยงกันมากจะเป็นหลากะพงขาว และการเลี้ยงปลากะพงนิยมเลี้ยงตามแหล่งน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำ และชายทะเล มีเกษตรกรนิยมเพาะเลี้ยงบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง พื้นที่ปากแม่น้ำ และชายทะเลทางภาคใต้ของประเทศไทย

ลักษณะทั่วไปของปลากะพง

ปลากะพงขาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lates calcarifer (Bloch) ชื่อสามัญว่า Giant Perch หรือ Sea Bass เป็นปลาน้ำกร่อยที่มีขนาดใหญ่ ลักษณะโดยทั่วไปมีลำตัวค่อนข้างยาวและหนาแบนข้างเล็กน้อย บริเวณไหล่จะโค้งมน ส่วนตัวจะลาดชันและเว้า ส่วนของขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบนเล็กน้อย ปากกว้าง ขอบปากบนเป็นแผ่นใหญ่แยกเป็นแนวตอนต้นและตอนท้ายอย่างชัดเจน บริเวณส่วนปากจะยืดหดได้บ้าง ช่องปากเฉียงลงด้านล่างเล็กน้อย มีฟันเล็กละเอียดขากรรไกรบน-ล่างและที่เพดานปาก ตามีขนาดใหญ่ ไม่มีเยื่อที่เป็นไขมันหุ้ม แก้มมีขนาดใหญ่มีขอบหลังเป็นหนามแหลม 4 ซี่ และเรียงต่อด้วยซี่เล็ก ๆ จัดตามแนวหลังด้านบนส่วนหัวและบนแผ่นเหงือก มีเกล็ดขนาดต่าง ๆ กัน เกล็ดบริเวณลำตัวค่อนข้างใหญ่ ด้านหลังมีสีเทาเงินหรือเขียนปนเทา ส่วนท้องจะมีสีเงินแกมเหลือง บริเวณด้านข้างลำตัวมีสีเงิน ครีบหลัง ครีบก้น ครีบหาง จะมีสีเทาปนดำบาง ๆ มีครีบหลังสองตอน ตอนแรกจะอยู่ตำแหน่งของครีบท้องมีก้านครีบแข็งที่แหลมคมขนาดใหญ่ 7-8 ก้าน เชื่อต่อกันด้วยเยื่อบาง ๆ ครีบหลังตอนที่สองแยกจากตอนแรกอย่างเห็นได้ชัด มีก้านครีบแข็ง 1 ก้าน ก้านครีบอ่อนมีปลายแตกแขนง มี 10-11 ก้าน ครีบหูและครีบอกยาวไม่ถึงรูก้น ครีบก้นมีตำแหน่งใกล้เคียงกับครีบหลังตอนที่สอง ซึ่งประกอบด้วยก้านครีบแข็ง 3 ก้าน ก้านครีบอ่อน 7-8 ก้าน ข้อหางสั้น ครีบหางค่อนข้างกลม เส้นข้างตัวโค้งไปตามแนวสันหลังมีเกล็ดบนเส้นข้างตัว 52-61 เกล็ด

ปลากะพง ลักษณะ

แพร่กระจายและแหล่งอาศัย

ปลากะพงขาวเป็นปลาน้ำกร่อยขนาดใหญ่ สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม แพร่กระจายอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบปลากะพงขาวแพร่กระจายอยู่ทุกจังหวัดชายทะเล ทั้งในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน จะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไม่ห่างไกลออกไปจากชายฝั่งมากนัก โดยอาศัยอยู่ชุกชุมตามปากแม่น้ำ ลำคลอง ปละปากทะเลสาบ นอกจากนี้ปลากะพงขาวยังสามารถขึ้นไปอาศัยและเจริญเติบโตในแหล่งน้ำจืดได้อีกด้วย จึงจัดเป็นปลาประเภทสองน้ำ มีการอพยพย้ายถิ่นระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็มอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีความสมบูรณ์เพศต้องอพยพไปสู่ปากแม่น้ำและทะเลเพื่อสืบพันธุ์วางไข่ต่อไป โดยธรรมชาติปลากะพงขาวเป็นปลาที่ปราดเปรียว ว่องไว ว่ายน้ำรวดเร็ว สามารถกระโดดพ้นน้ำได้สูงขณะตกใจหรือไล่เหยื่อ มีนิสัยซุกซ่อนอยู่ตามซุ้ม กล่ำ หลักโป๊ะ หรือกองหินใต้น้ำ และออกหากินในบริเวณที่มีกระแสน้ำอ่อน ปลาขนาดใหญ่มักไม่รวมฝูง นอกจากฤดูผสมพันธุ์จะรวมเป็นกลุ่มเล็ก ๆ

การดำรงชีพและการสืบพันธุ์

ปลากะพงขาวจัดเป็นปลากินเนื้อที่กินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่าทุกชนิดเป็นอาหาร เช่น ปลาขนาดเล็ก กุ้ง และปู เป็นปลาที่กินพวกเดียวกันที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหารเช่นกัน แต่สามารถนำมาเลี้ยงให้กินอาหารที่ไม่มีชีวิตได้ เช่น อาหารเม็ดสำเร็จรูป รวมถึงเศษปลา หรือซากสัตว์ ทั้งนี้ ปลากะพงขาวในธรรมชาติมักอาศัย และอาหารเป็นฝูง ซึ่งปลาที่ที่มีขนาดเล็กจะมีนิสัยดุกว่าปลาที่มีขนาดใหญ่ แต่จะหายไปเองเมื่อเติบโตขึ้น

การผสมพันธุ์และการวางไข่

ปลากะพงขาวที่เติบโตจนพร้อมเข้าสู่การผสมพันธุ์ได้จะมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร หรือหนักประมาณ 3 กิโลกรัม และมีอายุไม่น้อยกว่า 3.5 ปี โดยปลาเพศเมียที่พร้อมผสมพันธุ์มักมีขนาด และอายุมากกว่าปลาเพศผู้ที่พร้อมผสมพันธุ์ ฤดูผสมพันธุ์ของปลากะพงขาวจะเริ่มในช่วงกลางฤดูร้อน โดยพ่อแม่ปลาที่มีไข่และน้ำเชื้อเพร้อมผสมพันธุ์จะว่ายจากแหล่งน้ำจืดไปหาแหล่งน้ำกร่อย บริเวณปากแม่น้ำหรือเขตติดต่อกับทะเลที่มีความเค็มปานกลาง หรือประมาณ 25-32 ppm เมื่อผสมพันธุ์ และวางไข่เสร็จก็จะอพยพกลับเข้ามายังเหนือปากแม่น้ำ ในภาคใต้ฝั่งตะวันตกปลากะพงขาวจะวางไข่ก่อนฤดูฝนเล็กน้อย ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน และในทางชายทะเลฝั่งอ่าวไทยปลากะพงขาวจะวางไข่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลมคม เพราะอิทธิพลของฤดูมรสุมท่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การผสมพันธุ์มจะมีอัตราส่วนแม่ปลา 1 ตัว/พ่อปลา 3-5 ตัว ใช้ช่วงการผสมพันธุ์ในขณะน้ำทะเลขึ้นมาประมาณ 19.00-22.00 น. ซึ่งจะอยู่ในช่วงกลางเดือนและปลายเดือน ปลากะพงขาววางไข่ในแต่ละครั้งจำนวน 2-4 แสนฟอง ไข่ที่มีการผสมน้ำแล้วจะลอยน้ำ มีขนาดประมาณ 0.8 มิลลิเมตร และไข่ที่ผสมแล้วจะฟักเป็นตัวประมาณ 16-18 ชั่วโมงหลังการผสม ลูกปลากะพงหลังจากการฟักจะมีความยาว 1.2 มิลลิเมตร ซึ่งจะลอยตัวตามกระแสน้ำเข้าไปอาศัยตามแอ่งน้ำหรือขอบฝั่งที่เป็นป่าชายเลนถัดจากทะเลเข้าไป

ผสมพันธุ์ปลากะพง
wbns.oas.psu.ac.th

การเพาะพันธุ์ปลากะพง

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์

ปลากะพงขาวที่สามารถนำมาทำพ่อแม่พันธุ์ส่วนใหญ่ได้มาจากแหล่งเลี้ยง ซึ่งอาจเลี้ยงในกระชังหรือเลี้ยงในบ่อดินก็ได้ โดยเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไว้ตั้งแต่ปลามีขนาดเล็ก ลักษณะของปลาพ่อพันธุ์ที่ดีควรมีขนาดความยาวของลำตัวตั้งแต่ 50 เซนติเมตรขึ้นไป มีน้ำหนักตัวประมาณ 2.5 กิโลกรัม ปลาขนาดดังกล่าวโดยมากจะมีอายุประมาณ 2 ปีขึ้นไป สำหรับลักษณะปลาแม่พันธุ์ที่ดีควรมีขนาดใหญ่กว่าปลาพ่อพันธุ์ อีกทั้งควรมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม ซึ่งปลาขนาดดังกล่าวจะมีอายุโดยประมาณตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป นอกจากลักษณะดังกล่าวแล้วปลาพ่อแม่พันธุ์ที่ดีควรต้องเป็นปลาที่ยังมีชีวิตอยู่ มีความสมบูรณ์แข็งแรงไม่เป็นโรค มีส่วนประกอบของร่างกายครบถ้วนไม่เป็นแผลที่ลำตัว หรือมีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหายไป และพ่อแม่พันธุ์ควรมีอายุไล่เลี่ยหรือใกล้เคียงกัน

การเพาะฟัก

หลังจากพ่อแม่ปลาผสมพันธุ์กันแล้ว วันรุ่งขึ้นจะรวบรวมไข่ปลา ซึ่งไข่ของปลากะพงขาวเป็นไข่ชนิดที่ลอยน้ำเพราะมีหยดน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ จะง่ายต่อการรวบรวมก่อนที่ไข่จะฟักเป็นตัว โดยใช้กระชอน สวิง หรืออวนที่ทำด้วยผ้าตาถี่ จากนั้นนำไข่ไปใส่ในบ่อเพาะฟัก สำหรับน้ำทะเลที่ใช้ในบ่อเพาะฟักควรเป็นน้ำสะอาดและมีความเค็มใกล้เคียงกัน หรือเท่ากับความเค็มในบ่อเพาะพันธุ์ โดยมีความเค็มอยู่ระหว่าง 28-30 ส่วนในพัน ให้น้ำมีการหมุนเวียนและเพิ่มอากาศอยู่ตลอดเวลา ความลึกของน้ำอยู่ที่ 1.0-1.5 เมตร ไข่ที่ได้รับการผสมจะฟักออกเป็นตัว และยังไม่จำเป็นต้องให้อาหารแก่ลูกปลา เพราะปลาจะใช้อาหารจากถุงไข่แดงที่ติดอยู่บริเวณหน้าท้องซึ่งเป็นถุงอาหารที่ติดตัวมากับตัวปลาจนหมด แล้วจึงค่อยให้กินอาหารจากนั้นจึงย้ายลูกปลาลงในบ่ออนุบาลเพื่อทำการอนุบาลต่อไป

การอนุบาลลูกปลากะพง

สำหรับการอนุบาลลูกปลากะพงขาวแบ่งได้ออกเป็น 2 ช่วงคือ

  1. การอนุบาลในช่วงแรกจะอนุบาลลูกปลาที่ฟักออกจากไข่ จนกระทั่งมีอายุ 1 เดือน ซึ่งการอนุบาลในช่วงนี้จะมีผลต่อการรอดของลูกปลา สำหรับอัตราการปล่อยนั้นจะมีความหนาแน่นที่ 50-100 ตัวต่อน้ำ 1 ลิตร ซึ่งขึ้นกับสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่สำคัญ น้ำที่ใช้เลี้ยงต้องมีคุณภาพดี อีกทั้งควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก ๆ วัน สำหรับอาหารที่ให้ลูกปลาในช่วงนี้จะให้คลอเรลลาซึ่งเป็นแพลงก์ตอนพืชที่มีขนาดเล็ก นอกจากนี้มีโรติเฟอร์อาร์ทีเมีย และเนื้อปลาสับละเอียด ตามลำดับของอายุของลูกปลาที่เพิ่มขึ้น
  2. การอนุบาลในช่วงที่ 2 จะอนุบาลลูกปลาที่มีอายุ 1 เดือนขึ้นไปจนสามารถปล่อยลงเลี้ยงในบ่อเลี้ยงหรือในกระชังเลี้ยงได้ สำหรับการอนุบาลในช่วงนี้มีการอนุบาลได้ 2 วิธีด้วยกันซึ่งถ้าหากอนุบาลในบ่อดินควรมีขนาดตั้งแต่ 50-200 ตารางเมตรขึ้นไป มีการเตรียมบ่อ จากนั้นจึงสูบน้ำเข้าบ่อให้มีระดับน้ำ 50 เซนติเมตร จึงปล่อยปลาลงอนุบาล เมื่อลูกปลากะพงได้ขนาด 3 เซนติเมตรขึ้นไปจึงสามารถจำหน่ายได้ สำหรับการอนุบาลในกระชังนั้นจะสามารถปล่อยลูกปลาลงอนุบาลได้หนาแน่นกว่าในบ่อดิน เนื่องจากมีน้ำไหลถ่ายเทได้สะดวก และกระชังที่ใช้อนุบาลจะเป็นแบบที่มีหลักปักติดแน่นอยู่กับที่ไม่สามารถลอยขึ้นลงตามระดับของน้ำได้ จากนั้นอนุบาลลูกปลาในกระชังจนมีขนาด 3 เซนติเมตรขึ้นไปจึงสามารถจำหน่ายได้ นอกจากนี้ควรหมั่นดูแลกระชัง อาหาร คุณภาพน้ำ และศัตรูของลูกปลาอย่างสม่ำเสมอ
การอนุบาลลูกปลากะพง
Facebook, ถาวรฟาร์ม จำหน่ายลูกปลากะพงขาว

การเลี้ยงปลากะพงในบ่อดิน

ปัจจุบันการเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อดินสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะดังนี้

การเลี้ยงปลากะพงในนาข้าว

การเลี้ยงปลากะพงขาวในลักษณะนี้เป็นการเสริมรายได้ของเกษตรกรควบคู่ไปกับการทำนาโดยยึดการทำนาเป็นหลัก เนื่องจากปลากะพงขาวสามารถอาศัยอยู่ในน้ำจืดได้ เมื่อเกษตรกรทำความสะอาดนาข้าวและกักเก็บน้ำแล้วจึงนำลูกปลาที่มีขนาดความยาว 1-2 นิ้ว และต้องเป็นลูกปลาที่กินอาหารแบบมีชีวิตโดยต้องเป็นปลาที่ไม่ได้ฝึกให้กินเนื้อปลาหรืออาหารที่ไม่มีชีวิตมาก่อน เพราะเมื่อนำลูกปลาลงเลี้ยงในนาข้าวลูกปลาต้องกินอาหารตามธรรมชาติที่มีในนาข้าว เช่น กุ้งฝอย และลูกปลาชนิดต่างๆ เป็นต้น หากเป็นลูกปลาที่ฝึกให้กินเนื้อปลาหรืออาหารที่ไม่มีชีวิตมาก่อน ความสามารถในการล่าเหยื่อ หาอาหารตามธรรมชาติจะลดลง เนื่องจากลูกปลาจะคุ้นเคยกับการกินอาหารจากการให้ จากนั้นจึงปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในนาข้าวด้วยอัตรา 800 ตัวต่อไร่ เมื่อเลี้ยงปลาได้ถึงระยะเวลาที่น้ำในนาข้าวแห้ง และถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวข้าวซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 เดือน ก็จะจำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่เลี้ยงในบ่อหรือในกระชังนำไปเลี้ยงต่อไป เพื่อให้เจริญเติบโตได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ (น้ำหนักประมาณ 200-400 กรัม) ซึ่งผลผลิตและอัตราการเจริญเติบโตของปลาที่เลี้ยงขึ้นกับความสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติ และระยะเวลาของการเลี้ยง สำหรับนาข้าวที่ใช้เลี้ยงปลานั้น บริเวณนาข้าวรอบ ๆ คันนาจะต้องขุดร่องลึกลงไปกว่าปกติประมาณ 50-60 เซนติเมตร และมีความกว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลากะพงขาว

การเลี้ยงปลากะพงในนากุ้ง

การเลี้ยงปลากะพงขาวในลักษณะนี้เป็นการให้ปลาที่นำมาเลี้ยงหากินอาหารตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับการเลี้ยงปลาในนาข้าว โดยใช้นากุ้งที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งมาเลี้ยงปลากะพงขาวแทน ซึ่งเกษตรกรต้องทำความสะอาดนากุ้งโดยการลอกเลนและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ แล้วตากนากุ้งนานประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงเปิดประตูน้ำรับน้ำเข้านาระดับน้ำในนากุ้งประมาณ 1 เมตร ควรกักน้ำในนากุ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อเป็นการเพิ่มอาหารตามธรรมชาติ แล้วจึงนำลูกปลาที่มีขนาดความยาว 1-2 นิ้ว และต้องเป็นลูกปลาที่กินอาหารแบบมีชีวิตโดยต้องเป็นปลาที่ไม่ได้ฝึกให้กินเนื้อปลา หรืออาหารที่ไม่มีชีวิตมาก่อน เมื่อนำลูกปลาลงเลี้ยงในนากุ้งลูกปลาต้องกินอาหารตามธรรมชาติที่เข้ามากับน้ำทะเลที่เจริญเติบโตในนากุ้ง เช่น ลูกกุ้ง ลูกปู เคย และลูกปลาชนิดต่าง ๆ เป็นต้น หากเป็นลูกปลาที่ฝึกให้กินเนื้อปลาหรืออาหารที่ไม่มีชีวิตมาก่อน ความสามารถในการล่าเหยื่อหาอาหารตามธรรมชาติจะลดลง เนื่องจากลูกปลาจะคุ้นเคยกับการกินอาหารจากการให้ การปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในนากุ้งจะปล่อยด้วยอัตราที่หนาแน่นกว่าการเลี้ยงในนาข้าวประมาณ 1,000-1,600 ตัวต่อไร่ เนื่องจากในนากุ้งมีอาหารธรรมชาติมากกว่าในนาข้าวนั่นเอง เมื่อเลี้ยงปลาได้ขนาดตามความต้องการของตลาดซึ่งใช้เวลาประมาณ 6 เดือนจึงจับปลาไปจำหน่าย สำหรับอัตราการรอดตายของปลากะพงขาวที่เลี้ยงในนากุ้งมีสูงกว่าที่เลี้ยงในนาข้าว โดยมีอัตราการรอดตายประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์

การเลี้ยงปลากะพงในนากุ้ง

การเลี้ยงปลากะพงในบ่อดินแบบพัฒนา

การเลี้ยงปลากะพงขาวในลักษณะนี้มีการปล่อยปลาลงเลี้ยงในอัตราที่หนาแน่นมากขึ้น มีระบบน้ำที่ดี มีการให้อาหารอย่างสม่ำเสมอ มีการใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเลี้ยงปลา เพื่อให้ปลาเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตที่มากขึ้น จึงควรมีข้อพิจารณาในการเลี้ยงดังนี้

การเลือกสถานที่

เพื่อให้การเลี้ยงปลากะพงขาวมีประสิทธิภาพและประหยัด ควรเลือกสถานที่และพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  1. เพื่อที่ที่จะใช้ขุดเป็นบ่อเลี้ยงปลากะพงขาวจะต้องสามารถถ่ายเทน้ำได้ดี
  2. น้ำ นอกจากจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้ผสมน้ำทะเลเพื่อให้ได้ความเค็มในระดับต่ำที่ต้องการ ตลอดจนใช้ทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนั้นควรมีแหล่งน้ำจืดสะอาดและมีมากพอ อาจขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ก็ได้ น้ำที่นำมาใช้เลี้ยงปลาควรมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 6.8-8.5 อีกทั้งปริมาณออกซิเจนในน้ำสูงกว่า 3 ส่วนในพัน
  3. ไฟฟ้า การเลี้ยงปลากะพงขาวจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิด เช่น อุปกรณ์เพิ่มอากาศในน้ำ เครื่องสูบน้ำ โคมไฟให้แสงสว่าง ตู้เย็น และเครื่องควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น
  4. โรงงานอุตสาหกรรม บ่อเลี้ยงปลากะพงขาวควรอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำเสีย มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ
  5. ควรอยู่ใกล้แหล่งที่สามารถหาซื้ออาหารปลาได้ง่าย และพอเพียงตลอดทั้งปี
  6. ตลาด ควรมีตลาดรองรับ เพื่อสะดวกในการจำหน่าย

การเตรียมบ่อและพันธุ์ปลา

บ่อเลี้ยงปลากะพงขาวควรมีขนาด ½ – 2 ไร่ และควรมีน้ำลึก 1.5-2.0 เมตร รูปร่างบ่อเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อนการนำปลาลงเลี้ยงต้องลอกเลนทำความสะอาดบ่อ หากเป็นบ่อเก่าใช้ปูนขาวในอัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านให้ทั่วบ่อเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค แล้วตากบ่อให้แห้ง ส่วนน้ำที่จะนำเข้าบ่อจะต้องกรองผ่านตะแกรง เพื่อป้องกันศัตรูของปลากะพงขาวโดยน้ำในบ่อมีความลึกประมาณ 1.5-1.8 เมตร สำหรับลูกปลาที่จะนำมาปล่อยเลี้ยงควรมีขนาดความยาว 2-3 นิ้ว และเป็นปลาที่ฝึกให้กินอาหารแบบที่ไม่มีชีวิตจำพวกเนื้อปลาหรืออาหารผสมได้ดีแล้ว ซึ่งแตกต่างจากลูกปลาที่เลี้ยงในนาข้าวหรือนากุ้ง อัตราการปล่อยปลาคือ 3,200 ตัวต่อไร่ หรือ 4,000 ตัวต่อไร่หากมีระบบน้ำที่ดี

การให้อาหารและผลผลิต

อาหารที่ให้ส่วนใหญ่จะใช้ปลาเป็ดสด หรืออาหารผสมแบบเปียก หรืออาหารเม็ดแห้ง โดยให้อาหารวันละครั้งจนปลากินอิ่ม เมื่อเลี้ยงปลาได้ 6 เดือน ปลาจะมีน้ำหนักประมาณ 500-600 กรัม สำหรับอัตราการรอดตายของปลาที่เลี้ยงแบบพัฒนาประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์

เลี้ยงปลากะพงในบ่อดินแบบพัฒนา
klongniyomyattra.go.th

การเลี้ยงปลากะพงในกระชัง

ปลากะพงขาวที่จะปล่อยเลี้ยงในกระชังต้องมีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตรขึ้นไป (4 นิ้ว) จึงจะมีอัตราการรอดมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นจึงคัดเลือกปลาที่มีขนาดใกล้เคียงกันเลี้ยงอยู่ในกระชังเดียวกัน เพื่อป้องกันการแย่งการกินอาหารของปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า โดยปล่อยลงเลี้ยงในอัตรา 100-300 ตัวต่อตารางเมตร ซึ่งขึ้นกับสภาพแวดล้อมและสถานที่ตั้งของกระชัง ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาเป็นพวกปลาสดหรือใช้ปลาเป็ดสด โดยให้อาหารจนอิ่มวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น ซึ่งหากปลาที่ใช้เลี้ยงมีความสดมาก ๆ หรืออาจจะเป็นปลาสดที่แช่แข็งไว้ก็ได้ จะมีผลให้อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อไม่ค่อยดี ปลากะพงขาวที่เลี้ยงในกระชังที่ระยะเวลา 6-7 เดือน จะได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ (500-800 กรัม)

กระชังอยู่กับที่

กระชังอยู่กับที่เป็นกระชังที่ถูกผูกยึดกับเสาไว้ที่ปักกับพื้นดิน แต่ให้สามารถลอยขึ้นตามระดับน้ำได้ เสาอาจทำด้วยไม้ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง หรือ เหล็ก

กระชังลอยน้ำ

กระชังลอยน้ำเป็นกระชังที่ทำขึ้นบนวัสดุที่ลอยเหนือน้ำ เช่น โป๊ะ ทุ่นลอยน้ำ หรือ แพ นิยมใช้บริเวณแหล่งน้ำที่มีความแตกต่างของความลึกระหว่างน้ำขึ้นน้ำลงตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป และน้ำขึ้นสูงสุดมากกว่า 2 เมตรขึ้นไป ซึ่งตัวกระชังจะผูกติดหรือสร้างติดกับแพ หรือทุ่นลอย นิยมมากในบริเวณช่ายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ ระนอง พังงา เป็นต้น มี 2 แบบย่อยคือ

  • กระชังลอยแบบมีโครง เป็นกระชังที่มีโครงวัสดุยึดตัวกระชังให้ความแข็งแรง เช่น เหล็กหรือไม้ไผ่ มีโครงทั้งส่วนบนน้ำ และใต้น้ำ ตัวกระชังสามารถกางได้เต็มที่ กระชังไม่ลู่หรือพับตามแรงของกระแสน้ำ
  • กระชังลอยแบบไม่มีโครง เป็นกระชังที่มีเฉพาะตัวกระชังผูกติดกับทุ่นหรือแพ ไม่มีโครงยึด กระชังแบบนี้สามารถลู่พับตามกระแสน้ำได้ง่าย ทำให้พื้นที่กระชังน้อยลงและการถ่ายเทอากาศไม่ดีพอ

ขนาดกระชังแบบลอยน้ำที่นิยมใช้กันมาก ได้แก่ ขนาด 3x3x2 เมตร 5x5x2 และ 7x8x2 เมตร

การคัดขนาดและการปล่อย

การเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังจะต้องคัดปลาที่ใกล้เคียงกันปล่อยในกระชังเดียวกัน เพราะหากปลามีขนาดต่างกันจะทำให้ปลาที่มีขนาดใหญ่จะแย่งกินอาหารจากปลาเล็กหมดก่อน ทำให้ปลาโตไม่เท่ากัน ลูกปลากะพงที่เริ่มปล่อยสามารถปล่อยได้ตั้งแต่ขนาด 3.5 เซนติเมตรขึ้นไป อัตราการปล่อย 100-300 ตัว/ตารางเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพน้ำได้แก่

  • ลูกปลากะพงขาวขนาด 1.5-2.0 เซนติเมตร อัตราปล่อย 500-750 ตัว/ตารางเมตร
  • ลูกปลากะพงขาวขนาด 5.0-7.0 เซนติเมตร อัตราปล่อย 400-500 ตัว/ตารางเมตร
  • ลูกปลากะพงขาวขนาด 10.0-15.0 เซนติเมตร อัตราปล่อย 200-250 ตัว/ตารางเมตร
  • ลูกปลากะพงขาวที่เลี้ยงในกระชังจะเจริญเติบโตได้ขนาดตลาด (500-800 กรัม)
เลี้ยงปลากะพงในกระชัง
www.siamfishing.com

การเจริญเติบโต

  • เริ่มปล่อยปลากะพงขนาด 5-7 เซนติเมตร ลงเลี้ยงอัตรารอด 80-90 เปอร์เซ็นต์ เลี้ยงได้ประมาณ 30 วัน น้ำหนัก 40 กรัม
  • เลี้ยงประมาณ 60 วัน จะได้น้ำหนักปลาประมาณ 90 กรัม
  • เลี้ยงประมาณ 90 วัน จะได้น้ำหนักปลาประมาณ 180 กรัม
  • เลี้ยงประมาณ 120 วัน จะได้น้ำหนักปลาประมาณ 250 กรัม
  • ถ้าเลี้ยงครบ 6-7 เดือน จะได้น้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 400-600 กรัม หรือ 0.4-0.6 กิโลกรัม อัตราแลกเนื้อเท่ากับ 4.23 คือน้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม กินอาหาร 4.23 กิโลกรัม

โรคและการรักษา

  • โรคเกิดจากตัวเบียฬ
    เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บก้ามปู การรักษาใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 250 ส่วนในล้านส่วน แช่ปลาเป็นเวลาประมาณ 20-30 นาที หรือแช่ในบ่อดินที่เลี้ยง 25 ส่วนในล้านส่วนหรือใช้ฟอร์มาลิน 20 ลิตรในบ่อขนาด 1 ไร่ น้ำลึก 0.5 เมตร ทุก 3 วันติดต่อกัน
  • โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย
    – วิบริโอ พาราฮีโมลัยติคัส แอร์โรโมนาส ไฮโดรฟิลลา รักษาใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราชัยคลิน ออกซิเตตราชัยคลิน คลอแรมฟินิคอล 2.5-3 กิโลกรัม ผสมกับอาหาร 1 กิโลกรัม ให้กินติดต่อกัน 7 วัน
    – เฟลคซิแบคเตอร์ คอลัมนาริส การรักษาใช้ด่างทับทิมหรือยาเหลือง 2-4 ส่วนในน้ำล้านส่วนแช่จนกว่าจะหาย
  • โรคที่เกิดจากไวรัส
    โรคลิมโฟซิสติส ไม่รุนแรงเป็นลักษณะเรื้อรัง ไม่ทำให้ปลาตายในทันที และไม่สามารถใช้ยาหรือสารเคมีในการรักษา

อุปสรรคในการเลี้ยงปลากะพง

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงปลากะพงขาวมีดังนี้

  1. ปัญหาเรื่องการตลาด ปลากะพงขาวส่งไปขายต่างประเทศได้น้อยมาก เนื่องจากต่างประเทศสั่งซื้อลูกปลาจากประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านไปเลี้ยง ทำให้มีปริมาณปลาค่อนข้างเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ
  2. ปัญหาการตายของปลาเนื่องจากโรคและพยาธิ ซึ่งพบได้ทั้งในปลาวัยอ่อนจนถึงขนาดพ่อแม่พันธุ์ที่มีน้ำหนัก 3-4 กิโลกรัมขึ้นไป
  3. ปัญหาการกินกันเองของปลากะพงขาว ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยทั่วไปของปลากินเนื้อ จึงควรหมั่นคัดขนาดของปลาแยกออกไปเลี้ยงต่างหาก
อุปสรรคการเลี้ยงปลากะพง
www.thaisaeree.news

อ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้