ปลากัด ปลาสวยงามไทยที่ทั่วโลกรู้จัก พร้อมวิธีการเลี้ยงและเพาะพันธุ์

ปลากัด ได้มีการเพาะเลี้ยงกันมานับร้อยปี และปัจจุบันได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีลักษณะแปลกใหม่ ลวดลายสีสันสวยงาม โดยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากัดสวยงามของไทย เป็นผู้ที่มีความรู้และความชำนาญในการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัด จนเป็นที่ยอมรับของผู้ค้าปลาสวยงามทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้มีการซื้อขายปลากัดสวยงามผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ และซื้อผ่านผู้ส่งออกเป็นจำนวนมาก ปลากัดเป็นปลาสวยงามที่มีมูลค่าส่งออกสูงเป็นอันดับ 1 ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดต่อเนื่องกันมาหลายปี และในแต่ละปีมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาทต่อปี มีกลุ่มลูกค้าหลัก ๆ ทั้งอเมริกา ยุโรป และภูมิภาคเอเชีย เรียกได้ว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว

การเลี้ยงปลากัด อีกหนึ่งการเลี้ยงสัตว์ได้รับความนิยมจากคนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เลี้ยงไว้เพื่อต่อสู้ และเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม หากเลี้ยงไว้เพื่อต่อสู้นั้น จะมีการคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถใช้ในการต่อสู้ได้ โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า ปลากัดป่าหรือปลากัดทุ่ง มีลำตัวค่อนข้างเล็กบอบบาง สีน้ำตาลขุ่นหรือเทาแกมเขียว นำมาเพาะเลี้ยงและคัดพันธุ์หลายชั่วอายุ จนได้ปลาที่รูปร่างแข็งแรง ลำตัวหนาและใหญ่ขึ้น สีสันสวยสด เช่น สีแดงเข้ม สีน้ำเงินเข้ม น้ำตาลเข้ม หรือสีผสม และโดยทั่วไปมีการเรียกปลากัดที่ได้จากการคัดพันธุ์เพื่อการต่อสู้นี้ว่า ปลากัดหม้อ ปลากัดลูกหม้อ หรือปลากัดไทย ส่วนที่เลี้ยงไว้เน้นความสวยงาม จะคัดพันธุ์ปลาที่มีครีบยาว สีสวย ซึ่งนิยมเรียกปลากัดสวยงามนี้ว่า ปลากัดจีน หรือปลากัดเขมร ต่างประเทศจะรู้จักในชื่อ Siamese fighting fish นอกจากเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงามแล้ว ประเทศไทยยังมีการจัดประกวดปลาสวยงามอีกด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้ตลาดการซื้อขายปลาสวยงามขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา สร้างความหลากหลายในตลาดอีกด้วย

ngthai.com

ปลากัด เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก อยู่ในวงศ์ย่อย Macropodusinae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae โดยเป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันมาเป็นอย่างดีตั้งแต่โบราณ โดยปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมจากธรรมชาติมักเรียกติดปากว่า “ปลากัดทุ่ง” หรือ “ปลากัดลูกทุ่ง” ปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ มีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว ครีบและหางสั้น ปลาเพศผู้มีครีบและหางยาวกว่าเพศเมียเล็กน้อย

พันธุ์ปลากัด

ปัจจุบันมีปลากัดหลากหลายสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่ก็จะมีบางสายพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมแต่ยังเป็นที่นิยมนำมาเลี้ยง อย่างเช่น

  • ปลากัดป่า หรือ ปลากัดทุ่ง
    ปลากัดป่า หรือ ปลากัดทุ่ง ที่พบในธรรมชาติ ตามท้องนา หนองบึง ส่วนใหญ่จะเป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่เด่นมากนัก ในสภาพปกติสีอาจเป็นสีน้ำตาล เทาหม่น หรือสีเขียว และอาจมีแถบดำจาง ๆ พาดตามความยาวของลำตัว อาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ระหว่างพรรณไม้น้ำในที่ตื้น ความพิเศษของปลากัดอยู่ที่ความเป็นนักสู้โดยธรรมชาติ เมื่อพบปลาตัวอื่นจะเข้าต่อสู้กันทันที และนอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนสีได้ หากมีการกระตุ้น ในสภาวะตื่นตัวครีบทุกทครีบจะแผ่กางออกเต็มที่ แผ่นเยื่อหุ้มเหงือกจะขยายพองตัวออก พร้อมกับสีน้ำเงินหรือแดงที่ปรากฏขึ้นมาชัดเจนในโทนต่าง ๆ ทำให้ดูสง่างาม ปลากัดทุ่ง แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “ปลากัดลูกทุ่ง” แต่ระยะหลังได้ตัดคำว่าทุ่งออก เหลือแค่ “ปลากัดทุ่ง” ซึ่งบางที่ก็เรียกปลากัดป่า เป็นปลากัดที่มีลำตัวค่อนข้างบอบบาง มีสีน้ำตาล ขุ่นหรือแถบเขียวมีปากค่อนข้างแหลม มีฟันซี่เล็กแหลมคม นิยมเลี้ยงไว้เพื่อกัดแข่งขัน
ปลากัดป่า
www.nextsteptv.com
  • ปลากัดหม้อ (Shotfin Betta Splendens)
    เป็นปลาที่ได้รับความนิยมเลี้ยงตั้งแต่โบราณกาล มีรูปร่างและลำตัวที่ใหญ่กว่าปลากัดทุ่งและลูกผสม มีปากใหญ่ ตัวใหญ่ สีเข้มเป็นปลากัดที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นปลาที่มีความอดทนมาก และยังกัดได้เก่งและทนทรหดได้ดีกว่าปลากัดชนิดอื่น ๆ เป็นปลาที่ถูกนำมาคัดสายพันธุ์โดยนักพันธุ์ศาสตร์สมัครเล่นชาวไทย ที่มุ่งหวังจะได้ปลากัดที่เก่ง หลวงอัมรินทร์สมบัติ (ครอบ สุวรรณนคร) ได้คาดว่า เป็นปลาที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงปี 2430
ปลากัดหม้อ
  • ปลากัดลูกผสม “ลูกสังกะสี” หรือ “ลูกตะกั่ว”
    เป็นชื่อปลาที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างปลากัดทุ่งกับปลาหม้อผสมข้ามพันธุ์ ซึ่งอาจจะใช้พ่อปลากัดทุ่งกับแม่ปลากัดหม้อ หรือพ่อเป็นปลากัดหม้อกับแม่ปลากัดทุ่ง ปลากัดใหม่ลูกผสมจะลำตัวจะมีหลายสี และเป็นปลากัดที่มีความทน ทรหดและกัดได้คมและว่องไว รูปร่างสวยงาม
ปลากัดลูกผสม
pasusat.com
  • ปลากัดจีน
    รศ.ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์ ได้กล่าวว่า เป็นปลากัดพื้นเมืองในไทย เนื่องจากการที่มีผู้นำปลากัดที่มีรูปร่างสวยงามมีสีสัน มาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม เลี้ยงเพื่อดูเล่น โดยคัดพันธุ์ที่มีครีบยาว สีสวย และในปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้หางปลากัดตัวผู้สามารถแผ่ออกได้ถึง 180 องศา หรือครึ่งวงกลม และยังได้พัฒนาก้านหางจากสองแฉกธรรมดา ให้มี 5 แฉกหรือมากกว่านั้น เพื่อเป็นตัวช่วยแผ่ความกว้างของหางมากขึ้น ปัจจุบันเมืองไทยได้ผลิตปลากัดที่มีสีสัน เช่นสีเขียว สีม่วง แดง น้ำเงิน ฯลฯ หรือผสมระหว่างสีที่กล่าวมา ครรีบต่าง ๆ ยกเว้นครีบอกยื่นยาวออกเป็นพวง โดยเฉพาะครีบที่หางให้มีความยาวพอ ๆ กับความยาวของลำตัวและหัวรวมกัน
ปลากัดจีน
  • ปลากัดเขมร
    มีรูปร่างลักษณะสีสันสวยงามเช่นเดียวกับปลากัดจีน แต่จะมีลักษณะที่แตกต่างจากปลากัดจีนที่ ปลายครีบจะมีสีขาวเห็นได้ชัด ปลากัดเขมรไม่ได้มีการเพาะเลี้ยงเพียงเพื่อการพนันเหมือนแต่ก่อน แต่ปัจจุบันได้มีการหันมาเพาะเลี้ยงเอาไว้ดูเล่น ให้ความสวยงามเพลิดเพลินตาด้วย และที่สำคัญมีการเพาะเลี้ยงไว้เพื่อส่งออกต่างประเทศอีกด้วย
ปลากัดเขมร

การแยกประเภทปลากัด

ปลากัดครีบสั้น

แบ่งเป็นสายพันธุ์หลักตามลักษณะหาง คือ ปลากัดครีบสั้นหางเดี่ยว, ปลากัดครีบสั้นหางคู่ ทั้ง 2 สายพันธุ์หลัก แบ่งตามรูปทรงหางได้สายพันธุ์ละ 4 ประเภท

ปลากัดครีบสั้นหางเดี่ยว

  1. ปลากัดครีบสั้นหางเดี่ยว หางพัด
  2. ปลากัดครีบสั้นหางเดี่ยว หางใบโพธิ์
  3. ปลากัดครีบสั้นหางเดี่ยว หางมงกุฎ
  4. ปลากัดครีบสั้นหางเดี่ยว หางพระจันทร์ครึ่งดวง

ขนาด รูปทรง สัดส่วน และครีบต่าง ๆ จะมีลักษณะดังนี้

  • ลำตัว รูปร่างทรงกระบอกแบนข้าง ส่วนหัวสั้นลาดเอียงเล็กน้อย ปากเล็ก
  • หาง (ครีบหาง) มีความยาวประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว เป็นหางเดี่ยวมีรูปทรงตรงสายพันธุ์
  • กระโดง (ครีบหลัง) มีความสูงประมาณความกว้างของลำตัวปลา โดยฐานกระโดงส่วนหน้าควร อยู่ตำแหน่งกึ่งกลางลำตัวปลา หรือค่อนไปทางหางเล็กน้อย และเมื่อปลาพองควรกางออกซ้อนทับกับส่วนหางได้
  • ชายน้ำ (ครีบก้น) ฐานของชายน้ำเริ่มจากรูก้นจรดโคนหาง และความกว้างประมาณความกว้างของลำตัว
  • ตะเกียบ (ครีบท้อง) มี 1 คู่ ควรมีความยาวเท่ากัน ไม่คดงอ มีความยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของลำตัว
  • หู (ครีบหูหรือครีบอก) มี 1 คู่ ควรมีขนาดเท่ากัน
ปลากัดครีบสั้นหางเดี่ยว
goldenbetta.com

ปลากัดครีบสั้นหางคู่

  1. ปลากัดครีบสั้นหางคู่ หางพัด
  2. ปลากัดครีบสั้นหางคู่ หางใบโพธิ์
  3. ปลากัดครีบสั้นหางคู่ หางมงกุฎ
  4. ปลากัดครีบสั้นหางคู่ หางพระจันทร์ครึ่งดวง

ขนาด รูปทรง สัดส่วน และครีบต่าง ๆ จะมีลักษณะดังนี้

  • ลำตัว รูปร่างทรงกระบอกสั้น แบนข้าง ส่วนหัวสั้นลาดเอียงเล็กน้อย ปากเล็ก
  • หาง (ครีบหาง) หางแบ่งชัดเจนเป็น 2 หาง รอยแยกระหว่างหางควรลึกจรดโคนหาง และอยู่กึ่งกลาง หางทั้ง 2 ควรมีขนาดเท่ากัน และมีรูปทรงตรงตามสายพันธุ์ มีความยาวประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว
  • กระโดง (ครีบหลัง) ฐานกระโดง (ครีบหลัง) ปลากัดหางคู่จะยาวกว่าปลากัดหางเดี่ยว โดยฐานกระโดงควรอยู่ค่อนไปทางส่วนหัว และมีความกว้างไม่เกินความกว้างลำตัว
  • ชายน้ำ (ครีบก้น) ฐานของชายน้ำเริ่มจากรูก้นจรดโคนหาง และมีความกว้างไม่เกินความกว้างลำตัว
  • ตะเกียบ (ครีบท้อง) มี 1 คู่ ควรมีความยาวเท่ากัน ไม่คดงอ มีความยาวไม่น้อยกว่าความยาวของลำตัว
  • หู (ครีบหูหรือครีบอก) มี 1 คู่ ควรมีขนาดเท่ากัน
www.lovebettafish.com

ปลากัดครีบยาว

ปลากัดครีบยาว แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์หลักตามลักษณะหาง คือ ปลากัดครีบยาวหางเดี่ยว,ปลากัดครีบยาวหางคู่ ทั้ง 2 สายพันธุ์หลัก แบ่งตามรูปทรงหางได้สายพันธุ์ละ 4 ประเภท

ปลากัดครีบยาวหางเดี่ยว

  1. ปลากัดครีบยาวหางเดี่ยว หางพู่กัน
  2. ปลากัดครีบยาวหางเดี่ยว หางมงกุฎ
  3. ปลากัดครีบยาวหางเดี่ยว หางพระจันทร์ครึ่งดวง
  4. ปลากัดครีบยาวหางเดี่ยว หางพระอาทิตย์ครึ่งดวง

ขนาด รูปทรง สัดส่วน และครีบต่าง ๆ จะมีลักษณะดังนี้

  • ลำตัว รูปร่างทรงกระบอกแบนข้าง ส่วนหัวสั้นลาดเอียงเล็กน้อย ปากเล็ก
  • หาง (ครีบหาง) ควรมีความยาวไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของความยาวลำตัว และมีรูปทรงตามสายพันธุ์
  • กระโดง (ครีบหาง) ควรมีความยาวมากกว่าโคนหาง และความสูงไม่น้อยกว่าความกว้างของลำตัวปลา โดยฐานกระโดงส่วนหน้าควรอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางของลำตัวปลา หรือค่อนไปทางหางเล็กน้อย และเมื่อปลาพองสู้ควรกางออกซ้อนทับกับส่วนของหางได้ รูปทรงตามสายพันธุ์
  • ชายน้ำ (ครีบก้น) ฐานของชายน้ำควรเริ่มจากรูก้นจรดโคนหาง และมีความยาวประมาณโคนหาง รูปทรงตรงตามสายพันธุ์
  • ตะเกียบ (ครีบท้อง) มี 1 คู่ ควรมีความยาวเท่ากัน ไม่คดงอ มีความยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของลำตัว
  • หู (ครีบหูหรือครีบอก) มี 1 คู่ ควรมีขนาดเท่ากัน
ปลากัดครีบยาวหางเดี่ยว
sanam1963.wixsite.com

ปลากัดครีบยาวหางคู่

  1. ปลากัดครีบยาวหางคู่ หางพู่กัน
  2. ปลากัดครีบยาวหางคู่ หางมงกุฎ
  3. ปลากัดครีบยาวหางคู่ หางพระจันทร์ครึ่งดวง
  4. ปลากัดครีบยาวหางูคู่ หางพระอาทิตย์ครึ่งดวง

ขนาด รูปทรง สัดส่วน และครีบต่าง ๆ จะมีลักษณะดังนี้

  • ลำตัว รูปร่างทรงกระบอกสั้น แบนข้าง ส่วนหัวสั้นลาดเอียงเล็กน้อย ปากเล็ก
  • หาง (ครีบหาง) หางแบ่งชัดเจนเป็น 2 หาง รอยแยกระหว่างหางควรลึกจรดโคนหาง และอยู่กึ่งกลาง หางทั้ง 2 ควรมีขนาดเท่ากัน และมีรูปทรงตรงตามสายพันธุ์ มีความยาวประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวลำตัว
  • กระโดง (ครีบหลัง) ฐานกระโดง (ครีบหลัง) ปลากัดหางคู่จะยาวกว่าปลากัดหางเดี่ยว โดยฐานกระโดงควรอยู่ค่อนไปทางส่วนหัว ควรกางทับซ้อนกับส่วนของหางได้ ความสูงของกระโดงต้องมากกว่าความกว้างของลำตัว รูปทรงตรงตามสายพันธุ์
  • ตะเกียบ (ครีบท้อง) มี 1 คู่ ควรมีความยาวเท่ากัน ไม่คดงอ มีความยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของลำตัว
  • หู (ครีบหูหรือครีบอก) มี 1 คู่ ควรมีขนาดเท่ากัน
ปลากัดครีบยาวหางคู่
il.mahidol.ac.th

ปลากัดยักษ์

สามารถแบ่งได้เหมือนปลากัดครีบสั้นและครีบยาว เพื่อความเหมาะสมจึงแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์หลักคือ ปลากัดยักษ์ ครีบสั้น และปลากัดยักษ์ ครีบยาว

ปลากัดยักษ์ ครีบสั้น

ลำตัว มีขนาดใหญ่กว่าปลากัดครีบสั้น โดยวัดจากปลายปากถึงโคนหางต้องมีความยาวมากกว่า 2.5 นิ้ว หาง กระโดง ชายน้ำ ตะเกียบ หู มีลักษณะเหมือนปลากัด ครีบสั้นตามสายพันธุ์ แต่มีขนาดใหญ่ตามสัดส่วนลำตัว

ปลากัดยักษ์ ครีบยาว

ลำตัว มีขนาดใหญ่กว่าปลากัดครีบยาว โดยวัดจากปลายปากถึงโคนหางต้องมีความยาวมากกว่า 2.5 นิ้ว หาง กระโดง ชายน้ำ ตะเกียบ หู มีลักษณะเหมือนปลากัด ครีบยาวตามสายพันธุ์ แต่มีขนาดใหญ่ตามสัดส่วนลำตัว

ปลากัดยักษ์

ปลากัดหูช้าง

ปลากัดที่มีครีบหูใหญ่กว่าปกติมากกว่า 2 เท่าของขนาดหูปกติ และครีบหูมีรูปทรงที่สอดคล้องกับครีบหาง

ปลากัดหูช้าง

สีของปลากัด

 ปลากัดสวยงามในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายสีสัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 5 กลุ่ม คือ

ปลากัดสีเดียว

เป็นปลากัดที่มีสีเดียวกันตลอดลำตัวและครีบต่าง ๆ ยกเว้น ดวงตา ซึ่งอาจมีหลายสี โดยแยกเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ

  • ปลากัดสีเดียว สีสว่าง เป็นปลากัดที่มีสีโทนอ่อน มีด้วยกันหลายสี เช่น ขาว เหลือง ส้ม ทอง ใส ฯลฯ
  • ปลากัดสีเดียว สีเข้ม เป็นปลากัดที่มีโทนสีเข้ม มีด้วยกันหลายสี เช่น แดง ดำ น้ำเงิน เขียว เทา นาก ฯลฯ
ปลากัดสีเดียว

ปลากัดสีผสม

เป็นปลากัดที่มีสีโดดเดน่น 2 สี ภายในลำตัวและครีบ แยกเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ

  • ปลากัดสีผสม เกล็ดตาข่าย คือปลากัดที่มีโทนสีต่าง ๆ มีขอบเกล็ดเป็นลายเส้นสีดำเหมือนตาข่าย และจะมีลายเส้นดำตัดขอบครีบต่าง ๆ เช่น แดงตาข่ายดำ เหลืองตาข่ายดำ ส้มตาข่าย ฯลฯ
  • ปลากัดสีผสม ดั้งเดิม คือปลากัดที่มีลำตัวและครีบเป็น 2 สีผสมกัน โดยไม่มีลายตัดของสี ดูกลมกลืนเช่น มัสตาร์ต แบล็กออเร้นจ์ คอปเปอร์เรด คอปเปอร์แบล็ก ฯลฯ
ปลากัดสีผสม
www.thairath.co.th

ปลากัดขอบสี ลำตัวไม่มีลวดลาย

แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • ปลากัดขอบสีขาว คือปลากัดที่ลำตัวไม่มีลวดลาย แต่บริเวณรอบนอกของครีบต่าง ๆ จะเป็นขอบขาวโดยรอบของความยาวครีบทั้งหมด โดยพิจารณาดูถึงความคมชัด รอยตัดของสีมีความสม่ำเสมอ จะต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของหาง กระโดง ชายน้ำ หู ตะเกียบ
  • ปลากัดขอบสีอื่น คือปลากัดที่ลำตัวไม่มีลวดลาย แต่บริเวณรอบนอกของครีบต่าง ๆ จะเป็นสีอื่น ๆ ยกเว้นสีขาวรอบของความยาวครีบทั้งหมด โดยพิจารณาดูถึงความคมชัด รอยตัดของสีมีความสม่ำเสมอ จะต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของหาง กระโดง ชายน้ำ หู ตะเกียบ
ปลากัดขอบสี

ปลากัดหลากสี (แฟนซี) ไม่มีขอบสี

แยกเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ

  • ปลากัดหลากสี ลวดลาย เป็นปลากัดที่มีรูปแบบ แถบสี และลวดลายที่หลากหลาย ซึ่งต้องมีตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป ขอบจะต้องไม่มีสีขาว หรือสีอื่น ๆ เช่น มาร์เบิล,โค่ย,มอนสเตอร์,ทักซิโด้,ตันโจ,ซามูไร ฯลฯ
  • ปลากัดหลากสี ลายจุด เป็นปลากัดที่มีตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป เป็นจุดสีเด่นชัด ขึ้นบริเวณลำตัว และ/หรือ ครีบและขอบจะต้องไม่มีสีขาวหรือสีอื่น ๆ เช่น แวนด้า,อมาเกด้อน,ดัมเมเชี่ยน ฯลฯ
ปลากัดหลากสี

ปลากัดลำตัวมีลวดลาย มีขอบสี และประเภทสีอื่น ๆ

หมายถึง ปลากัดทุกรูปแบบสี ที่ไม่เข้าในเกณฑ์ในข้อ 1-4  เช่น มาร์เบิลขอบขาว,มาร์เบิลขอบสี,แฟนซีมีขอบ ฯลฯ

ปลากัดลำตัวมีลวดลาย มีขอบสี

ลักษณะที่ดีของปลากัด

การดูลักษณะปลากัดจะดูเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ สี รูปทรง (ครีบและลำตัว) และกิริยาอาการ ปลาที่สมบูรณ์จะมีลักษณะที่ดีจะต้องมีอาการกระฉับกระเฉง มีสีสันสวยงาม มีความสมดุลระหว่างขนาดและลักษณะของครีบและลำตัว และมีครีบที่ได้ลักษณะสวยงาม ปลากัดมีครีบเดี่ยวสามครีบ คือ ครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้น และมีครีบคู่สองคู่ คือครีบท้องหรือทวนหรือตะเกียบ และครีบอกซึ่งติดอยู่บริเวณเหงือก

  • ครีบหาง เป็นครีบที่มีรูปแบบหลากหลายมากที่สุด รูปแบบโดยทั่วไปสำหรับปลาหางเดี่ยวอาจเป็นหางกลม หางครึ่งวงกลม หางรูปสามเหลี่ยม หางกลมปลายแหลม หางย้วย และหางรูปใบโพธิ์ หางทุกแบบควรมีการกระจายของก้านครีบเท่ากัน หางควรแผ่เต็มสมบูรณ์ได้สัดส่วน
  • ครีบก้น ลักษณะครีบก้นที่ดีควรจะมีขอบครีบส่วนหน้าและส่วนหลังขนานกัน และค่อย ๆ โค้งไปทางด้านหลัง ขอบด้านหน้าและขอบด้านหลังจะต้องไม่เรียวแหลมเข้าหากัน ลักษณะที่ดีจะต้องแผ่กว้างทำมุม และซ้อนทับดูเป็นเนื้อเดียวกันกับครีบหางแต่ไม่เชื่อมต่อกับครีบหาง
  • ครีบท้อง ลักษณะควรเหมือนใบมีดที่มีด้านคมอยู่ด้านหลัง ขอบด้านหน้าโค้งเข้าเล็กน้อย ปลายแหลม ครีบทั้งคู่ควรมีความยาวและขนาดเท่ากัน และไม่ไขว้กัน ครีบจะต้องไม่สั้นหรือกว้างเกินไป และไม่ยาวหรือแคบเกินไป
  • ครีบอก ควรเป็นครีบที่สมบูรณ์กว้างและยาว
ปลากัดสวยงาม

ลักษณะที่ไม่ดีของปลากัด

ลักษณะที่ไม่ดีของปลากัด ลำตัวบางยาว ถือเป็นปลาที่ไม่แข็งแรง ปากเล็ก ปากบาง หัวสั้น หัวงอนลงล่าง เครื่องมาก ที่เรียกว่า “เครื่องแจ้” เครื่องเพชรหรือหางเพชร ไม้ท้าแพร คือ เป็นสีที่แพรวพราวเกินไป แต่ถ้าเป็นปลากัดพันธุ์หม้อหรือพันธุ์ทางก็ไม่ห้าม แก้มแท่น หมายถึง เกล็ดที่แก้มเป็นแผ่นใหญ่และมีสีแพรวพราว ส่วนมากมักเป็นสีเขียว กระโดงสีแดง สำหรับปลาลูกทุ่ง ลูปห่า ถือเป็นลักษณะที่ไม่ดี แต่ถ้าเป็นพันธุ์ลูกหม้อหรือพันธุ์พันทางก็ไม่ห้าม ตาโปนหรือตาถลน แววตาเหมือนตาแมวหรือตางูสิง เครื่องทึบ เป็นปลาที่เคลื่อนไหวช้า ไม่ว่องไว ปราดเปรียว โคนหางหรือแป้นเล็ก มักเป็นปลาที่ไม่ค่อยมีกำลัง สันหลังขาว เป็นปลาน้อยใจ เป็นปลาไม่แข็งแรง ไม่มีความอดทน หางดอก คือ หางที่มีจุดประทั่วไปในแพนหาง เป็นต้น

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์

ปลาที่นำมาทำการเพาะพันธุ์ ควรมีอายุตั้งแต่ 5-6 เดือนขึ้นไป โดยปลาจะให้ไข่ครั้งละประมาณ 500-1,000 ฟอง ในฤดูผสมพันธุ์ จะสังเกตเห็นความสมบูรณ์เพศของปลาได้ชัดเจน ในการคัดเลือกปลาเพื่อผสมพันธุ์ มีหลักที่ควรปฏิบัติดังนี้

  • ปลาเพศผู้ คัดปลาที่แข็งแรง ปราดเปรียว ลักษณะสีสดสวย ชอบสร้างรัง ซึ่งเรียกว่า “หวอด” โดยการพ่นฟองอากาศที่มีน้ำเมือกจากปากและลำคอผสมด้วย ซึ่งแสดงถึงว่าปลาเพศผู้มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่ พร้อมที่จะผสมพันธุ์
  • ปลาเพศเมีย คัดเลือกปลาที่แข็งแรง สังเกตบริเวณท้องมีลักษณะอูมเป่ง และบริเวณใต้ท้องจะมีตุ่มสีขาวใกล้กับรูก้นเห็นได้ชัด ซึ่งตุ่มสีขาวนี้เรียกกันว่า “ไข่นำ”
พ่อแม่พันธุ์ปลากัด

การเลี้ยงดูพ่อแม่พันธุ์

เนื่องจากปลากัดเป็นปลากัดมีนิสัยก้าวร้าว ชอบต่อสู้ เมื่ออายุประมาณ 1 ½ -2 เดือน การเลี้ยงปลากัดจึงจำเป็นต้องรีบแยกปลากัดเลี้ยงในภาชนะเพียง 1 ตัวก่อนที่ปลาจะมีพฤติกรรมต่อสู้กัน ภาชนะที่เหมาะสมที่สุดควรนำมาใช้เลี้ยงปลากัดได้แก่ ขวด (สุรา) ชนิดแบนบรรจุน้ำได้ 150 ซีซี เพราะสามารถเรียงกันได้ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ การแยกเพศจะสังเกตเห็นว่าปลาเพศผู้จะมีลำตัวสีเข้ม ครีบยาว ลายบนลำตัวมองเห็นชัดเจน และขนาดมักจะโตกว่าเพศเมีย ส่วนปลาเพศเมียจะมีสีซีดจาง มีลาดพาดตามยาวลำตัว 2-3 แถบ และมักจะมีขนาดเล็กกว่าปลาเพศผู้

  • น้ำที่ใช้เลี้ยง
    ปลากัดต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน มีความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 6.5-7.5 มีความกระด้าง 75-100 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีความเป็นด่าง 150-200 มิลลิกรัมต่อลิตร ควรบรรจุน้ำลงในขวดเพียง ½ ขวด เพื่อเว้นช่องว่างให้อากาศได้สัมผัสกับผิวน้ำ
  • อาหารที่ใช้เลี้ยงปลา
    ปลากัดเป็นปลาที่ชอบกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร อาหารที่เหมาะสมจะใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด ได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง ไรสีน้ำตาลที่มีชีวิต การให้อาหารควรให้วันละ 1 ครั้ง ให้ปริมาณที่พอดีปลากินอิ่ม อาหารที่ใช้เลี้ยงทุกครั้งควรล้างด้วยน้ำสะอาด เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหารหลังจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำสะอาดอีกหนึ่งครั้ง การถ่ายเทน้ำควรทำอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง

ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์ปลากัด คือ ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน โดยอุณหภูมิน้ำควรอยู่ระหว่าง 26-28 องศาเซลเซียส

วิธีการแปลงเพศปลากัด

คณะวิทยาศาสตร์การประมง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลตรัง โดย “อุไรวรรณ วัฒนกุล” ได้จัดทำโครงการศึกษาการสกัดจากใบมังคุดต่อการเปลี่ยนลักษณะเพศในปลากัด และได้ผลออกมาเป็นที่น่าสนใจ คือการนำใบมังคุดมาใช้ สำหรับการใช้ใบมังคุดในการแปลงเพศปลากัดนั้น จะต้องทำเมื่อยังเป็นลูกปลาเล็กๆ เนื่องจากลูกปลาจะยังไม่ปรากฏเพศ จึงไม่อาจรู้ได้ว่าเป็นปลาเพศผู้หรือเพศเมีย สำหรับการศึกษาวิจัยผลของสารสกัดจากใบมังคุดต่อการเปลี่ยนแปลงเพศในปลากัด จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือ จากใบมังคุดสด และใบมังคุดแห้ง โดยจะต้องเลือกใช้ใบมังคุดที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป เรียกง่ายๆ ว่า แบบพอดี นำมาล้างให้สะอาด ชั่งน้ำหนักได้ตามต้องการ คือ 25, 50, 70, 100 กรัม แล้วนำมาฉีกเป็นเส้นเล็กๆ แช่ในน้ำเดือดด้วยไฟอ่อน รอจนกว่าสีน้ำชาจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน จนได้สารสกัดออกมา แต่ ก่อนที่จะนำมาเลี้ยงลูกปลากัดนั้น ต้องกรองเศษใบมังคุดออกให้หมด หลังจากนั้นนำมาเจือจางกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 1 ก่อนนำปลาไปเลี้ยง เป็นเวลา 30 วัน หลังจากนั้นเลี้ยงตามปกติ อีก 2 เดือนจึงทำการเช็กเพศปลาได้ ซึ่งผลการทดลองพบว่า ความเข้มข้นของสารในใบมังคุดนั้น มีผลต่อสัดส่วนของเพศปลา คือถ้าต้องการให้ปลากัดเป็นเพศผู้มากกว่าเพศเมีย ควรใช้ใบมังคุดสด ที่ระดับความเข้มข้น 25 กรัม แต่ถ้าความเข้มข้นสูงกว่า 25 กรัมจะส่งผลให้ปลามีลักษณะเป็นเพศเมีย โดยก่อนนำมาเลี้ยงปลากัดนั้นจะต้องเจือจางในน้ำเปล่าเสียก่อน ในสัดส่วนที่เท่ากันคือ 1 : 1

การแปลงเพศปลากัด

การเพาะพันธุ์และอนุบาลปลากัด

วิธีการเพาะพันธุ์

มีขั้นตอนดังนี้ไปนี้

  1. นำขวดปลาเพศผู้และเพศเมียที่มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่มาวางติดกัน วิธีนี้เรียกว่า “เทียบคู่” ซึ่งควรจะเป็นบริเวณที่ปราศจากสิ่งรบกวน จะทำให้ปลาตกใจ ใช้เวลาเทียบคู่ประมาณ 3-10 วัน
  2. จากนั้นนำปลาเพศผู้และเพศเมียใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับผสมพันธุ์ เช่น ขันพลาสติก โหลแก้ว กาละมัง ตู้กระจกหรืออ่างดิน แล้วใส่พันธุ์ไม้น้ำที่แช่ด่างทับทิมเรียบร้อยแล้ว ชนิดพันธุ์ไม้น้ำที่นิยมใช้กันได้แก่ สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระรอก จอก ใบผักตบชวา เป็นต้น
  3. เมื่อปลาสามารถปรับตัวให้ชินกับสภาพในภาชนะ (ประมาณ 1-2 วัน) ปลาเพศผู้จะเริ่มก่อหวอดติดกับพันธุ์ไม้
  4. หลังจากสร้างหวอดเสร็จ ปลาเพศผู้จะพองตัวกางครีบ ไล่ต้องตัวเมียให้ไปอยู่ใต้หวอด
  5. ขณะที่ตัวเมียลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ ปลาตัวผู้จะรัดตัวเมียบริเวณช่องอวัยวะเพศ
  6. จากนั้นไข่ก็จะหลุดออกมา พร้อมกับเพศผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม และปลาเพศผู้จะตามลงไปใช้ปากดูดไข่อมไว้ ว่ายน้ำขึ้นไปพ่นไข่เข้าไว้ในฟองอากาศจนกว่าจะหมด
  7. เมื่อสิ้นสุดการวางไข่ปลาเพศผู้จทำหน้าที่ดูแลไข่เพียงลำพัง และจะไล่ต้อนปลาเพศเมียไปอยู่ที่มุมภาชนะ
  8. หลังจากนั้นรีบนำปลาเพศเมียออกจากภาชนะเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเพศเมียกินไข่
  9. ปล่อยให้ปลาเพศผู้ดูแลไข่ 2 วัน จึงแยกเพศผู้ออก

การอนุบาลลูกปลา

ไข่ปลากัดจะฟักเป็นตัวหลังจากได้รับการผสมน้ำเชื้อประมาณ 36 ชั่วโมง โดยในช่วงแรก จะมีถุงอาหารติดมาด้วย ดังนั้นช่วง 3-4 วันแรกจึงไม่ต้องให้อาหาร พอเป็นเวลา 3-5 วัน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นตัวอ่อนของไรแดง ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นไรแดงเต็มวัย เลี้ยงต่อไปจนกระทั่งปลาสามารถกินลูกน้ำได้ และผู้เลี้ยงสามารถแยกเพศปลากัดได้เมื่อมีอายุประมาณ 1 เดือนขึ้นไป

อนุบาลลูกปลากัด
www.technologychaoban.com

วิธีการเลี้ยงปลากัด

เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ชอบต่อสู้เมื่ออายุประมาณ 1/5 -2 เดือน การเลี้ยงปลากัดจึงจำเป็นต้องรีบแยกปลากัดเลี้ยงในภาชนะเพียง 1 ตัวก่อนที่ปลาจะมีพฤติกรรมต่อสู้กัน ภาชนะที่เหมาะสมที่สุดควรนำมาใช้เลี้ยงปลากัดได้แก่ ขวด (สุรา) ชนิดแบนบรรจุน้ำได้ 150 ซีซี เพราะสามารถเรียงกันได้ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ น้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน มีความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 6.5-7.5 มีความกระด้าง 75-100 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีความเป็นด่าง 150-200 มิลลิกรัมต่อลิตร ควรบรรจุน้ำลงในขวดเพียง ½ ขวด เพื่อเว้นช่องว่างให้อากาศได้สัมผัสกับผิวน้ำ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลา ปลากัดชอบกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น ลูกน้ำ หนอนแดง ไรสีน้ำตาลที่มีชีวิต ให้อาหารวันละ 1 ครั้งให้ปริมาณที่พอดีปลากินอิ่ม อาหารที่ใช้เลี้ยงทุกครั้งควรล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วแช่ในด่างทับทิมเข้มข้น 500-1,000 ส่วนในล้านส่วน (0.5-1.0 กรัม/ลิตร) เป็นเวลา 10-20 วินาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหาร หลังจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง การถ่ายเทน้ำควรกระทำอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง

วิธีเลี้ยงปลากัด
www.lovebettafish.com

โรคที่พบในปลากัดและวิธีการป้องกันรักษา

ปลากัดที่เลี้ยงถูกวิธีมักไม่ค่อยเป็นโรค แต่ถ้าสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมัน (อุณหภูมิลดต่ำลง น้ำสกปรก) ปลากัดก็จะเป็นโรคได้ โดยโรคที่มักพบในปลากัด คือ

  • โรคจุดขาว
    เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวที่ชื่อว่า Ichthyophthirius multifilis นิยมเรียกทั่วไปว่า “อิ๊ค” เป็นสัตว์เซลล์เดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พบว่าทำให้ปลาเกิดโรคในปลา ตัวอ่อนของอิ๊ค จะฝังตัวเข้าไปอยู่ใต้เยื่อบุผิวบริเวณลำตัวและเหงือก ทำให้เห็นบริเวณนั้นเป็นจุดขาว ๆ ขนาดประมาณ 0.5-1.0 มม. เมื่ออิ๊คเจริญเต็มที่จะหลุดออกจากตัวปลา ว่ายน้ำเป็นอิสระและจะสร้างเกราะหุ้มตัว มีการแบ่งเซลล์ขยายพันธุ์รวดเร็วเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า โทไมท์ (Tomite) ในเกราะหนึ่งจะมีโทไมท์ตั้งแต่ 500-2,000 ตัว เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมเกราะจะแตกออก โทไมท์ก็จะว่ายน้ำไปเกาะที่ตัวปลาต่อไป มักจะพบโรคจุดขาวระบาดในช่วงที่อุณหภูมิของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงจากสูงเป็นต่ำ หรือต่ำเป็นสูง รักษาที่ได้ผลดีคือ ใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 25-30 ส่วนในล้านสูง (ppm) ผสมกับมาลาไคท์กรีน 0.1 ส่วนในล้านส่วน แช่ติดต่อกัน 3-5 วันแล้วจึงเปลี่ยนน้ำ
  • โรคสนิม
    เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวชนิดแส้ (Flagellum) มีรูปกลมรี มีชื่อว่า Oodinium sp. อาการของโรคนี้คือ ตามผิวหนังปลาจะมีลักษณะคล้ายกำมะหยี่สีเหลืองปนน้ำตาล กระจายเป็นหย่อม ๆ เนื่องจาก Oodinium เกาะอยู่ พบปรสิตนี้ตามลำตัวและเหงือก การป้องกันและกำจัด ควรใช้เกลือแกงเข้มข้น 1% แช่ปลาไว้นาน 24 ชั่วโมง และควรทำซ้ำทุก 2 วัน หลังจากเปลี่ยนน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาออกหมดแล้ว
  • โรคที่เกิดจากปลิงใส
    ปลิงใสที่พบมีอยู่ 2 ชนิด คือ Gryodactylus sp. และ Dactylogyrus sp. อาการของโรคที่พบในปลากัด คือ ส่วนหัวของปลาจะซีด ส่วนลำตัวของปลาจะมีสีเข้ม และมีอาการของครีบกร่อนร่วมด้วย พบปรสิตนี้ตามลำตัวและเหงือก การป้องกันและกำจัดควรใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 30-50 ส่วนในล้านส่วน หรือ Dipterex เข้มข้น 25 ส่วนในล้านส่วน แช่ตลอดไป
  • โรคที่เกิดจากเชื้อรา
    โดยปกติแล้วเชื้อราไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของโรค มักจะพบหลังจาก ปลาบอบช้ำเนื่องจากการจับ เชื้อราที่มักพบเสมอคือ Ssprolegnia sp. อาการของโรคจากเชื้อราคือ จะเห็นเป็นปุยขาวคล้ายสำลีบริเวณที่เป็นโรค สำหรับการรักษาใช้มาลาไคท์กรีน เข้มข้น 0.1-0.25 ส่วนในล้านส่วน ร่วมกับฟอร์มาลินเข้มข้น 25 ส่วนในล้านส่วน แช่ติดต่อกัน 3 วัน
  • โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย
    อาการที่ปรากฏคือ มีอาการท้องบวม และมีของเหลวในช่องท้องมาก การรักษาใช้แช่ในยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซิเทตราไซคลิน หรือ คลอแรมฟินิคอลที่มีความเข้มข้น 10-20 ส่วนในล้านส่วน โดยแช่ติดต่อกัน 3-5 วัน และต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกวัน แล้วเติมยาให้มีความเข้มข้นเท่าเดิมทุกครั้ง หรือใช้เกลือแกงเข้มข้น 0.5%    
ปลากัด โรค

อ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้