ปลาดุก เป็นปลาที่คนไทยทุกภาครู้จักกันดี เนื่องจากได้รับความนิยมนำมารับประทานกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะนำมาทำเมนูย่าง ทอด ต้ม แกง ทำปลาดุกฟูและที่ได้รับความนิยมอีกหนึ่งเมนูคือ ลาบปลาดุก นอกจากนั้นยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ปลาดุกแดดเดียว เป็นต้น ปลาดุกเป็นปลาที่สามารถเลี้ยงได้ง่าย โตเร็ว และอดทนต่อสภาพแวดล้อม จึงทำให้ในปัจจุบันมีเกษตรกรหันมาเลี้ยงปลาดุกกันอย่างกว้างขวาง และปลาดุกยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้อย่างมาก ในประเทศไทยมีการเลี้ยงปลาดุกด้วยกันทั้งหมด 5 ชนิด แต่เท่าที่รู้จักมีเพียง 2 ชนิดคือ ปลาดุกอุย และปลาดุกด้าน ที่นิยมเลี้ยงกันคือ ปลาดุกด้าน เพราะเนื้อปลาค่อนข้างแข็ง ทำให้สามารถขนส่งได้ในระยะทางไกล ๆ และปลาดุกด้านยังเลี้ยงง่าย โตเร็วอีกด้วย แต่หากเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ไว้เพื่อรับประทาน ปลาดุกอุยจะได้รับความนิยมมากว่า เพราะปลาดุกอุยมีรสชาติดี เนื้อปลานุ่ม ฟู กลิ่นดีนั่นเอง นอกจากนี้ปลาดุกยังสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และในกระชัง ซึ่งสะดวกต่อการดูแลรักษาอีกด้วย
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับปลาดุก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ชูคันหอม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ปลาดุกจะพบได้ทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย ปลาดุกที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 5 ชนิด ประมาณปลายปี พ.ศ. 2530 เกษตรกรได้นำพันธุ์ปลาดุกชนิดหนึ่งจากประเทศลาวเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย ซึ่งกรมประมงได้ให้ชื่อว่าปลาดุกเทศ (ปลาดุกยักษ์ หรือ ปลาดุกรัสเซีย) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก สามารถกินอาหารได้แทบทุกชนิด มีความต้านทานโรคและสภาพแวดล้อมสูงเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ แต่ปลาดุกชนิดนี้มีเนื้อเหลว และมีสีซีดขาว ไม่น่ารับประทาน ต่อมานักวิชาการไทยได้ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมข้ามพันธุ์ ระหว่างปลาดุกอุยเพศเมียและปลาดุกอุยเพศผู้ ได้ปลาลูกผสมเรียกว่า ดุกอุยเทศ หรือบิ๊กอุย ซึ่งผลที่ได้นั้นบิ๊กอุยเป็นที่นิยมเลี้ยงของเกษตรกร เนื่องจากเลี้ยงง่าย มีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว อีกทั้งทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าปลาดุกชนิดอื่น ๆ ทั้งยังเป็นที่นิยมบริโภคของคนทั่วไป เนื่องจากมีรสชาติดีและราคาถูก ทำให้ปัจจุบันปลาดุกบิ๊กอุยได้รับการนิยมและเข้ามาแทนที่ตลาดปลาดุกด้านไปโดยปริยาย
ลักษณะนิสัยของปลาดุก
ปลาดุกมีลักษณะที่ต่างจากปลาอื่นอย่างเห็นได้ชัดคือ ปลาดุกไม่มีเกล็ด รูปร่างเรียวยาว มีหนวด 4 คู่อยู่ที่ริมฝีปาก ตามีขนาดเล็กมาก ใช้หนวดในการหาอาหาร เพราะหนวดปลาดุกมีประสาทรับความรู้สึกที่ดีกว่าตา ปลาดุกชอบหากินตามหน้าดิน มีนิสัยว่องไว สามารถจะขึ้นมาอยู่บนบกได้ทนนานกว่าปลาชนิดอื่น ๆ รวมถึงสามารถที่จะอาศัยอยู่ในดิน โคลน เลน และในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำได้นาน เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ อาหารที่ปลาดุกชอบกิน ส่วนมากเป็นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ แต่ถ้านำมาเลี้ยงในบ่อก็สามารถฝึกให้กินอาหารจำพวกพืชได้ รวมถึงสามารถฝึกนิสัยให้ปลาดุกขึ้นมากินอาหารบริเวณผิวน้ำแทนการหาอาหารกินตามหน้าดินได้เช่นกัน
แหล่งกำเนิดและถิ่นอาศัย
แหล่งกำเนิดของปลาดุกค่อนข้างกว้าง คือ มีอยู่ทั่วไปในน้ำจืดในเขตร้อน แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา และหมู่เกาะบอร์เนียว สำหรับในประเทศไทยปลาดุกจะมีถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ โดยจะพบเห็นทั่วไปตามลำคลอง ห้วย หนอง และบึงทั่วประเทศ ส่วนตามแม่น้ำนั้นปลาดุกจะมีอาศัยอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก โดยธรรมชาติแล้วปลาดุกชอบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำซึ่งพื้นดินเป็นโคลนและมีน้ำจืดสนิท ไม่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำใส อยู่ได้ทั้งน้ำนิ่งและน้ำไหล อาศัยอยู่ในระดับน้ำที่ไม่ลึกมาก หรือแม้แต่ในแหล่งที่มีน้ำเพียงเล็กน้อยก็ยังพบปลาดุกอาศัยอยู่ได้ หรือในเขตที่มีน้ำค่อนข้างกร่อยปลาดุกก็สามารถอาศัยอยู่ได้เหมือนกัน
การเตรียมพันธุ์ปลา
การเลือกซื้อลูกปลาควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- แหล่งพันธุ์หรือบ่อเพาะฟัก ควรดูจากความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ในเรื่องคุณภาพ
- มีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีคุณภาพ
- มีความชำนาญในการขนส่งลูกปลา
- ลักษณะภายนอกของลูกปลาต้องปกติสมบูรณ์ ซึ่งสังเกตจาก
- การว่ายน้ำต้องปราดเปรียว ไม่ว่างควงสว่าน หรือลอยตัวตั้งฉากพื้นบ่อ
- ลำตัวสมบูรณ์ หนวด หาง ครีบ ไม่กร่อน ไม่มีบาดแผล ไม่มีจุดหรือปุยขาวเกาะ
- ขนาดลูกปลาต้องเสมอกัน
การอนุบาลลูกปลาดุก
การอนุบาลลูกปลาดุกในบ่อซีเมนต์
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนัก กปร.) และ ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ได้ให้ความรู้ไว้ การอนุบาลลูกปลาดุกในบ่อซีเมนต์ สามารถดูแลรักษาได้ง่าย ขนาดของบ่อซีเมนต์ควรมีขนาดประมาณ 2-5 ตารางเมตร ระดับความลึกของน้ำที่ใช้อนุบาลลึกประมาณ 15-30 เซนติเมตร การอนุบาลปลาดุกที่มีขนาดเล็ก (อายุ 3 วัน) ระยะแรกควรใส่น้ำในบ่ออนุบาลลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร เมื่อลูกปลามีขนาดใหญ่ขึ้นจึงค่อย ๆ เพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้น การอนุบาลให้ลูกปลาดุกมีขนาด 2-3 เซนติเมตร จะใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน น้ำที่ใช้ในการอนุบาลจะต้องเปลี่ยนถ่ายทุกวัน เพื่อเร่งให้ลูกปลาดุกกินอาหารและมีการเจริญเติบโตดี อีกทั้งเป็นการป้องกันการเน่าเสียของน้ำด้วย การอนุบาลปลาดุกจะปล่อยในอัตรา 3,000-5,000 ตัว/ตรม. อาหารที่ใช้คือไรแดงเป็นหลัก ในบางครั้งอาจให้อาหารเสริมบ้าง เช่น ไข่ตุ๋นบดละเอียด เต้าหู้อ่อนบดละเอียด หรืออาจให้อาหารเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งหากให้อาหารเสริมจะต้องระวังเกี่ยวกับการย่อยของลูกปลา และการเน่าเสียของน้ำในบ่ออนุบาลให้ดีด้วย
การอนุบาลลูกปลาดุกในบ่อดิน
บ่อดินที่ใช้อนุบาลลูกปลาดุกควรมีขนาด 200-800 ตรม. บ่อดินที่จะใช้อนุบาลจะต้องมีการกำจัดศัตรูของลูกปลาก่อนและพื้นก้นบ่อควรเรียบ สะอาด ปราศจากพืชพรรณไม้น้ำต่าง ๆ ควรมีร่องขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เมตร ยาวจากหัวบ่อจรดท้ายบ่อ และลึกจากระดับพื้นก้นบ่อประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกในการรวบรวมลูกปลา และตรงปลายร่องควรมีแอ่งลึก มีพื้นที่ประมาณ 2-4 ตรม. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมลูกปลา การอนุบาลลูกปลาดุกในบ่อจะต้องเตรียมอาหารสำหรับลูกปลา โดยการเพาะไรแดงไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นอาหารให้แก่ลูกปลาก่อนที่จะปล่อยลูกปลาดุกลงอนุบาลในบ่อ การอนุบาลในบ่อดินจะปล่อยในอัตรา 300-500 ตัว/ตรม. การอนุบาลลูกปลาให้เติบโตได้ขนาด 3-4 เซนติเมตร ใช้เวลาประมาณ 14 วัน แต่การอนุบาลลูกปลาดุกในบ่อดินนั้น สามารถควบคุมอัตราการเจริญเติบโตและอัตราการรอดได้ยากกว่าการอนุบาลในบ่อซีเมนต์
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อเลี้ยงต่างๆ
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์
ขั้นตอนการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์มีดังนี้
- อัตราปล่อยปลาดุก
ควรปรับสภาพของน้ำในบ่อที่เลี้ยงให้มีสภาพเป็นกลางหรือเป็นด่างเล็กน้อย แต่ต้องแน่ใจว่าบ่อซีเมนต์จะต้องหมดฤทธิ์ของปูน ปลูกปลาขนาด 2-3 ซม. ควรปล่อยในอัตราประมาณ 100 ตัว/ตรม. เพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยง อัตราความเข้มขึ้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (30 มิลลิลิตร/น้ำ 1 ตัน ในวันที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหารควารเริ่มให้ในวันถัดไป) - การให้อาหาร
เมื่อปล่อยลูกปลาดุกลงในบ่อแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงที่ลูกปลาดุกมีขนาดเล็ก (2-3 ซม.) ควรให้อาหารผสมคลุกน้ำปั้นเป็นก้อนให้ลูกปลากิน โดยให้กินวันละ 2 ครั้ง หว่านให้กินทั่วบ่อ โดยเฉพาะในบริเวณขอบบ่อ เมื่อลูกปลามีขนาดโตขึ้นความยาวประมาณ 5-7 ซม. สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ หลักจากนั้นเมื่อปลาโตขึ้นจนมีความยาว 15 เซนติเมตรขึ้นไป จะให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวหรืออาหารเสริมชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น ปลาเป็ดผสมรำละเอียดอัตรา 9:1 หรือให้อาหารที่ลดต้นทุน เช่น อาหารผสมบดจากส่วนผสมต่าง ๆ เช่น กระดูกไก่ ไส้ไก่ เศษขนมปัง เศษเส้นหมี่ เศษเลือดหมู เลือดไก่ เศษเกี๊ยว หรือเศษอาหารเท่าที่สามารถหาได้ นำมบดรวมกันแล้วผสมให้ปลากิน แต่การให้อาหารประเภทนี้จะต้องระวังเรื่องคุณภาพของน้ำในบ่อ เมื่อเลี้ยงปลาได้ประมาณ 2 เดือนปลาจะมีขนาดประมาณ 125 กรัม/ตัว ซึ่งผลผลิตรที่ได้จะประมาณ 10 กก./บ่อ อัตรารอดตายประมาณ 80% - การถ่ายเทน้ำ
เมื่อตอนเริ่มเลี้ยงใหม่ ๆ ระดับความลึกน้ำในบ่อควรมีค่าประมาณ 30-40 ซม. เมื่อลูกปลาเจริญเติบโตขึ้นในเดือนแรกจึงเพิ่มระดับความสูงเป็นประมาณ 50 ซม. การถ่ายเทน้ำควรเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงผ่านไปประมาณ 1 เดือน โดยถ่ายน้ำประมาณ 20% ของน้ำในบ่อ 3 วัน/ครั้ง หรือถ้าน้ำในบ่อเริ่มเสียจะต้องถ่ายน้ำมากกว่าปกติ - การป้องกันโรค
การเกิดโรคของปลาดุกที่เลี้ยงมักจะเกิดจากปัญหาคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุของการให้อาหารมากเกินไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้โดยต้องหมั่นสังเกตว่าเมื่อปลาหยุดกินอาหารจะต้องหยุดให้อาหารทันที เพราะปลาดุกลูกผสมมีนิสัยชอบกินอาหารที่ให้ใหม่ โดยถึงแม้จะกินอิ่มแล้วถ้าให้อาหารใหม่อีก็จะคายหรือสำรอกอาหารเก่าทิ้ง แล้วกินอาหารใหม่อีก ซึ่งปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกิน 4-5% ของน้ำหนักตัวปลา
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน
การจัดการสถานที่เลี้ยง
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินจำเป็นต้องมีการเตรียมบ่อที่ดี มิฉะนั้นอาจะเกิดปัญหาก้นบ่อเน่าทำให้น้ำในบ่อเสีย และทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพปลาในที่สุด บ่อปลาดุกที่เลี้ยงมาหลาย ๆ ปี โดยไม่มีการดูแลบ่อจะพบปัญหาปลาเป็นโรคบ่อย ๆ ยากต่อการแก้ไข การเตรียมบ่อใหม่และบ่อเก่าที่เคยเลี้ยงปลามาก่อน มีขั้นตอนการเตรียมแตกต่างกันเล็กน้อยดังนี้
- บ่อขุดใหม่
ปกติแล้วดินจะมีสภาพเป็นกรดอย่างอ่อน ๆ หรืออาจจะมีสภาพเป็นกรดสูง ขึ้นอยู่กับลักษณะท้องที่ ให้โรยปูนขาวตาม พี-เอช (อย่างน้อย 30-50 กก.ต่อบ่อ 800 ตารางเมตร) โดยสาดปูนขาวให้ทั่วบ่อจากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อจนได้ระดับน้ำ 30 เซนติเมตร ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วจึงวัดค่าพี-เอช ค่าที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 7-8.5 แล้วจึงปล่อยปลาลงเลี้ยง - บ่อเก่า
เมื่อเลี้ยงปลาดุกผ่านไปรุ่นหนึ่งแล้ว ควรตากบ่อให้แห้งประมาณ 10-15 วัน พร้อมทั้งโรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ ในอัตราส่วนปูนขาว 1 กก.ต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร เพื่อให้แสงแดดทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ และให้จุลินทรีย์เน่าสลายทำให้อินทรีย์สารที่ตกค้างอยู่พื้นบ่อหมดไปด้วย เมื่อเลี้ยงปลาดุกได้ประมาณ 3-4 รุ่น ควรลอกเลนและทำคันบ่อใหม่ เนื่องจากบ่ออาจตื้นเขิน และขอบคันอาจจะเป็นรูเป็นโพรงมากทำให้บ่อเก็บกักน้ำไม่อยู่ และไม่สะดวกในการจัดปลาอีกด้วย ควรเก็บปลาเก่าออกให้หมดและกำจัดวัชพืชที่พื้นบ่อและรอบขอบบ่อ โดยห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าฉีดเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีสารเคมีตกค้างในดิน จะทำให้เป็นอันตรายได้ หลังจากนั้นก็ตากบ่อให้แห้ง และลงปูนขาวให้ทั่วบ่อ อัตรา 50 กก. ต่อบ่อขนาด 1 ไร่ จากนั้นให้ลงมูลสัตว์ เช่น ขี้ไก่หรือขี้นกกระทาให้ทั่วบ่อ ในปริมาณ 4-5 ถุงต่อไร่ (ขนาดถุงอาหารปลา) ก่อนสูบน้ำเข้าประมาณ 1-2 วัน หลังจากนั้นก็สูบน้ำเข้าประมาณ 60-70 ซม.
การเลี้ยงในบ่อดินนั้นมีหลักการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่ว ๆ ไปดังนี้
- จะต้องตากพื้นบ่อให้แห้ง ปรับสภาพื้นบ่อให้สะอาด
- ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพของดิน โดยใส่ในอัตราประมาณ 60-100 กก./ไร่
- ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลาในอัตรา 40-80 กก./ไร่
- สูบน้ำเข้าบ่อ โดยกรองไม่ให้ศัตรูของลูกปลาติดเข้ามากับน้ำ จนน้ำมีระดับน้ำลึก 30-40 ซม. หลังจากนั้นวันถัดไปจึงปล่อยปลาลงบ่อเลี้ยง
ขั้นตอนการเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน
- อัตราการปล่อยปลาดุก
ลูกปลาขนาด 2-3 ซม. ควรปล่อยในอัตราประมาณ 40-100 ตัว/ตรม. ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการเลี้ยง คือ ชนิดของอาหาร ขนาดของบ่อ และระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำซึ่งปกติทั่ว ๆ ไป อัตราปล่อยเลี้ยงประมาณ 50 ตัว/ตรม. และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยง อัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (3 ลิตร/น้ำ 100 ตัน) ในวันที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหารควรเริ่มให้ในวันถัดไป - การให้อาหาร
เมื่อปล่อยลูกปลาดุกลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงที่ลูกปลาดุกมีขนาดเล็ก (2-3 ซม.) ควรให้อาหารผสมคลุกน้ำปั้นเป็นก้อนให้ลูกปลากิน โดยให้กินวันละ 2 ครั้ง หว่านให้กินทั่วบ่อ โดยเฉพาะในบริเวณขอบบ่อ เมื่อลูกปลามีขนาดโตขึ้นความยาวประมาณ 5-7 ซม. สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ หลักจากนั้นเมื่อปลาโตขึ้นจนมีความยาว 15 เซนติเมตรขึ้นไป จะให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวหรืออาหารเสริมชนิดต่าง ๆ ได้ เช่น ปลาเป็ดผสมรำละเอียดอัตรา 9:1 หรือให้อาหารที่ลดต้นทุน เช่น อาหารผสมบดจากส่วนผสมต่าง ๆ เช่น กระดูกไก่ ไส้ไก่ เศษขนมปัง เศษเส้นหมี่ เศษเลือดหมู เลือดไก่ เศษเกี๊ยว หรือเศษอาหารเท่าที่สามารถหาได้ นำมบดรวมกันแล้วผสมให้ปลากิน แต่การให้อาหารประเภทนี้จะต้องระวังเรื่องคุณภาพของน้ำในบ่อ เมื่อเลี้ยงปลาได้ประมาณ 3-4 เดือนปลาจะมีขนาดประมาณ 200-400 กรัม/ตัว ซึ่งผลผลิตรที่ได้จะประมาณ 10-14 ตัน/ไร่ อัตรารอดตายประมาณ 40-70% - การถ่ายเทน้ำ
เมื่อตอนเริ่มเลี้ยงใหม่ ๆ ระดับความลึกน้ำในบ่อควรมีค่าประมาณ 30-40 ซม. เมื่อลูกปลาเจริญเติบโตขึ้นในเดือนแรกจึงเพิ่มระดับความสูงเป็นประมาณ 50-60 ซม. หลังจากย่างเข้าเดือนที่สองควรเพิ่มระดับให้สูงขึ้น 10 ซม./สัปดาห์ จนระดับน้ำในบ่อมีความลึก 1.20-1.50 เมตร การถ่ายเทน้ำควรเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงผ่านไปประมาณ 1 เดือน โดยถ่ายน้ำประมาณ 20% ของน้ำในบ่อ 3 วัน/ครั้ง หรือถ้าน้ำในบ่อเริ่มเสียจะต้องถ่ายน้ำมากกว่าปกติ - การป้องกันโรค
การเกิดโรคของปลาดุกที่เลี้ยงมักจะเกิดจากปัญหาคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุของการให้อาหารมากเกินไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้โดยต้องหมั่นสังเกตว่าเมื่อปลาหยุดกินอาหารจะต้องหยุดให้อาหารทันที เพราะปลาดุกลูกผสมมีนิสัยชอบกินอาหารที่ให้ใหม่ โดยถึงแม้จะกินอิ่มแล้วถ้าให้อาหารใหม่อีก็จะคายหรือสำรอกอาหารเก่าทิ้ง แล้วกินอาหารใหม่อีก ซึ่งปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกิน 4-5% ของน้ำหนักตัวปลา ในรอบหนึ่งปีช่วงที่ต้องระมัดระวังปลาที่เลี้ยงเป็นพิเศษคือ ช่วงหน้าหนาว ปลาจะเป็นโรคมากที่สุด ซึ่งเกิดจากการสะสมของเสียที่พื้นบ่อมากเกินไป ผู้เลี้ยงจะสามารถลดความเสี่ยงจากโรคได้ก็ต้องควบคุมคุณภาพน้ำให้ดี ต้องไม่ให้น้ำสีเข้มเกินไป หากน้ำเข้มมากก็แก้ไขโดยใส่ปูนขาวลงไปก็จะช่วยลดปัญหานี้ได้
การเลี้ยงปลาดุกในกระชัง
การเลี้ยงปลาดุกในกระชังเป็นการใช้แหล่งน้ำให้เป็นประโยชนในการเพิ่มอาหารโปรตีนอีกทางหนึ่ง สามารถเลี้ยงเป็นงานอดิเรกหรือเลี้ยงเป็นอาชีพประจำครอบครัว เพราะจะช่วยเก็บเศษอาหารที่เหลือให้เกิดประโยชน์ และถ้าเลี้ยงในกระชังขนาดใหญ่หลาย ๆ กระชังแล้ว จะสามารถทำรายได้ให้กับผู้เลี้ยงได้มาก และสามารถยึดเป็นอาชีพได้ ข้อควรคำนึงในการเลี้ยงปลาดุกในกระชังมีดังนี้
- คุณภาพของน้ำต้องดี
- เป็นแหล่งที่มีกระแสน้ำไหลผ่านสะดวก
- การคมนาคมสะดวก
- ในบริเวณที่ใช้เลี้ยงปลาในกระชังควรปราศจากศัตรูธรรมชาติและโจรผู้ร้าย
- ฤดูการที่เหมาะสม
- ขนาดของกระชังพอเหมาะประมาณ กว้าง 1 ½ เมตร ยาว 2 เมตร ลึก 1.3 เมตร
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินพลาสติก (บ่อตื้น)
การเลือกสถานที่สร้างบ่อควรพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- บ่อควรอยู่ใกล้บ้าน หรือที่ที่สามารถดูแลได้สะดวก
- ควรอยู่ในที่ร่ม หรือมีหลังคาเพราะปลาดุกเป็นปลาที่ไม่ชอบแสงแดดจัด และหลังคาจะช่วยป้องกันเศษใบไม้ร่วงลงสู่บ่อปลา
- มีแหล่งน้ำสำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำได้สะดวกพอสมควร
ขั้นตอนการเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินพลาสติก (บ่อตื้น) มีดังนี้
- การสร้างบ่อ ทำได้ 2 วิธีตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่
- เตรียมบ่อเลี้ยงขนาด กว้าง 1.5 เมตร ยาว 4 เมตร ขุดดินออกเพื่อทำบ่อ ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร
- ทำการยกคันบ่อขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ 50-60 เซนติเมตร แทนการขุดลงไปในดิน โดยอาจจะก่อคันบ่อด้วยกระสอบทราย
หลังจากขุดดินออกตามวิธีที่ 1 ทำการปรับแต่งพื้นก้นบ่อให้เรียบสม่ำเสมอ โดยใช้ทรายปูรองพื้น เพื่อป้องกันการรั่วซึม และทำการปรับแต่งดินบริเวณข้างบ่อและขอบบ่อให้เรียบ โดยให้มีความลาดชันของขอบบ่อ 1:2 หลังจากปรับพื้นที่ก้นบ่อและขอบบ่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำพลาสติก PVC ขนาดกว้ง 3.5 เมตร ยาว 6 เมตร หนา 0.25 มิลลิเมตร ปูพื้นบ่อที่ขุดเตรียมไว้ เวลาปูพลาสติกต้องระมัดระวังอย่าให้พลาสติกขาดหรือมีรอยรั่ว เมื่อปูพลาสติกเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเหลือพื้นที่บ่อเลี้ยงขนาดกว้างประมาณ 1.5 เมตร ยาว 4 เมตร เป็นพื้นที่ประมาณ 6 ตารางเมตร
- การเตรียมน้ำ สำหรับน้ำที่จะนำมาใส่บ่อเลี้ยงปลาสามารถใช้น้ำจากบ่อบาดาล น้ำบ่อ น้ำในแหล่งน้ำลำคลองได้ทันที หรือถ้าใช้น้ำประปา ควรพักน้ำไว้ในบ่อพลาสติกอย่างน้อย 3-5 วัน แล้วจึงปล่อยลูกปลาลงบ่อเลี้ยง การปล่อยปลาลงช่วยแรกปลายังมีขนาดเล็ก ให้เติมน้ำลงบ่อให้ระดับน้ำสูงประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วค่อย ๆ ปรับเพิ่มระดับขึ้นเรื่อย ๆ ทุกๆ สัปดาห์ ประมาณ 5 เซนติเมตร จนมีระดับน้ำสูงสุด 30-50 เซนติเมตร และก่อนปล่อยลูกปลาลงมีข้อควรคำนึง คือ
- ลูกปลาดุกบิ๊กอุยที่จะนำมาเลี้ยงควรมีขนาด 1.5 นิ้วขึ้นไป
- ในช่วงฤดูหนาวไม่ควรนำปลาดุกบิ๊กอุยมาเลี้ยง เพราะปลาจะมีความต้านทานต่อโรคต่ำปลามักจะเป็นโรคและตายได้ง่าย
- ปล่อยลูกปลาในอัตรา 50-70 ตัวต่อตารางเมตร บ่อขนาด 6 ตารางเมตร ปล่อยลูกปลาจำนวน 300-400 ตัว และการปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำในถุงลูกปลา และน้ำในบ่อเลี้ยงให้เท่ากันก่อน
- การถ่ายเทน้ำ เมื่อน้ำเริ่มเสียและสังเกตว่าน้ำเริ่มมีกลิ่นเหม็น จึงเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ควรถ่ายน้ำเก่าออกทั้งหมด ควรเหลือน้ำเก่าไว้ 2 ใน 3 เพื่อให้ปลามีความคุ้นเคยกับน้ำเก่าอยู่บ้าง และอย่าทำให้ปลาตกใจ ปลาจะไม่กินอาหาร การถ่ายน้ำน้ำควรทำหลังจากให้อาหารไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ปลาคายอาหารออกมาหมด
โรคของปลาดุก วิธีการป้องกัน
ในกรณีที่มีการป้องกันอย่างดีแล้วแต่ปลายังป่วยเป็นโรค ซึ่งมักจะแสดงอาการให้เห็น โดยแบ่งอาหารของโรคเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
- การติดเชื้อจากแบคทีเรีย จะมีการตกเลือด มีแผลตามลำตัว และครีบกร่อน ตาขุ่น หนวดหงิก กกหูบวม ท้องบวม มีน้ำในช่องท้อง กินอาหารน้อยลงหรือไม่กินอาหาร ลอยตัว
- อาการจากปรสิตเข้าเกาะตัวปลา จะมีเมือกมาก มีแผลตามลำตัว ตกเลือด ครีบเปื่อย จุดสีขาวตามลำตัว สีตามลำตัวซีดหรือเข้มผิดปกติ เหงือกซีดว่ายน้ำทุรนทุราย ควงสว่านหรือไม่ตรงทิศทาง
- อาการจากอาหารมีคุณภาพไม่เหมาะสม คือ ขาดวิตามินบี กะโหลกร้าว บริเวณใต้คางจะมีการตกเลือด ตัวคด กินอาหารน้อยลง ถ้าขาดวิตามินบีปลาจะว่ายน้ำตัวเกร็งและชักกระตุก
- อาการจากคุณภาพน้ำในบ่อไม่ดี ปลาจะว่ายน้ำขึ้นลงเร็วกว่าปกติ ครีบกร่อนเปื่อย หงวดหงิก เหงือกซีดและบวม ลำตัวซีด ไม่กินอาหาร ท้องบวม มีแผลตามตัว
วิธีการป้องกัน
- ควรเตรียมบ่อและน้ำตามวิธีการที่เหมาะสมก่อนปล่อยลูกปลา
- ซื้อพันธุ์ปลาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าแข็งแรงและปราศจากโรค
- หมั่นตรวจอาหารของปลาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเห็นผิดปกติต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร็ว
- หลังจากปล่อยปลาลงเลี้ยงแล้ว 3-4 วัน ควรสาดน้ำยาฟอร์มาลิน 2-3 ลิตร/ปริมาตร น้ำ 100 ตัน และหากปลาที่เลี้ยงเกิดโรคพยาธิภายนอกให้แก้ไขโดยสาดน้ำยาฟอร์มาลินในอัตรา 4-5 ลิตร/ปริมาตรน้ำ 100 ตัน
- เปลี่ยนถ่ายน้ำจากระดับก้นบ่ออย่างสม่ำเสมอ
- อย่าให้อาหารจนเหลือ
การตลาด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ชูคันหอม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวว่า ปลาดุก เป็นปลาเศรษฐกิจที่เป็นที่นิยมต่อเนื่องมาตลอด ทั้งในแง่ของปลาเนื้อและปลาแปรรูป ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงไม่สูงมากนัก และทำให้มีปลาเข้าตลาดได้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังได้ปลาที่ดี มีรสอร่อย ขนาดได้มาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคซื้อปลาที่ราคาไม่แพง แนวโน้มตลาดทิศทางของการเพาะเลี้ยงบิ๊กอุยจึงเป็นไปอย่างสวยงาม เมื่อเลี้ยงปลาดุกไปแล้วประมาณ 5 เดือน ก็ถึงเวลาจับปลาขาย ปลาตามท้องตลาดจะเรียกชื่อแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาด ส่วนมากจะนิยมเรียกตามขนาดอยู่ 3 ประเภท คือ ปลาขนาด 3-5 ตัวต่อกิโลกรัม จะเรียกว่าปลาย่าง (เป็นขนาดปลาที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด) ประหลาดขนาด 2 ตัวต่อกิโลกรัม จะเรียกว่าปลาโบ้ แต่ไม่เป็นที่นิยมมากเท่าไหร่ เพราะมีขนาดใหญ่เกินความต้องการ และขนาดครึ่งกิโลกรัมขึ้นไปจะเรียกปลาหั่น ซึ่งราคาปลาไม่มีผู้ใดกำหนด จะเป็นไปตามกลไกตลาด ขึ้นอยู่กับมีผลผลิตรในตลาดมากหรือน้อย ถ้าปลาในตลาดมีมากราคาก็จะต่ำ แต่ถ้าปลาในตลาดมีน้อยราคาก็จะสูง และที่สำคัญที่สุดคือความต้องการของลูกค้า ว่ามีมากหรือมีน้อยเพียงใดด้วย แต่ปัจจุบันมีผู้บริโภคปลาดุกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แหล่งอ้างอิง
- กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,การเพาะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย
- ฝ่ายบริการวิชาการอาหารสัตว์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน),คู่มือการเลี้ยงปลาดุก
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ชูคันหอม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด
- สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำรริ (สำนักงาน กปร.),ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร,คู่มือที่ 11 การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์