ปลาทอง ปลาโกอินเตอร์ร้อยล้าน พร้อมวิธีเพาะเลี้ยงแบบง่าย

ปลาทอง เป็นปลาสวยงามชนิดแรกที่มนุษย์ได้นำมาเลี้ยงและเพาะพันธุ์ ประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว ประเทศแรกที่นำมาเลี้ยงนั้นคือประเทศจีน และต่อมาชาวญี่ปุ่นก็ได้พัฒนาสายพันธุ์ปลาทองให้มีความสวยงามและหลากหลายมาจนปัจจุบัน ในปัจจุบันปลาทองก็ได้รับความนิยมนำมาเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน โดยช่วงระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา การเพาะเลี้ยงปลาทองเพื่อส่งออกขายตลาดต่างประเทศ ได้ทำเงินให้กับประเทศและสร้างรายได้ให้กับเกษตรผู้เพาะเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ซึ่งปลาทองจากประเทศไทยเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของลูกค้าจากต่างประเทศอย่างกว้างขวาง หากจัดอันดับสัตว์น้ำที่ส่งออกในช่วงปี 2561-2562 ปลาทองจัดอยู่ลำดับที่ 7 ในปี 2561 และขยับขึ้นมาเป็นลำดับที่ 5 ในปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นที่นิยมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาสีของปลาทองของฟาร์มในประเทศไทยก็มีการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เพื่อให้ปลาทองมีสีสันสวยงามมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันปลาทองของไทยส่งออกขายทั่วโลก โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม มาเลเซีย อเมริกา และยุโรป และนอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องการ แต่ปลาผลิตไม่เพียงพอจำหน่าย และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผู้คนนิยมเลี้ยงกันอย่างมาก เนื่องจากสามารถติดต่อกับฟาร์มได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ลูกค้าจากต่างประเทศเพียงแค่ติดต่อชิปปิ้ง เพื่อดำเนินการเรื่องเอกสารและการขนส่งเท่านั้นเอง ด้วยความที่ตัวลูกค้าเองไม่ต้องยุ่งยาก และราคาไม่แพง จึงทำให้ปลาทองได้รับความนิยมจากต่างประเทศนั่นเอง

ข้อมูลทั่วไปของปลาทอง

ปลาทอง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Carassius auratus เป็นปลาน้ำจืด อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและญี่ปุ่น ปลาทองมีอายุประมาณ 20-30 ปี ในประเทศไทยมีการนำปลาทองมาเลี้ยงในปี 2234-2235 ในรัชสมัยสมเด็จพระเทพราชา โดยสมัยกรุงศรีอยุธยาในช่วงนั้นปลาทองมีราคาสูง ทำให้การเลี้ยงปลาทองไม่แพร่หลายมาก ต่อมาการเลี้ยงปลาทองเริ่มนิยมและแพร่หลายในเมืองไทยจริง ๆ ในช่วง พ.ศ. 2480-2490 ในช่วงแรกการเลี้ยงปลาทองถือเป็นงานอดิเรกสำหรับผู้ที่มีใจรัก แต่หลังจากนั้นประเทศไทยก็กลายเป็นแหล่งผลิตปลาทองคุณภาพเยี่ยมแห่งหนึ่ง ไม่แพ้ต้นตำหรับอย่างจีนและญี่ปุ่น ปลาทองสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบในธรรมชาตินั้น มีรูปร่างคล้ายปลาไน แต่มีขนาดเล็กกว่าปลาไน มีรูปร่างป้อม แบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวลาด ปากมีขนาดเล็ก มีหนวดสั้น 2 คู่ ครีบหลังค่อนข้างยาว ครีบข้างเป็นแฉกเว้าลึก ลำตัวมีสีน้ำตาลคล้ำอมทองหรือสีส้ม ส่วนท้องสีจางกว่าลำตัวหรือเป็นสีขาว เนื่องจากมีการนำปลาทองไปเลี้ยงในประเทศต่าง ๆ ประกอบกับเป็นปลาที่ผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กับปลาในกลุ่มเดียวกันชนิดอื่น ๆ ได้ง่าย ทำให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาทองชนิดใหม่ ๆ ออกมาหลายชนิด และมีลักษณะเด่นสวยงามแตกต่างกันไป

นิสัยปลาทอง
www.talingchanpet.net

พันธุ์ปลาทอง

จากที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ มีการคัดเลือกลักษณะเด่นที่ต้องการ แล้วนำมาเพาะพันธุ์ต่อมาเรื่อย ๆ ทำให้ได้ปลาทองที่มีลักษณะและสีสันสวยงาม ตรงตามความต้องการของลูกค้า และมีหลากหลายชนิด โดยมีการตั้งชื่อแต่ละสายพันธุ์ไว้ อย่าง

  • ปลาทองพันธุ์หัวสิงโต เป็นปลาทองหัววุ้นที่ไม่มีกระโดง ลำตัวกลมป้อม หน้าป้าน หางสั้นและงุ้มลง
ปลาทองหัวสิงโต
  • ปลาทองพันธุ์ออรันดา สมัยก่อนมักเรียกฮอลันดาหรือฮอลันดาหัวแดง  ลักษณะลำตัวค่อนข้างยาว มีครีบครบทุกครีบ หางยาว และมีลักษณะเด่นคือมีวุ้นที่ส่วนหัว (Hood) คล้ายพันธุ์หัวสิงห์ แต่มักไม่ขยายใหญ่เท่าหัวสิงห์   สีของวุ้นมักออกเป็นสีเหลืองส้ม   เป็นปลาทองที่มีขนาดใหญ่และมีความสวยงามมากชนิดหนึ่ง สีของลำตัวมักออกสีขาวเงิน ชาวญี่ปุ่นเรียก Oranda Shishigashira
ปลาทองออรันดา
iqbroker.com
  • ปลาทองพันธุ์เกล็ดแก้ว เป็นปลาทองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือเกล็ดจะตั้งขึ้นเป็นตุ่ม ต่างจากปลาทองทั่วไป ท้องกางและกลมคล้ายลูกปิงปอง หรือลูกกอล์ฟ
ปลาทองเกล็ดแก้ว
www.pets-gangster.com
  • ปลาทองพันธุ์รักเล่ห์ เป็นปลาทองตาโปนสายพันธุ์หนึ่ง ที่ทุกส่วนของตัวปลาเป็นสีดำสินท
ปลาทองรักเล่ห์
  • ปลาทองพันธุ์ริวกิ้น ลักษณะเด่น คือ  เป็นพันธุ์ที่มีหางค่อนข้างยาวเป็นพวงสวยงามเป็นพิเศษ  คล้ายริบบิ้นหรือผ้าแพร ทำให้มีชื่อเรียกได้หลายชื่อ คือ  Fringetail, Ribbontail, Lacetail, Muslintail  และ  Japanese  Fantail   ในขณะที่ว่ายน้ำครีบหางจะบานเป็นสง่า ลำตัวค่อนข้างกลมสั้น และมักมีสีแดงสลับขาว บางชนิดอาจมี 5 สี เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก
ปลาทองริวกิ้น
thai.ac
  • ปลาทองพันธุ์ตาลูกโป่ง เป็นปลาทองที่มีหน้าตาแปลกประหลาด มีถุงน้ำคล้ายลูกโป่งอยู่ใต้ดวงตาทั่งสองข้าง เวลาว่ายน้ำมักจะแกว่งไปมา หัวไม่มีวุ้น หางยาว ลำตัวยาว ไม่มีครีบหลังคล้ายกับปลาทองหัวสิงห์ ลำตัวมีสีขาวหรือเหลืองแกมส้ม มีทั้งที่มีครีบและไม่มีครีบหลัง
ปลาทองตาลูกโป่ง
goldfishth.com

การเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาทอง

การแยกเพศปลาทอง

ปลาทองเพศผู้ และปลาทองเพศเมียจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป คือ

  • ปลาทองเพศเมีย ท้องจะกางออกมากกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด และจะมีสีเข้มกว่าปกติ หากเอามือลูบที่ท้องจะรู้สึกนิ่มและมีเมือกปกคลุม และบริเวณรอบรูทวารของปลาตัวเมียจะมีสีชมพูเรื่อๆ โดยรอบ และเมื่อใช้มือรีดเบาๆ จะมีไข่ปลาทะลักออกมา
  • ปลาทองเพศผู้ ปลาจะรู้สึกคึกคักและกระปรี้กระเปร่าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะถ้าภายในบ่อเลี้ยงมีปลาตัวเมียอยู่ด้วย บริเวณเหงือกจะมีเม็ดตุ่มเล็กๆ เมื่อใช้มือลูบจะรู้สึกสาก บริเวณครีบอกจะมีตุ่มสีขาวปรากฏให้เห็น เมื่อใช้มือรีดที่ท้องเบา ๆ ปลาที่พร้อมผสมพันธุ์จะมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมา

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาทอง

ปลาทองจะเจริญพัฒนาจนมีความสมบูรณ์เพศเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน น้ำหนัก 30 กรัม ก็สามารถนำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว แต่แม่ปลาขนาดเล็กจะให้ไข่น้อย และไข่มีขนาดเล็ก การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ต้องตรวจสอบลักษณะรูปร่างให้มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ สมบูรณ์แข็งแรง มีครีบตั้งแข็งไม่ฉีกขาด มีเกล็ดเป็นเงางาม และตรวจสอบความสมบูรณ์เพศ คือ

  • ปลาเพศผู้ ในฤดูผสมพันธุ์ บริเวณแผ่นปิดเหงือก และด้านหน้าของครีบหูจะมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายเม็ดสิวเกิดขึ้น เวลาสัมผัสจะรู้สึกสากมือ
  • ปลาเพศเมีย มีรูปร่างกลมและป้อมกว่าเพศผู้ โดยปลาเพศเมียที่มีไข่แก่เต็มที่พร้อมจะผสมพันธุ์นั้น ส่วนท้องจะอูมใหญ่ และอ่อนนิ่ม บริเวณก้นจะบวมและมีสีแดงเรื่อ ๆ แม่ปลาที่ใช้ไม่ควรมีอายุเกิน 1 ปี เนื่องจากแม่ปลาที่มีอายุมากเกินไปจะไม่วางไข่

บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์

ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสัตว์น้ำชายฝั่ง (สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สงขลา) ได้ให้ความรู้ไว้ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทองสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อซีเมนต์ บ่อดิน ถังไฟเบอร์ ตู้กระจก ฯลฯ ทำเลที่เหมาะสมในการสร้างบ่อพ่อแม่พันธุ์ปลาทอง คือ บริเวณที่แสงแดดส่องได้บ้างในตอนเช้าหรือเย็น หากเป็นที่โล่งแจ้งต้องทำหลังคาหรือร่มเงาให้แสงส่องลงได้เพียง 25-40 % บ่อที่ได้รับแสงแดดที่พอเหมาะจะทำให้สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำและแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) ให้อยู่ในปริมาณที่พอดี ทำให้น้ำในบ่อใสสะอาดอยู่เสมอเหมาะกับความเป็นอยู่ของปลา พื้นที่บ่อไม่จำกัดใส่น้ำลึก 30-70 เซนติเมตร ขึ้นกับชนิดปลา ถ้าเป็นปลาทองสายพันธุ์หัวสิงห์ ก็จะใส่น้ำตื้น ส่วนพันธุ์ออรันดาสามารถใส่น้ำลึกได้ให้อากาศผ่านหัวทรายตลอดเวลา บ่อขนาด 4 ตารางเมตร น้ำลึก 70 เซนติเมตร ใส่หัวทรายให้อากาศแรง ๆ 2-3 หัว ปล่อยพ่อแม่ปลาในอัตราส่วน เพศผู้ : เพศเมีย เท่ากับ 2 : 3 ความหนาแน่น 6 ตัว/ตารางเมตร หรือปริมาตรน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์น้ำหนักรวม 2-2.5 กิโลกรัม

การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ปลาทอง

ปลาทองเป็นปลาตระกูลเดียวกับปลาใน ลักษณะไข่จะเป็นแบบเดียวกันคือเป็นไข่ติด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร เนื่องจากเป็นไข่ติดจงต้องเตรียมวัสดุยึดเกาะ หรือที่เรียกว่า รังเทียม ได้แก่ การนำพันธุ์ไม้น้ำ เช่น สาหร่ายฉัตร สาหร่ายหางกระรอก มามัดรวมกันเป็นกำ กำละ 10-15 ต้น หรือผักตบชวาที่มีรากยาว นำไปใส่ไว้ในบ่อเพาะพันธุ์ให้กระจายทั่วผิวน้ำ นอกจากนี้อาจใช้เชือกฟางตัดให้ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ฉีกให้เป็นฝอยมัดตรงกลางจะได้รังเทียม นำไปใส่ไว้ในบ่อเพาะพันธุ์ให้กระจายทั่วผิวน้ำเช่นกัน วิธีนี้มีข้อดีคือ สามารถนำรังเทียมที่ทำด้วยเชือกฟางกลับมาใช้ได้หลายรอบ การใส่รังเทียมลงไปในบ่อเพาะจะเป็นการกระตุ้นให้แม่ปลาวางไข่ และในบ่อเพาะพันธุ์ต้องมีการเพิ่มออกซิเจนตลอดเวลา เมื่อใส่รังเทียมไปในตอนเย็นปลาจะวางไข่ในตอนเช้ามืดของอีกวัน โดยปลาตัวผู้จะเริ่มไล่ปลาตัวเมียแลใช้หัวดุนที่ท้องปลาตัวเมีย เพื่อกระตุ้นให้วางไข่ ปลาตัวเมียก็จะปล่อยไข่เป็นระยะๆ ในเวลาเดียวกันนั้นปลาตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมแล้วไข่กรจายติดกับรังเทียม แม่ปลาจะวางไข่ครั้งละประมาณ 500-1,000 ฟอง ปลาทองสามารถวางไข่ได้ทั้งปี เราจึงควรใส่รังเทียมลงในบ่อเพาะทุกอาทิตย์ นอกจากนี้แม่ปลาทองจะวางไข่มากในช่วงฤดูหนาว ซึ่งปลามีการผสมพันธุ์วางไข่ได้ทั้งวันในช่วงนี้ จึงต้องนำรังเทียมไปเติมในบ่อและเก็บไข่ไปฟักเป็นระยะ

เลี้ยงปลาทอง แบบธรรมชาติ
www.technologychaoban.com

การฟักไข่  

นำรังเทียมที่มีไข่เกาะติดไปฟักในถังฟักไข่ ซึ่งอาจใช้บ่อซีเมนต์ ถังไฟเบอร์ โอ่ง หรือกะละมังพลาสติกก็ได้ ถ้าใช้ถังไฟเบอร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ใส่น้ำลึก 50-60 เซนติเมตร จะใช้ฟักไข่ได้ประมาณ 100,000 ฟอง ให้อากาศตลอดเวลา ไข่ปลาทองจะฟักออกมาเป็นตัวภายใน 2-4 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิน้ำ ลูกปลาแรกฟักมีขนาดเล็กมาก ตัวใส เกาะติดกับรังไข่หลังจากฟักเป็นตัวแล้วประมาณ 2-3 วัน ลูกปลาจึงจะว่ายออกจากรังไข่ และว่ายน้ำเป็นอิสระ ลักษณะตัวมีสีเข้มขึ้น จะนำรังเทียมออกจากบ่อในระยะนี้แล้วอนุบาลในบ่อเดิมต่อไป หรืออาจย้ายลูกปลาไปอนุบาลในบ่อใหม่ก็ได้

การอนุบาลลูกปลาทอง

ลูกปลาทองที่ฟักออกเป็นตัวระยะแรก จะยังไม่กินอาหาร เนื่องจากยังใช้อาหารจากถุงไข่แดงที่ติดอยู่กับหน้าท้องได้ เมื่อลูกปลาอายุ 3 วัน ถุงไข่แดงจะยุบ จึงเริ่มกินอาหาร อาหารในระยะแรกคือ ไข่แดงต้มสุกบดละเอียด ละลายน้ำสาดให้กินวันละ 3-4 ครั้ง ลูกปลา 100,000 ตัว ให้ไข่ประมาณวันละ 1 ฟอง เมื่อลูกปลาอายุ 1 สัปดาห์ ควรเสริมไรแดงให้ลูกปลากิน ลูกปลาจึงจะเจริญเติบโตได้รวดเร็ว และแข็งแรงสมบูรณ์ หรือให้ไรแดงตั้งแต่วันที่ 3 เลยก็ได้ เมื่อลูกปลาอายุ 1 เดือน จึงทำการคัดขนาดและย้ายบ่อ โดยคัดปลาที่มีขนาดใกล้เคียงกันไปอยู่ในบ่อใหม่และให้อาหารเม็ดปลาดุกเล็ก หรืออาหารมีชีวิต ได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง เป็นต้น เมื่อลูกปลาทองมีอายุประมาณ 1.5-2.5 เดือน จะเริ่มเปลี่ยนสี ช่วงนี้ทำให้การคัดปลาที่มีลักษณะสวยงามถูกต้องตามสายพันธุ์เพื่อเลี้ยงไว้ต่อไป ส่วนปลาที่เหลือจะนำไปเลี้ยงรวมกันอีกบ่อ เป็นปลาทองที่จำหน่ายในราคาที่ถูกกว่า สำหรับปลาที่พิการและถูกคัดทิ้งจะนำไปจำหน่ายเป็นปลาเหยื่อ

ที่อยู่อาศัยปลาทอง

วิธีการเพาะพันธุ์ปลาทอง

สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีคือ

  1. การเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ  
    เป็นวิธีการเพาะพันธุ์ปลาทองแบบง่ายและประหยัด บ่อหรือภาชนะที่มีขนาดประมาณ 1 ตารางเมตร เป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด และควรปล่อยพ่อแม่ปลาเพียง 4-6 ตัวต่อบ่อ โดยนำพ่อแม่พันธุ์ท่มีความสมบูรณ์พร้อมผสมพันธุ์ที่คัดไว้เรียบร้อยแล้วมาใส่ในบ่อเพาะ ในอัตราส่วน ตัวผู้ : ตัวเมีย เท่ากับ 1:1 หรือ 2:1 ขึ้นกับปริมาณน้ำเชื้อของตัวผู้และความสมบูรณ์เพศของแม่พันธุ์ หลังจากที่แม่ปลาวางไข่แล้วควรแยกพ่อแม่ออก หรือจะเก็บรังเทียมไปฟักในบ่ออื่นก็ทำได้ แต่วิธีนี้ไข่อาจติดอยู่บริเวณขอบหรือพื้นข้นบ่อ ยากแก่การรวบรวม โดยปกติแม่ปลาทองจะวางไข่มากในช่วงเดือน เมษายน-ตุลาคม หลังจากผสมพันธุ์แล้ว พ่อแม่ปลาจะไม่สนใจกับไข่ปลา และบางครั้งอาจกินไข่ด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแยกพ่อแม่ปลาออกทันทีหลังจากวางไข่แล้ว
  2. การเพาะพันธุ์โดยวิธีผสมเทียม
    จะทำให้อัตราการผสมไข่และน้ำเชื้อสูงมาก มีอัตราการฟักไข่สูงกว่าการเพาะพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ แต่ขั้นตอนจะยุ่งยากกว่า หลังจากที่เตรียมอ่างเพาะหรือบ่อปลาแล้ว ให้ตรวจสอบความพร้อมของแม่ปลา สำหรับแม่ปลาจะต้องมีท้องนิ่มพร้อมที่จะวางไข่ การผสมพันธุ์โดยวิธีนี้ควรทำตอนเช้ามืดใกล้สว่าง ซึ่งเป็นเวลาที่ปลาชอบผสมพันธุ์กันเอง โดยใช้ปลาตัวผู้ : ตัวเมียในอัตราส่วน 1:1 หรือ 2: 1 ตัวเพื่อให้น้ำเชื้อของตัวผู้มีปริมาณเพียงพอกับจำนวนไข่ของปลาตัวเมีย รีดไข่จากแม่แม่ปลาลงในกะละมังที่มีน้ำสะอาด แล้วรีดน้ำเชื้อจากผู้ตัว 1-2 ตัวลงผสมพร้อมๆ กัน  ขั้นตอนการรีดต้องทำอย่างรวดเร็วและนุ่มนวล เพราะปลาอาจเกิดบอบช้ำหรือตายได้ถ้าปลาอยู่ในมือนาน หลังจากนั้นคลุกเคล้าไข่กับน้ำเชื้อให้เข้ากัน เพื่อให้น้ำเชื้อของปลาตัวผู้ไปผสมกับไข่ของปลาตัวเมียได้อย่างทั่วถึง แล้วล้างไข่ด้วยน้ำสะอาด 1-2 ครั้ง วิธีนี้จะช่วยให้อัตราการฟักเป็นตัวของไข่ปลามีมากกว่าการปล่อยให้ปลาผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ เมื่อไข่ถูกน้ำจะดูดซึมน้ำเข้าภายในเซลล์ และมีสารเหนียว ๆ ทำให้ไข่ติดกับกะละมัง ถ้าแม่ปลา 1 ตัวที่มีปริมาณไข่มาก สามารถรีดไข่ได้ถึง 2-3 กะละมัง ไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อจะมีลักษณะใสวาว ๆ สีเหลือง ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่น หลังจากนั้นนำกะละมังที่มีไข่ปลาติดอยู่ไปใส่ในบ่อฟักที่มีระดับน้ำลึกประมาณ 30 เซนติเมตร โดยวางกะละมังให้จมน้ำ ให้ออกซิเจนเบาๆ เป็นจุดๆ ตลอดเวลา อุณหภูมิของน้ำภายในอ่างฟักไข่อยู่ในช่วง 27-28 องศาเซลเซียส การควบคุมอุณหภูมิน้ำในช่วงที่ไข่ฟักตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากในช่วงที่ไข่ปลากำลังฟักตัวจะมีภูมิต้านทานน้อยมาก ถ้าหากอุณหภูมิของน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงมากจะทำให้ไข่ปลาเสียได้ ในช่วงฤดูหนาวที่อุณหภูมิลดลงมาอาจใช้ฮีทเตอร์ เพื่อช่วยในการควบคุมอุณหภูมิน้ำ
ปลาทอง อายุ
www.matichonacademy.com

ขั้นตอนการเลี้ยงปลาทองสูตรกรมประมง

ในการเลี้ยงปลาทางสูตรกรมประมง มี 5 ขั้นตอนคือ

  1. เตรียมบ่อผสมพันธุ์วางไข่ ความลึกน้ำ 30 เซนติเมตร ใช้เชือกฟางฉีกเป็นฝอยแล้วมัดเป็นพู่ หรือใช้ผักตบชวาที่ผ่านการแช่ด่างทับทิมฆ่าเชื้อโรคใส่ในบ่อผสมพันธุ์
  2. ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาทองในอัตรา 1:1 ถ้าแม่ปลาไข่ตกเพิ่มพ่อปลาเป็นอัตรา 2:1 ปล่อยตอนเย็น รุ่งเช้าไข่ปลาจะเกาะตามเชือกฟางหรือรากผักตบชวาให้นำพ่อแม่พันธุ์ปลาออก
  3. ปล่อยไว้ 3 วันไข่ฟักออกเป็นตัว ในวันที่ 4 เริ่มให้ไรแดงจนปลาอายุได้ 2 สัปดาห์คัดปลาพิการปลาที่มีลักษณะผิดปกติออกขายเป็นเหยื่อปลาประมาณ 50 %
  4. ปลาที่เหลือจากคัดขายแล้วนำมาเลี้ยอนุบาลบ่อละ 200 ตัว ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เช้าให้ไรแดง เย็นให้ไข่ตุ๋น เมื่อปลาอายุได้ 4 สัปดาห์คัดแยกแบ่งเกรดเลี้ยงขายบางส่วน
  5. แบ่งเลี้ยงขนาดบ่อ 1.5×2 เมตร บ่อละประมาณ 100 ตัว เลี้ยงจนปลาอายุได้ 5 สัปดาห์เป็นต้นไป เริ่มทยอยขายทั้ งนี้ปลาอายุ 3 เดือน เป็นปลาที่ตลาดต้องการมากและได้ราคาดี โดยขายคละทั้งหมด
ปลาทอง วิธีเลี้ยง
thaihealthycommunity.org

อาหารสำหรับปลาทอง

ปลาทองเป็นปลาที่กินอาหารได้ทั้งวัน ดังนั้นการให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้งจะทำให้ปลาเจริญเติบโตได้รวดเร็ว เพราะสามารถนำพลังงานไปใช้ได้ทันที รวมทั้งไม่ทำให้ท้องอืดหรืออ้วนจนเกินไป แต่ถ้าหากไม่มีเวลา ให้อาหารวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น ก็พอต่อความต้องการของปลา ปลาทองเป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ อาหารที่ให้จึงควรคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการของทั้งสองอย่าง โดยอาหารปลาทองสามารถแยกออกได้ 3 ประเภท คือ

  • อาหารสด คืออาหารที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป เช่น หนอนแดง ลูกไร ไรทะเล ลูกน้ำ ใส้เดือนน้ำ อาหารสดมีโปรตีนสูง แต่ให้ดีหากเป็นไรทะเลควรแช่น้ำจืดเพื่อล้างเกลือออกก่อน ส่วนหนอนแดงและไส้เดือนน้ำ บางท่านนำมาใส่ภาชนะและเปิดน้ำให้ค่อย ๆ ไหลจนล้นออกมาและทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจว่าปราศจากสิ่งตกค้าง
  • อาหารสำเร็จรูป เป็นอาหารที่พร้อมให้ปลาทองบริโภค ผลิตออกมาหลายรูปแบบ เช่น อาหารเม็ดหรืออาหารแผ่นยี่ห้อต่าง ๆ มีให้เลือกมากมายหลายสูตรและส่วนผสม เช่น สาหร่ายสไปรูลิน่าใช้สำหรับเร่งสี หรือสูตรโปรตีนเพื่อเร่งโต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทั้งแบบลอยสำหรับปลาทองมีครีบ กระโดง และแบบจมสำหรับปลาทองไม่มีครีบกระโดง ใช้งานง่าย คุณภาพสูง เก็บรักษาได้นาน
  • อาหารเสริม เป็นอาหารที่ให้นอกเหนือจากอาหารมื้อหลักเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น เร่งสี ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารดี ได้แก่ พืชน้ำจำพวกแหนและผำ ผู้คนนิยมใช้ผำ เนื่องจากมีขนาดเล็กและให้ผลดีกว่าพรรณไม้น้ำชนิดอื่น ๆ มีคุณสมบัติช่วยเร่งสีและระบายท้องได้ดี

อาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์

อาหารธรรมชิตได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง ไส้เดือนแดง หรืออาร์ทีเมีย อาหารมีชีวิตเหล่านี้จะทำให้ปลาโตเร็ว และปลากินได้ตลอดเวลา แต่การจัดเตรียมหรือจัดหาอาจมีความยุ่งยากในบางพื้นที่อาหารสำเร็จรูป ได้แก่ อาหารเม็ดปลากินพืชหรืออาหารเม็ดปลาดุกเล็ก โดยอาหารเม็ดปลาดุกเล็กจะดีกว่าเนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถเลี้ยงปลาได้เจริญเติบโตได้ดี และมีสีสันสวยงาม

อาหารปลาทอง

การเตรียมปลาทองสำหรับขนส่งเพื่อขาย

  1. ก่อนที่จะบรรจุปลาลงในถุงอาจมีการใช้สารเคมีบางชนิด เพื่อควบคุมและกำจัดปริสิตมีการตรวจสอบโรคและปริสิตของปลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนจำหน่าย
  2. ปลาที่เตรียมจะส่งขาย ควรนำมาพักไว้ในถังเพื่อแยกประเภท ขนาด และเพศ ถ้าเป็นไปได้ควรจะตรวจสอบโรคและปริสิตอีกครั้ง
  3. ถังสำหรับพักปลาควรมีน้ำและให้อากาศอย่างเพียงพอ นอกจากนั้นยังควรเติมเกลือแกงลงในถังพักด้วย เนื่องจากสารละลายเกลือแกงจะช่วยสร้างสภาวิไอโซโทนิค ทำให้ความเข้มข้นของเกลือแร่ในร่างกายปลาและภายนอกร่างกายให้ค่าใกล้เคียงกัน จะมีประสิทธิภาพในการลดความเครียดและกระตุ้นให้ปลาสร้างเมือกมาหุ้มตัวเอง ช่วยในการป้องกันการติดเชื้อหรือปริสิตในช่วงที่ปลาอ่อนแอ
  4. ฝึกให้ปลาอยู่ในสภาพที่หนาแน่นก่อนที่จะส่งปลาออก มีการลดปริมาณอาหารที่ให้ และบางกรณีมีการลดอุณหภูมิ และโดยทั่วไปถ้าเป็นไปได้เพื่อให้ปลาคุ้นเคยกับสภาพของการลำเลียง และควรงดให้อาหารอย่างน้อย 2 วัน แต่ไม่ควรเกิน 5 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของปลา
  5. แยกประเภทของปลาและนับจำนวนเพื่อบรรจุลงถุง โดยแบ่งตามคุณภาพของปลาและเก็บปลาไว้ในตู้เลี้ยงหรือถังเลี้ยง ภาชนะใช้สำหรับบรรจุปลาก่อนการขนส่งควรจะมีน้ำและอากาศอย่างเพียงพอ
  6. อุปกรณ์อื่น ๆ ที่อาจจะบรรจุเพิ่มเติมลงไป ได้แก่ ถุงน้ำแข็ง หรือถุงฮีทแพค ควรจะเตรียมการให้พร้อมหากมีความจำเป็นต้องใช้ จากนั้นจะนำไปบรรจุลงในกล่องโฟมพร้อมกัน ถุงปลาจะบรรจุอากาศและออกซิเจนบริสุทธิ์เข้าไปและปิดปากถุงให้แน่น ป้องกันการรั่วไหลของออกซิเจน

การบรรจุปลาทองสำหรับขนส่ง

วิธีการสำหรับขนส่งปลาสวยงาม ปลาจะถูกบรรจุลงในถุงพลาสติกซึ่งเติมออกซิเจนบริสุทธิ์ และรัดด้วยหนังยาง หรืออาจใช้เครื่องจักรที่มีอุปกรณ์หนีบปากถุงก็ได้ โดยจะบรรจุถุงในลักษณะที่หลวม ๆ เพื่อป้องกันการขยายตัวของอากาศ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศเมื่ออยู่บนเครื่องบิน จากนั้นนำไปบรรจุในกล่องโฟมที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวน โดยในกล่องโฟมนี้ อาจบุด้านในด้วยหนังสือพิมพ์ก่อนก็ได้ จากนั้นเปิดกล่องใช้เทปใสปิดทับอีกครั้ง ขนาดและรูปร่างของถุงและกล่องเหล่านี้ รวมทั้งฉนวนกันความร้อนได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย การใช้ถุงแบบมีรอยจีบจะช่วยทำให้ได้ปริมาณออกซิเจนที่สัมผัสกับผิวน้ำได้มากขึ้น และยังช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากความแออัดของการใช้พื้นที่ภายในกล่อง การวางถุงในกล่องอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความแออัดของปลาที่เกิดในบริเวณมุมถุง การบรรจุอากาศแบบเต็มถุงจะสามารถใช้พื้นที่ทั้งกล่อง การบรรจุอากาศขึ้นอยู่กับระยะทางที่ต้องขนส่ง ผู้ส่งออกในประเทศย่านเอเชีย โดยทั่วไปจะใช้ถุงที่ผลิตมาจากพลาสติก และจะใช้ความร้อนปิดผนึกที่ปลายอีกด้านหนึ่งของถุง ดังนั้นลักษณะของถุงจึงเป็นถุงที่มีตะเข็บด้านเดียว เรียกถุงแบบนี้ว่า pillow bags ใช้ในธุรกิจเนื่องจากเมื่อผู้ใช้เติมลมเข้าไปในถุง จะได้ถุงที่มีลักษณะเป็นทรงกลม และช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวของน้ำให้มากขึ้นในขณะขนส่ง ขนาดของถุงที่ใช้อาจมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ 7.5×17.5 เซนติเมตร ซึ่งนิยมใช้บรรจุปลาแบบตัวเดียวต่อหนึ่งถุง ถุงขนาด 35×65 เซนติเมตร บรรจุปลาขนาดเล็กที่มีจำนวนมาก ถุงที่มีขนาดใหญ่สามารถบรรจุน้ำได้ 5-7 ลิตร โดยมีอัตราส่วนของปริมาตรน้ำ : ปริมาตรออกซิเจน เท่ากับ 35:65 หรือ 20:80 สามารถบรรจุปลาได้ 200-500 ตัวต่อถุง โดยน้ำหนักรวมถุงไม่ควรเกิน 20 กิโลกรัม

บรรจุปลาทอง
becommon.co

แหล่งอ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้