สัตว์น้ำจืดขนาดเล็กที่มีความผูกพันกับชาวนาไทยมาอย่างยาวนานก็คือปูนา ไม่ใช่แค่เป็นอาหาร เป็นยา และมีผลต่อการสืบทอดวัฒนธรรมบางอย่างของท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศน์ในท้องนา ว่ากันว่าปูนาเป็นสัญลักษณ์วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องนาได้เลย เมื่อมีปูนาก็จะมีสัตว์น้ำชนิดอื่นที่อาศัยอยู่แบบเอื้อประโยชน์ต่อกัน แร่ธาตุในดินก็ถูกหมุนเวียนและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นด้วย เดิมทีปูนาจะถูกนำไปทำอาหารพื้นบ้านที่ค่อนข้างเรียบง่าย แต่มีรสชาติอร่อยจนได้รับความนิยม ต่อมาจึงเริ่มแปรรูปและพัฒนาต่อยอดไปอีกหลายทาง ปัญหาเดียวที่เกิดขึ้นก็คือรูปแบบการทำนาสมัยใหม่ส่งผลให้ปูนาลดจำนวนน้อยลงมาก จึงต้องชดเชยด้วยการนำเข้าและทำการเพาะเลี้ยง ซึ่งในส่วนของการเพาะเลี้ยงนั้นถือว่าให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทีเดียว เพราะนอกจากจะได้รักษาสายพันธุ์ปูนาเอาไว้แล้ว ก็ยังเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปูนา
ปูนาเป็นปูสายพันธุ์หนึ่งที่พบได้มากตามท้องไร่ท้องนาและแหล่งน้ำตื้นตามธรรมชาติทั่วไป ปูนามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Esanthelphusa spp. และ Sayamia spp. มีรูปร่างเหมือนปูชนิดอื่นๆ แต่มีขนาดค่อนข้างเล็ก สีลำตัวแปรเปลี่ยนไปตามสภาพดินที่อาศัยอยู่ แต่จะเป็นโทนสีเข้มทั้งหมด เช่น สีม่วงเข้ม สีม่วงดำ สีเทา เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของปูนา
จากบันทึกลักษณะเด่นของปูนาของศาสตราจารย์ไพบูลย์ นัยเนตร ที่ได้จากการสำรวจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถสรุปประเด็นสำคัญไว้ได้ดังนี้
- กระดองปู เป็นส่วนแข็งที่หุ้มอวัยวะทั้งหมดเอาไว้ ผิวสัมผัสภายนอกเรียบลื่นเป็นมันเงา ขอบด้านข้างมีหนามแหลมเรียงติดกันด้านละ 4 อัน กลางกระดองมีร่องเชื่อมต่อกันเป็นลวดลายชัดเจน
- ก้ามหนีบ มีผิวเรียบลื่น ด้านนอกเป็นวงโค้ง ส่วนด้านในจะเป็นฟันเลื่อยขนาดแตกต่างกันไป ตัวผู้จะมีก้ามข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่งเสมอ ขณะที่ตัวเมียจะมีขนาดก้ามใกล้เคียงกันทั้ง 2 ข้าง
- ขาเดิน มีทั้งหมด 8 ขา โดยแบ่งเป็นฝั่งละ 4 ขา แต่ละขามีขนาดข้อปล้องและสั้นยาวไม่เท่ากัน ส่วนปลายขาเรียวแหลมและมีฟันขนาดเล็กละเอียดเรียงตัวอยู่เป็นแถว
- ส่วนท้อง เป็นจุดสำคัญที่เราใช้เพื่อแบ่งเพศของปูนา ปูนาตัวผู้จะมีส่วนท้องเป็นรูปร่างคล้ายตัว T กลับหัว ปูนาตัวเมียจะมีส่วนท้องแผ่กว้างมากกว่าจนเกือบจะเป็นส่วนหนึ่งของวงกลม และมีขนเล็กๆ คล้ายขนนกติดอยู่ด้วย
- หนวด ปูนามีหนวด 2 คู่ คู่แรกอยู่หน้ากระดอง เป็นเส้นเล็กๆ ติดกับโคนก้านตา หนวดอีกคู่หนึ่งจะมีฐานหนวดอยู่ใต้กระดองด้านหน้าแต่ยื่นยาวออกมาภายนอกจนเห็นได้ชัดเจน
ที่อยู่อาศัยของปูนา
บริเวณคันนา คันคลอง และพื้นที่ทางการเกษตรที่มีน้ำท่วมขังบางส่วน เป็นจุดที่สามารถพบปูนาได้มากที่สุด เพราะน้ำและอาหารเป็นองค์ประกอบหลักที่ปูนาใช้เพื่อเลือกที่อยู่อาศัย พวกมันจะขุดรูอยู่ตามดินที่ชื้นแฉะแต่น้ำท่วมไม่ถึง คุณชมพูนุท จรรยาเพศ ให้ข้อมูลว่า รูปูนาจะแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่และฤดูกาล ช่วงหน้านาที่มีน้ำมากรูปูจะอยู่สูงและมีความเอียงเล็กน้อย เมื่อเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวที่ท้องนาแห้ง รูปูจะย้ายลงไปอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าเดิมประมาณ 1 เมตร และในหน้าแล้งที่มีอุณหภูมิสูงและมีน้ำน้อยมาก ปูจะยิ่งลงไปลึกกว่าเดิมพร้อมกับปิดปากหลุมด้วยดิน ท้ายที่สุดถ้าทนไม่ได้ก็ย้ายไปอยู่พื้นที่อื่นแทน
การกินอาหารของปูนา
ปูนาเป็นสัตว์ที่สามารถกินอาหารได้หลากหลาย ตั้งแต่สารอินทรีย์ที่อยู่ในก้อนดิน พืชและสัตว์ขนาดเล็กที่หาได้ตามธรรมชาติ เช่น กุ้งฝอย ลูกหอย ลูกปลา ไรน้ำ ต้นอ่อนข้าว ต้นอ่อนหญ้า พืชน้ำ เป็นต้น แม้แต่ปูด้วยกันเองก็เป็นอาหารของปูนาได้เช่นเดียวกัน หากกำลังอยู่ในจังหวะลอกคราบหรือยังเป็นปูวัยอ่อน ทางภาคอีสานมีความเชื่อว่าปูนามีส่วนช่วยให้ท้องนาอุดมสมบูรณ์ขึ้นได้ ด้วยวิธีการเลือกกินอาหาร ระบบย่อยและการดูดซึมสารอินทรีย์ของปูนานั่นเอง
วงจรชีวิตของปูนา (การเจริญเติบโต)
ปูนาจะมีช่วงเวลาที่เปลี่ยนจากไข่มาเป็นตัวอ่อนประมาณ 3-5 สัปดาห์ หลังฟักเป็นตัวแล้วจะอาศัยอยู่ติดกับตัวแม่บริเวณจับปิ้งอีกประมาณ 23-35 วัน เมื่อแข็งแรงดีจะเกิดการลอกคราบครั้งแรกแล้วออกมาสู่โลกภายนอก การเจริญเติบโตของปูจะคล้ายกับสัตว์เปลือกแข็งทั่วไป คือร่างกายจะเปลี่ยนขนาดได้ก็ต่อเมื่อเกิดการลอกคราบเท่านั้น ความถี่ในการลอกคราบของปูนาจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น แต่พวกมันก็สามารถลอกคราบได้จนกว่าจะตายไป จากเอกสารเชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ระบุว่า ระยะลอกคราบของปูนาจะแบ่งเป็น 4 ระยะ โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งผิวชั้นนอกสุดและสารเคมีภายในร่างกาย ที่เราเห็นว่าปูนาลอกคราบได้ภายในชั่วโมงเดียว ความจริงมีสิ่งที่เกิดขึ้นภายในมาพักใหญ่แล้ว เช่น มีการแยกตัวระหว่างผิวชั้นเก่าออกไป มีการสร้างกระดองใหม่ใต้ชั้นผิวเก่า มีการย่อยสลายพันธะที่เชื่อมต่อระหว่างชั้นผิวเก่ากับชั้นผิวใหม่ เป็นต้น หลังจากลอกคราบเก่าออกเรียบร้อยแล้ว ตัวปูจะยังนิ่มและย่น พวกมันต้องหลบซ่อนตัวพร้อมกับดูดซับน้ำและอากาศเข้าไปปริมาณมาก เพื่อให้เกราะชั้นนอกยืดตัวและแข็งแรงมากขึ้น
ปูนาจะโตเต็มวัยและพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ภายในช่วงเวลาประมาณ 55 วัน ปูนาจะใช้เวลาในการผสมพันธุ์ยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง และปูตัวผู้จะยังคงเกาะติดตัวเมียต่อไปอีก 2-3 วันเพื่อป้องกันอันตราย น้ำเชื้อที่เก็บอยู่ในตัวเมียนั้นสามารถมีอายุไปได้อีก 3-4 เดือน และแต่ละครั้งปูนาจะวางไข่ได้ประมาณ 2000 ฟอง เมื่อผ่านฤดูกาลผสมพันธุ์ไปแล้ว ปูนาเพศผู้แล้วเพศเมียก็จะแยกย้ายไปใช้ชีวิตของตัวเอง โดยปูเพศผู้จะเร่งหาอาหารบำรุงตัวเองก่อนเข้าสู่ช่วงจำศีลในหน้าหนาวปลายปี ส่วนตัวเมียจะขุดรูใหม่หรือซ่อมรูเก่าให้เหมาะกับการอุ้มท้องต่อไป
ประโยชน์ของปูนา
การใช้ประโยชน์ด้านอาหารและยาจากปูนา
จากงานวิจัยของคุณนิภาศักดิ์ คงงามและเพื่อนร่วมทีม เกี่ยวกับความหลากหลายของการใช้ประโยชน์จากปูนา พบว่าปูนาเป็นวัตถุดิบที่ถูกนำมาปรุงอาหารหลากหลายประเภท แต่ทั้งหมดนั้นก็สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- อาหารพื้นเมือง คืออาหารท้องถิ่นที่ประกอบด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในพื้นที่นั้นๆ และมักเป็นเมนูที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งแต่ละเมนูก็จะมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป เช่น ก้อยปูนา ละแวกะดาม น้ำพริกปูนา เป็นต้น
- อาหารประยุกต์ เป็นการต่อยอดจากเมนูอาหารแบบเดิม พร้อมกับใช้ความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาให้เมนูจากปูนามีมิติที่หลากหลาย เข้าถึงง่ายและตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น เช่น ยำปูนา ปูนาผัดผงกะหรี่ ขนมจีนน้ำยาปูนา เป็นต้น
- อาหารหมักดอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปูนาตามธรรมชาติไม่อาจจับได้ตลอดทั้งปี จึงต้องมีการถนอมอาหารเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานขึ้น โดยกรรมวิธีที่เลือกใช้อาจทำให้ปูนามีสภาพเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ก็ได้ เช่น จ่อมปูนา ปูนาดอง น้ำปู เป็นต้น
นอกจากนี้ยังค้นพบว่าปูนาสามารถนำมาทำยาได้ด้วย โดยแยกได้เป็นยาใช้ภายนอกและยาใช้ภายใน สูตรการปรุงยาจะอ้างอิงตามภูมิปัญญาของชาวบ้านในพื้นที่ ยาบางชนิดมีการผูกเรื่องความเชื่อเข้ามาด้วย อย่างเช่นการท่องคาถาปลุกเสกขณะใช้ยา ตัวอย่างของยาสมุนไพรที่มีปูนาเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ยาอายุวัฒนะ ยาล้างสารพิษ ยาสมานแผล ยารักษาอาการคัน ยารักษาอีสุกอีไส เป็นต้น
การพัฒนาอาหารและยาจากปูนาเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์
ในเมื่อปูนาเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่สามารถสื่อถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นได้ดี และยังมีการใช้ประโยชน์ในด้านอาหารและยาตามตำรับพื้นบ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจทีเดียว
แนวทางการพัฒนาอาหารจากปูนา
ประเภทของอาหารที่นำมาต่อยอดได้ดีที่สุดก็คืออาหารหมักดอง เพราะมีอายุการเก็บรักษายาวนานและเราสามารถสร้างมาตรฐานการผลิตที่แน่นอนเพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าได้ จากอาหารพื้นบ้าน 3 ชนิด คือ ปูนาดอง จ่อมปูนา และน้ำปูปรุงรส บางอย่างแทบจะหายสาบสูญไปเหลือไว้เพียงแค่การทำทานกันเองในครัวเรือน และบางอย่างก็ผิดเพี้ยนจากสูตรต้นตำรับไปมาก หลังจากผ่านการวิเคราะห์และทดสอบปัจจัยต่างๆ อย่างครบถ้วนแล้ว จึงสรุปว่าน้ำปูปรุงรสน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาพัฒนาได้ดีที่สุด ด้วยมีความเสียหายระหว่างจัดเก็บน้อย แถมยังสร้างจุดเด่นให้เกิดความน่าสนใจได้ง่ายอีกด้วย
แนวทางการพัฒนายาจากปูนา
ในส่วนของการทำยาจะมีรายละเอียดที่ค่อนข้างลึกซึ้งกว่าด้านอาหาร เนื่องจากมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เงื่อนไขของการใช้ปูนาเป็นส่วนผสมในสูตรยาจะแตกต่างกันไป ตามแต่ความเข้าใจของคนในพื้นที่นั้นๆ และผลลัพธ์ที่ต้องการจากยาที่ปรุงขึ้นมา ยาบางชนิดจะใช้ปูสดทั้งตัวเพื่อคั้นเอาสารออกฤทธิ์บางชนิด เช่น ยาอายุวัฒนะ ยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น ยาบางชนิดต้องใช้ปูนาต้มสุกและเอากระดองออก หรือบางสูตรก็ใช้แค่ส่วนขาของมันเท่านั้น แนวทางในการต่อยอดสูตรยาต่างๆ จึงไม่ใช่การนำปูนามาปรุงเป็นยาสูตรใหม่ แต่เป็นการนำองค์ความรู้เดิมมาประชาสัมพันธ์ร่วมกับการนำเสนอวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละท้องที่มากกว่า
รูปแบบการเลี้ยงปูนา
เมื่อปูนาตามธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยลง และเราก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่าปูนาที่จับได้มาจะปลอดภัยจากสารเคมีที่ใช้ในงานเกษตรกรรมหรือไม่ จึงเริ่มมีการเลี้ยงปูนาในบ่อเพาะเลี้ยงขึ้นมา ซึ่งรูปแบบการเลี้ยงก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นที่และความพร้อมของเกษตรกร
การเตรียมพื้นที่เลีี้ยง
- เลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์
การจัดเตรียมบ่อซีเมนต์สำหรับเพาะเลี้ยงปูนานั้น สามารถพิจารณาตามความสะดวกและความพร้อมของพื้นที่ได้เลย แต่รูปแบบที่ได้รับความนิยมจะเป็นบ่อกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.2 เมตร หรือบ่อสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ด้านล่างเป็นพื้นเทปูนพร้อมโรยหน้าด้วยดินหนาประมาณ 20-30 เซนติเมตรเพื่อให้ปูขุดรูอยู่ได้ ภายในบ่อต้องมีโซนน้ำขังหรือใส่กะละมังน้ำไว้ก็ได้ และควรมีพืชน้ำอยู่ในนั้นด้วย
- เลี้ยงปูนาในบ่อดิน
กรณีนี้จำเป็นต้องมีพื้นที่โล่งกว้างมากพอสมควร และใช้ต้นทุนสำหรับการจัดเตรียมสูงกว่าการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ด้วย ให้ทำการขุดดินลงไปลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ส่วนจะกว้างยาวเท่าไรก็แล้วแต่ปริมาณการเพาะเลี้ยงของเราเอง แต่ทางสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุดรธานีได้ให้คำแนะนำไว้ว่าพื้นที่ทั้งหมดนั้นจะต้องมี 3 ส่วนใน 4 ส่วนที่เป็นพื้นดินสูงเหนือน้ำเพื่อให้ปูอาศัยขุดรูอยู่ได้ รอบบ่อกั้นขอบเขตด้วยมุ้งตาถี่ ผ้าตาข่าย หรือกระเบื้องลอนคู่ เป็นกำแพงป้องกันปูนาไต่หนีออกจากบ่อไป
- เลี้ยงปูนาแบบเลียนแบบธรรมชาติ
เป็นการจัดเตรียมพื้นที่เพาะเลี้ยงให้มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ถ้าเป็นเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกอยู่ก่อนแล้ว การแทรกบ่อเลี้ยงปูนาเข้าไปในพื้นที่ก็จะสร้างบรรยากาศใกล้ชิดธรรมชาติได้ง่ายขึ้น โดยเราจะสร้างบ่อแยกสำหรับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ บ่ออนุบาล และบ่อสำหรับเพาะพันธุ์เอาไว้ต่างหาก ส่วนพื้นที่ที่จะปล่อยให้ปูนาได้เติบโตจะเป็นบ่อใหญ่ ซึ่งมีการเพาะปลูกพืชบางชนิดเอาไว้ เช่น ข้าว ผักบุ้งนา ผักตบ ต้นหญ้า เป็นต้น
- เลี้ยงปูนาในบ่อผ้าใบ
บ่อผ้าใบในที่นี้สามารถซื้อแบบสำเร็จรูปมาใช้งาน หรือจะสร้างเองจากวัสดุพื้นฐานแค่ไม่กี่อย่างก็ได้ โดยนำท่อพีวีซีมาต่อกันให้เป็นโครงทรงกล่องสี่เหลี่ยม กำหนดขนาดให้ได้เท่ากับบ่อเพาะเลี้ยงปูนาที่ต้องการ จากนั้นใช้ผ้าใบพีวีซีแบบหนายึดเกาะกับโครงพีวีซีที่สร้างขึ้น ตามด้วยการเติมน้ำและปรับพื้นที่ให้มีส่วนที่สูงเหนือน้ำด้วย จะใช้การใส่อ่างดินลงไปหรือใช้การวางกระเบื้องลอนคู่ก็ได้ ปิดท้ายด้วยการปลูกพืชน้ำที่ดูแลรักษาง่าย
- เลี้ยงปูนาในกระชังบก
ลักษณะของกระชังบกจะคล้ายคลึงกับบ่อผ้าใบ อาจมีรูปทรงที่แตกต่างกันไปแล้วแต่เทคนิคในการสร้างของแต่ละคน แต่จะมี 2 องค์ประกอบคือ ส่วนบ่อและส่วนมุ้ง วิธีการประกอบบ่อด้วยตัวเองก็จะเหมือนกับบ่อผ้าใบ แต่จะนิยมใช้วัสดุรองเป็นแผ่นพลาสติกมากกว่าผ้าใบ โดยเลือกได้ระหว่างพลาสติก HDPE กับ LDPE เมื่อได้บ่อเรียบร้อยแล้วค่อยต่อเสาขึ้นไป 4 เสา แล้วขึงผ้าตาข่ายไนล่อนให้เป็นกำแพงทั้ง 4 ด้านเพื่อกันปูนาออกมา
- เลี้ยงปูนาในกะละมัง
นับว่าเป็นวิธีการเตรียมพื้นที่เพาะเลี้ยงปูนาที่สะดวกและประหยัดที่สุด เพียงแค่เลือกกะละมังให้ได้ขนาดตามต้องการ ขอบด้านข้างควรสูงประมาณ 30 เซนติเมตรขึ้นไป ใช้กระถางดินเผา อิฐมอญ หรือท่อพีวีซีวางไว้ด้านในให้สูงเหนือน้ำ และสิ่งสำคัญคือต้องปลูกพืชน้ำด้วยเสมอ ถ้ากะละมังค่อนข้างเล็กก็ใช้เป็นจอกแหนแทนผักตบชวาหรือพืชน้ำชนิดอื่น เพราะจะดูแลบ่อเลี้ยงได้ง่ายกว่า
จำนวนปูในบ่อเลี้ยง
การกำหนดจำนวนปูในบ่อเลี้ยงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 อย่าง คือ อายุของปูนาและสถานที่เพาะเลี้ยง โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรได้ให้ข้อมูลพื้นฐานไว้เป็นตัวเปรียบเทียบ ดังนี้
- ปูนาแรกเกิด-อายุ 1.5 เดือน
สำหรับบ่อเพาะเลี้ยงทรงสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 25 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตร และบ่อวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร ให้มีจำนวนปูนาได้ 40-60 ตัว
- ปูนาอายุ 1.5-3 เดือน
สำหรับบ่อทรงสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 25 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตร และบ่อวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ให้มีจำนวนปูนาได้ 40-60 ตัว
- ปูนาอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
สำหรับบ่อขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ให้มีจำนวนปูนาได้ 400-500 ตัว และบ่อดินขุดบนพื้นที่ประมาณ 1 งาน ให้มีจำนวนปูนาได้ 50000-100000 ตัว
การดูแลบ่อเลี้ยง
- ให้เติมน้ำเข้าบ่อจนได้ความลึกประมาณ 5 เซนติเมตร แต่สำหรับปูนาบางสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์กำแพงเพชร สายพันธุ์สมเด็จพระเทพฯ เป็นต้น จะต้องเพิ่มระดับน้ำให้เป็น 10 เซนติเมตร หากไม่แน่ใจข้อมูลส่วนนี้สามารถสอบถามกับแหล่งเพาะพันธุ์ที่หาซื้อพ่อแม่พันธุ์ปูนาได้ จากนั้นให้ควบคุมค่าความเป็นกรดด่างของน้ำให้อยู่ที่ 6.5-7.5
- ไม่ว่าจะเพาะเลี้ยงในรูปแบบไหน ก็ต้องจัดการสภาพแวดล้อมภายในบ่อเพาะเลี้ยงให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ ด้วยการเพิ่มดินหรือทรายลงไปในบ่อ อาจมีขอนไม้หรืออิฐวางไว้เพื่อให้ปูได้พักอาศัย แน่นอนว่าต้องมีพืชน้ำอยู่ในบ่อด้วย จะใช้พืชชนิดเดียวหรือหลายชนิดผสมกันก็ได้ แต่จะต้องมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนพืชน้ำทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำใหม่
- สำหรับปูที่มีอายุตั้งแต่ 1.5 เดือนขึ้นไป ให้ทำการเปลี่ยนน้ำในบ่ออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ส่วนปูแรกเกิดจนถึง 1.5 เดือนต้องเปลี่ยนน้ำทุกวัน โดยใช้วิธีการถ่ายน้ำเก่าออก 70 เปอร์เซ็นต์แล้วเติมน้ำใหม่เข้าไปแทน
การเพาะพันธุ์และการดูแลปูนา
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปูนาสามารถทำได้หลายวิธี อาจหาจากแหล่งเพาะพันธุ์ที่ทำการพัฒนาสายพันธุ์ปูนาโดยเฉพาะ หรือจะรวบรวมจากแหล่งธรรมชาติในท้องถิ่นก็ได้ อันดับแรกให้เริ่มจากคัดปูนาที่มีขนาดลำตัวประมาณ 4 เซนติเมตรและมีสภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี กะจำนวนให้มีปูตัวผู้และตัวเมียเท่าๆ กัน แล้วปล่อยลงในบ่อเพาะพันธุ์ อาจใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน หลังผ่านไปประมาณ 6 สัปดาห์แล้วให้หมั่นสังเกตว่ามีลูกปูเกิดขึ้นในบ่อหรือไม่ ถ้ามีก็รีบแยกแม่ปูออกไปเลี้ยงในบ่อใหม่ คุณศิรินภา บรรเลงสุวรรณกล่าวว่า แม่ปูที่ตั้งท้อง 1 ตัวจะให้ลูกปูได้ 200-600 ตัว และหลังคลอดแล้วจะต้องเลี้ยงที่บ่อเดิมต่อไปอีก ดังนั้นควรจัดเตรียมพื้นที่ให้เพียงพอกับลูกปูที่จะเกิดมาด้วย ลูกปูเหล่านี้สามารถจับขายเพื่อไปเป็นวัตถุดิบแปรรูปได้ตั้งแต่อายุครบ 3 เดือน แต่ถ้าต้องการเลี้ยงไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นต่อไปก็ต้องดูแลกันต่อไปอีก 3 เดือน
ในช่วงที่รอการผสมพันธุ์เราจะให้อาหารปูนาสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยสลับสับเปลี่ยนประเภทอาหารไปเรื่อยๆ เช่น ข้าวสุก เนื้อปลาสับ กุ้งฝอย ผักสด ผลไม้รสหวาน เป็นต้น แต่ถ้าให้เป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปแบบเดียวกับที่เราใช้เลี้ยงปลาและกบ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นให้อาหารวันละครั้งแทน สิ่งสำคัญคืออย่าให้อาหารมากเกินไป และต้องคอยตรวจสอบพร้อมกำจัดเศษอาหารที่หลงเหลืออยู่ในบ่อเป็นประจำทุกวัน ส่วนอาหารของลูกปูนานั้นจะต่างออกไป เราใช้เป็นอาหารสดจำพวก ไรแดง หนอนแดง หนอนเทา หรือไข่ตุ๋นในระยะ 15 วันแรก ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นอาหารแบบเดียวกับที่ใช้เลี้ยงปูนาโตเต็มวัย
การให้อาหารปูนา
- วัยอ่อน
ปูนาวัยอ่อนคือลูกปูที่ออกจากจับปิ้งได้ประมาณ 10-15 วัน อาหารหลักเป็นเส้นฟางที่ผ่าซีกแล้ว ต้นอ่อนของผักตบชวา สาหร่าย เทาน้ำ และก้อนดินเหนียวสำหรับให้อินทรีย์สารที่สำคัญ
- วัยอนุบาล
เป็นลูกปูนาที่โตขึ้นมาอีกหน่อย จะเน้นเสริมโปรตีนเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตเป็นหลัก อาหารจึงเป็นไข่แดงต้มสุก และอาหารสดที่นิยมใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วไป เช่น ไรแดง หนอนแดง เป็นต้น นอกจากนี้สามารถให้ข้าวสุก เส้นฟางผ่าซีก สาหร่าย เนื้อปลาหรือเนื้อกุ้งสับละเอียด รวมถึงอาหารเม็ดเล็กที่ใช้กับลูกอ็อดได้ด้วย และยังคงต้องมีก้อนดินเหนียวอินทรีย์สารอยู่
- วัยโตเต็มวัย
เมื่อปูนาโตเต็มวัยแล้วก็เลือกให้อาหารได้ค่อนข้างหลากหลาย อาหารที่ใช้เลี้ยงปูนาวัยอนุบาลก็นำมาเลี้ยงปูนาโตเต็มวัยต่อได้ และสามารถเพิ่มเนื้อหมูสับ โครงไก่ อาหารหมัก ไส้เดือน หรือเนื้อสัตว์ประเภทอื่นได้อีก นอกจากนี้ก็ให้อาหารปลาดุกหรืออาหารกบได้แล้ว
ปัญหาที่พบในการเลี้ยงปูนา
- ศัตรูที่ต้องระวัง
ศัตรูของปูนามีหลายชนิด ได้แก่ นกกระปูด นกแสด หนูนา พังพอน แมงมุม และมดแดง นอกจากนี้ก็มีบรรดาสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นนักล่าอื่นๆ ด้วย ศัตรูแต่ละชนิดจะทำอันตรายต่อปูนาในช่วงวัยที่ต่างกัน อย่างแมงมุมจะเข้าจัดการกับปูวัยอ่อนโดยเฉพาะ และเมื่อปูลอกคราบก็ต้องระวังมดให้มากเป็นพิเศษ
- ปรสิตในปูนา
เนื่องจากปูนาเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่กับดิน จึงเป็นธรรมดาที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับปรสิตได้ง่าย หลักๆ คือพยาธิใบไม้และปลิงเข็มหมุด ตรงจุดนี้ผู้เลี้ยงจะต้องเฝ้าระวังทั้งสภาพแวดล้อมและอาหาร เพื่อลดปัจจัยการเกิดปรสิตในตัวปู พร้อมกับระมัดระวังไม่ให้ปรสิตในปูนาติดต่อมาสู่คนด้วย
แหล่งอ้างอิง
เทคโนโลยีการเลี้ยงปูนาเลียนแบบธรรมชาติ, ผศ.ดร.นิภาศักดิ์ คงงาม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.
รู้หลัก รู้จักเลี้ยง “ปูนา” ด้วยความรู้, สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร.
การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์, สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
เทคนิคการเลี้ยงปูนา, สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุดรธานี.