ผึ้ง สุดยอดแมลงที่ให้ประโยชน์แก่มนุษย์และธรรมชาติ

ผึ้งนับเป็นแมลงที่มีคุณค่าต่อมวลมนุษย์ และสร้างความสมดุลให้แก่สภาพแวดล้อมในธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งการเลี้ยงผึ้งนั้นก็ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางการเกษตรอีกด้วย โดยผึ้งจะช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตให้กับพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ ส้ม มะพร้าว มะม่วง ทุเรียน ทานตะวัน พืชตระกูลแตง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชที่ต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้สารเคมี เพราะผู้เลี้ยงและเกษตรกรชาวสวนจะระมัดระวังเรื่องการใช้สารเคมีมากขึ้นเมื่อทราบว่าผึ้งเป็นตัวช่วยผสมเกสรให้กับพืช อีกทั้งผึ้งยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ผลิตน้ำผึ้งสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้จากผึ้งก็ล้วนมีสรรพคุณทางเภสัชกรรม และยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาหารเสริม อุตสาหกรรมเทียนไข และอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดยอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทยนั้นก็มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีเกษตรกรรายใหม่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทำให้องค์กรรัฐและเอกชนได้เข้ามาให้การสนับสนุนและสร้างมาตรฐานของฟาร์มผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เพื่อให้เกิดการผลิตที่ได้มาตรฐานในระดับประเทศและระดับสากล

ข้อมูลทั่วไปของผึ้ง

ผึ้งเป็นแมลงที่นักกีฏวิทยาด้านอนุกรมวิธานได้จัดไว้ในอันดับไฮมีนอพเทรา (Hymenoptera) ได้แก่ แมลงพวกผึ้ง ต่อ แตน มด รวมทั้งพวกต่อห้ำ และแตนเบียน ซึ่งเป็นแมลงสังคมที่มีการแบ่งวรรณะสำหรับทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังเป็นแมลงเศรษฐกิจที่ผลิตน้ำผึ้งสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องสำอางต่าง ๆ รวมถึงเป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญสำหรับการผสมเกสรของพืชอีกด้วย
ลักษณะของผึ้งโดยสังเขปคือ มีปีกสองคู่ โดยลักษณะของปีกนั้นเป็นแผ่นบางมีเส้นปีกที่สำคัญที่เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถใช้เป็นลักษณะแตกต่างในการวินิจฉัยชนิดต่าง ๆ ของผึ้งได้ ในส่วนของปีกคู่หลังนั้นจะมีขนาดเล็กและมีเส้นปีกน้อยกว่าปีกคู่หน้า โดยปีกคู่หน้าและปีกคู่หลังจะติดกันด้วยตะขอขนาดเล็กเรียงกันเป็นแถว เรียกว่า ฮามูไล (Hamuli) เพื่อให้ปีกทั้งคู่กระพือขึ้นลงได้พร้อมกันส่งผลให้บินได้เร็ว บริเวณหัวมีหนวดรูปหักข้อศอก ปากเป็นแบบกัดเลีย มีทั้งตาเดี่ยวและตารวม มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพวกผึ้งตัวผู้ ขาหลังของผึ้งงานมีอวัยวะพิเศษสำหรับเก็บเกสร (Pollen basket) ที่ขา ลำตัว และหัวมีขนปกคลุมมาก ส่วนตัวเมียนั้นจะมีอวัยวะวางไข่ที่ได้ดัดแปลงเป็นอวัยวะสำหรับต่อยและมีเหล็กในใช้แทงให้เกิดการเจ็บปวด ยกเว้นพวกชันโรงซึ่งเป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน โดยแมลงในกลุ่มผึ้งดังกล่าวจะมีผึ้งรู ผึ้งกัดใบ ผึ้งหึ่ง และแมลงภู่

ลักษณะของผึ้ง
www.greenpeace.org

การหาอาหารของผึ้ง

พื้นที่สำหรับหาอาหารของผึ้งนั้นจะไม่แน่นอน โดยจะขึ้นอยู่กับปริมาณและความหนาแน่นของดอกไม้ พืช อาหาร ปริมาณเกสร และน้ำหวาน ซึ่งปกติแล้วผึ้งจะเลือกแหล่งอาหารที่อยู่บริเวณใกล้รังในรัศมี 3 กิโลเมตร แต่ถ้าหากไม่มีแหล่งอาหารที่เหมาะสมภายในรัศมี 3 กิโลเมตร ผึ้งก็สามารถบินไปหาแหล่งอาหารได้ไกลถึง 12 กิโลเมตร โดยการเก็บน้ำหวานของผึ้งในแต่ละรอบนั้นจะเลือกเก็บจากพืชเพียงชนิดเดียว และจากการสังเกตนั้นจะพบว่าผึ้งจะลงเก็บน้ำหวานสองครั้งจากดอกไม้ดอกเดียว และพบว่าก้อนเกสรที่ผึ้งเก็บมานั้นจะมีเกสรของพืชหลายชนิดปนอยู่ด้วย แต่จะมีพืชอาหารหลักชนิดใดชนิดหนึ่งมากที่สุด และมีเกสรจากพืชอาหารชนิดอื่นเพียง 2-4 ชนิดปะปนมา สำหรับผึ้งพันธุ์นั้นจะสามารถตอมดอกไม้ได้มากกว่า 40 ดอก ใน 1 นาที ซึ่งผึ้งหนึ่งตัวสามารถออกหาอาหารได้มากถึง 4 ล้านรอบ โดยเฉลี่ยแล้วสามารถตอมดอกไม้ได้ 100 ดอก ด้วยการใช้งวงแทงเข้าไปในต่อมน้ำหวานของดอกไม้ จากนั้นทำการดูดน้ำหวานมาเก็บไว้ใน Nectar sac ปริมาณเฉลี่ยของน้ำหวานที่ผึ้งเก็บไว้ในแต่ละเที่ยว ประมาณ 20-40 มิลลิกรัม หรือประมาณร้อยละ 90 ของน้ำหนักตัวผึ้ง ส่วนการเก็บเกสรนั้นผึ้งจะใช้ลิ้น (Tongue) และกราม (Mandibles) เจาะและกัดอับละอองเกสร ให้เกสรกระจายออกมาติดตามขน จากนั้นจะใช้ขาคู่กลางและขาคู่หน้ารวมเกสรผสมกับน้ำหวานสำหรับปั้นให้เป็นก้อน ก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ที่ Pollen basket หรือ Corbicula ของขาคู่หลัง ซึ่งก้อนเกสรที่เก็บจะมีน้ำหวานประมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักก้อนเกสร ประมาณ 8-29 มิลลิกรัม ประมาณการได้ว่าก้อนเกสรที่มีน้ำหนัก 20 กิโลกรัมต่อรังต่อปี

วงจรชีวิตของผึ้ง

1.ระยะไข่ มีลักษณะคล้ายกับเส้นด้ายสีขาว โดยมีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร หากเป็นผึ้งนางพญาที่ต้องการวางไข่เป็นเพศเมียก็จะวางไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้ ถ้าต้องการวางไข่เป็นเพศผู้ก็จะวางไข่ที่ไม่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้

2.ระยะตัวหนอน เมื่อไข่มีอายุได้ 3 วัน จะฟักออกมาเป็นตัวหนอน ขนาดลำตัวเล็กมีสีขาว และจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยในระยะดักแด้นั้นจะมีการลอกคราบอยู่ทั้งหมด 5 ครั้ง

3.ระยะดักแด้ ในวันแรก ๆ จะมีสีขาว และจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล โดยดักแด้ของผึ้งนางพญานั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าดักแด้ของผึ้งตัวผู้ และผึ้งงานตามลำดับ

4.ระยะตัวเต็มวัย เมื่อดักแด้เจริญเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะใช้กรามกัดไขผึ้งที่ปิดฝาหลอดรวงออกมา ส่วนตัวเต็มวัยของผึ้งนางพญาจะมีผึ้งงานคอยช่วยกันกัดหลอดรวงให้

วงจรชีวิตของผึ้ง
aodicefashion45.wordpress.com

วรรณะของผึ้ง

1.นางพญา (Queen) เป็นผึ้งที่มีลำตัวใหญ่ที่สุด โดยกำเนิดมาจากไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้ และได้รับรอยัลเยลลี่จากผึ้งงาน ส่งผลให้นางพญามีความสมบูรณ์ ลำตัวยาว มีอายุขัยมากกว่า 1 ปี หรืออาจมากถึง 7 ปี จะมีอายุยืนกว่าผึ้งตัวผู้และผึ้งงาน ซึ่งผึ้งนางพญาจะมีเหล็กในเอาไว้ทำลายหลอดนางพญา และต่อสู้กับนางพญาตัวอื่นเท่านั้น ไม่มีการออกไปหาอาหาร ไม่มีที่เก็บละอองเกสร และไม่มีต่อมผลิตไขผึ้ง โดยผึ้งนางพญาที่อยู่ในรังนั้นจะมีเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น ยกเว้นรังที่มีขนาดใหญ่ก็อาจพบได้ 2-3 ตัว มีหน้าที่สำคัญคือผสมพันธุ์ ซึ่งจะผสมพันธุ์กลางอากาศและครั้งเดียวในชีวิต วางไข่วันละประมาณ 1,200-2,000 ฟอง และจะควบคุมสังคมของผึ้งให้อยู่ในสภาพปกติ โดยมีสารฟีโรโมนควบคุมอยู่

2.ผึ้งตัวผู้ (Drone) เป็นผึ้งที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากผึ้งนางพญา แต่อ้วนสั้นกว่าผึ้งนางพญา ซึ่งกำเนิดมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อของตัวผู้ ภายใน 1 รัง มีจำนวน 200-500 ตัว มีอายุขัย 4-6 สัปดาห์ โดยมีขนาดลำตัวอ้วน ป้อม สั้น ไม่มีเหล็กใน ไม่มีตะกร้าเก็บเกสร ซึ่งมีหน้าที่สำคัญก็คือผสมพันธุ์อย่างเดียว และหลังจากผสมพันธุ์เสร็จแล้วผึ้งตัวผู้ก็จะตาย

3.ผึ้งงาน (Worker) เป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งเกิดจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์กับน้ำเชื้อของตัวผู้ โดยเป็นผึ้งเพศเมียไม่สมบูรณ์เพศที่มีขนาดเล็กที่สุดภายในรัง แต่มีปริมาณมากที่สุด มีจำนวนมากถึง 5,000-30,000 ตัว/รัง มีอายุขัย 6-8 สัปดาห์ ซึ่งผึ้งงานนั้นจะมีอวัยวะต่อมผลิตอาหาร ต่อมผลิตไขผึ้ง ต่อมพิษ ตะกร้าเก็บเกสร และเหล็กใน นอกจากนี้ผึ้งงานก็มีหน้าที่ทำความสะอาดรัง ผลิตอาหารป้อนตัวหนอนและนางพญา รวมถึงสร้างและซ่อมแซมรัง ป้องกันรัง น้ำหวาน เกสร ยางไม้และน้ำ

วรรณะของผึ้ง
Facebook, ผึ้งน้อยคอยให้น้ำหวาน แท้ 100%

ชนิดของผึ้ง

แฮโรลด์ โอลด์รอยด์ นักกีฏวิทยาชาวอังกฤษ กล่าวว่าหากพูดถึงผึ้งแล้วคนส่วนใหญ่จะนึกถึงผึ้งที่ให้น้ำผึ้ง ซึ่งจัดเป็นแมลงที่อยู่ในสกุลเอปีส ในปัจจุบันมีรายงานว่าพบผึ้งทั้งหมด 9 ชนิด และสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มผึ้งเล็ก (Dwarf honey bees) ได้แก่ Apis florea และ Apis andreniformis
2.กลุ่มผึ้งใหญ่ (Giant honey bees) ได้แก่ Apis laboriosa และ Apis dorsata
3.กลุ่มผึ้งที่ทำรังในโพรง (Cavity-nesting honey bees) ได้แก่ Apis mellifera, Apis koschevnikovi, Apis nuluensis, Apis nigrocincta และ Apis cerana
ในประเทศไทยพบผึ้งในสกุลเอปีสทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ผึ้งมิ้ม ผึ้งมิ้มดำหรือผึ้งมิ้มเล็กหรือผึ้งม้าน ผึ้งหลวง ผึ้งโพรงไทยหรือผึ้งโพรงอินเดีย และผึ้งพันธุ์ โดยผึ้ง 4 ชนิดแรกนั้นถือเป็นผึ้งพื้นเมืองของประเทศไทย แต่ผึ้งชนิดสุดท้ายอย่างผึ้งพันธุ์นั้นเป็นชนิดที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง เนื่องจากเป็นผึ้งที่เลี้ยงง่าย ให้น้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในปริมาณที่มาก

ชนิดของผึ้งที่พบทั่วไปในประเทศไทย

1.ผึ้งมิ้ม (Apis florea) เป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุด โดยมีขนาดใกล้เคียงกับแมลงวัน บางครั้งจะเรียกผึ้งชนิดนี้ว่าผึ้งแมลงวัน โดยประชากรส่วนใหญ่นั้นจะปกคลุมรัง ลำตัวมีสีน้ำตาลดำ ด้านหน้าของท้องมีสีเหลืองอมน้ำตาล มีขนสีเทาปกคลุมตัว ขนาดลำตัวมีความยาว 7 มิลลิเมตร อกกว้าง 2.60 มิลลิเมตร มีหนวดแบบหักศอก ปากแบบกัดเลีย ลิ้นยาว 3.40 มิลลิเมตร ปีกบางใส ปรากฏตาเดี่ยว 3 ตา และตารวม 2 ตา รวงผึ้งมีขนาดเล็ก ซึ่งมีประชากรประมาณ 3,000-15,000 ตัว/รัง โดยรังจะมีขนาดตั้งแต่ 10-30 เซนติเมตร ในส่วนของรวงผึ้งนั้นจะทำติดอยู่กับกิ่งไม้ มีรวงรังเพียงชั้นเดียว ขนาดประมาณ 20-30 เซนติเมตร โดยทั่วไปผึ้งมิ้มจะสร้างรังอยู่บนกิ่งไม้ที่ไม่สูงมาก และบินหาอาหารได้ไม่ไกลมากนัก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผึ้งมีจำนวนน้อย และมีการอพยพทิ้งรังบ่อยครั้ง ทำให้ไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้

ผึ้งมิ้ม

2.ผึ้งม้าน หรือผึ้งมิ้มเล็ก (Apis andreniformis) มีขนาดของตัวและรังที่เล็กกว่าผึ้งมิ้ม ซึ่งจัดเป็นผึ้งที่เล็กที่สุดในโลก โดยขนาดของลำตัวนั้นจะเล็กกว่าผึ้งมิ้มและมีท้องปล้องแรกสีดำ ส่วนท้องปล้องที่เหลือนั้นจะเป็นสีขาวสลับดำ ผึ้งชนิดนี้นับเป็นผึ้งที่หาได้ยาก ซึ่งจะพบเฉพาะในบริเวณป่าละเมาะใกล้ภูเขาเท่านั้น โดยจะสร้างรังในซุ้มไม้และบนกิ่งไม้ขนาดเล็กที่ไม่สูงจนเกินไป ลักษณะของรังจะมีชั้นเดียว มีความบอบบางและเล็กกว่ารังของผึ้งมิ้มคือมีขนาดเท่าฝ่ามือผู้ใหญ่เท่านั้น ขนาดประมาณ 10-20 เซนติเมตร ผึ้งมิ้มเล็กมักจะปกปิดรังของมันอยู่ในซุ้มไม้และกิ่งไม้เพื่อพรางตาป้องกันศัตรูเหมือนกับผึ้งมิ้ม แต่จะปกปิดมิดชิดกว่า

ผึ้งม้าน
janjirainchuan.wordpress.com

3.ผึ้งหลวง (Apis dorsata) เป็นผึ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทั้ง 4 ชนิด โดยลำตัวจะมีลักษณะใหญ่ ยาวรี ขนาดลำตัวมีความยาว 17-19 มิลลิเมตร อกกว้าง 5 มิลลิเมตร ลิ้นยาว 6-7 มิลลิเมตร ประชากรส่วนใหญ่จะอยู่ปกคลุมรังเพื่อป้องกันรัง ในส่วนของรวงผึ้งนั้นมีขนาดใหญ่ ซึ่งมีประชากรประมาณ 10,000-80,000 ตัว/รัง โดยจะสร้างรวงรังเพียงรวงเดียว รังรีมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม ขนาดของรังอาจมีความกว้างถึง 2 เมตร ลักษณะรวงโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม มักจะทำรังในที่โล่งแจ้ง อยู่ที่สูง และมีร่มเงาที่ไม่ร้อนเกินไป ซึ่งมักจะพบอยู่ตามใต้กิ่งไม้ใหญ่ หน้าผา โขดหิน และตามอาคารสูง บางครั้งในที่เดียวกันอาจมีผึ้งเกาะรวมกันมากกว่า 50 รัง โดยผึ้งชนิดนี้จะมีความดุร้ายเมื่อถูกรบกวนหรือทำลาย สามารถรุมต่อยศัตรูเป็นร้อยตัว เหล็กในของผึ้งนั้นมีพิษมาก สำหรับการบินไปอาหารนั้นถือว่าบินไปได้ไกลอยู่พอสมควร ซึ่งบางครั้งอาจจะมีการเก็บสะสมน้ำผึ้งถึง 15 กิโลกรัม ผึ้งหลวงเป็นผึ้งที่ไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้ แต่ก็ควรอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่กับธรรมชาติ เนื่องจากต้นไม้หลายชนิดต้องการให้ผึ้งหลวงมาช่วยผสมเกสรเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์

ผึ้งหลวง
www.bugaboo.tv

4.ผึ้งโพรง (Apis cerana) เป็นผึ้งที่มีขนาดกลาง ขนาดลำตัวยาว 12 มิลลิเมตร อกกว้าง 3.3 มิลลิเมตร ลิ้นยาว 4.8-5.6 มิลลิเมตร แต่จะใหญ่กว่าผึ้งมิ้มและตัวเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ นับว่าเป็นผึ้งที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าผึ้งมิ้มและผึ้งหลวง โดยจะสร้างรังอยู่ในที่มืดและมีจำนวนรวงหลายรวง ตั้งแต่ 5-15 รวง ซึ่งมีประชากรประมาณ 5,000-30,000 ตัว/รัง สร้างรังในที่มืดตามโพรงไม้หรือโพรงหิน โดยผึ้งโพรงที่พบในประเทศไทยนั้นจะสร้างรังในโพรงหิน หรือโพรงไม้ต่าง ๆ หากเกษตรกรทำกล่องไม้ให้ผึ้งอยู่อาศัยเพื่อสะดวกต่อการเก็บน้ำผึ้ง ผึ้งโพรงหนึ่งรังจะผลิตน้ำผึ้งประมาณ 3-15 กิโลกรัม/รัง โดยเฉลี่ยประมาณ 7 กิโลกรัม/ปี

ผึ้งโพรง
www.archives.mju.ac.th

5.ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera) บางครั้งจะเรียกว่าผึ้งฝรั่ง หรือผึ้งอิตาเลียน โดยผึ้งชนิดนี้คือผึ้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปยุโรปและแอฟริกา ถูกนำเข้ามาเลี้ยงเพื่อผลิตน้ำผึ้งเป็นหลัก มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าผึ้งโพรง แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง มักจะอาศัยและสร้างรังในที่มืด โดยผึ้งชนิดนี้ถือเป็นผึ้งที่ไม่ดุร้ายมากนัก และไม่ค่อยอพยพย้ายรัง สามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็ว มีประชากรประมาณ 20,000-60,000 ตัว/รัง ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายไปช่วยผสมเกสรพืชที่ต้องการได้ และเก็บผลผลิตน้ำผึ้ง รอยัลเยลลี่ เกสรผึ้ง และไขผึ้ง ในปริมาณสูง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผึ้งพันธุ์เป็นที่นิยมเลี้ยงในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งมากที่สุด

ผึ้งพันธุ์
th.toppollen.com

สถานที่สำหรับเลี้ยงผึ้ง

สถานที่ตั้งรังผึ้งควรอยู่ในที่ที่มีพืชอาหารปริมาณเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผึ้ง ซึ่งต้องมีการบานของดอกไม้ต่อเนื่องกัน เนื่องจากผึ้งนั้นจะมีรัศมีในการอาหารโดยเฉลี่ย อยู่ในระยะ 2-3 กิโลเมตร โดยรัศมีนั้นจะต้องมีแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียง และควรอยู่ห่างจากชุมชน นอกจากนี้จำนวนรังผึ้งต่อหน่วยพื้นที่ควรกำหนดให้เป็นไปตามชนิด และปริมาณของพืชอาหาร รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการเลี้ยงผึ้ง เพราะถ้าหากมีจำนวนรังผึ้งมากไปก็จะส่งผลให้ผึ้งเหล่านั้นแย่งอาหารกัน ทำให้ผลผลิตที่ได้ลดลง แต่ถ้าในกรณีที่รังผึ้งน้อยไปก็จะส่งผลให้เสียโอกาสในการเก็บน้ำผึ้งหรือได้รับผลผลิตน้อยไปด้วย
ฟาร์มผึ้งจะต้องตั้งอยู่ในสถานที่ที่ผู้เลี้ยงสามารถดูแลได้อย่างสะดวก แต่ควรอยู่ห่างจากชุมชนเมือง และอยู่ห่างไกลจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยน้ำเสียหรือมลพิษ นอกจากนี้ในฟาร์มผึ้งต้องมีการจัดแบ่งพื้นที่อย่างเป็นระเบียบ มีความสะอาด เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน มีอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นในการเลี้ยง มีตู้เก็บยาและสารเคมี ที่ภาชนะบรรจุต้องมีฉลากติดไว้อย่างชัดเจนแยกเป็นสัดส่วน และสะดวกต่อการนำอุปกรณ์ไปใช้ รวมทั้งการลำเลียงผลผลิตเข้าออกจากโรงเรือน และที่ตั้งรังผึ้งต้องตั้งให้สูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 6 นิ้ว

พืชอาหาร

พืชอาหารถือว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผึ้งเป็นอย่างมาก เนื่องจากผึ้งนั้นไม่สามารถขาดน้ำหวานและเกสรดอกไม้ได้ ในขณะเดียวกันดอกไม้ก็ต้องการให้ผึ้งช่วยผสมเกสรเช่นกัน ซึ่งน้ำหวานจากดอกไม้นั้นเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานแก่ผึ้ง ส่วนเกสรดอกไม้จะเป็นแหล่งโปรตีน โดยจะช่วยให้ผึ้งเจริญเติบโตจนถึงวัยเจริญพันธุ์ ชนิดและปริมาณพืชอาหารนั้นมีผลโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของผึ้ง พืชบางชนิดจะให้น้ำหวาน บางชนิดจะให้เกสร บางชนิดจะให้ทั้งน้ำหวานและเกสร หากผึ้งได้รับอาหารอย่างสมบูรณ์ทั้งน้ำหวานและเกสรก็จะส่งผลให้ผึ้งมีความแข็งแรงและมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่มีน้ำหวานและเกสรก็จะทำให้ผึ้งอ่อนแอและจำนวนประชากรลดลง การทำให้ผึ้งมีอาหารสำหรับการดำรงชีวิตได้ตลอดปี ผู้เลี้ยงต้องพิจารณาถึงชนิดและปริมาณของพืชอาหารที่เพียงพอในรัศมีที่ผึ้งสามารถบินออกไปหาอาหารได้

ตัวอย่างพืชอาหารที่สำคัญของผึ้ง ทั้งชนิดที่ให้เฉพาะเกสร น้ำหวาน และให้ทั้งสองอย่าง ได้แก่
ชนิดที่ให้ทั้งน้ำหวานและเกสร ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ นุ่น ทานตะวัน งา มะพร้าว เป็นต้น
ชนิดที่ให้เฉพาะน้ำหวาน ได้แก่ เงาะ สาบเสือ เป็นต้น
ชนิดที่ให้เฉพาะเกสร ได้แก่ ข้าวโพด ไมยราบ เป็นต้น

อาหารของผึ้ง
www.chiangmainews.co.th

การเลี้ยงผึ้ง

ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการนานาชาติ วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลว่าการเลี้ยงผึ้งนั้นผู้เลี้ยงจะต้องทำความเข้าใจชีวิตในสังคมและพฤติกรรมของผึ้ง เพื่อให้จัดการรังผึ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผึ้งต้องมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง มีประชากรผึ้งงานอย่างหนาแน่น และมีปริมาณอาหารที่เหมาะสม ซึ่งผู้เลี้ยงควรจะมีการตรวจฟาร์มผึ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อดูสภาพต่าง ๆ ภายในรังผึ้ง ได้แก่ การเจริญเติบโตของผึ้ง ประสิทธิภาพการวางไข่ของผึ้งนางพญา และกำจัดศัตรูผึ้งเพื่อไม่ให้มีโรคและศัตรู และต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่ให้อาหารเสริมในช่วงเวลาที่ไม่มีพืชอาหารในธรรมชาติเพียงพอต่อความต้องการ ในส่วนของการบริหารจัดการภายในฟาร์มเลี้ยงผึ้งนั้นควรมีการจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน ควรฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ควรมีการบันทึกข้อมูลบริหารฟาร์มผึ้ง ข้อมูลประวัติฟาร์มผึ้ง รวมถึงข้อมูลโดยรวมเพื่อตรวจสุขภาพของผึ้งแต่ละรังที่เลี้ยงในฟาร์ม นอกจากนี้ต้องมีการทำเครื่องหมายและจดบันทึกการจัดการรังผึ้ง ข้อมูลการใช้ยาและสารเคมี ตลอดจนข้อมูลโรคและศัตรูผึ้งด้วย โดยผึ้งนั้นถือเป็นแมลงที่มีคุณค่าต่อมวลมนุษย์ และสร้างความสมดุลให้แก่สภาพแวดล้อมในธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม

การเลี้ยงผึ้ง
www.xn--42cg8cuanoj5b9czdzg.com

การเลี้ยงผึ้งนั้นก็ก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนี้

ด้านการเกษตร

ผึ้งจะช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตให้กับพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ ส้ม มะพร้าว มะม่วง กาแฟ ท้อ สตรอว์เบอร์รี มะม่วงหิมพานต์ ทานตะวัน พืชตระกูลแตง ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชที่ต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้ยาและสารเคมี และลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย

ผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงผึ้ง

ผึ้ง (Honey) คือน้ำหวานที่ผึ้งงานอายุตั้งแต่ 22 วัน ไปเก็บสะสมมาจากดอกไม้และตาใบของพืชบางชนิดผ่านกระบวนการภายในตัวผึ้ง และไล่ความชื้นให้เป็นน้ำผึ้งที่ดี
รอยัลเยลลี่ (Royal jelly) คืออาหารที่ผึ้งงานอายุ 4-11 วัน ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ป้อนตัวหนอนและนางพญา
เกสรผึ้ง (Bee pollen) คือละอองเกสรเพศผู้ของดอกไม้ โดยผึ้งงานจะออกไปเก็บมาไว้เพื่อเป็นอาหารและผลิตเป็นอาหารเพื่อป้อนหนอนและนางพญา
โปรโปลิส (Propolis) คือยางไม้ที่ผึ้งงานอายุ 12-17 วัน ไปเก็บจากต้นไม้ เพื่อนำมาใช้ป้องกันไม่ให้เกิดโรคภายในรัง
ไขผึ้ง (Bee wax) คือรังผึ้งที่ผึ้งงานอายุ 18-21 วัน จะกินน้ำหวานและทำการผลิตไขผึ้งขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการสร้างรังผึ้ง
พิษผึ้ง (Venom) คือสารผึ้งงานอายุตั้งแต่ 14 วัน โดยจะผลิตเก็บไว้ในถุงน้ำพิษและปล่อยออกมาพร้อมกับเหล็กในเวลาต่อยศัตรู

ประโยชน์ทางด้านอื่น ๆ

  1. ผลจากการเลี้ยงผึ้งนั้นก่อให้เกิดอาชีพการทำอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้ง กล่องรังผึ้ง คอนแผ่นรังเทียม กระป๋องพ่นควัน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งได้
  2. เมื่อได้ผลผลิตจากผึ้งแล้วสามารถนำไปสู่กระบวนการแปรรูป เช่น ยาแผนโบราณ สบู่ แชมพู ครีมโลชั่น ลิปบาล์ม เทียนไข ยาหม่อง เป็นต้น
  3. การเลี้ยงผึ้งสามารถสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้เลี้ยงได้ เพราะในขณะเลี้ยงผึ้งนั้นผู้เลี้ยงจะได้สังเกตและเรียนรู้การใช้ชีวิตของผึ้งว่าเป็นอย่างไร และนอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินแล้ว การเลี้ยงผึ้งยังเป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษาอีกด้วย

การเพาะเลี้ยงนางพญา

การเพิ่มจำนวนรังผึ้งเพื่อขยายจำนวนรังเลี้ยงผึ้งนั้นจำเป็นจะต้องมีผึ้งนางพญาที่มีคุณภาพดีจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นผึ้งนางพญาของรังใหม่ หรือใช้ในการเปลี่ยนผึ้งนางพญาในรังเดิมที่มีอายุมากและมีประสิทธิภาพการวางไข่น้อยลง โดยตามสภาพธรรมชาติการเกิดของผึ้งนางพญาตัวใหม่นั้นจะเกิดได้เพียง 3 กรณี ดังนี้
1.ผึ้งนางพญาตัวเก่าตาย หรือสูญหายไปอย่างกะทันหัน ในกรณีนี้ผึ้งงานจะทำหน้าที่โดยการสร้างหลอดรวงนางพญาและคัดเลือกตัวอ่อนมาเพื่อใช้เป็นนางพญาตัวใหม่ ซึ่งจะมีหลอดรวงนางพญาที่เกิดขึ้นกลางแผ่นรวงผึ้ง โดยจะเรียกหลอดรวงนางพญานี้ว่าหลอดรวงนางพญาฉุกเฉิน
2.ผึ้งนางพญาตัวเดิมแก่เกินไป มีประสิทธิภาพในการวางไข่ลดลง ในกรณีนี้จะมีการสร้างหลอดรวงนางพญาใหม่ขึ้นมาในลักษณะห้อยลง อยู่ด้านล่างของแผ่นรวงผึ้ง
3.สภาพของรังมีความแข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ เมื่อสภาพของรังมีความแข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ก็จะทำให้ผึ้งต้องการแยกรังใหม่

การเพาะเลี้ยงนางพญา
www.trueplookpanya.com

วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผลิตผึ้งนางพญา

1.ถ้วยสำหรับเพาะนางพญา (Queen cup) มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6 เซนติเมตร
2.คอนสำหรับติดถ้วยสำหรับเพาะนางพญา
3.กรงขังผึ้งนางพญา (Queen cage)
4.ไม้สำหรับย้ายตัวหนอน (Stainless steel)
5.รอยัลเยลลี่ (Royal jelly) หรือนมผึ้ง
6.รังผึ้งที่ใช้ทำพันธุ์
7.รังผึ้งที่ใช้เป็นรังเพาะเลี้ยง

ปัจจัยสำคัญซึ่งมีผลต่อการผลิตผึ้งนางพญา

1.สภาพความแข็งแรงของรังที่ใช้สำหรับเลี้ยงตัวอ่อนที่จะผลิตผึ้งนางพญา ซึ่งถ้าหากมีความแข็งแรงและสมบูรณ์มาก อัตราการอยู่รอดก็จะสูงกว่ารังที่ไม่ค่อยแข็งแรง

2.สภาพอากาศที่ปลอดโปร่งแจ่มใส มีแสงแดด ฝนไม่ตก โดยผึ้งงานนั้นจะยอมรับตัวหนอนที่ใส่ลงไปได้ง่าย ส่งผลให้อัตราการอยู่รอดของตัวอ่อนมีมากกว่าในกรณีที่มีสภาพอากาศไม่ค่อยดี ไม่ปลอดโปร่ง และมีฝนตก

3.การบาดเจ็บของตัวหนอนขณะย้ายจากหลอดรวงไปใส่ในถ้วยนางพญา ซึ่งถ้าตัวหนอนบาดเจ็บหรือไม่สมบูรณ์ก็มีโอกาสที่จะไม่ได้รับการยอมรับสูง เพราะตอนที่ย้ายตัวหนอนนั้นจะต้องใช้ไม้หรือโลหะในการตักตัวหนอนออกมา หากทำอย่างไม่ระมัดระวังก็อาจเกิดอันตรายกับตัวหนอนได้ง่าย เพราะฉะนั้นผู้ที่ฝึกทำในระยะแรกควรตรวจดูผลของการย้ายตัวหนอนก่อน โดยใช้กล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอ

4.ระยะเวลาในการย้ายตัวหนอนควรใช้เวลาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากนั้นให้รีบนำคอนถ้วยนางพญากลับคืนรังทันที เพราะถ้าหากใช้เวลานานอาจทำให้ตัวหนอนนั้นตายได้ง่าย

5.การแยกหลอดและการขนย้ายหลอดผึ้งนางพญานั้นไม่ควรทำในขณะที่ผึ้งมีอายุน้อย เพราะมีโอกาสที่จะกระทบกระเทือนสูง ควรกระทำอย่างนุ่มนวลที่สุด

6.เมื่อผึ้งนางพญาที่อยู่ในรังผสมพันธุ์เริ่มวางไข่อย่างสม่ำเสมอ และแน่ใจว่าผึ้งรุ่นลูกที่ออกมาเป็นผึ้งงานแล้ว ให้เริ่มแยกรังโดยการนำผึ้งนางพญาตัวใหม่ไปใส่ในรังที่ขาดผึ้งนางพญาที่เตรียมไว้ได้ทันที ในกรณีที่เปลี่ยนนางพญาที่มีอายุมากนั้นให้จับนางพญาตัวที่ไม่ต้องการออก จากนั้นใส่นางพญาตัวใหม่ที่อยู่ในกรงขนาดเล็กลงไป โดยแขวนไว้ระหว่างคอนผึ้งเป็นเวลา 1-2 วัน จนกว่าผึ้งงานจะยอมรับเลี้ยงดูนางพญาตัวใหม่ และเปิดกรงขนาดเล็กให้นางพญาตัวใหม่ออกมา

ผึ้งนางพญา

การรวมรัง

หลังจากที่เก็บน้ำผึ้งแล้ว ผู้เลี้ยงควรตรวจสอบสภาพรังผึ้งแต่ละรัง หากพบว่าประชากรของรังผึ้งมีน้อยก็ต้องทำการรวมหรือยุบรังผึ้งที่อ่อนแอเข้าด้วยกัน หรืออาจเพิ่มประชากรให้กับรังที่ไม่ได้อ่อนแอมากด้วยการย้ายคอนที่เต็มไปด้วยผึ้งงานในระยะดักแด้จากรังผึ้งที่มีประชากรมากเกินพอไปสู่รังที่จำเป็นต้องมีประชากรเพิ่ม โดยการย้ายรวงผึ้งตัวอ่อนจากรังหนึ่งไปสู่อีกรังหนึ่งนั้นจะต้องแน่ใจว่าไม่เป็นการนำโรคหรือศัตรูไปให้ และไม่เป็นการทำให้รังผึ้งฝ่ายที่มีประชากรมากพออยู่แล้วต้องสูญเสียความแข็งแรงจนฟื้นตัวไม่ทันต่อฤดูอาหารที่จะมาถึง ซึ่งสาเหตุที่จำเป็นต้องเลือกเอาคอนที่มีผึ้งงานในวัยดักแด้ (คอนที่หลอดรวงทั้งสองด้านอยู่ในลักษณะปิดฝาหมดหรือเกือบหมด) เนื่องจากผึ้งในวัยนี้ไม่กินอาหาร จึงไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับผึ้งงานตัวเต็มวัยในรังที่อ่อนแอกว่าที่จะต้องมาดูแลให้อาหารตัวอ่อนผึ้งที่นำเข้าไปเพิ่มเติม และถ้าหากย้ายตัวเต็มวัยโดยตรงก็อาจก่อให้เกิดปัญหาไม่ยอมรับกันระหว่างผึ้งตัวเต็มวัยของทั้งสองรัง โดยการรวมรังนั้นควรจะทำในตอนเย็น เพราะเป็นเวลาที่ผึ้งงานบินกลับเข้ามาในรัง และการรวมรังสามารถทำตามได้ ดังนี้

1.การรวมรังโดยอาศัยกระดาษหนังสือพิมพ์คั่นระหว่างรัง (ควรทำในตอนเย็น)
อุปกรณ์

– กระดาษหนังสือพิมพ์ 1 แผ่น
– ปากกาหรืออุปกรณ์ที่มีปลายแหลม
วิธีการ
– ขั้นตอนแรกตัดกระดาษให้ได้ขนาดกว้างและยาวเท่ากับกล่องของรังผึ้ง จากนั้นใช้ปลายปากกาหรืออุปกรณ์ที่มีปลายแหลมเจาะรูกระดาษให้กระจายทั้งแผ่น
– เปิดฝารังและแผ่นปิดรังด้านใน นำกระดาษหนังสือพิมพ์ที่เตรียมไว้มาวางไว้ด้านบน
– นำรังผึ้งที่จะรวมรังวางซ้อนขึ้นไปข้างบนและปิดฝารังด้านบน
– ปล่อยไว้เป็นเวลา 1-2 วัน จากนั้นเปิดฝารังแล้วตรวจสอบจะพบว่าผึ้งทั้งสองรังจะทำลายกระดาษและรวมรัง
2.การรวมรังโดยอาศัยน้ำเชื่อม (ควรทำในตอนเย็น)
อุปกรณ์

– กระบอกสเปรย์
– น้ำเชื่อม
วิธีการ
– นำน้ำเชื่อมบรรจุใส่กระบอกสเปรย์ แล้วฉีดพ่นให้ทั่ว
– นำผึ้งแต่ละคอนมารวมกันในรังเดียว
– การรวมรังโดยให้นำไปรวมกันทันที
3.การรวมรังโดยนำไปรวมกันทันที
     สังเกตรังจะต้องมีปริมาณน้ำหวานมากพอสมควร และผึ้งที่อยู่ในคอนก็ควรเป็นผึ้งอนุบาล สามารถนำไปรวมกันได้ทันที ซึ่งวิธีนี้จะต้องอาศัยความชำนาญอยู่พอสมควร
4.การรวมรังโดยเขย่าผึ้งหน้ารัง (วิธีนี้ใช้เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนผึ้งอนุบาล)
อุปกรณ์

– เครื่องเป่าควัน
– กระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษอื่น ๆ สำหรับปูพื้น
วิธีการ
– ขั้นตอนแรกปูกระดาษรองที่พื้น จากนั้นวางรังที่ต้องการจะเสริมให้เตี้ยหรือวางกับพื้น
– ใช้เครื่องเป่าควัน เป่าควัน 2-3 ครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที
– นำคอนผึ้งที่ต้องการรวมเขย่าให้ผึ้งตกลงไปหน้ารัง จากนั้นพ่นควันใส่ผึ้งอีกครั้ง ซึ่งผึ้งจะคลานไปรวมกันในรังทันที
5.การรวมรังโดยอาศัยน้ำมันหอมระเหย
อุปกรณ์

– น้ำมันหอมระเหย
– กระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษอื่น ๆ
วิธีการ
– ขั้นตอนแรกนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาตัดให้ได้ขนาดเท่ากับรังผึ้งตามแนวขวาง
– หยดน้ำมันหอมระเหยลงบนกระดาษทั้ง 2 ด้าน ด้านละ 2-4 หยด
– นำผึ้งจากทั้งสองรังมารวมในรังเดียวกัน โดยใช้กระดาษที่หยดน้ำมันแล้วมาคั่นระหว่างคอนที่อยู่คนละรัง
– ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นเปิดฝาแล้วดึงกระดาษที่คั่นตรงกลาง

การรวมรังผึ้ง

ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว

การเตรียมรังผึ้งให้พร้อมสำหรับฤดูดอกไม้บานถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการผลิตน้ำผึ้ง ซึ่งในแต่ละรังนั้นจะต้องมีผึ้งงานที่อยู่ในวัยของผึ้งสนามจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000-60,000 ตัว/รัง เพื่อที่จะได้มีผลผลิตน้ำหวานในปริมาณมาก นอกจากนี้นางพญาต้องมาจากสายพันธุ์ที่เก็บน้ำผึ้งดี และไม่ควรมีอายุเกิน 1 ปี ควรเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนนั้นจะต้องมีปริมาณเพียงพอที่จะใช้ในการเก็บน้ำผึ้ง และบริเวณที่ตั้งรังจะต้องมีปริมาณน้ำหวานและเกสรที่เป็นอาหารของผึ้งมากพอ ในส่วนของการประเมินปริมาณเกสรดอกไม้ในพื้นที่ให้สังเกตที่ประตูเข้าออกของรัง เวลาระหว่าง 07:00-08:00 น. ว่าในจำนวนผึ้ง 10 ตัว มีเกสรติดมาที่เปาะขาหลังของผึ้งเป็นจำนวนเท่าไร หากมากกว่า 6 ตัว สามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่าบริเวณโดยรอบที่เลี้ยงผึ้งนั้นมีปริมาณเกสรเพียงพอ และการประเมินปริมาณน้ำหวานให้สังเกตผึ้งที่บินเข้ารังในช่วงบ่าย หากผึ้งตัวอ้วนเป่ง (สังเกตบริเวณท้องของผึ้ง) และบินเข้าออกบ่อยครั้ง ก็สามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่าบริเวณโดยรอบที่เลี้ยงผึ้งนั้นมีปริมาณน้ำหวานเพียงพอ การเตรียมรังผึ้งก่อนฤดูดอกไม้บานควรใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 8 สัปดาห์ ควรงดการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคและศัตรูผึ้ง และเน้นเตรียมให้ผึ้งในรังที่มีอายุ 21 วันขึ้นไป มีจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000-60,000 ตัว/รัง โดยกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์เป็นดังนี้

1.สัปดาห์ที่ 1-3 จัดสภาพภายในรังให้มีผึ้งในรังจำนวน 7-8 คอน แบ่งเป็นแผ่นปิดจำนวน 5-6 คอน เป็นคอนที่มีตัวหนอนจำนวน 1-3 คอน และเป็นคอนไข่จำนวน 1 คอน ควรมีน้ำหวานบริเวณหัวคอนประมาณ 3-4 แถว และมีเกสรที่ถูกเก็บไว้มากพอ เมื่อพบการสร้างถ้วยนางพญาให้ทำลายทิ้งทุกครั้ง หรือหากพบว่าภายในรังผึ้งอ่อนแอ มีจำนวนประชากรของตัวเต็มวัยน้อยก็ให้ทำการรวมรัง

2.สัปดาห์ที่ 4 ทำการสำรวจปริมาณอาหารและน้ำหวานภายในรังให้มีอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ต้องตรวจเช็คการระบาดของโรคและไรภายในรังผึ้งด้วย ถ้าหากพบว่ามีการระบาดให้ทำการแยกรังนั้นออกไป (งดใช้สารเคมีในการกำจัดไร)

3.สัปดาห์ที่ 5 ทำการตรวจเช็ครังเหมือนสัปดาห์ที่ 1-4 และถ้าหากนางพญามีการวางไข่ลดลงให้เปลี่ยนนางพญาใหม่ในช่วงนี้ จัดหาอุปกรณ์เก็บน้ำผึ้งให้พร้อม ได้แก่ ถังสลัดน้ำผึ้ง มีดปาดเปิดหลอดรวง แปรงปัด เป็นต้น

4.สัปดาห์ที่ 6-7 ช่วงนี้จะมีผึ้งจำนวนมาก โดยสังเกตได้จากการถ่ายเทอากาศและอุณหภูมิภายในรัง

5.สัปดาห์ที่ 8 ตอกหลักตั้งรังไว้บริเวณแหล่งอาหาร จากนั้นทำการย้ายผึ้งเข้าไปยังแหล่งอาหาร โดยมีการเตรียมการก่อนการขนย้าย ดังนี้
– ตอกตะปูยึดคอนให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้คอนหนีบผึ้งหรือนางพญาในระหว่างที่ขนย้าย
– ช่วงเย็นก่อนการย้ายรัง หลังผึ้งเข้ารังหมดแล้วให้ปิดหน้ารังและเปิดตะแกรงลวดระบายอากาศ จากนั้นสลัดน้ำผึ้งหัวคอนออก (น้ำผึ้งก่อนฤดูดอกไม้บาน)

การสลัดน้ำผึ้ง

การเก็บผลผลิตในฤดูดอกไม้บาน (กรณีน้ำผึ้งดอกลำไย) ควรเก็บหลังจากวางรังทิ้งไว้บริเวณแหล่งอาหารเป็นระยะเวลา 7-8 วัน และสามารถเก็บผลผลิตอย่างต่อเนื่องได้ประมาณ 3 ครั้ง

อุปกรณ์ในการเก็บผลผลิต (การสลัดน้ำผึ้ง)
– แปรงปัด
– มีดปาดรวงผึ้ง
– ถังปั่นสลัดน้ำผึ้ง
– ตะแกรงสำหรับกรอง
– ผ้าขาวบางสำหรับกรอง
– ภาชนะสำหรับรองรับน้ำผึ้ง
– ถักพักน้ำผึ้ง
วิธีการ
– คัดเลือกคอนน้ำผึ้งที่ปิดหลอดรวงแล้ว 30-70%
– นำคอนน้ำผึ้งออกจากกล่อง โดยสลัดผึ้งและใช้แปรงปัดผึ้งออกจากคอนให้หมด
– ใช้มีดปาดเปิดหลอดรวง นำใส่ถังปั่นเพื่อสลัดน้ำผึ้ง หมุนถังปั่นด้วยความเร็ว
– ปล่อยน้ำผึ้งจากถังลงภาชนะ กรองหยาบในครั้งแรกด้วยตะแกรง และกรองละเอียดในครั้งที่สองด้วยผ้าขาวบาง 2 ชั้น
– พักน้ำผึ้งไว้ในถังบรรจุ หลังจาก 15 วันแล้ว นำแบ่งบรรจุได้ตามความเหมาะสม

การสลัดน้ำผึ้ง
www.xinhuathai.com

โรคผึ้ง

1.โรคหนอนเน่าอเมริกัน (American Foulbrood Disease, AFB)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Paenibacillus larvae ซึ่งจะกระจายในรัง ส่งผลเฉพาะกับตัวอ่อนเท่านั้น โดยสปอร์จะเจริญภายในทางเดินอาหารของตัวอ่อนที่ได้รับเชื้อนี้เข้าไป ทำให้ตัวอ่อนตายภายในระยะเวลา 5-6 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อ สำหรับวิธีการกำจัดให้ทำการเผาทำลายผึ้งที่เป็นโรคพร้อมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

2.โรคหนอนเน่ายูโรเปียน (European Foulbrood Disease, EFB)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Melissococcus plutonius ที่มีรูปร่างกลม ซึ่งจะอยู่รวมกันเป็นสายเหมือนลูกปัด เป็นเชื้อที่ไม่มีสปอร์ มีการแพร่กระจายของโรคเช่นเดียวกับหนอนเน่าอเมริกัน โดยโรคนี้จะส่งผลให้ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่มีอายุไม่เกิน 4-5 วัน ตายไป สำหรับวิธีป้องกันในกรณีที่ตรวจพบการระบาดในระดับปานกลาง สำหรับรังที่อ่อนแอต้องมีการเปลี่ยนผึ้งนางพญาตัวใหม่ หรือเพิ่มจำนวนคอนผึ้งที่แข็งแรง 2-3 คอน เพื่อเพิ่มความแข็งแรง นอกจากนี้การวางไข่ให้ได้มากขึ้นก็จะเป็นการเพิ่มประชากรในรังและเพิ่มจำนวนผึ้งที่ทำหน้าที่ทำความสะอาดรังขนย้ายตัวที่เป็นโรคออกจากรัง และเป็นการเพิ่มความต้านทานโรคให้กับผึ้งด้วย

3.โรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา

โรคชอล์คบรูด (Chalkbrood, CB) เกิดจากเชื้อรา Ascosphaera apis ซึ่งสามารถเข้าทำลายได้ทั้งตัวอ่อนและดักแด้ สำหรับเชื้อราที่พบในประเทศไทยนั้นมีทั้งสายพันธุ์ที่สร้างสปอร์และไม่สร้างสปอร์ ตัวอ่อนอายุ 3-4 ที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะสังเกตเห็นอาการของโรคได้ ซึ่งตัวอ่อนจะถูกปกคลุมด้วยเส้นใยของเชื้อราสีขาว เมื่อเชื้อรามีการสร้างสปอร์สีดำขึ้นหรือมีลักษณะคล้ายเศษชอล์คก็แสดงว่ามีการระบาดอย่างรุนแรง โดยผึ้งที่เป็นโรคนี้ในระดับรุนแรงจะพบตัวอ่อนแห้งตายตกอยู่ที่พื้นรังเป็นจำนวนมาก สำหรับวิธีป้องกันนั้นยังไม่มีวิธีการควบคุมที่แน่นอน แต่มีหลายวิธีในการป้องกันคือการรักษาผึ้งไว้ให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคนี้ โดยการทำให้รังผึ้งมีประชากรที่แข็งแรง มีการระบายอากาศที่ดี ไม่ปล่อยให้ความชื้นภายในรังสูง มีการเพิ่มตัวเต็มวัยใหม่ ๆ ที่เพิ่งออกจากหลอดรวงให้กับรังที่เพิ่งเริ่มเป็นโรคนี้เพื่อช่วยทำความสะอาดรัง
โรคโนซีมา (Nosema Disease) เกิดจากเชื้อโรค 2 ชนิด คือ Nosema apis และ Nosema Ceranae ซึ่งสืบพันธุ์ในการใช้สปอร์ โดยสปอร์เหล่านี้จะเข้าทำลายเมื่อผึ้งกินเข้าไป เชื้อจะเจริญในทางเดินอาหารของผึ้งและเพิ่มจำนวนสปอร์ได้อย่างรวดเร็ว เชื้อนี้สามารถอยู่ในผึ้งตัวเต็มวัยและแพร่กระจายได้โดยมีผึ้งงานเป็นพาหะ โดยผึ้งที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการคล้ายกับเป็นอัมพาต ปล้องท้องยืดและบวมผิดปกติ หากจับตัวที่เป็นโรคนี้มาดึงส่วนหัวและอกออกจากกันอย่างระมัดระวังจะพบทางเดินอาหารบวมโต สีขาวขุ่น ซึ่งจะมีความแตกต่างจากผึ้งปกติที่ทางเดินอาหารจะมีสีใส สำหรับวิธีการป้องกันให้แยกรังผึ้งที่เป็นโรคออกจากรังอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายไปสู่รังอื่น

4.โรคที่มีสาเหตุมาจากไวรัส

โรคแซคบรูด (Sacbrood Disease) เกิดจากเชื้อไวรัส Sacbrood Virus (SBV) โดยจะเข้าทำลายในระยะตัวอ่อน ซึ่งตัวอ่อนที่ได้รับเชื้อเมื่อปิดฝาหลอดรวงแล้วจะไม่ลอกคราบ ตัวอ่อนจะนอนตายหรือยืดตัวตาย ตามความยาวของหลอดรวง ซากของตัวอ่อนจะมีผนังลำตัวเหนียวส่งผลให้ของเหลวในตัวอ่อนไหลออก ทำให้มีลักษณะเป็นถุงและเปลี่ยนจากสีขาวขุ่นเป็นเหลืองซีด น้ำตาลและดำในที่สุด
โรคอัมพาตในผึ้ง (Bee Paralysis) เกิดจากไวรัสที่สามารถแบ่งอาการออกเป็น 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง สำหรับแบบเฉียบพลันนั้นเกิดจากไวรัสเข้าทำลายที่ระบบประสาท ตัวเต็มวัยที่ได้รับเชื้อในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน แต่หลังจากนั้นจะสังเกตเห็นปีกและตัวของผึ้งสั่นผิดปกติ เคลื่อนที่ช้าและไม่สามารถบินได้ ซึ่งผึ้งที่เป็นโรคนี้จะตายภายในระยะเวลา 2-3 วัน ส่วนแบบเรื้อรังนั้นจะสังเกตเห็นผึ้งเป็นสีดำและช่องท้องขยายบวม ซึ่งอาการของโรคนี้จะพบเฉพาะในผึ้งตัวเต็มวัยเท่านั้น
โรคปีกผิดรูป (Deformed Wing Virus) พบในผึ้งพันธุ์และผึ้งโพรง ในประเทศจีนมักจะพบ Deformed Wing Virus (DWV) ในตัวอ่อนที่เป็นโรค ผึ้งตัวเต็มวัยที่ตาย และผึ้งที่แสดงอาการปีกผิดปกติ ร่วมกับการพบไรวาร์รัว จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการและภาคสนามพบว่าไรแพร่เชื้อไวรัสแบบเดียวกับเชื้อ ABPV เชื้อ DWV จะเพิ่มจำนวนอย่างช้า ๆ และตัวดักแด้ที่ติดเชื้อในระยะที่ตัวยังไม่เป็นสีดำนั้นจะสามารถอยู่รอดได้ แต่จะกลายเป็นผึ้งที่มีปีกเจริญไม่เต็มที่และตายในที่สุด

โรคอัมพาตผึ้ง
gardenlux-th.designluxpro.com

5.โรคที่เกิดจาก kashmir Bee Virus

ไวรัสชนิดนี้พบครั้งแรกจากการแยกเชื้อในผึ้งโพรงตัวเต็มวัยจากแคว้นแคชเมียร์ และจาก Mahableshwar ประเทศอินเดีย โดยผึ้งจากแคว้นแคชเมียร์ที่ติดเชื้อ KBV จะมีเชื้อ Apis Iridescent Virus ร่วมอยู่ด้วย ส่วนผึ้งที่ได้มาจากประเทศอินเดียจะพบเชื้อไวรัส KBV เพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าหากทดลองฉีดเชื้อ KBV ในผึ้งพันธุ์ตัวเต็มวัยหรือถูเชื้อบนตัวจะพบว่าเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและรวดเร็ว โดยจะฆ่าเชื้อภายใน 3 วัน ตัวหนอนผึ้งสามารถมีชีวิตรอดหลังจากได้รับไวรัสทางปาก และบางตัวสามารถกลายเป็นพาหะเมื่อเจริญเป็นผึ้งตัวเต็มวัย

6.โรคที่เกิดจากไวรัสชนิดอื่น ๆ

เชื้อไวรัส Cloudy Wing Virus (CWV) ไวรัสชนิดนี้ทำให้ปีกผึ้งขุ่น และพบว่าเชื้อนี้สามารถติดต่อทางการหายใจเมื่อผึ้งได้สัมผัสใกล้ชิดกัน โดยจะพบก้อนผลึกของอนุภาคไวรัสบริเวณเส้นใยกล้ามเนื้อที่ควบคุมระบบหลอดลม ซึ่งผึ้งที่ติดเชื้อก็จะตายในที่สุด
เชื้อไวรัส Black Queen Cell Virus (BQCV), Filamentous Virus (FV) และ Bee Virus Y (BVY) ซึ่งไวรัสทั้ง 3 ชนิดนี้จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Nosema apis ไวรัส BQCV จะทำหลอดรวงของผึ้งนางพญาเป็นสีน้ำตาลดำถึงดำ และตัวดักแด้ก็จะตายหากพบไวรัสชนิดนี้จำนวนมากในตัวดักแด้ ซึ่งในระยะแรกตัวดักแด้ที่ติดเชื้อนั้นจะเป็นสีเหลืองซีด
FV เป็นเชื้อไวรัสในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นไวรัสที่เพิ่มจำนวนในเนื้อเยื่อไขมัน และเนื้อเยื่อรังไข่ของผึ้งตัวเต็มวัย เลือดของผึ้งที่ติดเชื้อจะเห็นอนุภาคสีขาวขุ่น ส่วนอาการอื่น ๆ จะแสดงไม่ชัดเจน โดยการระบาดไวรัสนั้นมักเกิดในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ในแต่ละปี
BVY จะเกิดขึ้นบ่อยในตัวเต็มวัยของผึ้ง ในช่วงต้นฤดูร้อน ผึ้งจะเป็นโรคเมื่อได้รับไวรัสทางอาหาร โดยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทั้ง 3 ชนิดนี้พบในประเทศอังกฤษ ทวีปอเมริกาเหนือ ออสเตรีย ญี่ปุ่น รัสเซีย และพบในทวีปยุโรปอีกด้วย
เชื้อไวรัส AIVพบเฉพาะผึ้งโพรงจากแคว้นแคชเมียร์และอินเดียตอนเหนือ ซึ่งธรรมชาติอาจจำกัดไวรัสชนิดนี้ให้มีความจำเพาะในบริเวณแถบเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งไวรัสชนิดนี้ก็สามารถเพิ่มจำนวนในผึ้งพันธุ์ได้เช่นกัน โดยเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในเนื้อเยื่อหลาย ๆ ชนิด เพราะฉะนั้นไวรัสจะสามารถแพร่กระจายผ่านมูล ไข่ น้ำคัดหลั่งจากต่อมต่าง ๆ และปรสิต

สำหรับโรคที่เกิดจากไวรัสทั้ง 5 ชนิดดังกล่าว ยังไม่มีสารเคมีใดที่ใช้ในการควบคุมกำจัดโรคชนิดนี้ได้ ผู้เลี้ยงผึ้งจึงควรจัดการสภาพภายในรังให้ดี ควรมีการเปลี่ยนผึ้งนางพญาใหม่ จัดการประชากรผึ้งให้แข็งแรง รวมทั้งเพิ่มประชากรผึ้งงานด้วย

ศัตรูของผึ้ง

  • ไรทรอปิลิแลปส์ มีขนาดเล็กกว่าไรวาร์รัว สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตัวเต็มวัยเพศเมียมีสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง 0.55 มิลลิเมตร ยาว 0.96 มิลลิเมตร ลำตัวปกคลุมด้วยขนสั้น โดยไรชนิดนี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงของผึ้ง ตั้งแต่ระยะตัวหนอน ระยะดักแด้ และตัวเต็มวัย ส่งผลให้ผึ้งตายก่อนที่จะเป็นตัวเต็มวัย พิการ หรือปีกขาด โดยจะพบระบาดมากในผึ้งพันธุ์
  • ไรวาร์รัว ไรชนิดนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าไรทรอปิลิแลปส์ ลำตัวแบนในแนวราบ ซึ่งลำตัวจะกว้างมากกว่าความยาว มีความกว้างอยู่ระหว่าง 0.5-1.6 มิลลิเมตร ส่วนความยาวจะอยู่ระหว่าง 1.1-1.2 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลแดง และมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมลำตัวส่วนบน เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า โดยจะพบระบาดมากในพืชพื้นเมืองของไทย เช่น ผึ้งโพรง ส่วนในผึ้งพันธุ์นั้นจะพบว่าไรจะเกาะดูดกินตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ส่งผลให้ผึ้งอ่อนแอและพิการ
  • มดแดง มดแดงชนิดตัวใหญ่นั้นมักจะจับกินตัวผึ้ง และเข้าทำลายผึ้งที่อ่อนแอ
  • ต่อ เป็นแมลงที่จับผึ้งเป็นอาหาร เช่น ต่อหัวเสือ ต่อหลุม ต่อภูเขา เป็นต้น โดยตัวต่อนั้นมักจะชุกชุมในฤดูฝน
  • นก นกชนิดที่กินผึ้ง ได้แก่ นกจาบคา นกแซงแซว และนกนางแอ่น
  • โรคผึ้ง ถือเป็นอีกหนึ่งศัตรูที่จะเข้ามาทำลายผึ้ง แต่สำหรับประเทศไทยนั้นจะยังไม่ค่อยพบโรคนี้
นกจาบคา

การใช้ประโยชน์จากผึ้ง

ในปัจจุบันมีการศึกษาชีววิทยาของผึ้งกันมากขึ้น เนื่องจากผึ้งนั้นเป็นแมลงที่ให้ประโยชน์นานับประการ ซึ่งสามารถรวบรวมประโยชน์ของผึ้งได้ ดังนี้

1.การผสมเกสร (Pollination)

พืชผลทางการเกษตรต้องอาศัยแมลงเป็นตัวช่วยในการผสมเกสรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น และรายได้ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งผึ้งก็เป็นหนึ่งในแมลงที่ช่วยผสมเกสรให้พืชมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ในต่างประเทศจะมีการใช้ผึ้งช่วยในการผสมเกสรในพืชหลายชนิด เช่น แอปเปิล อัลมอนด์ อะโวคาโด แบล็กเบอร์รี และบลูเบอร์รี เป็นต้น

2.การวิจัยทางชีววิทยา (Biological research)

ได้มีการใช้ผึ้งเป็นสัตว์ทดลองในการหาคำตอบทางชีววิทยาในหลายด้าน ซึ่งใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น

  • การศึกษาทางด้านพันธุศาสตร์ โดยมีการศึกษาความแตกต่างทางพันธุกรรมของผึ้ง รวมถึงการทำงานของยีนต่าง ๆ ของผึ้ง ซึ่งการศึกษาดังกล่าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงและอนุรักษ์ผึ้งได้
  • การศึกษาทางด้านพฤติกรรมสังคม เช่น พฤติกรรมการสื่อสารของผึ้งโดยการเต้นรำ พฤติกรรมการกำจัดไข่ พฤติกรรมกาฝาก พฤติกรรมการสร้างรัง พฤติกรรมการผสมพันธุ์ พฤติกรรมการทำความสะอาดรัง พฤติกรรมการหาอาหาร และพฤติกรรมการเลี้ยงดูตัวอ่อน เป็นต้น
  • การศึกษาทางด้านวิวัฒนาการ โดยใช้หลักฐานจากการศึกษาหลาย ๆ ด้านมาประกอบกัน เช่น ข้อมูลทางด้านพันธุศาสตร์ ข้อมูลทางด้านพฤติกรรม ข้อมูลทางด้านนิเวศวิทยา ข้อมูลทางด้านสัณฐานวิทยา และข้อมูลทางด้านซากดึกดำบรรพ์

3.ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง (Bee products)

  • น้ำผึ้ง (Honey) น้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่คนส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคยกันมากที่สุด เนื่องจากคนส่วนใหญ่นั้นเคยรับประทานมาตั้งแต่เด็ก ๆ และมีการนำน้ำผึ้งมาผสมกับอาหารอย่างอื่นด้วย ซึ่งน้ำผึ้งที่คนนิยมบริโภคส่วนใหญ่จะเป็นน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งพันธุ์ เพราะเป็นผึ้งที่เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตหลายอย่างในปริมาณสูง ถือว่าคุ้มค่าแก่การลงทุน นอกจากการใช้ประโยชน์ด้วยวิธีการรับประทานแล้วก็ยังมีการนำมาผสมกับยาสมุนไพรเป็นยาลูกกลอน ผสมในเครื่องสำอาง และใช้ในทางการแพทย์ได้อีกด้วย
  • นมผึ้ง (Royal jelly) เป็นอาหารของผึ้งที่ใช้ในการเลี้ยงตัวอ่อนผึ้ง ซึ่งผลิตจากต่อมไฮโปฟาริงก์ของผึ้งที่มีอายุ 4-11 วัน โดยนมผึ้งนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่มีราคาแพงมาก ซึ่งจะช่วยในเรื่องชะลอความแก่ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา และช่วยให้เจริญอาหารได้ แต่ควรบริโภคนมผึ้งเฉพาะตอนที่ร่างกายอ่อนแอต้องการการฟื้นฟูเท่านั้น
  • เกสรผึ้ง (Bee pollen) นับเป็นแหล่งโปรตีนของผึ้งภายในรัง ผู้เลี้ยงสามารถเก็บเกสรผึ้งได้ด้วยการนำกับดักเกสรไปวางดักไว้หน้ารัง เมื่อได้เกสรแล้วสามารถนำไปทำให้แห้งเพื่อบรรจุขายได้ คนส่วนใหญ่นิยมบริโภคเกสรผึ้งโดยการชงกับเครื่องดื่มต่าง ๆ และมีการเติมเกสรผึ้งในเครื่องสำอางต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากมีข้อมูลว่าเกสรผึ้งนั้นมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและผิวหนัง
  • ไขผึ้ง (Beeswax) ไขผึ้งหรือขี้ผึ้งเป็นสารธรรมชาติที่ผึ้งได้ผลิตออกมาจากต่อมไขผึ้ง ซึ่งไขผึ้งนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น ทำเทียน ทำแผ่นรังเทียมสำหรับการเลี้ยงผึ้ง ใช้ผสมในเครื่องสำอาง เช่น ลิปสติก โลชั่นทาผิว แชมพูสระผม เป็นต้น
  • โปรโปลิส (Propolis) คือยางไม้ที่ผึ้งพันธุ์เก็บมาไว้เพื่อใช้ซ่อมแซมรังและใช้ในการฆ่าเชื้อโรคภายในรัง รวมทั้งใช้ห่อหุ้มศัตรูที่มีขนาดใหญ่ที่เข้ามาตายในรัง สำหรับการใช้ประโยชน์จากโปรโปลิสนั้นมีตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น การใช้ในการอาบศพไว้เพื่อทำมัมมี ทำให้ศพไม่เน่าเปื่อย เป็นต้น
  • พิษผึ้ง (Bee venom) เป็นสารที่ผึ้งงานผลิตขึ้นและเก็บไว้ที่ถุงเก็บน้ำพิษที่อยู่ส่วนปลายของช่องท้อง และติดกับเหล็กใน ซึ่งในปัจจุบันมีการนำพิษผึ้งมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค คือใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ และโรคภูมิแพ้ ซึ่งการรักษาดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฃ
  • ตัวอ่อนผึ้ง (Bee brood) สามารถใช้ประโยชน์จากตัวอ่อนผึ้งโดยการใช้ใบตองห่อตัวอ่อนผึ้งที่อยู่ในรวงแล้วนำไปย่างให้สุกและเกิดกลิ่นหอม จากนั้นนำมารับประทาน ซึ่งในตัวอ่อนผึ้งนั้นมีโปรตีนสูงและมีไขมันต่ำกว่าเนื้อวัว อีกทั้งตัวอ่อนผึ้งก็ยังไม่มีส่วนของคิวติเคิลที่แข็งเหมือนกับแมลงกินได้ชนิดอื่นด้วย ซึ่งตรงจุดนี้จะทำให้รับประทานได้ง่ายขึ้น
น้ำผึ้ง
today.line.me

แหล่งที่มา

รองศาตราจารย์ ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร, คู่มือการเลี้ยงผึ้ง

ปิยมาศ นานอก, ผึ้งและการใช้ประโยชน์

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดําริ อําเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (สํานักงาน กปร.), การเลี้ยงและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งและชันโรง



แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้