เมื่อพูดถึงแมลงเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความนิยมที่สุดในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นก็ต้องมีมดแดง ในปัจจุบันมดแดงถือเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากในท้องตลาดนั้นมีความต้องการไข่มดแดงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาของไข่มดแดงจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-400 บาท ซึ่งถือว่าราคาค่อนข้างสูงเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามราคานั้นก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ปริมาณไข่มดแดงที่ออกสู่ท้องตลาด โดยในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ชาวบ้านก็จะต้องออกไปหารังมดตามป่าเพื่อนำมาจำหน่ายในท้องตลาด สำหรับบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับมดแดง และวิธีการเลี้ยงมดแดง รวมถึงประโยชน์ต่าง ๆ ของมดแดงที่คุณอาจยังไม่รู้มาก่อนด้วย
ลักษณะทั่วไปของมดแดง
มดแดง ภาษาอังกฤษ Red Ant, Green Tree Ant หรือ Weaver Ant จัดอยู่ในสกุลมด Oecophylla มีความหมายว่าสร้างรังด้วยใบไม้ โดยในปัจจุบันพบมดชนิดนี้เพียง 2 ชนิด ได้แก่ มดแดงแอฟริกา พบในแอฟริกา และมดแดงส้ม ซึ่งมดแดงส้มนั้นจะพบในเอเชียทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ควีนแลนด์ เกาะโซโลมอน และนิวกินี สำหรับประเทศไทยมดแดงส้มจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามวรรณะ มดแดงมีชีวิตอยู่ในรูปแบบสังคมที่คล้ายกับสังคมมนุษย์ โดยจะประกอบด้วยวรรณะราชินี วรรณะสืบพันธุ์ และวรรณะกรรมกรหรือมดงาน ซึ่งแต่ละวรรณะจะมีการแบ่งหน้าที่การทำงานไว้อย่างชัดเจน ทำงานโดยมีขั้นตอนและระบบ การทำงานส่วนใหญ่นั้นจะเป็นหน้าที่ของมดงาน เพราะฉะนั้นในรังหนึ่ง ๆ จึงต้องมีมดงานเป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะได้เพียงพอในการหาอาหาร การปกป้องรัง การสร้างรัง การทำความสะอาดรัง การดูแลตัวอ่อน และการดูแลราชินี เป็นต้น โดยมดงานนั้นจะทำงานเหมือนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มันจะทำงานตลอดทั้งวันโดยไม่มีการพัก ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่ามดงานเหล่านี้เดินอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
การดำรงชีวิตของมดแดง
มดแดงถือเป็นสัตว์สังคมที่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยจะช่วยกันสร้างรังเลี้ยงดูตัวอ่อนให้เติบโตเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งภายในรังมดแดงนั้นจะมีสมาชิกอยู่ดังนี้
- แม่เป้ง (นางพญามดแดง) มีรูปร่างขนาดใหญ่กว่ามดแดงธรรมดามาก ลำตัวเป็นสีเขียวปนน้ำตาล มีปีกสำหรับบิน ซึ่งจะทำหน้าที่ออกไข่คล้ายกับนางพญาปลวก ผึ้ง เมื่อใดที่แม่เป้งเห็นสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมในการสร้างรังและวางไข่ มันก็จะทิ้งรังเดิมไปสร้างรังและวางไข่ที่อื่นตามต้นไม้ที่มีใบดก เขียวชอุ่ม หนา ทึบ ปลอดภัย มีอาหารและน้ำสมบูรณ์
- มดแดง จะไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่ามดแดงตัวใดเป็นมดงาน มดพยาบาล หรือมดทหารเหมือนกับปลวก เพราะมดตัวผู้นั้นสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ทั้ง 3 กรณี คือ เป็นมดงานทำหน้าที่สร้างรังมด มดพยาบาลทำหน้าที่เลี้ยงตัวอ่อน และมดทหารทำหน้าที่ต่อสู้ขัดขวางผู้บุกรุกที่จะทำอันตรายแก่รังของมัน
การกำเนิดประชากรของมดแดง เริ่มจากแม่เป้งจะออกไข่ไว้ในรังที่ตัวมันสร้างเพียงตัวเดียวก่อน โดยจำนวนไข่จะมีไม่มาก ประมาณ 100-500 ฟอง ในจำนวนไข่ทั้งหมดจะมีอยู่ 3 ลักษณะ ได้แก่
- ไข่มาก คือไข่ที่มีขนาดใหญ่ผิดธรรมดา โดยจะฟักออกมาเป็นแม่เป้งมดแดง
- ไข่ฝาก คือไข่ที่มีขนาดเล็ก ไม่โต ไม่เต่งเหมือนไข่มาก โดยจะฟักตัวออกมาเป็นตัวมดแดงธรรมดา เมื่อไข่ทั้งหมดกลายเป็นตัวอ่อนและเติบโตขึ้นก็กลายเป็นประชากรมดแดงที่มีจำนวนมาก และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีแม่เป้งเพิ่มขึ้นหลายตัว ทั้งนี้ต้องมีปัจจัยด้านอาหารและน้ำสมบูรณ์ด้วย
- ไข่มดดำ คือไข่ที่มีขนาดเล็กอกสีดำ เมื่อฟักออกเป็นตัวจะกลายเป็นมดดำมีปีกแล้วบินหนีไปในที่สุด
การดำรงชีวิตในรังของมดแดง
การสร้างรังมดแดงทุกตัวนั้นจะมีเส้นใยพิเศษที่ได้จากน้ำลายและกรดมดจากท้องของมัน ลักษณะของใยสีขาวเมื่อแห้งแล้วจะอ่อนนุ่มและเหนียวคล้ายสำลี โดยมดแดงจะดึงใบไม้มายึดติดกันโดยใช้ใยนี้เอง ซึ่งส่วนมากจะสร้างรังเป็นรูปทรงกลม สามารถป้องกันน้ำฝนได้
- แม่เป้ง จะออกไข่ให้มดแดงเลี้ยงดูจนกระทั่งฟักออกเป็นตัว ตัวอ่อนจะได้รับการป้อนอาหารและน้ำตลอดเวลา ซึ่งถ้าได้รับอาหารอย่างเพียงพอก็จะสามารถเจริญเติบโตเป็นมดแดงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 5-10 วัน
- มดแดง มักจะสร้างรังอย่างหนาแน่นอยู่บนต้นไม้ที่มีใบดกถาวร ไม่ผลัดใบง่าย และอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากมดต้องการน้ำมากเพราะต้องนำมาใช้ในการสร้างกรดมดบรรจุไว้ส่วนท้องเพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิต
- ต้นไม้ที่มดแดงชอบสร้างรัง อาทิ ต้นมะม่วง ต้นสะเดา ต้นจิก ต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นกระบาก และต้นขี้เหล็ก หากเลือกต้นมะม่วงก็จะเหมาะมาก เพราะมีใบขนาดใหญ่และเหลืองช้า หากเลือกต้นไม้ที่ผลัดใบง่าย เมื่อใบเหลืองมดแดงจะทิ้งรังทันที หากมีศัตรูที่กำลังจะเข้ามาบุกรุกรังหรือมีอาหาร มดแดงจะส่งสัญญาณให้พวกเดียวกันรู้อย่างรวดเร็ว สำหรับวิธีการรักษาอาหารไม่ให้เหม็นเน่าของมดก็คือการฉี่รดบนอาหาร เพราะฉี่ของมดแดงมีกรดน้ำส้มที่ช่วยรักษาสภาพของอาหารไม่ให้เหม็นเน่าเปื่อยได้
วงจรชีวิตของมดแดง
มดแดงมีวงจรชีวิตด้วยกัน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ ระยะตัวหนอน และระยะดักแด้
- ระยะไข่ แม่เป้ง หรือนางพญา จะวางไข่สีขาวขุ่นเป็นกลุ่มประมาณ 100 – 500 ฟองไว้ในรังที่มันสร้างเพียงผู้เดียวก่อน โดยใช้วิธีการพับใบไม้เพียงใบเดียว ซึ่งใบไม้ที่แม่เป้งชอบไปทำรัง และวางไข่ ได้แก่ ใบข่า ใบม้วนหมูใบยอ ใบมะพร้าว เป็นต้น ไข่มีด้วยกัน 3 ลักษณะ ได้แก่
(1) ไข่มาก เป็นไข่ขนาดใหญ่กว่าไข่ทั่วไป ฟังออกมาเป็นแม่เป้ง
(2) ไข่ฝาก เป็นขนาดรองลงมา ไม่เต่งเหมือนไข่มาก จะฟักออกมาเป็นมดแดง เมื่อไข่ทั้งหมดกลายเป็นตัวอ่อน และเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นมดแดงจำนวนมากในรัง และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีแม่เป้งเพิ่มขึ้นหลายตัว
(3) ไข่มดดำ เป็นไข่ที่มีขนาดเล็กอกสีดำ เมื่อฟักออกมาก็จะเป็นมดดำมีปีก บินหนีออกไปจากรังในที่สุด
- ระยะตัวหนอน ตัวหนอนของไข่มดแดง มีสีขาวขุ่น ไม่มีขา หัวแหลมท้ายป้าน หรือที่เราเรียกกันว่า “ไข่มดแดง” โดยตัวหนอนของมดแดงที่เป็นมดงาน และมดตัวผู้นั้นจะมีขนาดเล็กกว่าตัวหนอนของแม่เป้ง หรือแม่รัง และใน 1 ปี จะมีตัวหนอนแม่เป้งแค่ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน
- ระยะดักแด้ มีสีขาวขุ่น และเริ่มมีขายื่นออกมาจากลำตัว ซึ่งตัวเต็มวัยของมดแดงจะมี 2 วรรณะ ได้แก่
(1) วรรณะสืบพันธ์ ประกอบด้วย 1.) มดแม่รังแม่เป้ง และนางพญา ลักษณะลำตัวสีเขียวปนน้ำตาล มีหน้าที่วางไข่ และ 2.) มดแดงเพศผู้ ปีกเป็นสีนวลใส ลำตัวเล็กลงมา เมื่อผสมพันธุ์กับเพศเมียก็จะตายลง
(2) วรรณะมดงาน เป็นตัวเมียที่เป็นหมัน ไม่มีปีก ลำตัวสีส้มปนแดง มีด้วยกัน 2 ขนาด คือมดแดงขนาดใหญ่ ทำหน้าที่สร้างรัง หาอาหาร และปกป้องศัตรู ส่วนมดงานตัวเล็ก จะรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลตัวอ่อนภายในรัง
การสร้างรังของมดแดง
ขั้นตอนการสร้างรังของมดแดง เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างตัวอ่อนกับตัวเต็มวัย ซึ่งก็คือมดงานนั่นเอง โดยปกติแล้วการสร้างรังถือเป็นความรับผิดชอบหลักของมดงานเท่านั้น และการสร้างรังของมดแดง มีขั้นตอนอยู่ดังนี้
- ขั้นตอนแรก
เริ่มต้นโดยมดงานแต่ละตัวจะพยายามช่วยกันดึงขอบใบไม้ให้เข้าหากันมากที่สุด หรือซ้อน ๆ กัน ในกรณีที่ใบอยู่ใกล้ ๆ กันจะใช้กรามหรือเขี้ยวยึดที่ขอบใบ ๆ หนึ่งไว้ และจะใช้ขาในการดึงขอบอีกใบให้เข้ามาหา แต่ถ้าหากใบไม้แต่ละใบอยู่ห่างกันก็จะใช้วิธีการต่อตัวกันเป็นลูกโซ่ โดยมดตัวแรกสุดนั้นจะใช้กรามหรือเขี้ยวคาบขอบใบไว้ และมดตัวต่อไปจะใช้กรามคาบเอวมด
- ขั้นตอนที่สอง
มดงานตัวอื่น ๆ จะทำการขนหนอนระยะเกือบสุดท้าย โดยจะใช้กรามคาบที่กลางลำตัวของตัวหนอน จากนั้นจะเอาส่วนหัวยื่นไปข้างหน้าใกล้กับขอบใบ และมดงานที่คาบตัวหนอนนั้นก็จะส่ายไปมาตามขอบใบทั้งสองใบ ในขณะเดียวกันตัวหนอนก็จะขับถ่ายเส้นใยที่ผลิตขึ้นในบริเวณส่วนหัวเพื่อยึดใบทั้งสองไว้ด้วยกัน สำหรับการสร้างรังหนึ่ง ๆ จะใช้ตัวหนอนมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของรัง โดยต้นไม้ที่มดแดงมักจะสร้างรัง ได้แก่ ต้นส้ม ต้นก้านพลู และต้นมะม่วง เป็นต้น ซึ่งขนาดของรังนั้นก็จะมีตั้งแต่ 0.3-0.5 เมตร นางสาวทิพากร ภูสาคร นักวิชาการป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ และ รศ.เดชา วิวัฒน์วิทยา ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งานวิจัยดังกล่าวนั้นได้ระบุว่าการศึกษาโครงสร้างและองค์ประกอบของรังมดแดงในประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างรังเทียมเก็บข้อมูลของรัง เพื่อที่จะได้พัฒนาไปสู่การเลี้ยงมดแดงในระบบปิดไม่ใช้ต้น รวมทั้งส่งเสริมให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรได้เพาะเลี้ยงมดแดงเป็นอาชีพเสริมได้ เนื่องจากในปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งแมลงกินได้ก็นับเป็นอีกเป้าหมายหนึ่ง และมดแดงนั้นก็จัดเป็นแมลงประเภทกินได้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไข่มดแดงที่ขายได้ราคา มีคุณค่าทางอาหารสูง อีกทั้งมดแดงยังมีศักยภาพในการควบคุมแมลงศัตรูพืชมากกว่า 50 ชนิดในสวนผลไม้อีกด้วย รังของมดแดงจะมี 5 แบบ คือ รูปรี รูปเรียวยาว ทรงกลม ครึ่งวงกลม และหยดน้ำ โดยทรงที่เจอมากที่สุดนั้นจะเป็นรังทรงกลม รองลงมาคือรังแบบเรียวยาว ซึ่งภายในรังของมดนั้นจะมีลักษณะเป็นท้อง ๆ ขนาดต่าง ๆ เชื่อมต่อกันด้วยช่องว่างขนาดเล็ก ในรังมดแดงจะแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ แต่จะไม่มีห้องสำหรับมดราชินี เนื่องจากมดราชินีมีรังสำหรับอาศัยโดยเฉพาะอยู่แล้ว โดยใบไม้ที่ถูกดึงมาประกอบกันเป็นรังที่เชื่อมต่อโดยเส้นใยจากตัวหนอนและใบไม้จะทำหน้าที่เหมือนผนังห้อง ซึ่งรูปแบบของห้องแต่ละรังจะขึ้นอยู่กับรูปร่างและลักษณะของใบไม้แต่ละชนิด ภายในรังสามารถพบมดแดงได้ทุกวรรณะยกเว้นมดราชินี และสามารถพบตัวอ่อนได้ทุกระยะของการเจริญเติบโตด้วย แต่การอาศัยอยู่ในห้องภายในรังนั้นจะมีการแบ่งขนาดของตัวอ่อนอย่างชัดเจน คือตรงกลางจะเป็นห้องสำหรับไข่หนอนระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ถัดมาก็จะเป็นห้องของมดที่มีร่างกายใหญ่ขึ้น หรือหนอนในระยะที่ 3 ที่ 4 และดักแด้ ถัดมาอีกก็จะเป็นที่อยู่ของมดสีส้มและสีส้มเข้ม รวมทั้งวรรณะสืบพันธุ์ และมดงานเกิดใหม่ที่ร่างกายยังไม่แข็งแรง และสุดท้ายคือห้องที่ติดผนังรัง ซึ่งจะเป็นที่อยู่อาศัยของมดงานและวรรณะสืบพันธุ์ที่เจริญเติบโตเต็มที่และพร้อมที่จะออกจากรังเพื่อไปผสมพันธุ์และสร้างอาณาจักรใหม่
วิธีการเลี้ยงมดแดง
การเตรียมพื้นที่สำหรับเลี้ยงมดแดง
สำหรับสภาพพื้นที่ในการเลี้ยงมดแดงควรเป็นที่ราบและเปิดโล่ง มีต้นไม้ขนาดเหมาะสมอย่างน้อย 5-10 ต้น เป็นไม้ผลหรือไม้พื้นเมืองก็ได้ ความสูงไม่เกิน 6 เมตร เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบและเรือนยอดที่ไม่เบียดชิดหรือร่มทึบมากเกินไปจนแสงแดดไม่สามารถส่องถึงพื้นที่ได้ เช่น มะม่วง ชมพู่ หว้า เงาะ ลองกอง ลำไย เป็นต้น ที่สำคัญควรมีแหล่งน้ำหรืออยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำ และทำการกำจัดศัตรูมดแดงอย่างปลวกและมดดำบริเวณต้นไม้ เพื่อทำลายทางเดินของปลวกที่หุ้มลำต้น โดยใช้สารเสริมในการกำจัด เช่น เชฟริน 80% โรยรอบ ๆ ต้นไม้ก่อนเลี้ยงประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรืออาจจะใช้สารที่สกัดจากสะเดา และทิ้งไว้ระยะหนึ่ง มดดำที่มีอยู่จะหนีหมด จากนั้นจึงปล่อยให้มดแดงทำรัง นอกจากนี้ก็ควรสร้างความเข้มแข็งให้กับอาณาจักรมดและขยายรังให้เต็มพื้นที่ด้วย
การนำมดแดงมาปล่อย
สำหรับการนำมดแดงมาปล่อยเลี้ยงสามารถเสาะหามดแดงที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ในป่าใกล้บ้านหรือแหล่งที่มีตามธรรมชาติ โดยให้ยึดขนาดของรังมดเป็นหลักและต้องแน่ใจด้วยว่ามีมดราชินีอยู่ด้วย โดยธรรมชาติของมดแดงที่มาจากครอบครัวหรืออาณาจักรเดียวกันนั้นจะไม่กัดกัน ซึ่งทำให้เรารู้ว่ามดแดงหนึ่งอาณาจักรประกอบไปด้วยกี่รังหรือมีการใช้พื้นที่กว้างเพียงใด สามารถทำได้โดยการนำมดจากรังภายในต้นไม้เดียวกัน โดยเอามารังละ 10-20 ตัว จากนั้นนำมาปล่อยในรังใดรังหนึ่งของอีกต้นหนึ่ง และเฝ้าดูว่ามดเหล่านี้กัดกันหรือไม่แล้วบันทึกผล จากนั้นนำมดแดงจากรังที่อยู่ต้นอื่นและห่างไกลกันออกไปมาไว้ในรังใดรังหนึ่ง และเฝ้าดูว่ามดแดงจะกัดกันหรือไม่ หากมดแดงกัดกันแสดงว่าเป็นมดแดงคนละอาณาจักร หากไม่กัดกันก็แสดงว่าเป็นมดแดงที่อยู่ในอาณาจักรเดียวกัน และทำการตรวจนับจำนวนรังมดแดง ในอาณาจักรมดแดงหนึ่งจะประกอบไปด้วยจำนวนรังกี่รัง ซึ่งใน 1 อาณาจักรนั้นควรจะมีรังมดแดง 5 รังขึ้นไป ตามธรรมชาติมดแดงมักจะสร้างรังเล็ก ๆ ในช่วงฤดูฝนมดแดงจะสร้างรังขนาดเล็กอยู่ค่อนข้างต่ำ เมื่อพบรังมดแดงดังกล่าวก็ให้ใช้กรรไกรตัดกิ่ง และตัดรังมดแดงบรรจุลงถุง หรือกระสอบปุ๋ยมัดปากให้แน่นเพื่อไม่ให้มดแดงไต่ออกไปได้ จากนั้นนำไปเปิดปากถุงที่โคนไม้ที่เตรียมไว้ มดแดงจะไต่ขึ้นไปอาศัยบนต้นไม้และเตรียมทำรังต่อไป สำหรับมดแดงรังใหญ่นั้นมักจะอยู่ในที่สูง วิธีการนำรังมดแดงลงมาจากต้นไม้จึงค่อนข้างลำบากพอสมควร ดังนั้นควรจะใช้วิธีแหย่ให้ได้มดแดงมาปล่อยเลี้ยงตามที่ต้องการ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องแน่ใจว่ามีมดราชินีอยู่ด้วย
ข้อควรระวังในเรื่องศัตรูของมดแดง
ต้องบอกว่ามดดำทุกชนิดเป็นศัตรูโดยตรงของมดแดง ซึ่งถ้าหากมดฝ่ายใดพลัดหลงเข้าไปในกลุ่มของฝ่ายตรงข้ามก็จะถูกรุมกัดจนตายในที่สุด โดยมดดำนั้นจะเก่งกล้ากว่ามดแดงมาก โดยเฉลี่ยแล้วมดดำตัวเดียวสามารถทำลายมดแดงได้ถึง 10 ตัว และยังมีมดแดงอีกชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่ามดไฮ บางท้องถิ่นจะเรียกว่ามดเอือด ซึ่งเป็นมดขนาดเล็กที่มีลำตัวยาวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร นับเป็นศัตรูที่ร้ายแรงที่สุดของมดแดง เนื่องจากมดชนิดนี้มีเยี่ยวที่มีกลิ่นฉุนรุนแรงมาก ซึ่งถ้าหากมดแดงได้รับกลิ่นและสัมผัสกับเยี่ยวของมันก็จะส่งผลให้ตายในทันที คล้ายกับว่าได้รับแก๊สมลพิษ โดยมดไฮ 1 ตัว สามารถทำลายมดแดงได้มากถึง 20 ตัวเลยทีเดียว นอกจากนี้การเลี้ยงมดแดงก็ยังมีข้อห้ามที่ควรทำ คือ อย่าจุดไฟใต้ต้นไม้ หรือใช้ขี้เถ้าหว่านบนต้นไม้ และไม่ควรใช้สารเคมีฉีดพ่นบริเวณใกล้เคียงที่เป็นแหล่งมดแดง
การทำอุปกรณ์ให้อาหารและน้ำแก่มดแดง
สำหรับวิธีทำก็คือใช้ไม้กระดานขนาดประมาณ 16×21 นิ้ว นำมาทำเป็นแท่นให้อาหาร โดยตอกเป็นแป้นวางสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร เพื่อป้องกันศัตรู โดยการให้อาหารนั้นเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ในช่วงแรกต้องให้ในปริมาณมากและค่อนข้างถี่ เพื่อช่วยเร่งให้มดงานสร้างรังขนาดใหญ่ ๆ และควรให้น้ำตาลเพื่อที่จะเป็นแหล่งพลังงานให้แก่มดงานด้วย สำหรับภาชนะที่ใส่น้ำให้มดแดงกินสามารถใช้ขวดพลาสติกตัดครึ่ง จากนั้นใช้ตะปูตอกไว้กับต้นไม้หรือวางไว้บนแป้นอาหารก็ได้ และใส่ไม้ลงไปให้มดแดงไต่ไปกินน้ำ สำหรับการทำสะพานให้มดเดินกรณีที่ต้นไม้ที่เลี้ยงมีหลายกิ่งให้ใช้เชือกมัดโยงจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง ส่วนอาหารสามารถให้เป็นพวกเศษเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปลาแห้ง จิ้งจก ตุ๊กแก งูที่ตายแล้วนำไปตากจนแห้ง แมลงทุกชนิด หอยเชอรี่ หรือหอยชนิดต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน โดยมดแดงจะคาบอาหารเหล่านี้ไปสะสมไว้ในรัง ถ้าเกิดว่าเป็นอาหารชิ้นใหญ่ที่ไม่สามารถจะคาบหรือลากไปเก็บไว้ในรังได้ มดแดงจะช่วยกันกัดและเยี่ยวราดเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เน่าเหม็นและรอจนกว่าอาหารนั้นแห้ง จึงจะค่อยกัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นนำเอาไปเก็บไว้ในรังเพื่อป้อนตัวอ่อนและนำไปเป็นอาหาร
เทคนิคการเลี้ยงมดให้ออกไข่
รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ได้กล่าวว่าจากการสังเกตจะพบว่าในฤดูฝนนั้นมดแดงจะไม่ชอบเดินทางออกจากต้นไม้ที่มันสร้างรังอยู่ เนื่องจากพื้นดินอยู่ในสภาพเปียกแฉะ จึงส่งผลให้มดแดงหาอาหารได้ไม่เพียงพอ แต่ถ้าหากเราจัดหาที่ให้อาหารและน้ำไว้บริเวณที่มดแดงอาศัยอยู่แล้วก็จะทำให้มดแดงไข่ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงมดแดง โดยปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงมดแดงที่เป็นวรรณะสืบพันธุ์ในการผลิตไข่คือความชื้น หากปีใดฝนหยุดเร็ว อากาศแห้งแล้งมาเร็วก็จะผลิตไข่ได้เร็วขึ้น เช่น ถ้าฝนหยุดตกเดือนกันยายน ประมาณเดือนมกราคมก็จะได้ไข่ หากฝนหยุดตกในเดือนพฤศจิกายนก็จะได้ไข่เดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้น โดยรวมระยะเวลาในการเลี้ยงจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 เดือน ผู้เลี้ยงมดควรสังเกตหากฝนไม่ตกให้ทำการฉีดน้ำใส่ใบ หรือฉีดใส่ต้นไม้ในช่วงเย็น ๆ เดือนละ 1-2 ครั้ง ในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนมดแดงก็จะเพิ่มจำนวนได้มากขึ้น หรือทำการติดสปริงเกอร์ตลอดแนวราวเลี้ยงมดแดง เพื่อฉีดน้ำในช่วงที่ฝนไม่ตกหรือฤดูร้อนเพื่อหลอกว่าเป็นช่วงฤดูฝน ในช่วงเดือนมีนาคมก็เริ่มให้น้ำโดยการใช้น้ำฉีดจากสายยางหรือสปริงเกอร์ที่ติดตั้งไว้ และให้อาหารตามปกติ เวลาผ่านไปประมาณ 1 เดือน ก็จะเริ่มมีไข่สามารถเก็บไปจำหน่ายได้
วิธีการสังเกตรังไข่มดแดง
สำหรับวิธีการสังเกตว่าไข่มดแดงรังไหนสามารถเก็บได้ให้ดูจากรังว่ามีขนาดใหญ่หรือไม่ หรืออีกหนึ่งวิธีการสังเกตก็คือให้ดูว่ารังมดแดงนั้นเป็นฝ้าหรือไม่ หากเป็นฝ้าสีขาวขึ้นตามขอบรังก็แสดงว่าสามารถเก็บมดแดงได้แล้ว
การแหย่และแยกไข่มดแดง
สำหรับการแหย่ไข่มดแดงนั้นให้ใช้ตระกร้าผูกติดปลายไม้ไผ่ แหย่เข้าไปในรังแล้วเขย่า มดแดงและไข่จะร่วงลงไปในตระกร้า ส่วนการแยกไข่มดแดงนั้นให้นำตะกร้ามดแดงพร้อมไข่เทลงในกระด้ง จากนั้นนำแป้งมันสำปะหลังมาโรยและเกลี่ยให้กระจาย มดแดงจะทิ้งไข่และไต่ออกจากกระด้ง จะเหลือเพียงแค่ไข่เท่านั้นที่อยู่ในกระด้ง โดยในระหว่างที่ทำนั้นควรนำกระจาดหรือกระด้งวางชิดกับโคนต้นที่ต้องการเลี้ยงมดแดงด้วย เพราะมดแดงจะขึ้นไปอาศัยอยู่บนต้นไม้และเตรียมสร้างรังต่อไป และควรปล่อยแม่มดแดง (แม่เป้ง) ให้หมด ไม่ควรนำมาคั่วกินเพราะจะทำให้มดแดงอพยพไปอยู่ที่อื่นหมด โดยการเก็บไข่มดแดงส่วนใหญ่นั้นจะใช้เวลา 10-15 วันต่อครั้ง จึงจะสามารถกลับมาเก็บได้อีก ซึ่งผลผลิตที่ได้ก็คือตัวหนอนและดักแด้ ชาวบ้านจะเรียกรวม ๆ ว่าไข่มดแดง เรามักจะพบเห็นตามท้องตลาดเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูร้อน และจะมีเพียงช่วงเดียวเท่านั้น
ประโยชน์ของมดแดง
- สามารถนำมาเป็นอาหารที่ได้จากไข่และตัวมดแดง ซึ่งวรรณะที่ใช้บริโภค ได้แก่ ตัวอ่อน (ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นไข่) ดักแด้ และตัวเต็มวัย (มดงานและแม่เป้ง) โดยทั่วไปตัวมดแดงมีกรดมดที่ให้รสเปรี้ยว ซึ่งสามารถใช้แทนมะนาวหรือน้ำส้มสายชูได้ รายการอาหารที่ได้จากมดแดงและไข่มดแดง ได้แก่ ยำไข่มดแดง แกงขี้เหล็กใส่ไข่มดแดง ต้มยำปลาช่อนไข่มดแดง ก้อยไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง ไข่ทอดยัดไส้ไข่มดแดง เป็นต้น
- สามารถนำตัวมดแดงมาใช้เป็นยาสูดดมแก้เป็นลม แก้หวัด หน้ามืด ตาลาย และวิงเวียนศีรษะ
- แก้อาการท้องร่วงได้ โดยนำเนื้อไก่พื้นบ้านแหย่เข้าไปในรังมดแดง เมื่อมดแดงกัดเนื้อไก่ได้ปริมาณมากแล้วให้ดึงออกมาและใช้มือขยำ จากนั้นนำไปย่างไฟให้สุก ทานขณะที่ยังร้อนจะช่วยบรรเทาอาการท้องร่วงให้หายได้
- แก้อาการท้องผูกได้ โดยการนำมดแดงมาต้ม ใส่น้ำสะอาด 1-2 ถ้วย พอเดือดแล้วยกลง แต่งรสด้วยเกลืออย่างพอเหมาะ จากนั้นนำมากรองด้วยผ้าขาวบาง เสร็จแล้วนำมาดื่มเพื่อบรรเทาอาการท้องผูก
- แก้โรควูบได้ โดยการนำรังมดแดงร้างที่เกิดจากต้นคูนมาใส่หม้อนึ่ง ต้มให้เดือดแล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะอังกับไอน้ำเดือด เสร็จแล้วนำมาสูดเอาไอร้อน ทำเป็นประจำ ใครที่เป็นโรควูบอาการจะดีขึ้นและหายไปในที่สุด
- ใช้ลบรอยไฝหรือขี้แมลงวัน โดยใช้ตัวมดแดงกัดตรงไฝและเยี่ยวใส่ ถ้าเป็นไฝเม็ดโตให้มดแดงหลายตัวกัดพร้อมกัน ซึ่งไฝจะบวมและเปื่อยจนละลายหลุดออกด้วยฤทธิ์ของกรดมดแดง เมื่อแผลหายจะไม่ปรากฏเม็ดไฝอีก จะมีเพียงแค่รอยแผลเป็นเล็กน้อยเท่านั้น
- สามารถนำมาใช้กำจัดศัตรูพืชสำหรับไม้ยืนต้นต่าง ๆ หรือสวนไม้ผล เช่น บวบ ถั่วฝักยาว แตงร้าน ต้นมะม่วง เป็นต้น ซึ่งถ้ามีมดแดงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากจะไม่มีพวกเพลี้ย หนอนและแมลงอื่น ๆ มารบกวน ส่งผลให้ไม้ผลที่ปลูกนั้นติดลูกดก
- สามารถเลี้ยงมดแดงเพื่อนำไปประกอบเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม ซึ่งก่อให้เกิดรายได้
- ให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้ที่เลี้ยงมดแดงทุกคน ไม่เคร่งเครียด มดแดงจะช่วยผ่อนคลาย ทำให้เกิดคุณธรรมที่ได้จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการดำรงชีวิตของมดแดงอยู่เสมอ โดยมดแดงนั้นจะให้ข้อคิดคติและสัจธรรมแก่ผู้เลี้ยงมากมายหลายประการ ซึ่งผู้เลี้ยงมดแดงทุกคนสามารถสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้จากการเลี้ยงดูและได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของมดแดงนั่นเอง
แหล่งที่มา
พนม เกิดแสง, การเลี้ยงมดแดงในสวนมะม่วง
ปิยดา ปัญญาศรี วิทยาลัยชุมชนยโสธร, การเลี้ยงมดแดงเพื่อขายไข่
กันต์ณิชตรา นาคประสิทธิ์, สํานักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น, วิธีการเลี้ยงมดแดง
องค์การบริหารส่วนตำบลโชกเหนือ อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์, ไข่มดแดง ประโยชน์ของไข่มดแดง ก้อยไข่มดแดง คุณค่าทางโภชนาการของไข่มดแดง