หอยขม ตอบโจทย์รายได้หลักในยุคสมัยใหม่ของชาวเกษตรกร

ในปัจจุบันชาวเกษตรกร นอกจากจะมีการปลูกพืชผักแล้วก็ยังมีการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย ซึ่งในการเลี้ยงสัตว์นั้นมีให้เลือกด้วยกันหลายปัจจัย เช่น ชนิดของสัตว์ พื้นที่สำหรับในการเลี้ยงสัตว์ว่ามีพื้นที่เพียงพอสำหรับสัตว์ใหญ่หรือไม่ หรือถ้าหากไม่มีพื้นที่ที่เพียงพอก็จะต้องเลือกสัตว์ขนาดเล็กที่ใช้พื้นที่น้อยและงบประมาณในการเลี้ยงสัตว์ ในการคิดงบประมาณนั้นจะต้องคำนึงผลได้ผลเสียถึงระยะเวลาและผลผลิตที่ได้มา ซึ่งทุกวันนี้สัตว์ที่น่าสนใจมากๆ เช่น สัตว์จำพวกหอย เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของในหลายๆประเทศ นอกเหนือจากการนำสินค้าที่มีค่ามีราคาในลักษณะที่เป็นเนื้อหอยก็ยังรวมไปถึงเปลือกหอยแล้ว ในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงหอยเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์ก็ยังคงมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องอีกด้วย แต่ก็มีหอยชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด ตามแม่น้ำลำคลองต่างๆที่มีกระแสน้ำค่อนข้างนิ่งไม่ลึกมากนัก หากินอยู่ตามพื้นดินที่มีเศษซากของต้นไม้ผุที่จมลงในน้ำ ออกลูกเป็นตัว สามารถเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ได้ในฤดูกาล หอยชนิดนี้ก็คือ “หอยขม” ซึ่งมีผู้ที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ซึ่งในการเลี้ยงหอยขมนั้นจะมีหลายปัจจัยด้วย แต่เราก็ควรศึกษาให้ดีก่อนจะเลี้ยง เนื่องจากอาจจะเป็นการดักปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการเลี้ยงหอยขม ทำให้เกิดการเสียต้นทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องมองปัจจัยอื่นๆอีก เช่น ศัตรูของหอยขมในแหล่งน้ำจะเป็นปลากินเนื้อต่างๆ อาทิ ปลาไน ปลาดุก ปลาไหล ตะพาบน้ำ เป็นต้น แต่หากหอยขมฝักตัวในดินโคลนที่มีน้ำแห้งนั้นจะมีศัตรูสำคัญที่เป็นนักล่าต่างๆ อาทิ เป็ด ไก่ หนูนา รวมถึงมนุษย์ด้วย

เลี้ยงหอยขม
www.farmky.com

ลักษณะทั่วไปของหอยขม

หอยขมเป็นหอยฝาเดียว อาศัยในน้ำจืด จะมีขนาดเล็ก มีเปลือกเป็นเกลียวกลมยอดแหลม เปลือกหนาและแข็งมาก บริเวณผิวชั้นนอกของหอยขมเป็นสีเขียวแก่ ฝาปิดเปลือกจะเป็นแผ่นกลม ตีนใหญ่ จะงอยปากจะสั้นทู่ ตาของหอยขมมีสีดำอยู่บริเวณตรงกลางระหว่างโคนหนวด ในส่วนของหอยขมตัวผู้นั้นมีหนวดเส้นข้างขวาพองโตกว่าเส้นข้างซ้าย เป็นลักษณะพิเศษของหอยขมเลยก็ว่าได้ หอยขมจะมีอวัยวะเพศที่พิเศษ เนื่องจากมีอวัยวะเพศทั้งผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน หอยขมจะเป็นหอยที่ออกลูกเป็นตัว และผสมพันธุ์ได้ด้วยตัวของมันเอง ในระบบการย่อยอาหารหรือทางเดินอาหารของหอยขมแบ่งเป็น 3 ส่วน หลอดอาหารส่วนต้น หลอดอาหารส่วนกลาง และหลอดอาหารส่วนท้าย ซึ่งทางเดินอาหารจะบิดขดเป็นเกลียว บริเวณของหลอดอาหารส่วนต้นนั้น จะเริ่มต้นตั้งแต่จะงอยปาก ช่องปาด และหลอดกระเพาะอาหาร โดยที่จะงอยปากจะมีลักษณะเป็นกล้ามเนื้อที่มีหูรูด ส่วนบริเวณช่องปากนั้นตะมีฟันเป็นแผ่นๆคล้ายกระดูกอ่อน เป็นซี่เล็กๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นฟันในการบดเคี้ยวอาหาร ต่อไปก่อนถึงหลอดกระเพาะอาหารจะมีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อคล้ายลิ้นที่ทำหน้าที่กั้น และกวาดอาหารให้ออกหรือเข้าภายในประเพาะอาหาร ส่วนหลอดกระเพราะอาหารเป็นสำหรับเป็นที่พักของอาหารที่ผ่านการบดเคี้ยวมาแล้ว มีลักษณะคล้ายกระเปราะ ส่วนถัดไปจะเป็นลำไส้ ซึ่งจัดเป็นทวารหนัก ซึ่งจะมีขนาดใหญ่มีมากกว่าส่วนอื่นๆ อวัยวะส่วนที่สำคัญเช่นกันคือ หัวใจของหอยขมจะอยู่บริเวณข้างถุงปอด และไต โดยหัวใจจะมีเส้นเลือดใหญ่ และเส้นเลือดฝอยที่คอยส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ระบบหายใจของหอยขมจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นแผงเหงือกที่มีลักษณะคล้ายใบไม้ขนาดเล็กอยู่บริเวณช่องรอบหัวใจ ส่วนอวัยวะอีกอันที่ใช้หายใจ คือ เยื่อบางๆบริเวณแมนเติลที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากมาย และมีถุงเล็กๆที่ทำหน้าที่แทนปอดได้ ส่วนของระบบประสาทของหอยขม จะประกอบด้วยเส้นประสาทจำนวนทั้งหมด 6 คู่ ที่แตกแขนงไปทั่วส่วนต่างๆของร่างกายหอยขม ซึ่งอวัยวะที่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ ได้แก่ แผ่นเท้า หนวด จะงอยปาก และลูกตา

เมื่ออายุครบ 60 วัน หรือประมาณ 2 เดือน หอยขมออกลูกเป็นตัวครั้งละประมาณ 40-50 ตัว ลูกหอยขมที่ออกมาใหม่ๆมีวุ้นหุ้มอยู่ แม่หอยขมจะใช้หนวดแทงวุ้นจนแตก เพื่อให้ลูกหอยหลุดออกจากวุ้น ลูกหอยขมสามารถเคลื่อนไหวได้ทันที เมื่อออกจากตัวแม่ จะพบเห็นชุกชุมอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม หอยขมชอบอาศัยในแหล่งน้ำจืด เช่น คูน้ำ คลอง หนอง บึง ที่น้ำไหลอย่างแรงและเป็นน้ำนิ่ง มีระดับความลึกตั้งแต่ 10 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร มักเกาะอยู่กับพันธุ์ไม้น้ำ เสาหลัก ตอไม้ หรือตามพื้น กินอาหารพวกสาหร่าย และอินทรีย์สาร ใบไม้ ใบหญ้าเปื่อยในน้ำ รวมทั้งซากอินทรีย์ที่เน่าเปื่อย และผงตะกอนที่จมอยู่ตามผิวดิน หอยขมเป็นสัตว์ที่ให้คุณค่าทางอาหาร ซึ่งหอยขมมีโปรตีน 12 เปอร์เซ็นต์ (12%) คาร์โบไฮเดรต 4 เปอร์เซ็นต์ (4%) ไขมัน 2 เปอร์เซ็นต์ (2%) และความชื้น 78 เปอร์เซ็นต์ (78%) จึงเหมาะสำหรับนำประกอบกับอาหาร แต่ก่อนจะสามารถรับประทาน ควรทำให้หอยขมสุกเต็มที่ เนื่องจากหอยขมจะมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ในลำไส้ เมื่อเข้าสู่คนแล้วสามารถเจริญเติบโตในคนได้

หอยขมมีหลายชื่อและหลายลักษณะด้วยกัน เช่น
-หอยขม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Filopaludina martensi munensis แหล่งที่พบครั้งแรกที่ในประเทศไทย จังหวัดสุรินทร์ ที่แม่น้ำมูล แต่เมื่อพบและรู้จักกับหอยขม ก็สามารถพบได้ในทั่วทุกมุมของประเทศไทย ที่เป็นแหล่งแม่น้ำที่เป็นประเภทของน้ำจืด ซึ่งหอยชนิดนี้สามารถนำมารับประทานได้เป็นอาหาร
-หอยขม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Filopaludina sumatrensis polygramma มีชื่ออื่นๆในท้องถิ่นที่เรียก เช่น หอยขม -หอยขมลาย หอยจูบ หอยทราย หอยหวาย เป็นต้น มีชื่อสามัญที่ว่า River snail แหล่งที่พบที่แรก คือ บริเวณภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย อีกทั้งในภายหลังยังพบในบริเวณอื่นๆอีก คือ ภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ในจังหวัดหาญจนบุรี ลพบุรี อุบลราชธานี นครปฐม ชัยนาท นครศรีธรรมราช สุโขทัยพิษณุโลก กาฬสินธุ์ หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น และรวมไปถึงพังงา แหล่งแม่น้ำที่เป็นประเภทของน้ำจืด

ลักษณะหอยขม
www.greelane.com

การเตรียมสถานที่สำหรับเลี้ยงหอยขม

การเลี้ยงหอยขมในบ่อซีเมนต์

ในการเลี้ยงหอยขม ในบ่อปูนซีเมนต์นั้นเป็นวิธีที่ง่าย และจะต้องมีพื้นที่ในการเลี้ยงหอยขม ในบ่อซีเมนต์จะอยู่ในระดับหนึ่งเลยก็ว่าได้ ซึ่งขั้นตอนไม่ได้ยุ่งยาก หรือขั้นตอนเยอะมากเกินไป โดยขั้นตอนมีดังนี้

  1. นำวงบ่อซีเมนต์ตามขนาดที่ต้องการมาเติมน้ำจนเกือบจะเต็มบ่อซีเมนต์ เพื่อเป็นการทำให้น้ำขังอยู่ภายในบ่อซีเมนต์
  2. นำหยวกกล้วยที่ผ่านการสับมาแล้ว ผสมกับมูลสัตว์ ในการผสมทั้งสองส่วนนี้ เพื่อเป็นการกำจัดกลิ่นและคราบของบ่อซีเมนต์ออกไป
  3. ทิ้งน้ำที่อยู่ในบ่อซีเมนต์ไว้นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะมีตะไคร้น้ำขึ้นที่บริเวณขอบภายในบ่อซีเมนต์ ก็สามารถนำบ่อซีเมนต์ไปใช้ในการเลี้ยงหอยขมได้
เลี้ยงหอยขมในบ่อซีเมนต์
สวนแทนคุณ ณ บุรีรัมย์

การเลี้ยงหอยขมในกระชัง

ในการเลี้ยงหอยขมในกระชังมีด้วยกัน 2 วิธี คือ

  • การเลี้ยงหอยขมในกระชัง โดยใช้กระชังชนิดไนล่อน ที่เป็นตาถี่ทำเป็นรูปกระชัง
    โดยให้กระชังขนาดมีความกว้างประมาณ 3 เมตร มีความสูงประมาณ 6 เมตร และมีความสูงประมาณ 120 เซนติเมตร จากนั้นให้นำกระชังไปผูกในแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งที่มีหอยขม โดยให้กระชังที่มุมล่างและมุมบนของกระชังทั้งสี่ด้านยึดติดกับเสาทั้ง 4 ต้น หรือให้เพิ่มบริเวณตรงกลางให้ความยาวของกระชังอีกด้านละต้น ให้รวมกันได้ทั้งหมด 6 ต้น ให้ขอบบนของกระชังอยู่เหนือจากระดับน้ำประมาณ 20-30 เซนติเมตร พยายามอย่าให้ก้นกระชังติดกับพื้นดิน เนื่องจากจะทำให้ก้นกระชังสามารถจมลงในโคลนได้ เผื่อผูกกระชังเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ใส่ทางมะพร้าวสด ขนาดยาว 1 เมตร ลงไปในกระชัง 2-3 ชิ้น พยายามอย่าให้ทางมะพร้าวซ้อนทับกัน และควรผูกไว้ เพื่อไม่ให้ทางมะพร้าวทับก้นกระชัง อาจทำให้กระชังเกิดการฉีกขาดออกจากกันได้ จากนั้นให้นำหอยขมขนาดใหญ่ หรือขนาดที่โตเต็มไว้สำหรับพร้อมรับประทานได้แล้วลงไปในกระชัง จำนวน 2 กิโลกรัมต่อกระชัง โดยการคัดเลือกหอยขมที่ยังสดใหม่อยู่ ซึ่งสังเกตได้จากการนำหอยขมไปแช่ในน้ำทิ้งไว้ แล้วถ้าหากหอยขมคว่ำตัวติดกับภาชนะ นั่นหมายความว่าหอยขมยังมีชีวิตอยู่ และสดใหม่ หลังจากนั้นเมื่อทำการใส่หอยขมลงในกระชังแล้ว วันที่สองให้ยกทางมะพร้าวขึ้นดูว่าพบหอยขมขนาดเล็กๆเกาะตามทางมะพร้าวหรือไม่ ซึ่งทางมะพร้าวที่แช่อยู่ในน้ำนานๆ จะเน่าเปื่อยผุพัง จึงจะต้องมีการเปลี่ยนทางมะพร้าวใหม่ทุกๆเดือน เดือนละ 2-3 ครั้ง หอยขมที่เลี้ยงในกระชังจะเกาะกินตะไคร้น้ำและซากเน่าเปื่อยอยู่ตามทางมะพร้าว ตลอดจนบริเวณด้านข้างและก้นกระชัง โดยมิให้อาหารเสริมนอกเหนือจากนี้ หลังจาก 2 เดือน จึงจะทยอยคัดเลือกเก็บหอยขมตัวใหญ่ขึ้นมาเพื่อนำมารับประทาน หรือจำหน่าย เพื่อไม่ให้หอยขมอยู่กันหนาแน่นเกินไป จะทำให้หอยขมเจริญเติบโตช้า
  • การเลี้ยงในร่องสวน
    เป็นอีกวิธีที่ใช้กระชังเป็นอุปกรณ์ในการเลี้ยงหอยขม โดยเริ่มแรกจะต้องปล่อยพันธุ์หอยขมขนาดประมาณ 60 ตัวต่อกิโลกรัม จำนวน 2 กิโลกรัม โดยการตัดทางมะพร้าวขนาด 1-2 เมตร ปักลงไปเป็นจุดๆให้ทั่วร่องสวน เมื่อทางมะพร้าวเน่าเปื่อยหรือมีตะไคร้จับ หอยขมจะเข้ามาเกาะและกินตะไคร้น้ำเป็นอาหาร โดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารอื่นๆนอกจากตะไคร้น้ำจากการขังน้ำไว้ วิธีนี้ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างน้อยมาก จากจำนวนที่ปล่อยประมาณ 2 กิโลกรัม ระยะเวลาในการเลี้ยง 6 เดือน แต่ผลผลิตหอยขมที่ได้นั้นจะได้ทั้งหมด 100 กิโลกรัม ถือว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลผลิตสูงมากและใช้เวลาน้อย จึงนิยมใช้วิธีนี้กันเป็นจำนวนมาก
เลี้ยงหอยขมในกระชัง
www4.fisheries.go.th

การเลี้ยงหอยขมเลียนแบบธรรมชาติ (บ่อดิน, ร่องสวน)

อาจารย์ปิยะพัชร์ สถิตปรีชาโรจน์ ครูชำนาญการพิเศษของทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ได้มีการศึกษาการเลี้ยงหอยขมเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งหลักการง่าย ๆ ของการเลี้ยงหอยขม คือ การจัดการสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติของหอยขมมากที่สุด ทั้งความลึกของน้ำ น้ำนิ่ง อยู่ในที่ร่ม มีพื้นที่ยึดเกาะและอาหารที่เพียงพอ ที่สำคัญดูแลน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ จากนั้นก็นำพันธุ์หอยขม ซึ่งอาจรวบรวมจากธรรมชาติหรือหาซื้อตามท้องตลาดทั่วไปก็ได้ นำมาปล่อยในบ่อหรือพื้นที่ที่เตรียมไว้ จากนั้นอาจเสริมด้วยอาหารเช่นรำข้าว เพียงเท่านี้หอยขมก็ให้ผลผลิตและจับจำหน่ายได้ ทั้งนี้การเลี้ยงหอยขมร่วมกับสัตว์อื่นๆที่หรือการเลี้ยงในร่องสวน หรือเลี้ยงหอยขมในบ่อดิน เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยประหยัดต้นทุนการเลี้ยงได้ดี หากเป็นบ่อดิน/ร่องสวนใหม่ มักจะยังไม่มีพ่อแม่พันธุ์หอย ส่วนบ่อ/ร่องสวนที่สูบน้ำจนแห้งแล้ว และไม่มีพ่อแม่พันธุ์ ก็ต้องจำเป็นปล่อยพ่อแม่พันธุ์ใหม่ ซึ่งเมื่อถึงเวลาในการเก็บหอยขมนั้นจะต้องปล่อยหอยขมแล้วเลี้ยงไว้ 3 เดือน ให้เริ่มทยอยเก็บแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ออกก่อน หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน ค่อยทยอยคัดเก็บหอยขมได้ขนาดโตเต็มวัยออก และทยอยเก็บเรื่อยๆในทุกๆ 2-3 เดือน ซึ่งจะเก็บหอยขมได้ตลอดทั้งปี

เลี้ยงหอยขมเลียนแบบธรรมชาติ
www.bansuanporpeang.com

การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หอยขม

พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ของหอยขมที่ใช้เลี้ยงมีอายุตั้งแต่ 3 เดือน ควรเลือกพ่อแม่หอยขมที่มีขนาดใหญ่ หรือโตเต็มวัย ซึ่งสังเกตได้จากน้ำหนักตัวของหอยขมที่จะมีน้ำหนักตั้งแต่ 60-100 ตัวต่อกิโลกรัม หอยขมจะมี 2 เพศ คือทั้งเพศผู้และเพศเมียในตัวเดียวกัน ดังนั้นหอยขมสามารถผสมพันธุ์ได้ด้วยตัวของมันเอง และเมื่อมีอายุครบ 60 วัน จะออกลูกเป็นตัว ครั้งละประมาณ 40-50 ตัว

อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงหอยขม

นอกจากการหาวิธีที่เหมาะสมให้แก่หอยขมแล้วนั้น ก็ยังมีในส่วนของเรื่องอาหารที่จะต้องคำนึงอีกด้วย ซึ่งหลายๆคนก็สงสัยว่าจริงๆแล้วหอยขมกินอะไรกันแน่ อาหารที่ใช้เลี้ยง เป็นอาหารปลาที่ผสมกับข้าวเหนียวที่นึ่งสุก นำมาตำให้ละเอียด จากนั้นปั้นเป็นลูกขนาดเล็กๆประมาณเท่าหัวแม่มือ ให้บ่อละ ประมาณ 5 ลูก ความถี่ในการให้อาหารจะเป็น 2-3ครั้งต่อสัปดาห์ ในบ่อเลี้ยงหอยขมจะใส่ผักตบชวาหรือใส่ใบไม้แห้งลงไป เพื่อใช้เป็นอาหารให้แก่หอยขมอีกช่องทางหนึ่ง แต่มีข้อควรระวังในการให้อาหารก็คือ จะต้องมีการดูแลและทำความสะอาดของน้ำ อย่าให้เกิดเน่าเสีย เพราะจะทำให้หอยขมตายได้ แนะนำควรเติมน้ำหมักชีวภาพลงไปบ้าง เพื่อเป็นการปรับสภาพน้ำ นอกจากนี้อาหารของหอยขมที่สำคัญ ได้แก่ แพลงก์ตอนพืช และสัตว์ขนาดเล็ก ตะไคร้น้ำ พืชน้ำ ซากเน่าเปื่อยของใบไม้ และอินทรีย์สารต่างๆ ที่เป็นตะกอนในดินโคลน ด้วยการใช้จะงอยปากที่ยืดยาวดูดน้ำ และอาหารเข้าปาก ทั้งนี้มี้ข้อควรระวังที่ไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง คือ ในธรรมชาติหอยเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะในการนำพยาธิมาสู่ผู้บริโภคในห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากวงจรชีวิตของพยาธิในระยะตัวอ่อนจะเข้ามาฝังตัวในหอย โดยเฉพาะในหอยน้ำจืด สำหรับในหอยขมมีชนิดพยาธิที่ตรวจพบ เช่น Echinostoma malayanum, Echinostoma revolutum, Echinostoma malayanum, Echinostoma ilocanum, Angiostrongylus cantonensis เป็นต้น ซึ่งพยาธิเหล่านี้จะเข้ามาทำลายหอยขม จนไม่สามารถนำไปจำหน่าย หรือรับประทานได้ ทั้งนี้พยาธิเหล่านี้จะนำโรคมาให้แก่หอยขม รวมไปถึงมนุษย์ที่ได้รับประทานหอยขมที่มีพยาธิเข้าไป ซึ่งโรคโดยหลักๆได้แก่ โรคพยาธิใบไม้ในลำไส้ สังเกตอาการได้จากเริ่มมีการปวดท้อง ท้องเสีย ซีดเซียว บวมทั้งนี้แพทย์จะนำอุจจาระของผู้ป่วยมาตรวจหาพยาธิในระยะไข่ ส่วนในการรักษาจะใช้ยา praziquantel เป็นต้น

อาหารเลี้ยงหอยขม
www.sanook.com

ระยะเวลาในการเลี้ยง

ในการเลี้ยงหอยขมนั้น นอกจากจะคำนึงถึงการอยู่รอดของหอยขมแล้วนั้น จะต้องคำนึงถึงผลผลิตที่ได้ เปรียบเทียบกับเวลาด้วย ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงหอยขมประมาณ 2 เดือน จะสามารถเริ่มจับขายได้ แต่ในการจับนั้นจะต้องทยอยจับ เนื่องจากหอยขมจะมีการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน และมีหลากหลายขนาด ควรเลือกหอยที่โตเต็มวัยก่อน ส่วนตัวที่เล็กจะต้องเลี้ยงต่ออีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถจับขายได้ ครั้งหนึ่งจะจับขายได้ประมาณ 30-50 กิโลกรัม ซึ่งราคาขายจะอยู่ที่ประมาณ 50-60 บาท ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีต่อชาวเกษตรกรเลยก็ว่าได้

ประโยชน์ของหอยขม

  • สามารถนำมาเป็นอาหารสำหรับในการรับประทานได้ เช่น แกงคั่วหอยขม เป็นแกงคั่วแบบโบราณที่เน้นกะทิจากมะพร้าว เมื่อใส่ไปในปริมาณมากจะทำให้รสชาติมีความหวานมัน พร้อมทั้งกินข้าวสวยจะเข้ากันอย่างมาก
  • เป็นแหล่งโปรตีน และคอลลาเจน ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ทั้งนี้การนำหอยขมมารับประทานนั้นมีข้อควรระวังอยู่ เช่น หอยขมที่นำมารับประทานควรต้มหรือทำให้สุกเสียก่อน เพราะอาจมีไข่พยาธิติดมาด้วย โดยเฉพาะพยาธิใบไม้ในตับ และพยาธิใบไม้ในลำไส้ หรือหอยขมในแหล่งน้ำใกล้โรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งน้ำเสียชุมชน ควรหลีกเลี่ยงรับประทาน เพราะอาจปนเปื้อนโลหะหนักได้
  • สรรพคุณสำหรับการใช้ทางยา เช่น แก้กระษัยปวดเมื่อยตามร่างกาย บำรุงกระดูก รักษาอาการปวดกระดูก ขับของเสียต่างๆ ในร่างกาย เช่น เมือกมันในลำไส้ บำรุงถุงน้ำดี ขับนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ปวดศีรษะ
  • เป็นอาหารให้แก่สัตว์ เช่น เป็ด ปลาดุก ปลาไหล ตะพาบน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นผลดีของการเลี้ยงสัตว์จำพวกนี้ เพื่อเป็นงานอดิเรก เพื่อหารายได้และกำไรเลี้ยงชีพ หรือด้วยเหตุผลอื่นๆที่ไม่ใช่เลี้ยงหอยขมเพื่อทำกำไร จะเป็นผลดีปละประโยชน์มาก
ประโยชน์หอยขม
www.calforlife.com

แหล่งอ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้