หอยแมลงภู่…มีดีอย่างไร แล้วมือใหม่หัดเลี้ยงต้องรู้อะไรบ้าง

หอยแมลงภู่ (Green mussel) เป็นสัตว์ทะเลที่ในอดีตมีการจับขึ้นมาตามฤดูกาล แต่นับวันความต้องการมีมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นการทำปศุสัตว์ฟาร์มเลี้ยงหอยแมลงภู่ ที่สามารถส่งออกต่างประเทศ และขายภายในประเทศไทย และหอยแมลงภู่ของประเทศไทยยังเป็นที่ต้องการในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงได้ตลอดปี

และนอกจากจะส่งสินค้าออกแล้ว ประเทศไทยยังถือได้ว่าเป็นตลาดนำเข้าหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยผ่านการตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยและนิวซีแลนด์ (Closer Economic Partnership) ร่วมกันตั้งแต่ปี 2548 เนื่องด้วยคนไทยนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย และสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด รวมทั้งยังสามารถแปรรูป เป็นตากแห้ง ทำเค็ม และหมักดอง ทำให้สามารถปรับราคาได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

credit : mediastorehouse
หอยแมลงภู่ที่ซื้อขายกันอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่ได้จากแหล่งฟาร์มเลี้ยงในจังหวัดชายฝั่งทะเล ทั้งในบริเวณชายฝั่งของอ่าวไทยและอันดามัน ที่แม้ว่าจะมีการขยายขอบเขตออกไปในพื้นที่ ที่เหมาะสมมากขึ้นก็ตาม แต่ผลผลิตที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงเป็นเหตุผลทำให้ประชาชน ชาวประมงที่อาศัยอยู่ริ่มทะเลหันมาเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่เป็นอาชีพเสริมและพัฒนากลายเป็นอาชีพหลัก จนทำให้หอยชนิดนี้สามารถทำรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แล้วรู้ไหมว่าหอยแมลงภู่ที่เราเห็นและรู้จักกันนั้นจะมีแค่ลักษณะเหมือนที่ขายในตลาดเพียงอย่างเดียวรึเปล่า แล้วแน่ใจไหมว่าหอยแมลงภู่จะอาศัยอยู่แต่ในน้ำเค็มเท่านั้นหรือ วันนี้ kaset.today มีข้อมูลดีๆ มาแชร์ให้กับทุกคนกัน

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหอยแมลงภู่

ชื่อภาษาไทย : หอยแมลงภู่ 

ชื่อภาษาอังกฤษ : Green mussel

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Perna viridis

ตระกลูสัตว์ : Mytilidae หรือวงศ์ หอยแฉลบ


หอยแมลงภู่คือ

หอยแมลงภู่เป็นหอยที่อาศัยได้ทั้งอยู่ในน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด หอยแมลงภู่เป็นที่นิยมบริโภคกันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เนื่องจากเนื้อหอยรับประทานได้เกือบทั้งหมด เนื้อมีความนุ่ม หวาน และอร่อย ไม่มีเศษดินในลำไส้หอยแมลงภู่ เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการชนิดที่สามารถนำไปประกอบเป็นอาหารรับประทานได้มากมาย เพราะเนื้อของหอยแมลงภู่จัดเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง

นอกจากนี้เปลือกยังสามารถไปใช้ในด้านอื่น ๆ เช่น การทำเครื่องประดับ หรือเอาไปป่นเพื่อเอาไปผสมในอาหารสัตว์ และยังสามารถถนอมไว้ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ตากแห้ง ทำเค็ม และหมักดอง  สำหรับหอยแมลงภู่ที่นิยมเลี้ยงทั่วโลก และในประเทศไทยนั้นจะเป็นหอยแมลงภู่ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Perna viridis Linneaus  หรือที่มีทั่วไปว่า Green mussel นั่นเอง

หอยแมลงภู่เป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว พวกมันจะกรองกินพวกแพลงตอนพืช และสัตว์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในแหล่งเลี้ยง รวมทั้งอินทรีย์วัตถุที่แขวนลอยในน้ำ นั้นทำให้ไม่ต้องให้อาหารหรือปุ๋ยในแหล่งเลี้ยง อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ใช้ต้นทุนต่ำ หากเป็นธุรกิจขนาดเล็กไม่จําเป็นต้องจ้างแรงงานมากนัก สามารถใช้แรงงานในครัวเรือนได้


หอยแมลงภู่ มีลักษณะอย่างไร

ลักษณะของหอยแมลงภู่ที่เราเห็นกันจะเป็นหอยสองฝามีรูปร่างคล้ายกับมะม่วง มีขนาดความยาวของเปลือกหอยประมาณ 80-100 มิลลิเมตร มีอายุยืนประมาณ 3 ปี สีของเปลือกด้านนอกจะมีสีเขียวอมดำคล้ายสีของปีกแมลงทับหรือสีน้ำตาลไหม้ ด้านในเป็นสีมุก ขอบของแมนเติล (ทำหน้าที่ในการสร้างเปลือกซึ่งเป็นสารจำพวกหินปูน (CaCO3) ) ซ้ายและขวาเชื่อมกันที่ตอนท้ายตัว แล้วอย่างที่เรารู้ดีคือเนื้อหอยที่มีสีเหลืองนวลหรือสีส้มน่าอร่อย และยังมีหนวดหรือเส้นใยไว้เกาะหลักเรียกว่า เกสร หรือ ซัง (byssus) อีกด้วย

เปลือกหอยแมลงภู่ด้านนอก
เนื้อภายในหอยแมลงภู่

หอยแมลงภู่มีลักษณะพิเศษคือ จะมีสองเพศในตัวเดียวกัน มีการผสมพันธุ์นอกลำตัว หอยเพศผู้จะมีลำตัวหรือที่ห่อหุ้มตัวสีครีมหรือขาว ส่วนเพศเมียจะมีสีส้ม มีช่วงฤดูสืบพันธุ์อยู่ 2 ช่วงในรอบ 1 ปี คือช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ซึ่งพบกระจายพันธุ์ทั่วไปในทะเลแถบอินโดแปซิฟิก เกาะแก่งตามโขดหินและ ตามไม้ไผ่บริเวณชายฝั่งทะเล ห่างจากฝั่งตั้งแต่ 1,000-3,000 เมตร และในน่านน้ำไทยจะพบได้ทั้ง 2 ฝั่งทะเลกินอาหารแบบกรองกิน ซึ่งกินได้ทั้งแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์


ชีววิทยาและวิเวศวิทยาของหอยแมลงภู่ คืออะไร

ถ้าต้องการข้อมูลเชิงลึกของหอยแมลงภู่เราก็ต้องศึกษาจากชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตนั้น โดยครั้งนี้เราได้แหล่งข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดย สุนันท์ ทวยเจริญ, เอกลักษณ์ แซ่โล้ว และกรมประมง ได้กล่าวไว้ว่า หอยแมลงภู่ นั้นเป็นสัตว์ทะเลที่ประกอบด้วยเปลือกแข็งที่ห่อหุ้มลำตัวอยู่ภายนอกเปลือกหรือฝาหอยมีลักษณะรียาวคล้ายมะม่วง ฝาสีเขียวเข้ม เปลือกหอยแบ่งออกเป็น 3 ชั้น

  • ชั้นที่ 1 ชั้นนอกสุดและจะมีสีเขียวเข้ม มีวงรอยชั้นแสดงการเจริญเติบโตของหอยในแต่ละปี
  • ชั้นที่ 2 หรือ ชั้นในหรือส่วนผิวของฝาด้านในมีสีขาวเหมือนมุก ซึ่งฝาสองฝาจะประกบติดกันโดยที่เส้นเอ็นที่อยู่ด้านหลังของฝาซึ่งมีสีน้ำตาลเข้มหรือดำเป็นทางยาวตลอดแนวด้านหลัง ตั้งแต่ปลายก้นหอยโค้งไปถึงหนึ่งในสาม เมื่อเปิดฝาทั้งสองออกภายในจะเป็นลำตัวส่วนอ่อนหรือเนื้อหอย
  • ชั้นที่ 3 เป็นส่วนที่อ่อนนุ่ม เป็นส่วนเนื้อสีเหลือนวลที่เราชอบกิน ซึ่งจะอยู่ภายในของฝาทั้งสอง ต้องทำการเปิดฝาออกจึงจะมองเห็นส่วนนี้ และในส่วนนี้จะประกอบไปด้วย
  1. เยื้อหุ้มลำตัวซึ่งอยู่ติดกับฝาทั้งสองข้าง
  2. ส่วนพุงส่วนของเท้าซึ่งมีขนาดเล็ก
  3. มีรากหรือซังติดกับส่วนของเท้า
  4. เหงือกขนาดใหญ่ยาวเท่าลำตัวของหอยมีกล้ามเนื้อ 3 มัด และถ้าผ่าดูภายในจะพบส่วนประกอบที่เหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ

การแพร่กระจาย

หอยแมลงภู่ชนิด P.viridis จะพบบริเวณชายฝั่งทะเลประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศจีน ชายฝั่งตะวันตกของประเทศอินเดีย ชายฝั่งประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และในส่วนของประเทศไทยกรมประมง รายงานมาว่าจะพบในบริเวณ ชายฝั่งทะเลทั้งในเขตน้ำตื้น ไปจนถึงลึกกว่า 10 เมตร โดยพบทั้งด้านชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และชายฝั่งทะเลอันดามัน และสำหรับจังหวัดที่นิยมประกอบอาชีพเลี้ยงหอยแมลงภู่นั้นก็จะเป็น ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี, ชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์, และปัตตานี ส่วนจังหวัดอื่นๆก็เลี้ยงกันไม่มากนัก แต่จะเก็บผลผลิตจากแหล่งเกิดหอยธรรมชาติเสียส่วนใหญ่ เช่น ช่องแก่งหรือโขดหินตามชายฝั่ง

อาหารและนิสัยการกินอาหาร

หอยแมลงภู่มีพฤติกรรมที่สามารถเห็นได้ชัด ๆ ก็คือ การเคลื่อนไหวที่ช้ามาก โดยมักนั้นพวกมันจะเกาะอยู่กับที่เสียมากกว่า การล่าหรือหาเหยื่อก็จะเป็นแบบการรอให้เหยื่อลอยมาและจับกิน โดยอาหารหลัก ๆ ก็จะเป็น แพลงตอนจำพวกพืช และสัตว์ขนาดเล็กตลอดจนสิ่งเน่าเปื่อยจากพืช และสัตว์ที่ลอยอยู่ในน้ำ โดยหอยแมลงภู่จะกินอาหารแบบกรองกิน (Filter feeder) หอยจะดูดน้ำเข้ามาในช่องเปลือก โดยอาศัยการโบกพัดของขนบน (cilia) ซี่เหงือก อาหารจะติดค้างอยู่บนขนของซี่เหงือก วัตถุขนาดใหญ่เช่นเม็ดทราย ก็จะหลุดจากเหงือแล้วไหลไปทางท่อน้ำออก ส่วนอาหารที่ติดบนเหงือกก็จะถูกเซลล์บางเซลล์สร้างเมือกออกมาเพื่อยึดเอาอาหารส่วนนั้นไว้ และถูกส่งไปยัง เลเบียลพอลพ์ (labial palp) ที่ทำหน้าที่คัดเลือกขนาดของอาหารอีกครั้ง แล้วจึงส่งไปยังช่องปากผ่านหลอดอาหาร แล้วเข้าสู่กระเพาะอาหารเพื่อนำไปเลี้ยงร่างกายต่อ

การสืบพันธุ์

หอยแมลงภู่เป็นหอยที่มีการผสมพันธุ์แบบภายนอก (External fertilization) เป็นหอยที่มีเพศแยก (Dioecious) โดยอวัยวะเพศสืบพันธุ์จะกระจายอยู่บริเวณเยื่อหุ้มลำตัว แต่จากรูปร่างภายนอกจะไม่สามารถแยกเพศได้  แต่จะสามารถแยกเพศได้เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งต้องเปิดเปลือกออกโดยจะเห็นสีของลำตัวที่แตกต่างกัน คือ ถ้าเป็นเพศเมียนั้นจะมีรังไข่สีส้มหรือแดง ส่วนตัวผู้นั้นจะตัวเล็ก มีอัณฑะเป็นสีครีมหรือสีน้ำตาล แต่หลังจากฤดูผสมพันธุ์สีของพวกมันจะจางลงและมีสีคล้ายกันทำให้การแยกเพศลำบากมาก สำหรับหอยแมลงภู่นั้นจะเริ่มทำการผสมพันธุ์กันเมื่อหอยมีอายุประมาณ 2 เดือน แต่หอยแมลงภู่ก็มีเพศรวม (Hermaphrodite)ด้วยแต่พบน้อยมาก

หอยแมลงภู่
หอยแมลงภู่เพศเมีย
หอยแมลงภู่
หอยแมลงภู่เพศผู้

วงจรการสืบพันธุ์ หรือ ฤดูวางไข่

วงจรการสืบพันธุ์ของหอยแมลงภู่ P.viridis มีการศึกษากันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งมางานวิจัยอ้างอิงเกี่ยวกับวงจรการสืบพันธุ์ไว้ว่า ฤดูวางไข่ของหอยแมลงภู่ในประเทศไทยพบว่ามีการวางไข่ตลอดทั้งปี โดยแต่ละปีจะมีช่วงที่หอบแมลงภู่วางไข่หนาแน่นอยู่ 2 ช่วงด้วยกัน คือ

  • ทางฝั่งตะวันออก แถวจังหวัดฉะเชิงเทรา จะวางไข่ในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม กับ ช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธุ์
  • ฝั่งตะวันตก บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม กับช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม
  • บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง และฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน จะช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธุ์ กับช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม
  • ฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานีจะในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม กับช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน
  • ฝั่งตะวันตกแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน จะมีในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม กับช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม
credit : กองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (ฤดูกาลวางไข่ของหายแมลงภู่ในบริเวณแนวชายฝั่งของประเทศไทย)

การเลี้ยงหอยแมลงภู่ในแบบต่างๆ

คุณมนตรี สุขใจเจริญพร เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่บ้านคลองแสมขาว ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งประสบความสำเร็จกับการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ มีรายได้มากกว่าปีละ 3-4 เท่าจากต้นทุนที่ลงไป

คุณมนตรี เล่าให้ฟังว่า อาชีพเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ เป็นอาชีพที่ครอบครัวทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ แต่หลังจากแต่งงาน จึงแยกออกมาเช่าพื้นที่เพาะเลี้ยงเป็นของตัวเอง โดยสำนักงานประมงจังหวัดได้จัดหาพื้นที่ให้ประกอบอาชีพ ให้คำแนะนำไว้ว่าการเลี้ยงหอยนั้นมีหลายแบบด้วยกันดังนี้

เลี้ยงแบบปักหลักล่อลูกหอย ต้นทุนน้อย กำไรดี

การเลี้ยงด้วยวิธีนี้เหมาะสมที่จะดำเนินการในพื้นที่ย่านน้ำตื้น ซึ่งมีความลึกไม่เกิน 5 เมตร ตามบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีสภาพเป็นอ่าวทั่วไป พื้นทะเลตั้งแต่เส้นขอบฝั่งออกไปไม่ลาดชันเกินไป สภาพดินเป็นโคลน และโคลนปนทราย ระดับน้ำสูงสุดและต่ำสุดไม่แตกต่างกันมากนัก เป็นแหล่งน้ำที่มีแพลงก์ตอนอาหารตามธรรมชาติของหอยเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ หากมีเกาะแก่งกระจายกันอยู่และบางบริเวณมีภูเขาที่ตั้งอยู่ชายน้ำจะช่วยเป็นเครื่องกำบังคลื่นลมและกระแสน้ำได้ดี

ไม้ที่ใช้ปักหลักเพื่อให้ลูกหอยลงเกาะ นั้นส่วนมากจะนิยมเป็นไม้ไผ่รวก ไผ่นวล และไม้เป้ง ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4  เซนติเมตร ยาวประมาณ 6 เมตร วิธีปักก็จะปักหลักไม้เรียงกันเป็นแถว โดยจะปักไม้ให้ลึกประมาณ 1-1.5 เมตร และเอียงเล็กน้อยงประมาณ 60 องศา เพราะเมื่อลูกหอยโตขึ้นก็จะมีน้ำหนักที่มากขึ้นการปักไม้หลักเอียงก็จะช่วยให้การหักโค่นลดน้อยลง

สำหรับการปักไม้ในพื้นที่เลี้ยงหอยแมลงภู่ที่ประมาณขนาด 1ไร่ จะใช้ไม้ประมาณ 1,200 ต้น แบ่งออกเป็น 4 แถวๆ ละ 300 ต้น หรืออาจเพิ่มจำนวนไม้ได้ตามความเหมาะสม แต่ไม่ควรเกิน 1,800 ต้นต่อพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ไม่หนาแน่นมากเกินไป ทำให้หอยได้รับอาหารไม่เพียงพอ และโตช้า การเลี้ยงหอยด้วยวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 7 เดือน สามารถจำหน่ายได้

นิพนธ์ ศิริพันธ์. (2543). คู่มือการเลี้ยงหอยทะเลเศรษฐกิจ. กรุงเทพมหานคร:กรมประมง, กองส่งเสริมการประมง. ยังให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงหอยแมลงภู่ในแบบอื่นอีกหลายแบบ โดยมีดังนี้

การเลี้ยงแบบแพเชือก

การเลี้ยงแบบแพ มีขนาดตั้งแต่ 25 ตารางเมตร 75ตารางเมตร และ 150 ตารางเมตร วัสดุที่ใช้ประกอบด้วยไม่เนื้อแข็ง หรือไม้ไผ่หรือวัสดุชนิดอื่นๆ ประกอบกันเป็นแพจํานวน 7 แถว ทุนลอยใช้โฟม ถังน้ำมัน หรือถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร ประกอบหัวท้าย สามารถรับเชือกเลี้ยงหอยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 24มิลลิเมตร ยาว 3 เมตร ได้ไม้ละ 35 เส้น

หลังจากที่ลูกหอยแมลงภู่เกาะแล้วจะกินอาหารตามธรรมชาติจําพวกแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ระยะเวลาการเลี้ยง 8 เดือน เราจะได้น้ำหนักหอยระมาณ 1,200 กิโลกรัม ขนาดของแพอาจประกอบกันได้หลายชุดและตรึงไว้ด้วยสมอขนาด 15 กิโลกรัม โดยใช้เชือกสมอที่มีความยาว 5 เท่าของความลึกของน้ำบริเวณนั้น ถ้ากระแสน้ำแรงจัดก็เพิ่มได้ตามความเหมาะสมหากต้องการสร้างแพด้วยท่อเหล็กควรทาสีกันสนิมด้วย

การเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือกเป็นวิธีเลี้ยงหอยอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถเลี้ยงได้บริเวณคลื่นลมแรง พื้นดินเป็นดินแข็ง หรือบริเวณที่ปักไม้ไม่ลงก็สามารถเลี้ยงได้ ส่วนตัวแพที่เลี้ยงมีความคงทนมีอายุการใช้งานนานหลายปีวัสดุที่ใช้หาง่ายมีจําหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป

การเลี้ยงแบบแขวนบนราวเชือก หรือ Long line

การเลี้ยงแบบแขวน เราจะเห็นวิธีนี้ทํากันในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส อิตาลีและประเทศสิงคโปร์ปัจจุบันประเทศไทยก็ใช้วิธีนี้มากขึ้น วิธีนี้เหมาะสมกับแหล่งเลี้ยงที่มีระดับน้ำลึกและปลอดภัยจากกระแสคลื่นลมแรงและอยู่ห่างฝั่ง

ส่วนประกอบที่สําคัญคือเชือกเส้นใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว ยาวประมาณ 100 เมตร มีทุ่นผูกเป็นระยะ 2-4 เมตร เพื่อพยุงไม่ให้จม เชือกนี้มีเชือกเส้นเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผูกติดเป็นระยะ ๆห่างกัน 50 เซนติเมตร ปลายเชือกยาวไม่เกินระดับน้ำลงต่ำสุด ที่ปลายเชือกเส้นใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้วทั้งสองข้างผูกไว้กับสมอยึดไม่ให้เคลื่อนที่ถ้าเป็นทุ่นใหญ่อาจผูกเชือกคู่ก็ได้ ผลผลิตพอๆ กับการเลี้ยงหอยแบบแพ แต่วิธีนี้มีความต้านทานต่อคลื่นลมได้ดีกว่า

การเลี้ยงกับหลักไม้แขวนลอย

สําหรับการเลี้ยงแบบหลักไม้แขวนลอย ก็คือการเลี้ยงแบบรวบรวมพันธุ์หอยจากแหล่งธรรมชาติมาเตรียม โดยให้หอยเกาะกับหลักไม้เป้งที่มีความยาว 1 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร โดยใช้ถุงอวนบาง ๆ ประกอบกับไม้แล้วบรรจุหอยลงในช่องระหว่างเนื้อถุงอวนกับผิวไม้ผูกมัดเป็นส่วนๆ ประมาณ 3-4 ส่วน ตามความยาวไม้จากนั้นจึงใช้เชือกลอดตามรูปลายไม้ด้านบนที่เจาะเตรียมไว้แล้วผูกให้แน่น แล้วนําหลักไม้ที่พันหอยแมลงภู่นี้ไปแขวนลอยไว้บนราวที่มีเสาค้ำจุน โดยจัดให้หลักหอยจมน้ำอยู่ตลอดเวลา แม้จะเป็นระยะที่น้ำลดต่ำสุดภายในเวลา 4-5 วัน หอยจะเกาะกระจายอยู่ตามผิวหลักไม้อย่างมั่นคงจากนั้นจึงตัดอวนออก และเลี้ยงหอยให้เจริญเติบโตต่อไป ในระยะเวลา 8 เดือน ในการเลี้ยงแบบนี้เราจะได้หอยที่สามารถเจริญเติบโตได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการซึ่งมีความยาวเฉลี่ย 7.3 เซนติเมตร ให้ผลผลิตเฉลี่ยหลักละ 5กิโลกรัม

การเลี้ยงหอยแมลงภู่ร่วมกับการทําโป๊ะจับปลา

การเลี้ยงหอยแมลงภู่ร่วมกับการทําโป๊ะจับปลา วิธีนี้คล้ายกับการปักหลักเลี้ยง แต่แทนที่จะปักไม้ไผ่เป็นแถวเป็นแนว แต่ให้ปักเป็นรูปโป๊ะที่ประกอบด้วยตัวโป๊ะและปักโป๊ะ เพื่อประโยชน์ในการจับปลาด้วย ทำ1อย่างแต่ได้ประโยชน์ 2 ทาง วิธีนี้คุ้มมาก

การเลี้ยงในตะกร้า

การเลี้ยงในตะกร้า วิธีนี้ทํากันมากในประเทศญี่ปุ่น โดยรวบรวมลูกหอยจากธรรมชาติมาใส่ตะกร้าแขวนเลี้ยงไว้ใต้แพหรือราวไม้ ให้ตะกร้าจมน้ำอยู่ตลอดเวลา

การเลี้ยงบนพื้นทะเล

การเลี้ยงบนพื้นทะเล วิธีนี้เหมาะสมที่จะเลี้ยงในบริเวณอ่าวที่มีสิ่งกําบังคลื่นลม มีพื้นทะเลที่มีลักษณะเป็นกรวดหินหรือดินแข็ง มีน้ำทะเลท่วมถึงตลอดเวลา ระดับน้ำลึก 2-3 เมตร

การเลี้ยงหอยแบบตาข่ายเชือก

การเลี้ยงหอยแบบตาข่ายเชือกสามารถเลี้ยงได้ในระดับน้ำลงต่ำสุด 2 เมตร และในบริเวณดินแข็งที่ไม่สามารถปักไม้เลี้ยงหอยได้ การเลี้ยงแบบนี้มีข้อดีคือ วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุสังเคราะห์ซึ่งหาได้ง่ายตามท้องลาดทั่วไป และวัสดุที่ใช้เลี้ยงมีความคงทนใช้งานหลายปี


หอยแมลงภู่ในน้ำจืดมีจริงหรือ…

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หน่วยปฏิบัติการซิสเทมาติคส์สัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในหัวข้อ หอยน้ำจืดของไทย โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับหอยแมลงภู่น้ำจืด ซึ่งท่านได้ให้ข้อมูลไว้ว่า หอยสองฝา (Class Bivalvia) น้ำจืดโดยทั่วไปจะผลิตระยะวัยอ่อนที่เรียกว่าโทรโคฟอร์ (trochophore) ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่ดำรงชีวิตอย่างอิสระ หรือ อาจพัฒนาเป็นระยะที่เรียกว่าเวลิเจอร์ (veliger) ที่คล้ายกับหอยทะเล ที่เห็นชัดเจนสำหรับการพัฒนาเช่นนี้ได้แก่ หอยเพรียง สกุล Limnoperna สังกัดวงศ์ Mytilidae วงศ์ของหอยแมลงภู่ที่ยังมีลักษณะใกล้เคียงกับหอยทะเล

สำหรับหอยแมลงภู่น้ำจืดนั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Limnoperna siamensis (Morelet, 1875) รายงานครั้งแรกที่ Tonle Sap Lake ประเทศกัมพูชา ชาวบ้านทั่วไปจะเรียกกันว่าเพรียง ซึ่งจัดว่าเป็นหอยชนิดหนึ่ง สำหรับหอยแมลงภู่น้ำจืดหรือหอยเพรียง  จัดเป็นหอยในวงศ์หอยแมลงภู่วงศ์ Mytilidae รูปร่างโดยทั่วไปคล้ายหอยแมลงภู่แต่มีขนาดเล็กกว่ามองผ่านๆ ก็คล้ายหอยกาบได้  ลักษณะของน้ำที่หอยแมลงภู่หรือหอยเพรียงอาศัยอยู่นั้นจะเป็นน้ำจืด และน้ำกร่อยไม่ได้อาศัยอยู่ในน้ำทะเลโดยตรง เพราะมีการปรับตัวอาศัยอยู่ในน้ำจืดมานานแล้ว

หอยน้ำจืดสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ตัวผู้จะปล่อยอสุจิลงในน้ำโดยตรงและเข้าสู่ตัวเมียผ่านกาลักน้ำ (กาลักน้ำ คือ วิธีการถ่ายเทของเหลวจากที่สูงลงไปสู่ที่ต่ำอย่างต่อเนื่องโดยผ่านตัวกลางคือท่อ) และหลังจากการปฏิสนธิกันแล้ว ไข่จะพัฒนาเป็นระยะตัวอ่อนที่เป็นปรสิตที่มีชื่อว่าโกลคิเดียม (glochidium) (ถ้าหลายตัวก็ glochidia) เข้าไปเกาะที่โฮสท์ได้แก่ปลาหลายชนิด พัฒนาจนเป็นวัยรุ่นแล้วหลุดจากปลาลงสู่พื้นหากินเป็นอิสระเหมือนพ่อแม่พวกมันต่อไปนั้นเอง

หอยแมลงภู่
หอยแมลงภู่น้ำจืด ภายนอก
หอยแมลงภู่
หอยแมลงภู่น้ำจืด ภายใน

ทำไมคนถึงชอบกินหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์

เหตุผลที่ทำไมคนถึงชอบที่จะกินหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์นั้น ก็เพราะเนื่องจากหอยแมลงภู่อาศัยอยู่บริเวณน้ำตื้น จึงทำให้มีการปนเปื้อนของดินโคลนหรือสารเคมีได้มากกว่าหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ที่อาศัยในน้ำลึก และรวมถึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพนั่นเอง หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์นี้ยังมีสรรพคุณในการบรรเทาโรคข้ออักเสบ, รูมาตอยด์, โรคข้อเข่าเสื่อมและโรคหอบหืด แถมยังมีข้อดีอีกหลายอย่างดังนี้ ประโยชน์ของหอยแมลงภู่

  • ข้อดีมีประโยชน์
  1. เป็นอาหารทะเลที่มากด้วยแร่ธาตุจำเป็นกับร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ทองแดง สังกะสี แคลเซียม ไอโอดีน และมีโปรตีนสูงอีกด้วย นอกจากนี้ยังมี วิตามินบีรวม ปริมาณโคเลสเตอรอลต่ำที่ต่ำกว่าพวก กุ้ง, ปู และปลาหมึก 
  2. ให้คลอรี่ต่ำจึงทำให้เหมาะกับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก โดยอาจรับประทานแบบลวกเพื่อลดปริมาณน้ำมันหรือรับประทานเป็นผัดขี้เมาที่ผัดกับพริกไทยอ่อน เพื่อเพิ่มการเผาผลาญก็ดีไม่น้อยเลย
  3. ประโยชน์ของหอยแมลงภู่อีกอย่างคือ ป้องกันโรคเหน็บชา เพราะหอยแมลงภู่ประกอบไปด้วยวิตามินบี (B) ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันอาการเหน็บชาและอาการเกร็งตามนิ้วมือ นิ้วเท้า โดยจากการสำรวจพบว่าผู้ที่รับประทานหอยแมลงภู่จะมีแนวโน้มเป็นโรคเหน็บชาน้อยกว่าผู้ที่ไม่รับประทานเลย
  4. หอยแมลงภู่เพิ่มคอลาเจนได้ด้วย โดยทั่วไปแล้วอาหารทะเลหลายชนิดนั้นมีส่วนประกอบของคอลาเจน หอยแมลงภู่ก็เป็นอีกหนึ่งชนิดที่เป็นตัวช่วยสร้างสารอนุมูลอิสระที่ช่วยดูแลผิวพรรณ 
  5. ช่วยบำรุงสายตาและป้องกันมะเร็ง ในหอยแมลงภู่นั้นมีสารที่มีชื่อว่าเบต้าแคโรทีน เป็นสารสีส้มที่พบมากในหอยเพศเมีย จึงทำให้ช่วยเสริมสร้างและช่วยในการมองเห็น และช่วยลดการเสื่อมสภาพของเยื่อบุลูกตาได้ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานให้ร่างกายทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้
  • ข้อเสียที่ควรหลีกเลี่ยง
  1. เนื่องจากหอยแมลงภู่อาศัยอยู่บริเวณน้ำตื้น จึงทำให้มีการปนเปื้อนของดินโคลนหรือสารเคมีได้มากกว่าหอยชนิดอื่น 
  2. สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวการแข็งตัวของเลือดไม่ควรที่จะทานเพราะมีองค์ประกอบที่สามารถทำให้เจือจางเลือดได้
  3. ไม่ควรทานหอยแมลงภู่สด ๆ โดยที่ยังไม่ได้ผ่านการปรุงให้สุก เพราะอาจมีอัตรายจากสารพิษ ที่ตัวหอยได้จากอาหารที่กินเข้าไป เช่น จากสาหร่ายที่เป็นพิษ
  4. หอยแมลงภู่จะมีสารก่อภูมิแพ้ที่แรงที่สุดดังนั้นหากคุณมีอาการแพ้อาหารทะเลจะถูกห้ามและไม่แนะนำให้กินหอยแมลงภู่ในช่วงให้นมบุตรเลย เพราะด้วยหอยแมลงภู่นั้นมีสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้จึงไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีทาน

และได้รู้ถึงข้อดีและข้อเสียของการทานหอยแมลงภู่แล้วจึงทาง kaset.today จึงมีเมนูที่ทำจากหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์มาแนะนำสำหรับคนที่ชอบทานหอยแมลงภู่ โดยเมนูที่นำมาเสนอนั้นจะเป็นเมนูอะไรบ้างมาอ่านต่อเลยดีกว่า

เมนูหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์…จานอร่อย

  • ผัดเผ็ดหน่อไม้กับหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์
หอยแมลงภู่

วัตถุดิบผัดเผ็ดหน่อไม้กับหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ 

  1. หน่อไม้ดองแผ่น 1 ถ้วย
  2. หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ 4-6 ตัว
  3. น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
  4. น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
  5. พริกขี้หนูสวน 1 ช้อนโต๊ะ
  6. กระเทียมไทย 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำผัดเผ็ดหน่อไม้กับหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์

  1. โขลกพริกและกระเทียมแค่พอหยาบๆ แล้วใส่ลงในกระทะที่ตั้งเตาไว้ผัดจนมีกลิ่นหอม เสร็จแล้วลงหน่อไม้ตามลงไปผัดให้เข้ากันหอมๆ ปรุงรสด้วย น้ำปลา น้ำตาล
  2. เมื่อได้รสชาติตามต้องการแล้ว ก็ใส่หอยแมลงภู่ลงไปผัดอย่างเร็ว เพื่อไม่ให้เนื้อหด พอคลุกเคล้าเข้ากัน ก็พร้อมตักเสิร์ฟพร้อมกับข้าวสวยร้อน ๆ
  •  โป๊ะแตก (ต้มยำทะเลน้ำใส)
หอยแมลงภู่

วัตถุดิบโป๊ะแตก (ต้มยำทะเลน้ำใส) 

  1. กุ้งขาว 3 ขีด
  2. ปลาหมึกหอม 2 ตัว
  3. ปลาดอลลี่ 300 กรัม
  4. หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ 4 ตัว
  5. เห็ดฟาง 100 กรัม
  6. หอมแดง
  7. ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด
  8. รากผักชี 2  ราก
  9. พริกแดง และพริกขี้หนู (ตามชอบ)
  10. ใบกะเพรา
  11. ผักชีฝรั่ง
  12. เกลือ
  13. น้ำปลา 3- 4 ช้อนโต๊ะ
  14. น้ำตาลปิ๊ป (เล็กน้อย)
  15. มะนาว 3- 4 ลูก
  16. เกลือ 1 ช้อนชา

วิธีทำโป๊ะแตก (ต้มยำทะเลน้ำใส)

  1. เริ่มจากตั้งน้ำให้เดือดจากนั้นใส่ รากผักชี ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง และ พริกแดง รอจนน้ำเดือดอีกครั้ง
  2. จากนั้นใส่กุ้ง ปลาหมึก ปลาดอลลี่ และหอยแมลงภู่  และใส่เกลือป่นเล็กน้อย
  3. พอเนื้อสัตว์ที่ใส่ไปเริ่มสุกแล้ว ก็ใส่เห็ดฟาง และทำการปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปิ๊ป เล็กน้อย  ชิมรสตามใจชอบ 
  4. หลังจากเดือดแล้วปิดไฟยกลงจากเตา แล้วใส่น้ำมะนาว ตามด้วย ผักชีฝรั่ง และใบกะเพรา เพื่อดับคาว ตักใส่หม้อไฟ เป็นอันพร้อมเสิร์ฟ

ใครมาอ่านในส่วนนี้ตอนกลางคืนต้องรู้สึกหิวมากแน่เลย เพราะหอยนิวซีแลนด์มีเนื้อมาก หวาน และขนาดใหญ่ และยังมีอีกหลายเมนูที่สามารถนำเอาวัตถุดิบนี้ไปประยุกต์ทำเป็นอาหารรสเลิศอีกมากมาย เช่น หอนแมลงภู่นิวซีแลนด์อบชีส แค่คิดก็หิวแล้ว…แต่เดี่ยวก่อน เรายังอยากให้คุณเก็บความหิวไว้ แล้วเรามาอ่านบทความในส่วนต่อไปกันก่อนดีกว่า เพราะถ้าหากคุณไม่รู้แหล่งซื้อแล้วคุรจะเอาวัตถุดิบมาทำอาหารยังไง…ถูกไหม


สร้างสรรค์ผลิตภันฑ์จากเปลือกหอยแมลงภู่

นอกจากเนื้อของหอยแมลงภู่ที่อร่อยและมีประโยชน์แล้ว มีอีกสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามอย่าง เปลือกหอยแมลงภู่ ที่คุณอาจคิดว่ามันก็แค่ขยะที่เมื่อเราเอาเนื้อข้างในออกมันก็กลายเป็นของไร้ค่า แต่นั้นน่าจะเป็นคำตอบที่ผิด เพราะ kaset.today ได้เจองานวิจัยเนื้อหาดีๆ ที่อยากเอามานำเสนอให้ทุกคนได้อ่านกัน

1. คอนกรีตผสมจากเปลือกหอยแมลงภู่

ผศ.ดร.จินตนา สแลน้อย และคณะภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งมีชื่อว่า “คอนกรีตผสมจากเปลือกหอยแมลงภู่” มันเป็นชิ้นงานที่ช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับขยะ ส่งเสริมให้คนรู้จักเอาของที่คิดว่าไร้ค่า นำมาทำให้เกิดคุณค่าและทำประโยชน์ให้กับชุมชนหรือสังคมที่อยู่ทำให้เกิดอาชีพและยังสามารถเอาไปต่อยอดในอนาคตได้ด้วย

โดยโครงงานนี้เห็นถึงปัญหาของการบริโภคหอยแมลงภู่ที่มากขึ้นทำให้มีเปลือกหอยเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีวิธีกำจัดอย่างวิธี การนำไปถมที่ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะ สิ่งกลิ่นเหม็นและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค หากนำไปฝังกลบจะทำให้ดินสูญเสียความพรุนเนื่องจากย่อยสลายได้ยาก

ดังนั้นทางคณะผู้จัดทำจึงมีแนวคิดในการนำเอาเปลือกหอยแมลงภู่ที่ถูกทิ้งมาเพิ่มมูลค่า โดยการทำเป็น เก้าอี้, กระถางต้นไม้, แผ่นทางเดิน และนั้นเป็นการตอบโจทย์ปัญหาของโลกในปัจจุบันที่มีขยะมากเกินไป แต่สิ่งที่ ผศ.ดร.จินตนา สแลน้อย คิดนั้นเป็นการแสดงแนวทางแก้ไขและการต่อยอดอาชีพ

หอยแมลงภู่
credit : สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
แผ่นทางเดิน

ขั้นตอนการทำเก้าอี้คอนกรีตผสมจากเปลือกหอยแมลงภู่

  • แยกสิ่งที่ปนเปื่อนออกจากเปลือกหอย และนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
  • นำไปบดแบบหยาบ ให้ได้ขนาด 0.5 – 1 เซนติเมตร
  • คลุกเคล้าให้เข้ากันตามอัตราส่วนไม่ให้เหนียวหรือข้นเกินไปทิ้งไว้ 20 – 30 นาที
  • เทส่วนผสมลงในแบบให้มีความสูง 5 เซนติเมตร และวางโครงเหล็กลงไปหลังจากนั้นเทส่วนผสมทั้งหมดลงในแบบ
  • ทิ้งไว้ 1 – 2 วัน จึงสามารถแกะแบบออกได้

การใช้ประโยชน์

  • เปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งสามารถนำมาทดแทนซีเมนต์บางส่วนได้
  • ช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ ไม่ให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  • สามารถทำได้เองในครัวเรือนหรือชุมชน
  • ต่อยอดเป็นอาชีพเสริมได้
อัตราส่วน
ปูนซีเมนต์ (20) : ทรายหยาบ (30) : หิน (10) : เปลือกหอย (30) : น้ำ (10) กิดลกรัม

2. สีเกล็ดมุก

จากข้อมูลของ “กรมประมง” พบว่า แต่ละปีประเทศไทยมีกำลังผลิต “หอยแมลงภู่” ถึงหนึ่งแสนตัน มีเปลือกหอยจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่เหลือเป็นขยะประมาณปีละ 5 หมื่นตัน นั้นทำให้มีทีมนักวิจัยจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “เกล็ดประกายมุก” ที่แปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่ โดยสกัดชั้นมุกที่เป็นผลึก “อะรากอไนต์ “ออกจากเปลือกหอยแมลงภู่ได้สำเร็จ

หอยแมลงภู่
เปลือกมุกด้านใน

โดยสำนักงานวิทยทรัพยากรณ์ สีประกายมุกแสดงสีที่หลากหลาย ซึ่งเปลี่ยนไปตามมุมในการมองแต่ละครั้ง เปลือกหอยแมลงภู่แสดงปรากฎการณ์ประกายมุกออกมาอย่างชัดเจน และสามารถแปรรูปให้เป็นเกล็ดที่มีความเงาและแวววาว ขยะเปลือกหอยแมลงภู่จากอุตสาหกรรมอาหารทะเลมีจำนวนมหาศาลและก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการลดปริมาณและเพิ่มมูลค่าให้กับขยะเปลือกหอย

โครงสร้างของเปลือกหอยนี้มีโครงสร้างคล้ายอิฐและปูน ที่ประกอบด้วยแคลเซียมคาร์บอเนตอัญรูป อะราโกไนต์ และโปรตีน การเตรียมเกล็ดประกายมุกจากเปลือกหอยแมลงภู่ทำได้โดยการสลายโปรตีนด้วยกระบวนการทางเคมีและความร้อน ศึกษาเอกลักษณ์ทางโมเลกุลและโครงสร้างของเปลือกหอยแมลงภู่และเกล็ดประกายมุกด้วย

โดยใช้เทคนิคกล้องจุลทรรศน์ เป็นเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด เทคนิคอินฟราเรดสเปกโทรสโคปี เทคนิครามานสเปกโทรสโคปี และ เทคนิคการวิเคราะห์การสูญเสียน้ำหนักโดยใช้ความร้อน ขนาดของเกล็ดประกายมุกอยู่ในช่วง 5 – 200 ไมโครเมตร และมีอัตราส่วนความหนาอยู่ที่ 10 แคลเซียมคาร์บอเนตอัญรูปอะราโกไนต์ในแต่ละชั้นมีความกว้าง 5 ไมโครเมตร และความหนา 200 – 500 นาโนเมตร ทั้งนี้ยังคงมีโปรตีนปริมาณเล็กน้อย (ประมาณ 2.2% ของน้ำหนัก) เหลืออยู่ในแผ่นอะราโกไนต์ซึ่งไม่สามารถกำจัดออกได้

สีประกายมุกของเกล็ดประกายมุกที่เตรียมได้นี้มีสีขุ่นมัว ถ้าไม่ได้รับการปรับปรุงด้วยสารละลายกรดไฮโดรคลอริก เพื่อกำจัดฝุ่นแคลเซียมคาร์บอเนตส่วนเกินออกจากผิวหน้าของเกล็ดประกายมุก เกล็ดประกายมุกที่มีสีประกายมุกชัดเจนนั้นมีความแวววาวสวยงาม และเหมาะสำหรับการนำไปใช้ในเครื่องสำอาง สีเคลือบรถยนต์ และวัสดุตกแต่งต่างๆ


ราคาของหอยแมลงภู่ในตลาดและแหล่งจะหน่าย

ราคาจำหน่าย

ราคาหอยแมลงภู่ในท้องตลาดในตอนนี้สำหรับหอยแมลงภู่สดจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ  30 – 90  บาท / กิโลกรัม ซึ่งข้อมูลนี้อิงจากราคา ณ ปัจจุบัน

  • หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ครึ่งฝาแช่แข็ง Size M 300 กรัม   89.00 บาท
  • หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ครึ่งฝาแช่แข็ง Size L 1 กก. 210.00 บาท
  • หอยแมลงภู่ดอง 4ขวด น้ำหนัก 800กรัม 110.00  บาท
  • หอยแมลงภู่ตากแห้ง 370.00  บาท

แหล่งจำหน่าย

ในประเทศไทยนั้นมีแหล่งซื้อขายอาหารทะเลมากมายซึ่งคุณสามารถหาได้จากตลาดหรือห้างสรรพสินค้าใกล้บ้านคุณ หรือจะเป็นการสั่งผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งสะดวกมากในปัจจุบัน แต่แหล่งจำหน่ายที่เราอยากมาจะนำเสนอคุณในครั้งนี้ เป็นช่องทางสำหรับการค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งคุณจะมีตัวเลือกซื้อมากขึ้น

สถานที่ : ตลาดไท

ตลาดไทยเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าทางการเกษรตรและปศุสัตว์มากมายหนึ่งในนั้นคืออาหารทะเล เมื่อไม่นานมานี้ผู้บริหารและทีมงานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยผู้บริหารและทีมงานตลาดไท ร่วมเดินประชาสัมพันธ์รณรงค์ความปลอดภัยในอาหารทะเลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค มีการติดป้ายแหล่งที่มาของสินค้าอาหารทะเล ติดใบรับรองแหล่งที่มาสินค้า นั้นถือว่าเป็นการรับประกันคุณภาพและทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือมากขึ้น

ตลาดไทเริ่มแรกนั้นเป็นตลาดทั่วไปที่สามารถเข้าไปเพื่อเลือกซื้อของตามต้องการ จนในปัจจุบันมีการพัฒนาในด้านการขาย การประชาสัมพันธ์ทำให้มีการทำเว็บไซต์ของตัวเองซึ่งหนึ่งในฟังชันก์ที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนคือการอัพเดตราคาขายของสินค้าชนิดนั้น ๆ ทุกวัน ซึ่งนั้นทำให้ผู้บริโภคและแม่ค้าพ่อค้าที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหารสามารถวางแผนการใช้จ่ายในเรื่องของวัตถุดิบในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หอยแมลงภู่
ตลาดไท
หอยแมลงภู่
โซนขายอาหารทะเล

จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงหอยแมลงภู่นั้นสามารถทำได้ไม่ยาก และต้นทุนที่ไม่มากแต่สามารถทำรายได้ให้กับผู้เลี้ยงได้เป็นมูลค่าที่สูงดังนั้นสำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมและนำวิธีการที่นำเสนอในวันนี้ หรือที่ได้รับมาจากแหล่งต่าง ๆ ไปปรับประยุกต์ให้เหมาะสมตามพื้นที่ของตนเองได้ เพียงแค่รู้จักที่จะปรับและนำไปใช้ก็สามารถทำรายได้ให้คุณตลอดปี 

ทั้งนี้ kaset.today ก็มีบทความดี ๆเกี่ยวกับการทำปศุสัตว์อีกมากมายที่อยากให้คุณได้เข้ามาหาความรู้เพื่อเอาไปต่อยอกในธุรกิจของคุณ


แหล่งอ้างอิง

เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดย สุนันท์ ทวยเจริญ, เอกลักษณ์ แซ่โล้ว และกรมประมง

งานวิจัยอ้างอิงเกี่ยวกับวงจรการสืบพันธุ์

คุณมนตรี สุขใจเจริญพร

นิพนธ์ ศิริพันธ์. (2543). คู่มือการเลี้ยงหอยทะเลเศรษฐกิจ. กรุงเทพมหานคร:กรมประมง, กองส่งเสริมการประมง.

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หน่วยปฏิบัติการซิสเทมาติคส์สัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในหัวข้อ หอยน้ำจืดของไทย

ผศ.ดร.จินตนา สแลน้อย และคณะภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำนักงานวิทยทรัพยากรณ์

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้