แกะ (Sheep) เป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในตระกูลกีบเท้าคู่ มีทั้งชนิดที่มีเขาและไม่มีจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับโคแต่มีขนาดเล็กกว่า สามารถเลี้ยงได้ง่าย กินหญ้าได้หลายชนิดความยาวของลำตัว วัดจากปลายจมูกถึงโค้งหางยาว 1.4 – 1.5 เมตร สูง 65 – 72 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 60 – 70 กิโลกรัม ซึ่งแกะจัดเป็นสัตว์ประเภทสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มี 4 กระเพาะ สามารถออกลูกได้ครั้งละ 1-3 ตัว การเลี้ยงแกะในประเทศไทยนั้นได้เริ่มในช่วงปีพ.ศ. 2509 โดยคณะสอนศาสนาได้นำแกะพันธุ์ดอร์เซ็ท (Dorset) จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเลี้ยงที่จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 7 ตัวและได้นำเข้ามาเพิ่มอีก 6 ตัวจากประเทศออสเตรเลียในภายหลัง ซึ่งในปี พ.ศ. 2522 กรมปศุสัตว์ได้นำเข้าแกะพันธุ์ดอร์เซ็ทฮอร์น (Dorset Horn) มาทดลองเลี้ยงรวมไปถึงภาคเอกชนที่ได้เริ่มนำเข้าแกะพันธุ์อื่น ๆ เข้ามาเลี้ยงเพิ่มขึ้นทำให้การทำปศุสัตว์เลี้ยงแกะเริ่มแพร่กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
สำหรับการเลี้ยงแกะที่โดยพื้นฐานไม่ได้เป็นสัตว์ที่อยู่คู่เศรษฐกิจไทยมาแต่โบราณเหมือนกับวัวหรือควาย แต่ก็ยังมีการนำเข้ามาเลี้ยงจึงอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าการเลี้ยงแกะจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนในเมื่อคนไทยยังนิยมบริโภคเนื้อหมู วัวหรือไก่กันเป็นหลัก ตรงจุดนี้คงมีน้อยคนที่จะรู้ว่าเนื้อ นม ขนและหนังของแกะนั้นมีความสำคัญมากในภาคอุตสาหกรรมอาหารและสิ่งทอของไทย โดยเฉพาะการนำมาเป็นวัตถุดิบหลักในผลิตภัณฑ์บางอย่าง นมแกะแม้ว่าจะไม่นิยมดื่มเพราะมีปริมาณแคลเซียมที่สูงเกินไปสำหรับการดื่มต่อวัน แต่มันก็เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำชีสหลากหลายชนิด รวมไปถึงการทำโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวที่เราบริโภคกันในปัจจุบันด้วย
นอกจากนี้ใครที่ชอบทานอาหารฮาลาลหรืออาหารอิสลามนั้นก็คงจะพอรู้ว่าเนื้อแกะถือเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารชนิดนี้ที่เรียกว่าขาดไม่ได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าในประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมถึง 7.4 ล้านคนแบบนี้เนื้อแกะย่อมมีความต้องการในตลาดมากทีเดียว ยังไม่รวมกับการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ที่มีความต้องการบริโภคเนื้อแกะแต่ภูมิประเทศนั้นไม่เอื้อต่อการเลี้ยง ดังนั้น คนที่กำลังลังเลใจกับการเลี้ยงแกะเพื่อหารายได้ วันนี้ทาง Kaset today จะมาให้ข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงแกะเพื่อให้ทุกคนได้ลองไปศึกษากัน
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับแกะ
ชื่อภาษาไทย: แกะ
ชื่อภาษาอังกฤษ: Sheep
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Ovis aries
ตระกูลสัตว์: อันดับสัตว์กีบคู่ (Artiodactyla) ในวงศ์ใหญ่ Bovidae
ลักษณะนิสัยของแกะที่ต่างจากแพะ
แม้ว่าแกะจะเป็นสัตว์ที่มีลักษณะนิสัยและลักษณะทางกายภาพที่คล้ายกับแพะ แต่ก็จะมีนิสัยบางอย่างที่สามารถแบ่งแยกสัตว์ 2 ประเภทนี้ออกจากการ เช่น แกะจะไม่สามารถปีนป่ายขึ้นที่สูงได้เหมือนแพะ มีความขี้ขลาดกว่าและไม่ได้ฉลาดเท่าแพะ ดังนั้น เมื่อเจอศัตรูก็จะวิ่งหนี แต่ข้อดีคือแกะสามารถปรับตัวอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้นได้ดีกว่าแพะและด้วยนิสัยขี้กลัวของมันทำให้นำมาเลี้ยงในครัวเรือนได้ง่ายเพราะไม่ค่อยมุดรั้วมุดกรงหนี ส่วนนิสัยการกินของแกะนั้นมันสามารถกินพืชได้หลายชนิดทั้งใบไม้ ใบหญ้า พุ่มไม้ต่าง ๆ และไม่ค่อยเลือกกินเหมือนกับแพะ สามารถเลี้ยงแกะในแปลงผักต่าง ๆ หลังการเก็บเกี่ยวได้ แกะจะมีนิสัยชอบเดินแทะเล็มหญ้าวนเวียนไม่ซ้ำที่กัน โดยมันสามารถเดินหากินอาหารได้ไกลถึงวันละ 6 – 8 กิโลเมตรเลยทีเดียว ดังนั้น ควรปล่อยแกะลงกินหญ้าในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากพื้นดินอยู่ระหว่าง 4- 8 นิ้วเพื่อให้แกะไม่เดินไปไกลมาก
สายพันธุ์ของแกะที่นิยมเลี้ยง
สำหรับการเลี้ยงแกะแล้วแม้ว่าจะมีมานานหลายพันปีและมีมากถึง 200 สายพันธุ์จากทั่วโลกที่มนุษย์ต้องทำการศึกษา แต่แกะที่ถูกนำมาเลี้ยงในเชิงปศุสัตว์ทุกวันนี้ก็ค่อนข้างมีความแตกต่างไปจากแกะป่าตามธรรมชาติทั่วไปมาก เนื่องจากพวกมันได้รับการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์มาตลอด เพื่อให้พวกมันสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศ สภาพแวดล้อมที่มนุษย์อาศัยอยู่ ให้สามารถเลี้ยงตามครัวเรือนได้ จึงไม่แปลกที่ในปัจจุบันเราจะพบสายพันธุ์แกะที่นิยมเลี้ยงอยู่เพียงไม่กี่สายพันธุ์และแต่ละสายพันธุ์จะให้ผลผลิตในด้านที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจะมาทำความรู้แกะที่คนนิยมเลี้ยงกันในปัจจุบัน โดยอ้างอิงแกะ 8 สายพันธุ์จากสำนักพัฒนาปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมปศุสัตว์
1) พันธุ์วิลท์ไชร์ฮอร์น
วิลท์ไชร์ฮอร์น (Dorset Horn) เป็นแกะที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศอังกฤษ มีขนสั้น และเขาโก่งโค้งงอเข้าหาใบหน้าแล้วบิดกลับ เป็นสายพันธุ์ที่คนนิยมเลี้ยงเพื่อขุนเนื้อเพราะแกะพันธุ์นี้เมื่ออายุครบ 1 ปีจะมีน้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัมจึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นแกะที่ให้เนื้อโดยเฉพาะและข้อดีคือเมื่อเข้าฤดูร้อนแกะพันธุ์นี้จะสามารถผลัดขนทิ้งเองได้ อีกทั้งแกะสายพันธุ์นี้ยังเหมาะเลี้ยงไว้ใช้สำหรับการปรับปรุงสายพันธุ์แกะเนื้อในประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งมีหลายประเทศที่นำเข้าแกะสายพันธุ์นี้จนเป็นที่ต้องการในตลาดโลก รวมทั้งตลาดเนื้อแกะในไทยก็นิยมบริโภคเนื้อแกะสายพันธุ์นี้เป็นส่วนใหญ่ด้วย
2) พันธุ์ดอร์เซ็ท
ดอร์เซ็ท (Dorset Polled) แกะที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาเพื่อให้มีลักษณะดีสามารถให้เนื้อมีคุณภาพสูงโดยแกะพันธุ์นี้จะมีการจำแนกลักษณะออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดมีเขาเรียกว่าดอร์เซ็ทฮอร์นซึ่งจะมีเขาตามแบบแรกที่เรายกมาและชนิดไม่มีเขาเรียกว่า ดอร์เซ็ทโพล เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ตัวผู้มีน้ำหนักประมาณ 80 – 110 กิโลกรัม ตัวเมียสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปีและมีน้ำนมดีมาก จึงทำให้ลูกแกะที่เกิดมาเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรงมีอัตราการเลี้ยงรอดสูงและยังสามารถทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนได้ดี จึงนำเข้ามาเลี้ยงในไทยได้เกือบทุกพื้นที่เลย
3) พันธุ์คอร์ริเดล
คอร์ริเดล (Corriedale) แกะพันธุ์นี้เมื่อโตเต็มวัยแล้วเพศผู้มีน้ำหนักประมาณ 85 – 110 กิโลกรัม เพศเมียมีน้ำหนักประมาณ 55 – 85 กิโลกรัม ลักษณะของขนมีสีขาวปนน้ำตาลอ่อน ๆ มาเล็กน้อย ขนที่ใบหน้ามีสีขาว หางเป็นชนิดหางเล็กแต่ยาว เนื้อของลูกแกะพันธุ์คอร์ริเดลมีคุณภาพดี แกะพันธุ์นี้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแปลงหญ้าได้ดี ทนทานต่ออากาศร้อนและมีอายุยืนมากจึงใช้เป็นพ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ได้นานกว่าแกะพันธุ์อื่น ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ได้เลี้ยงแกะพันธุ์นี้เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่เกษตรกรและคนทั่วไปที่สนใจจะเลี้ยงแกะ
4. พันธุ์เมอริโน
เมอริโน (Merino) เป็นแกะพันธุ์ใหญ่ที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ตัวผู้จะมีน้ำหนักประมาณ 75 กิโลกรัมสูงประมาณ 70 เซนติเมตร ตัวเมียจะมีน้ำหนักประมาณ 65 กิโลกรัมสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ขนเป็นสีขาวน้ำตาลเนื้อสัมผัสนุ่มละเอียดยาวประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร ปริมาณขนที่ตัดได้ต่อปี ตัวผู้ 4-5 กิโลกรัมต่อตัว ตัวเมีย 3-4 กิโลกรัมต่อตัว ลักษณะหางเป็นแบบหางเล็กแต่ยาว ประเทศไทยได้นำแกะพันธุ์นี้เข้ามาเลี้ยงเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ให้ได้ทั้งเนื้อ นมและขนที่มีคุณภาพ
5) พันธุ์ซัฟฟอล์ค
ซัฟฟอล์ค (Suffolks) เป็นแกะเนื้อของประเทศอังกฤษที่เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีมานานกว่า 200 ปีแล้ว มีชื่อเรียกตามเมืองหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ น้ำหนักแกะพันธุ์นี้เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ตัวผู้หนักประมาณ 100 – 125 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 70 -100 กิโลกรัมมีขนาดตัวใหญ่กว่าแกะพันธุ์อื่นแต่มีหัวเล็ก ลักษณะเด่นจะอยู่ที่ใบหน้า หูและขาจะเป็นสีดำ ส่วนลำตัวและคอจะเป็นสีขาวและตั้งแต่หัวเข่าลงไปถึงเท้าไม่มีขน แกะพันธุ์นี้มีความทนทานต่อสภาพอากาศร้อนและแม่พันธุ์แกะมีความสามารถในการเลี้ยงลูกให้มีอัตราการเจริญเติบโตสูง จึงเป็นแกะพันธุ์ที่เหมาะกับการนำมาปรับปรุงสายพันธุ์หรือจัดจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อทำปศุสัตว์ในครัวเรือน
6) พันธุ์คาทาดิน
คาทาดิน (Katahdin) เป็นแกะที่นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2532 เป็นแกะเนื้อที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี สามารถเลี้ยงปล่อยตามทุ่งหญ้าธรรมชาติและผลัดขนในฤดูร้อน ทนพยาธิภายในมากกว่าแกะพันธุ์อื่น ๆ เนื้อแกะมีคุณภาพดีมาก ไม่มีกลิ่นสาบ น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 2.5-3 กิโลกรัม น้ำหนักเมื่อหย่านมประมาณ 18-20 กิโลกรัม โตเต็มวัยเพศผู้ประมาณ 90 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียน้ำหนักประมาณ 55-60 กิโลกรัม
7) พันธุ์ซานตาอินเนส
ซานตาอินเนส (Santa Ines) เป็นแกะเนื้อที่นำเข้าจากประเทศบราซิลตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 มีขนาดตัวใหญ่ใบหูยาวปรกหน้า ใบหน้าโค้งนูน ขนมีหลายสีทั้งดำ ขาว น้ำตาลหรืออาจมีสีทั้งหมดนี้ปะปนกัน น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 2.5-3.0 กิโลกรัม น้ำหนักเมื่อหย่านมประมาณ 18-20 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มวัยตัวผู้จะหนัก 80 – 90 กิโลกรัมส่วนตัวเมียหนักประมาณ 60 กิโลกรัมเป็นแกะที่มีขนสั้นจึงนิยมเลี้ยงเพื่อเอาขุนเอาเนื้อ
8) พันธุ์ดอร์เปอร์
ดอร์เปอร์ (Dorper) เป็นแกะที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์อย่างสมบูรณ์ในแอฟริกาใต้ช่วงปี ค.ศ. 1940 โดยการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างแกะแบลคเฮด เปอร์เซียน (Blackhead Persian) และพันธุ์ดอร์เซทที่มีเขา (Dorset Horn) สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี ทนต่อความแห้งแล้งได้สูง ลักษณะเด่นคือมีลำตัวสีขาว หัวสีดำ ไม่มีเขาโดยในปีพ.ศ. 2539 ทางกรมปศุสัตว์ได้นำแกะพันธุ์นี้เข้ามาเลี้ยงเพื่อมุ่งเน้นที่จะส่งออกเนื้อแกะที่มีคุณภาพสูง
รูปแบบและวิธีการเลี้ยงแกะ
สำหรับการเลี้ยงแกะนั้นถ้าหากเป็นคนที่ยังไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็อาจจะมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะเลี้ยง เพราะคงจะต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงมากและยังไม่รวมเรื่องการเลี้ยงดูที่อาจมีขั้นตอนวุ่นวาย ซึ่งในส่วนนี้หลายคนอาจต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าแท้จริงแล้วการเลี้ยงแกะมีให้เลือกหลายรูปแบบมากไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เยอะ อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลเรื่องของการเลี้ยงดูที่วุ่นวายเพราะแกะเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างแข็งแรงและทนทานต่อสิ่งเร้าได้ดี กินอาหารได้หลากหลาย ซึ่งการทำความเข้าใจเรื่องวิธีเลี้ยงแกะก็จะช่วยให้เราดูความเหมาะสมได้ว่าควรเลี้ยงแกะในรูปแบบใด สายพันธุ์ไหน สามารถดูแลแกะของเราให้สมบูรณ์แข็งแรงได้อย่างไร ดังนั้น เราจะมาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
รูปแบบการเลี้ยงแกะ
การปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ: การเลี้ยงแกะในรูปแบบนี้ผู้เลี้ยงมักจะเลี้ยงในจำนวนที่ไม่เยอะมาก สามารถนับจำนวนได้ง่าย นิยมเลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อภายในครัวเรือนเป็นหลัก โดยจะใช้การปล่อยแกะให้ออกหาอาหารในสวนผัก สวนผลไม้ของตนเองหรือตามพื้นที่รกร้างต่าง ๆ ซึ่งแกะจะได้รับอาหารตามธรรมชาติ นอกจากนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยยังมีการให้อาหารอื่นเสริม ได้แก่ มันเส้น กากถั่ว เศษผักหรือเกลือแร่อัดก้อน เป็นต้น
การเลี้ยงในระบบฟาร์มแบบแปลงหญ้า: การเลี้ยงแกะในรูปแบบนี้เป็นวิธีที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ ในประเทศไทยจะใช้การเลี้ยงแกะแบบนี้เพื่อขุนเนื้อแกะส่งออกหรือจำหน่ายขนและส่วนอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้ การเลี้ยงแกะรูปแบบนี้จำเป็นต้องมีแปลงหญ้าให้แกะแทะเล็ม ซึ่งอาจเป็นแปลงหญ้าที่เพาะปลูกขึนเองหรือเป็นหญ้าที่เกิดในพื้นที่ลาดเชิงเขากว้าง ๆ แต่จะต้องมีคนคอยเฝ้าระวังและดูแลแกะอยู่ตลอด
การเลี้ยงในระบบฟาร์มแบบกักขัง: การเลี้ยงแกะในรูปแบบนี้ต้องอาศัยการสร้างโรงเรือนให้แกะอยู่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนขึ้นมาจากการเลี้ยงในรูปแบบอื่นแต่ข้อดีคือสามารถเลี้ยงแกะได้จำนวนมาก ผู้เลี้ยงสามารถให้อาหารแกะได้เป็นเวลามากขึ้น อาจใช้วิธีหาหญ้าจากที่สาธารณะหรือแปลงหญ้าหญ้าขน หญ้าเนเปียร์ที่ปลูกเองหรืออาจเสริมด้วยอาหารอื่น อย่างมันเส้น ข้าวโพดบดและหญ้าหมักรวมไปถึงเกลือแร่ร่วมด้วย เกษตรกรส่วนใหญ่จะเรียกวิธีการเลี้ยงแกะในรูปแบบนี้ว่าระบบฟาร์มแบบปิด
วิธีการเลี้ยงแกะ
1) การคัดเลือกแกะไว้ทำพันธุ์
พ่อพันธุ์แกะ: การคัดเลือกแกะไว้เป็นพ่อพันธุ์จะต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการอย่างชัดเจน ถ้าต้องการผลิตแกะเนื้อในทางสากลจะสามารถแบ่งเนื้อแกะได้หลากหลายมากทั้งเนื้อแกะขุน เนื้อลูกแกะหรือเนื้อแกะรุ่น ดังนั้น จะต้องเลือกพ่อพันธุ์ที่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่จะใช้การดูจากลักษณะของลำตัวของแกะที่เป็นสี่เหลี่ยมด้านเท่า คือ ขาสั้น ลำตัวกว้างและแน่น เคลื่อนไหวรวดเร็ว ขาไม่โก่ง กีบและเท้าแข็งแรง ดวงตาแจ่มใส หัวไม่ตก ฟันครบ ขากรรไกรล่างต้องไม่สั้นหรือยาวกว่าขากรรไกรบน เมื่อใช้มือสัมผัสแล้วจะรับรู้ได้ถึงกล้ามเนื้อบริเวณคอ ความกว้างของไหล่ทั้งสองข้าง ส่วนท้องและซี่โครงจะต้องกว้างและแข็งแรง แผ่นหลังกว้าง บริเวณกระดูกปลายสะโพกมีเนื้อ ส่วนหางจะต้องเต็ม ส่วนพ่อพันธุ์สำหรับแกะขนนั้นให้เลือกที่บริเวณไหล่มีขนดี ๆ เนื่องจากบริเวณหัวไหล่ของแกะจะเป็นตำแหน่งที่มีขนมีคุณภาพดีกว่าส่วนอื่น ๆ ขนใต้ท้องและเหนือเข่าจะน้อย ความหนาแน่นของขนจะต้องดูที่ซี่โครง โดยใช้มือลูบให้อยู่ในอุ้งมือและที่สำคัญจะต้องตรวจอวัยวะเพศว่าสมบูรณ์ ไม่ผิดปกติ เส้นรอบวงของลูกอัณฑะทั้งคู่จะต้องไม่น้อยกว่า 28 เซนติเมตร
แม่พันธุ์แกะ: การคัดเลือกแม่พันธู์แกะจะต้องพิจารณาถึงการใช้งานด้วย โดยสุขภาพของแกะที่ดีนั้นจะต้องมีนัยตาที่แจ่มใส ขนเป็นมัน แม่พันธุ์แกะที่ดีนั้นจะต้องมีน้ำหนักประมาณ 80-90 กิโลกรัม เพราะมีผลสำรวจว่าจะมีลูกที่เจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ สามารถทำน้ำหนักส่งตลาดได้เร็วมาก แต่ก็ต้องมีการเตรียมอาหารเสริม เพราะแม่แกะขนาดใหญ่จะต้องใช้พื้นที่และอาหารในการดำรงชีพมากกว่าแกะทั่วไปเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี
2) พื้นที่ในการเลี้ยงแกะ
อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่าการเลี้ยงแกะมีหลายรูปแบบมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเลี้ยงแบบระบบปิดหรือเลี้ยงในโรงเรือน ดังนั้น ในการเตรียมโรงเรือนสำหรับเลี้ยงแกะไม่ว่าจะเพื่อการหารายได้ในครัวเรือนหรือส่งออกสู่ท้องตลาด โรงเรือนก็ควรจะมีลักษณะที่แข็งแรง มีหลังคากันแดดและฝน ควรสร้างโรงเรือนให้ยกสูงจากพื้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในหน้าฝนและให้สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ต้องมีอุปกรณ์ในการใส่น้ำและอาหารเพียงพอให้แกะได้กินครบทุกตัวและมีที่ผนังคอกกั้นเพื่อกันแกะตัวอื่นที่แข็งแรงกว่ามาแย่งอาหารกิน ถ้าเป็นไปได้ก็ควรแบ่งคอกเป็นส่วน ๆ สำหรับเลี้ยงแกะโต แกะเล็ก แกะที่กำลังอุ้มท้อง แม่แกะที่เลี้ยงลูกหรือคอกลูกแกะ การทำพื้นคอกสามารถใช้ไม้ระแนงวางห่าง 1.5 เซนติเมตร ส่วนแกะเล็กประมาณ 1.3 เซนติเมตร เพื่อให้มูลและปัสสาวะระบายลงไปสู่พื้นดินได้เป็นวิธีที่จะทำให้พื้นคอกแห้งไวและไม่ต้องทำความสะอาดบ่อย รวมทั้งช่วยป้องกันพยาธิที่อาจติดออกมากับมูลได้ อีกทั้งยังสามารถเก็บมูลใต้คอกไปใช้ทำปุ๋ยได้อีกด้วย
3) การให้อาหารแกะ
แกะเป็นสัตว์ที่มีทางเดินอาหารค่อนข้างซับซ้อนมาก ดังนั้น เพื่อให้แกะได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ การให้อาหารอาจต้องแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1) อาหารหยาบ เป็นพืชที่นำมาใช้ให้เป็นอาหารสด อาหารหยาบแห้งหรืออาหารหยาบหมัก ได้แก่ หญ้า อาหารสัตว์ชนิดต่าง ๆ พืชตระกูลถั่วบางชนิดหรือเศษเหลือจากพืชบางชนิด เช่น ต้นข้าวโพด ฟางข้าว หรือเศษผักต่าง ๆ และอาจจะมีวัชพืชบางชนิดที่ใช้เป็นอาหารหยาบได้ เช่น ไมยราบยักษ์ ซึ่งโดยปกติแล้วอาหารหยาบจะเป็นอาหารหลักสำคัญของแกะเพราะมีราคาถูกและหาง่าย การให้แกะกินอาหารหยาบในปริมาณที่ต้องการก็สามารถได้รับโภชนาการที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ เพราะมีเส้นใยที่สูงกว่า 18% 2) อาหารข้น เป็นอาหารที่ให้แกะกินได้ในบางช่วงเวลาของการเลี้ยงแกะที่ต้องการผลผลิตในปริมาณที่สูงหรือในช่วงขุนลูกแกะ ซึ่งร่างกายต้องการสารอาหารมากกว่าปกติ เพราะในอาหารข้นจะมีโภชนาการที่สูงกว่าอาหารหยาบมากอีกทั้งยังเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ผลตอบแทนที่ได้ก็ดีกว่ามากเช่นกัน
เกร็ดความรู้
นอกจากเรื่องประเภทของอาหารแกะแล้ว ถ้าหากใครที่เลี้ยงแกะด้วยการปล่อยให้แทะเล็มก็มีสัดส่วนของต้นไม้ ใบหญ้าหรือพฤติกรรมบางอย่างที่เราควรรู้ อาทิ
1) แกะเป็นสัตว์ที่มีนิสัยชอบเล็มพวกต้นไม้หรือพุ่มไม้ที่มีกิ่งใบห้อยลงมา
2) แกะสามารถแทะเล็มหญ้ากินได้มากเฉลี่ย 3 – 6% ของน้ำหนักตัว
3) แกะจะมีพฤติกรรมเลือกเล็มหญ้า 70% และเล็มไม้พุ่มอีก 30%
4) การเลี้ยงแกะในระบบปิดควรให้แกะกินน้ำวันละ 0.68 ลิตรต่อตัว ถ้าเลี้ยงปล่อยควรให้กินน้ำ 2 ลิตรต่อตัว
5) แกะจะใช้เวลาในการกินอาหาร 30% เคี้ยงเอื้อง 12% เดินทางหาอาหาร 12% และผักพ่อน 46%
4) การเตรียมแกะตัดขน
สำหรับใครที่ต้องการเลี้ยงแกะเพื่อเน้นส่งออกขนแกะสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอแล้วสามารถเข้าไปดูขั้นตอนการตัดขนอย่างละเอียดได้ตามคลิปวิธีตัดขนแกะเพื่อความแม่นยำในการตัดหรือใครที่ยังไม่ชำนาญก็สามารถจ้างคนมาตัดขนแกะให้เพื่อผลผลิตที่ได้คุณภาพ ในส่วนของการเตรียมการตัดขนแกะทางกรมปศุสัตว์ได้แนะนำวิธีง่าย ๆ ดังนั้น
1. ขนแกะต้องปนเปื้อนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
2. เตรียมสถานที่สำหรับการตัดขนให้เหมาะสม อาจทำยกพื้นที่สี่เหลี่ยมด้านเท่าสำหรับตัดขน ประมาณ 1.5×1.5 ตารางเมตร
3. แยกขนบริเวณท้องออกไว้ต่างหาก
4. แยกขนที่ต่างคุณภาพออกจากกัน โดยให้คัดแบ่งใส่ถุงและระบุไว้ให้ชัดเจน
5. บรรจุขนแกะให้เต็มถุงที่ใช้เก็บ
ในการทำราคาของขนแกะนั้นจะขึ้นอยู่กับผลงานในการตัดว่าสามารถนำไปใช้งานต่อในงานอื่นได้หรือไม่ ซึ่งแกะสามารถนำมาตัดขนได้ปีละ 1 ครั้ง ดังนั้นจะต้องดูแลแกะให้เป็นอย่างดีให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรให้โดนฝุ่นก่อนตัดประมาณ 4 – 12 ชั่วโมงก่อนตัดจะได้จะช่วยให้ขนแกะมีคุณภาพมากขึ้น ที่สำคัญขนแกะจะต้องไม่เปียก สำหรับบริเวณขนของแกะที่ดีที่สุด ได้แก่ บริเวณหัวไหล่เนื่องจากเป็นขนที่มีความอ่อนนุ่มที่สุด ในส่วนของขนสีข้างที่ต่อมาจากหัวไหล่และอกลงมายาวไปตามซี่โครงและขาหลังเป็นส่วนที่ขนมีความเป็นเส้นใหญ่ มีน้ำหนักและเงางามซึ่งเป็นส่วนที่คนซื้อจะตัดสินใจซื้อ
การดูแลแกะในช่วงผสมพันธุ์และคลอดลูก
ช่วงวัยเจริญพันธุ์
ช่วงนี้จะเป็นระยะที่แกะติดสัดหรือเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 3 – 4 เดือน ตัวเมียจะเป็นสัดและยอมให้ตัวผู้ขึ้นทับผสมพันธุ์ได้ ควรแยกลูกตัวเมียออกไปเลี้ยงเฉพาะในคอกตัวเมียและจะให้ผสมพันธุ์กันเมื่ออายุ 8 เดือนขึ้นไป เพื่อให้พ่อแม่มีความสมบูรณ์พันธุ์ก่อน มิฉะนั้นอาจทำให้ตัวแม่ไม่พร้อมและเลี้ยงลูก น้ำนมน้อยลูกที่เกิดมาอาจมีขนาดตัวเล็ก แคระแกร็นและอ่อนแอจนตายได้ โดยลักษณะการเป็นสัดของแม่แกะให้สังเกตดูที่อวัยวะเพศที่จะบวมแดง ชุ่มชื้นและอุ่นกว่าปกติ แกะจะกระดิกหางบ่อยขึ้น ยืนนิ่งเงียบเมื่อตัวผู้หรือตัวอื่นมายืนใกล้ ๆ มีอาการกระวนกระวายและไม่อยากกินอาหาร แม่แกะมีวงรอบการเป็นสัดทุก 17 วัน ส่วนต่างกัน 2 วัน แม่แพะมีวงรอบการเป็นสัดทุก 21 วัน ส่วนต่าง 2 วัน
ช่วงการผสมพันธุ์
เมื่อเห็นแม่แกะเป็นสัดแล้วระยะที่เหมาะสมให้ตัวผู้ขึ้นทับคือ 12-18 ชั่วโมง หลังจากที่เห็นอาการของการเป็นสัด ซึ่งอัตราส่วนผสม ได้แก่ พ่อหนุ่มจำนวน 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์จำนวน 10-15 ตัว หรือพ่ออายุ 2 ปีขึ้นไปจำนวน 1 ตัวต่อแม่พันธุ์จำนวน 20 – 30 ตัว สำหรับข้อแนะนำ คือ ไม่ควรนำพ่อผสมกับลูกตัวเมียหรือลูกตัวผู้ผสมกับแม่ เพราะอาจทำให้ลูกที่เกิดขึ้นตัวเล็กลง ไม่สมบูรณ์หรือมีลักษณะที่ผิดปกติ พิการ ดังนั้นควรสับเปลี่ยนหมุนเวียนพ่อพันธุ์ตัวใหม่ทุก 12 เดือน ควรคัดแม่ที่ผสมไม่ติด 2 ครั้งออกไปและควรแยกเลี้ยงแม่ท้องแก่กับแม่แกะที่กำลังเลี้ยงลูกไว้ในคอกต่างหากเพื่อกันอันตรายจากตัวอื่น
ช่วงอุ้มท้อง
แกะที่อุ้มท้องนั้นจะมีระยะเวลาในการอุ้มท้องจำนวน 150 วัน โดยให้สังเกตดูว่าแม่แกะอุ้มท้อง โดยการไม่แสดงอาการเป็นสัดอีกเลยหลังจากผสมพันธุ์ไปแล้ว 17-21 วันโดยประมาณหรือมีหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น มีเต้านมและหัวนมขยายใหญ่ขึ้นจากเดิม สำหรับแม่อุ้มท้องจะมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 5 กิโลกรัม ดังนั้นควรเสริมอาหารด้วยหญ้า พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ รำข้าวหรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ที่สำคัญควรมีน้ำสะอาดวางให้กินตลอดเวลา คอกเลี้ยงควรแห้ง สะอาด พื้นคอกแข็งแรงและไม้ระแนงต้องไม่ผุพังเพื่อป้องกันการแท้งลูก
ช่วงคลอดลูก
สำหรับลักษณะอาการใกล้คลอดลูกของแม่แกะจะสังเกตจากสะโพกจะเริ่มขยายมากกว่าเดิม หลังแอ่นลง เนื่องจากท้องหนักขึ้น เต้านมขยายใหญ่มากขึ้น หัวนมแดง อวัยวะเพศบวมแดงและชุ่มชื้น แกะจะไม่นอน แต่ลุกขึ้นเอาเท้าตะกุยพื้นคอกและความอยากอาหารจะลดลง สำหรับการเตรียมตัวก่อนแม่คลอดลูกจะต้องหาคอกที่สะอาด พื้นไม่ชื้นแฉะ มีฟางแห้งรองพื้นให้ความอบอุ่นลูก ช่วงกลางคืนหรือฤดูหนาวก็ควรมีไฟกกลูก พื้นระแนงควรมีช่องห่างไม่เกิน 1.3 เซนติเมตร สิ่งที่ต้องมีคือทิงเจอร์ไอโอดีนสำหรับทาแผลที่ตัดสายสะดือ คนทำคลอดควรตัดเล็บมือให้สั้น ล้างมือให้สะอาด จากนั้นล้างบริเวณอวัยวะเพศแกะให้สะอาดด้วยสบู่ ให้ผู้ช่วยค่อย ๆ จับแม่แกะวางนอนแนบลงกับพื้น จับบริเวณคอแล้วค่อย ๆ ใช้มือล้วงเข้าไปในอวัยวะเพศ สัมผัสลูกให้รู้ตำแหน่งหัวหรือเท้าแล้วจึงดึงเท้าให้ออกมาทั้ง 2 ข้างในท่าที่ถูกต้องช้า ๆ เมื่อลูกออกมาแล้วเช็ดเมือกบริเวณปากจมูกเพื่อกระตุ้นให้ลูกหายใจแล้วปล่อยให้แม่เลียตัวลูก ข้อแนะนำคือถ้าไม่สามารถช่วยทำคลอดได้ด้วยตัวเองควรปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
โรคและการดูแลสุขภาพของแกะ
ในการเลี้ยงแกะที่แม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ แต่ก็มีโรคบางอย่างที่คนเลี้ยงควรจะต้องป้องกันและพยายามดูแลแกะเพื่อไม่ให้เป็นโรคเหล่านี้ด้วยการกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
โรคพยาธิ: แกะจะมีอาการท้องเสีย ผอม ขนหยาบตั้งชันและเซื่องซึม ซีดเซียว คางบวมน้ำ ไปจนถึงสามารถตายได้ทันที ในการรักษานั้นจะต้องให้ยาพยาธิ ในทางที่ดีจะต้องมีการป้องกันที่ดี คือ ให้ยาพยาธิตามระยะเวลา เปลี่ยนชนิดยาที่ให้ทุกปีเพื่อป้องกันการดื้อยา ปล่อยให้สัตว์เล็มหญ้าช่วง 12.00-15.00 น. หรือจัดให้มีการหมุนเวียนในการใช้แปลงหญ้าประมาณ 8-12 สัปดาห์
โรคปอดบวม: อาการคือจะมีการไอบ่อยครั้ง เบื่ออาหาร มีไข้ หายใจลำบาก มีน้ำมูก รักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะ ในการป้องกันคือจะต้องให้โรงเรือนมีการป้องกันฝนสาด ควรมีช่องให้อากาศถ่ายเทสะดวกเพื่อให้คอกแห้ง
โรคเต้านมอักเสบ: อาหารที่สังเกตได้คือแกะจะมีเต้านมสีแดง จับแล้วแกะจะเจ็บและร้องออกมา น้ำนมแกะจะมีสีแดง เหลืองหรือเขียว ในการรักษาจะต้องให้ยาฆ่าเชื้อ ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขาหลังพร้อมกับให้ทางหัวนมด้วยในกรณีที่รุนแรงดังนั้นควรป้องกันอย่าให้คอกสกปรก หลังรีดนมให้จุ่มหัวนมแกะงลในน้ำยาฆ่าเชื้อด้วย
โรคตุ่มหนอง: จะมีแผลสะเก็ดรอบ ๆ ริมฝีปาก ให้ป้ายด้วยยาปฏิชีวนะหรือทิงเจอร์ไอโอดีน 7% หลังจากขูดเอาสะเก็ดออก เพื่อไม่ให้เกิดจะต้องดูแลเรื่องของอาหาร โดยการจัดอาหารที่อ่อนนุ่มรวมไปถึงหญ้าที่ตัดให้ควรจะเป็นส่วนของยอด เพื่อป้องกันการระคายเคือง
โรคท้องอืด: แกะจะกระสับกระส่ายไม่อยู่นิ่ง หายใจลำบาก ทางด้านซ้ายของตัวจะโป่งพอง ถ้ากดหรือเคาะจะกลวง สามารถรักษาโดยให้แกะยืนคาบไม้แล้วกรอกน้ำมันพืชประมาณ 1 แก้ว ในการป้องกันนั้นจะต้องไม่ให้หญ้าอ่อนในปริมาณที่มากเกินไป ส่วนหญ้าสดที่ให้ก็ควรนำไปผึ่งจนน้ำค้างแห้งเสียก่อน
ประโยชน์จากการเลี้ยงแกะสร้างรายได้กำไรงาม
การเลี้ยงแกะเพื่อส่งออกเนื้อคุณภาพ
เนื้อแกะเป็นเนื้อที่มีกลิ่น เนื้อสัมผัสและรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถึงขั้นติดอันดับเนื้อที่มีรสชาติดีเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งเนื้อแกะส่วนใหญ่ที่คนมักจะนิยมรับประทานคือเนื้อลูกแกะ โดยจะเป็นเนื้อแกะที่อายุไม่เกิน 12 เดือน ทำให้คนที่เลี้ยงแกะเป็นอาชีพสามารถส่งออกลูกแกะในช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนกรกฎาคมได้ เพราะเป็นเนื้อลูกแกะที่มีความนุ่มและหอมหวานจากการที่ได้รับนมแม่แกะอย่างเต็มที่ ส่วนในเดือนสิงหาคมไปจนถึงพฤศจิกายนจะเป็นลูกแกะที่เนื้อนุ่ม แน่น มัน เนื่องจากถูกขุนด้วยหญ้าและธัญพืชจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันราคาเนื้อแกะทั่วไปจะอยู่ที่กิโลกรัมละ ประมาณ 70 บาทขาสะโพกกิโลกรัมละ ประมาณ 100 บาท สันนอกกิโลกรัมละ 80 บาท ซี่โครงกิโลกรัมละ ประมาณ 80 บาท แข้งกิโลกรัมละ 80 บาท เครื่องในพวงละ 30 บาท
การเลี้ยงแกะเพื่อผลผลิตนม
นมแกะจะมีลักษณะที่ต่างไปจากนมของสัตว์นิดอื่น ๆ จะสีครีมไปจนเหลืองเล็กน้อย รสหวานเข้มข้น มีกลิ่นที่เฉพาะเจาะจง แกะให้นมประมาณ 0.8 ถึง 1.5 ลิตรต่อวัน ดังนั้นเราสามารถรีดนมแกะได้แบบวันต่อวัน แต่แนะนำว่าควรจะรีดด้วยตัวเองจะดีกว่า นมแกะนั้นไม่นิยมให้เด็กเล็กดื่มเพราะปริมาณแคลเซียมสูงเกินที่ร่างกายของเด็กต้องการ แต่ปัจจุบันก็มีฟาร์มหลายแห่งที่พยายามนำนมแกะไปผ่านการพาสเจอร์ไรซ์หรือผ่านการสกัดเพื่อให้ได้ปริมาณแคลเซียมที่เหมาะสมกับร่างกายของมนุษย์ ถึงอย่างนั้นในบางกรณีนมแกะก็มีประโยชน์สำหรับคนที่เป็นโรคโลหิตจางและต้องการแคลเซียมไปสร้างไขกระดูกใหม่ นอกจากนี้นมแกะก็ยังสามารถส่งออกไปยังอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปหรือผลิตภัณฑ์จำพวกนมเปรี้ยว โยเกิร์ต ไอศกรีม ชีสได้ เป็นอีกวิธีที่จะให้เราได้รับสารอาหารดี ๆ จากนมแกะอย่างวิตามิน A, C, D, E, B1, B2, B3, B5, B6, B9, B12 แคลเซียม โพแทสเซียม เหล็ก สังกะสี โซเดียม ทองแดง แมงกานีส ซีลีเนียมในปริมาณที่เหมาะสมด้วย
การเลี้ยงแกะเพื่อตัดขนและส่งออกหนังแกะ
ขนแกะเป็นเส้นใยขนสัตว์ที่มีคุณภาพสูงจึงนิยมนำมาทอเป็นเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งจะมีราคาสูงมากกว่าเส้นใยชนิดอื่น นอกจากนั้นยังมีผลพลอยได้อย่างอื่นทีสำคัญ ได้แก่ หนังแกะที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ กระเป๋า รองเท้า หรือเสื้อจากหนังแกะที่มีราคาสูงมาก ขนและหนังของแกะจึงเป็นผลิตผลที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เราจะได้จากการเลี้ยงแกะ โดยการส่งออกขนแกะนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ขนแกะเส้นใยละเอียดหรือเรียกว่า วูล (wool) เป็นขนแกะที่นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด อีกส่วนคือขนแกะเส้นใยหยาบหรือเรียกว่า แฮร์ (hair) แกะหนึ่งตัวที่หนักประมาณ 30 กิโลกรัมจะให้ขนแกะชนิดนี้ได้ประมาณ 2.30 กิโลกรัมเลยทีเดียว
การทำฟาร์มเพาะพันธุ์แกะ
การทำฟาร์มแกะเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่กำลังนิยมมากในปัจจุบัน เพราะสามารถเลี้ยงแกะได้หลากหลายสายพันธุ์ สามารถได้ผลผลิตที่หลากหลาย ที่สำคัญสามารถหารายได้จากการเพาะพันธุ์แกะส่งออกไปยังฟาร์มต่าง ๆ หรือส่งออกสู่ภาคเอกชน โดยราคาหน้าฟาร์มจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของแกะส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 20 -30 กิโลกรัม ซึ่งจะขายออกได้ในราคากิโลกรัมละ 150 บาทหรือภาพรวมแล้วลูกแกะไม่เกิน 12 เดือนตัวละ 4,500 – 5,000 บาท เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะขายยกคอกและใช้ต้นทุนค่าอาหารต่ำมาก ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น ๆ ก็ส่งออกได้ นอกจากนี้ยังสามารถหารายได้จากการเปิดเป็นฟาร์มให้คนมาท่องเที่ยวเยี่ยมชมความน่ารักของเจ้าแกะเหล่านี้ได้ ในระยะแรกอาจต้องลงทุนกับเรื่องพื้นที่สำหรับทำฟาร์ม ต้องวางแผนระบบการเลี้ยง การดูแลแกะและคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงแกะว่าต้องการผลผลิตแบบใด
ต้องยกให้การเลี้ยงแกะเป็นอีกอาชีพที่น่าทำมาก ๆ เพราะเลี้ยงง่าย ลงทุนครั้งเดียวก็สามารถสร้างรายได้ในระยะยาวได้ สามารถขยายจากการเป็นเกษตรกรรายย่อยไปสู่การทำปศุสัตว์รายใหญ่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งทาง Kaset today ก็หวังว่าข้อมูลที่นำมาแบ่งปันวันนี้จะช่วยเป็นแนวทางให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่อยากทำปศุสัตว์ต้นทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจมากทีเดียว
แหล่งที่มา
การเลี้ยงแกะ, กรมปศุสัตว์
หารายได้จากการเลี้ยงแกะ, เทคโนโลยี ปศุสัตว์
แกะ ขนแกะและการเลี้ยงแกะ, ปศุสัตว์.คอม