แพะ (Goat) เป็นชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีกีบเท้าคู่ ขนาดตัวกลาง ๆ มีลำตัวของแพะรวมทั้งศีรษะ มีความยาว 4 ฟุต 6 นิ้ว หางยาว 6 นิ้ว ความสูงแค่ไหล่ 3 ฟุต น้ำหนักประมาณ 230 ปอนด์ ตัวผู้โตกว่าตัวเมียเล็กน้อย เขาจะงอโค้งไปข้างหลัง เครายาวที่คางและมีขนหยาบสีดำ ขาวหรือน้ำตาล มีลักษณะทางเพศที่สามารถสังเกตได้ สามารถปีนป่ายที่สูงได้โดยเฉพาะโขดหินหรือภูเขา ปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลกที่นิยมเลี้ยงแพะในครัวเรือนกัน เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเลี้ยงง่าย การซื้อแพะมาเลี้ยงก็ถือว่าไม่ต้องลงทุนในราคาที่สูงมากนัก การสร้างโรงเรือนมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก สามารถหาแหล่งอาหารได้ไม่ยาก อาทิ หญ้า กิ่งไม้ ใบไม้ ไม้เลื้อย พุ่มไม้ วัชพืชต่าง ๆ สามารถเลี้ยงให้มันหากินเองตามธรรมชาติได้ อีกทั้งยังปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่อาศัยได้ดีอีกด้วย
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต้องเรียกได้ว่าแพะเป็นสัตว์ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไปในทุกภาคส่วนของประเทศไทยเลย โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรละสหกรณ์ ได้กล่าวว่าถึงการเลี้ยงแพะในปี 2562 ที่มีจำนวนแพะทั้งสิ้น 832,533 ตัว มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเพิ่มขึ้นอีก 709 ราย ด้วยความที่สามารถเลี้ยงเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมก็ได้ อีกทั้งยังสามารถผลิตและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม จีน และมาเลเซียที่ให้ราคาแพะหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 130 บาท แต่ตอนนี้ปริมาณของแพะกลับไม่เพียงพอต่อการส่งออก
ด้วยเหตุนี้เองทางกรมปศุสัตว์จึงต้องการจะคิดหานโยบายเพื่อช่วยส่งเสริมอาชีพการทำปศุสัตว์เลี้ยงแพะ เช่นการมองหาตลาดรองรับผลผลิตจากแพะมากขึ้น ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะพัฒนาสายพันธุ์แพะให้เลี้ยงง่าย โตเร็วและทนทานต่อโรค รวมถึงการหากิจกรรมให้เกษตรกรได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะด้วยกัน ซึ่งวัันนี้ทาง Kaset today ก็อยากจะมาเป็นเพื่อนชาวเกษตรกรที่ช่วยแนะนำและมอบความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะให้ทุกคนได้ไปศึกษากันด้วย โดยเฉพาะใครที่กำลังลังเลว่าจะเลี้ยงแพะดีไหม ข้อมูลที่เราจะนำมาแบ่งปันวันนี้ก็อาจจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเป็นการตอบข้อสงสัยได้ว่าเราจะสามารถสร้างรายได้ 6 หลักจากการเลี้ยงแพะได้อย่างไรบ้าง
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับแพะ
ชื่อภาษาไทย: แพะ
ชื่อภาษาอังกฤษ: Goat
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Capra aegagrus hircus
ตระกูลสัตว์: จัดอยู่ในตระกูล Odontophoridae (สัตว์มีเท้า 2 กีบ)
สายพันธุ์แพะที่นิยมเลี้ยงในไทย
แม้ว่าในอดีตแพะจะได้ขึ้นชื่อว่าป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติได้ดี มีรูปร่างหรือลักษณะนิสัยเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับสัตว์ประเภทอื่น ๆ แต่ต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าในการผสมเทียมและการขยายสายพันธุ์แพะในปัจจุบันนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของสายพันธุ์แพะมากขึ้นและมีความแตกต่างทางสายพันธุ์ที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน โดยทั่วไปแล้วในประเทศไทยจะมีสายพันธุ์แพะที่นิยมเลี้ยงดังต่อไปนี้
พันธุ์บอร์ (Boer)
เป็นแพะพันธุ์เนื้อ มีลำตัวที่ยาว ขนตัวจะเป็นสรขาว ส่วนขนบริเวณหัวและคอจะมีสีน้ำตาลแดง ใบหูยาวปรกลงมา น้ำหนักแรกเกิด 4 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่เพศผู้จะหนัก 65-90 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียหนัก 55-70 กิโลกรัม ผลผลิตนมเฉลี่ย 1.3 -1.8 ลิตรต่อวัน ในช่วงระยะการให้นมประมาณ 120 วัน ปัจจุบันประเทศไทยนิยมเลี้ยงแพะพันธุ์นี้เพื่อผลิตเนื้อมากกว่า เพราะเป็นแพะที่มีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ ล่ำสัน มีกล้ามเนื้อมาก มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีสามารถให้เนื้อได้มากและยังให้หนังที่มีคุณภาพสูงด้วย
พันธุ์แบลคเบงกอล (Black bengal)
เป็นแพะเนื้อที่มีขนาดเล็ก มีขนสั้นมันเงาสีดำ น้ำตาลเข้มหรือดำปนน้ำตาล มีใบหูเล็กสั้นชี้ตั้ง มีความสูงเฉลี่ย 50 – 60 เซนติเมตร ข้อดีของสายพันธุ์นี้คือมักจะตกลูกแฝด สามารถผสมพันธุ์ได้ทั้งปี แพะสายพันธุ์นี้นำเข้ามาจากบังคลาเทศจึงขึ้นชื่อเรื่องเนื้อที่มีคุณภาพ รสชาติดี ไขมันน้อย หนังมีราคาแพงใช้ทำกระเป๋าได้อย่างดี น้ำหนักแรกเกิด 0.8-0.9 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่เพศผู้จะหนัก 25-30 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียหนัก 20-25 กิโลกรัมและยังให้ผลผลิตนมเฉลี่ย 0.21-0.29 ลิตรต่อวัน ในระยะการให้นมประมาณ 105 วัน
พันธุ์ซาเนน (Saanen)
เป็นแพะพันธุ์ที่ให้ปริมาณน้ำนมสูงมากจนถึงขั้นได้รับฉายาว่าราชินีแห่งแพะนม มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ลักษณะแพะสายพันธุ์นี้จะมีขนสั้น ขนมีสีขาว ครีม น้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ใบหูเล็กชี้ตั้งไปข้างหน้า มีทรงหัวที่แบน ดั้งจมูกลาดตรงเรียวยาว สันหลังขนานกับพื้น อาจจะมีเขาหรือไม่มีก็ได้ น้ำหนักแรกเกิด 3.3 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่เพศผู้จะหนัก 70-80 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียหนัก 50-55 กิโลกรัม สามารถให้ผลผลิตนมเฉลี่ย 2.2 ลิตรต่อวัน ในระยะการให้นมประมาณ 240 – 300 วัน สำหรับการเลี้ยงแพะพันธุ์นี้ในประเทศไทยด้วยความเป็นเขตร้อนก็จะนิยมเลี้ยงแบบขังคอกเท่านั้น เพราะแพะพันธุ์นี้จะไม่ทนทานต่ออากาศที่ร้อนหรือแสงแดดจัด แต่มีนิสัยเฉลียวฉลาด แสนรู้ เราจึงสามารถฝึกฝนให้มันยอมรีดนมได้ง่าย ๆ เลย
พันธุ์แองโกลนูเบียน (Anglo Nubian)
เป็นแพะกึ่งเนื้อกึ่งนมที่เกิดจากการปรับปรุงสายพันธุ์โดยผสมระหว่างแพะพันธุ์ซาไรบีจากอียิปต์ แพะพันธุ์จัมนาปารีจากอินเดียและแพะทอกเก็นเบิร์กจากสวิสเซอร์แลนด์ ลักษณะของแพะสายพันธุ์นี้จะมีสีเดียวทั้งตัวหรือมีสีด่างปนอาจพบขนสีดำ น้ำตาล เทาหรือขาว มีขนาดตัวที่ใหญ่ ลำตัวยาวเมื่อโตเต็มวัยสันจมูกเป็นเส้นโค้ง ใบหูยาวปรกลงมา แพะพันธุ์นี้จะสามารถทนทานกับสภาพอากาศร้อนได้ดีกว่าแพะยุโรปทั่วไป โดยน้ำหนักแรกเกิด 2.5 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่ เพศผู้จะหนัก 60-70 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียหนัก 50-60 กิโลกรัม สามารถให้ผลผลิตนมเฉลี่ย 1.5 ลิตรต่อวันในระยะการให้นมประมาณ 165-200 วัน ข้อดีคือเป็นแพะที่สามารถให้ผลผลิตได้ทั้งเนื้อและนมที่มีคุณภาพ แถมแม่แพะมีอัตราการคลอดลูกแฝดที่สูงด้วย
พันธุ์หลาวซาน (Laoshan)
หลาวซานเป็นแพะนมที่มีขนสีขาวยาวเล็กน้อย หูสั้นชี้ตั้ง น้ำหนักแรกเกิด 1-1.5 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่เพศผู้จะหนัก 80 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียหนัก 60 กิโลกรัม สามารถให้ผลผลิตนมเฉลี่ย 2.2 ลิตรต่อวัน ในระยะการให้นมประมาณ 200 นิยมเลี้ยงแพะชนิดนี้ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นแพะชั้นดีจากประเทศจีนที่สามารถปรับตัวได้ดีกับสภาพที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ มีความสมบูรณ์พันธุ์สูง สามารถให้นมได้มากถึง 800 กิโลกรัมต่อระยะการให้นม 8 – 10 เดือน ที่สำคัญคือเลี้ยงง่าย มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ไม่เลือกอาหารและมีภูมิต้านทานโรคที่ดีมากด้วย
พันธุ์จัมนาปารี (Jamunapari)
จัมนาปารีเป็นพันธุ์แพะเนื้อและนมที่มีลักษณะตัวสูงและสวยที่สุดของประเทศอินเดีย มีจมูกโค้งงุ้ม มีขนสั้น ใบฟูยาวปรกลงมา แพะที่โตเต็มวัยจะมีหูยาวถึง 30 เซนติเมตร ขนที่บริเวณลำตัวจะสั้นแต่ขนส่วนท้ายจะยาว มีขนหลากหลายสีและมีเขาทั้งเพศผู้และเมีย ข้อดีคือเป็นแพะที่กินอาหารเก่ง เจริญเติบโตเร็ว เหมาะสำหรับเลี้ยงแบบปล่อยแทะเล็มหรือเลี้ยงไว้ใช้ปรับปรุงแพะพื้นเมืองให้ใหญ่ขึ้น โดยน้ำหนักแรกเกิดแพะพันธุ์นี้ประมาณ 3.5 – 4 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่เพศผู้จะหนัก 60 – 90 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียหนัก 46 – 63 กิโลกรัม สามารถให้ผลผลิตนมเฉลี่ย 1 ลิตรต่อวันตลอดระยะการให้นมประมาณ 210 – 240 วัน ให้เนื้อและนมที่มีคุณภาพส่งออกได้ในราคาดี
พันธุ์ซามีหรือดามัสกัส (Shami/Damucus)
แพะพันธุ์นี้ถือว่าเป็นแพะนมที่มีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์ ตัวสูง มีขนยาว สีน้ำตาลแดงตลอดทั้งตัว บางครั้งอาจจะพบจุดสีขาวบริเวณหน้าแนวสันหลังและขาหน้า ใบหูยาวและห้อยปรกลงมา บางครั้งเมื่อมันโตขึ้นขากรรไกรล่างจะยื่นออกไปข้างหน้า ถือเป็นแพะที่สามารถปรับตัวได้ดีในภูมิอากาศที่แตกต่างกันมาก จึงสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศไทยได้ มีน้ำหนักแรกเกิด 3.5-5.5 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่เพศผู้จะหนัก 75 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียหนัก 65 กิโลกรัม สามารถให้ผลผลิตนมเฉลี่ย 3-4 ลิตรต่อวันในระยะการให้นมประมาณ 305 วัน
แพะพันธุ์พื้นเมือง
แพะพื้นเมืองจะมีขนาดตัวที่เล็ก ขนมีหลากหลายสีตั้งแต่สีเหลือง แดง น้ำตาลเข้ม ดำ บางครั้งอาจมีขนสีผสมหรือพบลายจุดบนลำตัวแพะ ดังนั้นจะแพะสายพันธุ์นี้จะไม่มีสีขนที่เฉพาะ มีใบหูเล็กชี้ตั้ง สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ตกลูกปีละ 2 ครอก ข้อดีของการเลี้ยงแพะสายพันธุ์นี้คือใช้พื้นที่เลี้ยงค่อนข้างน้อย มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ปีนป่ายได้อย่างคล่องแคล่ว เชื่องมาก ติดสัดเร็ว กินอาหารพวกพืชได้หลายชนิดและยังไม่มีนิสัยตื่นกลัวคนด้วย เหมาะมากกับมือใหม่ที่อยากเลี้ยงแพะหรือคนที่ต้องการเลี้ยงแพะในครัวเรือนได้ น้ำหนักแรกเกิดของแพะพันธุ์นี้ประมาณ 1.5 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่เพศผู้จะหนัก 25 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียหนัก 20 กิโลกรัม สามารถให้ผลผลิตนมเฉลี่ย 0.2 – 0.3 ลิตรต่อวันตลอดระยะการให้นมประมาณ 120 วัน
ขั้นตอนการเลี้ยงแพะสำหรับมือใหม่
การเลือกวิธีเลี้ยงแพะ
ในคู่มือการเลี้ยงแพะของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะเลี้ยงแพะ โดยจะมีรูปแบบวิธีการเลี้ยงที่แตกต่างกันเกษตรกรสามารถเลือกรูปแบบการเลี้ยงได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่หรืองบประมาณได้เลย มีทั้งหมด 4 แบบดังต่อไปนี้
1) การเลี้ยงแบบผูกล่าม: การเลี้ยงแบบนี้ใช้เชือกผูกล่ามที่คอแพะ แล้วให้แพะหาหญ้าในบริเวณที่ผูกไว้เท่านั้น โดยปกติเชือกที่ผูกจะยาวประมาณ 5-10 เมตร การเลี้ยงแบบนี้ผู้เลี้ยงจะต้องมีน้ำและอาหาร แร่ธาตุไว้ให้แพะกินเป็นประจำด้วย ในเวลากลางคืนก็ต้องนำแพะกลับไปเลี้ยงไว้ในคอกหรือเพิ่มที่มีหลบฝน การผูกล่ามแพะควรมีพื้นที่ที่มีร่มเงาที่แพะสามารถหลบแดดหรือฝนได้บ้าง
2) การเลี้ยงแบบปล่อย: เกษตรมักปล่อยแพะให้ออกมาหากินเวลากลางวัน โดยเจ้าของจะคอยดูแลตลอดเวลาหรือเป็นบางเวลาเท่านั้น ลักษณะการเลี้ยงแบบนี้เป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากเพราะเป็นการเลี้ยงที่ค่อนข้างประหยัดต้นทุนด้านอาหาร เกษตรกรไม่ต้องตัดหญ้ามาเลี้ยงแพะ การปล่อยแพะหาอาหารกินอาจปล่อยในแปลงผัก หลังจากการเก็บเกี่ยวหรือปล่อยให้กินหญ้าในสวนยางได้
3) การเลี้ยงแบบขังคอก: คอกอาจจะมีแปลงหญ้าและมีรั้วรอบแปลงหญ้า เพื่อให้แพะได้ออกไปหากินหญ้าในแปลงบางครั้งเกษตรกรต้องตัดหญ้าเนเปียส์ให้แพะกินสลับกันไปบ้าง ในคอกต้องมีน้ำและอาหารข้นให้กินด้วย การเลี้ยงวิธีนี้จะประหยัดพื้นที่และแรงงานในการดูแลแพะแต่ลงทุนสูง เกษตรกรส่วนใหญ่จึงไม่นิยมเลี้ยงด้วยวิธีแบบนี้
4) การเลี้ยงแบบผสมผสานกับการปลูกพืช: การเลี้ยงแบบนี้เป็นอีกวิธีที่เกษตรกรไทยเลือก เพราะสามารถเลี้ยงแพะไปพร้อมกับการปลูกพืชหรือทำเกษตรอื่น ๆ ได้ เช่น ปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน และปลูกมะพร้าว จะเห็นมากในภาคใต้ของไทยที่มีเกษตรกรจำนวนมากทำการเลี้ยงแพะควบคู่กันไป สามารถให้แพะกินหญ้าใต้ต้นยาง อีกทั้งการเลี้ยงแบบนี้ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
การเตรียมตัวก่อนเลี้ยงแพะ
1) การเตรียมโรงเรือน
ในการเลี้ยงแพะจะไม่เหมือนกับสัตว์อื่น ๆ คือจะต้องมีสถานที่สำหรับแพะได้มีที่พักอาศัยหลบแดด หลบฝน หรือเป็นที่สำหรับนอนในเวลากลางคืน การสร้างโรงเรือนที่ใช้เลี้ยงแพะควรยึดหลักการดังนี้
พื้นที่ตั้งของคอก: ในการสร้างโรงเรือนให้แก่แพะนั้น ไม่ได้ยาก โดยที่ลักษณะคอกแพะควรอยู่ที่เนินน้ำไม่ท่วมขัง ทางเดินสำหรับแพะขึ้นลงไม่ควรมีความสลาดสูงกว่า 45 องศา เนื่องจากสูงเกินไป จะทำให้แพะจะไม่ค่อยกล้าขึ้นลง พื้นที่คอกที่ยกระดับจากพื้นดินควรทำเป็นร่อง โดยใช้ไม้ขนาดหนาประมาณ 1 นิ้ว กว้างประมาณ 2 นิ้ว ปูพื้นให้เว้นระยะระหว่างไมแต่ละอันห่างกันประมาณ 1.5 เซนติเมตร หรืออาจจะใช้พื้นเป็นคอนกรีต โดยปูพื้นคอกแพะด้วยสแลตที่ปูพื้นคอกสุกรก็ได้ พื้นที่เป็นร่องนี้จะทำให้มูลของแพะตกลงข้างล่าง พื้นคอกจะแห้งและสะอาดอยู่เสมอ
ผนังคอก: ส่วนใหญ่ที่สร้างโรงเรือนนั้นจะต้องมีอากาศที่ลอดช่องผ่านเข้ามาได้ ดังนั้นควรสร้างให้โปร่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี ผนังคอกควรมีความสูงไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้แพะกระโดดหรือปีนข้ามออกไปได้ง่ายดาย
หลังคาโรงเรือน: แบบของหนังคาโรงเรือนเลี้ยงแพะมีหลายแบบ เช่น เพิงหมาแหงนหรือแบบหน้าจั่ว ควรเลือกแบบที่คิดว่าเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและทุนทรัพย์ หลังคาโดยปกติมักจะสร้างให้สูงจากพื้นคอกประมาณ 2 เมตร ไม่ควรสร้างโรงเรือนให้หลังคาต่ำเกินไป เพราะอาจทำให้ร้อนและอากาศถ่ายเทไม่ดี สำหรับวัสดุที่ใช้มุงหลังคาจะใช้ใบจากหญ้าแฝกหรือสังกะสีก็ได้
ความต้องการพื้นที่ของแพะ: แพะมีความต้องการพื้นที่ในการอยู่อาศัยในโรงเรือนประมาณตัวละ 1 ตารางเมตร ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงมักแบ่งโรงเรือนด้านในออกเป็นคอก ๆ แต่ละคอกจะขังแพะรวมฝูงกันประมาณ 10 ตัว โดยคัดเฉพาะขนาดของแพะที่ใกล้เคียงกันเพื่อขังรวมฝูง
รั้วคอกแพะ: รั้วควรสร้างด้วยไม้ไผ่หรือลวดตาข่าย ทุกระยะ 3 – 4 เมตร จะมีเสาปักเพื่อยึดให้รั้วแข็งแรง หากจะสร้างรั้วให้ประหยัดอาจจะใช้กระถินปลูกเป็นแนวรั้วปนกับการใช้ไม้ไผ่ จะทำให้รั้วไผ่คงทนและใช้งานได้นาน โดยระยะแรกต้องสร้างรั้วไม้ไผ่แล้วปลูกกระถินเป็นแนวข้างรั้วไม้ไผ่เมื่อกระถินโตขึ้นก็จะเป็นรั้วทดแทนต่อไป
2) การคัดเลือกแพะพันธุ์ดี
การที่เราได้ลูกแพะแข็งแรงหรือให้ผลผลิตที่ดีได้ในตอนโตเต็มวัย ปัจจัยสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องของการเตรียมพื้นที่หรือการเลี้ยงดูอย่างเดียว แต่การคัดเลือกพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ที่ดีมีความสำคัญมาก ๆ ซึ่งการเริ่มต้นคัดแยกพันธุ์แพะนั้นอาจต้องเริ่มจากการเลี้ยงแพะพันธุ์พื้นเมืองหรือเป็นแพะลูกผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองกับสายพันธุ์ของต่างประเทศที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์แล้ว เพราะจะเป็นแพะที่เลี้ยงดูง่ายใช้การลงทุนต่ำและเมื่อผสมพันธุ์กันออกมาแล้วก็จะได้แพะที่มีลักษณะสมบูรณ์ โดยจะมีวิธีสังเกตพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์แพะที่มีลักษณะดีดังต่อไปนี้
ลักษณะแม่พันธุ์แพะที่ดี: มีลำตัวยาว หลังเป็นเส้นตรง เต้านมขนาดใหญ่และยาวเท่ากัน ขาตรงแข็งแรงและสมส่วน
ลักษณะพ่อพันธุ์แพะทีดี: คือ มีหลังเป็นเส้นตรง รูปร่างสูงใหญ่ มีน้ำหนักตัวมากสุดในฝูงหน้าอกลึก กว้าง ส้นเท้าสูง อัณฑะปกติและมีขาตรงแข็งแรง
การดูแลแพะในแต่ละช่วง
1) ช่วงวัยเจริญพันธุ์ (ระยะการเป็นสัด)
เมื่อแพะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือช่วง 3-4 เดือนตัวเมียจะเริ่มติดสัดและยอมให้ตัวผู้ขึ้นทับเพื่อผสมพันธุ์ได้ ควรแยกลูกตัวเมียออกไปเลี้ยงเฉพาะในคอกตัวเมียและจะให้ผสมพันธุ์อีกครั้งเมื่ออายุครบ 8 เดือน เพราะจะช่วยให้แม่แพะไม่พร้อมเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเต็มที่ ป้องกันลูกที่เกิดมาจะตัวเล็กแคระแกร็นและร่างกายอ่อนแอจนตายได้
2) ช่วงการผสมพันธุ์
เมื่อเห็นแม่แพะเป็นสัดแล้วลักษณะที่จะสังเกตได้คือดูจากอวัยวะเพศบวมแดง ชุ่มชื้น และอุ่น กระดิกหางบ่อยขึ้น จะยืนเงียบ เมื่อตัวผู้หรือตัวอื่นมายืนประกบติด ดูกระวนกระวายและไม่อยากอาหาร แม่แพะมีระยะห่างจากการเป็นสัดประมาณ 19 – 23 วัน แม่แกะมีระยะห่างการเป็นสัด 15-19 วันระยะที่เหมาะสมให้ตัวผู้ขึ้นทับคือ 12-18 ชั่วโมง หลังจากที่เห็นอาการการเป็นสัด อัตราส่วนการผสมพ่อพนธุ์หนุ่ม 1 ตัวต่อแม่พันธุ์ 10-15 ตัว พ่ออายุ 2 ปีขึ้นไป 1 ตัวต่อแม่ 20 – 30 ตัว ข้อแนะนำ คือ ไม่ควรนำพ่อผสมกับลูกตัวเมียหรือลูกตัวผู้ผสมกับแม่ เพราะอาจทำให้ลูกที่เกิดมาตัวเล็กลง ไม่สมบูรณ์หรือมีลักษณะผิดปกติ ควรผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนพ่อพันธุ์ตัวใหม่ทุก 12 เดือนและคัดแม่ที่ผสมไม่ติด 2 ครั้งออกไป ควรแยกเลี้ยงแม่ท้องแก่และแม่เลี้ยงลูกไว้ในคอกต่างหาก เพื่อป้องกันอันตรายจากแพะตัวอื่น
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับหลักการผสมพันธุ์แพะ
จากการศึกษาคู่มือการเลี้ยงแพะของกรมปศุสัตว์เราจะพบหลักการในการผสมพันธุ์แพะง่าย ๆ แค่ 3 ข้อที่มือใหม่ควรเรียนรู้ให้เข้าใจ ได้แก่
1) พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์แพะจะต้องเลือกมาจากแพะที่มีความสมบูรณ์ทางสายพันธุ์ มีการเจริญเติบโตที่ดี มีประวัติการให้ลูกแฝดสูง และไม่มีปัญหาเรื่องของโรคมาก่อน
2) ห้ามนำพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์มาผสมกับตัวลูกของพวกมันเอง เนื่องจากอาจจะทำให้ลูกที่เกิดจากการผสมนั้นมีความผิดปกติทางพันธุกรรมและไม่สามารถให้ผลผลิตที่ดีได้
3) ห้ามนำลูกที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกันมาผสมกันเอง เนื่องจากอาจจะเกิดการจับคู่ในยีนด้อยของกันและกัน แพะที่เกิดมาจะมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงและอายุสั้นได้
3) ช่วงการอุ้มท้อง (ระยะอุ้มท้อง 150 วัน)
สังเกตดูว่าแม่แพะอุ้มท้องหรือไม่ ถ้าติดลูกแพะจะไม่แสดงอาการเป็นสัดอีกหลังจากผสมพันธุ์ไปแล้ว 17 – 21 วัน ท้องขยายใหญ่ขึ้นตามลำดับ เต้านมและหัวนมขายใหญ่ขึ้นจากเดิม ช่วงระยะการอุ้มท้องน้ำหนักแม่จะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 5 กิโลกรัม ดังนั้นควรเพิ่มหญ้า ถั่วหรือพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ และเสริมอาหารด้วยรำข้าว กากถั่วเหลืองหรือพืชที่เหลือใช้จากการเกษตร เช่น แอ้ข้าวโพดและควรมีน้ำสะอาดวางให้กินเต็มที่และคอกเลี้ยงควรแห้ง สะอาด พื้นคอกแข็งแรง ไม้ระแนงไม่ผุพัง เพื่อป้องกันการแท้งลูก
4) ช่วงคลอดลูก
ลักษณะอาการใกล้คลอดลูกของแม่แพะสังเกตจากสะโพกที่เริ่มขยาย หลังแอ่นลง (เพราะท้องหนักขึ้น) เต้านมขยายใหญ่มากขึ้นและหัวนมเต่ง อวัยวะเพศบวมแดง และชุ่มชื้น จะไม่นอน แต่ลุกขึ้น เอาเท้าตะกุยพื้นคอก ความอยากอาหารลดลงในส่วนของพื้นที่ควรหาคอกที่สะอาดและพื้นไม่ชื้นแฉะ ควรมีฟางแห้งรองพื้นให้ความอบอุ่นลูกช่วงกลางคืนหรือฤดูหนาว ควรมีไฟกกลูก พื้นระแนงที่เลี้ยงลูก ควรมีช่องห่างไม่เกิน 1.3 เซนติเมตร ควรมีทิงเจอร์ไอโอดินไว้สำหรับทาแผลที่ตัดสายสะดือ ปรับท่าแม่แพะให้เหมาะกับการคลอด หากลูกคลอดผิดท่าให้ปล่อยแม่แพะคลอดลูกเอง แต่ถ้าภายใน 1 ชั่วโมงลูกยังไม่คลอดออกมาให้เราตัดเล็บมือให้สั้นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ล้างบริเวณอวัยวะเพศด้านท้ายให้สะอาดด้วยสบู่ ให้ผู้ช่วยค่อย ๆ จับแม่แพะวางนอนลงทางด้านขวาตัวแม่ทับพื้นจับด้วยบริเวณคอ ค่อย ๆ ใช้มือล้วงเข้าไปคลำหาตำแหน่งหัวหรือเท้าของลูกแพะ แล้วจึงดึงเท้าออกมาทั้งสองข้างในท่าที่ถูกต้องอย่างช้า ๆ เมื่อลูกออกมาได้แล้วให้เช็ดเมือกบริเวณปากจมูกเพื่อกระตุ้นให้ลูกหายใจแล้วปล่อยให้แม่เลียตัวลูก ส่วนกรณีอื่น ๆ ที่ไม่สามารถช่วยคลอดได้ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
5) การเลี้ยงดูลูกช่วงแรกคลอด
ควรให้ลูกได้กินน้ำนมเหลืองจากแม่ทันที ถ้าหากลูกอ่อนแอ อาจรีดนมแม่ใส่ขวดนมหรือหลอดฉีดยาแล้วนำมาป้อนลูกด้วยตนเอง หากแม่ไม่มีน้ำนมเลี้ยงลูก หรือแม่ตาย อาจใช้น้ำนมเหลืองเทียมที่ทำขึ้นเองโดยใช้ส่วนผสม คือ นมวัว หรือนมผง 0.25-0.5 ลิตร น้ำมันตับปลา 1 ช้อนชา ไข่ไก่ 1 ฟอง และน้ำตาล 1 ช้อนชา ผสมละลายให้เข้ากัน และอุ่นนมที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ป้อนให้ลูกดูดกิน 3-4 วัน วันละ 3-4 ครั้ง หลังจากนั้นฝากแม่ตัวอื่นเลี้ยง ซึ่งต้องคอยดูแม่ว่ายอมรับเลี้ยงลูกกำพร้าหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับอาจใช้ยาหม่องหรือของที่มีกลิ่นฉุนป้ายจมูกแม่ หรือใช้เชือกผูกคอแม่ เพื่อไม่ให้เห็นลูกกำลังดูดนม
การให้อาหารแพะในแต่ละช่วง
แรกเกิด – 3 วัน: นมน้ำเหลืองเต็มที่วันละ 3-5 ครั้ง
อายุ 4 วัน – 2 สัปดาห์: นมแพะ 0.5-1 ลิตรต่อวัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง พร้อมทั้งให้วิตามินและแร่ธาตุเพิ่มเติม
อายุ 2-6 สัปดาห์: นมสดหรือนมเทียม 0.5-1 ลิตรต่อตัว แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง หรืออาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 22 เริ่มให้วันละน้อยก่อนแล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นหรือหญ้าแห้งผสมถั่วหรือหญ้าสดให้กินเต็มที่ พร้อมด้วยวิตามินและแร่ธาตุอายุ 4 เดือน: อาหารหยาบ เช่น หญ้าสด ให้กินเต็มที่ พร้อมด้วยวิตามินและแร่ธาตุผสม หรืออาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 18-20
แม่พันธุ์อุ้มท้อง แม่พันธุ์ที่หยุดรีดนมและพ่อพันธุ์: ให้กินอาหารหยาบเต็มที่พร้อมด้วยวิตามินและแร่ธาตุผสมหรืออาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 16-18
แม่พันธุ์ระยะให้นม: ให้กินอาหารหยาบเต็มที่ พร้อมด้วยวิตามินและแร่ธาตุผสมหรืออาหารข้นที่มีโปรตีนรวมร้อยละ 16 -18 ขึ้นกับปริมาณน้ำนมที่รีดได้ โดยให้อาหาร 0.3 – 0.5 กิโลกรัมต่อน้ำนมที่รีดได้ 1 ลิตร
ตัวอย่างสูตรอาหาร
โปรตีนรวมร้อยละ 18 – 20 ให้ผสมวัตถุดิบระหว่าง ข้าวโพด 12 กิโลกรัม กากมะพร้าว 40 กิโลกรัม เนื้อและกระดูกป่น 10 กิโลกรัม เกลือป่น 1 กิโลกรัม รำละเอียด 24 กิโลกรัม กากถั่วเหลือง 8 กิโลกรัม และกากน้ำตาล 5 กิโลกรัม เป็นต้น
การดูแลด้านสุขภาพ
ถึงแม้ว่าแพะจะเป็นสัตว์ที่สามารถทนทานต่อสภาพอากาศหรือปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ค่อนข้างดี แต่สิ่งที่คนเลี้ยงอย่างเราต้องระมัดระวังมากคือการดูแลสุขภาพของแพะไม่ให้ป่วย โดยในข้อมูลการเลี้ยงแพะของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อธิบายโรคที่มักจะพบได้ในแพะและวิธีการดูแลสุขภาพของแพะไว้ดังต่อไปนี้
โรคพยาธิ: ด้วยความที่แพะเป็นสัตว์กินง่ายและกินพืชได้เกือบทุกชนิดจึงไม่แปลกที่จะพบพยาธอในแพะได้ง่าย ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดเราควรถ่ายพยาธิแพะทุก 3 เดือน โดยใช้ยาถ่ายพยาธิที่จำหน่ายทั่วไป ซึ่งจะมีทั้งแบบกรอกเพื่อกำจัดพยาธิภายนอกและแบบฉีดสำหรับกำจัดพยาธิภายใน
โรคแท้งติดต่อ: ในแพะมักเกิดจากเชื้อ Brucella melitensis คนก็สามารถติดโรคนี้ได้จากการบริโภคน้ำนมและผลิตภัณฑ์นม เช่น ครีม เนยซึ่งผลิตจากแพะที่เป็นโรคและไมได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคก่อน อาการที่แสดงออกคือ แพะจะเกิดการแท้งลูกหรือคลอดลูกที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงนัก มักจะมีน้ำเมือกไหลมาจากช่องคลอดนานเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ เดินกะโผลกกะเผลก เต้านมอักเสบ น้ำหนักลด ขนแห้งและเป็นหมัน โดยการติดต่อสามารถติดต่อโดยการสืบพันธุ์ การเลียอวัยวะสืบพันธุ์ของตัวอื่น การกินอาหารและน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนอยู่ เชื้อนี้จะมีในน้ำเมือกสัตว์ ปัสสาวะ และซากลูกสัตว์ที่แท้งออกมา
โรคมงคล่อเทียม หรือโรคเมลิออยโดซิส: ส่วนใหญ่จะพบโรคนี้ในประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนหรือเขตร้อนชื้น สามารถติดในคนและสัตว์ได้ โดยจะมีอาการปวดหัว เบื่ออาหาร ปวดตามตัวและมีอาการทางระบบหายใจ รวมทั้งมีไข้ ไอ ซึ่งจะติดต่อจากการสัมผัสเชื้อโดยตรง การหายใจหรือการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนจากเชื้อโรคและสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสเลือดหรือของเหลวจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำมูก น้ำนม เป็นต้น
โรคปากเปื่อย: เกิดจากเชื้อไวรัสบางอย่าง อาการคือพบแผลนูนคล้ายหูดบริเวณริมฝีปาก รอบจมูก รอบตา บางครั้งลุกลามไปตามลำตัว ถ้าเป็นลูกสัตว์อาจตายเพราะกินอาหารไม่ได้หรือตายเพราะโรคปอดบวมแทรกซ้อน แต่ถ้าเป็นแพะที่โตแล้วอาการอาจไม่รุนแรงมาก แผลจะหายไปเองภายในประมาณ 28 วัน การรักษาโรคนี้นั้นจะต้องใช้ยาม่วงหรือทิงเจอร์ไอโอดีนทาแผลวันละ 1-2 ครั้ง ในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ ดังนั้นถ้าพบแพะเป็นโรคนี้ให้รีบแยกตัวป่วยออกจากเพื่อนทันทีและรักษาจนกว่าจะหายจึงสามารถนำตัวนั้นกลับเข้าฝูงได้
โรคปอดบวม: โรคนี้เกิดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งและเกิดได้กับแพะทุกอายุ พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะแพะที่อ่อนแอและไม่เคยถ่ายพยาธิ โดยจะพบภาวะโรคนี้บ่อย ๆ ในฤดูฝนเชื้อจะติดต่อได้อย่างรวดเร็วผ่านการกินน้ำ อาหาร หายใจเอาเชื้อที่มีในอากาศร่วมกันเข้าไป การอยู่รวมฝูงกับแพะป่วยด้วยโรคนี้จะทำให้มีไข้ จมูกแห้งมีน้ำมูก หอบ หายใจเสียงดัง ไอ ถ้าเป็นเรื้อรังแพะจะแคระแกร็น อ่อนแอ แพะป่วยจะตายถึง 60-90% โดยเฉพาะแพะที่มีพยาธิมากและลูกแพะหลังหย่านมใหม่จะมีโอกาสตายมากที่สุด วิธีรักษาให้ฉีดยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลลิน อ็อกซิเตตราซัยคลิน คลอแรมเฟนนิคลอหรืออย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเวลา 3-5 วันติดต่อกัน ทั้งนี้ควรปรึกษาสัตวแพทย์ในการรักษาโรคนี้ สามารถป้องกันได้โดยจัดการโรงเรือนให้สะอาด ทำให้พื้นคอกแห้งอย่าให้ฝนสาดหรือลมโกรกแพะและควรยกพื้นโรงเรือนประมาณ 1-1.5 เมตร
โรคไข้นม: โรคนี้เกิดในระยะที่แพะใกล้คลอดหรือขณะที่กำลังอยู่ในระยะให้นม สาเหตุเกิดจากแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ เนื่องจากถูกนำไปใช้ในการสร้างน้ำนม อาการของแพะที่เป็นโรคไข้นมคือตื่นเต้นตกใจง่ายการทรงตัวไม่ดี กล้ามเนื้อเกร็ง นอนตะแคงและคอบิด ซีด หอบ อ่อนเพลีย ถ้าเป็นมากและรักษาไม่ทันก็ถึงตายได้ ส่วนการรักษาให้รีบติดต่อสัตวแพทย์ในท้องที่มารักษา การป้องกันให้เพิ่มอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมมากขึ้นในช่วงที่แพะคลอดและให้นม
โรคขาดแร่ธาตุ: มักจะเกิดกับแพะเพศเมีย เพราะไม่ได้รับแร่ธาตุหรืออาหารข้นเสริม ยิ่งในประเทศที่มีแร่ธาตุในดินต่ำจะพบแพะป่วยด้วยโรคนี้มาก สาเหตุเกิดจากขาดแร่ธาตุหลัก ได้แก่ แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม เป็นต้น แพะแสดงอาการอ่อนแอ คอเอียง เดินหมุนเป็นวงกลม ล้มลงนอนตะแคง ท้องอืด และตายใน 2-3 วัน การรักษาทำได้โดยการให้อาหารข้นและแร่ธาตุแก่แพะเลียกินตลอดเวลาหรือให้วิตามินและแร่ธาตุโดยการฉีด
ช่องทางหารายได้ 6 หลักจากการเลี้ยงแพะ
จากการศึกษาข้อมูลของสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์เรื่องประโยชน์ของแพะที่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่เนื้อ นม หนัง ขน มูลรวมไปถึงส่วนเขาของมันด้วย โดยเฉพาะเนื้อและนมแพะที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยก็กำลังมีความพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทยสามารถผลิตและส่งออกสินค้าจากแพะให้มีคุณภาพดีทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ดังนั้นการหารายได้จากการทำปศุสัตว์เลี้ยงแพะก็พอจะทำให้เกษตรกรหลาย ๆ คนมองเห็นช่องทางที่จะสร้างกำไรถึง 6 หลักได้ไม่ยาก ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวเรามาดูกันว่าประโยชน์ของการเลี้ยงแพะสามารถสร้างรายได้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง
1) การทำฟาร์มเลี้ยงแพะ
ฟาร์มแพะเป็นการส่งเสริมการทำปศุสัตว์ในเชิงท่องเที่ยว แต่สามารถหารายได้แบบหลายทางไปด้วยส่วนใหญ่แล้วการทำฟาร์มแพะนอกเหนือไปจากการเลี้ยงแพะเพื่อให้คนเข้ามาดูความน่ารักแสนรู้ของมันแล้ว ก็ยังสามารถเลี้ยงไว้เพื่อส่งออกผลผลิตจากแพะซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตสดใหม่จากฟาร์มได้หรือจะเลือกเพาะพันธุ์แพะสายพันธุ์สวย ๆ หายากเพื่อเปิดให้คนที่สนใจเข้ามาดูได้ ถือเป็นการหารายได้ในระยะยาวจากการเลี้ยงแพะด้วย
2) การส่งออกเนื้อแพะ
ปัจจุบันการเลี้ยงแพะเนื้อ มีการเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 10 ซึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ส่งออกมากถึง 85% ส่วนอีก 10% คือประเทศเวียดนาม และอีก 5% เป็นการส่งออกตามท้องตลาดภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่การบริโภคเนื้อแพะจะนิยมในกลุ่มชาวมุสลิมที่ต้องใช้เนื้อแพะเป็นส่วนประกอบหลักในอาหาร ทำให้มาเลเซียมีความต้องการนำเข้าเนื้อแพะอย่างต่อเนื่อง เพราะการเลี้ยงแพะเนื้อในประเทศมาเลเซียทำได้ยากมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศค่อนข้างชื้น ส่งผลให้แพะสุขภาพไม่แข็งแรง เป็นโรคง่ายและโตช้า โดยรวมแล้วการส่งออกแพะเนื้อนั้นสามารถสร้างผลกำไรได้ค่อนข้างดีและนักวิชาการด้านปศุสัตว์หลายคนที่คาดการณ์ถึงแนวโน้มช่วงหลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้นแล้ว เนื้อแพะไทยมีโอกาสที่ราคาส่งออกจะพุ่งสูงมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน
3) การส่งออกนมแพะ
สำนักงานสภาเกษตรจังหวัดลำปางได้เผยแพร่ถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของนมแพะ เพื่อเพิ่มรายได้จากเลี้ยงแพะ ซึ่งนอกจากเนื้อจะส่งออกได้แล้วก็ยังสามารถส่งออกนมแพะได้ด้วย โดยส่วนใหญ่มักจะนำนมของแพะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ครีม เนยเหลว ไอศกรีม โยเกิร์ต เนยแข็ง (เนยแข็งสด, บลูชีส) เป็นต้นหรือใช้ทำสบู่เครื่องสำอางเพราะอุดมด้วยไวตามินเอที่ทำให้ผิวอ่อนนุ่ม ชุ่มชื้น มีไวตามินอีและเอ็นไซม์ที่มีส่วนช่วยบำรุงผิวให้เนียนสวย
4) การเพาะพันธุ์แพะขาย
ต้องบอกว่ารายได้จากการเพาะพันธุ์แพะขายหรือส่งออกนั้นสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรมาแล้วนับไม่ถ้วน ยิ่งถ้าหากเรามีสายพันธุ์ที่ดี ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศแล้วก็จะยิ่งกอบโกยรายได้จากส่วนนัเไม่น้อยเลย โดยตลอดระยะเวลา 2 ปี เมื่อเทียบแล้วแม่แพะ 1 ตัวจะให้ลูกประมาณ 3 – 4 ตัวต่อปี ดังนั้นถ้ามีแม่พันธุ์แพะ 20 – 30 ตัว ก็อาจจะขยายพันธู์และนำลูกแพะส่งออกไปขายได้ราว ๆ 70 – 80 ตัวต่อปีเลยทีเดียว โดยปัจจุบันจะคิดราคาตามน้ำหนักซึ่งแพะ 1 ตัวจะมีน้ำหนักราว ๆ 30 กิโลกรัมขึ้นอยู่กับการขุนหรือสายพันธุ์นั้น ๆ ด้วย แต่ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท ดังนั้นรายได้เฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่ 252,000 บาท ซึ่งรายได้ในหลักแสนนี้ถือเป็นแค่เพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อมีการขยายสู่ตลาดต่างประเทศก็จะสามารถทำรายได้ถึงหลักล้านเลยทีเดียว
5) การส่งออกหนังแพะ
ในส่วนของหนังแพะนั้นเรียกได้ว่ามีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอไม่แพ้กัน เพราะหนังของมันมักจะถูกนำมาใช้ทำเครื่องหนังคุณภาพดีให้กับสินค้าอย่างรองเท้า กระเป๋าและเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะหนังจากลูกแพะซึ่งมีราคาแพง คนส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจึงมีความต้องการสินค้าที่ได้จากผลิตภัณฑ์หนังแพะสูง ส่วนขนของแพะนั้นสามารถ ผลิตผ้าได้แต่จะแบ่งขนออกเป็น 4 ชนิด คือ ขนแฮร์ เป็นการถักทอผ้าที่มีเส้นใยเนื้อหยาบ ส่วนโมแฮร์ มาจากแพะพันธุ์แองโกราซึ่งจะมีความมันวาว นุ่ม ทนทาน ไม่ติดไฟจึงมีน้อยและมีคุณภาพมาก ส่วนแคชเมียร์เป็นขนแพะที่นุ่มที่สุดจึงนิยมนำไปทำทอผ้าที่มีราคาสูงมาก ๆ และสุดท้ายคือ แคชโกรา เป็นแพะที่ผสมระหว่างพ่อพันธุ์แองโกราและแม่พันธุ์นมข้อดีคือขนของมันจะมีน้ำหนัก ยาวกว่าขนแพะทั่วไปและให้สัมผัสที่นุ่มมากราคาจึงแพงตามไปด้วย
จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงแพะที่มองผิวเผินแล้วดูยุ่งยาก เลี้ยงแล้วนอกจากเปิดฟาร์มก็ต่อยอดอะไรได้น้อย แต่ความจริงแล้วแพะนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าที่หลายคนคิด ด้วยเพราะเป็นเนื้อเพียงไม่กี่อย่างที่ชาวมุสลิสสามารถกินได้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบของเรามีพื้นที่และสภาพอากาศที่ไม่เหมาะแก่การเลี้ยงแพะให้เติบโตมาอย่างแข็งแรง แพะจากประเทศไทยจึงดูจะเป็นทางเลือกที่ดีและยังเป็นการทำปศุสัตว์ที่ไม่ต้องใช้การลงทุนอะไรมากมายเลยด้วย ดังนั้น เกษตรกรยุคใหม่ไฟแรงหรือคนที่กำลังคิดหนักเรื่องการเลี้ยงแพะ หลังจากที่ Kaset today มาแนะนำแบบนี้แล้วก็อาจจะต้องลองคิดใหม่ดูอีกที
แหล่งที่มา
การเลี้ยงแพะ, กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สายพันธุ์แพะ, สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์