แมงดานา สัตว์เศรษฐกิจที่แนะนำให้เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม


แมลงดานา ชื่อสามัญ
(Giant water bug) ชาวบ้านมักเรียกว่าแมงดานา จัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่าการซื้อขายปีละหลายสิบล้านบาท ซึ่งเป็นสัตว์ที่มักจะอาศัยอยู่ในสภาพธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีเฉพาะในบางฤดูกาลเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ที่นำมาขายตามท้องตลาดนั้นจะนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านคือเมียนมาร์และกัมพูชาเกือบทั้งหมด เนื่องจากในประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจับแมลงดานาได้ไม่มากนัก แต่ถ้าหากเพาะเลี้ยงอย่างถูกวิธี และถูกขั้นตอน จะทำให้อัตราการอยู่รอดสูงมากเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากแมงดานาสามารถทนได้ทุกสภาวะ และการลงทุนก็ไม่มากด้วย นอกจากสามารถนำมาทำน้ำพริกแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ด้วย เพราะแมงดานามีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดังนั้นการเพาะเลี้ยงแมงดานาในอนาคตก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ควรส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยง เพราะสามารถสร้างรายได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย

ลักษณะทั่วไปของแมงดานา

แมลงดานา ลักษณะเป็นแมลงที่มีลำตัวใหญ่ที่สุดในกลุ่มมวน โดยอยู่ในแมลงในอันดับ Hemiptera วงศ์ Belostomatidae รูปร่างมีลักษณะเป็นรูปไข่ ลำตัวแบนยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ลำตัวมีสีน้ำตาล มีขนขนาดเล็กปกคลุม มีขา 6 ขา โดยขาคู่หน้านั้นใช้สำหรับจับเหยื่อ คุ้ยหาอาหาร ส่วนขา 2 คู่หลังนั้นจะใช้สำหรับการว่ายน้ำและการเดิน ซึ่งร่างกายของแมงดานาจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัวประกอบด้วยตา หนวด และปาก ส่วนอกแบ่งออกเป็น 3 ปล้อง เป็นที่ตั้งของปีกและขา ส่วนท้องแบ่งออกเป็น 6 ปล้อง ที่ปล้องท้ายสุดของส่วนท้องแมงดานาตัวเต็มวัยจะมีช่องที่มีลักษณะเป็นฝาปิด เปิด โดยในช่องนี้มีเซอร์คัส (Cercus) จำนวนหนึ่งคู่และอวัยวะขับถ่าย รวมทั้งอวัยวะในการสืบพันธุ์อยู่ด้วย พัชรี มงคลวัย นักวิจัยและอาจารย์ประจำคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้รายงานว่าการเพิ่มขนาดของลำตัวแมลงต้องมีการสร้างคิวติเคิล (Cuticle) ใหม่ ซึ่งจะใหญ่กว่าเดิมเป็นระยะ ๆ และมีการสลัดคิวติเคิลเก่าทิ้ง โดยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าการลอกคราบ (Molting หรือ Ecdysis) แมงดานามีการเจริญเติบโตแบบแกรดวล เมตามอร์โฟร์ซิส (Gradual metamorphosis) คือมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย เมื่อตัวอ่อนฟักออกจากไข่จะเรียกว่า นิ้มพ์ (Nymph) มีอุปนิสัยในการกินอาหาร ที่อยู่อาศัยและลักษณะทั่วไปคล้ายกับตัวเต็มวัย ต่างกันที่ขนาดเล็กกว่า ทั้งยังมีอวัยวะเพศที่เจริญไม่สมบูรณ์ ระยะเวลาตั้งแต่วันที่วางไข่จนฟักเป็นตัวอ่อนใช้เวลา 7-8 วัน วงจรชีวิตนับตั้งแต่ไข่จนถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 32-43 วัน โดยมีการลอกคราบ 5 ครั้ง ซึ่งในแต่ละช่วงของการลอกคราบแต่ละครั้งจะใช้เวลา 5-7 วัน และนับจากวันที่ลอกคราบครั้งที่ 5 ไปอีกประมาณ 30-40 วัน จะสามารถสืบพันธุ์ได้ การศึกษาชนิดของอาหารที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงแมงดานาแบบเดี่ยว โดยให้ลูกอ๊อดกบและลูกปลาดุกเป็นอาหาร ตั้งแต่เริ่มทดลองจนถึงการลอกคราบครั้งที่ 5 ใช้เวลา 38-43 วัน โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 41.16 วัน ระยะเวลาการเจริญเติบโตจากไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย จนสามารถวางไข่ได้จะใช้เวลาทั้งหมด 62-83 วัน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิและความชื้น ถ้ามีอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมต่อการฟักไข่จะส่งผลให้ฟักออกเป็นตัวได้เร็วขึ้น แมงดานาแบ่งได้ 3 พันธุ์ คือ พันธุ์หม้อ พันธุ์ลาย และพันธุ์เหลือง หรือพันธุ์ทอง โดยลักษณะของแมงดานาพันธุ์หม้อจะมีปลายปีกไม่หุ้มมิดส่วนท้ายของลำตัว มีการขยายพันธุ์ได้เร็วกว่าพันธุ์อื่น ๆ ส่วนพันธุ์ลายที่ขอบปีกจะมีลวดลายสีทอง ปลายปีกจะหุ้มส่วนท้ายลำตัวมิด และพันธุ์เหลืองหรือพันธุ์ทอง มีสีทองตลอดทั้งตัว ซึ่งมีข้อเสียคือขยายพันธุ์ได้ช้ากว่าพันธุ์อื่น หากจะเลี้ยงก็ควรเลี้ยงพันธุ์หม้อเนื่องจากขยายพันธุ์เก่ง แมงดานาจัดเป็นแมลงสะเทินน้ำสะเทินบก สามารถอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ โดยในฤดูฝนจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติในห้วยหนองคลองบึง สระน้ำ และทุ่งน้ำ ซึ่งจะหาอาหารโดยการจับลูกกบ เขียด อึ่งอ่าง กุ้ง ปู และปลากินเป็นอาหาร โดยวงจรชีวิตของแมลงดานานั้นจะลอกคราบรวมทั้งหมด 5 ครั้ง แมงดานาจะผสมพันธุ์และวางไข่ระหว่างเดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งจะวางไข่ตามต้นหญ้า ต้นกก และต้นไม้เล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำไม่มากและน้ำต้องนิ่ง โดยแมงดานานั้นจะสิ้นอายุขัยเมื่อมีอายุครบ 2 ปี

แมลงดานา ลักษณะ
www.thaikasetsart.com

การกินอาหาร

สำหรับพฤติกรรมการกินอาหาร ลักษณะของแมลงในอันดับ Hemiptera นี้จัดเป็นมวนที่แท้จริง ส่วนปากดัดแปลงสำหรับการเจาะดูด ส่วนริมฝีปากล่างจะมีลักษณะคล้ายวง (Proboscis) และมีลักษณะเป็นปล้อง ซึ่งทุกระยะของชีพจักรของแมลงในอันดับนี้จะดูดกินอาหารที่เป็นของเหลวจากสัตว์และพืช โดยจะใช้ขาคู่หน้าจับเหยื่อและดึงเหยื่อเข้าหาตัว ใช้จะงอยปากที่เรียกว่าสไตเลต (Stylet) เจาะแทงเข้าไปภายในเนื้อเยื่อของเหยื่อ จากนั้นจะปล่อยน้ำลายซึ่งมีสารต่อต้านการแข็งตัวของเลือดออกมา และดูดกินน้ำเลี้ยงหรือเลือดภายในตัวเหยื่อจนหมดแล้วจึงทำการปล่อยซากเหยื่อทิ้งไป โดยอาหารของแมงดานาตามธรรมชาติ ได้แก่ ปลา กุ้ง ปู หอย กบ ลูกอ๊อด แมลงต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในน้ำรวมทั้งแมงดานา และไข่ของแมงดานาเองด้วย

การผสมพันธุ์

ฤดูในการผสมพันธุ์ของแมงดานาคือฤดูฝน ซึ่งจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม โดยจะมีการสืบพันธุ์แบบการปฏิสนธิภายในร่างกายขณะที่มีความต้องการที่จะผสมพันธุ์ โดยแมงดานาเพศผู้นั้นจะปล่อยสารเดลตาเฮกซีนีลอะเซเตท (Delta-hexenyl acetate) ซึ่งมีกลิ่นฉุนมากออกมาจากต่อมฟีโรโมนเพศ (Sex pheromone) เพื่อกระตุ้นให้แมงดานาเพศเมียเคลื่อนตัวเข้าหาแมงดานาเพศผู้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ และเมื่อแมงดานาเพศผู้เกาะอยู่ด้านหลังของแมงดานาเพศเมียก็จะทำการสอดปลายของส่วนท้องตำแหน่งที่มีอวัยวะสืบพันธุ์เข้าด้านใต้ท้องตรงตำแหน่งอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศเมียที่เบ่งออกมารองรับการผสมพันธุ์ ซึ่งถ้าหากอาหารไม่เพียงพอ บางครั้งในการจับคู่นี้แมงดานาก็จะดูดกินกันเอง

การวางไข่

สำหรับการวางไข่ของแมงดานาจะเกิดขึ้นหลังจากแมงดานาเพศเมียได้รับการผสมพันธุ์แล้วประมาณ 36 วัน โดยเพศเมียจะหันหน้าลงด้านล่างและเอาส่วนก้นชี้ขึ้นด้านบน โดยจะวางไข่เรียงจากแถวบนสู่แถวล่างซึ่งจะพ่นสารเหนียวคล้ายกับฟองสบู่ออกมาจากต่อมแอคเซสเซอรี (Accessory gland) หรือต่อมคอลเลคเทอเรียล (Collectorial gland) ซึ่งสารเหนียวนี้จะช่วยยึดไข่แมงดานาให้ติดกับต้นพืชน้ำหรือวัสดุที่วางไข่ เมื่อเบ่งให้ไข่ออกมาแล้วจะใช้ส่วนท้ายของท้องจัดไข่ให้เรียงตั้งเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ เสร็จแล้ววางไข่ฟองต่อ ๆ ไป โดยจะทำอย่างนี้จนกระทั่งวางไข่เสร็จก็จะไต่ลงไปในน้ำ โดยจะวางไข่ครั้งละตั้งแต่ 50-300 ฟอง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่พันธุ์นั้น ๆ ซึ่งถ้าหากถูกรบกวนจนทำให้ตกใจแมงดานาบางตัวก็อาจจะทำการวางไข่ในน้ำ โดยมีความเชื่อว่าในธรรมชาติแมงดานาเพศผู้นั้นจะทำหน้าที่ในการกกไข่หรือให้ความอบอุ่นและดูแลรักษาไข่จนกว่าไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน และทำการหาอาหารเองได้ด้วย โดยการไต่ขึ้นไปพ่นน้ำใส่ไข่ ซึ่งจะทำเช่นนี้จนกระทั่งไข่ฟัก ดังนั้นในธรรมชาติแมงดานาเพศผู้อาจทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้แมงดานาเพศเมียมากินไข่ และไข่ก็สามารถฟักออกเป็นตัวได้หากจัดสภาพแวดล้อมไว้อย่างเหมาะสม โดยที่ไม่ต้องมีทั้งแมงดานาเพศผู้และเพศเมียมาคอยดูแล

การวางไข่
farmchannelthailand.com

การจำแนกเพศ

เฉลิมศรี พงศ์ศาสตร์ หน่วยงานฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย จำนวนงานวิจัยจำแนกรายปี ได้ให้ข้อมูลว่าการจำแนกเพศของแมงดานาจากลักษณะภายนอกที่ใช้ ได้แก่ กลิ่น สีโคนขาคู่หน้า ขนาดรูปร่าง และอวัยวะสืบพันธุ์ โดยแมงดานาเพศเมียนั้นจะไม่มีกลิ่น บริเวณโคนขาคู่หน้ามีสีขาว รูปร่างจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ โดยเฉลี่ยกว้าง 3.19 ± 0.25 ยาว 8.24 ± 0.25 เซนติเมตร และเมื่อดึงรยางค์หรือเซอร์คัสตรงส่วนท้องปล้องสุดท้ายออกมาจะพบอวัยวะรูปสามเหลี่ยมที่มีแผงขนอ่อนนุ่ม เหนืออวัยวะเพศสืบพันธ์จะมีอวัยวะวางไข่รูปทรงกระบอกสีขาวติดอยู่ ส่วนแมงดานาเพศผู้นั้นจะมีกลิ่นฉุน โดยเฉพาะในระยะผสมพันธุ์ บริเวณโคนขาคู่หน้ามีสีเขียว รูปร่างจะเล็กและเพียวกว่าเพศเมีย โดยเฉลี่ยกว้าง 2.7 ± 0.142 ยาว 7.48 ± 0.37 เซนติเมตร และลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์จะมีลักษณะคล้ายกับเมล็ดข้าวสาร ทางด้านล่างของอวัยวะส่วนนี้จะมีรยางค์สำหรับยืดเพศเมียในขณะผสมพันธุ์ เรียกว่า แคลสเพอร์ (Clasper) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับรูปสามเหลี่ยมประกอบด้วยแผ่นบาง 2 แผ่นประกบกัน แต่ทั้งนี้การจำแนกเพศด้วยวิธีการดังกล่าวนั้นก็สามารถทำได้ยาก เช่น การสังเกตสีที่โคนขาคู่หน้า และขนาดลำตัว โดยผู้จำแนกนั้นจะต้องมีความชำนาญมากพอสมควรจึงจะสามารถจำแนกได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ในส่วนของการใช้กลิ่นจำแนก หากนำแมงดานาเพศผู้และเพศเมียมาขังรวมกันหรือนำแมงดานาเพศเมียไปถูบริเวณอกของแมงดานาเพศผู้ก็จะส่งผลให้เพศเมียนั้นมีกลิ่นติดตามมาด้วย ส่วนการดึงอวัยวะสืบพันธุ์ออกมาดูก็ยิ่งสังเกตได้ยาก และอาจส่งผลให้แมงดานาได้รับบาดเจ็บได้ด้วย ซึ่งวิธีนี้จะไม่เหมาะสำหรับการคัดเลือกแมงดานาที่จะนำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ จากการศึกษาการเพาะเลี้ยงแมงดานาจะพบว่ามีลักษณะภายนอกลักษณะหนึ่งที่สามารถใช้ในการจำแนกเพศของแมงดานาเพศผู้และเพศเมียที่แตกต่างไปจากวิธีการจำแนกเพศก่อนหน้านี้ คือที่บริเวณส่วนท้องปล้องสุดท้ายของลำตัว ตรงบริเวณอวัยวะที่เรียกว่า Trap ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการบัญญัติศัพท์เรียกอวัยวะส่วนนี้เป็นภาษาไทย จึงขอเรียกว่าจับปิ้ง ตามอย่างอวัยวะที่ใช้ในการจำแนกเพศของปู หากจับปิ้งมีลักษณะเป็นรูปคล้ายใบพายกว้าง ตอนปลายหักมุมเล็กน้อยแล้วสอบแคบเข้ามาหากัน โดยมีร่องแบ่งกลางและมีขนสีน้ำตาลเข้มเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ ที่สุดปลายจับปิ้งทั้งสองข้าง แสดงว่าเป็นแมงดานาเพศเมีย หากจับปิ้งมีลักษณะเป็นรูปใบพายแคบ ยาว เรียว ขอบเรียบ สอบแคบลงทีละน้อยจนถึงปลายสุด ไม่มีร่องแบ่งกลางและขนรูปสามเหลี่ยมสีน้ำตาลที่สุดปลายจับปิ้งแสดงว่าเป็นแมงดานาเพศผู้ และเพื่อให้เห็นลักษณะของจับปิ้งได้ชัดเจนควรใช้ปลายเล็บหรือกระดาษสีขาวสอดเข้าไปด้านล่างของจับปิ้ง

รูปแบบการเพาะเลี้ยงแมงดานา

การเพาะเลี้ยงแมลงดานาแบบเลี้ยงเดี่ยว สำหรับการเพาะเลี้ยงสามารถใช้ขวดน้ำพลาสติกทำการเจาะรูแล้วนำไปแช่รวมกันในถังไฟเบอร์ โดยให้อาหารจำพวกลูกปลาดุก ลูกอ๊อดกบ ทั้งมีและไม่มีชีวิต ซึ่งผลการเลี้ยงจะพบว่าแมลงดานาสามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติจนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย ดังนั้นวิธีการเลี้ยงแมลงดานาแบบเลี้ยงเดี่ยวนี้สามารถป้องกันการกินกันเองแล้วยังสามารถป้องกันการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำในช่วงกว้าง น้ำไม่ร้อนในช่วงกลางวัน คุณภาพน้ำไม่เน่าเสียง่ายเหมือนการกักน้ำไว้ในภาชนะขนาดเล็ก เช่น ในขวดหรือแก้ว และที่สำคัญคือสะดวกต่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำ โดยสามารถวางระบบระบายน้ำบริเวณด้านล่างของกล่อง เปลี่ยนถ่ายน้ำโดยการทิ้งจากวาล์วปิดเปิดหรือใช้วิธีการลักน้ำได้โดยตรง ส่วนภาชนะสำหรับเลี้ยงตัวอ่อนแมลงดานาแต่ละตัวตั้งแต่หลังฟักออกจากไข่จนถึงระยะตัวเต็มวัยจะใช้แก้วน้ำพลาสติกขนาด 22 ออนซ์ มาเจาะรูที่ด้านข้างแก้วให้ทั่วด้วยหัวบัดกรีไฟฟ้า เพื่อเป็นช่องทางให้น้ำไหลเข้าออกได้อย่างสะดวก แต่ต้องไม่ให้ตัวอ่อนหลุดลอดออกมาได้ จากนั้นนำแก้วที่ทำการเจาะรูแล้วไปวางในภาชนะที่มีขนาดใหญ่ที่สามารถบรรจุน้ำได้ เช่น กล่องพลาสติก อ่างน้ำ หรือบ่อซีเมนต์ ให้เติมน้ำสะอาดลงไปโดยมีระดับความสูงประมาณเศษ 3 ส่วน 4 ของแก้ว จากนั้นใส่กิ่งไม้แห้งเล็ก ๆ เพื่อให้ตัวอ่อนใช้เป็นที่พักเกาะแก้วละหนึ่งกิ่ง อาจใส่ก้อนหินสะอาดลงไปด้วยเพื่อป้องกันแก้วล้มหรือใช้ใส่แก้วลงไปในที่ใส่เครื่องปรุงพลาสติกก่อนนำลงไปวางในบ่อใหญ่ แล้วจึงนำตัวอ่อนแมลงดานาที่ได้จากการฟักไข่ก่อนหน้านี้ใส่ลงไปแก้วละหนึ่งตัว สำหรับค่าแก้วน้ำพลาสติกมีราคาประมาณแก้วละ 1 บาท ที่เหลือเป็นค่าภาชนะสำหรับวางแก้ว และเมื่อเลี้ยงเสร็จแล้วก็สามารถทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ได้อีก สำหรับสถานที่เลี้ยงแมลงดานานั้นควรจะเป็นห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่อยู่กลางแสงแดดจัด ปลอดภัยจากสัตว์รบกวนและมีน้ำสะอาดสำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำได้อย่างสะดวก การเลี้ยงแมลงดานาในลักษณะนี้จะมีการเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้เช่นเดียวกับในธรรมชาติ นอกจากนี้การศึกษาลักษณะภายนอกเพื่อการจำแนกเพศของแมลงดานาสำหรับผู้ที่นิยมบริโภคแมลงดานาและผู้ที่สนใจในการเพาะเลี้ยงแมลงดานาเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดจากความไม่ชำนาญและการบาดเจ็บของพ่อแม่พันธุ์จากการดึงอวัยวะเพศออกมาดู จะสามารถจำแนกเพศได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วขึ้นอีกด้วย

การเพาะเลี้ยงแมงดานา
thaismartfarmer.com

การเพาะเลี้ยงแมงดานา

การเพาะเลี้ยงแมลงดานาจะต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อน ไม่ควรรีบในการตัดสินใจที่จะนำมาเลี้ยง ควรศึกษาและเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อน ซึ่งการเลี้ยงแมลงดานานั้นควรจะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมจะเหมาะกว่าการเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก และสำหรับการเพาะเลี้ยงแมลงดานานั้นมีขั้นตอนและวิธีเลี้ยงดู ดังนี้

การเตรียมสถานที่สำหรับเลี้ยงแมงดานา

สำหรับสถานที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงแมลงดานาควรจะอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ห่างจากที่อยู่อาศัยเพื่อสะดวกในการดูแล เป็นที่สงบไม่พลุกพล่านเพราะจะทำให้แมลงดานาตกใจได้ โดยภาชนะที่เลี้ยงใช้เป็นบ่อรูปสามเหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 5×8 เมตร หรือ 6×10 เมตร ความลึกอยู่ที่ 1.0-1.50 เมตร รักษาระดับน้ำไว้ที่ 70-120 เมตร โดยอัตราปล่อยแมลงดานาอยู่ที่ 1,000-1,500 ตัวต่อบ่อ ซึ่งใช้เพศผู้ต่อเพศเมีย 1:1 เท่ากัน ทำการปักเสาทั้ง 4 มุม คลุมด้วยตาข่ายตาตาถี่สีฟ้าหรือผ้ามุ้งไนลอน ทำประตูเปิดปิดสำหรับเข้าและออกทางเดียว มีชานบ่อด้านใน 0.5 เมตร ทั้ง 4 ด้าน และปลูกผักบุ้งหรือผักกระเฉดตามชายบ่อ โดยแมลงดานาวัยเล็กนั้นจะชอบว่ายน้ำดำผุดดำว่ายด้วยการใช้ขาคู่แรกชี้ไปทางด้านหน้า ส่วน 2 คู่หลังทำหน้าที่พุ้ยน้ำเหมือนใบพาย แต่เมื่อแมลงดานามีขนาดตัวใหญ่ขึ้นก็มักจะเกาะอยู่กับต้นพืชในน้ำ เช่น กอหญ้าและกก ซึ่งจะอยู่เหนือระดับผิวดินใต้น้ำเล็กน้อย โดยแมลงดานาจะยกก้นทำมุม 45 องศา กับพื้นดิน จากนั้นจะโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อรับออกซิเจนเป็นครั้งคราว ในเวลากลางคืนปริมาณออกซิเจนในน้ำนั้นจะต่ำลงซึ่งไม่พอกับความต้องการของแมลงดานาและอุณหภูมิของน้ำจะเย็นเกินไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แมลงดานาบินขึ้นจากน้ำวนเวียนอยู่ใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่อาศัยและจะบินกลับลงน้ำตอนใกล้รุ่งสาง หลังจากเตรียมบ่อแล้วให้นำกอหญ้าหรือกกมาปลูกในบ่อเป็นแถวคล้ายกับการดำนา โดยปลูกให้เพียงพอกับแมลงดานาที่จะใช้เกาะอาศัย ตัดท่อนไม้ไผ่หรือท่อนเอสลอน ความยาว 30 เซนติเมตร วางไว้บริเวณข้างบ่อให้เป็นที่หลบภัย หรือเป็นที่อาศัยสำหรับการขึ้นมาบนบก เสร็จแล้วก็ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงในบ่อเลี้ยง เมื่อเลี้ยงแมลงดานาไปเรื่อย ๆ จนมีการผสมพันธุ์และวางไข่ หากน้ำในบ่อเริ่มเสียต้องทำการถ่ายน้ำทิ้ง และเติมน้ำใหม่เข้าไปจนสะอาด

การคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แมงดานา

ควรทำการรวบรวมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แมลงดานาในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน และอีกช่วงหนึ่งก็คือปลายฤดูฝนประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งในระยะนี้จะเป็นช่วงปลายฤดูฝนเข้าต้นฤดูหนาว แมลงดานาจะมีปริมาณมากในช่วงนี้ และส่วนใหญ่ก็มีอายุน้อย เพราะเป็นแมลงดานาที่เกิดในต้นฤดูฝน การจับรวบรวมในระยะนี้จะมีผลดีคือได้แมลงดานาที่มีอายุน้อย และมีอายุใกล้เคียงกันหรือรุ่นเดียวกัน โดยในช่วงนี้แมลงดานาจะมีราคาถูก สามารถซื้อตัวแก่มาเพาะเลี้ยงเพื่อผสมพันธุ์ได้ อีกทั้งในช่วงนี้ก็มีแมลงดานาจำนวนมาก เราสามารถใช้แสงไฟล่อตัวแก่ได้ง่าย นอกจากนี้ระยะเวลาที่เลี้ยงดูเพื่อให้ผสมพันธุ์และวางไข่ก็สั้นกว่าฤดูอื่น ๆ อีกด้วย ดังนั้นการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แมลงดานาสำหรับผสมพันธุ์จึงควรเลือกในช่วงฤดูฝนและต้องเป็นแมลงดานาที่มีอายุใกล้เคียงกันหรือรุ่นเดียวกัน และพันธุ์แมลงดานาที่แนะนำก็คือพันธุ์หม้อ เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่สามารถทำการขยายพันธุ์ได้รวดเร็วกว่าพันธุ์อื่น ๆ

การฟักไข่แมงดานา

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการฟักไข่แมลงมี 2 ปัจจัย คือ อุณหภูมิ และความชื้น โดยทั่วไปแล้วอุณหภูมินั้นถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการฟักไข่ ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมจะช่วยเร่งการฟักของไข่ อุณหภูมิที่ต่ำกว่าปกติจะหน่วงเหนี่ยวการฟักไข่ และไข่จะฟักเป็นตัวได้เร็วเมื่อบรรยากาศมีความชื้นสัมพัทธ์สูง และไข่จะฟักเป็นตัวได้ช้ากว่าปกติเมื่อมีความชื้นต่ำกว่าปกติ หากเราควบคุมให้มีอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมก็จะช่วยให้การฟักไข่แมลงดานามีอัตราการฟักที่สูงและเร็วขึ้นได้ การควบคุมดังกล่าวสามารถทำได้โดยทำในกล่องพลาสติกขนาดที่สามารถนำช่อไข่ใส่ลงไปและปิดฝาได้ พร้อมกับอุปกรณ์ที่สามารถแยกไข่ออกจากถังภายหลังการฟักได้อย่างสะดวก เช่น ที่ใส่เครื่องปรุงบนโต๊ะอาหาร ให้ใส่น้ำสะอาดลงไปที่มีระดับความสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร จากนั้นนำไข่แมลงดานาใส่ลงไปโดยระวังไม่ให้น้ำท่วมถึง ปิดฝากล่องให้เผยอเล็กน้อยพอให้มีอากาศถ่ายเทได้ ตั้งทิ้งไว้ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ซึ่งภายในนี้จะมีอุณหภูมิประมาณ 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นประมาณร้อยละ 70-80 ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่อุณหภูมิห้องด้วย โดยไข่ที่สมบูรณ์นั้นจะฟักออกเป็นตัวภายในเวลาไม่เกิน 7 วัน ซึ่งในระหว่างนี้ต้องหมั่นตรวจสอบการฟักทั้งกลางวันและกลางคืน หากมีการฟักไม่พร้อมกันต้องทำการแยกตัวที่ฟักออกมาก่อน และเมื่อฟักเสร็จแล้วต้องรีบแยกตัวอ่อนออกมาจากกล่องให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันแมลงดานากินกันเอง โดยจากการศึกษานั้นจะพบว่าตัวอ่อนที่แข็งแรงที่ฟักภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง จะสามารถจับและเกาะดูดตัวอ่อนแมลงดานาตัวอื่นกินได้ และถ้าหากปล่อยทิ้งไว้รวมกันก็จะมีการเกาะดูดกันตายหมดภายในเวลาเพียงแค่ 1 วัน ตัวอ่อนในระยะแรกจะมีลำตัวสีเหลืองและมีความบอบบางมาก ซึ่งการแยกตัวในระยะนี้จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพียงแค่การไล่ช้อนต้อนจับด้วยสวิงหรืออุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้ตายจากแรงกระแทกของน้ำได้ ควรใช้วัสดุ เช่น ใบไม้ หรือขนไก่จุ่มลงไปในน้ำเพื่อให้ตัวอ่อนว่ายมาเกาะติดแล้วย้ายไปไว้ในอุปกรณ์การเลี้ยงแบบเลี้ยงเดี่ยว หลังจากฟักออกจากไข่แล้วสีลำตัวของตัวอ่อนจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาลอ่อน และจะมีสีน้ำตาลเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นสีดำภายในเวลาประมาณ 10-15 นาที

การฟักไข่แมงดานา
pasusat.com

อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงแมงดานา

หลังจากที่แมลงดานาฟักออกจากไข่ได้เพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็สามารถหากินอาหารเองได้แล้ว จึงจำเป็นต้องรีบแยกตัวอ่อนลงเลี้ยงในระบบการเลี้ยงเดี่ยวทันที และจะต้องนำเหยื่อซึ่งเป็นอาหารตามธรรมชาติ ได้แก่ ลูกอ๊อดกบ ลูกเขียด ลูกอึ่งอ่าง ลูกกุ้ง ลูกปลาขนาดเล็ก หรือในระยะแรกนี้ถ้าหากมีไรน้ำนางฟ้าก็สามารถนำมาเป็นเหยื่อของแมลงดานาได้ ปริมาณการให้อาหารควรให้เพียงวันละหนึ่งตัวโดยให้ในช่วงเย็น และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพน้ำไม่ให้เน่าเสียง่ายควรทำการเก็บซากเหยื่อออกทิ้งในเช้าวันรุ่งขึ้น หรือถ้าหากไม่สะดวกที่จะหาเหยื่อที่มีชีวิตก็สามารถใช้เหยื่อที่ไม่มีชีวิตหรือเหยื่อแช่แข็งให้กินแทนได้ ข้อควรระวังในการเลือกเหยื่อให้แมลงดานา เนื่องจากในช่วงแรก ๆ แมลงดานาจะยังมีขนาดเล็กและอ่อนแออยู่ จึงควรเลือกเหยื่อที่มีขนาดเล็กหรือใกล้เคียงกับแมลงดานา หรือทำให้เหยื่อตายก่อนที่จะนำไปให้กิน เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงดานากลายเป็นเหยื่อเสียเอง และเมื่อแมลงดานาเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยแล้วก็จะมีขนาดใหญ่คับแก้วและมีปีกบินได้ ระยะนี้จึงต้องย้ายแมลงดานาออกไปเลี้ยงรวมกันในบ่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรอการจำหน่ายหรือใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป อาหารที่ควรให้ในระยะนี้ ได้แก่ พวกปู ปลา กุ้ง และกบ ที่มีขนาดโตพอสมควร โดยให้อาหารวันละ 1 ครั้ง และควรให้เป็นเวลา ซึ่งในระหว่างการเลี้ยงนั้นมักจะมีการตายตามธรรมชาติเกิดขึ้น เช่น การลอกคราบไม่ออกหรือมีความผิดปกติอื่น ๆ หากเกษตรกรปฏิบัติได้ดีจะมีอัตรารอดได้ถึงร้อยละ 50 หรือมากกว่านี้ ต้นทุนค่าอาหารตลอดการเลี้ยงตัวละ 3-5 บาท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับราคาในท้องตลาด หากเพาะเลี้ยงพันธุ์เหยื่อได้เองก็จะช่วยลดต้นทุนได้ไม่น้อย

ระยะเวลาในการเลี้ยง สำหรับการเลี้ยงแมลงดานาตั้งแต่ระยะไข่จนถึงตัวเต็มวัยหรือตัวแก่นั้นจะมีอายุประมาณ 32-43 วัน โดยจะลอกคราบทั้งหมด 5 ครั้ง และระยะตัวแก่จนถึงเริ่มไข่ได้มีอายุประมาณ 30-40 วัน ดังนั้นการเลี้ยงแมลงดานาจะใช้ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 62-83 วัน นับตั้งแต่มีการวางไข่ โดยแมลงดานานั้นเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แต่มักจะอาศัยอยู่ในน้ำมากกว่า ซึ่งในฤดูฝนจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ จับสัตว์น้ำขนาดเล็กกินเป็นอาหาร และวางไข่ตามกกกอหญ้า หรือต้นไม้ขนาดเล็ก เมื่อถึงฤดูแล้งจะหมกตัวอยู่ในแหล่งน้ำที่เป็นโคลนตมและมีน้ำขัง โดยแมลงดานาจะใช้ปากเจาะดูดน้ำเลี้ยงของสัตว์นั้นเป็นอาหาร สำหรับการผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเกาะอยู่บนหลังของตัวเมีย ซึ่งอายุของแมลงดานานั้นจะมีอายุขัยอยู่ที่ 2 ปี หลังจากนั้นก็จะตาย หรือนับตั้งแต่ลูกแมลงดานาที่เจริญผ่านพ้นฤดูฝนไปแล้ว พอถึงฤดูฝนในฤดูกาลหน้าก็จะผสมพันธุ์ และวางไข่อีก 3-4 ครั้ง จากนั้นก็จะตาย ดังนั้นหลังจากการวางไข่เสร็จแล้วเกษตรกรก็จะต้องนำแมลงดานาออกไปจำหน่าย

ศัตรูของแมลงดานา ควรหมั่นกำจัดมดดำกินไข่ให้หมด เนื่องจากมดดำกินไข่เป็นศัตรูของแมลงดานา และการปล่อยแมลงดานาในอัตราที่หนาแน่นเกินไปก็มักจะพบการระบาดของเห็บน้ำที่มีลักษณะกลม สีน้ำตาลอมแดง ขนาดเล็กมาก ซึ่งจะเกาะอยู่ที่บริเวณท้องและคอของแมลงดานา ส่งผลให้การเจริญเติบโตของแมลงดานานั้นช้าลง เกษตรกรสามารถป้องกันได้โดยการปล่อยแมลงดานาในอัตราที่ไม่หนาแน่นจนเกินไป และถ่ายน้ำอยู่เสมอ จะทำให้การระบาดของเห็บน้ำนั้นน้อยลง เมื่อแมลงดานามีขนาดที่สามารถส่งจำหน่ายได้แล้วให้จับด้วยสวิงตาห่างช้อนจับและแยกเพศผู้เพศเมียออกจากกัน

ประโยชน์ของแมงดานา

แมลงดานาเป็นแมลงที่ให้ประโยชน์แก่มนุษย์มากมาย ไม่ว่าจะในด้านการประกอบอาหารที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง นอกจากเป็นส่วนผสมของน้ำพริกแมงดาแล้วยังสามารถนำไปประกอบอาหารอื่น ๆ ได้อีก และยังเป็นประโยชน์ในเชิงนิเวศวิทยาอีกด้วย

  1. ด้านอาหาร แมงดานาถือเป็นอาหารที่คนไทยนิยมบริโภคมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นอาหารที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งมาจาก Gland liquid ที่เป็นฟีโนโมนเพศสำหรับดึงดูดตัวอีกฝ่ายในการผสมพันธุ์ โดยจะประกอบด้วยสารหลายชนิด เช่น trans-2-hexan-1-yl acetate ซึ่งสารที่มีกลิ่นหอมนี้จะมีทั้งในตัวผู้และตัวเมีย แต่จะพบว่าตัวผู้นั้นมีกลิ่นแรงมากกว่าตัวเมีย และจะมีเฉพาะตัวที่แก่เต็มวัยที่เข้าสู่วัยผสมพันธุ์เท่านั้น โดยตำแหน่งของ Gland liquid ที่เป็นบริเวณให้กลิ่นหอมนั้นจะอยู่ตรงบริเวณช่วงท้องค่อนไปด้านหลัง มีลักษณะเป็นท่อยาวสีขาว ห่อหุ้มด้วยเยื่อเมือก และด้วยความที่แมงดานามีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ คนไทยจึงนิยมนำมาประกอบอาหารเพื่อให้มีกลิ่นของอาหารที่น่ารับประทาน โดยเฉพาะการทำน้ำพริกแมงดาหรือผสมในอาหารอย่างอื่นเพื่อเพิ่มกลิ่นหรือปรับปรุงกลิ่น เช่น ใส่ในซุปหน่อไม้ เป็นต้น สำหรับการนำแมงดานามาประกอบอาหารนั้นจะนิยมนำมาเผาไฟให้สุกก่อน เพื่อให้ความร้อนไปกระตุ้นให้มีกลิ่นมากขึ้น จากนั้นนำมาตำผสมกับอาหารหรือบดแล้วคลุกใส่อาหาร นอกจากนี้ยังมีการเก็บแมงดานาให้สามารถเก็บได้นานด้วยวิธีการดองเค็มกับน้ำปลาหรือน้ำเกลือด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้แมงดานาเป็นสิ่งที่หาได้ยาก จึงมีการสังเคราะห์สารเลียนแบบ trans-2-hexan-1-yl acetate ซึ่งจะให้กลิ่นเหมือนแมงดานา โดยวิธีการคือนำสารนี้มาใช้สำหรับปรุงอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทำน้ำพริกแมงดาที่ต้องใช้ในปริมาณมากก็จะใช้วิธีนี้
  2. ด้านนิเวศวิทยา แมงดานานั้นสามารถพบได้ทั่วไปในนาข้าวหรือบริเวณแหล่งน้ำขนาดตื้น โดยจะพบมากในช่วงต้นฤดูทำนาหลังจากน้ำขังในแปลงนาในต้นฤดูฝน ซึ่งแมงดานาถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในแปลงนาหรือแหล่งน้ำ โดยมีอาหารสำคัญที่เป็นลูกอ๊อดของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก จึงถือเป็นผู้ล่าชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ระบบนิเวศในแหล่งน้ำนั้นมีความสมดุล ดังนั้นแมงดานาจึงนับเป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ
ประโยชน์ของแมงดานา

แหล่งที่มา


ธานี กุลแพทย์, หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 1 กันยายน 2552 หน้า 14 มทร.อีสานวิจัยเลี้ยงแมลงดานาช่วยเกษตรกร-คุ้มทุน-มีตลาดรับ

พัชรี มงคลวัย, การจำแนกเพศและการเพาะเลี้ยงแมลงดานาแบบเลี้ยงเดี่ยว

ประเวศ แสงเพชร, หนังสือพิมพ์มติชน วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2544 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8634 หน้า 16 เทคนิคเพาะเลี้ยงแมงดานา

วีระ เชฐกุล และชาญชัย ศุภวิทิตพัฒนา, การเลี้ยงแมลงดานา – คลังความรู้ดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์





แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้