แมงมัน สัตว์หนึ่งฤดูแสนอร่อย เพาะเลี้ยงยังไงให้อาชีพยั่งยืน

แมงมัน (subterranean ants) เริ่มเป็นที่รู้จักในแถบภาคเหนือของไทย แมงมันมีขนาดตัวใหญ่ประมาณขนาดตัวต่อไฟ แต่เล็กกว่าตัวตัอหลุม จัดได้ว่าเป็นแรร์ไอเทมที่หาได้เฉพาะช่วงฤดูฝนของทุกปีเท่านั้น สามารถเอามาทำอาหารก็อร่อย เอามาขายก็ได้รายได้ดี แต่ว่า…หากกลับไปถามรุ่นคุณปู่คุณย่าท่านก็จะบอกว่าแมงมันมันอาศัยอยู่ในป่า เป็นของที่ไม่ได้จะหากินได้ตลอดปี หากกินมื้อนี้หมดก็ต้องรอปีหน้า แต่ก็ไม่รู้ว่ายังจะหาได้จากบริเวณนี้ไหม คำถามคือ เราสามารถจะเพาะเลี้ยงแมงมันได้รึเปล่า แล้วจะหาวิธีเลี้ยงจากไหน…

แมงมัน
credit : Anoymous
ในประเทศไทยมีรายงาน พบแมลงมัน (Carebara castaneaSmith.) ในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยโดย Jaitrong and Nabhitabhata (2005) ในหนึ่งปีแมลงมันจะได้กลับขึ้นมาบนพื้นดินในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่พวกมันจะออกมาหาคู่เพื่อผสมพันธุ์ และยังเป็นช่วงเวลาที่เหล่าชาวบ้านจะออกมาล่าตัวแมงมัน ซึ่งการหารังของแมงมันนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละบุคคลและยังต้องมีดวงอีกด้วย คุณถึงจะโชคดีได้เจอทั้งตัวแมงมันพร้อมกับรังไข่และตัวอ่อน มีหลายคนคิดจะทำการเลี้ยงแมงมันเพื่อจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดปี แต่ข้อกำจัดอยู่ที่พื้นที่และช่วงเวลา เพราะแมงมันเป็นมดชนิดหนึ่ง มีการทำรังใต้ดินที่มีขนาดใหญ่ และยังมีหลายปัจจัยที่คนยังไม่สามารถเลียนแบบสภาพทางธรรมชาติได้ และการทำที่อยู่สำหรับแมงมันก็ไม่ได้ทำแบบการเลี้ยงผึ้ง หรือ ชั้นโรงที่เราสามารถเอาไปไว้ในกล่องไม้ แถมช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการจับแมงมันก็มีเพียงแค่หนึ่งครั้งในรอบหนึ่งปี เพราะตัวแมงมันอาศัยใต้ดินเกือบทั้งปีจึงเป็นไปได้ยากที่จะพบเห็น

ในปัจจุบันความต้องการของผู้บริโภคต่อแมงมันนั้นก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีแนวโน้วว่าแมงมันจะมีการหายไปจากแหล่งพื้นที่เดิม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้พวกมันหายไปอาจจะเกิดจากสัตว์อื่นที่มากินพวกมันเป็นอาหาร ในช่วงฤดูที่ผสมพันธุ์ทำให้ประชากรน้อยลง และยังมีการบริโภคของคนที่มีแต่จะมากเพิ่มขึ้น ทำให้ทรัพยากรไม่สามารถผลิตทันตามความต้องการ

นั้นทำให้ kaset.today อยากจะมาอธิบายความรู้ดีๆเกี่ยวกับตัวแมงมันว่ามีลักษณะอย่างไร เราสามารถที่จะหารังของแมงมันด้วยวิธีไหน และมีวิธีการเลี้ยงแมงมันอย่างไรให้ยั่งยืน สามารถทำรายได้ได้ทุกปีแต่ยังคงอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้ให้อยู่ต่อไปได้อย่างปลอดภัย

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับแมงมัน

ชื่อภาษาไทย: แมงมัน

ชื่อภาษาอังกฤษ:  subterranean ants

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Carebara castanea Smith

สกุล: Carebara Westwood


แมงมันคืออะไร

จากการค้นคว้าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แมงมัน คือมดชนิดหนึ่งที่รู้จักของชาวบ้านในถิ่นภาคเหนือและในบางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีชื่อเรียกว่า “แมงมัน” เป็นแมงที่นิยมบริโภคในท้องถิ่น สามารถกินได้ทั้งระยะหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย และนำมาประกอบอาหารได้หลายแบบ

นอกจากนี้แมงมันยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน เพราะพวกมันมีรสชาติแสนอร่อยและหากินได้ยาก ในรอบหนึ่งปีจะมีตัวเต็มวัยในระยะสืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียออกมาจับคู่เพื่อผสมพันธุ์ภายนอกรังในช่วงต้นฤดูฝนหลังฝนตกใหญ่ครั้งแรกประมาณ 1-2 วัน แมงมันในแต่ละแห่งจะเริ่มออกช่วงประมาณเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน (ประพันธุ์, 2526)

ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของแมงมัน

แมงมัน Carebara castanea Smith เป็นแมงในอันดับ Hymenoptera วงศ์ Formicidae ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเป็นมด คือ สามารถแบ่งลำดับได้เป็น 3 ส่วนชัดเจนคือ ส่วนหัว (head) ส่วนอก (thorax) และส่วนท้อง (abdomen) โดยมีลักษะเด่นคือ มีหนวดแบบข้อศอก (geniculate) มีส่วนปลายปล้องขยายใหญ่ เพศผู้มีหนวดแบบเส้นด้าน ส่วนอกมีขา 3 คู่ ซึ่งในฤดูผสมพันธุ์จะเป็นที่ตั้งของปีกในวรรณะสืบพันธุ์ มีส่วนเอวที่คอดกิ่ว (petiole) ซึ่งจะมี 1-2 ปล้อง ขึ้นอยู่กับชนิดของมด (Holldobler and Wilson, 1990) จากการรายงานของประพันธุ์ (2526)ได้กล่าวในส่วนของลักษณะทางสัณฐานวิทยาของแมงมันไว้ว่า

  • ตัวเต็มวัยเพศเมีย

ตัวเต็มวัยเพศเมีย มีลําตัวสีน้ำตาลเข้ม ขนาดลําตัวกว้าง 0.64 เซนติเมตร ยาว 1.89 เซนติเมตร มีตาประกอบขนาดใหญ่ มีตาเดี่ยว 3 ตามีหนวดแบบข้อศอกจํานวน 10 ปล้อง มีความยาวของหนวด 0.35 เซนติเมตร มีปีก 2 คู่ ปีกคู่หน้ากว้าง 0.56 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร ปีกคู่หลังกว้าง 0.35 เซนติเมตร ยาว 1.41 เซนติเมตร

แมงมัน
แมงมัน
credit : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของแมลงมันตัวเต็มวัยวรรณะสืบพันธุ์เพศเมีย)
  • ตัวเต็มวัยเพศผู้

ส่วนตัวเต็มวัยเพศผู้ มีลําตัวสีเหลืองน้ำตาลขนาดลําตัวกว้าง 0.41 เซนติเมตร ยาว 1.25เซนติเมตร มีตาประกอบขนาดใหญ่ มีตาเดี่ยว 3 ตา มีหนวดแบบเส้นด้ายจํานวน 13 ปล้อง มีความยาวของหนวด 0.60 เซนติเมตร มีปีก 2 คู่ปีกคู่หน้ากว้าง 0.44 เซนติเมตรยาว 1.38 เซนติเมตร ปีกคู่ หลังกว้าง 0.22 เซนติเมตรยาว 0.95 เซนติเมตร

แมงมัน
แมงมัน
credit : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของแมลงมันตัวเต็มวัยวรรณะสืบพันธุ์เพศผู้)
  • ตัวเต็มวัยของมดงาน

ตัวเต็มวัยของมดงานมีลําตัวสีเหลืองขนาดลําตัวกว้าง 0.05 เซนติเมตร ยาว 0.21 เซนติเมตร ไม่มีทั้งตาเดี่ยวและตาประกอบ มีหนวดแบบข้อศอกจํานวน 9 ปล้อง มีความยาวของหนวด 0.08 เซนติเมตรและไม่มีปีก

แมงมัน
แมงมัน
credit : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของแมลงมันตัวเต็มวัยวรรณะมดงาน)

วงจรชีวิตของแมงมัน

ว่ากันว่าแมงมันจัดเป็นแมลงสังคมชนิดหนึ่งประกอบไปด้วย นางพญาตัวเต็มวัยวรรณะสืบพันธุ์ และมดงาน โดยธรรมชาติของแมลงสังคมนั้นจะมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน แต่ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับหน้าที่ต่าง ๆ ของแมงมันในแต่ละวรรณะ นอกจากนี้ยังพบว่าแมงมันนั้นมีการใช้หนวดปล่อยสารฟีโรโมน เพื่อส่งกลิ่นสัญญาณบางอย่าง เช่น การชุมนุม การหาอาหาร การเตือนภัย รวมทั้งการเกี้ยวพาราสีกัน และตัวเต็มวัย ซึ่งจากรายงานต่าง ๆ นั้นยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับวงจรชีวิตของแมงมัน(ประพันธ์, 2526)

แมลงมันมีระยะการเจริญเติบโตเป็น 4 ระยะได้แก่

  • ไข่
แมงมัน
ไข่ของวรรณะสืบพันธุ์เป็นได้
ทั้งเพศผู้และเพศเมีย
แมงมัน
ความแตกต่างระหว่างไข่มดแดงและไข่แมงมัน
แมงมัน
ไข่ของวรรณะมดงาน
  • ตัวอ่อน
แมงมัน
  • ดักแด้
แมงมัน
  • ตัวเต็มวัย
แมงมัน

พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของแมงมัน

พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของมดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะหลัก คือ ลักษณะของการรวมตัวกันของเพศผู้ (Male – Aggregetion Syndrome) และลักษณะการเรียกของเพศเมีย (Female – Calling Syndrome) โดยเพศผู้จะปล่อยกลิ่นออกมาเพื่อดึงดูดเพศผู้ด้วยกันเองให้บินทวนลมขึ้นไปเพื่อรวมกลุ่มกันอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง (Ayasse et al., 2001)

จากการค้นคว้าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวไว้ว่าโดยปกติแล้วแมงมันหรือมดหลายชนิดมีช่วงของการผสมพันธุ์หลังฝนตกใหญ่ครั้งแรกในรอบปี ซึ่งตัวเต็มวัยเพศผู้และตัวเต็มวัยเพศเมียที่อยู่ในรังใต้ดินหรือในต้นพืชต่าง ๆ จะเริ่มบินออกมาจากรังเพื่อทําการจับคู่ผสมพันธุ์กัน 

พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของมดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะหลัก โดยลักษณะช่วงแรกนั้น เพศผู้จะปล่อยกลิ่นออกมาเพื่อดึงดูดเพศผู้ด้วยกันเองให้บินทวนลมขึ้นไปเพื่อรวมกลุ่มกันอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งเพื่อจู่โจมเข้าหาเพศเมีย (Male – Aggregetion Syndrome) ส่วนเพศเมียเป็นฝ่ายที่เรียกเพศผู้เข้าหา (Female – Calling Syndrome)  โดยการใช้ฟีโรโมน (pheromones) บ่อยครั้งที่การผสมพันธุ์อาจเกิดขึ้นกลางอากาศ (Ayasse et al., 2001) 

หลังจากที่แมงมันเพศเมียได้รับการผสมพันธุ์แล้วเพศเมียจะบินลงมายังพื้นดินเพื่อทําการสลัด
ปีก การผสมพันธุ์ของแมงมันเพศเมียพบว่าสามารถผสมพันธุ์กับเพศผู้ได้หลายครั้ง ส่วนเพศผู้ก็สามารถผสมพันธุ์กับเพศเมียได้หลายครั้งเช่นกันซึ่งต่ายจากผึ้งที่เพศผู้ผสมพันธุ์ได้แค่ครั้งเดียว

หลังจากที่มดเพศเมียสลัดปีกแล้วจะทําการขุดหลุมลงบนดิน จากนั้นจึงทําการวางไข่และทําการเลี้ยงดูตัวอ่อนชุดแรกด้วยของเหลวจากร่างกายของตนเอง เมื่อได้มดงานชุดแรก มดงานจะเป็นฝ่ายทําหน้าที่ดูแลนางพญา หาอาหาร ดูแลตัวอ่อนและทําการขยายรังต่อไปแทน ส่วนนางพญาจะมีหน้าที่ในการวางไข่และควบคุมประชากรในรังเท่านั้น (Matthews and Matthews, 1978)


แมงมันกินอะไรเป็นอาหาร

เนื่องจากแมงมันเป็นมดชนิดหนึ่ง และมดงานส่วนใหญ่เป็นพวกตัวห้ำ (predator) หรือกินซาก (scavengers) หรือบางทีก็กินตัวอ่อนปลวก หรือปลวกที่ยังมีกรามไม่แข็งแรง เพราะจะสังเกตว่ารังของแมงมันจะอยู่ใกล้กับรังปลวก และเพราะแมงมันเป็นสัตว์สังคมชั้นสูงมีกรามและมีฟันขนาดใหญ่โดยเฉพาะตอนปลาย นั้นทำให้อาหารของแมงมันนั้นค่อนข้างกว้าง ประกอบด้วย สัตว์ที่มีขาเป็นปล่องและเมล็ดพืช เพราะเมล็ดของพืชจํานวนมากมีสารดึงดูดที่จําเพาะเรียกว่า elaiosomes ซึ่งจะดึงดูด ให้มดงานเข้าไปหา

จากที่ค้นหามาจะพบว่า แมงมันที่โตเต็มวัยแล้วจะกินของเหลวที่สะสมจากเหยื่อ และเหยื่อที่เป็นของแข็งนั้นก็จะนํากลับไปที่รังโดยมดงาน เพื่อเอากลับไปเป็นอาหารของตัวอ่อนแมงมัน และตัวเต็มวัยที่อยู่ในรังได้แก่ ราชินี ที่ต้องได้รับอาหารจำนวนมากหรือทั้งหมดจากมดงานที่หาอาหารได้โดยตรงระหว่างที่หาอาหาร อ่านแค่นี้แล้วก็รู้สึกว่ามดงานทำงานหนักจริงๆ


แมงมันมีถิ่นที่อยู่ยังไง

ว่ากันว่าแมลงมันมีถิ่นแพร่กระจายอยู่ในแถบจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่และพบบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่น นครราชสีมา รังของแมงมันนั้นจะอาศัยอยู่ในดินได้เกือบทุกสภาพของดิน ที่ตั้งของรังแมลงมันนั้นต้องเป็นดินดอนน้ำท่วมไม่ถึง ส่วนใหญ่จะพบในบริเวณที่มีสภาพเป็นป่าโปร่งมีแสงแดดส่องถึง ส่วนพืชพรรณบริเวณนั้นมีความหลากหลาย รังของแมงมันจะอยู่ใต้ดินที่ความลึกจากผิวดิน 11 – 151 เซนติเมตรแล้วแต่ขนาดของรังและจํานวนประชากรของมดงาน รังของแมลงมันจะมีอยู่ 2 แบบ

  • โพ้งเผาะ โดยแบบแรกจะเป็นรังขนาดเล็กหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโพ้งเผาะมีลักษณะเป็นทรงกลมรีขนาดตั้งแต่ 4 x 6 เซนติเมตร จนถึง 8 x 10 เซนติเมตร
  • โพ้งใหญ่ จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโพ้งใหญ่ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 10 x 12 เซนติเมตรจนถึง 20 x 25 เซนติเมตร

รังของแมงมันทั้ง 2 แบบนั้นจะมีลักษณะเป็นทรงกลมรีและมีการแบ่งเป็นชั้นซ้อนกัน โดยมีระยะห่างของชั้นประมาณ 1.5 – 1.8 เซนติเมตร มีจํานวนของชั้นตั้งแต่ 7 – 27 ชั้น โดยแต่ละชั้นจะเป็นแผ่นบางๆ ผิวเรียบ มีความหนาประมาณ 1.5 – 2 มิลิเมตร แต่ละชั้นจะมีรูขนาดเล็กพอให้มดงานผ่านได้หลายรู ชั้นของรังนั้นจะมีเสาเชื่อม 3 – 8 เสาแล้วแต่ขนาดของรัง และในแต่ละชั้นของแมลงมันนั้นจะมีไข่หนอนและมดงานจํานวนมากที่ทําหน้าที่เลี้ยงดูตัวอ่อนเหล่านั้น

แมงมัน
แมงมัน
credit : SAN CE

เราจะหารังของแมงมันได้อย่างไร

งานวิจัยเกี่ยวกับนิเวศวิทยาบางประการของแมลงมัน (Carebara castaneaSmith.) บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ของคุณสาววิภาวี แสงพุ่มพงษ์ ได้กล่าวไว้ว่า บริเวณที่คาดว่าอาจจะเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและมีแหล่งอาหารของแมลงมันมี 3 พื้นที่ ได้แก่ ป่าธรรมชาติ พื้นที่ชุมชน และสวนป่า ซึ่งทั้งสามพื้นที่ควรมีต้นไม้ใหญ่หรือพื้นที่ใกล้จอมปลวกโดยพื้นที่ใกล้จอมปลวกอ้างอิงจาก Lepage and Darlington (1984) ซึ่งพบว่ามดชนิด Carebara vidua ที่เป็นมดในสกุลเดียวกับแมลงมัน และมีความล้ายคลึงกัน จะทํารังใกล้กับบริเวณจอมปลวกและล่าปลวกเป็นอาหาร

แมงมัน
credit : นิเวศวิทยาบางประการของแมลงมัน (ป่าธรรมชาติ)
แมงมัน
credit : นิเวศวิทยาบางประการของแมลงมัน (พื้นที่ชุมชน)
แมงมัน
credit : นิเวศวิทยาบางประการของแมลงมัน (สวนป่า)

จากงานวิจัยระบบนิเวศวิทยาบางประการของแมลงมัน. (45) ก็ได้พบว่าถิ่นอาศัยของแมลงมันที่ได้ทำการทดลองวางเหยื่อล้อจํานวนทั้งหมด 147 จุด เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติที่เป็นป่าผสมผลัดใบ 30 จุด, พื้นที่ชุมชน 25 จุด และพื้นที่สวนป่า 92 จุด เมื่อพิจารณาจากจํานวนจุดที่พบการปรากฏของแมลงมันในแต่ละพื้นที่พบว่า พื้นที่ชุมชน” สามารถพบแมลงมันมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 84.00 ของจํานวนจุดที่ทําการศึกษาในพื้นที่ชุมชนทั้งหมด รองลงมาได้แก่ บริเวณสวนป่า และป่าธรรมชาติ คิดเป็นร้อยละ 38.04 และ23.33 ของจํานวนจุดที่ทําการศึกษาในพื้นที่สวนป่าและป่าธรรมชาติทั้งหมด

แหล่งที่อยู่อาศัยของแมงมันที่สามารถพบได้มากที่สุดคือบริเวณที่ถูกรบกวนหรือมีกิจกรรมของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง
แมงมัน
credit : นางสาววิภาวี แสงพุ่มพงษ์

จากงานวิจัยของคุณสาววิภาวี แสงพุ่มพงษ์พบว่าความชื้นดินที่พบจากจุดที่พบมดงานของแมงมัน บริเวณรอบ ๆ รังของแมลงมัน ไปจนถึงภายในรังของแมงมันมีความชื้นที่สูงกว่าบริเวณผิวดินค่อนข้างมาก บริเวณที่มีแมงมันอาศัยต้องมีความชื้นของดินมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

อุณหภูมิดินเฉลี่ยภายในรังที่มีแมงมัน บริเวณที่พบมดงานและบริเวณที่ไม่มีแมลงมันตํ่ากว่าอุณหภูมิอากาศถึง 8 องศาเซลเซียส บริเวณภายในรังของแมลงมันพบว่ามีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ตํ่าและคงที่อยู่ระหว่าง 24.5 ถึง 25 องศาเซลเซียส


เลี้ยงแมงมันยังไงให้ยั่งยืนและสร้างรายได้ดี

ในส่วนนี้เราจะมาบอกถึงขั้นตอนดีๆ ในการเลี้ยงแมงมันให้ยั้งยืน สามารถมีแมงมันไว้เก็บกินได้ทุกปีและยังเป็นการอนุรักษ์แมลงนิดนี้ไม่ให้สูญพันธุ์อีกด้วย โดยเราอ้างอิงความรู้ดีๆนี้มาจาก ช่องyoutube Baan Rai Sai Thong

  • หารังแมงมันในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม มองหารอยดินบริเวณเนินดิน หรือมองหามดงานกับตัวแมงมันวรรณะสืบพันธุ์ที่ขึ้นมาจากรูดิน
แมงมัน
credit :
Baan Rai Sai Thong
  • ขุดโพรงลงไปเพื่อเอาไข่แมงมันออกมา ส่วนใหญ่การขุดเอาไข่จะทำตอนหน้าแล้งก่อนฤดูผสมพันธุ์หรือฤดูฝน เดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม
แมงมัน
credit :
Baan Rai Sai Thong
แมงมัน
credit :
Baan Rai Sai Thong
  • แต่หากรังไหนไม่ได้ขุดเอาไข่ออกไป ก็สามารถมาขุดตอนฤดูฝน เพื่อเก็บตัววรรณะสืบพันธุ์เพศเมียไปขายหรือประกอบอาหาร ซึ่งจะเห็นได้จากมดงานขุดรูขึ้นมาบนหน้าดินเพื่อให้ตัวแมงมันเพศเมียและเพศผู้ออกมาผสมพันธุ์กัน
แมงมัน
credit :
Baan Rai Sai Thong
  • ปกติแล้วเมื่อแมงมันเพศเมียและเพศผู้ออกมาจากรังแล้วพวกมันจะบินไปที่ต้นไม้เพื่อไปผสมพันธุ์กัน หรือไปที่หลอดไฟริมถนนแล้วผสมพันธุ์กันในอากาศ แต่ครั้งนี้เราจะเอาแมงมันมาผสมพันธุ์เองจึงสามารถไปจับจากปากรูหรือจับจากจุดที่พวกมันไปรวมบริเวณที่มีแสงไฟได้
แมงมัน
credit :
Baan Rai Sai Thong
  • เหตุที่ต้องนำแมงมันเพศผู้และเพศเมียออกมาผสมเอง เพราะแมงมันจะถูกล่อไปยังแสงไฟริมทาง แสงไฟจากบ้านเรือนเวลาพวกมันผสมพันธุ์กัน และนั้นเสี่ยงต่อการเจอศัตรูของพวกมัน เช่น กบ เขียด คางคก คน หรือรถยนต์ ที่สามารถกินหรือทำร้ายพวกมันได้ และอาจทำให้การขยายพันธุ์ของแมงมันน้อยลง โดยจากภาพแมงมันเพศผู้มากกว่าหนึ่งตัวจะผสมพันธุ์กับตัวเมียหนึ่งตัว และการมีถาดสีขาวและแสงไฟก็ทำให้การผสมพันธุ์ของแมงมันมีโอกาสสำเร็จมากยิ่งขึ้นด้วย
แมงมัน
credit :
Baan Rai Sai Thong
  • เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้ว เพศเมียจะสลัดปีกมันหลุดไป เพราะมันไม่จำเป็นที่จะต้องบินไปเพื่อผสมพันธุ์กับใครอีก แต่เพศผู้สามารถไปผสมพันธุ์กับเพศเมียตัวอื่นได้อีก
แมงมัน
credit :
Baan Rai Sai Thong
  • เราจะนำเพศเมียที่ผสมพันธุ์เสร็จแล้วไปวางหน้ารูที่เราทำไว้ให้ แต่ต้องเป็นเนินดินที่น้ำท่วมไม่ถึงเท่านั้น และเหตุที่ทำแบบนี้เพราะเวลาที่แมงมันเพศเมียผสมพันธุ์เสร็จ ตามธรรมชาติแล้วพวกมันต้องเดินเพื่อไปขุดรูดินเอง แต่ก็ต้องเผชิญกับศัตรูเช่น มดชนิดอื่นที่เข้ามากัดกิน หรือ กบ คางคก หรืออาจจะถูกคนหรือรถเหยียบ
แมงมัน
credit :
Baan Rai Sai Thong
แมงมัน
credit :
Baan Rai Sai Thong

การเพาะเลี้ยงตัวแมงมันแบบนี้เป็นการใช้วิธีทางธรรมชาติครึ่งหนึ่งและตัวคนเลี้ยงช่วยอีกครึ่งหนึ่ง เพราะการเพิ่มโอกาสในการผสมพันธุ์ และการหาเนินดินหรือโพรงที่เหมาะสมให้กับตัวแมงมันนั้น เป็นการประกันว่าแมงมันจะยังคงอยู่ในแต่ละปี และเป็นการระบุบริเวณที่อยู่ของตัวแมงมัน เพราะเมื่อถึงฤดูฝนปีถัดไป คนเลี้ยงก็ยังรู้ว่าบริเวณนี้มีตัวแมงมันให้สามารถจับได้ และยังสามารถขยายพันธุ์ไปได้อีกในทุกๆปีด้วย และนี้คือการเพาะเลี้ยงแมงมันอย่างยั้งยืน


เมนูอาหารเหนือจากแมงมันสร้างรายได้งาม

หากใครเคยกินหนอนทอดหรือรถด่วนแล้วบอกว่าอร่อยมาก เราอยากให้คุณได้มาลองอาหารคนเมืองอย่างแมงมัน ขายราคาหลายพันต่อหนึ่งกิโลกรัม หากินได้แค่หนึ่งครั้งในหนึ่งปี โดยคนเหนือนิยมกินแมงมันเพศเมีย มีสีแดงคล้ำ ตัวใหญ่ก้นกลม มีรสชาติมัน เรียกกันว่า แมงมันแม่ แต่แมงมันตัวผู้จะไม่ค่อยนำมากินเพราะมีรสขม และคนเมืองชอบนำตัวแมงมันไปคั่วน้ำมันและตำน้ำพริก ส่วนเมนูไข่แมงมัน สามารถนำมาทำตุ๋นใส่ไข่, ดองไข่แมงมัน, จ่อมไข่แมงมัน, ผัดกับผัก, ยำไข่แมงมัน หรือจะเอาไปใส่ในไข่เจียวก็ได้ แต่วันนี้ kaset.today อยากจะมาแนะนำเมนูหนึ่งที่ทุกคนน่าจะอยากกินกัน

แมงมันจ่อม

แมงมันจ่อม หรือหลู้ใข่แมงมัน เป็นอาหารรสจัดจ้าน โดย ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด หมาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปรุงอาหารด้วยวิธีการยำ โดยนำไข่แมงมันที่เป็นของเพศวรรณะสืบพันธุ์มีลักษณะกลมอ้วน และไข่วรรณะมดงานที่มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ ที่วางไข่ในโพรงใต้พื้นดินประมาณเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และก่อนจะนำไข่แมงมันมาปรุง ให้เราดองไว้ 2 คืนก่อน เพื่อให้ไข่แมงมันมีรสเปรี้ยว นิยมรับประทานกับยอดสะเดา

ส่วนผสม

  • ไข่แมงมัน 100 กรัม
  • เกลือ 1 ช้อนชา
  • น้ำต้มสุก 2 ถ้วย
  • พริกแห้งย่างไฟ 10 เม็ด
  • กระเทียมย่างไฟ 2 หัว
  • หอมแดงซอย 1/2 ถ้วย
  • ผักชีซอย 1/2 ช้อนโต๊ะ
  • ต้นหอมซอย 1/2 ช้อนโต๊ะ

วิธีการทำ

  • ใส่ไข่แมงมันลงในภาชนะสำหรับดอง
แมงมัน
credit : ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด หมาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ใส่น้ำต้มสุกแต่ควรวางให้หายร้อนก่อน และใส่เกลือลงไป แล้วคนให้เข้ากัน เสร็จแล้วให้ปิดฝาให้สนิท หมักทิ้งไว้ 2 คืน
แมงมัน
credit : ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด หมาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • โขลกพริก กระเทียม รวมกันให้ละเอียด แล้วใส่ลงในชามแมงมัน ใส่หอมแดงซอย คนให้เข้ากัน
แมงมัน
credit : ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด หมาวิทยาลัยเชียงใหม่
แมงมัน
credit : ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด หมาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ใส่ผักชีต้นหอม
แมงมัน
credit : ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด หมาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมนูแมงมันจ่อม อาหารของคนเมืองหรือชาวล้านนานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทของหมักของดองไว้สำหรับใช้เป็นเครื่องปรุงรส และเป็นส่วนผสมของตำรับอาหาร และหากใครอยากจะลองกินอาหารล้านนา เมนูแมงมันจ่อมก็เป็นเมนูที่ควรลองกินสักครั้งหนึ่งในชีวิตเลยนะ

เป็นยังไงบ้างหลังจากอ่านจบ ทุกคนก็คงจะรู้จักแมงมันมากขึ้น และถึงแม้คุณจะอยากเปลี่ยนแมลงชนิคนี้มาเป็นธุรกิจปศุสัตว์ฟาร์มแมงมันมากแค่ไหน เราก็อยากจะบอกว่ามันคงเป็นไปได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะการเลี้ยงแมงมันเพื่อเอาไว้กินหรือเอาไว้ขายในปีถัดไป คุณก็ต้องให้ธรรมชาติเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงแมงมันอยู่ดี 

ดังนั้นหากคุณต้องการเลี้ยงแมงมันเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนคุณต้องรู้จักเรียนรู้ธรรมชาติของแมงมัน ทำความเข้าใจและอนุรักษ์สายพันธุ์มดชนิดนี้ไปทุกปี เพราะถ้าคุณเข้าใจและทำตามบทความนี้ keset today รับรองได้ว่าคุรจะมีแมงมันกินและขายไปทุกปีแน่นอน

แหล่งอ้างอิง

จากการค้นคว้าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประพันธ์, 2526

นิเวศวิทยาบางประการของแมลงมัน (Carebara castaneaSmith.) บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย

Baan Rai Sai Thong

ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด หมาวิทยาลัยเชียงใหม่

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้