การเลี้ยงไก่ไข่ถือว่าเป็นอาชีพที่มีผู้สนใจมากในปัจจุบัน เนื่องจากไก่ไข่เลี้ยงไม่ยาก ต้องการพื้นที่เลี้ยงน้อย มีความสะดวกทั้งทางด้านการจัดหาลูกไก่ อาหาร อุปกรณ์การให้อาหารและน้ำ วัคซีนและยารักษาโรค นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงพันธุ์ไก่ไข่จากพันธุ์แท้เป็นไก่ผสมที่ให้ผลผลิตสุงกว่าพันธุ์แท้ จึงทำให้การเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยมีความคล่องตัวสูง ทำให้อุตสาหกรรมไก่ไข่เจริญก้าวหน้า สามารถผลิตไข่เพื่อการบริโภคภายในประเทศและจำหน่ายต่างประเทศในปีหนึ่งๆเป็นมูลค่าหลายล้านบาท ไก่ไข่เป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทย มีการเลี้ยงไก่ไข่อย่างแพร่หลายทั้งเลี้ยงแบบธรรมชาติ และแบบเป็นอุสาหกรรม พื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตไข่ไก่ที่สำคัญของเมืองไทยอยู่ในภาคตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันตก เขตกรุงเทพและปริมณฑลตามลำดับ โดยจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตไข่ไก่มากที่สุดได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รองลงมาเป็นจังหวัดนครนายก ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และอุบลราชธานี ตามลำดับ ปัจจุบันนิยมเลี้ยงไก่ไข่ในหลายรูปแบบ เช่น การเลี้ยงแบบขังกรง การเลี้ยงปล่อยในโรงเรือน การเลี้ยงปล่อยอิสระตามธรรมชาติ และในปัจจุบันแนวโน้มของผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากปศุสัตว์เลี้ยงแบบปล่อยอิสระตามธรรมชาติ จึงทำเกษตรกรหันมาเลี้ยงแบบปล่อยอิสระมากขึ้น
ทำความรู้จักกับไก่ไข่
พันธุ์ไก่ไข่ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยในปัจจุบันส่วนมากแล้วเป็นพันธุ์ที่นำมาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้มีการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์มาเป็นอย่างดีแล้ว เช่น ไข่ฟองโต และให้ไข่ทน ไก่ไข่ในประเทศไทยมี 2 สายพันธุ์ คือ ไก่พันธุ์แท้ และไก่พันธุ์ลูกผสม ไก่ไข่ที่เลี้ยงในปัจจุบันได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีผลผลิตไข่สะสมไม่ต่ำกว่า 300 ฟอง/ตัว ซึ่งมากกว่าในอดีตมากและเริ่มให้ผลผลิตไข่เร็วขึ้น ปัจจุบันมีการเลี้ยง 3 แบบคือ การเลี้ยงแบบขังกรง การเลี้ยงปล่อยในโรงเรือน การเลี้ยงปล่อยอิสระตามธรรมชาติ
พันธุ์ไก่ไข่
คุณกานดา ล้อแก้วมณี และคุณชลัท ทรงบุญธรรม ได้กล่าวใน การเลี้ยงไก่ไข่ของประเทศไทย ไว้ว่า พันธุ์ไก่นับเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของธุรกิจการเลี้ยงไก่ให้ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นผู้เลี้ยงจะต้องเลือกพันธุ์ไก่ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของการเลี้ยง เช่น เลือกไก่สายพันธุ์ไข่เพื่อการผลิตไข่ เป็นต้น ในอดีตนิยมเลี้ยงไก่พันธุ์แท้ แต่พันธุ์ไก่ไข่ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยในปัจจุบันส่วนมากเป็นไก่สายพันธุ์ลูกผสมเกือบทั้งสิ้น ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้มีการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์มาเป็นอย่างดี เช่น ให้ไข่ดก ไข่ฟองโต ให้ไข่ทนและกินอาหารน้อย สำหรับพันธุ์ไก่ที่เลี้ยงในเมืองไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
ไก่พันธุ์แท้
เป็นไก่ไข่ที่ได้รับการคัดเลือกและผสมพันธุ์เป็นอย่างดีมาอย่างต่อเนื่องของนักผสมพันธุ์ จนลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ มา มีลักษณะรูปร่าง ขนาด สีและอื่น ๆ เหมือนบรรพบุรุษหรือลักษณะประจำพันธุ์คงที่ ไก่พันธุ์แท้เคยได้รับความนิยมมากในสมัยหนึ่ง เพราะได้ชื่อว่าเป็นไก่ที่ให้ไข่ดก แต่ต่อมาภายหลังได้มีการปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงขึ้นมาทดแทน ไก่พันธุ์แท้จึงได้รับความนิยมน้อยลง ในปัจจุบันไก่พันธุ์แท้ได้รับความสนใจและเลี้ยงเป็นการค้ากันน้อยมาก เพราะผู้เลี้ยงไก่ไข่นิยมเลี้ยงไก่ลูกผสมอันเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ ซึ่งให้ผลผลิตที่ดีกว่าไก่พันธุ์แท้มาก สำหรับพันธุ์ไก่ไข่พันธุ์แท้ที่ยังมีการเลี้ยงในเมืองไทย ได้แก่
- พันธุ์โร๊ตไอส์แลนด์เรด (Rhode Island Red)
หรือที่เรียกันสั้น ๆ ว่า “ไก่โร๊ต” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นไก่พันธุ์เก่าแก่พันธุ์หนึ่งที่มีอายุกว่า 100 ปี โดยการผสมและคัดเลือกพันธุ์มาจากไก่พันธุ์มาเลย์แดง ไก่เซี่ยงไฮ้แดง ไก่เล็กฮอร์นสีน้ำตาล ไก่คอร์นิส ไก่ไวยันดอทท์ และไก่บราห์มาส์ ไก่พันธุ์โร๊ดไอส์แลนด์เรดมี 2 ชนิด คือ ชนิดหงอนกุหลาบและชนิดหงอนจักร แต่ที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายเป็นชนิดหงอนจักร ซึ่งเป็นไก่ที่ให้ไข่ค่อนข้างดี เคยมีสถิติชนะการแข่งขันไก่ไข่ดกในประเทศไทยอยู่เสมอ ลักษณะไก่โร๊ดไอส์แลนด์เรดหงอนจักร เป็นไก่ประเภทกึ่งเนื้อกึ่งไข่ ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จนมีหงอนแบบหงอนจักรขนาดกลาง มีรูปร่างค่อนข้างยาวและลึก เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนทั่วไปตามลำตัวมีสีน้ำตาลแดงเข้ม ขนปีกขนหางมีสีดำเหลือบเขียว ผิวหนังและหน้าแข้งมีสีเหลืองจัด ปากมีสีแดงเหลือง ตาสีแดง หงอนจักร 5 แฉก เปลือกไข่มีสีน้ำตาลขนาดไข่ใหญ่ปานกลาง นิสัยเชื่อง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 5 เดือนครึ่ง ให้ไข่ค่อนข้างดกคือให้ไข่ปีละประมาณ 280-300 ฟอง น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่เพศผู้หนัก 3.1-4.0 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 2.4-4.0 กิโลกรัม
- พันธุ์บาร์พลีมัทร็อค (Barred Plymouth Rock)
หรือที่เรียกกันว่า “ไก่บาร์” เป็นไก่พลีมัทร็อคที่มีขนสีบาร์ คือ มีขนสีดำสลับกับสีขาวตามขวางของขน ลักษณะลำตัวยาว หงอนจักร ปากสีเหลือง ตาสีน้ำตาลแดง หงอนเหนียงและตุ้มหูมีสีแดง หนังสีเหลือง ขาและนิ้วเท้าสีแดง ให้ไข่เปลือกสีน้ำตาลเริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 5 เดือนครึ่ง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ตัวผู้มีน้ำหนักประมาณ 3.6-4.3 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 2.7-3.7 กิโลกรัม ไก่พันธุ์บาร์พลีมัทร็อคมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นไก่ประเภทกึ่งเนื้อกึ่งไข่ เป็นพันธุ์ที่ได้มีการผสมและคัดเลือกพันธุ์ขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 1865 โดยการผสมระหว่างไก่ตัวผู้พันธุ์โดมินิคกับไก่ตัวเมียพันธุ์โคชินดำ หรือจาวาดำ เคยเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมเลี้ยงเป็นไก่ไข่อยู่ระยะหนึ่งเมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน แต่ในปัจจุบันนิยมใช้แม่พันธุ์ผสมกับพ่อพันธุ์โร๊ดไอส์แลนด์เรดหรือพันธุ์นิวแฮมเชียร์ เพื่อผลิตลูกผสมไฮบริดเป็นการค้าชนิดคัดเพศได้เมื่อแรกเกิดโดยดูจากสีของขน โดยลูกผสมลูกผสมตัวเมียจะมีขนสีดำและให้ไข่ดกส่วนลูกผสมตัวผู้มีสีบาร์
- พันธุ์เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร (Single Comb White Leghorn)
มีถิ่นกำเนิดในประเทศอิตาลี จัดเป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายที่สุดในบรรดาไก่เล็กฮอร์นด้วยกัน ซึ่งไก่พันธุ์นี้เคยเป็นที่นิยมเลี้ยงเป็นไก่ไข่อย่างแพร่หลายที่สุดในบรรดาไก่เล็กฮอร์นด้วยกัน ซึ่งไก่พันธุ์นี้เคยเป็นที่นิยมเลี้ยงเป็นไก่ไข่อย่างแพร่หลาย ในสมัยเริ่มแรกที่มีการเลี้ยงไก่ไข่เชิงอุตสาหกรรม เป็นไก่พันธุ์เบาที่มีขนาดเล็ก ลักษณะว่องไว ปราดเปรียว มีการเจริญเติบโตเร็ว ขนสีขาวทั้งตัว หงอนจักร 5 แฉกขนาดใหญ่ หงอนมีสีแดง ปากเหลือง ตุ้มหูสีขาว ผิวหนังและหน้าแข้งสีเหลือง ให้ไข่เร็ว ให้ไข่ดก ไข่เปลือกสีขาว มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารค่อนข้างสูง ทนต่ออากาศร้อนได้ดี เริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 4 เดือนครึ่ง ให้ไข่ปีละประมาณ 300 ฟอง น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่เพศผู้หนัก 2.2-2.9 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 1.8-2.2 กิโลกรัม ปัจจุบันนิยมใช้ไก่พันธุ์เล็กฮอร์นขาวหงอนจักรผสมข้ามสายพันธุ์ตั้งแต่ 2 สายพันธุ์ขึ้นไป เพื่อผลิตไก่ไข่ลูกผสมเพื่อการค้าที่ให้ไข่ดก ไข่ฟองโต และกินอาหารน้อย ซึ่งตรงตามความต้องการของตลาด
ไก่พันธุ์ลูกผสม (Hybrid Breeds)
หมายถึง พันธุ์ไก่ไข่ที่ได้จากการนำไก่ไข่ตั้งแต่ 2 สายพันธุ์ขึ้นไปมาผสมกัน เป็นไก่พันธุ์ไข่ที่นิยมเลี้ยงกันในเชิงการค้ามากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นพันธุ์ไก่ที่ผสมขึ้นเป็นพิเศษ โดยบริษัทผู้ผลิตลูกไก่พันธุ์ไข่จำหน่ายได้มีการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพในการให้ผลผลิตไข่ที่สูง และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดคือให้ไข่ดก เปลือกไข่สีน้ำตาล ไข่ฟองโตและไข่ทน เพราะได้รับการรวบรวมลักษณะต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ไก่พันธุ์ลูกผสมนี้จะมีลักษณะเด่นประจำพันธุ์และมีข้อมูลประจำพันธุ์อย่างละเอียด เช่น อัตราการเจริญเติบโต ปริมาณอาหารที่กิน อัตราการเลี้ยงรอด เปอร์เซ็นต์การไข่ ระยะเวลาในการให้ไข่ ขนาดของแม่ไก่ ขนาดของฟองไก่ สีของเปลือกไข่ เป็นต้น แต่ไก่ลูกผสมนี้จะต้องเลี้ยงด้วยอาหารที่มีคุณภาพสูง มีการจัดการที่ถูกต้อง เช่น การควบคุมน้ำหนัก การควบคุมการกินอาหาร การควบคุมแสงสว่าง ตลอดทั้งการสุขาภิบาลและป้องกันโรคที่ดีด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุที่ไก่พันธุ์ลูกผสมส่วนใหญ่มีการผสมพันธุ์ที่ดำเนินการโดยบริษัทผลิตพันธุ์ไก่ไข่เป็นการค้า ซึ่งบริษัทจะรักษาไก่ต้นพันธุ์และระบบการผสมพันธุ์ไว้เป็นความลับ เพื่อผลประโยชน์ในทางการค้า ในปัจจุบันไก่ไข่พันธุ์ลูกผสมมีมากมาย ส่วนใหญ่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป โดยมีลิขสิทธิ์เฉพาะของผู้ที่ปรับปรุงพันธุ์ได้ ส่วนในประเทศไทยบริษัทเอกชนต่าง ๆ ได้นำเข้าไก่พ่อแม่พันธุ์รุ่นปู่ย่า และรุ่นพ่อแม่มาผลิตลูกไกไข่จำหน่ายให้กับผู้เลี้ยง ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน เช่น เอ.เอ บราวน์,รอสบราวน์,ไฮเซกบราวน์,อีซ่าบราวน์,ซูปเปอร์ฮาร์โก้,ดีคาร์บวอร์เรน,ฮับบาร์ดโกเด้นคอมเมท,เซพเวอร์สตาร์ครอส 579,แป๊บค็อกบี-380,บาโบลนาเดตร้า-เอสแอล เป็นต้น
ทำความรู้จักกับการเลี้ยงไก่ไข่
การเลี้ยงไก่ไข่แบบขังกรง
ระบบการเลี้ยงไก่ไข่ยืนโรงบนตรงตลอดเวลาในพื้นที่จำกัด
การเลี้ยงไก่ไข่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้เหมาะสมสำหรับไก่และสะดวกในการจัดการ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตามบริษัทผู้ผลิต อย่างไรก็ตามกรงจะต้องมีความสูงเพียงพอที่ไก่จะยืนแล้วรู้สึกสบายไม่อึดอัด โดยทั่วไปความสูงของกรงจะมีความสูงประมาณ 14-16 นิ้ว (31-41 เซนติเมตร) ความกว้างและความลึกของกรงขึ้นกับความเหมาะสม การเลี้ยงไก่ไข่เป็นอุตสาหกรรมในปัจจุบันนิยมเลี้ยงแบบขังกรง การเลี้ยงแบบนี้มีข้อดีและข้อเสียคือ
ข้อดี
- สะดวกในการดูแลและการตรวจสอบสุขภาพไก่
- ไก่ไม่ปนเปื้อนมูล เนื่องจากเมื่อไก่ขับถ่ายมูลออกไปแล้วก็จะตกลงสู่ด้านล่างของกรงทันที
- ไข่สะอาดไม่ปนเปื้อนมูลและสิ่งสกปรกต่าง ๆ
- การจับและการคัดไก่ออกสามารถกระทำได้สะดวก
- การเลี้ยงไก่บนกรงจะทำให้ไก่กินอาหารน้อยกว่าการเลี้ยงแบบปล่อยพื้น
- ไก่ไม่มีนิสัยชอบฟักไข่
- สามารถเลี้ยงไก่ได้ปริมาณมากกว่าในโรงเรือนขนาดเท่ากัน
- การป้องกันการเกิดพยาธิภายใน พยาธิภายนอก และโรคติดต่อทำได้ง่ายกว่า
- ประหยัดแรงงานและการทำงานสะดวกขึ้น เนื่องจากสามารถนำอุปกรณ์อัตโนมัติเข้ามาช่วยทำงานได้ เช่น การให้น้ำ การให้อาหาร และการเก็บไข่
ข้อเสีย
- ต้นทุนการเลี้ยงต่อตัวสูงขึ้น
- มีปัญหาการจัดการมูลในระหว่างการเลี้ยง
- มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับแมลงวันและแมงปีกแข็งมากกว่าการเลี้ยงไก่แบบปล่อยพื้น
- ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงแบบขังกรงมักจะมีโอกาสเกิดจุดเลือดและจุดเนื้อในฟองไข่มากกว่า
- ไก่ที่เลี้ยงแบบขังกรงมักจะมีกระดูกเปราะกว่าจึงมีโอกาสกระดูกหักได้ง่ายกว่า
ปัจจัยสำคัญ
- อุณหภูมิ ไก่เป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ การระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่สามารถระบายออกทางผิวหนังเหมือนคนเรา ดังนั้นการระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยหายใจเอาอากาสเข้าไปในปอด เข้าถุงลม ส่วนน้ำที่ไก่กินเข้าไปบางส่วนจะระเหยรวมออกมากับอากาศที่ไก่หายใจออก เนื่องจากร่างกายไก่ไม่มีความร้อน (การระเหยของน้ำเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร้อน) ดังนั้นการหายใจก็จะนำความร้อนออกมาด้วย ซึ่งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายของไก่ โดยมีต่อม ไฮโปทารามัส ต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่เสมือนศูนย์ควบคุมการปรับอุณหภูมิของร่ายกายไก่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่
- การถ่ายเทหรือการระบายอากาศ โรงเรือนไก่ไข่สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงการระบายอากาศ หากสร้างโปร่ง การหมุนเวียนถ่ายเทอากาศดี อากาศเสียจะถูกขับออกนอกโรงเรือนและอากาสบริสุทธิ์จากภายนอกจะเข้าไปแทนที่ โดยนำความร้อนจากภายในโรงเรือนออกไปด้วย นอกจากนั้นจะเป็นการลดปริมาณเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่ง
- โปรแกรมแสงสว่าง การเลี้ยงไก่ไข่แสงสว่างมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเมื่อไก่มีอายุ 6-22 สัปดาห์ โดยค่อย ๆ เพิ่มแสงให้สัปดาห์ละ ½ -1 ชั่วโมง จนครบ 4 ชั่วโมง รวมแสงธรรมชาติอีก 12 ชั่วโมงต่อวัน รวมเป็น 16 ชั่วโมง จึงจะเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อที่จะให้ได้ผลผลิตสูง หรืออายุการให้ไข่นานและจะใช้แสงเช่นนี้ไปจนกว่าไก่จะหมดไข่
- ความชื้นสัมพัทธ์ ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมประมาณ 50-80% ซึ่งถ้าความชื้นในอากาศต่ำ การระบายความร้อนออกจากร่างกายจะระบายได้ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยมักจะเจอปัญหาเรื่องความชื้นในฤดูฝน (ร้อน-ชื้น)
- การให้อาหารไก่ไข่ เป้าหมายสำคัญของอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่ ต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด และมีประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ไข่ 1 ฟองต่ำที่สุด อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตไข่ 1 ฟอง เป็นค่าอาหารประมาณ 60% ดังนั้นจะมีผลเกี่ยวข้องไปถึงเรื่องอัตราการให้ไข่ และขนาดตัวของไก่ด้วย ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องเลือกสายพันธุ์ไก่ที่มีอัตราการให้ไข่ดก และขนาดตัวเล้กเพื่อประหยัดค่าอาหาร นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ฤดูกาลก็เป็นปัจจัยสำคัญ
การจัดการไก่ไข่บนกรง
ขนาดกรง
ขนาดกรงส่วนใหญ่จะขึ้นกับบริษัทผู้ผลิต อย่างไรก็ตามกรงเลี้ยงไก่ไข่จะต้องมีความสูงจากพื้น ถึงหลังคากรงไม่น้อยกว่า 15-16 นิ้ว หรือ 38-41 เซนติเมตร เพื่อให้ไก่ได้ยืนอย่างสบาย
รูปแบบของกรง
กรงสำหรับเลี้ยงไก่ไข่มีอยู่หลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบจะเหมาะสมกับสถานการณ์แตกต่างกัน เช่น สภาพอุณหภูมิ สายพันธุ์ไก่ วัสดุที่ใช้ทำกรง รูปแบบของโรงเรือน ฯลฯ รูปแบบกรงเลี้ยงไก่ไข่ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้แก่
- กรงขังเดี่ยว (Single-bird cage)
- กรงขังรวมขนาดเล็ก (Small,multiple-bird cage)
- กรงขังรวมขนาดใหญ่ (Large,multiple-bird cage)
- กรงขังรวมฝูงขนาดใหญ่ (Colony cage)
- กรงดัดแปลง (Modified cage)
การจัดเรียงกรง
ลักษณะการจัดเรียงกรงไก่ไข่รูปแบบต่าง ๆ สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุดได้ ลักษณะการจัดเรียงกรงมีดังนี้
- กรงชั้นเดียว (Single-tier)
เป็นการจัดวางกรงเพียงชั้นเดียวเหมาะสมกับการเลี้ยงไก่ในเขตร้อน การจัดเรียงกรงแบบนี้อากาศสามารถถ่ายเทผ่านตัวไก่ได้ง่าย และไม่มีความร้อนสะสมภายในโรงเรือนอีกด้วย เหมาะสำหรับการเลี้ยงไก่ในโรงเรือนแบบเปิด การจัดเรียงกรงแบบนี้จะเลี้ยงไก่ได้น้อยกว่าแบบอื่นในขนาดโรงเรือนเท่านั้น - การวางกรงหลายชั้นในลักษณะเหลื่อมกัน (Multiple-tier, offset cage)
การจัดการวางกรงแบบนี้นิยมใช้กันมาก เนื่องจากกรงด้านบนจะไม่อยู่เหนือกรงด้านล่างแบบตรง ๆ แต่จะอยู่เยื้องกัน ทำให้มูลที่ถ่ายออกมาจะไม่ตกลงมาถูกไก่ที่อยู่ด้านล่าง การจัดวางกรงลักษณะนี้บางครั้งจะเรียกกว่าการจัดวางแบบขั้นบันได (Stair step) การจัดเรียงกรงแบบนี้จะวางกรงซ้อนกันได้ไม่เกิน 3 ชั้น เนื่องจากจะทำให้การดูแลและการจัดการไก่ในชั้นบนสุดทำได้ลำบาก - การวางกรงหลายชั้นในแนวตั้ง (Multiple-tier, stacked cage)
การจัดวางกรงในลักษณะนี้สามารถเรียงกรงได้หลายกรง ระหว่างชั้นแต่ละชั้นจะมีที่รองมูล ซึ่งอาจจะเป็นสายพานที่สามารถลำเลียงมูลออกไปทิ้งภายนอกโรงเรือนได้ เป็นแผ่นพลาสติกและมีแผ่นโลหะสำหรับกวาดมูลออกไปก็ได้ การจัดวางกรงลักษณะนี้สามารถเรียงซ้อนกันได้หลายชั้น ขึ้นอยู่กับความสูงของโรงเรือน ปกติมักจะมีตั้งแต่ 4-8 ชั้น เป็นระบบที่มีการใช้พื้นที่โรงเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การจัดแสงสว่างและเวลาการให้แสง
การเพิ่มความยาวแสง เพื่อกระตุ้นการเป็นหนุ่มเป็นสาวจะกระทำเมื่อไก่มีน้ำหนักตัวถึงน้ำหนักมาตรฐานที่กำหนดไว้ หรือน้ำหนักพิกัด ซึ่งไก่แต่ละสายพันธุ์จะมีน้ำหนักตัวไม่เท่ากัน เช่น ไก่เล็กฮอร์นขาวจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 1.25-1.35 กิโลกรัม ส่วนไก่ไข่สีน้ำตาลจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 1.35-1.50 กิโลกรัม การเพิ่มความยาวแสงต่อวันแบบกะทันหันหรือการเพิ่มอย่างรวดเร็ว จะทำให้ไก่มีโอกาสเกิดมดลูกทะลักมากขึ้น ดังนั้น ถ้าหากอายุถึงวัยเจริญพันธุ์ในขณะที่เลี้ยงอยู่ภายใต้ความยาวแสง 11-12 ชั่วโมง/วัน การเพิ่มความยาวแสงครั้งแรกจะต้องเพิ่มความยาวแสงขึ้นไปไม่เกิน 1 ชั่วโมง/สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงควรเพิ่มความยาวแสงสัปดาห์ละ 15 นาที จนกระทั่งมีความยาวแสงตามที่กำหนด ความยาวแสงต่อวันที่เหมาะสมเพื่อให้ไก่ไข่ให้ผลผลิตไข่สูงที่สุดควรอยู่ที่ประมาณ 15-16 ชั่วโมง/วัน ช่วงเวลาการให้แสง ปกติความยาวแสงต่อวันจะผันแปรไปตามฤดูกาลและตำแหน่งบนโลก พื้นที่ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับโลกมากที่สุด และระยะเวลาช่วงกลางวันและกลางคืนค่อนข้างคงที่เกือบตลอดทั้งปี ในขณะที่พื้นที่อยู่ค่อนไปทางขั้วโลกเหนือ หรือขั้วโลกใต้ ตำแหน่งของดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูการ ทำให้ความยาวแสงในแต่ละวันจะแตกต่างกันตามฤดูกาล ยิ่งพื้นที่นั้นอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากเท่าไรความแตกต่างของความยาวแสงต่อวัน ในแต่ละฤดูกาลจะยิ่งมากขึ้น ดังนั้นในพื้นที่ที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรจึงต้องมีการปรับเวลาในการเปิดไฟเพื่อให้แสงสว่างเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ความยาวแสงต่อวันมากกว่า 11-12 ชั่วโมง สามารถกระตุ้นฮอร์โมนเพศให้มีการสร้างฟองไข่ได้แต่ถ้าจะให้ได้ผลการกระตุ้นความสูงสุดก็ควรจะให้มีความยาวแสงไม่น้อยกว่า 14 ชั่วโมง/วัน การเพิ่มความยาวแสงต่อวันมีวิธีการเพิ่ม 3 วิธีคือ
- เพิ่มให้เฉพาะตอนเช้ามืด
- เพิ่มให้เฉพาะตอนค่ำ
- เพิ่ให้ตอนเช้ามืดและค่ำ
การเพิ่มความยาวแสงโดยการเปิดไฟเพิ่มเติมในช่วงตอนเช้ามืด และช่วงค่ำจนกระทั่งไก่ได้รับความยาวแสงครบตามกำหนด เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก เนื่องจากการปรับใช้และการชดเชยความยาวแสงตามเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตกทำได้สะดวก ในขณะที่วิธีการเพิ่มแสงเฉพาะตอนเช้ามืดหรือเฉพาะตอนค่ำเพียงอย่างเดียว จะทำให้การชดเชยความยาวแสงที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลทำได้ยาก อย่างไรก็ตามการเปิดไฟฟ้าในช่วงเย็นเพื่อเพิ่มความยาวแสง หรือเพื่อให้ไก่ได้รับความยาวแสงครบตามที่กำหนดไว้นั้น ควรจะเปิดสวิทซ์ก่อนที่จะถึงเวลาดวงอาทิตย์ตกประมาณ 30 นาที และการปิดไฟในตอนเช้าก็ควรจะปิดหลังจากที่ดวงอาทิตย์ขึ้นแล้วประมาณ 30 นาทีเช่นกัน
การให้น้ำและอาหาร
- ไก่ไข่ที่อายุ 5 เดือนขึ้นไป ต้องการน้ำประมาณ 0.5 ลิตรต่อวัน ต่อหัว หากขาดน้ำในช่วงให้กำลังไข่เพียง 3-4 ชั่วโมง จะทำให้ไข่ฟองเล็ก น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาด ไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อนโดยใช้ไคโตซาน มิกซ์ฟีด วิตามินละลายน้ำในกระบอกหรือถังให้ไก่กิน โดยใช้อัตรา 0.5 ซีซี น้ำ 1 ลิตร ป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำกระตุ้นการกินอาหาร
- อาหารไก่ไข่ ในช่วงเริ่มให้ไข่ เปอร์เซ็นต์โปรตรีนประมาณ 13-15% ซึ่งมีทั้งอาหารป่น อาหารอัดเม็ด หัวอาหารสำหรับผสมเอง ความต้องการอาหารของไก่อายุ 5 เดือนขึ้นไป อาหาร 150-200 กรัม ต่อตัวหรือ 2 ขีด แล้วเพิ่มขึ้นทีละน้อยเพื่อให้ไข่สม่ำเสมอ
- ราคากระสอบละ 500 บาท กิโลกรัมละ 20 บาท
การสุขาภิบาล
- การกำจัดกลิ่นเหม็นจากมูลสัตว์ตามพื้นคอก ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ไก่มีอาการหายใจลำบาก หน้าบวม ร้อนแดง ตาอักเสบ น้ำมูล น้ำตาไหลและมีอาการคัน เกาจนเป็นแผลทำให้เกิดการติดเชื้อและตายในที่สุด หากเป็นไก่ไข่แบบเลี้ยงรวมบนพื้นสามารถใช้สเม็คไทต์ผง หว่านลงบนวัสดุรองพื้น โดยในระยะไก่โตอาจหว่ายโรย ทุก 5-7 วัน ช่วงเช้า-เย็น ไก่ไข่แบบกรงตับให้ใช้สเม็คไทต์ผง หว่านโรยบาง ๆ ทับลงบนมูลไก่ที่พื้นคอก กลิ่นเหม็นจะถูกดูดซับ จากนั้นประมาณ 5-10 นาทีกลิ่นเหม็นจะหายไป
- การหว่านโรยสเม็คไทต์ผง บนมูลไก่บนลานตากแห้ง หรือหว่านโรยบาง ๆ ในเล้าไก่ ช่วยลดปัญหาไรไก่ พยาธิ รวมทั้งแมลงวันให้น้อย เนื่องจากสเม็คไทต์ เป็นสารจากการระเบิดตัวของหินภูเขาไฟ ซึ่งสามารถรบกวนผิวไรไก่และพยาธิ ทำให้ไรไก่และพยาธิไม่สามารถระบาดได้และลดลงจนหมดไป ราคา 160 บาท
หากนำมูลไก่ที่หว่านโรยด้วยสเม็คไทต์ไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ จะเป็นปุ๋ยละลายช้าที่มีซิลิก้า ช่วยให้พืชแข็งแรง ต้านทานโรค แมลงได้ดีขึ้น
โรคและการป้องกัน
- โรคนิวคาสเซิล เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดของไก่ในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการหายใจเอาเชื้อ และสิ่งขับถ่ายอื่น ๆ ของไก่ป่วย ไก่ที่ป่วยจะมีอาการทางระบบหายใจและระบบประสาท เช่น หายใจลำบาก มีเสียงดังเวลาสำหรับแม่ไก่ที่กำลังให้ไข่จะให้ไข่ลดลง และมักจะตายภายใน 3-4 วันหลังจากแสดงอาการป่วย การป้องกัน โดยการทำวัคซีนนิวคาสเชิล
- โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ เป็นโรคทางเดินหายใจที่แพร่หลายที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดขึ้นได้กับไก่ทุกอายุ แต่มักจะรุนแรงในลูกไก่ มีอัตราการตายสูงมาก ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการ อ้าปากและโก่งคอเวลาหายใจ หายใจลำบาก เวลาหายใจมีเสียงครืดคราด เบื่ออาหารในไก่ไข่ลดลงอย่างกระทันหัน การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ
- โรคอหิวาต์ไก่ เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายทางอาหารและน้ำ ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหงอย ซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลือง เหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ ถ้าไก่เป็นโรคนี้อย่างร้ายแรง ไก่อาจตายโดยไม่แสดงอาหารป่วยให้เห็น การรักษาใช้ยาปฏิชีวนะ คลอเตตร้าชัยคลิน หรือออกซีเตตร้าชัยคลิน หรือใช้ยาประเภทซัลฟา เช่น ซัลฟาเมอราซีนหรือซัลฟาเมทธารีน การป้องกันโดยการให้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์
- โรคฝีดาษไก่ เป็นโรคที่มักเป็นกับลูกไก่และไก่รุ่น ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อกันโดยการสัมผัส เช่น อยู่รวมฝูงกัน และยุงเป็นพาหะของโรคกัด โรคนี้ไม่แสดงอาการป่วยถึงตาย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการมีจุดสีเทาพองตามบริเวณใบหน้า หงอน เหนียง และผิวหนัง และเมื่อจุดพองขยายตัวและแตกออกเป็นสะเก็ดลูกไก่ จะหงอยซึม ไม่กินอาหารและตายในที่สุด การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไก่
- วิตามินต่าง ๆ
การดูแลไก่ไข่
- ทำกรงตับใส่ไก่ช่องละ 1-2 ตัว ขนาดกว้าง 50 ซม.สูง 66 ซม.โดยใช้ไม้ที่เรามีอยู่ เช่นไม้ไผ่ ไม้ยูคา พร้อมที่วางกรงตับมีความสูง 50 ซม. อุปกรณ์ให้อาหารใช้ไผ่ผ่าครึ่ง ที่ให้น้ำใช้ขวดน้ำที่ใช้แล้ว แบบง่าย ๆ ประหยัดต้นทุนต่ำ
- ใช้ตาข่ายคลุมเพื่อกันยุงให้กับไก่ในเวลากลางคืน ให้อาหารไก่ไข่ระยะไก่รุ่นโปรตีน 13-15 เปอร์เซ็นต์ วันละ 80-100 กรัม/วัน ให้เช้าและบ่าย สังเกตการณ์กินอาหารของไก่ ล้างรางน้ำวันละ 1 ครั้ง
- ถ่ายพยาธิภายนอกภายในไก่ ก่อนไก่จะให้ไข่ และทำวัคซีนนิวคลาสเชิล อหิวาต์ไก่
คอยสังเกตสุขภาพของไก่ ช่วงอากาศเปลี่ยนให้วิตามินละลายน้ำกับไก่ช่วงไก่เริ่มให้ไก่ ( 20-22 สัปดาห์) ให้เปลี่ยนอาหารเป็นอาหารไก่ไข่ระยะให้ไข่โปรตีน 14-15 เปอร์เซ็นต์ ให้วันละ 150-200 กรัม
- ช่วงสัปดาห์ที่ 28-31 สัปดาห์ ให้อาหารไก่เพิ่มขึ้นตามจำนวนไข่ที่ให้ เก็บไข่ไก่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งกลางวัน และก่อนเลิกงาน หมั่นดูแลตรวจสุขภาพไก่เป็นประจำทุกวัน ทำความสะอาดรางอาหารถ้ามีอาหารเปียกติดราง
- ถ้าบริเวณใกล้เคียงมีศัตรูทำลายไก่ เช่น สุนัข งู ตัวเงินตัวทองให้ทำการป้องกันเช่น ทำคอก หรือป้องกันไม่ให้เข้าไปทำลายไก่ได้
การเก็บไข่
ควรเก็บไข่ให้บ่อยครั้งเท่าที่จะทำได้ หรืออย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง หลังเก็บไข่แล้วควรจะทำความสะอาด แล้วเก็บไข่ไว้ในห้องเย็น ถ้าเก็บไว้หลายวันควรเก็บไข่ที่อุณหภูมิ 50-55° และมีความชื้นสัมพัทธ์ 75-80% เพื่อรักษาสภาพของไข่ไว้ให้สดอยู่เสมอ
การให้ผลผลิตของไก่ไข่
เมื่อไก่เริ่มให้ไข่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาค และทางสรีรวิทยาที่เห็นชัดอย่างชัดเจน ได้แก่ ความถี่ในการให้ผลผลิตไข่ ขนาดไข่ ขนาดตัวไก่ และประสิทธิภาพในการให้ผลผลิต ซึ่งการให้ไข่ของไก่จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ
- ช่วงผลผลิตไข่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงจุดสูงสุด ความถี่ในการวางไข่ หรือผลผลิตไข่จะเพิ่มขึ้นรวดเร็วหลังจากฝูงไก่เริ่มไข่ได้ 5% จนกระทั่งผลผลิตไข่เพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเริ่มไข่ได้ประมาณ 2-3 เดือน
- ช่วงผลผลิตไข่ลดลงเป็นเส้นตรง ผลผลิตปกติ หรือมาตรฐานจะลดลงในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันทุกสัปดาห์ หลังจากผลผลิตไข่เพิ่มขึ้นสูงสุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองทางพันธุกรรม ซึ่งผันแปรไปตามพันธุ์ และสายพันธุ์ ถ้ามีการจัดการที่ดีการให้ผลผลิตไข่จะค่อย ๆ ลดลงเป็นเส้นตรง
- ระยะสุดท้ายก่อนที่ไก่จะหยุดไข่จะผลัดขน ระยะนี้ผลผลิตไข่จะลดลงอย่างมากจนกระทั่งหยุดไข่ ไก่จะเริ่มผลัดขน ขนาดไข่จะไม่ลดลง แต่ประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารจะลดลง
การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอิสระ
ระบบการเลี้ยงไก่ไข่ที่ปล่อยให้ไก่สามารถออกนอกโรงเรือนได้อย่างอิสระ
เป็นระบบการจัดการเลี้ยงไก่ที่ปล่อยให้ไก่ได้ออกมาภายนอกคอกหรือโรงเรือนได้อย่างอิสระ โดยเป็นพื้นที่ที่มีหญ้าปกคลุม 5 ตารางเมตร/ไก่ไข่ 1 ตัว ส่วนพื้นที่ในโรงเรือน 1 ตารางเมตร/ไก่ไข่ 4 ตัว ทำให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น การคลุกฝุ่น การไซร้ขน การจิกกินพืช ผัก แมลง ทำให้ไก่มีความสุข อารมณ์ดี จึงเรียกว่า “Happy Chicken”
การจัดการโรงเรือนและพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงไก่แบบปล่อยอิสระ
- ที่ตั้งฟาร์มควรห่างไกลจากชุมชน เป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วม
- เป็นพื้นที่ที่สามารถปลูกหญ้าสำหรับให้ไก่กินได้ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยใช้สารเคมีที่ห้ามใช้อย่างน้อย 3 ปี หรือได้มีการตรวจสอบคุณภาพดินว่าปราศจากสารเคมีหรือโลหะหนักที่เป็นอันตราย
- โรงเรือนและพื้นที่ปล่อยเลี้ยงอิสระต้องแยกจากพื้นที่พักอาศัยชัดเจน โดยยึดหลักในโรงเรือนใช้พื้นที่ 0.5 ตารางเมตรต่อตัว พื้นที่ปล่อยอิสระมีหญ้าให้กิน 5 ตารางเมตรต่อตัว
- พื้นโรงเรือนควรเป็นคอนกรีต ต้องมีวัสดุรองพื้นคอก หนา 3-5 นิ้ว และต้องมีรังไข่ 1 ช่องต่อแม่ไก่ 4 ตัว มีประตูเข้าออก 2 ด้าน เพื่อหมุนเวียนปล่อยไก่ออกสู่แปลงปล่อยอิสระ
รูปแบบแปลนของโรงเรือน
หากเลี้ยงไก่จำนวน 100 แม่ ใช้โรงเรือนขนาด 50 ตารางเมตร ใช้พื้นที่ปล่อยอิสระ 500 ตารางเมตร โดยมีการหมุนเวียนปล่อย
การเปิดประตูโรงเรือน ให้เปิดประตูโรงเรือนเพียงประตูเดียวในแต่ละวัน ตามรอบการหมุนเวียนแปลงหญ้า
การหมุนเวียนปล่อยแปลง มี 3 แบบคือ
- แบบที่ 1 ไม่แบ่งแปลงย่อย ให้ไก่ออกสู่แปลงหญ้าได้อย่างอิสระในช่วงกลางวัน โดยเปิดประตูสลับด้านไก่ออก
- แบบที่ 2 แบ่งเป็นแปลงย่อย 2 แปลง ขนาดเท่า ๆ กัน ปล่อยไก่เข้ากินหญ้าแปลงย่อยละ 30 วัน
- แบบที่ 3 แบบแบ่งเป็นแปลงย่อย 4 แปลง ขนาดแปลงย่อยเท่า ๆ กัน ปล่อยไก่เข้ากินหญ้าแปลงย่อยละ 10 วัน
อาหารและน้ำ
ในระยะแรก ควรเลี้ยงไก่ด้วยอาหารสำเร็จรูปไก่ไข่ตามระยะอายุของไก่ หลังจากมีประสบการณ์แล้ว สามารถเลือกใช้อาหารได้ตามความเหมาะสม อาหารสัตว์ต้องปลอดภัยจากสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตราย และไม่มีการเสริมยาปฏิชีวนะ มีน้ำสะอาดให้กินอย่างสม่ำเสมอ แต่หากเป็นการเลี้ยงไก่ระบบอินทรีย์ จะต้องให้กินอาหารอินทรีย์ เกษตรกรสามารถเสริมวัตถุดิบหรือผลพลอยได้ทางการเกษตร เช่น มะละกอ ข้าวโพด กล้วย ต้นกล้วย พืชผักสวนครัวและสมุนไพร เป็นต้น
อุปกรณ์สำหรับให้อาหารและน้ำ
- อุปกรณ์ให้อาหารใช้ถังแขวนสำหรับไก่ใหญ่ 1 ถัง/ไก่ 25 ตัว โดยแบ่งให้วันละ 2 ครั้งและมีอาหารกินอย่างเพียงพอ
- อุปกรณ์ให้น้ำใช้ถังแขวนขนาด 8 ลิตร ( 1 ถัง/ไก่ 50 ตัว) และมีน้ำให้กินตลอดเวลา
การให้ผลผลิตของไก่ไข่
เมื่อไก่เริ่มให้ไข่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาค และทางสรีรวิทยาที่เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่ ความถี่ในการให้ผลผลิตไข่ ขนาดไข่ ขนาดตัวไก่ และประสิทธิภาพในการให้ผลผลิต ซึ่งการให้ไข่ของไก่จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้
1.ช่วงผลผลิตไข่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงจุดสูงสุด
ความถี่ในการวางไข่ หรือผลลผลิตไข่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากฝูงไก่เริ่มไข่ได้ 5% จนกระทั่งผลผลิตไข่เพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเริ่มไข่ได้ประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งจะเกิดร่วมกับการเพิ่มขนาดไข่และน้ำหนักตัว ช่วงเวลาดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการจัดการยิ่งมีการจำกัดอาหารมากในช่วงไก่รุ่น ทำให้ไก่มีน้ำหนักตัวกว่ากำหนด ไก่จะเริ่มไข่ช้า และระยะเวลาที่ไก่จะให้ผลผลิตไข่สูงสุดก็เลื่อนออกไป ในกรณีที่ไก่ทั้งหมดสามารถให้ผลผลิตไข่สูงสุดได้ในวันเดียวกัน เส้นกราฟของการให้ผลผลิตจะชันมาก แต่โดยทั่วไปแล้วอายุเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ของไก่แต่ละตัวในฝูงจะไม่เท่ากัน ไก่บางตัวจะเริ่มให้ไข่ช้า ทำให้ผลผลิตไข่เพิ่มขึ้นสูงสุดช้ากว่าไก่ตัวอื่น ๆ ดังนั้น ถ้าฝูงไก่ ไม่มีความสม่ำเสมอของน้ำหนักตัวแล้ว เส้นกราฟของการให้ผลผลิตไข่จะไม่ชันมาก
2.ช่วงผลผลิตไข่ลดลงเป็นเส้นตรง
ผลผลิตปกติ หรือมาตรฐานจะลดลงในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันทุกสัปดาห์ หลังจากผลผลิตไข่เพิ่มขึ้นสูงสุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองทางพันธุกรรม ซึ่งผันแปรไปตามพันธุ์ และสายพันธุ์ ถ้ามีการจัดการที่ดีการให้ผลผลิตไข่จะค่อย ๆ ลดลงเป็นเส้นตรง แต่ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งที่ทำให้ไก่เกิดความเครียดหรืออยู่ในสภาวะอากาศร้อน จะทำให้อัตราการลดลงของผลผลิตจะลดลงมาก มากว่ามาตรฐาน ในช่วงนี้ขนาดไข่จะใหญ่ขึ้นและน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากสะสมไขมันในช่องท้อง
3.ระยะสุดท้ายก่อนที่ไก่จะหยุดไข่และผลัดขน
ระยะนี้ผลผลิตไข่จะลดลงอย่างมากจนกระทั่งหยุดไข่ ไก่จะเริ่มผลัดขน ขนาดไข่จะไม่ลดลง แต่ประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารจะลดลง หลังจากการผลัดขนแล้วไก่จะเริ่มไข่อีกครั้ง การไข่ของแม่ไก่ในรอบปีที่ 2 และปีถัดไปจะเหมือนกับการไข่ในปีแรก แต่ผลผลิตไข่สูงสุดจะต่ำกว่า และระยะเวลาในการไข่จะสั้นกว่าในรอบปีแรกประมาณ 20% ไข่ที่ได้ในรอบปีที่ 2 จะมีขนาดใหญ่กว่าแต่เปลือกไข่จะบางกว่า อัตราการตายของไก่ตั้งแต่เริ่มไข่จนถึงหยุดไข่ในรอบปีแรกประมาณ 10-20% ในช่วงการให้ผลผลิตของไก่แต่ละฝูงควรให้ผลผลิตไข่สูงสุดอย่างรวดเร็ว ช่วงแรกของการให้ผลผลิตเป็นช่วงที่วิกฤต นอกจากนี้ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตไข่สูงสุด และผลผลิตไข่ตลอดทั้งปีจะมีความใกล้ชิดกันมาก กล่าวคือ เพื่อที่จะให้ผลผลิตไข่เป็นไปตามมาตรฐานไก่ฝูงนี้จะต้องเริ่มจากการให้ผลผลิตไข่ที่สูงสุด ในช่วงให้ผลผลิตสูงสุดถ้าผลผลิตไข่ในช่วงนี้ต่ำจะไม่สามารถชดเชยผลผลิตเหล่านั้นในช่วงต่อมา เช่น ถ้าฝูงไก่ให้ผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน 10% ในช่วงที่ไก่ให้ผลผลิตสูงสุด ไก่ฝูงนี้จะยังคงให้ผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน 10% ตลอดระยะเวลาที่เหลืองของการไข่
โรคที่สำคัญของไก่ไข่และการป้องกัน
โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ
ลักษณะทั่วไปของโรค
- เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ไต รังไข่ และท่อนำไข่
- เป็นโรคที่เกิดแบบเฉียบพลัน การติดต่อของโรครวดเร็ว
- ไก่แสดงอาการของระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก โดยมีอาการหายใจแบบเสียงกรน ไอ จาม มีน้ำมูก ตาแฉะ
- ไข่ลด ซึ่งถ้าเป็นช่วงท้าย ๆ ของการไข่ ไข่จะลดมากและไก่จะผลัดขน ซึ่งจะใช้เวลานานในการที่ไก่จะไข่ได้มากขึ้นอีก แต่ถ้าเป็นในไก่ไข่สาว ไข่จะลดไม่มาก จะไข่ดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ แต่มักจะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานในช่วงอายุนั้น ๆ
- คุณภาพไข่เลวลง เช่น พบไข่ขาวเหลว ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างไข่ขาวชั้นนอกและชั้นใน ไข่แดงแยกจากไข่ขาว
- ลักษณะภายนอกของไข่ จะมีรูปร่างผิดปกติเปลือกไข่บางหรือหนาผิดปกติ มีแคลเซียมเกาะแบบไม่สม่ำเสมอ ทำให้เปลือกไข่ไม่เรียบ รูปร่างของไข่อาจไม่กลับคืนสู่สภาพปกติ ถึงแม้ไก่จะหายจากโรคแล้ว
การป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อน
- เนื่องจากโรคหลอดลมอักเสบติดต่อเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มีวิธีการรักษาโดยเฉพาะ ต้องป้องกันโดยการให้วัคซีนตามโปรแกรม คือ ทุก ๆ 8 สัปดาห์
- ให้ไก่อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม มีน้ำและอาหารให้กินอย่างพอเพียง
- โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นให้รักษาตามอาการ
โรคนิวคาสเซิล
ลักษณะทั่วไปของโรค
- เป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายเร็วมากและก่อให้เกิดผลเสียหายรุนแรง
- เกิดจากเชื้อไวรัส
- ถ้าเป็นแบบรุนแรงไก่มีอาการท้องเสีย
- ไก่มีอาการหายใจลำบาก อ้าปากหายใจ ไอ กินอาหารน้อยลง
- ไข่ลดหรือหยุดไข่นาน 1-3 สัปดาห์ และเริ่มไข่ต่อแต่จะไม่ไข่เท่าเกณฑ์ปกติ
- พบไข่นิ่มเหลวและไข่แดงแตกนช่องท้อง
- คุณภาพของไข่เลวลง
การป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อน
- เนื่องจากโรคนิวคาสเซิลเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ ต้องป้องกันโดยการให้วัคซีนตามโปรแกรมคือทุก ๆ 8 สัปดาห์
- ทำความสะอาดโรงเรือน อุปกรณ์ เครื่องใช้ และพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
- ห้ามนำอุปกรณ์เครื่องใช้ในฟาร์มสัตว์ปีกอื่น ๆ เข้ามาใช้ในฟาร์ม
- โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นก็รักษาตามอาการม
โรคอหิวาต์ไก่
ลักษณะทั่วไปของโรค
- เป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย
- เป็นโรคที่เกิดกับไก่ทุกอายุ แต่มักจะรุนแรงในลูกไก่ มีอัตราการตายสูง
- ไก่ป่วยจะมีอาการหงอย ซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลือง เหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ ถ้าไก่เป็นโรคนี้อย่างร้ายแรงไก่อาจตายโดยไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น
การป้องกันและรักษา
- ป้องกันโดยการใช้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์
- รักษาโดยใสช้ยาปฏิชีวนะคลอเตตร้าวัยคลิน หรือออกซีเตตร้าคลิน หรือใช้ยาประเภทซัลฟา เช่น ซัลฟาเมอราซีน หรือซัลฟาเมทธารีน
โรคฝีดาษไก่
ลักษณะทั่วไปของโรค
- เป็นโรคที่มักเกิดกับลูกไก่และไก่รุ่น
- เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อโดยการสัมผัส มียุงเป็นพาหะนำโรค
- ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการมีจุดสีเทาพองตามบริเวณใบหน้า หงอน เหนียง และผิวหนังเมื่อจุดพองขยายตัว และแตกออกเป็นสะเก็ดลูกไก่จะหงอยซึม ไม่กินอาหารและตาย
การป้องกันและรักษา
- ใช้วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษตามโปรแกรม
โรคติดเชื้อ อี.โคไล
สาเหตุโน้มนำที่ทำให้ไก่เกิดความเครียดและเกิดโรค
- สารพิษจากเชื้อรา
- สภาพสิ่งแวดล้อม เช่น หนาวเกินไป อุณหภูมิแตกต่างกันมากระหว่างกลางคืนและกลางวัน ล้างโรงเรือนไม่สะอาด แอมโมเนียในเล้าสูง การระบายอากาศในโรงเรือนไม่ดี
- ถ้าเป็นโรคบิดเชื้อ อี.โคไล อาจผ่านจากลำไส้เข้าสู่ระบบของร่ายกายได้ง่ายขึ้น จะทำให้เกิดรอยโรคที่ลำไส้
อาการที่แสดงออก
- การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ถุงหัวใจอักเสบ ช่องท้องอักเสบ ไข่แดงแตกในช่องท้อง ท่อนำไข่อักเสบนัยน์ตาอักเสบ ลำอักเสบและการเกิดก้อนหนองในช่องท้อง
- ในช่วงที่ไก่มีการติดเชื้อ อี.โคไล มักพบว่าไก่ถ่ายออกมาเป็นน้ำ ซึ่งมักจะเนื่องจากการขับถ่ายผ่านไต
การป้องกันและรักษา
- การจัดการฟาร์มขึ้นพื้นฐานได้แก่ การพักโรงเรือน การสุขาภิบาลที่ดี ลดการนำเชื้อ อี.โคไล เข้าฟาร์ม เช่น การสัญจรผ่านฟาร์ม ระวังเรื่องสัตว์อื่นที่จะเป็นพาหะนำโรคเข้าฟาร์ม รวมทั้งการกำจัดหนูภายในฟาร์ม
- ระมัดระวังเรื่องแหล่งน้ำที่จะใช้เลี้ยงไก่ ซึ่งสามารถส่งตัวอย่างน้ำไปตรวจจำนวนเชื้อแบคทีเรียและ อี.โคไลได้ ถ้าพบเชื้อจำนวนมาก ควรบำบัดน้ำด้วยสารคลอรีนก่อนใช้เลี้ยงไก่
- การที่ใช้ให้น้ำแบบนิปเปิล จะช่วยป้องกันการปนเปื้อนของน้ำจาก อี.โคไล ภายในโรงเรือนไก่ได้
- การระบายอากาศที่ดี จะช่วยลด อี.โคไล ในฝุ่นละอองและในสิ่งแวดล้อมลงได้ ช่วยลดความชื้นในโรงเรือนและลดแอมโมเนียในสิ่งแวดล้อมลงด้วย
- การเริ่มรักษาเร็ว ตั้งแต่อาการเริ่มแรกของโรคจะรักษาให้หายได้ง่าย แต่ถ้าเป็นเรื้องรังจะรักษาให้หายได้ยาก
- ใช้ยาให้ครบโด๊ส เพราะว่าใช้ยาในระดับที่ต่ำเกินไป ทำให้การรักษาไม่ได้ผล และก่อให้เกิดปัญหาเชื้อโรคต้านยาตามมา
- ไก่ที่มีอาการมากควรแยกออกจากฝูงเพื่อรักษาต่างหาก
โรคติดเชื้อมัยโคพลาสม่า
ลักษณะทั่วไปของโรค
- เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมักเป็นแบบเรื้องรัง และมีสภาพถุงลมอักเสบ
- ไก่อาจไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ จนกว่าไก่จะอยู่นภาวะอ่อนแอ มีความเครียดหรือได้รับเชื้อแบคทีเรียเช่น อี.โคไล หรือเชื้อหวัดหน้าบวม
- ไก่กินน้ำและอาหารลดลง ทำให้ไข่ฟองเล็กลง
- ถากรณีเชื้อหวัดหน้าบวมเข้าแทรกซ้อนไก่จะมีอาการไอ จาม มีน้ำมูกและมีอาการบวมที่บริเวณไซนัส
การป้องกันและรักษา
- ในฟาร์มไก่ที่เคยเกิดโรคนี้ในรุ่นที่ผ่านมาต้องเข้มงวดในการล้างทำความสะอาดโรงเรือน พ่นน้ำยาราดโซดาไฟและพักโรงเรือน
- เลี้ยงไก่ที่อายุเดียวกันทั้งฟาร์ม โดยใช้ระบบเข้า-ออกพร้อมกัน
- ลดความร้อนและก๊าสแอมโมเนีย โดยการระบายอากาศในโรงเรือนที่ดี
- เมื่อมีไก่ป่วยให้แยกไก่ป่วยเพื่อรักษาต่างหาก โดยต้องให้ยาครบตามจำนวนตามใยกำกับยา
- ล้างรางน้ำวันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) และใช้ผ้าชุบน้ำที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วเช็ดรางน้ำ จะช่วยลดปริมาณของเชื้อลง
- ไก่ที่แยกออกมารักษาไม่ควรย้ายขึ้นกรงรวมกับฝูง จนกว่าจะแน่ใจว่าอาการป่วยหายดีแล้ว
อ้างอิง
- กานดา ล้อแก้วมณี และ ชลัท ทรงบุญธรรม,การเลี้ยงไก่ไข่ของประเทศไทย.
- ผศ.ดร.ประภากร ธาราฉาย,การผลิตสัตวืปีก การเลี้ยงไก่.
- สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,เทคนิคการเลี้ยงไก่ไข่อย่างง่าย.
- กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,คู่มือการเลี้ยงไก่ไข่ระบบปล่อยอิสระและอินทรีย์.
- กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย.
- องค์การบริหารส่วนตำบล เกษมทรัพย์,การเลี้ยงและการจัดการไข่บนกรง.
- ศูนย์ปศุสัตว์อินทรย์ กรมปศุสสัตว์,การเลี้ยงไก่ไข่อินทรย์แบบปล่อย.
- อีสานร้อยแปด,การเลี้ยงไก่ไข่.