ปุ๋ยขี้ไก่ ใส่ดินก็ได้ใส่พืชก็ดี

ปุ๋ยขี้ไก่ หรือปุ๋ยมูลไก่ คือปุ๋ยที่ได้มาจากมูลของไก่ที่ขับถ่ายออกมาและนำไปสู่ขั้นตอนการทำเป็นปุ๋ยในกระบวนการต่อไป โดยปุ๋ยขี้ไก่นั้นถือว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นเยี่ยมชนิดหนึ่ง เนื่องจากปุ๋ยขี้ไก่หรือปุ๋ยมูลไก่นั้นประกอบด้วยธาตุอาหารที่มีความหลากหลาย ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คนส่วนมากมีความต้องการที่จะพัฒนาปุ๋ยขี้ไก่เพื่อนำเข้ามาสู่เศรษฐกิจการเกษตรมากขึ้น จนกระทั่งนำมาสู่การเป็นปุ๋ยมูลไก่อัดเม็ดในที่สุด ซึ่งปุ๋ยขี้ไก่และขี้เป็ดนั้นจะมีปริมาณธาตุอาหารที่สูงกว่าขี้วัวและขี้ควาย และปุ๋ยคอกใหม่ ๆ ก็จะมีปริมาณธาตุอาหารที่สูงกว่าปุ๋ยคอกที่เก่าและเก็บไว้นานเช่นกัน

ปุ๋ยมูลไก่

ประเภทของปุ๋ยขี้ไก่

ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ

ปุ๋ยประเภทนี้เป็นปุ๋ยที่ได้จากการเลี้ยงไก่เนื้อในระบบฟาร์ม ซึ่งจะเลี้ยงในพื้นราบและนำแกลบมาปูพื้นในระบบฟาร์ม เมื่อไก่กินอาหารแล้วก็จะถ่ายลงพื้นผสมกับแกลบ และหลังจากที่จับไก่ไปเรียบร้อยแล้วก็จะนำขี้ไก่กับแกลบที่เหลืออยู่ในฟาร์มนั้นมาใส่ถุงเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ ซึ่งไก่เนื้อนั้นจะเลี้ยงด้วยความรวดเร็ว โดยเน้นแต่กลุ่มอาหารในการเร่งโต ไม่ว่าจะเป็นยาหรือสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมา เมื่อไก่ถ่ายออกมา ธาตุอาหารนั้นก็จะผสมกับแกลบ และสิ่งที่อาจจะตามมานั้นก็คือเชื้อโรค เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส แต่ถ้าเกิดว่าได้ขี้ไก่ล็อตสุดท้ายของการล้างโรงเรือนสิ่งที่เราจะได้นั่นก็คือโซดาไฟ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้พืชที่เราใส่ปุ๋ยให้นั้นตายได้ง่ายขึ้น

ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด

ปุ๋ยประเภทนี้เป็นการคัดเอาเศษขยะที่ปะปนอยู่กับขี้ไก่ออกให้หมด จากนั้นนำมูลไก่มาบดให้ละเอียดแล้วรดน้ำพอหมาด ๆ เสร็จแล้วก็คลุกเคล้าให้เข้ากัน และนำเข้าเครื่องอัด ซึ่งถ้าหากผลิตในปริมาณที่ไม่มากก็ใช้เครื่องบดเนื้ออัดเป็นแท่งแล้วนำไปผึ่งลม ถ้าใช้มือขยำแล้วจะแตกหักเป็นเม็ด และเมื่อผึ่งลมจนแห้งแล้วก็นำเก็บในถุงเพื่อเอาไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป โดยคุณค่าอาหารพืชในขี้ไก่นั้นจะมีธาตุไนโตรเจน 2.7% ฟอสฟอรัส 6.3% และโพแทสเซียม 2% ซึ่งถ้าหากผลิตในปริมาณมากจำเป็นจะต้องใช้เครื่องอัดขนาดใหญ่ขึ้น โดยขนาดกระบอกบรรจุเส้นผ่านศูนย์กลางจะอยู่ที่ 20-30 เซนติเมตร มีรูขนาด 3-5 มิลลิเมตร และกำลังผลิต 2,000-3,000 กิโลกรัม/วัน

ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด วิธีใช้

ข้อดีของปุ๋ยขี้ไก่

ปุ๋ยขี้ไก่ถือเป็นวัตถุดิบที่หาได้ไม่ยากจากโรงงานเลี้ยงไก่ทั่วไป โดยมูลไก่ที่ถูกเลี้ยงดูโดยมาตรฐานอุตสาหกรรมนั้นก็ยิ่งมีปริมาณธาตุอาหารที่ได้จากมูลไก่สูงกว่าหรือเทียบเคียงจากค่าการศึกษาวิจัยของสำนักงานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้ระบุไว้ว่ามูลไก่ไข่จะมีธาตุไนโตรเจน 2.23% ฟอสฟอรัส 1.96% โพแทสเซียม 2.29% แคลเซียม 8.09% แมกนีเซียม 0.74% ซัลเฟอร์ 0.54% โซเดียม 0.32% เหล็ก 0.31% ทองแดง 75.51 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แมงกานีส 591.87 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสังกะสี 396.54 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เมื่อนำไปใช้บำรุงพืชจึงทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีน่าพึงพอใจ ภายใต้ปัจจัยตั้งต้นโดยเริ่มตั้งแต่การใช้อาหารเลี้ยงไก่ ไปจนถึงได้มูลออกมาแล้วนำไปทำเป็นปุ๋ยบำรุงพืช ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานไร้สารเคมี เมื่อนำไปทำเกษตรแนวอินทรีย์หรือใช้บำรุงพืชแบบคาดหวังก็จะได้ผลลัพธ์ในทางที่ดีอย่างเต็มที่กับพืชปลูกในสภาพไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง พืชผัก ไม้ผล เป็นต้น เนื่องจากพืชเหล่านี้เป็นพืชที่ต้องการโครงสร้างดินที่ดีในการเจริญเติบโต ซึ่งสามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีหรือใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตได้ นอกจากนี้ปุ๋ยขี้ไก่ก็ยังมีข้อดีต่าง ๆ ดังนี้

1. ช่วยลดอัตราการใช้ไนโตรเจนและเพิ่มผลผลิตให้แก่อ้อย

2. ช่วยเพิ่มน้ำหนักหัวให้มันสำปะหลังและเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดิน

3.ช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับข้าวโพด ทั้งแบบน้ำหนักฝักสดและฝักแห้ง

4.ปุ๋ยขี้ไก่สามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีและเพิ่มผลผลิตได้จริง

วิธีการใช้ปุ๋ยขี้ไก่

ประเภทพืชที่เหมาะสมต่อการใช้ปุ๋ยขี้ไก่

พืชที่เหมาะสมต่อการนำปุ๋ยขี้ไก่มาใช้คือพืชที่ปลูกในสภาพไร่ อาทิ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง พืชผัก และไม้ผล เพราะพืชประเภทนี้เป็นพืชที่มีความต้องการโครงสร้างดินที่ดีในการเจริญเติบโต อีกทั้งยังเป็นปุ๋ยที่ช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินได้ดีอีกด้วย

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ปุ๋ยขี้ไก่

สำหรับการใช้ปุ๋ยขี้ไก่แกลบเพื่อบำรุงพืชให้มีการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ก็คือช่วงฤดูร้อน ถ้าหากใช้ในฤดูฝนหรือปลายฝนต้นหนาวนั้นจะทำให้พืชมีโอกาสได้รับความเสียหายค่อนข้างเยอะ ดังนั้นควรใช้ปุ๋ยขี้ไก่แกลบในการบำรุงพืชในช่วงฤดูร้อน ส่วนปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดนั้นจะต้องดูเรื่องนวัตกรรมในการผลิตและการอบฆ่าเชื้อ

จุดมุ่งหมายในการใช้ปุ๋ยขี้ไก่

การนำปุ๋ยขี้ไก่มาใช้ในทางการเกษตรนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อบำรุงพืชให้เจริญเติบโตได้ผลผลิตออกมาตามที่ต้องการ และนำมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นและเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดิน ซึ่งจะช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้น นอกจากนี้ปุ๋ยขี้ไก่ก็ยังสามารถนำมาใช้แทนปุ๋ยเคมีหรือผสมกับปุ๋ยเคมีได้ด้วย

ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด ประโยชน์

วิธีทำปุ๋ยขี้ไก่

วิธีการทำปุ๋ยขี้ไก่ ขั้นตอนแรกให้นำมูลไก่ไปตากแดดไว้ประมาณ 1-2 วัน เพื่อให้แห้งสนิท จากนั้นนำรำข้าวเทกองไว้ โดยใช้ในปริมาณเท่ากับขี้ไก่ที่เตรียมไว้ แล้วทำการคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยใช้จอบมาพรวนให้เข้ากันดี ก่อนที่จะใช้น้ำ EM 1 ลิตร และกากน้ำตาล 1 ลิตร มาผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำไปราดบริเวณปุ๋ยที่กองไว้และคลุกเคล้าให้ปุ๋ยนั้นโดนน้ำจนทั่ว เพื่อให้มีความชื้นในปริมาณที่พอดี แต่ถ้าหากยังแห้งอยู่ก็ใส่น้ำเปล่าลงไปอีก หลังจากนั้นก็ทำการตักปุ๋ยใส่ไว้ในภาชนะหรือกระสอบ โดยที่ไม่ต้องปิดปากถุง เพื่อให้สามารถระบายความร้อนของปุ๋ยได้ หรืออาจจะกองไว้บนแผ่นไม้ที่มีหลังคากันแดดกันฝนก็ได้เช่นกัน โดยให้กองไว้เป็นภูเขา เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2-3 วัน ก็จะเห็นว่าปุ๋ยนั้นเริ่มย่อยสลายลง จากนั้นให้หมั่นตรวจสอบไม่ให้ปุ๋ยที่หมักไว้ขาดความชุ่มชื้น เพื่อให้จุลินทรีย์นั้นสามารถย่อยปุ๋ยขี้ไก่ได้เร็วมากยิ่งขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ก็จะสังเกตเห็นว่าปุ๋ยนั้นมีสีเข้มคล้ายกับดินและมีลักษณะเป็นผง เมื่อได้ปุ๋ยลักษณะนี้แล้วก็สามารถนำปุ๋ยขี้ไก่ดังกล่าวไปใช้ในการบำรุงพืชได้เลย

เคล็ดลับการใช้ปุ๋ยขี้ไก่ให้ได้ประสิทธิภาพ

การใช้ปุ๋ยขี้ไก่เพื่อบำรุงพืชและเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินนั้นควรเลือกปุ๋ยขี้ไก่ที่มีความสะอาด เพื่อป้องกันการนำโรคมาสู่พืชผักที่เราปลูก และปุ๋ยขี้ไก่นั้นจะเหมาะสำหรับพืชที่ปลูกในสภาพไร่ หากนำปุ๋ยขี้ไก่มาใช้เป็นธาตุอาหารให้พืชประเภทนี้ก็จะช่วยให้มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับปุ๋ยขี้ไก่แกลบนั้นควรเลือกใช้ในช่วงฤดูร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้พืชที่ปลูกนั้นได้รับความเสียหาย ส่วนปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดจะต้องเลือกปุ๋ยที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และต้องดูเรื่องนวัตกรรมในการผลิตและการอบฆ่าเชื้อด้วย

ปุ๋ยขี้ไก่ ราคา

ราคาของปุ๋ยขี้ไก่โดยประมาณ

  • ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ บรรจุในกระสอบอาหารสัตว์ ขนาด 20 กิโลกรัม มีราคาประมาณ 25 บาท
  • ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ บรรจุในถุงอาหารสัตว์ขนาด 30 กิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ยต่อถุงประมาณ 15-20 กิโลกรัม มีราคาประมาณ 40 บาท
  • ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด บรรจุถุงละ 2 กิโลกรัม มีราคาประมาณ 50 บาท
  • ปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด บรรจุในกระสอบอาหารสัตว์ขนาด 25 กิโลกรัม มีราคาประมาณ 250 บาท

แหล่งอ้างอิง

: https://research.ku.ac.th/forest/Search.aspx?

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้