ปุ๋ยหมักชีวภาพ ปุ๋ยคุณภาพสูงที่ผลิตใช้ได้ง่ายๆ ในเวลาอันสั้น

ปุ๋ยชีวภาพเป็นปุ๋ยอินทรีย์อีกชนิดหนึ่งที่ช่วยบำรุงดินและเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้ดี แม้ว่าหลายคนจะเรียกจนคุ้นชินว่าน้ำหมักชีวภาพ แต่ความจริงปุ๋ยชนิดนี้มีทั้งแบบที่มีสถานะเป็นของแข็งและของเหลว การเรียกว่าน้ำหมักก็เลยทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้างเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยชนิดนี้มีกระบวนการคล้ายคลึงกับปุ๋ยหมักทั่วไป เพราะมันคือการนำเศษวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรหรือของเหลือจากกิจกรรมในครัวเรือน เช่น ซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ เศษอาหาร เป็นต้น มาผ่านกระบวนการหมักจนได้เป็นปุ๋ยที่มีสารอาหารอันเป็นประโยชน์ต่อพืช ค่าสารอาหารที่ได้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุที่เลือกใช้ในการหมักนั่นเอง

ทีนี้ก็อาจเกิดความสับสนว่าปุ๋ยหมักทั่วไปกับปุ๋ยหมักชีวภาพต่างกันอย่างไร จากข้อมูลในโครงการเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงของกองส่งเสริมการเกษตร เทศบาลตำบลตาดทอง แสดงให้เห็นว่าปุ๋ยหมักชีวภาพจะดึงเอาความสามารถของจุลินทรีย์มาใช้มากกว่า ขณะที่ปุ๋ยหมักทั่วไปจะกองวัสดุไว้แล้วปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ปุ๋ยหมักชีวภาพจะเสริมตัวเร่งที่กระตุ้นให้จุลินทรีย์ทำงานได้มากขึ้น ทั้งยังออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบโตของจุลินทรีย์อีกด้วย ผลก็คือระยะเวลาในการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพจะสั้นกว่าหลายเท่า บางสูตรใช้เวลาเพียงแค่ 3 วันเท่านั้นเอง

ปุ๋ยหมักชีวภาพ คือ
www.nakzooh.com

ประโยชน์ของปุ๋ยหมักชีวภาพ

1. ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดินและเสริมความอุดมสมบูรณ์ในระยะยาว

คุณประโยชน์ในแง่ของการบำรุงดินทั้งเชิงกายภาพ เชิงเคมีและเชิงชีวภาพ ถือเป็นประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่ปุ๋ยอินทรีย์ทุกชนิดต้องมี ปุ๋ยหมักชีวภาพก็เช่นเดียวกัน นอกจาช่วยเพิ่มธาตุอาหารลงในดินแล้ว ยังเพิ่มอินทรียวัตถุให้มีปริมาณสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้สภาพดินที่เคยเสื่อมโทรมกลับมาสมบูรณ์จนเหมาะกับการเพาะปลูกได้ เม็ดดินมีความร่วนซุย เก็บความชุ่มชื้นได้ดี ขณะเดียวกันก็ระบายอากาศและระบายน้ำได้ดีด้วย

2. ช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนซึ่งเป็นสารหลักที่มีผลต่อการเติบโตของพืชอย่างมาก

ในปุ๋ยหมักชีวภาพจะประกอบด้วยธาตุอาหารหลายชนิดที่ดีต่อดินและพืช แต่ธาตุหลักที่มีปริมาณมากจะเป็นไนโตรเจน การใช้ปุ๋ยชนิดนี้อย่างเหมาะสมจะช่วยให้ดินมีไนโตรเจนสูง ซึ่งทำให้พืชโตเร็วและมีลำต้นที่แข็งแรง

3. มีคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตง่าย ใช้งานสะดวก

อันดับแรกเลยเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม เมื่อเรานำเศษวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ปริมาณขยะก็จะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด อีกมุมหนึ่งก็เป็นการประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยไปในตัว นอกจากนี้ปุ๋ยหมักชีวภาพยังใช้เวลาผลิตค่อนข้างน้อยจึงตอบโจทย์เรื่องความต่อเนื่องในการใช้งานได้ดี

ปุ๋ยหมักชีวภาพ ประโยชน์
www.sanook.com

สูตรทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

1. ปุ๋ยหมักชีวภาพ

การทำปุ๋ยหมักชีวภาพนั้นสามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดปลีกย่อยในกระบวนการหมักได้ค่อนข้างหลากหลาย โดยยึดเอาความสะดวกและความเหมาะสมกับพื้นที่เป็นสำคัญ ในเบื้องต้นเราสามารถใช้สูตรการทำปุ๋ยหมักชีวภาพแบบมาตรฐานก่อนได้ ซึ่งอัตราส่วนต่อไปนี้จะได้เป็นปุ๋ยหมักจำนวน 100 กิโลกรัม สามารถใช้ได้กับพืชทุกชนิด

สูตรที่ 1

วัตถุดิบ

  • มูลสัตว์ 30 กิโลกรัม
  • แกลบดิบ 60 กิโลกรัม
  • รำอ่อน 10 กิโลกรัม
  • กากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ
  • จุลินทรีย์ 2 แก้ว
  • น้ำสะอาด 10 ลิตร
  • เศษวัสดุเหลือใช้อื่นๆ ที่หาได้ง่ายในพื้นที่ เช่น กากอ้อย ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว เป็นต้น โดยใช้ปริมาณสัดส่วนเท่ากับปริมาณของมูลสัตว์

วิธีการหมักปุ๋ย

  • คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ทั้งมูลสัตว์ แกลบ และเศษวัสดุที่เตรียมไว้
  • รดน้ำให้ทั่วส่วนผสมนั้นจนกระทั่งมีระดับความชื้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
  • ใส่รำอ่อนลงไปแล้วผสมอีกครั้ง
  • ละลายกากน้ำตาลในน้ำสะอาด พร้อมกับผสมจุลินทรีย์ลงไปก่อนราดลงบนกองปุ๋ย
  • ผสมทุกอย่างให้เข้ากัน และตรวจวัดความชื้นให้ได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
  • กระจายกองปุ๋ยเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่มีความหนา 6-7 นิ้ว คลุมทับด้วยกระสอบป่าน
  • หมั่นกลับกองปุ๋ยทุก 7 วันและควบคุมให้อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส

สูตรที่ 2

นอกจากนี้ยังมีวิธีการทำปุ๋ยหมักชีวภาพที่น่าสนใจและสามารถทำได้ง่าย ตามคำแนะนำของศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอีก 2 แบบ ดังนี้

วัตถุดิบ

  • หัวเชื้อดินดี 1 ส่วน
  • รำละเอียด 2 ส่วน
  • วัสดุอินทรีย์ 2 ส่วน
  • มูลสัตว์ 9 ส่วน
  • ขี้เถ้า (ถ้ามี) 2 ส่วน

วิธีการหมักสูตรที่ 1

  • นำวัสดุอินทรีย์ทั้งหมดมากองรวมให้ได้ความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร
  • ใส่มูลสัตว์ทับลงไปแล้วตามด้วยหัวเชื้อดินดีกับรำละเอียด
  • รดน้ำให้กองปุ๋ยเปียกชื้น แต่อย่าให้ชุ่มน้ำเกินไปเพราะจะทำให้กองปุ๋ยระบายอากาศได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  • ทำซ้ำเช่นเดิมเป็นชั้นๆ ไปและปิดทับด้านบนสุดด้วยดินหนาประมาณ 2 นิ้ว ที่เหลือให้กลับกองปุ๋ยเป็นประจำทุก 3-5 วัน

วิธีการหมักสูตรที่ 2

  • คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว โดยทำการรดน้ำระหว่างผสมจนมวลปุ๋ยมีความชื้นที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
  • เกลี่ยกองปุ๋ยให้เป็นเนินต่ำแบบหลังเต่า ขนาดฐานอยู่ที่ประมาณกว้าง 2 เมตรและยาว 4 เมตร อย่าให้ความสูงของกองปุ๋ยมากเกินไป เพื่อช่วยให้อากาศผ่านได้สะดวก
  • คลุมกองปุ๋ยด้วยฟางข้าวหรือกระสอบเพื่อรักษาความชื้นและควบคุมอุณหภูมิ
  • กลับกองปุ๋ยทุก 3-5 วัน

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมคือเรื่องของหัวเชื้อดินดี มันคือหน้าดินที่เราหาได้จากธรรมชาติ อาจได้มาจากป่าที่มีราสีขาวปกคลุม ดินจากจอมปลวกที่มีไส้เดือนอาศัยอยู่ หรืออาจจะเป็นดินโคนไม้ใหญ่ที่ไม่เคยผ่านการใช้สารเคมีมากก่อนก็ได้ บริเวณเหล่านี้จะมีจุลินทรีย์คุณภาพดีที่ช่วยบำรุงดินอยู่จำนวนมาก เหมาะกับการนำมาผลิตปุ๋ย แต่ถ้าไม่สะดวกก็สามารถหากซื้อหัวเชื้อจุลินทรีย์ได้แล้วในปัจจุบัน

สูตรปุ๋ยหมักชีวภาพ
วิถีชีวิตเกษตรพอเพียง.com

2. ปุ๋ยหมักชีวภาพแห้ง

ปุ๋ยหมักชีวภาพแห้งส่วนมากจะนิยมใช้มูลสัตว์ที่แห้งสนิทดีแล้ว กับเศษซากพืชที่เหลือจากการทำเกษตรเป็นวัตถุดิบหลัก โดยจะใช้ทั้งมูลสัตว์และเศษพืช หรือจะใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ใจความสำคัญคือกองปุ๋ยที่ได้จะค่อนข้างแห้ง เหมาะสำหรับนำไปบำรุงดินด้วยวิธีคลุกเคล้ากับวัสดุเพาะปลูก

สูตรที่ 1

ซึ่งศูนย์ฝึกอบรมศูนย์เรียนรู้ชุมชนตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ได้แนะนำสูตรหมักปุ๋ยที่ใช้เฉพาะมูลสัตว์เอาไว้ดังนี้

วัตถุดิบ

  • มูลสัตว์ 400 กิโลกรัม
  • ขี้เก้าหรือกากอ้อย 100 กิโลกรัม
  • รำละเอียด 30 กิโลกรัม
  • น้ำสะอาด 200 ลิตร
  • หัวเชื้อจุลินทรีย์ 5 ลิตร

วิธีการหมักปุ๋ย

  • ผสมมูลสัตว์ ขี้ถ้า รำละเอียด  กับแกลบหรือกากอ้อย คลุกจนเข้ากันดีทั้งหมดแล้วพักไว้
  • ผสมกากน้ำตาลและหัวเชื้อจุลินทรีย์ลงในน้ำสะอาด
  • นำน้ำเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้ไปรดบนกองส่วนผสมที่พักไว้จนได้ความชื้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์
  • เกลี่ยกองปุ๋ยให้กระจายตัวเป็นเนินต่ำๆ แล้วคลุมด้วยกระสอบผ้าป่าน หลังจากนั้นหมั่นรดน้ำให้ผ้ากระสอบเปียกชื้นอยู่เสมอ ทิ้งไว้ประมาณ 3-7 วันและรอจนกองปุ๋ยลดความร้อนลงจนเท่าอุณหภูมิห้องจึงนำไปใช้งาน

สูตรที่ 2

ส่วนปุ๋ยหมักชีวภาพแห้งแบบที่ใช้มูลสัตว์กับเศษพืช คุณสมยศ รักษาวงศ์ก็ได้ให้ข้อมูลสูตรปุ๋ยเอาไว้ดังนี้

วัตถุดิบ

  • เศษซากของพืช 10 ปี๊บ
  • แกลบ 10 ปี๊บ
  • มูลสัตว์ 10 ปี๊บ
  • รำอ่อน 1 ปี๊บ
  • น้ำหมักพืช 1 ช้อนแกง
  • กากน้ำตาล 4 ช้อนแกง
  • น้ำสะอาด 18 ลิตร

วิธีการหมักปุ๋ย

  • ผสมวัตถุดิบที่เป็นของแห้งให้เข้ากันทั้งหมดเสียก่อน
  • ผสมน้ำหมักพืช กากน้ำตาล และน้ำสะอาดเข้าด้วยกัน แล้วนำไปราดบนกองปุ๋ยจนชุ่ม
  • ทดสอบระดับความชื้นให้เพียงพอที่จะทำให้ปุ๋ยจับกันเป็นก้อนหลวมๆ และแตกออกจากกันได้โดยง่าย
  • เกลี่ยกองปุ๋ยให้กระจายตัว และกะระยะความสูงไม่ให้เกิน 30 เซนติเมตร คลุมกระสอบผ้าป่านเอาไว้ ถ้าทำถูกต้องกองปุ๋ยจะร้อนขึ้นภายใน 12 ชั่วโมง ให้ทิ้งไว้ 3 วัน กลับกองปุ๋ยแล้วคลุมทิ้งไว้อีก 3-4 วัน จึงนำไปใช้งาน

สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมในสูตรนี้ก็คือน้ำหมักพืชหรือน้ำหมักชีวภาพ ด้วยการนำเศษอาหารในกลุ่มพืชผักผลไม้มาหมักกับกากน้ำตาลในอัตราส่วนเท่าๆ กัน ทิ้งไว้อย่างน้อย 7 วันถึงเอามาเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยได้ แต่การรอคอยให้ครบตามกำหนดเวลาเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ ผศ.ดร. ไชยวัฒน์ ไชยสุต ได้ให้แนวทางในการสังเกตลักษณะของน้ำหมักที่ดีเอาไว้ในหนังสือเรื่องน้ำหมักชีวภาพว่า สีของน้ำหมักต้องเป็นสีน้ำตาลอ่อนและเข้มขึ้นเรื่อยๆ กลิ่นจะเริ่มจะหอมน้ำตาลหมักและเปลี่ยนเป็นกลิ่นเปรี้ยวในเวลาต่อมา เมื่อการหมักสมบูรณ์จะต้องไม่เหลือฟองอยู่ พืชผักตกตะกอนและน้ำด้านบนใสขึ้น ถ้ายังไม่มีสัญญาณครบถ้วนตามนี้ก็ควรรอต่อไปอีก

ปุ๋ยหมักแห้ง

3. ปุ๋ยคอกหมัก

อันที่จริงเราสามารถนำปุ๋ยคอกไปใช้ได้เลย หากมูลสัตว์ที่เตรียมไว้มีค่าความชื้นที่เหมาะสมแล้ว แต่การนำมาผ่านกระบวนการหมักก่อนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบำรุงดินให้ดียิ่งขึ้น

วัตถุดิบ

  • ปุ๋ยคอก
  • แกลบเผา
  • รำละเอียด
  • กากน้ำตาล
  • น้ำสะอาด
  • หัวเชื้อจุลินทรีย์หรือน้ำหมักพืช

วิธีการหมักปุ๋ย

  • คลุกเคล้าปุ๋ยคอกกับแกลบเผาให้เข้ากัน
  • ผสมหัวเชื้อจุลินทรีย์กับน้ำสะอาดและกากน้ำตาล รดกองปุ๋ยคอกให้มีความชื้นประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์
  • เติมรำละเอียดแล้วคลุกให้เข้ากันดีอีกครั้ง
  • เกลี่ยกองปุ๋ยบนพื้นให้มีความสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตรแล้วหากระสอบป่านคลุมไว้ กลับกองปุ๋ยเป็นประจำทุกวันจนกว่าจะครบ 7 วัน
  • ตรวจสอบว่าปุ๋ยมีกลิ่นหอม มีเชื้อราสีขาวกระจายตัวทั่ว และมีอุณหภูมิเทียบเท่ากับสภาพแวดล้อมค่อยนำไปใช้งาน
ปุ๋ยคอกหมัก

วิธีการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ

1. การใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพในพืชผัก

ข้อดีของการใช้ปุ๋ยประเภทนี้กับพืชผักก็คือ ไม่ว่าจะเป็นผักชนิดไหนก็สามารถใช้ในอัตราส่วนเดียวกันได้ทั้งหมด ด้วยปริมาณปุ๋ย 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่เพาะปลูก 1 ตารางเมตร ซึ่งการคลุกเคล้าไปกับดินจะให้ผลดีกว่าการหว่านโรยหน้าดินเพียงอย่างเดียว ถ้าผักชนิดนั้นมีอายุเก็บเกี่ยวนานกว่า 2 เดือน ควรใช้ปุ๋ยรองก้นหลุมก่อนลงกล้าด้วยประมาณหลุมละ 1 กำมือ

2. การใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพกับไม้กระถาง

เนื่องจากไม้กระถางมีข้อจำกัดเรื่องของธาตุอาหารพอสมควร การบำรุงดินอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยกองส่งเสริมการเกษตรได้เสนออัตราส่วนที่เหมาะสมไว้ว่า ควรใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพให้ไม้กระถางปริมาณ 1 กำมือทุกสัปดาห์

3. การใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพกับไม้ผล

ก่อนอื่นต้องผสมปุ๋ยกับเศษหญ้าหรือใบไม้แห้งเพื่อรองก้นหลุม ประมาณ 1-2 บุ้งกี๋  หลังจากนั้นให้โรยรอบทรงพุ่มซ้ำอีกอย่างน้อย 1-2 ครั้งก่อนออกดอก อัตราส่วน 5-10 กิโลกรัมต่อต้น หรือจะใช้วิธีขุดร่องเป็นวงกลมรอบทรงพุ่มเพื่อกลบปุ๋ยหมักชีวภาพไว้ภายในเช่นเดียวกับการใช้ปุ๋ยหมักทั่วไปก็ได้

ปุ๋ยหมักชีวภาพ การใช้งาน
www.organicfarmthailand.com

แหล่งอ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้