ปุ๋ยเร่งใบ คือปุ๋ยหรือสารเสริมที่ช่วยกระตุ้นต้นพืชให้เกิดการแตกยอดใบใหม่ พร้อมกับบำรุงส่วนใบให้แข็งแรง ซึ่ง “สารเร่ง” คือการรวมความหมายของสารที่ช่วยผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในต้นพืชทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเร่งให้มีดอก เร่งให้มีใบ หรือเร่งให้เกิดการแบ่งเซลล์ของลำต้นก็ตาม ซึ่งสารเร่งนี้เรายังแบ่งย่อยได้อีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช และกลุ่มที่เป็นสารกระตุ้นเชิงชีวภาพของพืช ปกติแล้วสารทั้ง 2 กลุ่มนี้จะทำหน้าที่ส่งเสริมกันและกัน แต่ปุ๋ยเร่งใบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้อาจจะมีส่วนประกอบเป็นสารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือมีทั้งคู่ก็ได้
การใช้ปุ๋ยเร่งใบมีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ทั้งเรื่องของปริมาณและคุณภาพ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งสภาวะปกติและช่วงที่พืชขาดธาตุอาหาร แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะกับสายพันธุ์พืชด้วย ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเร่งใบประเภทไหน เป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือว่าปุ๋ยเคมี จะต้องมีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบหลักเสมอ ทุกครั้งที่เราใช้ปุ๋ยเร่งใบจึงได้ประโยชน์ในแง่ของการเจริญเติบโตของพืชในภาพรวมไปพร้อมกัน
ชนิดของปุ๋ยเร่งใบ
การทำความรู้จักกับปุ๋ยเร่งใบให้ครบถ้วนทั้งสถานะของแข็งและของเหลว มีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่าการเลือกใช้สูตรปุ๋ยให้เหมาะกับต้นพืช เพราะสถานะปุ๋ยเป็นตัวกำหนดรูปแบบการใช้งาน และลักษณะการใช้งานที่แตกต่างก็จะตอบโจทย์ความต้องการของพืชในจังหวะเวลาที่แตกต่างกัน
ปุ๋ยเร่งใบแบบของแข็ง
โดยทั่วไปปุ๋ยเร่งที่อยู่ในสถานะของแข็งมักจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางเคมีแบบอัดเม็ด แต่เนื่องจากปุ๋ยเร่งใบมีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งพบได้มากในปุ๋ยอินทรีย์เช่นกัน เราจึงมีตัวเลือกค่อนข้างหลากหลาย กลุ่มแรกคือปุ๋ยเร่งใบแบบอินทรีย์ ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพแห้ง เป็นต้น วิธีการใช้จะแตกต่างกันไปตามประเภทของปุ๋ย แต่ส่วนมากก็จะใช้คลุกเคล้ากับดินเพาะปลูกหลังจากต้นพืชเติบโตได้ระยะหนึ่งแล้ว อีกกลุ่มคือปุ๋ยเร่งใบแบบเคมีซึ่งมีทั้งแบบเม็ดและแบบเกล็ด จะผสมกับดินเพาะปลูก โรยหน้าดิน หรือละลายน้ำเพื่อฉีดพ่นก็ได้ แล้วแต่คำแนะนำของผู้ผลิต
ปุ๋ยเร่งใบแบบของเหลว
ปุ๋ยเร่งใบที่อยู่ในรูปของเหลวก็มีทั้งแบบที่เป็นปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์เช่นเดียวกัน แต่ปุ๋ยอินทรีย์ในกลุ่มของน้ำหมักชีวภาพจะได้รับความนิยมมากกว่า เพราะทำได้เองในครัวเรือน ต้นทุนต่ำ และยังปลอดภัยต่อการใช้งานอีกด้วย ส่วนปุ๋ยเร่งใบแบบเคมีนั้นจะแบ่งย่อยเป็นแบบพร้อมใช้งานและแบบหัวเชื้อ บางสูตรต้องผสมน้ำตามสัดส่วนที่กำหนดก่อนเนื่องจากความเข้มข้นหรือความหนืดสูงเกินไป นอกจากนี้ผู้ผลิตหลายรายยังเพิ่มสารพิเศษเข้าไปเพื่อให้ปุ๋ยเร่งใบมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับพืชบางชนิดแบบเฉพาะเจาะจงด้วย
แนะนำปุ๋ยเร่งใบ สำหรับไม้ใบ
อย่างที่ได้อธิบายไปข้างต้นแล้วว่าปุ๋ยเร่งใบนั้นมีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบหลัก หากจะมองว่ามันมีความคาบเกี่ยวกับปุ๋ยบำรุงเพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตทั่วไปก็ไม่ผิดเสียทีเดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่พันธุ์ไม้ทุกชนิดที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเร่งใบ อย่างเช่น กรณีของการดูแลไม้ผล ถ้าบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ดีและเฝ้าระวังป้องกันโรคพืช ต้นไม้ก็จะแตกยอดและออกผลได้ตามปกติ ส่วนไม้ดอกก็จะเน้นการเร่งดอกมากกว่าเร่งใบ เป็นต้น เราจะใช้ปุ๋ยเร่งใบกับพืชเหล่านี้เมื่อต้นพืชมีความเครียดหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จนกระทั่งมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตตามปกติเท่านั้น
พันธุ์ไม้ที่ควรเพิ่มการใช้ปุ๋ยเร่งใบจึงแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้แค่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มของพืชผักกินใบ และกลุ่มของไม้ประดับที่เน้นความสวยงามของใบ เพื่อให้มีการแตกใบมากขึ้น ใบมีขนาดใหญ่ขึ้น และได้รูปทรงใบสวยงามตามสายพันธุ์
- ไม้ประดับ
การใช้ปุ๋ยเร่งใบในไม้ประดับจะมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ทั้งเรื่องของสายพันธุ์ ขนาดลำต้น ลักษณะใบ รวมถึงตำแหน่งที่เพาะปลูกด้วย หากเป็นไม้ประดับทรงพุ่มหนาก็ย่อมต้องการปริมาณปุ๋ยเร่งใบที่มากกว่าไม้ใบเดี่ยว และแม้ว่าจะเป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกัน การเลือกปลูกไว้ในร่มกับกลางแจ้งก็ต้องปรับปริมาณปุ๋ยให้แตกต่างกันด้วย ตามที่ได้มีการให้ข้อมูลไว้ในเอกสารเชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า ต้นไม้ที่เพาะปลูกใส่กระถางแล้ววางประดับในอาคารนั้น ควรใส่ปุ๋ยในปริมาณน้อยกว่าที่ใส่ให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้กลางแจ้ง เนื่องจากปริมาณแร่ธาตุและแสงแดดที่ได้รับต่างกันมาก การใส่ปุ๋ยทีละนิดจะช่วยป้องกันไม่ให้พืชยืดตัวเร็วเกินไปจนอ่อนแอและไม่ทนต่อโรค ปุ๋ยที่หาซื้อได้ง่ายและนิยมใช้กันทั่วไปคือปุ๋ยยูเรีย โดยใส่หลังปลูกประมาณ 3-7 วัน จากนั้นใส่เพิ่มสัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้ต้องดูการตอบสนองของพืชร่วมด้วย
- พืชผัก
การเลือกใช้ปุ๋ยเร่งใบในพืชผักอยู่ที่ระยะการเก็บเกี่ยวของผักแต่ละชนิด ผักที่มีอายุสั้นก็ต้องมีความถี่ในการใช้ปุ๋ยที่มากกว่า แต่อาจจะใช้ค่าความเข้มข้นที่น้อยกว่า พร้อมกันนี้ก็ต้องระวังเรื่องสารตกค้างที่อาจปนเปื้อนอยู่ในใบผักด้วย การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มาจากธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในกรณีนี้ ดังเช่นแนวทางของคุณลุงเสรี จูประจบ เกษตรกรผู้ชำนาญการด้านน้ำหมักชีวภาพ ได้ทำการเพาะปลูกพืชผักโดยไม่ใช่สารเคมีใดๆ เลย ใช้เพียงแค่สูตรปุ๋ยหมักที่ช่วยเริ่มการเจริญเติบโตทางใบและเสริมความแข็งแรงของผักเท่านั้น ซึ่งสูตรที่ใช้วัตถุดิบหลักเป็นผลไม้สุกตามที่หาได้เท่านั้น หมักทิ้งไว้ 21 วันก็สามารถนำมาใช้กับผักได้ทุกชนิด นอกจากนี้ยังมีอีกเทคนิคที่ใช้ได้ดีกับผักกินใบบางชนิด ก็คือการตัดดอกทิ้งทันทีเมื่อผักออกดอก เพื่อให้สารอาหารทั้งหมดที่พืชดูดซึมได้ไปเสริมสร้างในส่วนของใบเป็นหลัก
สูตรปุ๋ยเร่งใบสูตรต่างๆ
1. สูตรอาหารจานด่วนสำหรับพืชผักผลไม้
ความพิเศษของปุ๋ยเร่งใบสูตรนี้อยู่ที่ความสะดวกรวดเร็ว คือสามารถผสมแล้วนำไปใช้งานได้ทันที เป็นไอเดียจากศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืนตำบลศรีเมืองชุม จังหวัดเชียงราย ที่เอาประโยชน์ของไข่ไก่มาใช้ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
วัตถุดิบ
- ไข่ไก่สด 1 ฟอง
- ไฮโกร-60 2 ช้อนแกง
- แอดทีฟ-พลัส 2 ช้อนแกง
- น้ำสะอาด 20 ลิตร
- ปุ๋ยยูเรีย 2 ช้อนแกง
วิธีทำ
ตอกไข่ใส่น้ำ 1 ลิตรแล้วตีให้ไข่แตก จากนั้นเติมไฮโกร-60 และแอดทีฟ-พลัสลงไป คนให้เข้ากันระดับหนึ่งก่อนค่อยใส่น้ำที่เหลืออยู่ลงไปทั้งหมด สุดท้ายคือคนจนกว่าจะเข้ากันเป็นเนื้อเดียวถึงนำไปใช้งานได้
ประโยชน์
ปุ๋ยสูตรนี้เหมาะกับการเร่งใบ เร่งลำต้น และเสริมการเจริญเติบโตของพืชหลายชนิด วิธีการใช้งานก็จะแตกต่างกันไป ถ้าใช้ในนาข้าว ให้ทำการฉีดพ่นผ่านทางใบ ในพืชผักให้รดราดบริเวณโคนต้น แต่ถ้าผักเหล่านั้นมีใบที่บอบบางหรือมีลำต้นแนบชิดผิวหน้าดิน เช่น ผักกาด กะหล่ำ ต้นหอม เป็นต้น หลังรดปุ๋ยแล้วต้องรดน้ำตามทันที เพื่อลดความเข้มข้นไม่ให้ใบไหม้เกรียม
2. สูตรปุ๋ยน้ำชีวภาพสำหรับพืชผักสวนครัว
ปุ๋ยสูตรนี้ได้รับการพัฒนามาจากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน นายวิรัตน์ จีนลักษณ์ จังหวัดนครนายก เป็นการใช้ประโยชน์จากพืชผักและผลไม้ที่หาได้ง่าย เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดนั้นอยู่แล้ว เมื่อมีส่วนเน่าเสียหรือตกเกรดจนไม่สามารถนำไปขายต่อได้ ก็นำมาทำปุ๋ยบำรุงพืชรุ่นต่อไป
วัตถุดิบ
- ผักบุ้ง 20 กิโลกรัม
- หัวไชเท้า 5 กิโลกรัม
- ฟักทอง 5 กิโลกรัม
- มะม่วงสุกหรือกล้วยสุก 10 กิโลกรัม
- น้ำสะอาด 50 ลิตร
- กากน้ำตาล 15 กิโลกรัม
- สารเร่งการย่อยสลาย พด.2
วิธีทำ
หั่นผักผลไม้ทั้งหมดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ลงในถังหมัก เติมน้ำและกากน้ำตาลลงไป คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ละลายสารเร่งการย่อยสลายลงในน้ำ 5 ลิตรแล้วใส่เพิ่มเข้าไปในถังหมัก คนส่วนผสมต่อเนื่อง 5 นาที จากนั้นปิดฝาให้มิดชิด แล้วตั้งทิ้งไว้ 7-15 วัน หมั่นเปิดถังเพื่อคนน้ำหมักวันละครั้ง เมื่อครบกำหนดแล้วให้กรอกน้ำสกัดชีวภาพไว้ใช้บำรุงต้นพืชที่ต้องการ ส่วนกากที่เหลือให้นำไปโรยรอบทรงพุ่มของต้นไม้ได้
ประโยชน์
ถึงส่วนผสมจะมากไปสักหน่อย แต่สูตรนี้บำรุงลำต้นและใบได้ดีมาก เพียงแค่นำน้ำหมักที่ได้มาผสมกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1: 200-500 แล้วฉีดพ่นทางใบหรือราดรดโคนต้นก็ได้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือทุก 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และอายุของต้นพืช
3. สูตรปุ๋ยน้ำชีวภาพบำบัดดิน
เนื่องจากปัญหาผลผลิตที่ตกต่ำจากสภาพดินตายเพราะการใช้สารเคมี ทางศูนย์เรียนรู้พัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้คิดค้นปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรนี้ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายไปที่การปรับปรุงดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ทำให้ต้นพืชมีการขยายตัวของใบและส่งเสริมการเติบโตในด้านอื่นๆ ของพืชด้วย
วัตถุดิบ
- ผักผลไม้ 40 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม
- น้ำสะอาด 10 ลิตร
- พด.2 1 ซอง
วิธีทำ
หั่นผักผลไม้ที่เลือกใช้ให้เป็นชิ้นเล็ก ใส่ทั้งหมดลงถังหมัก เติมกากน้ำตาลและน้ำสะอาด คนส่วนผสมให้เข้ากัน ถ้ารู้สึกว่าคนยากเกินไปให้ทยอยใส่ทีละส่วนได้ เสร็จแล้วปิดฝาถังให้สนิทหมักไว้ประมาณ 21 วันจึงนำไปใช้
ประโยชน์
นอกจากเร่งการแตกใบใหม่ ออกดอก ติดผล และเสริมให้พืชเติบโตได้ดีแล้ว ปุ๋ยสูตรนี้ยังให้บำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ พร้อมกับไล่แมลงที่เป็นศัตรูพืชบางชนิดออกไปด้วย สำหรับข้าวและผลไม้ ให้ใช้น้ำหมักผสมกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1:500 พืชผักและไม้ดอก ใช้อัตราส่วน 1:1000 และการไถกลบตอซังก็ใช้อัตราส่วน 1:20
4. ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
ถ้ากำลังมองหาปุ๋ยเร่งใบที่มีกรดอินทรีย์และฮอร์โมนหลายชนิด สูตรจากกรมพัฒนาที่ดินสูตรนี้ก็น่าสนใจดีทีเดียว เพราะใช้การผสมผสานจุดเด่นของวัตถุดิบทั้งพืชและสัตว์เข้าด้วยกัน ธาตุอาหารที่ได้จึงค่อนข้างหลากหลาย และยังสามารถใช้ร่วมกับปุ๋ยไนโตรเจนอื่นๆ ได้อีกโดยไม่ทำให้ปริมาณธาตุอาหารสูงเกินไปจนส่งผลเสียต่อพืชด้วย
วัตถุดิบ
- ปลาหรือหอยเชอร์รี่ 3 ส่วน
- กากน้ำตาล 1 ส่วน
- ผลไม้ 1 ส่วน
- น้ำสะอาด 1 ส่วน
- สารเร่ง พด.2 1 ซอง
วิธีทำ
บดย่อยวัตถุดิบให้เป็นชิ้นเล็กแล้วคลุกเคล้ากับกากน้ำตาลในถังหมัก จากนั้นละลายสารเร่งกับน้ำสะอาดก่อนเทลงถัง คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ปิดฝาถังแล้วตั้งไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 21 วัน แต่จะต้องเปิดถังเพื่อระบายอากาศและคนวัตถุดิบทุกๆ 7 วัน
ประโยชน์
เพียงแค่ผสมปุ๋ยกับน้ำในอัตราส่วน 1:500 เพื่อฉีดพ่นตามใบและลำต้น หรือใช้รดบริเวณโคนต้นทุกช่วง 10 วัน ก็จะช่วยเร่งการเติบโตของพืชแบบองค์รวมได้ ใบมีการแตกยอดและขยายขนาดเพิ่มขึ้น ทั้งยังส่งเสริมการออกดอกและติดผลหลังจากนั้นด้วย
สูตรปุ๋ยเร่งใบที่นิยมใช้และมีขายในท้องตลาดทั่วไป
กรณีที่เราไม่สะดวกจะหมักปุ๋ยเร่งใบภายในครัวเรือน ด้วยเหตุปัจจัยของสถานที่หรือวัตถุดิบก็แล้วแต่ เราสามารถหาซื้อปุ๋ยเร่งใบแบบสำเร็จรูปมาใช้แทนได้ ซึ่งในท้องตลาดก็มีให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย แตกต่างกันไปทั้งประเภทปุ๋ย สูตรปุ๋ย และแหล่งผลิต สำหรับเกษตรกรที่เริ่มต้นปุ๋ยเร่งใบเป็นครั้งแรกก็อาจรู้สึกว่าเลือกปุ๋ยได้ยากพอสมควร ดังนั้น นอกจากการพิจารณาว่าแบรนด์ที่สนใจมีความน่าเชื่อถือและมั่นใจได้ในคุณภาพของผลิตภัณฑ์แล้ว ก็สามารถอ้างอิงสูตรยอดนิยมได้ ซึ่งนายสมชาย พรุเพชรแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ได้แนะนำเอาไว้เอกสารชุด “การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต”
- สูตร 46-0-0 เรียกอีกอย่างว่าปุ๋ยยูเรีย สามารถใช้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นเพาะปลูก ส่งเสริมการแตกใบและการยืดตัวของลำตัว ใช้ได้กับพืชทุกชนิดแต่ต้องปรับสัดส่วนความเข้มข้นให้เหมาะสม
- สูตร 25-7-7 เป็นปุ๋ยที่เหมาะกับเร่งการแตกยอด แตกกอ และเพิ่มขนาดลำต้น มีส่วนช่วยส่งเสริมกระบวนการสังเคราะห์แสงตามธรรมชาติ ส่วนมากจะใช้กับ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม พืชผัก และไม้ผล
- สูตร 30-0-0 สูตรนี้ใช้ได้กับพืชทุกชนิดเช่นกัน แม้แต่ไม้กระถางขนาดเล็กก็ใช้ได้ ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะแนะนำให้ใช้ร่วมกับปุ๋ยบำรุงดินพื้นฐานทั่วไป อย่างเช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16
- สูตร 21-0-0 นับเป็นสูตรที่เหมาะกับพืชไร่และพืชผักมากเป็นพิเศษ เพราะช่วยเสริมการเติบโตของลำต้น ใบ และเสริมประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงด้วย
- สูตร 30-10-10 ในท้องตลาดจะมีทั้งแบบที่มีแค่ธาตุหลักและแบบที่เสริมธาตุรองมาให้ด้วย ซึ่งสูตรที่เสริมธาตุรองมาให้ก็จะเหมาะกับการฟื้นฟูต้นพืชที่เริ่มมีอาการใบเหลือง ลำต้นลีบเล็ก หรือโตช้ากว่าปกติ
แหล่งอ้างอิง
- การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิต, นายสมชาย พรุเพชรแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ.
- การทำฮอร์โมนพืช ผลไม้, ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ประเมินผล สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร.
- ปุ๋ยหมักสูตรเร่งการเจริญเติบโตทางใบและเสริมความแข็งแรงในพืชผัก, มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด.
- การใช้ปุ๋ยและสารเร่งทางใบ, รศ.ดร.ยงยุทธ โอสถสภา ภาควิชาปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.