ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera foetida Lour.
วงศ์มะมุด : Amacardiaceae
ชื่อท้องถิ่นอื่นๆที่เรียกกัน : มะแจ มาแจ มาจัง มาแจฮูแต (มลายูท้องถิ่น-ยะลา) มะมุด มะละมุดไทย (ภาคใต้)
ต้นมะมุด เป็นพืชสกุลเดียวกับมะม่วง มะมุดเป็นผลไม้พื้นเมืองของภาคใต้ ซึ่งพบว่าในประเทศไทยมีการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ตามชายฝั่งแม่น้ำหรือในป่าพรุ และป่าดิบชื้นที่ลุ่มต่ำ ส่วนต่างประเทศที่พบเจอประเทศเวียดนาม พม่า มาเลเซีย กัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มะมุดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบเดี่ยวสีเขียวเข้ม เรียบเป็นมัน ดอกเป็นช่อ สีชมพูอมแดง หอมเย็น ผลมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน กลิ่นแรงมาก ชาวใต้นิยมชื่นชอบในการรับประทานหรือนำไปปรุงแต่งในอาหารที่มีรสเปรี้ยว
ความเชื่อ
มะมุดเชื่อว่าเป็นผลไม้สมุนไพรรสเปรี้ยวชนิดหนึ่ง สามารถทำให้ผู้คนที่อยากมีสุขภาพดี หันมากิน และถ้าเราเรียนรู้นำมาใช้ประโยชน์ เชื่อว่าคงทำให้เรามีสุขภาพดีอายุยืนยาว อยู่อย่างสง่า ตายอย่างสงบ หรือจะชะลอความชราด้วยสารอาหารจากพืชผักธรรมชาติ และเชื่อว่าเมนูยอดนิยมของคนใต้ก็คือ ยำลูกมะมุด คงจะเป็นอีกทางเลือกในการบำบัดโรคด้วยผัก ผลไม้ รสเปรี้ยวได้
ลักษณะของต้นมะมุด
- ลำต้น
มีขนาดใหญ่ที่ความสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร เปลือกบริเวณลำต้นแตกเป็นสะเก็ด ไม่เรียบ ลักษณะเป็นคลื่นตามยาวของลำต้น ส่วนกิ่งอ่อนเกลี้ยงไม่มีต่อมระบายอากาศ โดยที่สีเปลือกชั้นนอกและกิ่งเป็นสีน้ำตาลปนเทา ส่วนเปลือกชั้นในสีน้ำตาลแดง ถ้าหากลำต้นมีบาดแผลจะมียางขาวขุ่นซึมออกมาเป็นเม็ดๆ
- ใบ
มีขนาดกว้าง 5-15 เซนติเมตร และยาว 15-35 เซนติเมตร เป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ผิวใบหนาเรียบทั้งด้านหน้าและด้านหลังใบ ขอบใบขนานรูปรีแกมรูปไข่หรือรูปหอก ปลายใบโค้งมนคล้ายติ่งทู่ๆ โคนใบสอบเรียว เนื้อใบหนาเกลี้ยงเป็นมัน เส้นแขนงใบมี 12 -26 คู่ เรียวโค้งและขนานกัน เส้นกลางใบขึ้นเป็นสันทางด้านหลังใบมองเห็นชัดเจน และก้านมีความยาว 2 – 5.5 เซนติเมตร ก้านใบอวบเป็นร่องทางด้านบน โคนก้านบวม
- ดอก
มีขนาดเล็ก สีชมพู่หรือสีส้มมีกลิ่นหอมเย็น ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง คล้ายช่อมะม่วง ช่อดอกยาว 15 – 30 เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ โดยที่กลีบดอกรูปไข่มีขนาด 2 – 4 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกรูปหอกขนาดกว้าง 2.5 มิลลิเมตร ยาว 7 – 10 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มี 5 อัน ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน เกสรเพศผู้ปลอมมี 4 อัน ส่วนเกสรแท้มี 1 อัน ขนาดกว้าง 1.8 มิลลิเมตร ยาว 2 มิลลิเมตร นอกจากนั้นออกดอกประมาณเดือนมกราคม – มีนาคม ผลแก่เต็มที่ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม
- ผล
ผลเดี่ยวลักษณะรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ภายในผลเนื้อหนา ขนาดใหญ่ กว้าง 6-7 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร ก้านผลยาว 15-20 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกเหลืองแกมเขียวมีเนื้อผลสีเหลืองเป็นเส้นใยฉ่ำน้ำ ส่วนผลดิบมียางระคายเคืองในปากและริมฝีปาก มีกลิ่นเฉพาะตัว 1 ผล มี 1 เมล็ด
สายพันธุ์มะมุด
พบว่าเป็นผลไม้พื้นเมืองซึ่งหากินได้ยากหากไม่ใช่คนท้องถิ่น และเป็นผลไม้ที่พบได้ทั่วไปจะเป็นมะมุดบ้าน แต่มะมุดที่รู้จักกันมีสามสายพันธุ์ ได้แก่ ลูกมุดชัน ลูกมุดบ้าน และลูกมุดสีดา
- ลูกมุดชัน
เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ค่อยปลูก อยู่ในป่า ผลมีขนาดเล็ก ยางเยอะ เวลาสุกตกลงสู่พื้นเป็นอาหารของสัตว์ป่า ปัจจุบันหาสายพันธุ์นี้ได้ยากมากถ้าไม่อนุรักษ์ไว้อาจจะสูญพันธุ์ได้
- ลูกมุดบ้าน
เป็นสายพันธุ์ที่หากินได้ง่ายและนิยมปลูกกันทั่วไปตามสวน ตามบ้าน สามารถรับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก ผลอ่อนนิยมนำมาจิ้มกับน้ำพริกกินกับขนมจีน ผลแก่นำมาทำยำ แกงส้ม ส่วนผลสุกสามารถกินสุกได้เลย
- ลูกมุดสีดา
เป็นสายพันธุ์ที่หาได้ยากกว่าลูกมุดบ้าน ลำต้นมีขนาดใหญ่และสูงมากไม่นิยมกินผลดิบเนื่องจากเนื้อมีความเหนียว ส่วนผลสุกเนื้อเนียน กลิ่นหอม รสหวานอร่อยมาก ผู้คนชอบรับประทาน
วิธีการปลูก การดูแลมะมุด
มะมุดขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือเพาะกล้าด้วยเมล็ด ซึ่งมีวิธีการปลูกดังนี้ นำเมล็ดของผลมะมุดที่สุกเต็มที่มาชำในถุงเพาะชำ ซึ่งภายในถุงประกอบด้วย ดิน ขี้เถ้าแกลบ ขุยมะพร้าว และปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเล็กน้อย จากนั้นนำเมล็ดที่เตรียมไว้ใส่ในถุงเพาะชำ คอยดูแลและรดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอ ช่วงแรกในการเพาะพันธุ์จะต้องทำที่บังลม และกันแดด 70 เปอร์เซ็นต์จะทำให้ต้นกล้าเจริญเติมโตได้รวดเร็ว ต้นกล้าจะใช้ระยะเวลาในการงอกประมาณ 1 เดือน จะขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเมล็ดพันธุ์ และประมาณ 6 – 7 ปีจะให้ผล ส่วนบางกลุ่มจะใช้วิธีการตอนหรือชำมาปลูก วิธีนี้สามารถปลูกลงพื้นที่ที่เราต้องการได้ทันที
ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
มะมุดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ที่นิยมบริโภคเป็นของว่างและนำผลแก่มาเป็นผักใช้ในการปรุงอาหาร ไม้มีราคาแพงและผลก็มีราคา และตลาดของผู้บริโภคมีความต้องการ
ประโยชน์และสรรพคุณของมะมุด
- ลำต้น นำเนื้อไม้มาต้มเป็นยาแก้โรคบิด ยางใช้เป็นยาถ่ายพยาธิอย่างแรง
- ลำต้นหรือเนื้อไม้ใช้ก่อสร้างตกแต่งภายใน ทำด้ามเครื่องมือเครื่องใช้
- ลำต้นใช้ทำฟืนได้ดีเพราะให้ไฟแรง
- ผลมีวิตามินซีสูงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคและช่วยป้องกันหวัด เมล็ดเป็นยาบำรุง
- ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยวรับประทานได้
- ผลอ่อนใช้เป็นผักเคียงในการัประทานอาหารหรือน้ำพริก
- ผลแก่มีรสเปรี้ยวใช้ยำ ใส่ในแกงส้ม แกงเหลืองได้
- ใบใช้เป็นยาลดไข้
- น้ำยางจากมะมุดใช้ในการสักผิวหนัง เพื่อให้ความลึกและคมชัดของรอยสัก ส่วนมาจะเป็นที่นิยมของชาวโอรังอัสนีในคาบสมุทรมลายู
- เมล็ดรสฝาด แก้อาการท้องร่วง สมานลำไส้ สมานแผลได้