มะหวด ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepisanthes rubiginosa (Roxb.) Leenh.
มะหวด ชื่อวงศ์ Sapindaceae
ชื่ออื่น ๆ หวดฆ่า หวดค่า(อุดรธานี), สีหวด (นครราชสีมา), สีฮอกน้อย หวดลาว (ภาคเหนือ), มะหวดป่า หวดคา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หวดเหล้า (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ, คนเมือง), กำซำ กะซ่ำ มะหวด (ภาคกลาง), ชันรู มะหวดบาท มะหวดลิง (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), กำจำ นำซำ มะจำ หมากจำ (ภาคใต้), สีหวดใหญ่ (บางภาคเรียก), ซำ (ทั่วไป), สือเก่าก๊ะ ยาตีนไก่ (ม้ง), เดี๋ยงอายเปียว (เมี่ยน), มะซ้าหวด (ไทลื้อ) เป็นต้น
มะหวด เป็นพันธุ์ไม้ผลัดใบ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 15 เมตร ผิวเปลือกเรียบหรือเป็นแผ่นสะเก็ด สีน้ำตาลอมแดง แตกกิ่งจำนวนมาก ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ขอบใบเรียบ ดอกช่อแบบแตกแขนง แยกเพศไม่แยกต้น กลีบเลี้ยงมีขนสีน้ำตาล กลีบดอกสีขาวอมชมพู ดอกตัวผุ้มีเกสรตัวผู้ 8 อัน ผลเดี่ยว กลมรี อ่อนเป็นสีเขียว สุกแล้วเป็นสีแดงแล้วเปลี่ยนเป็นดำ มีเมล็ดเดียว ใบอ่อนกินเป็นผัก ผลกินเป็นผลไม้ พบในป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ผลแก่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม มีการกระจายพันธุ์ในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ไทย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซียถึงตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ริมลำธาร ชายป่าชื้น ชายป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และพื้นที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 300-1,200 เมตร
ลักษณะทั่วไป
ต้น
จัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตรและสูงได้ถึง 15 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปไข่ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งแขนงเป็นรูปทรงกระบอกเป็นร่อง ที่กิ่งก้านมีขนละเอียด เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีขนสั้น ๆ เปลือกนอกสีเทาดำปนน้ำตาล แตกเป็นเกล็ด เปลือกในสีน้ำตาล
ใบ
ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนสลับ แก่นกลางใบประกอบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 3-6 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-11 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-30 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า ผิวใบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่นเป็นรอย ส่วนใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมเขียว
ดอก
ดอกมะหวดเป็นสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน ๆ ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงตั้ง จากปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายยอด มีความยาวถึง 50 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาวมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร มีกลีบดอก 4-5 กลีบ เกลี้ยงหรือมีขน กลีบดอกเป็นสีขาว โคนกลีบแคบ มีขนและมีเกล็ดเล็ก 1 เกล็ด ที่มีสันนูน 2 สัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน ก้านเกสรมีขนสีน้ำตาลอ่อน ๆ ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาวและไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปครึ่งวงกลม กลีบนอก 2 กลีบจะเล็กกว่ากลีบในและมีขนที่ด้านนอก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม
ผล
ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปรีเว้าเป็นพู ผิวผลเกลี้ยง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลมีพู 2 พู ผิวเกลี้ยงเปลือกและเนื้อบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดง และจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำเมื่อแก่จัด เนื้อผลฉ่ำน้ำมีรสหวานใช้รับประทานได้ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลดำเป็นมัน 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดมะหวดเป็นรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน โดยจะติดผลใช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม
วิธีการปลูกมะหวด
การปลูกมะหวด นิยมปลูกด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แต่ปัจจุบันก็เริ่มหันไปนิยมใช้วิธีอื่น เช่น การตอนกิ่ง วิธีการตอนกิ่ง จะได้ต้นมะหวดที่มีลำต้นไม่สูงนักและติดผลได้เร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด แต่โดยทั่วไปเกษตรกรก็ใช้วิธีการเพาะเมล็ดเป็นหลัก
สำหรับการเพาะเมล็ดนั้น จะต้องเลือกผลที่สุกจัดจนมีสำดำหรือผลที่ร่วงจากต้นแล้วก็ยิ่งดี และผลที่เลือก ควรมีขนาดผลใหญ่ หลังจากนั้น นำเมล็ดมาแตกแดดให้แห้ง 7-10 วัน ก่อนนำไปเพาะในถุงเพาะชำ ซึ่งเมล็ดจะงอกภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่ทั่วไป เมล็ดมะหวดมีอัตราการงอกต่ำ จึงต้องเพาะจำนวนหลายเมล็ดจึงจะได้ต้นพันธุ์ หลังจากที่ต้นงอก และเติบโตสูงได้ 30-40 เซนติเมตร ค่อยนำลงปลูกต่อไป
ประโยชน์และสรรพคุณ
ผลมะหวดสุกที่มีสีดำอมม่วง เนื้อผลมะหวดฉ่ำน้ำ เนื้อผลหนา และนุ่ม ผลสุกมีรสจืดฝาดถึงหวาน นิยมรับประทานเป็นผลไม้ ผลสุกนำมาหมักเป็นไวน์จะได้ไวน์สีม่วง ให้รสหวาน และให้แอลกอฮอล์ได้ดี ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ โดยจะรับประทานเป็นผักสด ต้ม ลวกจิ้มกับน้ำพริก หรือใช้ใส่ในแกงผักรวม ใส่ปลาย่าง เป็นต้น และชาวบ้านยังนำมาใช้รองพื้นหรือคลุมข้าวที่จะใช้ทำขนมจีนเพื่อช่วยกันบูดได้อีกด้วย เนื้อไม้มะหวดยังสามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำไม้ฟืน หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตรได้ เปลือกลำต้นใช้ต้มย้อมผ้า ย้อมแห ให้สีดำม่วง ส่วนใบก็ใช้ย้อมได้เช่นกัน ซึ่งจะให้สีเขียวขี้ม้า นอกจากนี้ต้นมะหวด สรรพคุณยังสามารถทำเป็นยาสมุนไพรได้อีกมากมาย
- ผล ช่วยลดการเกิดเซลล์มะเร็ง ช่วยรักษาโรคท้องร่วง ท้องเสีย แก้ไข้รากสาด ช่วยลดกรดในกระเพาะ ลดอาการแสบกระเพาะจากโรคอาหาร ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยฟื้นฟูสภาพผิวให้ดูสดใส ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แก้อาการเมื่อยล้า ผลมีรสฝาดช่วยสมานแผน ลดอาการแสบของแผล และรักษาแผลในช่องปาก ผลดิบนำมาบดทาแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว แผลไม่เปื่อยเน่าง่าย
- เมล็ด น้ำต้มเมล็ด นำมาดื่มช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง ช่วยขับพยาธิ แก้ปัสสาวะขุ่น บรรเทาโรคหอบหืด แก้วางในเด็ก
- ใบ นำใบ 5-10 ใบ มาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการตัวร้อนและเป็นไข้ น้ำต้มช่วยลดปัสสาวะเล็ด น้ำต้มช่วยแก้ปัสสาวะขุ่น น้ำต้มใช้อาบแก้โรคผิวหนัง
- เปลือกลำต้นและแก่น เปลือกสับเป็นชิ้น ก่อนต้มน้ำดื่มช่วยแก้บิดมูกเลือก แก้ท้องเสีย นำมาอาบสำหรับรักษาโรคผิวหนัง นำมาบดใช้ประคบแผล ช่วยให้แผลแห้งลดน้ำเหลืองไหล
- ราก ลดตัวร้อน รากนำมาต้มดื่มแก้อาหารเป็นพิษ รักษาฝีภายใน รักษาวัณโรค ลดอาการไอ แก้อาการร้อนใน ลดการกระหายน้ำ ช่วยขับพยาธิ แก้เส้นเอ็นดึงรั้ง แก้ซางตานขโมย รักษาโรคงูสงัด ช่วยขับปัสสาวะ น้ำต้มใช้อาบ ต้านเชื้อรารักษาโรคผิวหนัง