ชื่อวิทยาศาสตร์ Madhuca esculenta H.R.Fletcher
ละมุดสีดา มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า ละมุดไทย เคยเป็นพันธุ์ไม้ที่พบได้ทั่วไปตามชายฝั่งทะเลใต้ในบ้านเรา คนสมัยก่อนก็นิยมปลูกไว้เป็นไม้ผลในสวนกันมาก เนื่องจากผลละมุดสีดามีประโยชน์ต่อการฟื้นฟูร่างกาย เมื่อไรที่คนในบ้านเจ็บป่วย การทานผลละมุดสีดาเพียงเล็กน้อยจะช่วยให้มีกำลังขึ้นมาได้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที ทั้งยังมีการกลายพันธุ์ไปมากจนหาพันธุ์ดั้งเดิมแทบไม่ได้แล้ว
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นละมุดสีดา
สำหรับคนที่ยึดถือเรื่องฮวงจุ้ยหรือพันธุ์ไม้ที่เป็นสิริมงคล จะหลีกเลี่ยงการปลูกต้นละมุดทุกสายพันธุ์เอาไว้ในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะต้นละมุดสีดาที่มีความเชื่อมโยงกับไสยศาสตร์ก็ยิ่งเป็นไม้ต้องห้าม หากต้องปลูกก็จะนำไปลงดินตามเรือกสวนไร่นามากกว่า เพราะถ้าปลูกใกล้ที่อยู่อาศัย เชื่อว่าคนในบ้านจะทำอะไรก็ต้องหลบซ่อน ปิดบัง มีเหตุให้ต้องเข้าไปพัวพันกับเรื่องไม่ดีไม่งามนัก และมันจะนำมาซึ่งความวุ่นวายไม่จบสิ้น ความเชื่ออีกแขนงหนึ่งเป็นเรื่องเครื่องรางของขลัง ไม้ละมุดสีดาจะถูกนำมาทำเป็นปลัดขิกหรือตระกรุดเพื่อพกติดตัว เน้นให้คุณไปทางด้านเสริมเสน่ห์มากกว่าด้านอื่น นอกจากนี้ตามประเพณีไหว้เจ้าของบางพื้นที่ ก็มีการกำหนดให้ผลละมุดสีดาเป็นเครื่องเซ่นที่จำเป็นต้องมีอีกด้วย
ลักษณะของต้นละมุดสีดา
- ลักษณะของลำต้น
ละมุดสีดาเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ สูงได้ตั้งแต่ 5-15 เมตร พุ่มใบหนาทึบและมีกิ่งก้านค่อนข้างรก เปลือกส่วนลำต้นมีสีน้ำตาลแดงและจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอมเทาเมื่อละมุดมีอายุมากขึ้น ผิวนอกจะมีรอยแตกเป็นร่องลึกตามยาวได้บ้าง โดยมีน้ำยางสีขาวขุ่นไหลออกมาจากรอยแตกใหม่เสมอ
- ใบ
รูปทรงใบเป็นแบบกลมรี ปลายใบแหลมเล็กน้อย เนื้อใบหนาและมีสีเขียวเข้ม แต่ท้องใบจะมีสีอ่อนกว่าหรือเป็นโทนสีอมน้ำตาล ผิวสัมผัสเรียบลื่นเป็นมันเงา
- ดอก
ดอกขนาดเล็กมีกลีบ 3 กลีบสีขาวนวล เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีเกสรครบทั้ง 2 ชนิดในดอกเดียว ดอกจะออกเป็นช่อรวมกันตามซอกใบหรือปลายกิ่ง และมีช่วงเวลาที่เป็นดอกตูมยาวนานกว่าดอกบาน
- ผล
เป็นทรงวงรีคล้ายไข่ไก่ หากเทียบกับละมุดทั่วไปก็มีผลเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด ผิวนอกเรียบเกลี้ยง เมื่อเป็นผลอ่อนจะมีสีเขียว แต่เมื่อสุกจะเป็นสีแดงแสดหรือสีแดงคล้ำ เนื้อในมีสีเหลืองอมส้มและมีกลิ่นแรงมาก
วิธีการปลูก
ต้นละมุดสีดาสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีเช่นเดียวกับละมุดชนิดอื่น การเพาะเมล็ดเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแต่มีโอกาสกลายพันธุ์สูง การผลิตกล้าพันธุ์ละมุดสีดาจึงนิยมใช้การปักชำหรือตอนกิ่งมากกว่า แต่จะต้องมีประสบการณ์และรู้เทคนิคแบบละเอียดถึงจะได้กล้าพันธุ์ตามต้องการ อย่างไรก็ตามหากเพาะปลูกไว้ภายในครัวเรือน การเพาะเมล็ดก็นับว่าเป็นตัวเลือกที่ดี โดยเริ่มจากตัดเปลือกเมล็ดละมุดตรงช่วงปลายออกเล็กน้อย เพื่อเป็นช่องเปิดให้รากงอกออกมาได้ง่าย แล้วนำไปปลูกในถุงเพาะ ใช้ทรายผสมขี้เถ้าเป็นวัสดุปลูก ประมาณ 15-25 วันก็จะเริ่มมีต้นอ่อนงอกขึ้นมา หมั่นรดน้ำ ใส่ปุ๋ยคอก และกำจัดแมลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งต้นกล้าสูงได้ระยะ 50 เซนติเมตรจึงค่อยย้ายลงดินต่อไป
วิธีการดูแลรักษา
- แสง ต้องการแสงค่อนข้างมาก จะโตได้เร็วถ้าปลูกไว้กลางแจ้ง
- น้ำ ควรรดน้ำเป็นประจำทุกวัน ประมาณ 1-2 ครั้งแล้วแต่ความชุ่มชื้นของดิน
- ดิน เติบโตได้ดีในดินร่วนซุย
- ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เพื่อบำรุงแร่ธาตุในดินปีละ 2 ครั้ง โดยโรยรอบโคนต้นแล้วพรวนดินกลบเสมอ
คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นละมุดสีดา
- ลำต้น เนื้อไม้ค่อนข้างแข็งและทนทาน จึงนิยมนำมาทำเป็นเสาเรือน พื้นบ้าน ตลอดจนเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ส่วนยางใช้ผลิตเป็นรองเท้าบูทได้
- ผล ละมุดสีดาเป็นผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ทั้งยังมีเส้นใยสูงมาก ผลสดจะมีเนื้อหวานกรอบ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่าย และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้ เปลือกนอกก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด ยาถ่ายพยาธิชนิดรุนแรง และสามารถดัดแปลงเป็นแยมหรือไวน์ได้ด้วย
ละมุดสีดา พืชที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าที่คิด
แน่นอนว่าไม่ใช่ละมุดทุกสายพันธุ์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ละมุดสีดาเป็นพันธุ์ที่ให้ผลแตกต่างออกไป ทั้งลักษณะภายนอกของผลและรสชาติที่ได้ ละมุดสีดาที่เป็นผลอ่อนจะมีรสฝาดและเมื่อสุกก็จะหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ไม่ได้หวานจัดอย่างที่เราคุ้นเคยกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ส่วนประกอบอื่นของต้นละมุดสีดาจะมีคุณสมบัติที่ต่างไปด้วย มีงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดจากใบละมุดสีดาเอาไว้ว่า ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่ได้มีปริมาณสูงมากเมื่อสกัดหยาบด้วยเมทานอล แม้แต่พืชอื่นๆ ในวงศ์เดียวกันกับละมุดสีดาก็ให้ผลคล้ายคลึงกัน เช่น ม่อนไข่ ลูกน้ำนม เป็นต้น ด้วยปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่ตรวจพบนี้ สามารถนำไปต่อยอดได้ค่อนข้างมาก เพียงแต่ยังมีงานวิจัยน้อยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะละมุดสีดาเป็นพันธุ์ไม้หายากนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง
- ปริมาณฟีนอลิกทั้งหมด ฤทธิ์ด้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ด้านจุลชีพจากสารสกัดใบละมุดสีดา, ต่วนรอฮานี โตะกูบาฮา, โนร์เลียนา ยะโก๊ะ, ทวีสิน นาวารัตน์ และ นันธิดา ลิ่มเสฏโฐ. 2561.