ลูกชิด ผลผลิตจากต้นตาวที่ใครหลายคนอาจยังไม่รู้

เมื่อพูดถึงลูกชิดแล้วเชื่อว่ายังมีคนจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่าลูกชิดและลูกจากนั้นมาจากต้นเดียวกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วลูกชิดและลูกจากมาจากคนละต้นกัน โดยลูกจากนั้นมาจากต้นจาก ส่วนลูกชิดมาจากต้นตาว โดยตาวนั้นถือเป็นผลไม้จากพืชตระกูลปาล์มเช่นเดียวกับมะพร้าวและตาล ซึ่งมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมและกระจายพันธุ์อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศอินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และลาว ส่วนในประเทศไทยจะพบบริเวณผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และความชื้นสูง หรือตามเชิงเขาในบริเวณที่มีดินร่วนและมีอากาศชุ่มชื้น ซึ่งพบมากในเขตจังหวัดกาญจนบุรี พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ เชียงราย เชียงใหม่ และน่าน ในปัจจุบันลูกชิดถือเป็นสิ่งที่คนต้องการมากจนขาดตลาด โดยในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่จะผลิตจากจังหวัดน่าน เนื่องจากต้นตาวที่ให้ผลผลิตอย่างลูกชิดมีค่อนข้างน้อยลงและมีความเสี่ยงที่ต้นจะสูญพันธุ์ จึงทำให้ไทยต้องนำเข้าลูกชิดมาจากประเทศลาวเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในท้องตลาด

ลูกชิด ภาษาอังกฤษ : Sugar palm

ลูกชิด ชื่อวิทยาศาสตร์ : Arenga pinnata (Wurmb) Merr.

วงศ์ : Arecaceae

ชื่อเรียกอื่น ๆ : ต๋าว, ชิด, มะต๋าว, ฉก, ชก ฯลฯ

ต้นตาว ลูกชิด
www.technologychaoban.com

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นตาว

ต้นตาว ลูกชิด เป็นไม้ป่าชนิดหนึ่ง ซึ่งถือเป็นพืชดึกดำบรรพ์ในตระกูลปาล์ม โดยมีลำต้นสูงตระหง่าน ใบเป็นแพกว้างให้ความชุ่มเย็น หากพูดถึงความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลแล้ว สำหรับต้นตาวอาจจะไม่ได้ถูกจัดอยู่ในความเชื่อในลักษณะนั้น แต่เชื่อว่าต้นตาวเป็นพืชที่ให้ประโยชน์กับเราได้อย่างหลากหลาย เราสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นตาวมาเป็นวัตถุดิบแปรรูปทางการเกษตรได้ นอกจากนี้เรายังสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นตาวมาใช้ประกอบอาหารได้อีกด้วย และเชื่อว่าถ้าหากเห็นต้นตาวขึ้นอยู่บริเวณใดแสดงว่าบริเวณนั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์ ลูกชิดถือเป็นผลผลิตสำคัญของต้นตาวที่ท้องตลาดให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีคนจำนวนมากที่เคยทานลูกชิดแต่ยังไม่เคยเห็นต้นที่ให้ผลผลิตอย่างลูกชิด และด้วยความที่ลูกชิดกับลูกจากนั้นมีลักษณะที่คล้ายกันมากจนทำให้เกิดความสับสน ทำให้หลายคนยังเข้าใจผิดว่าลูกชิดและลูกจากมาจากต้นเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วต้นตาวและต้นจากนั้นไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันมากนัก

ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน

ลูกชิดถือเป็นผลผลิตที่ท้องตลาดมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันต้นตาวซึ่งให้ผลผลิตอย่างลูกชิดก็มีน้อยลงและเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ เนื่องจากต้นตาวมักจะขึ้นอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และความชื้นสูง หรือตามเชิงเขาในบริเวณที่มีดินร่วนและมีอากาศชุ่มชื้น จึงทำให้มีเพียงแค่ต้นตาวที่อยู่ในป่าซะส่วนใหญ่ บวกกับต้นตาวหลังจากที่ให้ผลผลิตแล้วก็จะล้มตายไปในที่สุด จึงทำให้จำนวนของต้นตาวลดลงไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันเกษตรกรจึงต้องปลูกต้นตาวไว้ในพื้นที่ที่นอกเหนือจากบริเวณป่าเพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างเพียงพอและสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว หากจะนำมาปลูกในบริเวณบ้านก็ควรจะเป็นพื้นที่ที่มีความชื้นสูงและเป็นดินร่วนถึงจะเหมาะสมต่อการปลูกต้นตาว เนื่องจากต้นตาวนั้นจะชอบความชื้นเป็นพิเศษ ยิ่งถ้าปลูกในฤดูฝนก็จะยิ่งทำให้ต้นสามารถเจริญเติบโตได้ดี หากใครมีสวนบริเวณหลังบ้านที่เป็นพื้นที่กว้างก็ควรปลูกไว้ในบริเวณนั้น เพราะตาวเป็นพืชขนาดใหญ่ควรจะปลูกไว้ในพื้นที่กว้าง

ลักษณะของต้นตาว

ลักษณะของลำต้น ตาวมีลำต้นเดี่ยว ไม่มีกิ่ง แต่มีก้านแขนงออกมาด้านข้าง ลักษณะลำต้นตรงสูงชะลูด ซึ่งมีหลายขนาด โดยมีความสูง 6-15 เมตร เมื่อต้นตาวโตเต็มที่อาจสูงได้ถึง 20 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ 40-60 เซนติเมตร ลำต้นมีขนาดใหญ่กว่าต้นตาล ลำต้นมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ โดยมีวงแหวนรอบลำต้นเป็นข้อชัดเจน แต่มักจะถูกปิดหุ้มด้วยกาบใบแก่เกือบตลอดทั้งลำต้น

ใบ ใบของตาวเป็นใบเดี่ยว ประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกันเช่นเดียวกับใบมะพร้าว แต่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่า ส่วนยอดของใบชูขึ้น แต่ไม่ถึงกับตั้งตรง ซึ่งมีจำนวนใบประมาณ 12-15 ใบ กาบใบแยกเป็นร่องลึก มีเส้นใยสีดำสานเป็นร่างแหอยู่ที่ขอบด้านข้าง โดยเส้นใยเหล่านี้บางส่วนอาจมีการเปลี่ยนรูปดูคล้ายกับหนามยาว 60-100 เซนติเมตร ก้านใบแข็งและมีขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 1 เมตร แกนระหว่างก้านใบประกอบยาวประมาณ 6-7 เมตร ใบย่อยมีประมาณ 150 คู่ ขนาด 100-130 × 7-10 เซนติเมตร เรียงตัวเป็นระเบียบในระนาบเดียว ปลายใบย่อยเป็นซี่ มีลักษณะคล้ายฟันปลา ฐานใบย่อยมีรยางค์ยื่นออกมาเป็นติ่ง 2 อัน ซึ่งมีขนาดไม่เท่ากัน ใบอ่อนมีหลังใบสีเทาเงิน ส่วนใบแก่จะมีหลังใบสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิม

ดอก ในต้นเดียวกันจะมีทั้งช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมีย แต่อยู่คนละช่อดอกกัน และออกดอกเพียงแค่ครั้งเดียว ช่อดอกหนึ่งตัวผู้ยาวประมาณ 1-2 เมตร ส่วนช่อดอกสมบูรณ์เพศจะยาวกว่าดอกตัวผู้ ซึ่งจะออกดอกตามซอกใบ สามารถห้อยยาวลงได้มากกว่า 2 เมตร และเมื่อโตเต็มที่จะออกดอกทีละทะลาย ระยะเวลาตั้งแต่ออกออกดอกจนเป็นผลสุกแก่จนร่วงหล่นอาจใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี

ผล ตาวจะออกผลเป็นทะลาย ซึ่งมีหลายแขนง ไม่มีก้านผล ลักษณะของผลเป็นรูปไข่สีเขียว โดยใน 1 ต้นนั้นจะมีผลอยู่ประมาณ 5-6 ทะลาย เริ่มติดผลทะลายแรกจากกาบใบบนสุดลงมาข้างล่าง ระยะเวลาตั้งแต่ติดผลทะลายแรกจนถึงทะลายสุดท้ายตามจำนวนทะลาย (โดยเฉลี่ยปีละ 1 ทะลาย) ซึ่งต๋าว 1 ทะลายจะมีประมาณ 50 เส้นขึ้นไป โดยแต่ละเส้นจะมีผลตาวประมาณ 80-110 ผล ดังนั้นใน 1 ทะลายก็จะมีผลตาวประมาณ 4,000 ผล ผลสุกแก่จะมีสีเขียวเข้มจนถึงม่วงดำ ผลมีขนาด 3-5 เซนติเมตร

เมล็ด ในผลของตาวจะมีเมล็ดอยู่ 2-3 เมล็ด ส่วนที่นำมารับประทานนั้นจะเป็นเนื้อในของเมล็ดอ่อนหรือเอนโดสเปิร์ม (Endosperm) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ลูกชิด” นั่นเอง โดยเมล็ดอ่อนนั้นจะมีสีขาวขุ่น เมื่อแก่แล้วจะมีสีดำและมีเปลือกแข็งห่อหุ้ม และที่เราเรียกว่าลูกชิดนั้นก็เพราะว่าในแต่ละผลจะมีเมล็ดเรียงชิดกันอยู่ สำหรับรสชาติของลูกชิดจะมีรสจืด แต่ถ้ายังไม่แก่จัดจะมีรสฝาด ซึ่งจะนิยมนำมาทำเป็นของหวานต่าง ๆ และทานคู่กับไอศกรีม

ลูกชิด คือ

วิธีการปลูก

  • การปลูกต้นตาวเพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างลูกชิดนั้น ขั้นตอนแรกให้นำเมล็ดแก่ไปแช่น้ำเพื่อคัดแยกเมล็ดดีและเสียออกจากกัน โดยเมล็ดดีนั้นจะจมน้ำ ส่วนเมล็ดเสียจะลอยน้ำ
  • นำขุยมะพร้าวไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน บรรจุลงในถุงพลาสติกใส/ดำ จากนั้นนำเมล็ดดีไปบ่ม มัดปากถุงให้แน่น นำไปไว้ในที่ร่มประมาณ 1 เดือน จะมีรากงอกออกมาจากเมล็ด ถ้าหากต้องการเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดให้นำขุยมะพร้าวไปนึ่งฆ่าเชื้อประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วนำมาผึ่งให้เย็น
  • นำขุยมะพร้าวบรรจุลงในถุงพลาสติกสีดำ นำเมล็ดดีมาเปิดจุดงอกก่อนนำลงไปบ่ม มัดปากถุงให้แน่น ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ต้นกล้าตาวงอกเกือบทั้งหมดและมีอัตราการงอก 95-100% สิ่งสำคัญสำหรับการบ่มเมล็ดคือในขณะที่บ่มเมล็ดตาวนั้นไม่ต้องเติมน้ำหรือให้ความชื้นกับขุยมะพร้าวอีก เพราะจะส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนจากเชื้อราหรือแบคทีเรียได้
  • ขั้นตอนการย้ายเมล็ดลงถุงเพาะชำ เตรียมวัสดุเพาะโดยใช้ขี้เถ้าแกลบ : ทราย : ปุ๋ยคอก : ดิน ในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 บรรจุลงในถุงเพาะชำ ขนาด 3×5 นิ้ว นำเมล็ดที่งอกแล้วย้ายลงปลูกในถุงเพาะชำ โดยใช้ไม้จิ้มนำเพื่อเปิดทางก่อน จากนั้นสอดเฉพาะส่วนรากที่งอกแล้วลงในช่องเปิดของวัสดุปลูก โดยให้เมล็ดตาวอยู่เหนือดินเพื่อป้องกันรากกระทบกระเทือนและหัก รดน้ำให่ชุ่มทุกวันประมาณ 1 เดือน กล้าตาวจะเริ่มแตกใบแรกออกมาและภายในเดือนที่ 2 จะแตกใบใหม่ 2-3 ใบ
  • หลังจากปลูกได้ 2-3 เดือน ให้ทำการย้ายต้นกล้าตาวลงปลูกในถุงเพาะชำขนาด 4×6 นิ้ว หากมีรากต้นกล้าตาวแทงออกมานอกถุงเพาะชำให้ตัดรากก่อน เพื่อกระตุ้นให้ต้นกล้าตาวแตกใบใหม่ และต้องหมั่นรดน้ำให้สม่ำเสมอด้วย
  • หลังจาก 9 เดือน – 1 ปี จะได้ต้นกล้าตาวพร้อมปลูก โดยให้ปลูกในช่วงเริ่มต้นของฤดูฝนจะเหมาะสมที่สุด ระยะปลูกคือ 6×6 เมตร โดยขุดหลุมขนาด 40×40×40 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ตั้งลำต้นให้ตรงโดยให้ผิวดินในถุงเพาะเสมอกับผิวดินของหลุมที่เตรียมไว้ กลบดินให้แน่น แล้วนำไม้หลักมาปักและผูกกับต้นตาวเพื่อป้องกันต้นล้ม ซึ่งกว่าต้นตาวจะให้ผลผลิตอย่างลูกชิดนั้นก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีเลยทีเดียว

วิธีการดูแล

แสงแดด แสงแดดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ควรให้ความสำคัญ ควรปลูกต้นตาวไว้ในบริเวณที่แสงแดดสามารถส่องถึง เพื่อให้ต้นมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น หากต้นตาวได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอก็จะส่งผลให้มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นและเมื่อออกผลผลิตแล้วก็จะได้ลูกชิดตามที่เราต้องการ

น้ำ ตาวเป็นพืชที่ชอบความชื้น ดังนั้นควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะแรกให้รดน้ำ 2-3 วัน/ครั้ง หากฝนตกมากก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ สำหรับการรดน้ำก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้ต้นตาวเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ควรให้ต้นตาวได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะกว่าจะได้ผลผลิตอย่างลูกชิดนั้นก็ต้องใช้เวลานานหลายปีเลยทีเดียว

ดิน การจะปลูกต้นตาวเพื่อให้ได้ลูกชิดนั้นต้องคำนึงถึงดินที่ปลูกเป็นหลัก โดยต้นตาวนั้นมักจะขึ้นตามพื้นที่ที่มีความชื้นสูง ดังนั้นหากจะปลูกต้นตาวให้ได้ผลผลิตอย่างลูกชิดเพื่อนำส่งออกสู่ท้องตลาดก็ควรนำมาปลูกไว้ในบริเวณที่มีความชื้นสูงและเป็นดินร่วน เพื่อให้ต้นตาวเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และถ้าหากมีหญ้าขึ้นอยู่ตามดินที่ปลูกต้นตาวก็ควรถางออกให้เรียบร้อยด้วย

ปุ๋ย หลังจากปลูกเสร็จสามารถใส่ปุ๋ยหมักจากเปลือกตาวเพื่อให้ต้นเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น ใส่ปุ๋ยเดือนละ 1 ครั้ง โดยให้ใส่ปุ๋ยครั้งละ 1 กำมือต่อต้น ซึ่งกว่าจะได้ผลผลิตอย่างลูกชิดนั้นก็ต้องใช้ปุ๋ยเข้ามาช่วยดูแลให้ต้นเจริญเติบโตก่อน

การปลูกลูกชิด
www.hrdi.or.th

ประโยชน์

  1. รากของตาวจะช่วยยึดเกาะหน้าดินไม่ให้พังทลาย
  2. ลำต้นช่วยดูดซึมน้ำเอาไว้ไม่ให้น้ำท่วมในฤดูฝน และคงความชุ่มชื้นแก่ดินในฤดูแล้งด้วย
  3. ลำต้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ และตอของต้นตาวที่ตายแล้วสามารถใช้เลี้ยงด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าว ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง
  4. เส้นใยจากลำต้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นแปรงได้
  5. เมล็ดตาวหรือลูกชิดสามารถนำมาต้มรับประทานแบบจืด (ไม่เติมน้ำตาล) ได้ ซึ่งถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะมีแคลอรี่ต่ำและใยอาหารสูงมากเมื่อเทียบกับพืชตระกูลปาล์มชนิดอื่น
  6. เมล็ดตาวหรือลูกชิดสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารได้ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน เช่น แกง ผัด ยำต่าง ๆ ของหวาน และเบเกอรี รวมไปถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
  7. หน่ออ่อนหรือแกนในของลำต้นสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารยอดอ่อนของมะพร้าว เช่น การทำเป็นแกงหรือใส่ข้าวเบือ เป็นต้น
  8. ใบแก่สามารถนำมาใช้มุงหลังคา กั้นฝาบ้าน ตกแต่งงานรื่นเริงในหมู่บ้าน หรือจะนำมาใช้จักสานตะกร้าก็ได้เช่นกัน
  9. ใบอ่อนสามารถนำมาใช้ทำเป็นมวนบุหรี่ ส่วนก้านใบสามารถนำมาเหลารวมกันทำเป็นไม้กวาด และก้านทางใบนำมาใช้ทำฟืนสำหรับก่อไฟได้
  10. ก้านทางใบสามารถนำมาผลิตไฟเบอร์ แต่ในบางครั้งอาจนำรากมาทำไฟเบอร์ก็ได้ แต่ไฟเบอร์ที่สำคัญจะทำมาจากลำต้น ซึ่งมีความยาวและมีสีเทาดำ ในอินโดนีเซียจะนำไปทำเป็นเชือกสำหรับใช้กับเรือประมง ฯลฯ
  11. ยอดอ่อนและใบอ่อนสามารถนำมานึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำไปแกงได้ นอกจากนี้ยอดอ่อนที่ขั้วหัวยังสามารถรับประทานเป็นผักสด หรือนำไปดองเปรี้ยวเก็บไว้ใช้แกงส้มหรือทำแกงกะทิก็ได้เช่นกัน
  12. งวงตาวหรือดอกตาวสามารถนำมาทำเป็นน้ำตาลคล้ายกับน้ำตาลโตนดได้ ส่วนก้านช่อดอกนั้นมีน้ำหวานอาจนำมาใช้ทำเป็นไวน์ผลไม้หรือน้ำส้มได้
  13. น้ำหวานที่ได้จากผลสามารถนำมารับประทานได้เช่นเดียวกับน้ำตาลโตนด และยังสามารถนำไปทำน้ำส้มที่เรียกว่าน้ำส้มชุกสำหรับใช้ในการปรุงอาหารหรือทำกระแช่ หรือเอาส่วนที่เคี่ยวเป็นน้ำผึ้งชุกไปหมักสำหรับทำสุรา

ราคาต่อต้นโดยประมาณ

นอกจากลูกชิดซึ่งเป็นที่ต้องการในท้องตลาดสูงแล้วก็มีต้นตาวที่ให้ผลผลิตอย่างลูกชิดที่เกษตรกรต้องช่วยกันปลูกเพิ่ม เพราะจำนวนของต้นตาวนั้นมีน้อยลง ทำให้เกษตรกรต้องเพาะปลูกต้นตาวเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นตาวนั้นเป็นพืชที่หาได้ยากมาก เพราะจะขึ้นแค่บางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และความชื้นสูง จึงทำให้ต้นตาวหาซื้อได้ยากและใกล้จะสูญพันธุ์ แต่ในขณะเดียวกันความต้องการของลูกชิดนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยราคาของต้นตาวนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดของต้นนั้น ๆ สำหรับต้นกล้าตาวที่มีความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร จะมีราคา 50 บาท และสำหรับต้นตาวที่มีความสูง 100 เซนติเมตร ขึ้นไป จะมีราคา 500 บาทขึ้นไป ทั้งนี้การจำหน่ายต้นตาวอาจไม่มากนัก หากต้องการที่จะหาต้นมาปลูกก็ควรไปหาในพื้นที่ท้องถิ่นของต้นตาวที่ผลิตลูกชิดเอง

ลูกชิด สรรพคุณ
kaijeaw.com

แหล่งที่มา

https://www.hrdi.or.th

ps://skm.ssru.ac.th

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้