ต้นงิ้ว คุณค่าดีๆที่ซ่อนอยู่ภายในความน่าสะพรึงกลัว

ชื่อภาษาอังกฤษ

Red Cotton

ชื่อวิทยาศาสตร์

Bombax ceiba L.

ความหมาย

ต้นงิ้วเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน สูงได้ถึง 30 เมตร

ความเชื่อ

การปลูกต้นงิ้วในบ้านเรือนนั้นเป็นสิ่งอัปมงคลและเท่ากับแช่งตัวเอง

ต้นงิ้วเป็นชื่อเรียกที่ใครหลายต่อหลายคนมักคุ้นหูที่บอกเล่าสืบทอดต่อๆ กันมาว่า ผู้ใดประพฤติผิดเมียชาวบ้าน เมื่อตายไป ยมบาลจะสั่งให้ถอดเสื้อผ้า แล้วปีนต้นงิ้วที่มีหนามแหลมคม ตามภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดบางแห่ง วาดได้น่ากลัว จนใครหลายคนคงไม่คาดคิดว่าต้นงิ้วนั้นมีอยู่จริงและเป็นชื่อเรียกของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีหนามแหลมคมไปทั่วลำต้น  ซึ่งถือเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่คนโบราณย้ำเตือนหนักหนาว่าห้ามปลูกในบ้าน เพราะจะทำให้คนที่อยู่อาศัยในบ้านนั้น เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เปรียบดั่งการแช่งตนเอง อยู่ตลอดเวลา

ต้นงิ้วบ้าน

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นงิ้ว

นอกจากความเชื่อที่เชื่อมโยงถึงชีวิตหลังความตาย เรื่อง นรก การชดใช้กรรมในการประพฤติผิดในกามแล้ว ต้นงิ้วยังเป็นต้นไม้ที่ คนไทยส่วนใหญ่มักไม่กล้าปลูกในบ้านเรือน เพราะในสมัยก่อน เมื่อมีคนเสียชีวิตในชุมชน ญาติพี่น้องจะตัดฟันต้นงิ้วลงมาแปรรูปทำเป็นโลงศพ ซึ่งทำได้ง่าย เพราะเนื้อไม้ไม่แข็ง ซึ่งประหยัด รวดเร็ว ดังนั้น ชาวบ้านจึงมีความเชื่อว่า การปลูกต้นงิ้วในบ้านเรือนนั้นเป็นสิ่งอัปมงคลและเท่ากับแช่งตัวเอง เหมือนดั่งเตรียมปลูกต้นไม้ไว้มาใช้ทำโลงให้กับตัวเอง

ส่วนประกอบของต้นไม้

ลักษณะของลำต้น

งิ้วเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน ขนาดกลางถึงใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดโปร่ง กิ่งก้านมีหนามแหลม ลำต้นเปล่าตรง เปลือกนอกน้ำตาลเทา เรียบ มีน้ำแข็ง เปลือกในสีขาว มีริ้วสีชมพูตามยาว กระพี้สีขาว มีขนสั้นนุ่มตามกิ่ง

ใบ

มีลักษณะเป็นช่อใบประกอบด้วยใบย่อย ๔-๗ ใบ ใบเป็นมันค่อนข้างหนา ก้านใบสีขาวมองเห็นชัดเจน ใบย่อยรูปรี ปลายใบเรียวแหลมเรียงกันคล้ายกับรูปนิ้วมือ มีสีเขียวไม่มีขน

ดอก

ดอกมีลักษณะขนาดใหญ่ ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกมี ๕ กลีบ สีออกแดงหรือส้มปนสีเหลือง กลีบดอกมีขนปกคลุม ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีความกว้างประมาณ ๑๐ เซนติเมตร มีลักษณะแข็งเลื่อมเป็นมัน ส่วนกลางดอกออกเป็นเกสรตัวผู้เรียง ๓ แถว ยาวยื่นออกมาเป็นเส้นๆ ดอกงิ้วจะบานช่วงหนาวต่อร้อน ราวเดือนกุมภาพันธ์

สายพันธุ์และชนิดของต้นงิ้ว

 ต้นงิ้ว หรือบางพื้นที่เรียก ต้นงิ้วป่า จัดเป็นพืชในสกุล Bombax ในประเทศไทยมีรายงานว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 สายพันธุ์ด้วยกัน ได้แก่ “งิ้ว” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax ceiba L.  ชนิดที่ 2 “งิ้วป่าดอกแดง” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax insigne Wall.ชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax anceps Pierre และยังสามารถแยกออกได้อีก 2 ชนิดย่อย ได้แก่ “งิ้วป่า” (งิ้วป่าดอกขาว) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax anceps Pierre var. anceps* (ชื่อวิทยาศาสตร์ไม่แน่ชัด) “ง้าว” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax anceps var. cambodiense (Pierre) Robyns

วิธีการปลูก

งิ้วเป็นต้นไม้ที่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมปลูก และมีการโค่นทำลายเพื่อนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมอื่นๆ จึงทำให้ปัจจุบันปริมาณต้นงิ้วลดลงเป็นอย่างมาก โดยตามธรรมชาติจะพบขึ้นในที่ราบและตามป่าเบญจพรรณ ตามเชิงเขาและไหล่เขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-600 เมตร ซึ่งในปัจจุบันต้นงิ้วตามธรรมชาติก็จะหาดูได้ยากมาก และมีปลูกเฉพาะถิ่นทางภาคเหนือไม่กี่ที่เท่านั้น เพื่อใช้ประโยชน์ทางเชิงการค้าและสมุนไพร โดยการปลูกต้นงิ้วส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเพาะเมล็ด หรือการปักชำ

วิธีการดูแล

แสง

ต้นงิ้วชอบแสงแดดจัด ตลอดทั้งวัน

น้ำ

ไม่ชอบน้ำมาก สำหรับต้นที่โตกว่า 1-2 ปี ขึ้นไป สามารถอยู่ได้เองโดยอากาศน้ำตามธรรมชาติ จึงพบว่าต้นงิ้วสามารถขึ้นได้เอง แม้จะไม่ได้มีการให้น้ำหรือดูแล

ดิน

ต้นงิ้วเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ไม่อุ้มน้ำ ลักษณะดินโปร่ง เช่นดินตามบริเวณพื้นที่เชิงเขา

ต้นงิ้ว ความเชื่อ

ประโยชน์หรือสรรพคุณอื่นๆ 

เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อนที่พบขึ้นอยู่ทั่วไป จึงเป็นที่ไม่ค่อยมีใครสนใจและเห็นคุณค่า เนื่องจากหาง่ายโตไง บ้างก็นำปุยมายัดใส่ในที่นอน หากทว่าต้นงิ้วนั้นยังมีคุณค่าทางสมุนไพรมากมาย และจากงานวิจัยในปัจจุบันพบว่า งิ้ว เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระที่น่าสนใจ เพราะมีประสิทธิภาพดีและมีพิษต่ำ ใช้เป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์ต้านความเสื่อมแห่งวัยได้เป็นอย่างดี เปลือกต้นงิ้วยังช่วยบำรุงระบบไหลเวียนโลหิต บรรเทาอาการบวมจากการกระแทก รักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง บรรเทาอาการท้องเดิน แก้บิด อัมพาต เอ็นอักเสบ ดอกช่วยห้ามเลือด รักษาแผล ฝีหนอง บรรเทาอาการท้องเดิน บิดมูกเลือด ช่วยขับปัสสาวะ ผลอ่อนใช้บำบัดรักษาแผลเรื้อรังในไต เมล็ดใช้เป็นยาร่วมกับพิมเสนรักษาโรคหนองในเรื้อรัง รากหรือเปลือกรากใช้สมานแผล ห้ามเลือด รักษาแผลในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการฟกช้ำบวมจากการกระแทก รากเป็นยาบำรุงกำลัง นอกจากนี้ เกสรของดอกงิ้วยังเป็นส่วนประกอบของอาหารชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมในกลุ่มของไทยใหญ่ทางภาคเหนือนั่นก็คือขนมจีนน้ำเงี้ยว ที่มีหรือเงี้ยว เป็นส่วนประกอบสำคัญนั่นเอง น้ำมันจากเมล็ดต้นงิ้วสามารถนำมาใช้ปรุงอาหาร ใช้ทำสบู่ได้ และเปลือกของต้นงิ้วแดงสามารถใช้มาทำสี โดยจะให้สีน้ำเงิน ใช้สำหรับย้อมสีจำพวกผ้าฝ้ายได้เป็นอย่างดี

ต้นงิ้วหนาม

ราคาต้นงิ้วต่อต้นโดยประมาณ

ต้นกล้าของต้นงิ้วที่เพาะเมล็ดในถุงดำ พร้อมปลูกลงดิน มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ ต้นละ 20-40 บาท

แหล่งอ้างอิง

: http://www.qsbg.org/database/

อยากให้มีเนื้อหาเรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ