ต้นตาล ไม้ผลสารพัดประโยชน์กับความเชื่อที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน

ชื่อภาษาอังกฤษ

Sugar palm

ชื่อวิทยาศาสตร์

Borassus flabellifer L.

ความหมาย

ต้นตาล เป็นพันธุ์ไม้จำพวกปาล์มขนาดใหญ่ มีลำต้นที่สูงยาวและแข็งแรงนิยมปลูกไว้ใช้ประโยชน์จากผลตาล ทนทานต่อสภาพดิน ฟ้า อากาศได้ดี

ความเชื่อ

ต้นตาลเป็นต้นไม้ที่แทนสัญลักษณ์ของการตัดกิเลศในทางพระพุทธศาสนาและเป็นไม้มงคลที่ให้โชคลาภโดยเฉพาะผู้ที่เกิดในปีฉลู สามารถนำไปใช้ประกอบอาหารบูชาเทพเจ้าในทางศาสนาฮินดูเพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยได้

ต้นตาล (Sugar palm) เป็นพันธุ์ไม้ผลที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับต้นปาล์มและอยู่คู่กับชาวไทยมายาวนานมาก มีการกล่าวถึงต้นตาลไว้นับตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลและยังปรากฏในหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนเหล่าพุทธสาวกไว้ แต่ความจริงแล้วต้นไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกาก่อนจะแพร่หลายในอินเดียตอนใต้ จากนั้นประเทศไทยก็รับพันธุ์ต้นตาลมาปลูกในครั้งที่ทำการค้ากับอินเดียช่วงสมัยก่อนสมัยทวาราวดีหรือพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 ลักษณะโดยทั่วไปของต้นตาลจะเป็นต้นไม้สูงราว ๆ 30 – 40 เมตร ลำต้นเป็นเสี้ยนสีดำแข็งมากแต่ไส้กลางลำต้นจะอ่อน บริเวณโคนต้นจะมีรากเป็นกลุ่มใหญ่ ใบเหมือนพัดขนาดใหญ่และกว้างประมาณ 1 – 1.5 เมตร มีก้านเป็นทางยาว 1 – 2 เมตร ต้นตาลจะมีผลหรือที่เราลูกจักกันว่า ลูกตาล ซึ่งมีลักษณะเป็นเนื้อใส ๆ สีขาวขุ่นรสชาติหวานหอม ปัจจุบันเราจะพบต้นตาลได้ทั่วไปตามจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยแต่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีคู่กับเขาวังหรือพระนครคีรีจากการกล่าวถึงต้นตาลบ่อย ๆ ในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่มานานมากแล้ว

ต้นตาล

สำหรับต้นตาลที่เราจะพบได้บ่อย ๆ ในปัจจุบันก็คือตาลโตนดซึ่งจะสังเกตได้ง่ายจากผลตาลที่มีสีดำเมื่อแก่เต็มที่แต่ถ้าหากผลออกสีแดง ๆ จะเรียกว่าตาลโตนดข้าว โดยนอกเหนือจากตาลเหล่านี้ต้นตาลก็ยังแบ่งออกได้เป็นหลายสายพันธุ์อาทิ ตาลหม้อ ตาลไข่ ตาลจากและตาลป่า ลักษณะเด่นข้อหนึ่งของต้นตาลคือเป็นพืชที่ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ทนแล้ง ทนน้ำท่วม แต่ไม่ชอบดินที่เป็นกรดจัดจึงสามารถปลูกแซมตามคันนาได้โดยจะไม่ไปแย่งแร่ธาตุของดินในนาข้าว เนื่องจากรากของตาลโตนดจะหยั่งลงไปใต้ดินลึก

ต้นตาล ความเชื่อ
ต้นตาล ความเชื่อ

ต้นตาลกับความเชื่อเรื่องโชคลาภและศาสนา

อย่างที่ได้บอกไปว่าต้นตาลอยู่คู่กับชาวไทยมานานมาก โดยคำว่าตาลมีที่มาจากคำว่า “ตาละ” ในภาษาบาลีซึ่งเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่ถูกกล่าวถึงในพุทธประวัติว่าต้นตาลนั้นเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการตัดกิเลสตามคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อใดก็ตามหากคนเราตัดกิเลสเหล่านี้ได้แล้ว ก็เปรียบเสมือนการตัดยอดตาล ทำให้ตาลด้วนไม่สามารถเจริญเติบโตได้อีก ความทุกข์ก็เช่นกัน หากเราตัดกิเลสได้แล้วก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกเป็นธรรมดาอีกทั้งใบตาลยังเป็นต้นแบบของตาลปัตรที่พระสงฆ์ใช้กันในปัจจุบันด้วย

ด้วยความเชื่อเหล่านี้ทำให้ต้นตาลเป็นต้นไม้ที่ถือว่าขึ้นที่ไหนก็ใหเความเป็นสิริมงคล ยิ่งสำหรับชาวฮินดูในอินเดีย แล้วการปลูกต้นตาลโตนดเรียกว่าได้รับความนิยมมากเพื่อนำผลของมันมาใช้ทำน้ำตาลโตนดและทำขนมโมทกะเป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าหรือใช้ทำเครื่องดื่มมึนเมาได้อีกด้วย จวบจนปัจจุบันต้นตาลเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ที่ในหลายพื้นที่ปลูกไว้ซื้อขายกัน รวมไปถึงมีความเชื่อที่กราบไหว้ต้นตาลที่ขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมีลักษณะผิดแปลกไปจากต้นตาลทั่วไปเพื่อขอโชคลาภขอหวย อีกทั้งต้นตาลยังถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำคนเกิดปีฉลูอีกด้วย

ต้นตาล
https://mgronline.com

ต้นตาลควรปลูกในบริเวณใด

สำหรับใครที่อยากจะปลูกต้นตาลแล้วสิ่งที่ต้องคำนึงคือเรื่องของพื้นที่ ถ้าหากเรามีพื้นที่กลางแจ้งโล่ง ๆ หรือมีที่นาผืนใหญ่จะเป็นทำเลที่ดีมากในการปลูกต้นตาล เพราะต้นตาลนั้นจะเติบโตได้ดีในที่ที่สามารถฝังรากลงไปลึกหรือหยั่งรากและแผ่ขยายออกไปได้และเป็นต้นไม้ที่ค่อนข้างต้องการแสงแดงมาก ๆ ดังนั้นแนะนำว่าให้ปลูกกลางแจ้งได้จะดีที่สุด เราจึงมักจะเห็นคนไทยส่วนใหญ่นิยมปลูกต้นตาลไว้ตามคันนาเพราะเป็นพื้นที่ที่มีทั้งน้ำ แสงแดด และพื้นที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นตาลได้อย่างสมบูรณ์

ลักษณะทั่วไปของต้นตาล

ต้น: เป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน ลำต้น เดี่ยวไม่แตกกิ่งก้านสาขา ลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม – ดำ ซึ่งจะมีกาบขอบใบติดอยู่ประมาณ 5 เมตร ลักษณะของเนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง มีเสี้ยนสีดำอัดกันแน่นด้านในสูงประมาณ 15 เมตรและจะมีใบออกที่ยอด

ใบ: คล้ายพัดปลายใบแหลมสีเขียว ระหว่างใบจะมีก้านใบแข็งและเชื่อมติดกันคล้ายรูปตัววี ลักษณะก้านใบสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม เช่นเดียวกับใบขอบก้านใบคล้ายฟันเลื่อย แต่จะป้านกว่า ความยาวประมาณ 1.5 – 2 เมตร การเรียงตัวของใบอัดกันแน่นเป็นเกลียว เมื่อใบแก่เต็มที่จะร่วงหล่นทั้งก้านและใบ รสชาติ รสหอมสุขุม

ดอก: สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงระหว่างกาบใบ ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นโดยดอกเพศผู้เรียกว่า งวงตาล ส่วนดอกตัวเมียที่เรียกว่า ปลีตาล มีอยู่ประมาณ 10 ช่อแต่ละช่อแตกแขนงออกเป็น 2-4 งวงและแต่ละงวงยาวประมาณ 30-40 ซม. ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 5 เซนติเมตร

ผล: ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ผลติดเป็นกลุ่มแน่น ทรงกลม สีน้ำตาลถึงม่วงเข้ม ปลายผลสีเหลืองผิวมันขนาด 15-20 เซนติเมตร ผลสุกสีดำ ผลอ่อนจะเจริญมาจากช่อดอกตัวเมียที่มักเรียกกันว่า ทะลาย ในแต่ละทะลายจะมีผลอยู่ประมาณ 10-20 ผล เมื่อผลยังอ่อนอยู่จะมีสีเขียว จาวตาลภายในยังอ่อนนุ่มเป็นน้ำ ส่วนผลแก่จะมีเปลือกสีน้ำตาลเข้มหรือดำเป็นมัน จาวตาลภายในมีเนื้อสีขาวขุ่น หรือเหลือง และมีความเหนียวตามอายุผล มีกลิ่นหอม

ขั้นตอนและวิธีการปลูกต้นตาล

สำหรับใครที่อยากจะปลูกต้นตาลและมีพื้นที่เพียงพอตามที่ได้กล่าวไป ต่อมาคือขั้นตอนการปลูกตาลโตนดหรือขยายพันธุ์ต้นตาลโดยสามารถใช้การเพาะเมล็ดได้ได้ 5 วิธีคือ

ต้นตาล
  1. นำผลตาลโตนดสุกมาปอกเปลือกแล้วขยำเนื้อออกให้หมดเหลือไว้เพียงเมล็ดแล้วนำเไปใส่ถุงปุ๋ยแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 5 วัน จากนั้นเอาขึ้นมากองไว้บนพื้นดินคลุมทับด้วยฟางข้าว ซึ่งเมล็ดจะเริ่มงอกภายใน 15 วันก็สามารถนำไปปลูกได้เลย โดยขุดหลุมปลูกให้ลึกประมาณ 25×25 ซม. ส่วนระยะปลูกที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 6×6 เมตร หรือ 8×8 เมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเล็กน้อย นำเมล็ดที่งอกแล้วลงปลูก โดยทำมุม 45 องศากับพื้นดินอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้รากหักเสียหายและเจริญขึ้นมาชนกับเปลือกหุ้มเมล็ด กลบดิน รดน้ำพอชุ่ม แต่ไม่จำเป็นต้องรดทุกวัน หากฝนไม่ตกก็ควรรดให้บ้าง ต้นอ่อนจะงอกออกมาพ้นดินหลังจากปลูกไปได้ประมาณ 30 วัน
  2. นำผลตาลโตนดสุกมาขยำเปลือกและเนื้อออก แล้วนำเมล็ดไปแช่น้ำไว้ประมาณ 3-5 วัน แล้วนำเมล็ดกองไว้บนแคร่ไม้ไผ่ที่มีความสูงประมาณ 70-80 ซม. คลุมทับด้วยฟางข้าว เมล็ดจะงอกออกมาภายใน 15 วัน และนำไปปลูกได้
  3. นำเมล็ดตาลโตนดไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วัน แล้วนำขึ้นมาปลูกในกระบอกไม้ไผ่ ที่ใส่ดินผสมลงไปจนเต็มกระบอก โดยวางให้ทำมุม 45 องศา เมื่อเกิดต้นอ่อนขึ้นก็นำไปปลูกในแปลงทั้งกระบอก
  4. นำผลตาลโตนดไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน แต่ไม่ควรเกิน 60 วันเพราะเมล็ดอาจเน่าได้ จากนั้นให้นำขึ้นมากองบนพื้น คลุมด้วยฟางข้าวไว้ประมาณ 15 วัน เมื่อเมล็ดงอกก็ให้นำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้
  5. นำผลตาลโตนดสุกทั้งผลลงปลูกในหลุมที่ขุดเตรียมไว้เพื่อป้องกันการกัดแทะของสัตว์ วิธีนี้อาจได้ต้นตาลที่งอกใหม่ขึ้นมาหลายต้น ควรเลือกเฉพาะต้นที่สมบูรณ์ลงปลูกในแปลง

ต้นตาลกับการใช้ประโยชน์ในส่วนต่าง ๆ

นอกจากต้นตาลจะมีความเชื่อมากกมายในทางศาสนาแล้ว ประโยชน์ที่เราจะสามารถใช้ได้จากส่วนต่าง ๆ ของต้นตาลนั้นก็มีมากกว่าที่ใครหลายคนคิดไว้แน่นอน ดังนั้น เราจะมาดูว่าปลูกต้นตาลครั้งเดียวเราสามารถเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

ลูกตาล
ขนมตาล

งวงตาล: เป็นส่วนดอกเพศผู้ของต้นตาลที่สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำตาลมะพร้าว ทำเครื่องดื่มที่เรียกว่าน้ำตาลเมาได้ โดยเนื้อจากผลมีสีเหลืองใช้แต่งสีอาหารหรือขนมได้อย่างขนมตาลของโปรดของใครหลายคน ส่วนนี้ถ้านำมาเคี่ยวนาน ๆ ก็จะกลายเป็นน้ำตาลโตนดใช้ในการปรุงอาหารได้

ผลตาล: ถือว่าเป็นส่วนที่มีประโยชน์มาก ๆ ผลตาลที่ยังอ่อนมาก ๆ เนื้อจังยังแข็งอยู่แต่สามารถนำมาปอกเปลือกเอาเนื้อในมากินแกล้มน้ำพริกแทนผักหรือนำมาทำอาหารได้ ในผลตาลที่แก่ขึ้นมาหน่อยจะมีเมล็ดอยู่ข้างใน ใช้รับประทานสด ๆ หรือนำไปลอยแก้วใส่น้ำเชื่อมได้ ส่วนผลตาลที่เริ่มแก่แล้วเนื้อจะเริ่มมีสีเหลืองสดสามารถนำมาคั้นเอาเส้นใยออกจะได้สารสีเหลืองที่เรียกว่า “แคโรทีนอยด์”  นำไปใช้แต่งสีในอาหารและขนมต่าง ๆ  ได้เช่น ขนมตาล เค็ก ไอศครีม ฯลฯ

ใบตาล: ด้วยความที่ใบตาลมีความกว้างและใหญ่มากทำให้คนนิยมนำไปใช้มุงหลังคา กระท่อม ยุ้งฉางหรือใช้ทำพัดขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ตาลปัตร”

ลำต้นตาล: มีคนหลายกลุ่มที่นิยมใช้ลำต้นของต้นตาลไปทำเฟอร์นิเจอร์เพราะเนื้อไม้มีความเหนียวแน่น คงทนและรับน้ำหนักได้ดี อีกทั้งยังสามารถใช้ทำเสาหรือหลักสำหรับจอดเรือได้ด้วย

เปลือกหุ้มเมล็ดตาล: หลังจากที่เราใช้ประโยชน์จากเนื้อของลูกตาลแล้วด้านในบริเวณเปลือกหุ้มเมล็ดก็สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทำถ่านหรือถ่านกัมมันต์คุณภาพดีได้

ต้องเรียกได้ว่าต้นตาลสามารถใช้ประโยชน์ได้เกือบจะทั้งต้นเลย โดยเฉพาะในส่วนของผลที่ให้รสหวานหอมทำให้ใครหลายคนชอบรับประทาน ซึ่งการทานลูกตาลก็มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก ๆ เพราะมีทั้งคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานกับร่างกาย มีไฟเบอร์ที่ทำให้อิ่มนานและช่วยในการขับถ่ายที่ดี มีแคลเซียม ฟอสฟอรัสที่ช่วยในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรงและยังมีเหล็กที่ช่วยเรื่องการบำรุงเลือด ดังนั้น Kaset today หวังว่าข้อมูลวันนี้จะช่วยให้ใครหลายคนได้ความรู้เกี่ยวกับต้นตาลมากขึ้น เพราะปัจจุบันต้นตาลถือเป็นพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่าและเป็นขุมทรัพย์ที่หลายคนมองข้ามไป

แหล่งที่มา
ต้นตาล, ข้อมูลพรรณไม้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในพระราชดำริ

อยากให้มีเนื้อหาเรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ