ต้นทานตะวัน ดอกไม้ปลูกประดับสวน เมล็ดขายสร้างรายได้งาม

ต้นทานตะวัน เป็นไม้ดอกที่จัดอยู่ในกลุ่มพืชปีเดียวเนื่องจากมีอายุสั้น เมื่อปลูกจนออกดอกและโตเต็มที่ก็จะถึงช่วงเวลาที่ทิ้งต้นตาย ทานตะวันที่เราเห็นทั่วไปมีความสูงได้ราว ๆ 3 – 4 เมตร ลำต้นตั้งตรงสูง ไม่มีการแตกแขนงของกิ่งก้าน เพียงก้านใบที่แตกออกตามลำต้นเรียงสลับกันขึ้นไป จนเกิดเป็นดอกที่ปลายยอดโดยส่วนใหญ่ก็จะเห็นว่าออกดอกเพีงดอกเดียวเป็นต้น ๆ ไป

 ทานตะวัน

ต้นทานตะวันเรียกได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยอีกชนิดเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากความสวยงามของมันแล้วก็ยังมีประโยชน์ในแง่อุตสาหกรรมจำพวกน้ำมันหอมระเหยน้ำมันสมุนไพรสรรพคุณทางยาและมีเมล็ดที่รับประทานได้ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายดังนั้นทานตะวันจึงเป็นพืชอีกชนิดที่ทาง Kaset today อยากจะยกมาแนะนำให้ทุกคนได้มาทำความรู้จักกัน เพราะฉะนั้นมาดูกันว่าจะมีเนื้อหาสาระสำคัญอะไรเกี่ยวกับต้นทานตะวันที่เรานำมาฝากทุกคนในวันนี้กันบ้าง

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับทานตะวัน

ชื่อทั่วไป: ทานตะวัน

ชื่อท้องถิ่น: บัวทอง บัวตอง ทานตะวัน (ภาคเหนือ), บัวผัด บัวทอง (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ชอนตะวัน ทานตะวัน (ภาคกลาง), ทานหวัน (ภาคใต้), เซี่ยงยื่อขุย เซี่ยงยื้อขุย (จีนกลาง), เหี่ยงหยิกขุ้ย (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น

ชื่อภาษาอังกฤษ: Common Sunflower/Marigold of Peru/Indian Sun

ชื่อวิทยาศาสตร์:  Helianthus annuus L.

ชื่อวงศ์: Asteraceae

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นทานตะวัน

ต้นทานตะวัน

ทานตะวันเป็นต้นไม้ที่จัดได้ว่ามีความหมายดีมาก ๆ ทั้งทางฝั่งตะวันตกและตามความเชื่อของไทย โดยทั่วไปเชื่อว่าดอกทานตะวันเป็นตัวแทนของแห่งความรักที่มั่นคง ยืนยาว ความจงรักภักดี อีกทั้งลักษณะของดอกที่มักเบ่งบานและชูดอกรับแสงแดด แถมยังมีสีเหลืองอร่ามที่สื่อถึงความเชื่อว่า ผู้ที่ปลูกทานตะวันจะทำให้บ้านนั้นมีแต่ความสุข ความเบิกบานใจ เป็นสิริมงคลมีแต่ความเจริญก้าวหน้า 

เกร็ดความรู้

ความหมายของทานตะวันได้รับการอ้างอิงมาจากตำนานกรีกโบราณที่กล่าวถึงเทพไคลที (Clytie) เทพที่มีความงดงามมาก ๆ เป็นที่หมายปองของเทพทั้งหลาย แต่นางก็ไม่เคยให้ใจกับใครเลยนอกจากอะพอลโล (เทพแห่งดวงอาทิตย์) และคอยเฝ้ามองไม่เคยห่าง ซึ่งนางก็ไม่เคยได้รับความรักจากอะพอลโลเลยสักครั้ง ทำให้เทพอื่น ๆ เกิดความสงสารและเสกให้นางกลายเป็นดอกทานตะวันที่จะชูคอรอรับแสงแดดทุก ๆ วันใหม่ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมั่นคงและรักเดียวใจเดียวได้อย่างดี

ควรปลูกดอกทานตะวันไว้บริเวณใด

ทานตะวันเป็นต้นไม้ที่แม้จะปลูกง่ายแต่ก็ต้องปลูกในที่กลางแจ้งเท่านั้น เพราะต้นนี้จะเจริญเติบโตได้ดี มีดอกบานสวยงามหากได้รับแสงแดดเพียงพอและจะโตได้เร็วหากว่าได้รับการดูแลที่สม่ำเสมอ ไม่ปลูกทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ หรือปล่อยให้น้ำท่วมขังดินบริเวณที่ปลูก นอกจากนี้ต้นทานตะวันตามหลักฮวงจุ้ยแล้วยังเป็นตัวแทนที่สื่อถึงพระอาทิตย์ หากปลูกไว้บริเวณหน้าบ้าน ริมรั้ว หรือตามสถานที่สำคัญ ๆ ก็จะช่วยเสริมเรื่องความเจริญรุ่งเรืองและป้องกันอันตรายจากรอบด้านได้อย่างดี

ต้นทานตะวัน

ความเป็นมาของต้นทานตะวัน

ทานตะวัน เดิมทีเป็นพืชท้องถิ่นและพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่พบได้มากแถบทวีปอเมริกากลางและพบมากในประเทศเม็กซิโกตั้งแต่ 2600 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว โดยชาวอินเดียเป็นชาติแรกที่ค้นพบการทานเมล็ดทานตะวันเป็นของว่าง ต่อมาก็ได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยผ่านชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในช่วงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งก็ได้มีการนำทานตะวันเข้ามาปลูกเป็นทุ่งขนาดใหญ่ พบได้มากโดยเฉพาะในพื้นที่แถบกรุงเทพมหานครตามโรงเรียนหรือสถานที่สำคัญ ๆ ก่อนจะขยายไปปลูกยังจังหวัดอื่น ๆ ในแถบภาคกลางบริเวณจังหวัด ลพบุรี และเพชรบูรณ์ 

ด้วยความสวยงามของดอกทานตะวันจึงทำให้มันกลายเป็นดอกไม้ที่หลายคนชื่นชอบ อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ที่ปลูกง่ายมาก ๆ จึงไม่แปลกที่คนมักจะเลือกต้นนี้มาปลูกตกแต่งบ้านหรือปลูกไว้ประดับสวน และก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทานตะวันยังคงเป็นดอกไม้ที่หลายคนมักจะนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ เสมอจวบจนถึงปัจจุบันเลยก็ว่าได้

ลักษณะโดยทั่วไปของต้นทานตะวัน

เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็อาจจะรู้จักต้นทานตะวันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่เพื่อให้เราเข้าใจองค์ประกอบหรือส่วนต่าง ๆ ของต้นทานตะวันอย่างลึกซึ้งขึ้น เพื่อให้เรานำความรู้ส่วนนี้ไปใช้ในการดูแลได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ดังนั้น เรามาดูกันว่าต้นทานตะวันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง 

ต้นทานตะวัน
ต้นทานตะวัน

ลำต้น

ลำต้นของต้นทานตะวันมีความสูงได้ประมาณ 3 – 3.5 เมตร โดยจะมีลักษณะที่ตั้งตรง เป็นสีเขียวและไม่มีการแตกแขนงของกิ่งก้านออกไป (อาจพบเพียงบางสายพันธุ์) บริเวณผิวของลำต้นจะมีขนแข็ง ๆ สีขาวปกคลุมลงไปถึงราก ส่วนระบบรากของทานตะวันก็จะเป็นแก้วหยั่งลึกลงไปในดินประมาณ 150 – 270 เซนติเมตรและมีรากแขนงที่จะแผ่ขยายไปทางด้านข้างได้ไกลถึง 60-150 เซนติเมตร

ใบ

มีใบเป็นแบบใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน หลังจากที่มีใบเกิดแบบตรงกันข้ามได้ 5 คู่แล้ว ใบที่เกิดหลังจากนั้นจะมีลักษณะวน โดยจำนวนของใบบนต้นอาจมีตั้งแต่ 8-70 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม หรือกลมเป็นรูปไข่ หรือเป็นรูปหัวใจ และสีของใบอาจมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้ม (แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์) ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 9-25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบหยาบและมีขนสีขาวทั้งสองด้าน มีก้านใบยาว

ต้นทานตะวัน
ต้นทานตะวัน

ดอก

เป็นส่วนที่หลายคนเห็นกันบ่อยและมีเอกลักษณ์โดดเด่น ออกดอกที่ปลายยอด ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศมีขนาดใหญ่มาก ๆ เป็นสีเหลืองเข้ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 25-30 เซนติเมตร กลีบดอกจะเกิดเรียงซ้อน ๆ กัน มีจำนวนหลายกลีบ ส่วนด้านในคือช่อดอกมีลักษณะเป็นจาน บริเวณกลางดอกจะมีเกสรสีน้ำตาลอมม่วง

เมล็ด

เมล็ดทานตะวัน จะเป็นเมล็ดเล็ก ๆ และมีจำนวนมากอยู่ตรงฐานดอก เมล็ดจะเรียงตัวจากขนาดเล็กสุดไปหาขนาดใหญ่ออกไปยังวงรอบนอก ส่วนเมล็ดใกล้กับกึ่งกลางจะมีขนาดเล็ก เมล็ดจะมีรูปรีและนูน ด้านหนึ่งมนด้านหนึ่งแหลม เปลือกแข็งและมีขนาดประมาณ 6 – 17 มิลลิเมตร ภายในเมล็ดก็จะมีเมล็ดสีเหลืองอ่อนเพียง 1 เมล็ด 

สาระน่ารู้ 

หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่าจริง ๆ เมล็ดทานตะวันไม่ได้กินได้ทุกชนิด แต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างในด้านของการนำไปใช้โดยทั่วไปเมล็ดด้านในของทานตะวันเป้นส่วนที่พบว่ามีการผลิตน้ำมันเป็นจำนวนมาก โดยผลหรือเมล็ดทานตะวันจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

เมล็ดที่ใช้สกัดทำน้ำมัน ลักษณะจะมีเมล้ดขนาดเล็ก สีดำ เปลือกบาง เมล็ดที่ใช้กิน มีขนาดใหญ่ เปลือกหนาไม่ติดกับเนื้อในเมล็ดเมล็ดที่ใช้สำหรับเลี้ยงนกหรือไก่ เมล็ดด้านในจะแห้งและไม่รสชาติไม่ค่อยดีนัก

Ref. Sunflowers

การขยายพันธุ์ทานตะวัน

การขยายพันธุ์หรือเพาะพันธุ์ต้นทานตะวันที่เป็นไม้อายุสั้นหรือยืนต้นได้เพียง 1 ปี โดยส่วนใหญ่คนจะมักใช้วิธีการเพาะเมล็ด โดยจะเพาะเมล็ดลงในแปลงเพื่อให้ระยะในการเจริญเติบโตไร่เรี่ยกัน ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดก็ง่ายมาก ๆ เพียงแค่ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1.  ไถพรวนดินไว้ 1 – 7 วันก่อนการลงเมล็ดปลูก
  2.  จัดการกับวัชพืชในบริเวณที่จะปลูก เพื่อไม่ให้ต้นทานตะวันถูกแย่งสารอาหารในดิน
  3.  ขุดร่องหรือหลุมให้มีระยะห่าง 30 – 35 ซม. ขุดให้ลึกลงไปราว ๆ 5 – 8 ซม.
  4.  หย่อนเมล็ดลงไปในหลุม โดยให้ใช้แค่ 1 – 2 เมล็ดต่อหลุมเท่านั้น
  5.  รดน้ำวันละ 1 – 2 ครั้ง ห้ามให้น้ำเยอะจนเกินไป รักษาระดับความชุ่มชื้นของหน้าดินให้ดีอย่าให้น้ำท่วมขัง

การแบ่งประเภทหรือสายพันธุ์ของทานตะวัน

สำหรับการแบ่งประเภทและสายยพันธุ์ของทานตะวันมักจะสัมพันธ์กับการนำไปใช้ประโยชน์ โดยเราจะอ้างอิงข้อมูลจากหนังสืออิเล็คทรอนิกส์ของศูนย์วิทยบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร

ประเภทของทานตะวัน

  1. ประเภทให้น้ำมันจะมีเมล็ดสีดำ มีปริมาณน้ำมันสูงกากเป็นอาหารสัตว์และยังสามารถใช้เป็นอาหารนกได้อีกด้วย
  2. ประเภทใช้เป็นอาหารว่าง หรือทำขนมหวาน เมล็ดมีสีลายขาวดำโตกว่า พวกแรกเปลือกหนาไม่ติดกับเนื้อในเมล็ด เพื่อสะดวกในการกะเทาะแล้วใช้เนื้อในรับประทานเป็นอาหารว่าง เช่น เดียวกับเมล็ดของแตงโม
ต้นทานตะวัน

สายพันธุ์ของทานตะวัน

  1. สายพันธุ์ผสมเปิด ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกกันมานานแล้ว ซึ่งในดอกจะมีจำนวนเรณูที่ติดอยู่กับก้านชูเกสรตัวเมียน้อย ทำให้เกิดการติดเมล็ดด้วยการผสมตัวเองต่ำ ต้องอาศัยแมลงช่วยในการผสมเกสร
  1. สายพันธุ์ลูกผสม ปัจจุบันมีพันธุ์ลูกผสมที่สามารถติดเมล็ดได้ดีโดยไม่ต้องอาศัยแมลงช่วยผสมเกสรเพราะในดอกมีละอองเรณูที่ก้านชูเกสรตัวเมียมากกว่าพันธุ์ผสมเปิด 3-4 เท่าจึงทำให้การติดเมล็ดด้วยการผสมตัวเองดีกว่าพันธุ์ผสมเปิด นอกจากนี้ลูกพันธุ์ผสมมีลักษณะของจานดอกค่อนข้างใหญ่กลีบดอกสีเหลืองสดใส ให้ปริมาณน้ำมันสูง
  1. สายพันธุ์สังเคราะห์ทานตะวันสายพันธุ์สังเคราะห์กำลังดำเนินการวิจัย โดยกรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วิธีการปลูกและการดูแล

แสง

สำหรับการปลูกทานตะวันต้องบอกก่อนว่าถึงจะปลูกไม่ยากแต่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องแสงแดดมาก ๆ เพราะเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดจัด ๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อใช้หล่อเลี้ยงลำต้นและดอกให้เจริญเติบโตได้อย่างสวยงามและสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้น ควรจะปลูกในพื้นที่กลางแจ้งที่ไม่มีอะไรบดบังแสงเลย

น้ำ

การให้น้ำต้นทานตะวันโดยทั่วก็สามารถรดน้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละครั้งช่วงเช้า แต่ถ้าหากเราจะปลูกทานตะวันที่ให้ผลผลิตอย่างดอกหรือเมล็ด การให้น้ำจะมีผลโดยตรงต่อผลผลิตของทานตะวัน โดยจากข้อมูลของทางกรมส่งเสริมการเกษตรก็จะแบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 หลังจากปลูกเสร็จ ต้องรีบให้น้ำทันที

ระยะที่ 2 เมื่อทานตะวันมีใบจริง 2 คู่ (10 – 15วันหลังปลูก)

ระยะที่ 3 ช่วงก่อนทานตะวันจะเริ่มมีตาดอก (30 – 35วันหลังงอก)

ระยะที่ 4 เมื่อดอกเริ่มบาน (50 – 55วันหลังปลูก)

ระยะที่ 5 ช่วงกำลังติดเมล็ด (60-70วันหลังงอก)

สิ่งสำคัญคือต้องรักษาหน้าดินให้มีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดแต่ตั้งไม่ให้น้ำท่วมขังโดยเด็ดขาดไม่อย่างนั้นราก ทานตะวันอาจจะเฉาตายได้ 

ดิน

ด้วยระบบรากของทานตะวันมีช่วงความยาวตั้งแต่ 1 – 40 เซนติเมตร รากแทงลงในแนวดิ่งลึกลงไป เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการไถพรวนเพื่อเตรียมดิน ซึ่งจะคล้าย ๆ กับการปลูกข้าวโพดเลย ต้องคำนึงถึงความละเอียดของดินให้ร่วนซุยพอสมควรเหมาะสมกับการงอกของเมล็ดและต้องไม่มีวัชพืชมาปะปนเลย

ปุ๋ย 

สำหรับการใส่ปุ๋ยที่แนะนำว่าดีกับต้นทานตะวัน คือ การใช้ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ยิ่งใครที่ต้องการปลูกเป็นจำนวนมากเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดหรือดอก การใส่ปุ๋ยเหล่านี้เหมือนเป็นการเพิ่มผลผลิตโดยตรง เพราะปุ๋ยไนโตรเจนจะช่วยให้การเจริญเติบโต การสร้างใบ ลำต้นและจานดอกให้มีขนาดใหญ่สมบูรณ์ ทำให้เปอร์เซ็นต์โปรตีนในเมล็ดเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องฟาฟอสฟอรัสมาเติมในดินเพื่อมาช่วยสร้างระบบรากให้แข็งแรงและการสังเคราะห์น้ำมันเป็นไปอย่างปกติ นอกจากนี้คนที่อยากปลูกแบบเน้นความสวยงามสามารถใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ได้เลย

เกร็ดความรู้ เรื่อง การเก็บเกี่ยว

ทานตะวันจะมีช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกันไปทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่เราเลือกปลูก โดยส่วนใหญ่การเก็บเมล็ดทานตะวันจะใช้สายพันธุ์ลูกผสมซึ่งจะมีอายุการเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 90 – 100 วันเราสามารถสังเกตได้บริเวณด้านหลังจานดอกที่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาลอย่างเห็นได้ชัดเกิดจากการสร้างน้ำมันบริเวณดอกที่น้อยลง เมื่อจานดอกเปลี่ยนสีแล้วก็สามารถเก็บเกี่ยวได้

หลังจากเก็บเกี่ยวมาแล้วให้นำไปตากแดดทิ้งไว้กลางแจ้ง 1 – 2 วัน ส่วนใหญ่จะใช้การห้อยแขวนจากนั้นก็นำมาเคาะ ๆ ให้เมล็ดร่วงลงมา ต้องบอกก่อนเลยว่าถ้าเราปลูกในพื้นที่ที่ดี ดูแลดี ทานตะวันสามารถให้เมล็ดได้มากถึง 200 – 300 กิโลกรัมต่อไร่เลยทีเดียว 

ประโยชน์ของการปลูกทานตะวัน

ต้นทานตะวัน

1) นำมาแปรรูป

ด้วยความที่ต้นทานตะวันมีสรรพคุณในเรื่องการต้านอนุมูลอิสระ ในอุตสาหกรรมจำพวก สบู่ เทียนหรือน้ำมันหอมระเหยจึงมักจะนำเมล็ดทานตะวันมาสกัดเพื่อทำสินค้าเหล่านี้ และยังรวมไปถึงในอุตสาหกรรมจำพวกอาหารสัตว์ที่เมล็ดทานกำลังเป็นที่ต้องการมาก ๆ ในปัจจุบัน

ต้นทานตะวัน

2) ยอดอ่อนทานตะวัน

ต้องบอกเลยว่าน้อยคนที่จะรู้ว่าการทานต้นอ่อน ๆ ของทานตะวันจะได้รับคุณประโยชน์สูงมาก ช่วยทั้งเรื่องการบำรุงสายตา บำรุงเซลล์สมอง ป้องกันการเกิดโรคด้วยธาตุเหล็กและยังมีประโยชน์อีกมากมาย หลายคนจึงนิยมนำยอดอ่อนทานตะวันไปประกอบอาหารหรือทานเป็นผักเครื่องเคียง เพราะรสชาติดีมาก ๆ 

ต้นทานตะวัน

3) รับประทานเมล็ด

เมล็ดทานตะวันเป็นของว่างที่เชื่อว่าหลายคนชื่นชอบ สามารถกินได้เพลิน ๆ ระหว่างวัน ในเมล็ดทานตะวันจะมีธาตุเหล็กสูงเทียบเท่ากับตับและไข่แดง อีกทั้งยังมีวิตามิน E และกรดไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งดีต่อสุขภาพ ปัจจุบันจึงมีอุตสาหกรรมหลายแห่งที่นำเมล็ดทานตะวันไปสกัดเป็นน้ำมันที่ใช้ในการประกอบอาหารเพราะค่อนข้างมีประโยชน์มากกว่าน้ำมันพืชทั่วไป

ต้นทานตะวัน
ต้นทานตะวัน

4) ปลูกประดับตกแต่งบ้าน

นอกเหนือจากการปลูกไว้รับประทานเมล็ด ก็ยังนิยมปลูกเพื่อประดับตกแต่งหน้าบ้านหรือรัวบ้านให้สวยงามเพราะทานตะวันมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อม สามารถปลูกในที่ที่มีพื้นที่โล่ง กลางแจ้ง ปลูกค่อนข้างง่าย สามารถผลูกลงดินหรือปลูกในกระถางตกแต่งหน้าบ้านก็ได้ตามต้องการ

5) ปลูกเพื่อจำหน่ายเมล็ดหรือต้นอ่อน

อย่างที่บอกไปว่าเมล็ดทานตะวันเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปอย่างแพร่หลาย ดังนั้น การมองหาวิธีสร้างรายได้จากการปลูกทานตะวันเพื่อส่งออกเมล็ดหรือต้นอ่อนก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไร อีกทั้งยังมีต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไปใครก็สามารถทำได้แค่มีพื้นที่โล่ง ๆ กลางแจ้งว ปัจจุบันเฉพาะเมล็ดทานตะวันที่ใช้สำหรับเพาะต้นอ่อนราคาขายจะอยู่ที่ประมาณ 90 – 150 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะขึ้นอยู่กับคุณภาพและพันธุ์  ส่วนราคาต้นอ่อนทานตะวันก็สามารถขายได้ 200-250 บาทต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว 

เรียกว่าได้ว่าต้นทานตะวันเป็นไม้อีกชนิดที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ปลูกได้หลากหลายทาง เป็นไม้ดอกที่อยู่มานานแต่ก็ยังคงเป็นที่ต้องการมาจนถึงปัจจุบัน สร้างทั้งความสวยงามพร้อม ๆ ไปกับการนำมาสร้างรายได้ ดังนั้น ใครที่กำลังคิดว่าจะปลูกต้นไม้อะไรที่ให้ทั้งความสวยงามและให้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้ด้วย ทานตะวันจะเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่คุณตามหาอย่างแน่นอน

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

เกษตรกรปลูกทานตะวันเป็นอาชีพเสริม
Growing Sunflowers: When to Plant and How to Grow Sunflowers
Sunflowers

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้