ต้นยางนา
ยางนาเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง หลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้นยางนาเป็นพันธุ์ไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคลแก่ชาวจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนั้น เนื้อไม้ยางยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้อีกด้วย เนื่องจากเนื้อไม้มีความแข็งแรงในระดับปานกลาง ในขณะที่น้ำมันยางสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สีทาบ้าน และน้ำหมึก โดยในวันนี้เราจะมาพูดถึงข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับต้นยางนา ถ้าอยากรู้แล้วตามไปชมพร้อมๆ กันเลย
ข้อมูลทั่วไปของต้นยางนา
- มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ “Dipterocarpus alatus Roxb.ex. G.Don”
- ชื่อสามัญคือ “Yang, Gurjan, Garjan”
- จัดอยู่ในวงศ์ของ “Dipterocarpaceae”
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นยางนา
ต้น
ยางนาเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบที่มีความสูงถึง 50 เมตร ลำต้นมีลักษณะตรง เปลือกต้นเกลี้ยง สีเทาอ่อน ส่วนเนื้อไม้จะมีสีแดง กิ่งและยอดอ่อนจะมีขนปกคลุม ยางนาสามารถพบเจอได้ทั่วไป ตามหุบเขา ซึ่งอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยและมักเกิดขึ้นในป่าดงดิบ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น หรือเปล่าเบญจพรรณ รวมทั้งพื้นที่ต่ำใกล้แม่น้ำลำธารทั่วไป
ใบ
ลักษณะของใบต้นยางนา จะเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกัน ใบมีลักษณะคล้ายรูปไข่หรือทรงรี โคนใบกว้าง ปลายใบสอบ ส่วนเนื้อใบจะหนาและเหนียว บริเวณผิวใบมีขนปกคลุม ใบอ่อนจะมีสีเทาอ่อน ใบแก่จะมีสีเขียวเข้ม ก้านใบมีความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร และมีขนาดใหญ่
ดอก
ลักษณะการออกดอกของต้นยางนา คือ จะออกมารวมกันเป็นช่อสั้นแบบกระจะ ซึ่งจะออกดอกตามง่ามใบหรือบริเวณปลายกิ่ง ดอกมีขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร สีของดอก คือ สีชมพูอ่อน แต่ละช่อจะมีประมาณ 4-5 ดอก กลีบดอกมี 5 แฉก เกสรตัวผู้มีมากกว่า 25 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่มีขน ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะมีร่องอ้วน ต้นยางนาจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
ผล
ลักษณะผลของต้นยางนาจะเป็นผลแห้ง โดยผลเป็นรูปกระสวย มีหลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เมื่อผลสุกจะเป็นสีน้ำตาล โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-2.8 เซนติเมตร ภายในผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีขนสั้นหุ้ม มีติ่งแหลม ต้นยางนาจะติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม
น้ำยาง
ต้นยางนาจะมีน้ำมันยางนาเป็นของเหลวข้น ที่มีกลิ่นเฉพาะ ซึ่งเป็นน้ำยางที่ได้จากการเจาะโพรง แล้วเอาไฟลน หลังจากนั้นน้ำยาจะไหลออกบริเวณโพรงได้เจาะไว้ ซึ่งน้ำยางนี้มีชื่อเรียกว่า “Gurjun Balsam” หรือ “Gurjun oil” หากนำน้ำยางไปกลั่นด้วยไอน้ำ จะได้เป็นน้ำมันหอมระเหยถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว
ประโยชน์ของต้นยางนา
- ต้นยางนามีเนื้อไม้ที่มีความแข็งแรงในระดับปานกลาง สามารถนำไปแปรรูป โดยใช้ประโยชน์ในด้านการก่อสร้างบ้านเรือน หรือนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ สามารถใช้งานภายนอกได้ทนทาน ซึ่งมีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ย 10 ปีและด้วยความที่ต้นยางนามีขนาดใหญ่ ตรง สูง ไม่ค่อยมีกิ่งก้าน จึงสามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อมาได้ค่อนข้างมาก หากนำมาใส่กบ ให้ดูสวยงาม อาจสร้างมูลค่าจากการขายได้สูงเลยทีเดียว
- น้ำมันยางสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อย่างเช่น ใช้อุดรอยรั่วของน้ำ หรือใช้ทาไม้ผสมขี้เลื่อยเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟ ที่สำคัญน้ำยางจากต้นยางนายังสามารถใช้ทำน้ำมันชักเงา หรือใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเช่น สีทาบ้าน และหมึกพิมพ์ เป็นต้น
- บริเวณโคนต้นของยางนาจะมีเห็ดราเกิดขึ้นมากมาย เช่น เห็ดน้ำหมาก เห็ดเผาะ หรือเห็ดยาง เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงฝนแรกของทุกปี จะมีเห็ดเกิดขึ้นมาหลากหลายชนิดและสามารถนำไปรับประทานหรือนำไปประกอบอาหารได้
- ต้นยางนาสามารถปลูกไว้เพื่อความสวยงาม และให้ร่มเงา ที่สำคัญยังปลูกเพื่อประโยชน์ทางด้านระบบนิเวศทำให้เกิดความชุ่มชื้นและควบคุมอุณหภูมิในอากาศ หรือป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
- ยางนา มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรไทยสามารถรักษาโรคได้อย่างไรอาการ โดยเปลือกของยางนาสามารถใช้บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต ฟอกเลือด หรือแก้อักเสบได้ นอกจากนั้นยังสามารถนำมาสกัดเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้อีกด้วย ในส่วนเมล็ดของยางนาและใบที่มีรสฝาดร้อน หากนำมาต้มใส่เกลือ ใช้อมเป็นยาแก้ปวดฟันได้ และหากนำน้ำมันยางนาหนึ่งส่วนมาผสมกับแอลกอฮอล์ 2 ส่วน รับประทานเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ และขับเสมหะได้ดี
วิธีการปลูกและการดูแลรักษาต้นยางนา
สำหรับวิธีการปลูก อันดับแรกควรเลือกพื้นที่หรือเตรียมดินปลูกที่เหมาะสม ก่อนนำเมล็ดไปเพาะ ควรตัดปลีกออกก่อน และดินที่ใช้ในการเพาะเมล็ด ในช่วงแรกนิยมใช้ทรายร่วนผสมด้วยยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราทำลายกล้าไม้ที่งอกหลังจากที่ตัดปลีกเมล็ดออกแล้วให้วางเรียงเมล็ด โดยกดเมล็ดให้จมในทราย ปลายเมล็ดอยู่ในระดับผิวทรายแล้วโรยทับด้วยขุยมะพร้าววางไว้อีก 1 ชั้น ควรหมั่นรดน้ำทุกเช้าเย็นให้ เกิดความชุ่มชื่นที่เพียงพอจะทำให้เมล็ดงอกเร็วยิ่งขึ้น หลังจากระยะเวลาผ่านไป 4-5 วัน เมื่อเมล็ดงอกแล้วสามารถย้ายลงไปปลูกในถุงเพาะชำต่อไป
ระยะการปลูกที่เหมาะสมแนะนำให้ปลูกในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน โดยใช้ระยะห่าง 4×4 เมตร จะทำให้อัตราการรอดตายสูงและต้นยางนาเจริญเติบโตได้ดี ส่วนการขุดหลุมแนะนำให้ขุดหลุมขนาด 30 * 30 * 30 เซนติเมตร ที่ก้นหลุมควรใช้ดินร่วนซุยหรือใช้ปุ๋ยอินทรีย์รองก้น เมื่อปลูกเสร็จแล้วควรขุดหลุมในระดับผิวดินเพื่อป้องกันน้ำขัง
สำหรับโรคและแมลง โรคพืชที่พบในวงศ์ยาง ได้แก่ โรคเชื้อรา โดยเฉพาะระยะที่เป็นเมล็ด อาจทำให้เกิดการเสื่อมสภาพได้ส่วนระยะที่เป็นกล้าแล้ว โรคที่ต้องระวังได้แก่ โรคเน่าคอดิน รวมถึงแมลงศัตรูพืชต่างๆ อาจเจาะกินเมล็ดและรากทำให้ต้นเกิดการเสียหายได้ ศัตรูพืชอีกหนึ่งชนิดที่ควรระวัง คือ หนอนบุ้ง เนื่องจากมันชอบกัดกินใบให้เกิดความเสียหาย รวมถึงด้วงงวงที่มักจะเจาะกินเมล็ดด้วย
ยางนาเป็นต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตช้า หากมีอายุ 14 ปี จะมีความโตและมีเส้นรอบวงเฉลี่ย 8.84 เซนติเมตร มีปริมาตร 3.83 ลบ.ม./ไร่ (7 ตัน / ไร่) เมื่อพูดถึงราคาซื้อขายของต้นยางนานั้น เรียกได้ว่าไม้ยางนาในปัจจุบันมีราคาที่สูงไม่แพ้ไม้สักทอง หรืออาจมีราคาดีกว่าต้นสักทองเสียด้วยซ้ำ ไม้ยางนาเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากในปัจจุบันและอาจจะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก เนื่องจากว่าไม้ยางนาในประเทศไทยของเราไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ ในการซื้อขายไม้ยางนา หากต้นไม้มีอายุ 15-20 ปี อาจมีราคาสูงถึงต้นละ 30,000 บาทเลยทีเดียว และหากไม้ยางนามาแปรรูป ใสกบ หรือชักเงาให้ดูสวยงาม อาจทำให้ไม้ยางนามีราคาสูงถึงหลักแสนเลยก็ว่าได้
การขยายพันธุ์ต้นยางนา
สำหรับการขยายพันธุ์ต้นยางนานั้น มักนิยมการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ข้อควรแนะนำคือ ในช่วงที่ผลเปลี่ยนจากสีเขียวมาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ให้เก็บเมล็ดจากต้น โดยไม่ควรปล่อยให้ผลร่วงหล่นลงสู่พื้นเพราะอาจทำให้เกิดการสูญเสียความชุ่มชื้นได้ และมีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้าหรือมีอัตราการตายสูง หากพบความชื้นในผลน้อยกว่า 30% ไม่ควรนำมาใช้ในการเพาะเมล็ด การเพาะเมล็ดอาจใช้เวลาในการงอกประมาณ 5-6 เดือน หลังจากนั้นจึงสามารถย้ายกล้าพันธุ์ลงแปลงปลูกได้
ทั้งหมดนี้ คือ สาระน่ารู้ที่สำคัญเกี่ยวกับต้นยางนา ทั้งลักษณะโดยทั่วไป การใช้ประโยชน์ การปลูก การดูแลรักษาและการขยายพันธุ์ ต้นยางนาเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีราคาสูง สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ปลูกอย่างมากมายมหาศาลเลยทีเดียว
ที่มา
https://medthai.com