ต้นลำพู ตำนานรักโรแมนติกที่อยู่คู่เคียงกับความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ

ชื่อภาษาอังกฤษ

Cork Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์

Sonneratia caseolaris (L.) Engl.

ความหมาย

ต้นลำพูเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ที่มีหิงห้อยชอบอาศัยอยู่

ความเชื่อ

ในตำนานหนึ่งกล่าวไว้ว่าต้นลำพูคือชายหนุ่ม ที่มีคนรักคือสาวที่ชื่อว่าหิ่งห้อย

ต้นลำพู เป็นต้นไม้ที่หลายคนคงเคยคุ้นชื่อ แต่ให้นึกถึงหน้าตาคงบรรยายได้ยาก เพราะนับวันจะหาชมได้ยากขึ้นทุกที ต้นลำพู เป็นไม้ยืนต้นมักจะพบเห็น ขึ้นอยู่ชายเลนที่น้ำท่วมถึง รวมถึงแถบริมฝั่งคลองหรือแม่น้ำ มีรากอากาศงอกขึ้นเหนือพื้นดิน ลำต้นสูง 10-25 เมตร ทรงพุ่ม กิ่งก้านห้อยย้อยลง เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ไม่เพียงให้ร่มเงาสร้างความร่มรื่น แต่ยังเป็นที่อยู่ที่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ และที่กลายเป็นเรื่องราวตำนานเล่าขานมากมายก็เช่น หิ่งห้อยกับต้นลำพู สมัยนี้หาชมได้ยากคงเนื่อง มาจากสิ่งแวดล้อมที่เหมาะในการอาศัยและขยาย พันธุ์ของหิ่งห้อยเปลี่ยนไป รวมถึงชื่อของบางลำพู ที่เป็นย่านชุมชนเก่าแก่โบราณใจกลางพระนครนั่นเอง

ต้นลำพู หิ่งห้อย

ความเชื่อและตำนานเล่าขานเกี่ยวกับต้นลำพู

ต้นลำพูได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในนิทานเรื่องเล่าตำนานเล่าขานถึงหิ่งห้อยกับต้นลำพูมากมายทั่วโลก เนื่องด้วยความมหัศจรรย์ของแมลงตัวน้อยที่เปล่งแสงยามค่ำคืนสร้างความประทับใจและแรงบันดาลใจให้กับคนที่ได้พบเห็นมากมายจนเกิดเป็นจินตนาการและเรื่องเล่าต่างๆ  อย่างในตำนานหนึ่งกล่าวไว้ว่า   ต้นลำพูคือชายหนุ่ม ที่มีคนรักคือสาวที่ชื่อว่าหิ่งห้อย ส่วนต้นโกงกางนั้น เป็นผู้หญิงอีกคนที่มาหลงรักต้นลำพู โดยที่ต้นลำพูไม่ได้สนใจต้นโกงกางเลย ครั้นพอต้นลำพูจะตามหิ่งห้อยไป โกงกางก็แผ่รากยึดลำพูไว้ด้วยความอาลัยรัก นั่นคือที่มาของต้นโกงกางที่มีรากมากมาย และหิ่งห้อยจึงชอบอยู่คู่กับต้นลำพู

ซึ่งแท้จริงแล้วตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์นั้น หิ่งห้อยจะเปล่งแสงเพื่อหาคู่กันต่างหาก ส่วนเรื่องลึกลับที่เดาไปต่างต่างนานาว่าทำไมหิ่งห้อยต้องอยู่กับต้นลำพูด้วย เพราะว่าใบของต้นลำพู เป็นแหล่งเก็บน้ำค้างอย่างดี อีกทั้งต้นลำพูยังเป็นแหล่งของเพลี้ยมากมาย หิ่งห้อยจึงมักมาเกาะกิ่งใบของต้นลำพูเพื่อหาอาหารและกินไข่เพลี้ยนั่นเอง

ส่วนประกอบของต้นลำพูที่สำคัญ

ลักษณะของลำต้น

เป็นไม้ยืนต้น ลำต้นค่อนข้างกลม มีรากอากาศโผล่จากผิวน้ำ

ใบ

เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ขนานอย่างน้อย ๕ คู่ กว้าง ๐.๔ -๐.๖ เซนติเมตร ยาว ๐.๕-๑๑ เซนติเมตร รูปมนไข่ ปลายแหลม โคนใบสอบขอบเรียบ เนื้อหนาสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีอ่อน

ดอก

ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีแดง ผลสดทรงกลมแป้น เมื่อสุกมีเนื้อนุ่ม                      

สายพันธุ์ของต้นลำพูในเมืองไทย         

ต้นลำพูที่พบได้ทั่วไปในเมืองไทยจะมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกันนั่นคือ

ต้นลำพูทะเล

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 6-15 เมตร ไม่ผลัดใบ แตกกิ่งในระดับต่ำ เปลือกสีน้ำตาลอมชมพู หรือสีเทา แตกเป็นสะเก็ดเล็กน้อย รากหายใจตั้งตรง รูปกรวยคว่ำ ยาว 20-40 ซม.เหนือผิวดิน โคนรากหนา เรียวแหลมไปทางปลาย มักเป็นสะเก็ดสีน้ำตาลอมชมพู มักพบตามชายน้ำ พื้นที่ราบลุ่มแถบริมทะเล รวมถึงในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ต้นลำพูป่า

จัดเป็นไม้ยืนต้นโตเร็วผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีลักษณะเปล่าตรง มีความสูงได้ประมาณ 15-35 เมตร โตวัดรอบลำต้นได้ประมาณ 100-200 เซนติเมตร มักพบขึ้นตามป่าริมน้ำ ริมลำธาร หรือลำห้วยทั่วไปทางภาคเหนือและภาคใต้ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขาต่ำ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 300-1,200 เมตร

ต้นลำพูปลูกอย่างไร

วิธีการปลูกและสถานที่เหมาะสมในการปลูกต้นลำพู

ต้นลำพูเป็นไม้ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่ชอบขึ้นอยู่ใกล้ๆ น้ำ เพาะต้องอาศัยน้ำในการดำรงชีพและเจริญเติบโตตลอดเวลา จึงควรเลือกบริเวณที่จะปลูกให้อยู่ใกล้แหล่งน้ำ และหากเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีน้ำไหลผ่านไม่ใช่น้ำนิ่งก็จะยิ่งดี การปลูกสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีการที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ก็จะเป็นการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง

วิธีการดูแลต้นลำพูให้มีอายุยืนยาวนาน

แสง

ต้นลำพูเป็นไม้ที่อยู่ได้ทุกสภาวะแสง แต่ควรปลูกในที่โล่งแจ้ง เพื่อให้ได้รับแสงโดยธรรมชาติตลอดเวลา

น้ำ

ต้นลำพูเป็นไม้ที่ชอบน้ำจะขาดน้ำไม่ได้ จึงมักปลูกไว้ตามชายน้ำ ริมตลิ่งหรือแม้แต่บริเวณป่าชายเลน

ดิน

ต้นลำพูเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชุ่มชื้นมาก เช่นดินโคลนหรือเลน

ปุ๋ย

ต้นลำพูเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วตามธรรมชาติ จึงไม่นิยมใส่ปุ๋ยบำรุง

ประโยชน์หรือสรรพคุณอื่นๆที่ได้จากการปลูกต้นลำพู

ประโยชน์ของต้นลำพู นอกจากจะเป็นต้นไม้ที่สร้างความร่มรื่น เพิ่มออกซิเจนในอากาศและน้ำได้เป็นอย่างดีแล้ว ประโยชน์ในทางการรักษาสภาพดินและระบบนิเวศวิทยามีมากมาย เพราะความที่รากของต้นลำพูมีจำนวนมาก จึงช่วยป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่งได้ดี และดูดซึม น้ำเสียเป็นน้ำดีได้อีกด้วย สำหรับผลสุกจะมีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นเนย สามารถรับประทานได้ จะใช้จิ้มพริกเกลือ หรือน้ำปลาหวานก็ได้ อร่อยมาก ผลห่ามเปรี้ยวจัดทำแกงส้ม หรือกวนทำซอส ดอกลวกพอช้ำรับประทานกับน้ำพริก หรือยำดอก “ลำพู” รสชาติเด็ดอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ส่วนต่างๆ ของลำต้นยังนำมาใช้แปรรูปเป็นไม้ลำพู ไว้ใช้ทำจุกขวด ภาชนะปิดฝาโอ่ง ไห ที่มีคุณค่ามากมาก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นวัสดุอื่นแทน และจึงเป็นจุดพลิกผันทำให้ต้นลำพูหมดค่าขาดการดูแลขยายพันธุ์

ต้นลำพูประโยชน์

ราคาจำหน่ายต่อต้น                                

เนื่องจากในปัจจุบันความนิยมในการปลูกต้นลำพูได้ลดน้อยลงมาก จึงทำให้ต้นลำพูกลายเป็นพันธุ์ไม้ค่อนข้างหายาก ซึ่งราคาจำหน่ายกิ่งตอนจะอยู่ที่ราว ต้นละ 300-500 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและความสมบูรณ์ของต้น

แหล่งอ้างอิง

: http://www.rspg.or.th/articles/climber/lampoo/lampoo1.htm

อยากให้มีเนื้อหาเรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ