ต้นโพธิ์ ต้นไม้แห่งปัญญา ศูนย์รวมศรัทธาชาวพุทธมากว่า 2600 ปี

ชื่อภาษาอังกฤษ

Sacred tree, Sacred fig, Sacred fig Tree, The peepal tree, Peepul tree, Peepul of India, Pipal tree, Pipal of India, Bo tree, Bodhi Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์

Ficus religiosa L.

ความหมาย

คำว่า “โพธิ” หมายถึง ต้นไม้แห่งการตรัสรู้

ความเชื่อ

ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่เหมาะสมที่จะปลูกในบริเวณที่พักอาศัยเพราะหากเจ้าของดูแลได้ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมแล้วก็อาจจะทำให้เกิดเหตุไม่ดีตามมา

ต้นโพธิ์ พันธุ์ไม้ที่มีความสำคัญต่อเหล่าชาวพุทธมาช้านาน กว่า 2600 ปี เป็นต้นไม้ที่พระศาสดาของชาวพุทธได้ตรัสรู้ และครั้งหนึ่งต้นโพธิ์ยังเคยถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้นโพธิ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มาอายุขัย ยืนยาวนานได้นับพันปี จึงเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการเคารพบูชามาโดยตลอด และในบางพื้นที่ถึงกับมีความเชื่อว่าหากใครตัดโค่นต้นโพธิ์ลงจะทำให้บุคคลผู้นั้นได้รับเหตุเภทภัยอันตรายต่างๆ ตามมา

ต้นโพธิ์ คือต้นไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE) ต้นโพธิ์ ยังมีชื่อเรียกท้องถิ่นอื่น ๆ อีกมากมายเช่น ภาคเหนือ เรียกว่า สลี บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ออกเสียงเรียกว่า สี สะหลี ส่วนในแถบภาคกลางจะเรียก โพ โพธิ ต้นพระศรีมหาโพ เป็นต้น

ต้นโพธิ์ ภาษาอังกฤษ

ความเชื่อและความศรัทธาเกี่ยวกับต้นโพธิ์

คำว่า “โพธิ” โดยความหมาย แต่เดิมแล้วมิได้เป็นชื่อต้นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เป็นชื่อที่ใช้เรียกขานต้นไม้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงประทับใต้ต้นไม้ต้นนั้น ๆ และได้ตรัสรู้ ต้นโพธิ์ จึงมีความหมายว่า ต้นไม้แห่งการตรัสรู้ (โพธิ แปลว่า เป็นที่รู้หรือเป็นที่ตรัสรู้) และยังเป็นต้นไม้ที่ชาวพุทธ พราหมณ์ และฮินดูให้ความเคารพนับถือกันอย่างสูงอีกด้วย ได้รับการกราบไหว้บูชาเคารพเรื่อยมา และมีความเชื่อสืบทอดกันมาว่า ด้วยความที่ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่เหมาะสมที่จะปลูกในบริเวณที่พักอาศัย เพราะหากเจ้าของดูแลได้ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมแล้วก็อาจจะทำให้เกิดเหตุไม่ดีตามมา

ส่วนประกอบของต้นโพธิ์ ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

ลักษณะของลำต้น

ต้นโพธิ์จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ที่ผลัดใบในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่มตรงส่วนยอดของลำต้น ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ตามกิ่งมีรากอากาศห้อยลงมาบ้าง ลำต้นมีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 เมตร เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนเทา โคนต้นมีลักษณะเป็นพูพอนขนาดใหญ่ โดยจัดเป็นพรรณไม้ที่มีรูปทรงของลำต้นส่วนงามชนิดหนึ่ง

ใบโพธิ์

มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปใจ ปลายใบแหลมและมีติ่งหรือหางยาว (ปลายติ่งบางใบมีความยาวมากกว่าครึ่งหนึ่งของใบ) โคนใบมนเว้าเข้าหาก้านใบเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-24 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างเหนียว ใบมีลักษณะห้อยลง แผ่นใบเป็นสีเขียวนวล

ดอกโพธิ์

ออกดอกเป็นช่อกลม ๆ รวมกันเป็นกระจุกภายในฐานรองดอกรูปคล้ายผล โดยจะออกที่ตอนปลายของกิ่ง ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองนวล และจะเจริญไปเป็นผล

ผลโพธิ์

ผลเป็นผลรวม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูม่วง สีแดงคล้ำ หรือม่วงดำและร่วงหล่นลงมา

ต้นโพธิ์ ความเชื่อ

สายพันธุ์ของต้นโพธิ์ที่พบได้มากในประเทศที่นับถือพุทธศาสนา

ต้นโพธิ์ในสกุล Ficus หรือโพธิ์ที่แพร่หลายในประเทศที่นับถือพุทธศาสนา จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ โพธิใบ (Ficus religiosa Linn.)  และอีกประเภทคือโพธิขี้นกหรือโพธิประสาท (Ficus rumphii Bl.) ข้อแตกต่างของโพธิทั้ง 2 ชนิดนี้คือ ใบและผลของใบโพธิขี้นกจะมีขนาดเล็กกว่าใบโพธิใบมาก ส่วนผลสุกของโพธิใบจะเป็นสีแดงคล้ำหรือสีม่วงดำ ในขณะที่ผลสุกของโพธิขี้นกจะเป็นสีดำ นอกจากนี้แล้วยังมีสายพันธุ์โพธิ์ใหม่ๆ ที่นำเข้ามาในระยะหลังๆ เช่น โพธิ์เงิน  โพธิ์ทอง และ โพธิ์บอนไซ เป็นต้น

วิธีการปลูกต้นโพธิ์ที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแก่ตัวอาคารและสถานที่

ต้นโพธิ์ส่วนใหญ่จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด หรือการใช้กิ่งชำ หรือแม้แต่การใช้กระโดงจากราก  จัดเป็นต้นไม้ที่ขึ้นง่าย มักพบเห็นขึ้นตามที่ต่างๆ ได้โดยทั่วไป เนื่องจากมีสัตว์นำพาเมล็ดไป เช่น นกมากินเมล็ดและไปถ่ายทิ้งไว้ ก็จะเกิดเป็นต้นใหม่ขึ้นมา  และมักพบขึ้นมากตามซากอาคารเก่าตามธรรมชาติ และนิยมปลูกกันทั่วไปในวัดทุกภาคของประเทศไทย

โดยหลักการปลูกที่ถูกต้อง ควรจะปลูกในพื้นที่โล่งแจ้ง และควรเว้นระยะให้ห่างออกจากสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องกีดขวางต่างๆ อย่างน้อย 10-15 เมตร ขึ้นไป เพราะ ต้นโพธิ์เมื่อเติบโตเต็มที่แล้ว จะมีขนาดใหญ่มากซึ่งอาจทำอันตรายแก่อาคารสถานที่ในละแวกใกล้เคียงได้

วิธีการดูแลต้นโพธิ์ให้มีอายุยืนนับ 1000 ปี               

สิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวแปรให้ต้นโพธิ์มีอายขัย ที่ยืนยาวนานได้นับ 1000 ปี คือการป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราที่อาศัยความชุ่มชื้นจากน้ำฝนที่ขังอยู่ตามง่ามไม้ แผ่ขยายเข้าทำลายเนื้อไม้จนเป็นโพรง ซึ่งโดยปกติแล้ว ต้นโพธิ์ที่มีขนาดใหญ่และมีอายุมาก จะพบเห็นว่ามีโพรงจากความชื้นและเชื้อราเกิดขึ้น และหากมีอาการอย่างรุนแรงก็อาจทำให้ต้นโพธิ์ล้มตาย หักโค่นไม่แข็งแรง

แสง

ต้องการปริมาณแสงแดดมาก จัดตลอดทั้งวันเพราะการปรุงอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ทั่วลำต้นที่มีขนาดใหญ่

น้ำ

เพื่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ต้นโพธิ์ต้องการน้ำปานกลาง แต่เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่อายุยืน ต้นโพธิ์จึงสามารถทนอยู่ภายในสภาพน้ำและอากาศที่สุดโต่งได้เช่นกัน

ดิน

ต้นโพธิ์สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด เพราะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่มีระบบรากหยั่งลึกลงไปใต้ดิน

ปุ๋ย

ต้นโพธิ์เป็นไม่ยืนต้นที่อายุยืนและไม่ต้องการการดูแลอะไรเป็นพิเศษ หรือควรดูแลดังไม้ยืนต้นทั่วไป คือหมั่นใส่ปุ๋ยคอก ประมาณปีละ 2-3 หน

ต้นโพธิ์ พระพุทธเจ้า

ประโยชน์หรือสรรพคุณอื่นๆ ของต้นโพธิ์ ที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย

ต้นโพธิ์ นอกจากจะมีความสำคัญในฐานะที่เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีผู้กราบไหว้บูชา และศรัทธาแล้ว เพราะเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในพุทธศาสนามากมาย ต้นโพธิ์ยังเป็นพันธุ์ไม้ที่มีสรรพคุณทางยามากมาย เพราะเกือบทุกส่วนของต้นโพธิ์มีสรรพคุณทางยาทั้งสิ้น โดยใบมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคหัวใจ เป็นยาช่วยขับพิษ ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ เมล็ดใช้เป็นยาลดไข้ เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ น้ำจากเปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน รักษารากฟันเป็นหนอง รากใช้เป็นยารักษาโรคเหงือก เปลือกต้นโพธิ์ยังช่วยสมานบาดแผล ห้ามเลือด ทำให้หนองแห้ง ใบใช้รักษาโรคคางทูม โรคท้องผูก หรือท้องร่วงได้ ต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

ราคาต้นโพธิ์ที่จำหน่ายต่อต้นโดยประมาณ

สำหรับต้นโพธิ์ในสกุล Ficus หรือโพธิ์ที่มีความเกี่ยวข้องทางพุทธศาสนา โดยส่วนมาก จะไม่นิยมปลูกตามบ้านพักอาศัย จึงมีผู้จำหน่ายน้อย สามารถขอรับต้นพันธ์ได้ตามวัด หรือ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และ สำหรับต้นโพธิ์เงิน  โพธิ์ทอง และ โพธิ์บอนไซ ที่นิยมเลี้ยงในกระถาง ตามบ้านจะมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ต้นละ 150-200 บาท ตามขนาดและรูปทรงเป็นสำคัญ

แหล่งอ้างอิง :

http://www.satit.cmru.ac.th/index2.php?ge=view&gen_lang=140218100317

อยากให้มีเนื้อหาเรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ