ผักติ้ว ยอดผักสุดอร่อยที่คุณควรปลูก มีลักษณะและวิธีปลูกยังไง

ผักติ้ว (Pink mempat) จริง ๆ แล้วเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ที่เราชอบเด็ดเอายอดของต้นติ้วมากิน บ้างเราก็จะเห็น พ่อค้าแม่ค้าเด็ดยอดเอามามัดรวมกันขายเป็นกำ เราก็เลยเรียกติดปากกันว่า “ผักติ้ว” และเป็นยอดผักที่สามารถเอามากินแกลมกับอาหารได้ทุกชนิดอีกด้วย วันนี้ Kaset today จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับต้นติ้ว หรือ ผักติ้ว ว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง ถ้าปลูกในบ้านต้องมีวิธีการปลูกและดูแลอย่างไร

ผักติ้ว ยังมีอีกหลายชื่อ เช่น ติ้วขาว ติ้วขน ซึ่งที่มาของชื่อพวกนี้ เดี่ยวเราจะอธิบายให้คุณฟังภายหลัง ในปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับการบริโภคผักมากขึ้น อาจจะเพราะว่า ต้องการดูแลสุขภาพรูปร่างมากกว่าเมื่อก่อน หรือเพราะราคาเนื้อสัตว์มันแพง เลยเริ่มหันมากินผักมากขึ้น 

และว่ากันตามจริงแล้วตอนนี้มีกลุ่มคนไม่น้อยเลยที่เริ่มสนใจการกินผักติ้ว และเริ่มที่อยากจะปลูกในบริเวณบ้านของตัวเองเพื่อรอเก็บยอดสดมากินกับมื้ออาหาร แต่การปลูกต้น "ติ้ว" มันก็ไม่ได้ยอกหรือง่าย ขึ้นอยุ่กับความชอบของแต่ละบุคคุลว่าอยากได้แบบไม้กระถาง หรือ ไม้ยืนต้น ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาเสนอไอเดีย ๆ ในการปลูกผักติ้ว หรือ ต้นติ้ว ทั้งสอนวิธีการขยายพันธุ์ การปลูก และการนำไปทำอาหารให้คุณได้ศึกษากัน...งั้นเราไปทำความรู้จักกันเลย

ข้อมูลทั่วไปของผักติ้ว

ชื่อภาษาไทย : ผักติ้ว หรือ ติ้วขน

ชื่ออื่นๆ : ตาว (สตูล) ติ้วส้ม (นครราชสีมา) ติ้วแดง ติ้วยาง ติ้วเลือด (เหนือ) แต้วหิน (ลำปาง) ติ้วเหลือง (เหนือ กลาง) ติ้วขน (กลาง และนครราชสีมา) เตา (เลย) แต้ว (ภาคใต้)

ชื่อภาษาอังกฤษ : Pink mempat, Mempat tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum formosum (Jacq.) Benth. & Hook.f. ex Dyer

ชื่อวงศ์ : Hypericaceae

ชื่อสกุล : Cratoxylum


ลักษณะทั่วไปผักติ้ว

  • ลำต้น

พืชชนิดนี้จัดอยู่ในประเภทไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ซึ่งมีความสูงโดยเฉลี่ยนราว 3-12 เมตร หรืออาจจะสูงชะลูดได้ถึง 35 เมตร ตัวเรือนยอดมีลักษณะทรงพุ่มออกกลม ที่โคนต้นมีหนาม กิ่งและก้านเรียวๆ กิ่งอ่อนจะมีขนนุ่มปกคลุม บริเวณลำต้นมีเปลือกสีน้ำตาลปนแดงและแตกเป็นสะเก็ด ส่วนเปลือกด้านในจะเป็นสีน้ำตาลปนเหลือง ที่ลำต้นมีน้ำยางสีเหลืองอมแดงซึมออกหากถูกตัดหรือกรีด

  • ใบ

เป็นประเภทใบเดี่ยว ซึ่งออกเรียงตรงกันข้ามกัน ใบมีลักษณะวงรีแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ส่วนปลายใบจะมน หรืออาจจะแหลม โคนของใบสอบและเรียบ ขอบใบจะออกโค้งๆ เรียบ ขนาดของใบมีความกว้าง 2.5-4.5 เซนติเมตร ความยาว 3-13 เซนติเมตร ผิวของใบทั้งด้านหน้าและด้านหลังจะมีขนละเอียด ใบอ่อนเป็นสีชมพูอ่อนไปจนถึงแดง แล้วมีความเรียบกับมันวาว ส่วนใบแก่จะสีเขียวสด ทั้งเรียบทั้งเกลี้ยง ด้านหลังใบบนจะเป็นมัน ที่ท้องใบมีต่อมกระจายอยู่ทั่ว เส้นด้านข้างของใบจะมี 7-10 คู่ ซึ่งมีความโค้งจรดใกล้กับขอบใบ ส่วนก้านใบจะมีความยาว 0.6-1.6 เซนติเมตร

  • ดอก

การออกดอกจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม โดยดอกจะออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่ง กลีบดอกจะมีสีขาวปนชมพูอ่อนถึงแดงและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ หนึ่งดอกมีจำนวนกลีบ 5 กลีบ ก้านของดอกจะมีความเรียวเล็กและมีกาบเล็กอยู่ที่ฐานของกลีบด้านใน ที่ดอกจะมีเกสรตัวผู้เป็นสีเหลืองลักษณะสั้นอยู่หลายอัน ตัวก้านเกสรจะเชื่อมกันเป็นกลุ่มจำนวน 3 กลุ่ม ในส่วนของเกสรตัวเมียก็จะมีก้านเกสรสีเขียวอ่อนจำนวน 3 อัน มีรังไข่เหนือวงกลีบ แล้วดอกก็ยังมีกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวอ่อนอมแดงอีก 5 กลีบ

  • ผล

มีลักษณะแห้งและแตก ตัวผลเป็นรูปทรงกระสวยหรือแคปซูล ส่วนปลายมีความแหลม ผิวของผลจะออกสีนวลๆ อมขาว มีความเรียบปนแข็ง ความกว้างของผลประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร ความยาวราว 1.3-1.8 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 3 แฉก และข้างในผลจะมีเมล็ดเป็นสีน้ำตาล


แหล่งที่พบ

เราได้ทราบว่าแหล่งกำเนิดของผักติ้ว หรือ ต้นติ้วนั้นมาจากทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทย ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา อินโดเนีย ที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น

ซึ่งในประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคใต้ตอนเหนือ โดยจะขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ป่าตามเชิงเขา และตามป่าเบญจพรรณ


การขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์ผักติ้ว หรือ ต้นติ้ว มี 2 วิธีคือ

  • เพาะเมล็ด

โดยนำเมล็ดที่มีความแก่จัดไปตากแดดจนแห้งและเมล็ดแตกออก จากนั้นก็นำไปหว่านในแปลงเพาะ รดน้ำให้ชุ่ม ภายในระยะเวลา 2 เดือน ต้นกล้าจะเริ่มผลิใบจำนวน 2-3 ใบ ก็นำไปลงถุงเพาะ แล้วจึงรดน้ำบวกใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรงก่อนจะนำไปลงดินปลูก

  • ปักชำ

สามารถทำตามขั้นตอนการตอนกิ่งทั่วไปได้เลย เมื่อนำกิ่งตอนลงปลูกก็ให้บำรุงด้วยปุ๋ยคอกเดือนละครั้งและรดน้ำสม่ำเสมอ


การปลูกและการดูแล

การปลูก

  • แสงแดด

เป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด สามารถปลูกในบริเวณที่โดยแสงแดดได้เต็มวัน สามารถอยุ่ได้ในทุกสภาพอากาศ แต่ที่ชอบคือ สภาพอากาศแบบแห้ง

  • น้ำ

ไม่ค่อยต้องการน้ำมากเท่าไร สามารถทนแล้งได้ ถ้าปลูกในกระถางสามารถรดน้ำวันเว้นวันได้เลย แต่ถ้าต้นยังเล็ก ๆอยู่ ควรรดน้ำวันละ 1 ครั้ง ทุกวัน หรือ ถ้ามีฝนตก อากาศชื้น ก็สามารถรดน้ำได้ 4-5 ครั้ง ต่อ 1 อาทิตย์ ก็ได้

  • ดิน

สามารถปลูกในดินถม ดินนา หรือ ดินที่มีเนื้อดินแน่นได้ดี เพราะตามธรรมชาติ ผักติ้วมักพบบ่อยทางภาคเหนือและอีสาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ดินคล้ายดินเหนียว แต่ถ้าเอากล้าผักติ้ว หรือต้นติ้วไปลงดินควรมีการรองพื้นหลุดด้วยดินถุงและปุ๋ยคอกก่อน เพราะรากของเขายังไม่แข็งแรงพอ ที่จะหาอาหารในดินตามธรรมชาติได้ หรือถ้าปลูกในครัวเรือนปกติ ก็สามารถปลูกด้วยดินถุงได้เช่นกัน และควรพรวนดินบ่อย ๆ

  • ปุ๋ย

ที่เราปลูกต้นติ้วหรือผักติ้วนั้นก็เพราะ เราต้องการกินยอดใบอ่อน อันนั้นการให้ปุ๋ยเพื่อกระตุ้นการแตกใบใหม่เป็นสิ่งที่ดี ควรใส่ปุ๋ยหมัก หรือ ปุ๋ยคอก ตามด้วยปุ๋ยที่มี N สูง เพราะเสริมการเจริญเติบโตของใบและลำต้น แต่ถ้าบ้านไหนปลูกเพื่อความสวยงาม ปลูกเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงา ออกดอกสวย แนะนำให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ และมีการตัดแต่งกิ่งบ่อย ๆ เพื่อพุ้มที่สวย เพราะปกติแล้วต้นติ้วตามธรรมชาติมักจะเจริญเติบโตตามแนวตรงมากกว่า ด้านข้าง

การดูแล

ในหน้าฝนควรระวังโรคคอเน่า รากเน่าที่สามารถเกิดได้ โดยเฉพาะคนที่ปลูกในกระถาง

ในต้นกล้าหรือต้นเด็ก ๆ เราควรระวังเพลี้ยงทั้งหลาย เพราะมันจะคอยมาเกาะบริเวณตาใบ ทำให้บริเวณนั้นแห้งและเป็นสีดำคล้ำ ใบของต้นติ้วก็จะไม่ค่อยแตกยอดออกมา แต่ถ้าเป็นต้นที่โตเต็มที่ เราสามารถปล่อยเขาโตไปตามธรรมชาติโดยไม่ต้องป้องกันแมลงได้เลย เพราะต้นไม้ชนิดนี้ก็เป็นไม้ป่าอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะได้รับการดูแลมากนัก


ไอเดียการปลูกในบ้าน

ปลูกลงดิน

การปลูกลงดิน สามารถตอบโจทย์ ผู้ปลูกที่มีพื้นที่เยอะในบริเวณบ้าน และผู้ที่ต้องการปลูกเพื่อเก็บกินใบ หรือปลูกเพื่อให้ได้ร่มเงา ดูความสวยงามของดอกต้นติ้ว ที่เวลาออกดอก ดอกจะติดตามกิ่ง สีขาว ดอกเล็กน่ารัก เหมือนดอกซากุระ แต่ มีขนนุ่ม ๆขึ้นเต็มบริเวณกลีบและตัวดอก จึงทำให้ผักติ้วมีอีก 2 ชื่อที่คนคุ้นเคยกันคือ “ติ้วขาว” และ “ติ้วขน”

ปลูกเป็นไม้กระถาง

ส่วนการปลูกในกระถาง ผู้ปลูกส่วนใหญ่ที่เลือกวิธีนี้ คือคนที่มีพื้นที่น้อย และไม่มีพื้นที่ ที่เป็นพื้นดิน จึงมีการปลูกผักติ้วในกระถาง กระบะ หรือ ท่อปูน และมักจะปลูกด้วยการเพาะเมล็ด หลาย ๆ เม็ด ใน 1 กระถาง ปลูกกันจนโตเป็นพุ่ม เป็นการปลูกที่เน้นบริโภคเป็นหลัก


ประโยชน์

  • ราก ใช้ขับปัสสาวะ และแก้อาการปัสสาวะขัด
  • น้ำยาง ใช้ทาเพื่อแก้การแตกของส้นเท้า
  • รากและใบ แก้อาการปวดท้อง
  • ยางจากเปลือกต้น ใช้เป็นยาทาแก้อาการคัน
  • น้ำต้มจากเปลือกต้น ใช้แก้ธาตุพิการ
  • เปลือกและใบ ใช้แก้โรคผิวหนังบางชนิดได้

นอกจากนี้สรรพคุณทางด้านโภชนาการก็มีไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น ผักติ้วปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานถึง 58 กิโลแคลอรี แล้วยังประกอบไปด้วยธาตุอาหารและวิตามิน ดังนี้ คือ

  • แคลเซียม 67 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 2.5 มิลลิกรัม
  • เบตาแคโรทีน 4,500 ไมโครกรัม
  • ไนอาซิน 3.1 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 750 ไมโครกรัมของเรตินอล
  • วิตามินบีหนึ่ง 0.04 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 0.67 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 58 มิลลิกรัม
  • เส้นใยอาหาร
เกร็ดความรู้ ! สารสกัดจากผักติ้ว

"สกัดสารจากใบติ้วเพื่อต้านมะเร็ง"
ผลงานวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้ค้นพบศักยภาพในการต้านมะเร็ง จาก "ใบติ้ว" ผักพื้นบ้านชาวอีสาน โดย รศ. ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ได้ค้นพบจากงานวิจัยเรื่อง "การศึกษาคุณค่าของสารสกัดสมุนไพร จากพืชในพื้นที่โคกภูตากา อ.ภูเวียง ต่อการป้องกันโรคมะเร็ง" แม้ผลการทดลองในเบื้องต้นจากพบว่าใบผิ้วมีฤทธิ์ "ต้านมะเร็งตับ" แต่ก็ควรกินอย่างเหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป

"สกัดสารเพื่อทำสารกันหืน"
กลิ่นเหม็นหืนหรือที่เรียกว่า “ปฏิกิริยาออกซิเดนชั่น” มีความสําคัญมากในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นได้ในผลิตภัณฑ์อาหารระหว่างการเก็บวัตถุดิบ การแปรรูป การให้ความร้อนและในช่วงการเก็บของผลิตภัณฑ์
ซึ่งส่วนใหญ่นําไปสู่การไม่ยอมรับการเหม็นหืนของอาหาร 

จากที่เราได้ทำการหาข้อมูลและได้เจอกับงานวิจัยของ นางพิชญ์อร ไหมสุทธิสกุล นักศึกษาโครงการปริญญา เอกาญจนาภิเษก (คปก.) คณะอุสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ศึกษาและวิจัย ”การประเมินศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระ และสารประกอบฟีนอลิกในพืชพื้นเมืองของไทยบางชนิดเพื่อใช้เป็นสารกันหืนในอาหาร 

ซึ่งเขาได้สารฟีนอลิกหลักใน "ติ้ว" คือ
คอลาจินิกแอซิด เมื่อนําไปทดสอบเปรียบเทียบการกันหืนในข้าวอบกรอบ ระหว่างวิตามินอีซึ่ง เป็นสารกันหืนธรรมชาติชนิดหนึ่งกับสารสกัดจากติ้ว พบว่า "สารสกัดจากติ้วสามารถยับยั้งการหืนได้ดีกว่าวิตามินอี" ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากติ้ว แสดงความเป็นไปได้ในการนําไปใช้เป็นสารในการต้านอนุมูลอิสระในอุตสาหกรรมอาหาร”

เอาไปประกอบอาหารอะไรได้บ้าง

จากที่อ่านกันมาถึงตรงนี้ ผักติ้ว ดูเป็นผักที่น่านำมาประกอบอาหารได้หลายหลายจริง ๆ เราจึงมี 1 ในเมนูลูกอีสาน ที่อยากจะให้คุณรู้จัก มีวิธีทำที่ไม่ยาก เน้นทำง่าย ทำไว แต่อร่อย ซึ่งเมนูนั้นก็คือ “ซุปผักติ้ว” และวิธีทำก็ไม่ยากเลย สามารถทำตามนี้ได้

  • นำผักติ้วมาล้วกให้สุกพอประมาณ ไม่ต้องนานมาก
  • เตรียมหม้อต้มปลาทู ใส่น้ำปลาร้า พอให้มีกลิ่นหอมและรสชาติกลมกล่อม
  • นำผักติ้วมาตำพอให้ผักมันยวบ ไม่ต้องแหลกมาก จากนั้นใส่พริกป่น ข้าวคั่ว ปลาทูที่ต้มสุก (เอามาขยี้) และต้นหอม (หั่นแล้ว) มาผสมเข้าด้วยกัน
  • ปรุงรสชาติด้วย น้ำปลาทูต้มสุกที่ใส่น้ำปลาร้า พร้อมกับใส่น้ำปลาเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความหอมนิดหน่อย และชิมรสชาติตามใจชอบเลย

เป็นอย่างไรกันบ้างกับความรู้เกี่ยวกับผักติ้ว หรือ ต้นติ้ว เป็นพันธุ์ไม้ที่มีประโยชน์ใช่ไหม ทั้งสามารถบริโภคได้ ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อชมดอกก็ได้ และที่สำคัญเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกง่าย เหมาะกับคนที่พึ่งเริ่มหัดปลูก ซึ่งในปัจจุบันก็มีนักวิชาการของไทยหลายคนที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับผักติ้วมากขึ้น ทำให้เรารู้ว่าสารสกัดในผักชนิดนี้สามารถ “ต้านมะเร็งตับได้”

และหากคุณมีความสนใจเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ พันธุ์พืช ทั้ง ไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพรต่างๆ คุณก็สามารถเขามาศึกษากับเราได้เลย และทางเว็บไซต์ของเรายังมีเรื่องเกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเกี่ยวกับปุ๋ยต่าง ๆ โรคพืชและแมลงศัตรูพืช ถ้าไม่รู้จะปลูกต้นอะไร ก็นึกถึง Kaset today เลย


แหล่งข้อมูล

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กรมวิชาการเกษตร
นางพิชญ์อร ไหมสุทธิสกุล (งานวิจัยผักติ้ว)
phargarden

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้