พุดเศรษฐีสยาม…ไม้มงคล พุ่มงาม ดอกหอม…เหมาะกับทุกๆ คน

คงไม่มีใครไม่รู้จัก กังหันลม ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลชนิดหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อแปลงพลังงานจลน์จากลมให้เป็นพลังงานกล แล้วก็นำพลังงานกลไปใช้ได้หลากหลาย อาทิ การสูบน้ำ และ การผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น เหตุที่เกริ่นข้างต้นเกี่ยวกับกังหันลมก็เพราะดอกของพรรณไม้ที่จะนำเสนอมีรูปลักษณ์เช่นเดียวกันแถมชื่อเสียงเรียงนามฟังแล้วแสนจะไพเราะมงคลนัก พรรณไม้ที่ว่านั้น คือ พุดเศรษฐีสยาม เป็นอย่างไรบ้าง ได้ยินชื่อก็ชวนให้อยากจะรู้จักแล้วสิ เชิญมาทางนี้เลย…

พุดเศรษฐีสยาม พรรณไม้ชนิดนี้เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบราซิล ฝรั่งเศส และกิอานา โดย

ชื่อวิทยาศาสตร์  ‘Tabernaemontana sananho, Tabernaemontana pachysiphon Stapf, Bonafousia sanago’

ชื่อสามัญ ว่า ‘Sanango, Uchu Sanango, Shiric Sanango’

ชื่ออื่นๆ เรียก ‘กังหันลมยักษ์’ และจัดอยู่ในวงศ์ ‘APOCYNACEAE’

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

จัดเป็นประเภทไม้พุ่มที่มีความสูงเต็มที่ประมาณ 5 เมตร โดยพุ่มทรงจะมีความแน่นและทึบ แล้วทุกส่วนของลำต้นก็มีน้ำยางเป็นสีขาวๆ ใบ เป็นประเภทใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรีซึ่งมีสีเขียวเข้มและมีความยาวราวๆ 6-8 เซนติเมตร ส่วนปลายใบจะแหลม ผิวใบทั้งสองด้านมีความมัน ดอก จะออกบริเวณใกล้กับปลายยอด ลักษณะเป็นดอกเดี่ยวๆ สีขาว มีกลิ่นหอม โคนกลีบของดอกเป็นสีเหลืองและเชื่อมติดกันเหมือนหลอด ส่วนปลายดอกจะแยกออกเป็น 5 กลีบ ในลักษณะบิดเวียนเกลียวคล้ายกังหัน เมื่อดอกบานจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-10 เซนติมตร ทั้งนี้ดอกจะออกได้ตลอดทั้งปี โดยจะบานอยู่เพียงสองวันแล้วก็โรยไป

พุดกังหัน

การขยายพันธุ์ 

พุดเศรษฐีสยาม จัดเป็นพรรณไม้ที่มีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนิยมขยายพันธุ์ด้วย วิธีเสียบยอด 

มีวิธีการคือ ให้ใช้พรรณไม้ตระกูลพุด อาทิ พุดกุหลาบ หรือ พุดจีน เป็นต้นตอของการเสียบยอด เมื่อได้ต้นกล้าก็นำไปลงปลูก สำหรับการปลูกก็จะต้องจัดเลือกดินซึ่งดินที่เหมาะสมควรจะเป็นดินร่วนซุยที่มีอินทรียวัตถุสมบูรณ์และสามารถระบายน้ำได้ดี แล้วก่อนที่จะปลูกไม่ว่าจะเป็นแปลงปลูกหรือในกระถาง มีข้อแนะนำให้ใช้ปุ๋ยคอก เศษใบไม้แห้ง และขุยมะพร้าวผสมกับดินในอัตราส่วนเท่าๆ กัน และให้นำมูลสัตว์รองที่ก้นหลุมหรือก้นกระถางประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นจึงนำต้นกล้าลงปลูกและกลบด้วยดิน ต่อไปก็รดน้ำในปริมาณพอเหมาะให้ทั่ว 

(ข้อควรระวัง – ไม่ควรจะรดน้ำมากจนเกินไป เนื่องจากพรรณไม้ชนิดนี้ไม่ชอบให้มีน้ำขังและไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ที่แฉะมาก) อีกเรื่องที่ค่อนข้างจะมีความสำคัญ ก็คือ บริเวณที่ปลูกกับที่ตั้งกระถางควรจะเป็นพื้นที่โล่งแจ้งซึ่งมีแสงแดดจัดหรือแสงแดดสามารถส่องได้เต็มทั้งวัน สุดท้ายเรื่องการใส่ปุ๋ยให้ทำการใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงดินและต้นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพียงเท่านี้พรรณไม้ก็เจริญเติบโตและงดงามดี

ประโยชน์

เนื่องด้วย พุดเศรษฐีสยาม เป็นไม้พุ่มและมีคุณสมบัติเด่นเรื่องกลิ่นหอมของดอก พรรณไม้ประเภทนี้จึงเหมาะอย่างที่สุดสำหรับการนำไปเป็นไม้ดอกไม้ประดับ โดยสามารถปลูกได้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ สถานศึกษา สวนหย่อมตามอาคารสำนักงาน สำหรับบริเวณบ้านก็ยิ่งเหมาะนัก เพราะเป็นพืชที่จัดแต่งพุ่มทรงได้ตามต้องการรวมถึงใบมีสีเขียวสดและดอกก็หอมซึ่งจะทำให้บ้านเรือนมีความสดชื่นน่าอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นหากที่บ้านหรือสถานที่นั้นๆ มีการจัดสวนในแบบต่างๆ อาทิ สวนแบบไทย สวนแบบญี่ปุ่น สวนแบบเกาหลี สวนแบบวินเทจ หรือ สวนแบบบาหลี พรรณไม้นี้ก็เหมาะเจาะลงตัวกับสวนเหล่านั้นได้ไม่ยากเลย

พุดกังหัน

ความเชื่อของพุดเศรษฐีสยาม

เป็นไม้มงคลในเรื่องการช่วยให้ความมั่นคงทางฐานะแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง อีกทั้งกลิ่นหอมของดอกพุดเศรษฐีสยามยังช่วยเรื่องการผ่อนคลายอารมณ์และความตึงเครียดด้วย ซึ่งนักบำบัดด้วยกลิ่นได้มีการวิจัยไว้แล้วว่า กลิ่นหอมของดอกไม้สามารถช่วยบำบัดความเครียดและทำให้จิตใจมีความสงบลงได้ หากยิ่งได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่หอมกรุ่นก็จะยิ่งทำให้มีอารมณ์ดีเสมอๆ

                รู้แบบนี้แล้วคงอยากจะได้ครอบครองกันแล้วใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเลือกซื้อเลือกหา เพราะตามตลาดต้นไม้ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์มีขายอยู่มากมายแถมราคาก็ไม่แพงมากนักสามารถจับต้องได้ เริ่มต้นราคาต่ำสุดที่ 75 บาท ไปจนถึงราคาสูงที่ 1,190 บาท (ราคาขึ้นอยุ่กับขนาดและความสมบูรณ์ของต้น) ถ้าชอบกับพอใจในขนาดและราคาไปเลือกจัดกันได้เลย ที่ ตลาดต้นไม้จตุจักร ตลาดต้นไม้กรมทหารราบที่ 11 ตลาดต้นไม้เจ้าจอม ตลาดต้นไม้ธนบุรี (สนามหลวง 2) หมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับคลอง 15 ตลาดต้นไม้ซอยวัดพระเงิน บางใหญ่ และอีกหลากหลายแห่ง แล้วก็อีกทางที่สะดวกคือ ตลาดต้นไม้ออนไลน์บน Website Facebook Lazada และ Shopee สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด…ขอให้ทุกท่านแสนมั่นคงกับสุดมั่งคั่งและอารมณ์สดชื่นเบิกบานกับพรรณไม้ดีงามชนิดนี้นะคะ

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้