ยางอินเดีย ไม้มงคลยอดนิยม เลี้ยงง่าย โตไว ช่วยฟอกอากาศได้ดี

ชื่อภาษาอังกฤษ

Rubber Plant

ชื่อวิทยาศาสตร์

Ficus elastica

ความหมาย

พันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง ที่ชอบแสงและช่วยฟอกอากาศได้ดี

ความเชื่อ

ช่วยเยียวยาและส่งเสริมผู้อยู่อาศัยภายในบ้านให้มีความเจริญเติบโต หรือหากวางไว้ในมุมมืดของบ้าน จะช่วยเพิ่มพลังชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้

ยางอินเดีย ถือเป็นไม้มงคลที่กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่เป็นพันธุ์ไม้ที่ดูแลง่าย ช่วยเนรมิตบรรยากาศของห้องให้ดูสวยงาม อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ไม้มงคลที่มีความหมายดี ๆ อีกด้วย

ยางอินเดีย เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่เจริญเติบโตได้ไว โดยต้นยางอินเดียที่โตเต็มที่และปลูกในดินและสภาพอากาศที่เหมาะสมนั้นสามารถมีความสูงได้มากถึง 15-25 เมตร ถือเป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีเปลือกแข็งสีน้ำตาลเข้ม ทุกส่วนของลำต้นจะมีน้ำยางสีขาว ๆ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่าเป็นต้นยางนั่นเอง

ยางอินเดีย ประโยชน์

ความเชื่อเกี่ยวกับยางอินเดีย กับชีวิตคนยุคใหม่

ความเชื่อในเรื่องของความเป็นสิริมงคลกับคนไทยเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมานานนับตั้งแต่อดีตกาล แต่เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมากที่คนไทยยุคใหม่ยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นมงคลของพันธุ์ไม้และสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่เสื่อมคลาย เหตุผลอาจมาจากการส่งผ่านความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ความเชื่อเหล่านี้ยังไม่เลือนหายไปจากสังคมไทย

หนึ่งในสิ่งที่คนรุ่นใหม่ (รวมถึงคนรุ่นเก่า) ต่างเชื่อกันก็คือความหมายของพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ซึ่งหากปลูกไว้จะช่วยเสริมความเป็นมงคลในการใช้ชีวิต และช่วยให้เจ้าของบ้านมีความสุขร่มเย็นอยู่เสมอ

หนึ่งในไม้มงคลที่น่าสนใจในยุคนี้คงหนีไม้พ้นต้นยางอินเดีย ที่มีความเชื่อว่าหากผู้ใดปลูกต้นยางอินเดียในบ้านหรือภายในบริเวณบ้าน ต้นไม้มงคลนี้จะช่วยเยียวยาและส่งเสริมผู้อยู่อาศัยภายในบ้านให้มีความเจริญเติบโต หรือหากวางไว้ในมุมมืดของบ้าน จะช่วยเพิ่มพลังชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้

ยางอินเดีย ปลูกบริเวณไหนให้โตไว ใบสวย

ต้นยางอินเดียเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบแสง จึงสามารถปลูกได้ทั้งในบ้านบริเวณที่แสงแดดส่องถึง หรือปลูกนอกบ้านก็ได้ แสงแดดจะช่วยให้ยางอินเดียสามารถแตกใบใหม่และทำให้ใบมีสีเข้มสวย

การปลูกต้นยางอินเดียในบ้านนั้นสามารถช่วยฟอกอากาศได้ คุณจึงสามารถวางต้นยางอินเดียในมุมต่าง ๆ ของบ้านในบริเวณที่ต้องการฟอกอากาศ แต่เมื่อปลูกต้นยางอินเดียภายในอาคาร ลำต้นจะเอนเข้าหาแสงแดด จนอาจทำให้ลำต้นดูสูงและเสียทรง วิธีแก้ไขต้นยางอินเดียเสียทรงจากการปลูกภายในอาคารคือการตัดแต่งกิ่ง และสามารถนำไปขยายพันธุ์ต่อได้ด้วยการปักชำ

และด้วยคุณสมบัติในการฟอกอากาศและป้องกันฝุ่นละอองของต้นยางอินเดีย บริเวณที่เหมาะสมที่สุดในการวางต้นยางอินเดียคือในห้องที่คุณมักอาศัยอยู่และทำกิจกรรมบ่อยที่สุด เช่น ห้องนั่งเล่นหรือห้องทำงาน เป็นต้น

ส่วนประกอบของต้นยางอิเดีย พันธุ์ไม้ยอดฮิตของคนยุคใหม่

ต้นยางอินเดียถือเป็นไม้ประดับที่มีความโดดเด่นสวยงาม โดยมีลักษณะทางกายภาพที่น่าสนใจ ดังนี้

ลักษณะลำต้นของยางอินเดีย

ยางอินเดียเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถสูงได้เกือบ 30 เมตร แต่บางชนิดมีลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือไม้เลื้อย เมื่อมีอายุมากขึ้น ต้นยางอินเดียจะมีรากอากาศห้อยออกมาคล้ายต้นไทร เพราะถือเป็นไม้ตระกูลเดียวกัน ภายในลำต้นของยางอินเดียจะมีน้ำยางสีขาว ๆ เมื่อปล่อยให้ยางเหล่านั้นแห้งตัว จะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ๆ สามารถนำมาใช้เป็นยางลบได้ ดังนั้น ต้นยางอินเดียจึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าต้นยางลบนั่นเอง

ลักษณะใบของยางอินเดีย

ยางอินเดีย ราคา

ลักษณะใบของยางอินเดีย มีทั้งใบเล็กและใบใหญ่ และมีหลากหลายสีขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ ลักษณะใบของต้นยางอินเดียมีความหนาและมันวาว ยอดอ่อนของใบจะมีลักษณะเป็นวงกลมยาว ๆ มีสีออกแดงอมชมพู เมื่อยอดใบอ่อนกางออกมา แผ่นใบด้านบนจะมีสีน้ำตาล แต่จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวตามกาลเวลา

ลักษณะดอกของยางอินเดีย

ดอกของต้นยางอินเดียนั้นมีสีขาวขนาดใหญ่เรียงสลับกัน 2 ชั้น ด้านในของดอกประกอบไปด้วยเกสรตัวผู้ที่อยู่ด้านนอก ห้อมล้อมเกสรตัวเมียและรังไข่ที่อยู่ด้านใน

ชวนมาทำความรู้จักกับสายพันธุ์ที่หลากหลายของต้นยางอินเดีย

ต้นยางอินเดียนั้นมีอยู่มากมายหลากหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมในประเทศไทยนั้นมีอยู่ 3 สายพันธุ์ ดังนี้

ยางอินเดียดำ

ต้นยางอินเดียใบดำเป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในการนำมาเป็นไม้ประดับตกแต่งภายในบ้าน ต้นยางอินเดียดำมีลักษณะใบเป็นสีเขียวเข้มจนเกือบเป็นสีดำซึ่งตัดกับสีของยอดอ่อนของต้นซึ่งเป็นสีแดงอมชมพู จึงมีความสวยงามและเหมาะกับการนำมาเป็นไม้ประดับภายในบ้าน

ยางอินเดียด่างชมพู

ต้นยางอินเดียด่างชมพูมีลักษณะใบเป็นแบบ 2 สีบนใบเดียวกัน คือเป็นสีเขียวเข้มแกมกับสีชมพู มอบความสวยงามแปลกตาเมื่อนำมาประดับบ้าน

ยางอินเดียด่างขาว

ต้นยางอินเดียด่างขาวมีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นยางอินเดียด่างชมพู แต่มีลักษณะใบที่เป็นสีเขียวแกมกับสีขาว มอบความสวยงามแปลกตาเช่นเดียวกับยางอินเดียด่างชมพู

ปลูกยางอินเดียอย่างไร ให้ได้ต้นสวย โตไว ใบหนาสีสดใส

การปลูกต้นยางอินเดียนั้นสามารถทำได้หลายกหลายวิธี วิธีที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือการตัดชำและการตอน โดยสามารถทำได้ ดังนี้

การตัดชำ

วิธีการตัดชำคือการตัดกิ่งที่ค่อนข้างแก่ออกเป็นท่อน ๆ และนำไปชำในกระบะทรายหรือถ่านแกลบ โดยให้ใบที่ติดมากับกิ่งชำนั้นอยู่เหนือวัสดุปลูก ยอดของต้นใหม่จะงอกออกมาจากตาที่โคนของกิ่ง

การตอน

การตอนยางอินเดียนิยมทำกับส่วนยอดของต้น เพราะจะได้ต้นใหม่ที่ดูสวยงาม วิธีการตอนนั้นสามารถทำได้เหมือนกับต้นไม้อื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป โดยการเลือกกิ่งอ่อนที่ส่วนยอดของต้น ลอกเอาเปลือกออกแล้วหุ้มด้วยตุ้มกาบมะพร้าว รากจะงอกออกมาเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 10-15 วัน

วิธีดูแลต้นยางอินเดียให้ดูแข็งแรง สุขภาพดี

การได้รับแสง

ยางอินเดียเป็นพันธุ์ไม้ที่ชื่นชอบแสงแดด สามารถโดนแดดจัด ๆ ได้หากตั้งไว้นอกบ้าน แต่หากตั้งไว้ในบ้านก็อาจจะต้องมองหามุมที่แสงแดดส่องถึง โดยให้ใบโดนแดดสักประมาณ 3-5 ชั่วโมงต่อวัน

การรดน้ำ

วิธีรดน้ำต้นยางอินเดียคือรดน้ำให้ดินแฉะ จากนั้นรอให้ดินแห้งสนิทก่อนจึงสามารถรดน้ำได้อีกครั้ง การรดน้ำที่มากจนเกินไปอาจทำให้ต้นยางอินเดียมีอาการรากเน่าได้

ดินดี ช่วยให้ต้นไม้โตไว

ผสมดินเข้ากับทรายหรือวัสดุปลูกที่โปร่ง เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก โดยไม่ขังอยู่ในดินจนทำให้เกิดอาการรากเน่า

ปุ๋ย สารอาหารสำหรับต้นไม้

ปุ๋ยที่เหมาะกับต้นยางอินเดียคือปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก โดยนำไปละลายกับน้ำให้เจือจาง สามารถให้ปุ๋ยได้ทุก ๆ 1-2 เดือน

ประโยชน์ของต้นยางอินเดียที่มีมากกว่าแค่ความสวย

  • มอบความสวยงาม จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ
  • ช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ ช่วยดูดซับฝุ่นละอองและสารก่อมะเร็ง
  • ยางของต้น เมื่อแห้งแล้วสามารถนำมาใช้เป็นยางลบได้
ยางอินเดียดํา ดูแล

ราคาโดยประมาณของยางอินเดีย งบประมาณแค่ไหน ถึงจะซื้อได้

ต้นยางอินเดียนั้นมีอยู่หลากหลายราคา ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความสวย และขนาดของต้น โดยราคาเริ่มต้นนั้นอาจอยู่ที่ 100 บาท ไปจนถึงราคาหลักพันบาท

ยางอินเดียถือเป็นพันธุ์ไม้มงคลที่มีความหมายดี ๆ เกี่ยวกับการเจริญเติบโตและการให้พลังชีวิต เป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย โตไว มีคุณสมบัติในการฟอกอากาศ หากใครที่กำลังมองหาต้นไม้สวย ๆ มาประดับบ้าน ยางอินเดียถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจอีกสายพันธุ์หนึ่ง

แหล่งอ้างอิง : https://data.addrun.org/plant/

อยากให้มีเนื้อหาเรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ