หลิวลู่ลม ไม้ยืนต้นที่พัดพาความสงบและสวยงาม

หลิวลู่ลม (Weeping willow,Babylon weeping willow) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่พอสมควร มีความสูงได้ตั้งแต่ 10 ขึ้นไปหรืออาจจะสูงได้กว่า 20 เมตร ลำต้นเมื่อมีอายุมากขึ้นก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเช่นกัน ใบเรียวยาว ในส่วนของทรงต้นจะมีลักษณะเป็นทรงพุ่ม กิ่งก้านจะห้อยลงและโอนอ่อนไปตามลมหรือลู่ลมนั่นเอง (weeping forms of tree) โดยส่วนใหญ่จะนิยมนำไปเป็นไม้ประดับ ตกแต่งสวนบริเวณริมน้ำให้ความรู้สึกที่สงบร่มรื่น ฉะนั้นสายลมที่ลู่ลมไปกับต้นหลิวจะนำไปทำความรู้จักกับต้นหลิวลู่ลมมากยิ่งขึ้น มาติดตามกันได้เลย

หลิวลู่ลม

ข้อมูลทั่วไปของต้นไม้ 

ชื่อภาษาไทย : หลิว หลิวลู่ลม ลิ้ว หยั่งลิ้ว 

ชื่อภาษาอังกฤษ : Weeping willow,Babylon weeping willow 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Salix Babylonia var. pekinensis ‘Pendula’ 

ชื่อวงศ์: Salicaceae 

ความเป็นมาของต้นไม้ 

ต้นหลิวมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน ในอดีตหลายพันปีเชื่อว่าต้นหลิวได้ทางเดินจากจีนผ่านเส้นทางสายไหมไปยังบาบิโลน เมืองโบราณแห่งอาณาจักรเมโสโปเตเมียที่มีอายุกว่า 4000 ปี ได้ถูกนำมาประดับ ตกแต่งยังสวนลอยบาบิโลน แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงว่าอาจจะเป็นต้นไม้อีกชนิดหนึ่งชื่อว่า ต้นหูหยาง (Populus euphratica) โดยปกติต้นหลิวมักจะถูกนำไปเป็นไม้ประดับตกแต่งสวนหรือการตกแต่งสวนสไตล์จีนและมักจะปลูกไว้ตรงที่ที่มีแหล่งน้ำหรือริมน้ำของสวนที่ต้องการ เพื่อสะท้อนให้เห็นบรรยากาศของต้นหลิวที่กำลังโดนลมพัดอย่างอ่อนโยน 

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นหลิวลู่ลม 

ต้นหลิวมีความเชื่อว่าเป็นต้นไม้แห่งโชคลาภที่จะนำความร่ำรวย ความมั่งคง ความสุขและเกียรติยศมาสู่ผู้ปลูก แต่จะไม่นิยมปลูกไว้ในเขตตัวบ้านเท่าไหร่ เพราะต้นหลิวมีลักษณะใบที่ห้อยลงมา ทำให้ดูเหมือนคนที่มีอาการโศกเศร้า ไม่สดใสหรือจะทำให้ลูกสาวขึ้นคานเพราะไม่มีคนมาสู่ขอ จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับสวนมากกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อหรือความชอบของแต่ละคนที่อยากจะปลูกต้นไม้ชนิดนี้ให้เกิดความสวยงามได้ 

ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน  

ต้นหลิวลู่ลมเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่และสูง ไม่ควรปลูกใกล้กับอาคารบ้านเรือน เนื่องจากกิ่งก้านอาจจะทิ่มแทงเข้าไปในตัวบ้านหรือความห้อยของกิ่งเมื่อโดนลมพัดแรง ๆ จะเป็นอันตรายกับอาคารที่มีกระจก ฉะนั้นควรปลูกให้ห่างจากบริเวณบ้านประมาณ 3 – 4 เมตร เพื่อให้ไม่เป็นอันตรายกับตัวอาคารมากที่สุด นอกจากนี้ต้นหลิวจะนิยมนำมาเป็นไม้ประดับตกแต่งสวนใกล้กับริมน้ำ ได้เห็นเงาสะท้อนของต้นหลิวที่พลิ้วไหวให้ความสงบร่มเย็นได้เป็นอย่างดี

ลักษณะของต้นหลิวลู่ลม 

 

ลำต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบที่มีความสูงได้ประมาณ 10 – 20 เมตร เรือนยอดโปร่ง เมื่อมีอายุมากขึ้นผิวเปลือกจะมีร่องต่าง ๆ มีสีเทาเข้มปนน้ำตาล ส่วนเปลือกที่มีอายุน้อยผิวจะเรียบเป็นสีเทาปนเขียว และกิ่งจะมีลักษณะอ่อนทำให้กิ่งห้อยย้อยลงมาเป็นทรงห้อยโอนอ่อนไปกับสายลม 

 

 

 

ใบ ใบเรียวยาวคล้ายรูปหอก ส่วนหน้าใบจะมีสีเขียวเข้ม หลังใบจะมีสีเขียวออกเงิน ขอบใบจะมีรอยจักรแบบฟันเลื่อยแต่ไม่คม และปลายใบแหลม 

 

 

 

 

ดอก ดอกตัวผู้จะมีขนาดประมาณ 1.5 – 2 เซนติเมตร ส่วนดอกตัวเมียจะมีขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร ไม่มีกลีบดอก ซึ่งดอกตัวผู้และตัวเมียนั้นจะอยู่แยกกันไปคนละต้น 

 

 

วิธีการปลูกและการดูแล 

แสง 

ต้นหลิวลู่ลมเป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดดมาก ทนแดดได้เป็นอย่างดี ควรปลูกในบริเวณที่ได้รับแสงแบบเต็มวันจะทำให้เติบโตได้อย่างเต็มที่ หรือให้ส่วนใบได้รับการสังเคราะห์แสง 4 – 6 ชั่วโมงต่อวัน 

น้ำ 

ควรรดน้ำวันละ 1 ครั้งต่อวัน แต่ถ้าอากาศร้อนจัดควรรด 2 ครั้งต่อวันในช่วงเช้าและเย็น 

ดิน

เตรียมหลุมให้กว้างประมาณ 2 – 3 เท่า ของขนาดต้นที่นำมาปลูก จะต้องไม่มีน้ำขัง ดินปลูกต้องมีความร่วน ระบายน้ำได้ดีและต้องเป็นดินที่มีอินทรียวัตถุสูง เพื่อให้ดินที่มีแร่ธาตุต่อการเจริญเติบโตของต้นหลิว 

ปุ๋ย 

ใช้ปุ๋ยละลายช้ารองพื้นก่อนลงดินปลูกเพื่อไม่ให้เกิดอาการรากไหม้หรือใบไหม้ ที่ให้แร่ธาตุอย่างสม่ำเสมอมีอายุประมาณ 3 – 6 เดือน เมื่อต้นหลิวเริ่มเติบใหญ่จึงค่อยใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 16-16-16 หรือปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นเองหรือปุ๋ยคอกบริเวณรอบโคนต้น 

การขยายพันธุ์ 

การขยายพันธ์ุทำได้ 2 แบบ คือ การปักชำและการตอนกิ่ง โดยส่วนมากต้นหลิวมักจะนิยมทำการปักชำที่กิ่ง โดยการตัดกิ่งแบบเฉียง  นำมาปักลงดินปลูกที่เตรียมไว้และเด็ดใบทิ้งออกบางส่วนแต่ไม่หมด จากนั้นนำไปไว้ในที่ร่มไม่โดนแสงแดดจัดและรดน้ำอย่างสม่ำเสมอจนเห็นการแตกแขนงของรากและใบที่ เพิ่มจำนวนขึ้น จึงค่อย ๆ ย้ายมาปลูกในกระถางหรือแปลงปลูก เมื่อย้ายมายังกระถางหรือลงแปลงควนใช้ดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดีผสมกับแกลบ ขี้เถ้า หรือขุยมะพร้าว เพื่อเป็นปุ๋ยสำหรับการเจริญเติบโตและไม่ควรรดน้ำมากเกินไป อาจจะส่งผลให้รากเน่า ต้นตายไม่สามารถเติบโตต่อไปได้

 

การดูแล 

การตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้เกิดการงอกกิ่งและใบใหม่หรือตกแต่งให้เกิดความสวยงามของทรงต้นหลิวลู่ลม 

ศัตรูพืช เป็นปัญหาของพืชหลายชนิดที่จะต้องเจอกับศัตรูพืชทำลาย ต้นหลิวลู่ลมก็เช่นกันอย่าง ปลวก เมื่อต้นหลิวที่ปลูกไว้ตายจะต้องขุดออก เพราะถ้าไม่ขุดออกจะทำให้ปลวกเข้ามาทำรังอาศัยและเข้ามาทำลายต้นอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้กันหรืออาคารบ้านเรือนได้ ส่วนเพลี้ยแป้ง เมื่อพบแล้วต้องตัดกิ่งทิ้งทันทีเพื่อลดการแพร่ระบาดไปยังกิ่งหรือต้นอื่น นอกจากนี้หากพบต้นหลิวทิ้งใบเหลืองที่เกิดจากเชื้อรา ในกรณีที่มีใบเหลืองเยอะต้องตัดกิ่งทิ้งหรือถ้ามีไม่มากก็เด็ดใบทิ้งได้ 

ประโยชน์ของต้นหลิว 

– นิยมนำมาทำเป็นไม้ประดับตกแต่งสวนเพื่อความสวยงามและเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปลูกในเรื่องความเชื่อที่จะนำโชคลาภและความร่ำรวยมาให้ 

– กิ่งของต้นหลิวสามารถนำใช้เป็นผงถ่านพิเศษหรือกัมมันต์ได้ดี (Activated Charcoal) 

สรรพคุณของต้นหลิว 

– ดอกและยอดอ่อนนำมาต้มเป็นยาลดไข้ แก้ปวด 

– กิ่งแห้งนำมาต้มบรรเทาอาการปวดตามข้อ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว ขับลม ยาแก้ตับอักเสบ 

– กิ่งและใบสดนำมาต้มป้องกันโรคตับอักเสบชนิดเอได้ 

– กิ่งสด นำมาเผาเป็นถ่านและบดเป็นผงให้ละเอียดผสมกับน้ำมันงาทำเป็นขี้ผึ้ง รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก 

– กิ่งแห้ง นำมาเผาเป็นถ่านผสมน้ำ รักษาฝีคัณฑสูตร รำมะนาด และไฟลามทุ่ง 

เกร็ดความรู้ 

กิ่งของต้นหลิวมีคุณสมบัติพิเศษที่นำมาเป็นถ่านพิเศษหรือกัมมันต์ (Activated charcoal) ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษเบื้องต้นเพื่อไม่ให้สารพิษหรือสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจนำไปผสมกับยาชนิดอื่นเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาอาการของโรคต่าง ๆ เช่น อาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย เป็นต้น การใช้ยาต้องศึกษาวิธีใช้ให้ละเอียด รอบคอบและขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้สาร Salicin ที่สกัดได้จากต้นหลิวมีผลในการระงับอาการปวดและไข้ จึงนำมาเป็นแหล่งกำเนิดของกรดชื่อว่า Acetyl salicylic acid ใช้เป็นสารสำหรับทำยาแอสไพรินนั่นเอง 

เรียกได้ว่าต้นหลิวลู่ลม เป็นไม้ยืนต้นที่มีกิ่งห้อยที่ทั้งสวยงามและดูแปลกตาจนหลายปีที่ผ่านมาได้รับความนิยมมาก ๆ ยิ่งเมื่อปลูกใกล้กับริมน้ำเราจะได้เห็นภาพสะท้อนของต้นหลิวไปพร้อมกับเงาสะท้อนของตัวเราเพื่อทบทวนช่วงเวลาที่ผ่านมาหรือซึบซับบรรยากาศที่สงบสุขให้จิตใจได้ปล่อยไปกับสายงามและการไหวของต้นหลิวลู่ลม สำหรับคนที่กำลังมองหาต้นไม้ที่จะนำไปตกแต่งสวน พลาดไม่ได้ที่จะนำต้นหลิวลู่ลมไปปลูกที่ให้ทั้งความสวยงามและความสิริมงคลได้อีกด้วย 

แหล่งอ้างอิง

หลิว, Wikipedia
หลิว อ่อนช้อย ลู่ลม

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้