เข็มชมพูพิษณุโลก ดอกใหญ่สวย ช่วยเนรมิตสวนได้อย่างดี

เข็มชมพูพิษณุโลก (Ixora hybrid) เป็นไม้ดอกที่มีีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้พุ่มที่มีลำต้นทรงกระบอก ผิวเรียบ สีน้ำตาล กิ่งยอดสีเขียว แตกกิ่งตรงขึ้นด้านบน ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน เชื่อว่าหลายคนต้องรู้จักต้นเข็มกันดีแต่น้อยคนจะรู้ว่าต้นเข็มก็เป็นไม้อีกชนิดที่มีหลากหลายสายพันธุ์มาก ๆ ซึ่งลักษณะก็จะต่างกันไปตามลักษณะของดอกและต้น โดยเข็มชมพูพิษณุโลกนี้มีความโดดเด่นที่สีชมพูสว่างสดใสและดอกที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ หลายคนจึงมักจะซื้อไปปลูกประดับประดาสวนหรือตกแต่งรั้วบ้านให้สวยงาม เพราะฉะนั้นวันนี้เกษตรทูเดย์จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับต้นเข็มชนิดนี้กัน

ข้อมูลทั่วไปของต้นเข็มชมพูพิษณุโลก

ชื่อไทย: เข็มพิษณุโลก

ชื่อภาษาอังกฤษ: Ixora, West Indian Jasmine

ชื่อวิทยาศาสตร์: Ixora sp. 

ตระกูลพืช:  RUBIACEAE

ลักษณะโดยทั่วไปของต้นเข็มชมพูพิษณุโลก

เข็มชมพูพิษณุโลก ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ ‘สารสนเทศท้องถิ่นนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี’ กล่าวถึงลักษณะทางพฤกษศาสตร์ไว้ ดังนี้

ที่มา: https://www.amazon.in

ส่วนลำต้น

เป็นประเภทไม้พุ่มที่มีขนาดเล็ก ลำต้นทรงกระบอกแบบพุ่มที่ค่อนข้างจะแน่นและทึบ ความสูงของต้นประมาณ 0.5 เมตร ลักษณะของต้นมีการแตกกิ่งก้านเป็นจำนวนมาก กิ่งยอดจะมีสีเขียว

ส่วนใบ

จะเป็นลักษณะใบเดี่ยวที่ออกเรียงตรงกันข้ามในลักษณะสลับตั้งฉากกัน ใบเป็นรูปหอกกลับหรือรูปไข่กลับ ความยาวของใบราวๆ 2-4 เซนติเมตร ความกว้าง 1-2 เซนติเมตร ส่วนปลายใบกับโคนใบออกมนๆ ขอบใบจะบิดคล้ายคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบมีความมันและเป็นสีเขียวปนเหลือง

ส่วนดอก

จะออกตรงส่วนปลายของกิ่งในแบบช่อเชิงกระจุก แล้วมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกเป็นลักษณะคล้ายรูปเข็ม กลีบดอกออกสีชมพู โคนกลีบเชื่อมติดกันเหมือนหลอด มีความยาวประมาณ 1.8-2.0 เซนติเมตร ปลายกลีบจะแยกออกเป็น 4 แฉก
ในลักษณะรูปรีปลายยาวแหลม และกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวมีจำนวน 5 กลีบ  

ความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกเข็มชมพูพิษณุโลก

หากเอ่ยถึงการปลูกเข็ม เรียกได้ว่ามีความเชื่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล ยิ่งกับพิธีการสำคัญ ๆ อย่างการไหว้ครูบาออาจารย์หรือผู้ที่เราเคารพนับถือแล้ว เรียกได้ว่าดอกเข็มเป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญมาก ๆ เพราะเชื่อว่าต้นเข็มเป็นตัวแทนของความฉลาดหลักแหลม หรือความเฉียบแหลม เพราะเข็มคือสิ่งที่มีความแหลมคม ดังนั้น คนไทยโบราณจึงใช้ดอกเข็มในพิธีไหว้ครูเพื่อจะได้เป็นนักปราชญ์ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม อีกทั้งยังใช้ดอกเข็มเป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพิธีทางศาสนาอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นเข็มสีชมพูก็ยิ่งสื่อถึงความอ่อนหวาน อ่อนโยน นุ่มนวล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จิตใจดี รวมถึงความรัก มิตรภาพ สุขภาพที่ดีและมีเสน่ห์ อีกทั้งเป็นสีที่มีพลังในทางอารมณ์ช่วยให้จิตใจสงบ ผ่อนคลายและอ่อนโยนแถมยังดึงดูดความกระปรี้กระเปร่ากับความสนุกสนานได้ด้วย

เข็มชมพูพิษณุโลกควรปลูกไว้บริเวณไหน

สำหรับการปลูกต้นเข็มพิษณุโลกนอกจากจะสามารถปลูกเพื่อความสวยงามได้แล้ว ก็ยังสามารถปลูกเพื่อปรับทิศทางหรือสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับบ้านหรือที่ทำงานของเราได้ด้วย โดยผู้ปลูกควรลงมือปลูกต้นไม้ ชนิดนี้ในวันพุธ เพราะคนโบราณเชื่อว่า ต้นไม้ที่ให้ดอกและมีสีสันสวยงาม นำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น หากปลูกในวันพุธก็จะยิ่งเพิ่มคุณสมบัติที่ดีของต้นไม้ให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย ต้นเข็มจะช่วยเพิ่มความเป็นสิริมงคล และช่วยเสริมสติปัญญาให้กับผู้เป็นเจ้าของได้ ถ้าหากปลูกต้นเข็มไว้ทางทิศตะวันออกของบ้าน

เข็มชมพูพิษณุโลก
เข็มชมพูพิษณุโลก

วิธีปลูกเข็มชมพูพิษณุโลก

(1) การปลูกในกระถาง ให้ใช้กระถางทรงสูงขนาด 8-12 นิ้ว จากนั้นใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ดินร่วน และ แกลบผุ ผสมกันในอัตราส่วน 1:1:1 ใส่ลงไปในกระถาง แล้วจึงนำต้นไม้ลงปลูก

(2) การปลูกในแปลงปลูก เป็นการปลูกเพื่อใช้ประดับในบริเวณบ้าน รั้ว หรือสวน ซึ่งสามารถตัดแต่งรูปทรงได้ตามความเหมาะสม โดยหลุมปลูกจะมีขนาด 30x30x30 เซนติเมตร จากนั้นใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ดินร่วน ผสมกันในอัตราส่วน 1:2 แล้วจึงนำต้นไม้ลงปลูก

การดูแลเข็มชมพูพิษณุโลกให้สวยงาม

แสง

ต้นเข็มพิษณุเป็นไม้พุ่มที่ชอบแสงแดดมาก ๆ ต้องเป็นแสงแดดเต็มวัน ปลูกกลางแจ้งได้ดีหรืออย่างน้อยต้องเป็นแดดครึ่งวัน ดังนั้น จึงควรจะปลูกไว้ในที่ที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน เพื่อให้ออกดอกได้เยอะและสีสันสวยงามยาวนาน

น้ำ

นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องแสง การดูแลต้นเข็มชนิดนี้ให้สวยงามยาวนานคือการควบคุมปริมาณน้ำ เนื่องจากเข็มเป็นไม้ที่มีความสามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ค่อนข้างดี การให้น้ำจึงสามารถรดน้ำ 3-5 วันต่อครั้ง ได้ ไม่จำเป็นต้องรดบ่อยเพราะอาจทำให้รากเน่าตายหรือใบเหลืองได้

ดิน

การปลูกเลี้ยงต้นเข็มพิษณุสามารถใช้ดินร่วยซุยทั่วไป หรือถ้าให้ดีจะใช้ดินผสมแกลบดำหรือวัสดุปลูกเพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้ดินมากขึ้นก็ได้ ต้นไม้ที่ชอบดินซึ่งมีความร่วนซุยบวกมีความชุ่มชื้น แต่ดินร่วนปนทรายก็สามารถใช้ปลูกได้

ปุ๋ย

สำหรับใครที่ต้องการให้ต้นเข็มพิษณุโลกออกดอกสวยงาม ยาวนานและดอกใหญ่แบบที่เราต้องการ สามารถใช้บำรุงได้ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ในอัตราส่วน 0.5-1 กิโลกรัมต่อต้นและควรจะใส่ปุ๋ย 5-6 ครั้งต่อปี เป็นเคล็ดลับดี ๆ ที่ช่วยให้ดอกเข็มมีสีสันสวยงามและออกดอกตลอดปี

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

(1) เข็มพิษณุโลกเป็นไม้พุ่มที่อดทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี (2) มีความต้องการน้ำในระดับปานกลางจนถึงน้อย ดังนั้นจึงไม่ต้องรดน้ำบ่อยมากก็ได้ (3) ดูแลไม่ยาก (4) มีความเจริญเติบโตค่อนข้างช้า (5) การออกดอกจะมีได้ตลอดปีและดอกมีสีสันสวยงาม (6) ราคาไม่แพง (7) สามารถปลูกสำหรับเป็นไม้ประดับไว้กลางแจ้งได้ (8) สามารถตัดแต่งรูปทรงได้ตามต้องการ (9) เหมาะกับการจัดและตกแต่งสวน (10) สามารถปลูกไว้ริมรั้วบ้านได้ (หมายเหตุ : เข็มชมพูพิษณุโลกเป็นต้นไม้ที่ไม่ค่อยจะทนต่อสภาพดินเค็มจึงควรระมัดระวังเรื่องนี้)  

นอกเหนือไปจากข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว เข็มชมพูพิษณุโลก ก็จัดว่าเป็นต้นเข็มชนิดหนึ่ง ซึ่งเข็มเป็นพรรณไม้ที่มีประวัติยืนยาวและมีความเป็นมงคล  ดังที่ประเทศอินเดียได้ถือว่าดอกเข็มเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้สักการะบูชาเทพเจ้า แล้วในประเทศไทยก็ได้มีประเพณีพิธีไหว้ครูมานาน โดยในพานไหว้ครูจะนำดอกเข็มเป็นส่วนหนึ่งของพานด้วย เนื่องจากความเชื่อของดอกเข็มเปรียบเสมือนความเฉลียวฉลาด ความมีปัญญาแหลมคมนั่นเอง และอีกหนึ่งความเชื่อที่ได้ยินมานานก็คือ ดอกเข็มจัดเป็นดอกไม้แห่งความโชคดี เฉพาะอย่างยิ่งเวลาได้พบเจอดอกเข็มที่มี 6 กลีบ และถ้าพบดอกเข็ม 6 กลีบ ได้ครบ 9 ดอกก็จะยิ่งพบกับโชคลาภครั้งใหญ่ ด้วยความเชื่อและความเป็นมงคลนั้นๆ การปลูกต้นเข็มไว้ที่บ้านจึงเชื่อกันว่าจะช่วยทำให้คนที่บ้านมีสติปัญญาฉลาดหลักแหลมขึ้น แล้วการปลูกควรจะปลูกในทิศตะวันออกของบ้านและให้ปลูกในวันพุธ เพื่อความเป็นสิริมงคลของคนทั้งบ้าน

เข็มชมพูพิษณุโลก เหมาะกับทุกคนที่ต้องการไม้พุ่มมีดอกไว้ประดับตกแต่งสวนหรือตามพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้าน มีความทนทานด้านสภาพอากาศ และปลูกดูแลได้ค่อนข้างง่าย ๆ สามารถจัดหาต้นเข็มพันธุ์นี้ได้ที่ตลาดต้นไม้เกษตรทูเดย์ โดยราคาต้องเรียกว่าทุกคนสามารถจับต้องได้

อ้างอิงข้อมูล

เข็มพิษณุโลกชมพู, สารสนเทศท้องถิ่นนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
Care Of Ixora Plant: How To Grow Ixora Shrubs
Ixora, Wikipedia

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้