ไผ่ซางหม่น ปลูกสวยงามได้ ปลูกแปรรูปขายรายได้ดี

ไผ่ซางหม่น เป็นไผ่อีกชนิดที่อาจจะยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนักเมื่อเทียบกับไผ่เลี้ยง หรือไผ่ชนิดอื่นที่ปลูกไว้ค้าขายในทางเศรษฐกิจ แต่จริง ๆ แล้วไผ่ซางหม่นมีความน่าปลูกไม่แพ้ไผ่อื่น ๆ เลย ด้วยลำต้นที่ไม่ได้ดูใหญ่มาก แตกกอได้ดี โตเร็ว ให้หน่อไผ่จำนวนมากและสามารถนำลำไผ่ไปแปรรูปขายได้ อีกทั้งใครที่อยากจะหาไผ่มาทำรั้ว หรือปลูกประดับสวน ไผ่ซางหม่นก็ตอบโจทย์ได้ดี ให้ความสวยงาม ร่มรื่น ดูแลง่าย ตัดแต่งกอได้ตั้งแต่ยังเล็ก อีกทั้งยังมีความเชื่อเกี่ยวกับไผ่มงคลที่จะมอบพลังมังกรที่ดีเมื่อปลูกไว้หน้าบ้าน เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับไผ่ชนิดนี้กัน

 

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับไผ่ซางหม่น           

ชื่อไทย : ไผ่ซาง หรือไผ่ซางหม่น

ชื่อภาษาอังกฤษ : Dendrocalamus sericeus

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrocalamus sericeus Munro

ชื่อวงศ์ : GRAMINEAE 

จากข้อมูลของ ‘สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้’ ได้มีการอธิบายรายละเอียดของไผ่ซางหม่นไว้ว่า เป็นพันธุ์ไผ่ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือจนเป็นที่ขนานนามว่า ‘เพชรแห่งล้านนา’ พบมากที่จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ ลำปาง และลำพูน  

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

บนเว็บไซต์ ‘พื้นที่ปลูกไม้มีค่า’ ได้บอกเกี่ยวกับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นไผ่ซางหม่น ไว้ดังต่อไปนี้ 

ไผ่ซางหม่น

ลำต้น

จัดเป็นประเภทต้นไผ่ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ลักษณะของต้นจะตรงสวยขนาดสม่ำเสมอ มีความแข็งแรงและมีความสูงราวๆ 15-20 เมตร เส้นรอบวงของลำต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร สีของลำไผ่เมื่อยังอ่อนเป็นสีเขียวและมีคราบคล้ายแป้งสีขาวหรือสีขาวหม่น หากแก่ตัวลำไผ่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล นอกจากนี้ข้อปล้องของไผ่จะมีความถี่ในช่วงโคนและตัน ความยาวของปล้องประมาณ 15-30 เซนติเมตร และไม่มีหนามกับแทบจะไม่ค่อยมีกิ่งแขนง 

ไผ่ซางหม่น

ใบ

จะมีขนาดกลาง ๆ ไม่ใหญ่และไม่เล็ก ลักษณะของใบมีความเรียว
ส่วนปลายจะแหลม ความกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ความยาว 30 เซนติเมตร 

ไผ่ซางหม่น

หน่อ

ส่วนหน่อจะมีขนาดใหญ่ และมีสีน้ำตาลอมม่วงเล็กน้อย ส่วนปลายจะคาดด้วยสีม่วงเป็นแนวยาว  

 

การขยายพันธุ์ไผ่ซางหม่น

ไผ่นั้นมีวิธีขยายพันธุ์ที่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งไผ่ซางหม่นก็เช่นเดียวกัน แต่โดยส่วนใหญ่คนนิยมใช้การขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำ วิธีนี้สามารถทำได้ไม่ยากนัก เริ่มจากตัดต้นไผ่เป็นท่อน ๆ แล้วให้แต่ละท่อนมีส่วนข้ออยู่ตรงกลาง เพื่อให้สามารถนำไปปักชำในดินได้ โดยต้องทำให้ปล้องที่อยู่เหนือข้อมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร สำหรับการรองรับน้ำหนัก ส่วนปล้องที่อยู่ใต้ข้อมีความยาว 5-7 เซนติเมตร จากนั้นก็ตัดกิ่งที่อยู่รอบ ๆ ข้อออกให้หมด ก่อนจะนำไปปักชำลงดิน ให้ใส่น้ำไว้ในปล้องและให้ส่วนตาที่อยู่บนดินปักลงไปในดิน เอียงปล้องประมาณ 45 องศา เพื่อป้องกันน้ำไหลออกจากปล้อง เมื่อเรียบร้อยก็รอเวลาที่ไผ่จะเจริญเติบโตต่อไป

 

ไผ่ซางหม่น

 

คำแนะนำในการปลูกไผ่ซางหม่น

หากใครที่กำลังคิดว่าอยากจะลองปลูกไผ่ซางหม่น ทางเกษตรทูเดย์ก็อยากจะนำข้อมูลการปลูกดี ๆ มาแบ่งปัน โดยเป็นวิธีง่าย ๆ ที่หลายคนสามารถนำไปทำตามได้ 

(1) ฤดูที่เหมาะสมกับการปลูกไผ่ คือ ฤดูฝน เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอและมีความชุ่มชื้นสูงกว่าฤดูอื่น ทำให้โอกาสที่กิ่งพันธุ์จะตายไม่สูง แต่หากจัดการพื้นที่ปลูกให้มีระบบน้ำที่ดีก็สามารถปลูกไผ่ชนิดนี้ได้ทุกฤดูเลย 

(2) การจัดวางแปลงปลูก ที่ดีและเหมาะ แปลงปลูกควรจะมีขนาด กว้างxยาวxลึก 4x2x6 เมตร โดยจัดระยะห่างระหว่างแปลงประมาณ 6 เมตร สำหรับปลูกพืชชนิดอื่นร่วมด้วย อาทิ ตะไคร้ กล้วย เป็นต้น (แบบนี้เรียกว่าการปลูกเชิงผสมผสาน) 

(3) การจัดหลุมปลูก ในกรณีที่ต้องการปลูกไผ่เพื่อใช้เป็นแนวรั้ว ควรทำระยะห่างระหว่างหลุม 2 เมตร และ หลุมควรมีขนาด 40x40x30 เซนติเมตร (กว้างxยาวxลึก) แล้วควรจะรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยขี้วัวแห้ง 

(4) การเลือกกิ่งพันธุ์ ให้เลือกพิจารณาที่รากเป็นหลัก ซึ่งรากควรจะเดินเต็มหรือทั่วถุงเพาะชำจะทำให้มีการแตกหน่อดีและไว 

(5) จำนวนกิ่งพันธุ์ต่อพื้นที่ ในพื้นที่ขนาด 1 ไร่ เพื่อความเหมาะสมและเจริญเติบโตที่ดีควรใช้กิ่งพันธุ์จำนวน 100 ต้น

 

ไผ่ซางหม่น

 

ประโยชน์ของการปลูกไผ่ซางหม่น

เชื่อว่าน้อยคนที่จะรู้ว่าไผ่ซางหม่นนั้นมีประโยชน์มาก ๆ ไม่ต่างจากไผ่ชนิดอื่น ๆ เลย สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของลำไผ่ สามารถนำลำไผ่ไปแปรรูปเป็นไม้เส้นและส่งเข้าโรงงาน สำหรับทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น เป็นต้น นอกจากนี้ก็ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ โครงสร้างอาคารไม้ไผ่ ไม้ค้ำยัน ส่วนหน่อไม้ก็สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายให้รสชาติอร่อย แล้วยังใช้ทำหน่อไม้ดองที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน ๆ ยิ่งไปกว่านั้นไผ่ชนิดนี้ได้ถูกจัดให้เป็นพืชเศรษฐกิจมาได้สักระยะแล้วซึ่งมีเกษตรกรสนใจปลูกมากขึ้น บางคนปลูกจนทำรายได้ให้ครอบครัวที่ค่อนข้างดีทีเดียว

เรียกได้ว่าไผ่ซางหม่นจะได้กลายเป็นอีกตัวเลือกสำหรับคนที่ต้องการปลูกไผ่ที่ไม่ใหญ่มาก ไม่ลำบากแก่การดูแล อีกทั้งยังใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น สามารถนำไปปลูกในเชิงประดับตกแต่งสวยงามได้ด้วย ถ้าใครสนใจก็ลองซื้อหามาปลูกกันได้ เป็นไผ่ที่หาซื้อได้ไม่ยาก รับรองว่าใครได้ปลูกแล้วจะชื่นชอบไผ่พันธุ์นี้แน่นอน

 

 

 

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

ไผ่ซางหม่น. Dendrocalamus sericeus

ไผ่ซางหม่น, สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้

 

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้