ไผ่สีสุก ต้นไม้แห่งความมั่งมีศรีสุข

ชื่อภาษาอังกฤษ

Bamboo

ชื่อวิทยาศาสตร์

Bambusa blumeana Schult.

ความหมาย

เป็นไผ่ขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรงหรือโค้ง ผิวลำต้นแข็งและเรียบ เมื่อแตกหน่อจะแตกชิดกันเป็นกอใหญ่ แตกกิ่งเฉพาะบริเวณโคนต้นและปลายยอด

ความเชื่อ

ไผ่ขึ้นมาเป็นกอ หมายถึงความสามัคคีกลมเกลียวของคนในบ้าน นอกจากนี้ไผ่ยังเป็นไม้ที่โอนอ่อนตามลม อันหมายถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรักใคร่ปรองดองของคนในครอบครัว ถ้อยทีถ้อยอาศัย ยังถือว่าเป็นไม้กวาดสวรรค์ สามารถปัดกวาดสิ่งชั่วร้ายและนำสิ่งดี ๆ เข้ามาในบ้าน นับเป็นไม้สร้างโชคลาภ

ไผ่สีสุก ภาษาอังกฤษ Bamboo

ไผ่สีสุก ชื่อวิทยาศาสตร์คื Bambusa blumeana Schult.

ไผ่สีสุกสามารถเสริมมงคลได้ด้วยการนำกระถางตั้งไว้ใกล้ประตูหน้าบ้านหรือสำนักงาน 2 กระถาง จะช่วยให้มีความเจริญเติบโตและก้าวหน้าต่อไป ตามความเชื่อแต่โบราณ ไผ่อยู่รวมกันเป็นกอ เปรียบเสมือนความสามัคคีกลมเกลียว หากใครทำตัวให้อยู่ร่วมกันได้แบบกอไผ่ จะมีแต่ความรุ่งเรือง เชื่อกันว่าเป็นไม้ดั้งเดิมในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกหรือหมู่เกาะแปซิฟิคตอนใต้ ในประเทศไทยมักจะขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มริมห้วย แม่น้ำ บ้านในชนบทมักปลูกรอบบ้าน

ความเชื่อเกี่ยวกับไผ่สีสุก

เชื่อกันว่าไผ่ขึ้นมาเป็นกอ หมายถึงความสามัคคีกลมเกลียวของคนในบ้าน นอกจากนี้ไผ่ยังเป็นไม้ที่โอนอ่อนตามลม อันหมายถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรักใคร่ปรองดองของคนในครอบครัว ถ้อยทีถ้อยอาศัย สำหรับคนจีน ไผ่ยังถือว่าเป็นไม้กวาดสวรรค์ สามารถปัดกวาดสิ่งชั่วร้ายและนำสิ่งดี ๆ เข้ามาในบ้าน นับเป็นไม้สร้างโชคลาภ ไผ่สีสุกยังเป็นมงคลนามด้วยคำว่า “สีสุก” ไปพ้องกับคำว่า “ศรี” และ “สุข” ในบางท้องถิ่นเชื่อว่าการปลูกไผ่จะต้องให้คนแก่หรือผู้สูงอายุถึงจะดี คนหนุ่มสาวห้ามปลูกเพราะถือว่าลำต้นไผ่ใช้เป็นคานสำหรับหามโลงใส่ผีไปเผาหรือฝังลงป่าช้า เขาถือว่าหากคนอ่อนอายุปลูกอายุจะสั้นด้วยพอไม้ไผ่โตได้ขนาดจะเป็นเหตุให้คนปลูกตาย และไม้ไผ่นั้นจะถูกตัดมาเป็นไม้หามโลงของคนปลูกพอดี ส่วนคนแก่ปลูก พอไผ่โตได้ขนาดก็อาจจะหมดอายุเองเสียก่อนจึงไม่ให้โทษ

ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน

คนโบราณนิยมปลูกไผ่สีสุกใน 2 แบบ คือปลูกรอบบ้านเพื่อกันลม กันขโมย หรือปลูกไว้ในทิศตะวันออกของบ้านเพื่อเอาเคล็ดที่เรียกขานกันว่าเป็นสิริมงคลแก่ตน มงคลนาม “สีสุก” จะส่งผลให้คนในบ้านเกิดความสุข ความเจริญ มีความสุขกายสบายใจทุกอย่าง

ส่วนประกอบของไผ่สีสุก

ลักษณะของลำต้น

ต้นไผ่สีสุกเป็นไผ่ขนาดใหญ่ ลำต้นขนาดประมาณ 8 – 12 เซนติเมตร สูงประมาณ 15 – 20 เมตร ลำต้นตั้งตรงหรือโค้ง โคนต้นเล็ก กลางลำต้นขยายใหญ่ แล้วเรียวเล็กลงจนถึงปลายลำต้น ผิวลำต้นแข็งและเรียบ ลำต้นอ่อนมีสีเขียวอมเทาและมีนวล ลำต้นแก่สีเขียวเข้ม เมื่อแก่เต็มที่จะค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มคล้ายเนื้อสุก จากนั้นจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง หากแก่จนแห้งตายจะกลายเป็นสีเหลืองซีด เมื่อแตกหน่อจะแตกชิดกันเป็นกอใหญ่ แตกกิ่งเฉพาะบริเวณโคนต้นและปลายยอด บริเวณข้อกิ่งของโคนมีหนามแหลม 3 อัน หนามอันกลางจะใหญ่ที่สุด กิ่งปลายยอดไม่มีหนาม

ไผ่สีสุกทอง

ใบ

ใบของไผ่สีสุกจะแตกออกเป็นใบเดี่ยวเรียงเยื้องสลับกกัน 5 – 8 ใบที่ปลายกิ่ง ใบขนาดกลาง ก้านสั้น ขนาดใบกว้างราว 1 – 2 เซนติเมตร ยาว 10 – 20 เซนติเมตร โคนใบสอบเป็นรูปลิ่ม ปลายเรียวแหลม แผ่นใบและขอบเรียบ ใบสีเขียวเข้มและมีขนสากมือปกคลุม ใบแก่หรือใบแห้งมีสีน้ำตาล เมื่อร่วงจะมีสีเหลืองซีด

ดอก

ไผ่สีสุกออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอดของกิ่งที่แตกบริเวณปลายยอด มีดอกย่อยแตกออกบริเวณแต่ละข้อของปลายช่อ

ต้นไผ่สีสุก

สายพันธุ์

ไผ่สีสุกเป็นไผ่ในสกุลไผ่ป่า (Bambusa) พบได้ในป่าทั่วทุกภาคของไทย ทั้งในเขตธรรมชาติและชุมชน มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ตัวอย่างของไผ่ในสกุลนี้ เช่น ไผ่สีสุก ไผ่น้ำเต้า ไผ่เหลือง ไผ่ป่า ไผ่บงหวาน ไผ่กำยาน ไผ่ลำมะลอก ไผ่บงดำ ไผ่บงบ้าน ไผ่หลอด ไผ่ลิ่วจู๋ ไผ่กิมซุ่ง

วิธีการปลูก

ไผ่สีสุกสามารถขึ้นเองตามป่าราบและเขาสูง สามารถขยายพันธุ์ด้วยหน่อที่แทงออกมาจากโคนต้น หากปลูกเองมีหลายวิธี เช่น ปลูกด้วยเหง้า เพาะเมล็ด และปักชำ แต่ที่นิยมที่สุดคือการปักชำ โดยตัดท่อนไผ่ให้ติดข้อปล้อง 1 ข้อตา แล้วนำมาปักไว้ในวัสดุชำ เอียงประมาณ 45 องศา ปลูกเรียงเป็นแถวเดียวกันเพื่อสะดวกในการดูแลรักษา จากนั้นเติมน้ำลงในกระบอกไผ่ให้เต็ม ประมาณ 4 สัปดาห์หน่อจะแตกออกจากตาไผ่ รากจะงอกจากปุ่มใต้ตา อีกวิธีคือตัดท่อนไผ่ให้ติดข้อตา 2 ข้อตา แล้วเจาะตรงกลางระหว่างข้อตาสำหรับเติมน้ำลงไปในปล้อง แล้วนำไปวางนอนในวัสดุชำแนวราบก็ได้ ก่อนปลูกด้วยการปักชำให้ขุดหลุมกว้างประมาณ 30 x 30 ตารางเซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร โรยก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 1 ถังเล็กแล้วคลุกหน้าดินให้ผสมเข้ากัน แล้วจึงนำท่อนไผ่ลงฝังลึกประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม

ไผ่สีสุก ไม้มงคล

วิธีการดูแล

  • แสง: ไผ่ชอบแสงแดดมาก ๆ ควรปลูกไว้กลางแจ้งที่โดนแดดมาก
  • น้ำ: ไผ่ชอบน้ำ ควรให้น้ำปริมาณปานกลาง วันละ 5-7 ครั้ง โดยมากนิยมปลูกในฤดูฝน
  • ดิน: ไผ่สีสุกขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด โดยเฉพาะดินเหนียวปนทรายหรือดินทราย
  • ปุ๋ย: ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตราส่วน 1:2 กิโลกรัมต่อต้น ปีละ 2 – 4 ครั้ง หรือหากหาปุ๋ยธรรมชาติไม่ได้ ก็สามารถใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15 – 15 – 15 หรือ 16-20-0 อัตรา 200-300 กรัมต่อต้น ใส่ปีละ 2 – 4 ครั้ง ก็ได้เช่นกัน

ประโยชน์เเละสรรพคุณไผ่สีสุก

ในอดีต คนโบราณมักปลูกไว้รอบบ้านเป็นรั้วกันขโมยและกันลม หน่อไม้ที่ยังไม่โผล่พ้นดินใช้ทำอาหารได้ มีรสชาติดี เมื่อโผล่พ้นดินมาประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร มักนิยมเอามาทำหน่อไม้ดอง จะได้หน่อไม้ดองรสชาติเปรี้ยว สีขาว เก็บได้นาน ไม่เปื่อยเหมือนหน่อไม้ชนิดอื่น ไผ่สีสุกยังมีเนื้อไม้หนาแข็งแรง สามารถใช้สร้างบ้านในชนบทได้ทนทาน นอกจากนี้ยังสามารถนำมาทำเครื่องจักสาน เครื่องมือประมง และใช้ทำนั่งร้านสำหรับการก่อสร้างได้ โคนไผ่นิยมนำมาทำไม้คานหาบและกระดาษที่ให้เนื้อเยี่อสูง ใบของผาสีสุกมีรสขื่นและเฝื่อน มีสรรพคุณทางยา สามารถใช้ขับและฟอกล้างโลหิตระดูที่เสีย แก้มดลูกอักเสบ ขับปัสสาวะ ตาไผ่ก็มีรสเฝื่อน ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษไข้ ส่วนของรากมีรสกร่อย เอียนเล็กน้อย สามารถใช้ขับปัสสาวะ ขับนิ่วได้ ชาวไร่ชาวนานิยมปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ไร่นาอุดมสมบูรณ์ ได้ผลผลิตมาก ยังสามารถตัดมาใช้ทำรั้วนา เพื่อกั้นวัวควายรุกล้ำ

ราคาไผ่สีสุก

ไผ่สีสุกราคามีตั้งแต่ต้นละ 120 – 300 บาท

ที่มา

http://dspace.lib.buu.ac.th

https://www3.rdi.ku.ac.th

อยากให้มีเนื้อหาเรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ