หญ้ารูซี่ พืชปลูกง่าย ขายได้ตลอดปีเป็นที่ต้องการของตลาดปศุสัตว์

หญ้ารูซี่ (Ruzi Grass) มีอีกชื่อว่า หญ้าคองโก เป็นพันธุ์พืชหญ้าที่มีลักษณะแบบค้างปี ได้รับความนิยมในกลุ่มเกษตรที่ทำการเกษตรกึ่งปศุสัตว์ว่าสามารถปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ทดแทนได้มากถึง 60% เป็นทางเลือกและทางรอดของเกษตรกรที่สูญเสียเงินทุนจากค่าอาหารสัตว์มหาศาลต่อปี อีกทั้งการเก็บหญ้าตามธรรมชาติยิ่งทำปศุสัตว์ภายในพื้นที่ชุมชนก็ยิ่งหาได้ยากเพราะมีหลายครัวเรือนที่ทำปศุสัตว์แล้วต้องแบ่งกันเก็บหญ้าในพื้นที่เดียวกันจนบางครั้งก็ไม่ทันใช้ การปลูกหญ้ารูซี่จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ทางกรมปศุสัตว์ก็ให้การสนับสนุน ด้วยความที่พืชหญ้าชนิดนี้มีถิ่นฐานเดิมจากทวีปแอฟริกาแถบประเทศคองโก จึงสามารถเกิดและเจริญเติบโตได้ดีในประเทศที่เป็นเขตร้อน โดยในปี 2511 ทางองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยและสถานีพืชอาหารสัตว์ปากช่องได้นำหญ้ารูซี่เข้ามาและนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะในภาคอีสาน

หญ้ารูซี่

ลักษณะของหญ้ารูซี่นั้นสามารถสังเกตได้ไม่ยาก เพราะเป็นต้นหญ้าพุ่มที่มีลำต้นสูงประมาณ 150 – 300 เซนติเมตร ส่วนใบแทงออกบริเวณข้อของลำต้น ประกอบด้วยกาบใบที่ค่อนข้างบางคล้ายกระดาษที่มีขนปกคลุม แผ่นกาบใบหุ้มลำต้นยาวประมาณ 9-16 เซนติเมตร โดยหญ้าชนิดนี้มีคุณค่าทางสารอาหารที่ดีกับสัตว์ใหญ่โดยเฉพาะโปรตีน 7-10 เปอร์เซ็นต์ซึ่งรองลงมาจากหญ้าเนเปียร์แต่เป็นที่นิยมปลูกมากกว่าเพราะไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากและสามารถ ใช้เป็นวัตถุดิบของอาหารสัตว์ได้ดี อีกทั้งปัจจุบันยังมีเหล่าเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ปลูกหย้าชนิดนี้เพื่อส่งขายสร้างรายได้เพราะถือเป็นหญ้าที่ตลาดปศุสัตว์ต้องการ ดังนั้น วันนี้ทาง kaset.today ก็ไม่พลาดที่จะรวบรวมข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับหญ้ารูซี่มาให้ทุกคนได้ลองศึกษากัน ทั้งการปลูกและการใช้ประโยชน์จากหญ้าชนิดนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างรายได้หรืออาชีพเสริมในอนาคตด้วย

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหญ้ารูซี่

ชื่อภาษาไทย: หญ้ารูซี่ (หญ้าคองโก)
ชื่อภาษาอังกฤษ:
Ruzi Grass
ชื่อวิทยาศาสตร์:
Urochloa ruziziensis Crins
ตระกูลพืช
: Gramineae

หญ้ารูซี่
ดอกหญ้ารูซี่

ลักษณะเฉพาะของพืชหญ้ารูซี่

สำหรับใครที่ยังไม่เคยรู้จักหญ้าชนิดนี้มาก่อนต้องบอกเลยว่าโดยปกติหญ้าแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะเฉพาะที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ ซึ่งในเอกสารเรื่องหญ้ารูซี่ของทางกรมปศุสัตว์ก็ได้อธิบายถึงลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหญ้าชนิดนี้ไว้ดังต่อไปนี้

ลำต้นหญ้ารูซี่ เป็นพืชอายุหลายปี มีลักษณะลำต้นทั่วไปคล้ายกับหญ้าขน แต่ใบจะเล็ก และดกกว่า โดยหญ้ารูซี่มีลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน และมีลำต้นอีกส่วนเจริญเหนือดิน โดยลำต้นเหนือดินจะแตกลำต้นเป็นกอ ความสูงของลำต้นประมาณ 150-300 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะทรงกลม เป็นข้อปล้อง ข้อปล้องบริเวณโคนต้นมีรากแตกออก ผิวลำต้นเกลี้ยง สีม่วงเข้ม และไม่มีขน

ใบหญ้ารูซี่ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวใบแทงออกบริเวณข้อของลำต้น ประกอบด้วยกาบใบที่ค่อนข้างบาง คล้ายกระดาษที่มีขนปกคลุม แผ่นกาบใบหุ้มลำต้น ยาวประมาณ 9-16 เซนติเมตร ตรงข้อต่อระหว่างกาบใบกับแผ่นใบมีลิ้นใบเป็นขนแข็ง ถัดมาเป็นแผ่นใบที่มีลักษณะเรียวยาว ปลายใบแหลม และมีสีเขียวใบตอง แผ่นใบมีลักษณะแผ่กางออกแบนๆ ขนาดแผ่นใบกว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 20-30 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบน และด้านล่างมีขนแข็งปกคลุม

ดอกหญ้ารูซี่ ออกดอกเป็นช่อ 5-7 ช่อ มีแกนกลางช่อเป็นรูปสามเหลี่ยมมีขนแข็งปกคลุม แต่ละช่อดอกย่อย ยาวประมาณ 4.5-6 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกย่อยที่มีลักษณะรูปไข่กลับ กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตรยาว 5.5-6 มิลลิเมตร

คุณค่าทางโภชนาการหญ้ารูซี่

หญ้ารูซี่จัดอยู่ในกลุ่มพืชหญ้าที่ให้คุณค่าทางโภชนาการได้ดีรองจากหญ้าเนเปียร์ยิ่งในกลุ่มคนทำปศุสัตว์ที่ต้องการลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์และต้องการให้ผลผลิตออกมาดีมีคุณภาพสูง หญ้ารูซี่จะใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตราว ๆ อายุ 43 – 45 วันโดยประมาณ โดยคุณค่าทางโภชนาการของหญ้ารูซี่จะประกอบไปด้วย

  • โปรตีนรวม 8.5%
  • เยื่อใย NDF 65.5%
  • เยื่อใย ADF 37.6
  • พลังงาน 54
  • ฟอสฟอรัส  0.26
  • แคลเซียม 0.57

ขั้นตอนและวิธีการปลูกหญ้ารูซี่

หญ้ารูซี่ ถือได้ว่าเป็นพืชหญ้าที่นิยมปลูกเพื่อใช้เป็นหญ้าเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องเพราะมีใบที่อ่อนนุ่มทำให้สัตว์เคี้ยวได้ง่ายมีโปรตีนสูงและยังสามารถปลูกเพื่อขยายพันธุ์ได้ง่าย ซึ่งการปลูกหญ้าชนิดนี้จะมีความแตกต่างจากพืชหญ้าหลาย ๆ สายพันธุ์ตรงที่ใช้การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดจำนวนมากไม่ได้ใช้การแตกหน่อหรือแตกกอ แต่ก็ยังคงมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีและมีอัตราการเจริญเติบโตเกือบ 100% แม้ว่าจะมีการเพาะปลูกในพื้นที่ที่ดินไม่ดีก็ตาม แต่หญ้าชนิดนี้จะมีเงื่อนไขที่ไม่สามารถเติบโตได้ในที่ลุ่มน้ำขัง ดังนั้น การเตรียมพื้นที่ก่อนปลูกให้มีพื้นที่พอระบายน้ำได้ดีก็จะช่วยให้หญ้าขยายพันธุ์ได้มากและแข็งแรง เพราะฉะนั้นเดี๋ยวเรามาดูขั้นตอนและวิธีการปลูกหญ้ารูซี่ที่ทางกรมปศุสัตว์แนะนำกัน

หญ้ารูซี่
http://www.aecth.org

การเตรียมพื้นที่สำหรับปลูก

อย่างที่ได้บอกไปว่าการปลูกหญ้ารูซี่นั้นจะต้องปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขังแต่การปลูกหญ้าชนิดนี้ถ้าจะให้ขยายพันธุ์ได้ดีจะต้องปลูกในช่วงต้นฤดูฝน คือช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เพราะน้ำฝนจะช่วยให้หญ้าได้รับน้ำอย่างเต็มที่และเจริญเติบโตได้ดี ระบบรากก็จะแข็งแรง ยกเว้นทางภาคใต้ที่ฤดูฝนจะมาช้ากว่าภาคอื่น ๆ ดังนั้น จะเริ่มปลูกหญ้าชนิดนี้ได้ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม

สำหรับเกษตรกรคนไหนที่ต้องการปลูกหญ้ารูซี่ไว้สำหรับการส่งขายหรือขยายพันธุ์ให้ได้ปริมาณมาก การเคลียร์พื้นที่และไถพรวนดินเพื่อเตรียมปลูกจะต้องทำตั้งแต่ช่วงฝนแรกเพื่อเป็นการเปิดหน้าดินและเป็นช่วงที่ดินจะมีความชื้นเหมาะสม การไถพรวนดินบริเวณที่จะปลูกนั้นจะต้องใช้การกลับหน้าดิน

การจัดหาพันธุ์หญ้ารูซี่

การจัดหาเมล็ดพันธุ์หญ้ารูซี่ปัจจุบันไม่ไดยุ่งยากเท่าในอดีตเนื่องจากมีการขายตามช่องทางออนไลน์ ซึ่งเราสามารถสั่งซื้อมาปลูกได้เองหรือถ้าเกษตรกรคนใดที่ต้องการทดลองปลูกแล้วอยากซื้อเมล็ดพันธุ์หญ้าในราคาทุนก็มีจำหน่ายทางศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ทั่วประเทศ โดยเกษตรกรสามารถสั่งจองได้ตั้งแต่เดือนมกราคมและรับเมล็ดพันธุ์ได้ในเดือนเมยายน เมล็ดพันธุ์ที่ได้ก็จะมีคุณภาพดีและมีสิ่งเจือปนอยู่น้อย ซึ่งแน่นอนว่าถ้าคัดเลือกเมล็ดพันธุ์มาดีก็จะช่วยให้หญ้าของเราเจริญเติบโตได้เต็มอัตรา อีกทั้งลักษณะของลำต้นและใบจะมีความสมบูรณ์ แม้ว่าการซื้อเมล็ดพันธุ์หญ้ามาเองแม้ว่าจะได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะมีสารเคมีเจือปนมาด้วย เช่น สารเร่งการเจริญเติบโตต่าง ๆ หรือติดวัชพืชมา ซึ่งเราสามารถทดสอบได้โดยนำเมล็ด 100 เมล็ดมาเพาะในกระบะทรายแล้วดูอัตราการงอกว่าจะได้กี่ต้น

ทางศูนย์วิจัยอาหารสัตว์และสถานีอาหารสัตว์ได้แนะนำการซื้อเมล็ดพันธุ์ว่าให้ตรวจสอบให้ละเอียด เพราะถ้าหากซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีอัตราการงอกต่ำนอกจากจะต้องลงทุนกับเมล็ดพันธุ์ราคาแพงแล้วยังทำให้หญ้างอกไม่สม่ำเสมอ ได้ผลผลิตน้อย โดยทั่วไปแล้วหญ้ารูซี่ใน 1 กิโลกรัมมีเมล็ดประมาณ 225,000 เมล็ด ซึ่งใน 1 ไร่ควรจะใช้เมล็ด 2 กิโลกรัมหรือ 450,000 เมล็ด จากนั้นให้เราประเมินดูว่าถ้าเมล็ดมีความงอก 70% หรือมีต้นงอก 315,000 ต้น ในขณะที่ถ้าเมล็ดมีอัตราการงอก 30% จะมีต้นงอกเพียง 135,000 ต้น

วิธีการปลูกหญ้ารูซี่ด้วยตนเอง

สำหรับวิธีการปลูกหญ้ารูซี่ก็ไม่ได้มีขั้นตอนอะไรที่ยุ่งยาก เพราะหญ้าชนิดนี้สามารถเพาะพันธุ์ได้ทั้การใช้เมล็ดปลูกหรือจะใช้หน่อพันธุ์ปักลงดิน แต่วิธีนี้อาจทำให้หญ้าเจริญเติบโตได้ช้าและได้ปริมาณผลผลิตที่ไม่เต็มอัตรา คนจึงนิยมปลูกด้วยเมล็ดเพราะมีความง่ายดายและรวดเร็วกว่า การปลูกด้วยเมล็ดสามารถใช้วิธีหว่านหรือปลูกเป็นแถวเป็นแนวได้ โดยให้เราจัดระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตรและใช้อัตราเมล็ด 2 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกเป็นแถวจะสะดวกในการกำจัดวัชพืืชมาก กว่าการปลูกแบบหว่าน ส่วนการปลูกด้วยหน่อพันธุ์ให้ใช้ระยะปลูก 50 X 50 เซนติเมตร

หลังจากที่ลงเมล็ดหรือหวานเมล็ดแล้วก็ควรลงปุ๋ยเพื่อรองพื้น ซึ่งก็จะใช้ปุ๋ยสูตร 15 – 15 -15 เหมือนกับการปลูกหญ้าอื่น ๆ ในอัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่และควรใช้ปุ๋ยคอกร่วมด้วยเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน หลังจากนั้นต้องใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) หลังตัดหรือเก็บเกี่ยวหญ้าทุกครั้งในอัตรา 10 – 20 กิโลกรัมต่อไร่ ให้หมั่นตรวจสอบสภาพดินว่ามีความชุ่มชื้นเหมาะสม อาจจะขุดดินบริเวณนั้นลึกลงไป 30 เซนติเมตรเพื่อดูว่าดินยังมีความชื้นอยู่ ในช่วงปีต่อไปควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เช่นเดียวกันกับปีแรกในช่วงต้นฤดูฝน สำหรับช่วงแรก ๆ ในการปลูกจะมีวัชพืชขึ้นมาก เพราะฉะนั้นหลังปลูกหญ้า 2- 4 สัปดาห์จะต้องหมั่นกำจัดวัชพืช อาจใช้วิธีปล่อยวัวหรือควายลงแทะเล็มหรือค่อย ๆ ตัดและดึงออกไปก่อน

การใช้ประโยชน์จากหญ้ารูซี่

สำหรับการใช้ประโยชน์หญ้ารูซี่สามารถที่จะเก็บเกี่ยวครั้งแรก 60 -70 วันหลังการหว่านเมล็ดและสามารถตัดได้ทุก ๆ 30 – 45 วัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรก็จะนิยมใช้ประโยชน์จากการนำไปเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากเป็นหญ้าที่เป็นแหล่งรวมสารอาหารสำคัญ ๆ อย่างโปรตีนที่มีสูง 7 – 10% อีกทั้งยังเป็นแหล่งพลังงาน แร่ธาตุ กากใยอาหาร แคลเซียมและฟอสฟอรัสด้วย แต่นอกเหนือจากการใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์แล้วหญ้ารูซี่ยังสามารถใช้ประโยชน์ในแง่ต่าง ๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาดูกันว่าหญ้ารูซี่มีประโยชน์อะไรบ้าง

หญ้ารูซี่
เมล็ดหญ้ารูซี่

1) ปลูกหญ้าสดให้สัตว์แทะเล็ม

สำหรับการตัดหญ้าสดเป็นวิธีพื้นฐานที่สุดของเกษตรกรที่จะนำหญ้าไปให้สัตว์กินเป็นอาหาร ยิ่งสำหรับใครที่ใช้หญ้ารูซี่เลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูฝนมีผลผลิตสูงก็ควรจะตัดหญ้าสดเก็บไว้สำรองอาหารไว้ใช้ในช่วงแล้งด้วย แต่ในบางกรณีก็มีเกษตรกรที่ใช้การปลูกในพื้นที่ของตัวเองจากนั้นก็ปล่อยสัตว์ที่เลี้ยงออกมาแทะเล็มเองโดยไม่ต้องตัดให้ยุ่งยาก ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ง่ายดายและให้สัตว์ได้รับสารอาหารจากหญ้าอย่างเต็มที่ด้วย เราจะเห็นการใช้วิธีนี้บ่อย ๆ ในการเลี้ยงโคนมที่มีการให้อาหารข้นตามผลผลิตน้ำนมที่ได้ โดยจะใช้พื้นที่ปล่อยสัตว์แทะเล็ม 1 ไร่ต่อตัว โดยแบ่งแปลงออกเป็น 3 ส่วน ใช้ปล่อยโคแทะเล็ม 1 ส่วน อีก 2 ส่วนใช้สำหรับทำหญ้าแห้งหรือหญ้าหมักเพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงที่ขาดแคลนหญ้าสด
สำหรับโคเนื้ออาจให้พื้นที่ในการแทะเล็มหญ้าที่กว้างขึ้น 1.5 ส่วนต่อไร่ต่อตัว อย่างน้อยควรจัดการปล่อยสัตว์แทะเล็มแบบหมุนเวียนทุก ๆ 5 – 7 วัน

2) ปลูกเพื่อใช้เป็นพืชคลุมดิน

หญ้ารูซี่เป็นหญ้าที่สามารถดูดซับน้ำได้ดีและมีการระบายน้ำที่ดีเช่นกัน ดังนั้น เรามักจะเห็นการปลูกหญ้าชนิดในในบริเวณขอบบ่อดินหรือที่ลาดเอียงเพื่อใช้ซึมซับน้ำได้ดีลดการเกิดดินถล่ม นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการสนับสนุนให้ปลูกหญ้าชนิดนี้ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาพื้นที่การเกษตรเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพด ให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกหญ้ารูซี่ทดแทนเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กับโค-กระบือและไม่ทำให้ดินบริเวณนั้นเสียหายด้วย

3) ปลูกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอาหารหมัก

การนำหญ้ารูซี่มาหมักจะเป็นประโยชน์มากในช่วงฤดูแล้งหรือเป็นอีกวิถีถนอมอาหารหรือสำรองอาหารไว้ในรูปหญ้าหมัก ซึ่งวิธีหมักให้เริ่มจากการตัดหญ้ารูซี่ที่อายุ 30 – 45 วันแล้วนำมาหั่นให้มีขนาดเล็กลงด้วยเครื่องตัดหญ้า จากนั้นบรรจุลงในถุงดำหรือกระสอบพลาสติกสานอัดให้แน่นพร้อมกับมัดหรือเย็บปากถุงให้มิดชิดที่สุดาจใช้การคลุมด้วยถุงหลาย ๆ ชั้นเพื่อป้องกันอากาศจากภายนอก ให้หมักประมาณ 3 สัปดาห์ก็สามารถนำมาเลี้ยงสัตว์ได้ไม่ควรเก็บไว้นานจนเกินไป

4) นำหญ้าไปอัดฟางขาย

แน่นอนว่าอีกช่องทางที่เราสามารถใช้ประโยชน์หญ้ารูซี่ได้คือการนำไปตากแห้ง ในระยะที่ฝนทิ้งช่วงหรือช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม การตัดหญ้ามาตากแห้งควรตัดที่ตอนที่มีอายุประมาณ 30 วัน โดยให้นำหญ้าที่ตัดมาตากไว้ในแปลงและกระจายกองหญ้าวันละ 2 – 3 ครั้งทุกวันเพื่อให้หญ้าได้รับแสงแดดมากที่สุด โดยการทำหญ้าอัดแห้งก้อนจะต้องนำหญ้ารูซี่ที่ตากแห้งมาอัดใส่กล่องไม้สี่เหลี่ยมขนาด 35×70 cm. ใช้แรงงาน 1 – 2 คนก็จะได้ฟางก้อน 3 – 5 ฟ่อนที่มีน้ำหนัก 10 – 12 กิโลกรัม แต่วิธีนี้จะใช้ทั้งแรงและเวลามากทีเดียวปัจจุบันคนจึงหันมาใช้วิธีที่ทันสมัยขึ้นอย่างการใช้เครื่องอัดหญ้าขนาดเล็ก ( 8 – 10 แรงม้า) ใช้แรงงาน 4 คนแต่สามารถอัดหญ้าแห้งได้ชั่วโมงละ 60 ก้อน ลงทุนแค่ค่าเครื่องอัดในครั้งแรกและค่าแรงงานเล็กน้อย โดยราคาปัจจุบันหญ้าอัดก้อนจะขายฟ่อนละ 40 – 50 บาทและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย

5) การเก็บเมล็ดหญ้ารูซี่ขาย

สำหรับวิธีการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์หญ้ารูซี่นั้นต้นหญ้ารูซี่จะเริ่มตั้งช่อออกดอกประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม หลังจากนั้นประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมเมล็ดหญ้าจะแก่และร่วง เกษตรกรจะเริ่มเก็บเมล็ดแล้วนำเมล็ดที่ได้มาผึ่งในที่ร่ม 2 วันจากนั้นก็นำไปตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน เมื่อเมล็ดหญ้าแห้งสนิทแล้วจึงนำมาเป่าทำความสะอาดด้วยพัดลมหรือเครื่องทำความสะอาดเมล็ดหญ้า เพื่อให้เมล็ดที่ลีบเสียหรือเศษใบและสิ่งเจือปนอื่น ๆ ออกให้หมด เสร็จแล้วจึงบรรจุเข้าถุงหรือกระสอบเพื่อเก็บไว้ปลูกเป็นแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ต่อไปก็ได้แต่ต้องให้เมล็ดพักตัวประมาณ 3 – 4 เดือนอัตราการงอกจึงจะดีสามารถใช้ปลูกได้ แต่ใครที่อยากหารายได้ก็สามารถนำไปบรรจุขายให้แก่ผู้ที่สนใจอยากจะปลูกหญ้ารูซี่ ปัจจุบันราคาเมล็ดพันธุ์หญ้ารูซี่จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท

จะเห็นได้ว่าการปลูกหญ้ารูซี่นั้นมีประโยชน์มาก ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการลดต้นทุนค่าอาหารในระยะยาว เพราะแน่นอนว่าการทำอาชีพปศุสัตว์นั้นเป็นงานที่ต้องอาศัยเวลาในการเก็บเกี่ยวแต่ระหว่างทางเรายังคงต้องลงทุนอยู่ ดังนั้น การมองหาตัวช่วยที่ดีที่จะช่วยลดต้นทุนเหล่านั้นก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งทาง Kaset today ก็อยากยกมาแนะนำให้ทุกคนได้ลองไปปลูกกัน

แหล่งที่มา
การปลูกหญ้ารูซี่, สำนักพัฒนาอาหารสัตว์
หญ้ารูซี่, กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ปลูกหญ้ารูซี่ อาหารสัตว์ทดแทน, มูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเทศไทย

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้