แมลง บั่ว ศัตรูพืชข้าว พร้อมวิธีป้องกันและกำจัด

แมลงบั่ว แมลงที่ภายนอกดูบอบบาง ขนาดเล็กทั่วไปมีความยาวเพียง 2-3 มิลลิเมตร หน้าตาละม้ายคล้ายยุง ปีกมีขน มีหนวดยาว ตามข้อมูลกล่าวว่ามีมากกว่า 5,000 ชนิดทั่วโลก และถือเป็นแมลงศัตรูพืชอีกชนิดที่เป็นตัวแปลสำคัญทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ การทำการเกษตรประเภทข้าว

จากข้อมูลของ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จังหวัดเชียงใหม่ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดของแมลงบั่ว (Oseolia oryzae , Wood-Mason/gall midge) กำลังสร้างผลกระทบให้กับพันธุ์ข้าวไร่ท้องถิ่นดั้งเดิม ที่ปลูกในบริเวณพื้นที่สูงโอบล้อมด้วยขุนเขา ซึ่งเคยให้ผลผลิตสูงและมีรสชาติอร่อยแต่กลับมีผลผลิตลดลงอย่างมากเมื่อมีการแพร่ระบาดของบั่ว ซึ่งแม้บริเวณดังกล่าวจะเป็นพื้นที่สูงในระดับ 800-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ก็ไม่เป็นปัญหากับเจ้าแมลงบั่ว ศัตรูตัวฉกาจให้ออกอาละวาดทำลายพืชผลในข้าวไร่บนที่สูงเหมือนเช่นที่พบในนาข้าวพื้นที่ราบ

แมลงบั่วนั้นไม่เพียงแต่สร้างปัญหาให้กับนาข้าวเจ้าเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับข้าวสาลีชนิดอื่นๆที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมถึงผักและผลไม้ และไม้ดอกไม้ประดับอีกหลายชนิด ในบทความนี้เราจึงอยากพาทุกท่านออกสำรวจ เจ้าแมลงตัวเล็กกัดไม่เจ็บแต่ทำให้เจ็บใจได้มากกว่าเพราะต้องสูญเสียผลผลิตที่เพาะปลูกไปกับพวกมัน ให้เข้าใจธรรมชาติการดำรงชีวิต การออกหากิน รูปแบบวิธีการทำลายผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการกำจัดและควบคุมการแพร่ระบาดของพวกมันอย่างเห็นผล เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปรับใช้กับพืชผลทางการเกษตรของท่านต่อไป

บั่วกล้วยไม้
www.farmagrothailand.com

ลักษณะทางชีววิทยาที่สำคัญของแมลงบั่ว

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ประเทศไทย มีพืนที่ในการเพาะปลูกข้าว ถึงกว่า 64 ล้านไร่ ตามข้อมูลทางสถิติของ กองวิจัยและพัฒนาข้าว โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่การปลูกข้าวมากที่สุด ตามมาด้วย ภาคกลาง และภาคเหนือ
ด้วยเหตุนี้เอง แมลงบั่ว จึงเป็นแมลงศัตรูพืชที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากของระบบเศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทย

แม้จะพบได้ตามบริเวณพื้นที่เพาะปลูกข้าวโดยทั่วไป แต่เจ้าบั่วซึ่งโปรดปรานชื่นชอบความชื้นแฉะเป็นที่สุด จึงมักพบได้มากในเขตนาน้ำฝน โดยรูปร่างสันฐานของพวกมัน ส่วนมากแล้วจะมีขนาดความยาวลำตัวไม่เกิน 8 มิลลิเมตร โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2-6 มิลลิเมตร มีลักษณะโดยรวมคล้ายยุงหรือริ้น บั่วเพศเมียจะมีบริเวณส่วนท้องเป็นสีแดงให้สังเกตได้ ส่วนเพศผู้นั้น จะมีลำตัวสีน้ำตาลปนเหลือง

แมลงบั่วมะม่วง
www.flickr.com

วงจรชีวิตของแมลงบั่ว

วงจรชีวิตของแมลงบั่ว เริ่มต้นจากการที่ตัวเต็มวัยของพวกมันจะมาวางไข่บนใบข้าว ลักษณะไข่ของมันจะคล้ายกล้วยหอม ยาวประมาณ 0.45 มม. กว้างประมาณ 0.09 มม. มีลักษณะใส โดยเพศเมีย 1 ตัวสามารถที่จะวางไข่ได้กว่าหลายร้อยฟองในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน จากนั้นจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 วัน โดยที่หากมีอุณหภูมิความชื้นที่เหมาะสม ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศระหว่าง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ไข่เหล่านั้นจะฟักออกเป็นตัวหนอน และเจ้าหนอนบั่วพวกนั้นจะค่อยๆ คืบคลานเข้าไปแทรกอาศัยอยู่ตามบริเวณกาบใบข้าว อาศัยกัดกินตายอดอ่อน หรือตาข้างบริเวณข้อ รวมถึงทำลายยอดที่กำลังเจริญเติบโต

เมื่อแมลงบั่วสามารถบุกทำลายเข้าไปกัดส่วนถึงยอดหรือเนื้อเยื่อเจริญด้านในต้นข้าว ต้นข้าวจะค่อยๆ เริ่มแสดงอาการให้เห็น โดยจะมีลักษณะลำต้นที่แคระแกรน ใบสั้นและมีสีเขียวเข้ม ใบข้าวไม่คลี่ออกและเปลี่ยนเป็นหลอดคล้ายลักษณะ “หลอดหอม” ข้าวต้นจะไม่มีโอกาสได้ออกรวง

ช่วงระยะการเข้าทำลายของแมลงบั่วจะเกิดขึ้นอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ และหลังจากนั้นอีกราว 2 สัปดาห์จะพบคราบดักแด้บริเวณปลายหลอดหอม นั่นเป็นสัญญาณอันตรายที่ทำให้รู้ว่าตัวหนอนได้กัดกินส่วนยอดต้นข้าวไปแล้ว และกลายเป็นดักแด้ เมื่อเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยจึงเจาะรูออกสู่ภายนอก

แมลงบั่ว’ เมื่อโตเต็มวันแล้วจะมีลักษณะคล้ายยุงหรือริ้น ลำตัวยาว 3-4 มม. หนวดและขามีสีดำ กลางวันจะเกาะซ่อนตัวอยู่ใต้ใบข้าวและวัชพืชริมแปลงนา ส่วนช่วงกลางคืนจะบินไปหาที่ที่มีแสงไฟเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่เดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 ฟอง ใต้ใบข้าวต่อไป โดยที่แมลงบั่วมีการสืบพันธุ์แบบ paedogenesis ซึ่งคือการที่แมลงในระยะตัวอ่อนสามารถสืบพันธุ์ได้ก่อนที่จะเป็นตัวเต็มวัย จึงทำให้ปริมาณของพวกมันเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วและแพร่กระจายไปได้ในวงกว้างนั่นเอง

วิธี ปราบ แมลง บั่ ว มะม่วง
guardian-online.com

แมลงบั่วกับลักษณะการทำลายในพื้นที่นาข้าว

สำหรับในประเทศไทย กองวิจัยและพัฒนาข้าว ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการทำลายของแมลงบั่วไว้ว่า แมลงบั่วเป็นแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่การเพาะปลูกทางภาคเหนือ เนื่องด้วยมีสภาพอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของพวกมันมาก มีความชื้นสูง มีฝนตกพรำๆ ต่อเนื่อง แสงแดดน้อยเพราะอยู่ตามพื้นที่เชิงเขา มีภูเขาโอบล้อม มีซอกหลืบ เงาภูเขาบดบัง ต้นข้าวและผืนดิน จึงทำให้ปริมาณความชื้นมีสูงจนทำให้พวกมันสามารถเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

โดยแมลงบั่วจะเริ่มออกทำลายพืชผล นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งก่อนหน้านั้นพวกมันมักหลบอาศัยอยู่ตามพงหญ้าหนองน้ำและบริเวณเพาะปลูกข้าวป่าและพยายามเพิ่มจำนวนเพื่อรอวันกลับเข้ามาบุกเรือกสวนไร่นา โดยตัวเต็มวัยของพวกมันจะเริ่มบินกลับมาตามแปลงข้าวของชาวนา ตั้งแต่ในระยะที่ข้าวในนายังเป็นต้นกล้า และใช้เวลาราวๆ 20-25 วันในการวางไข่และขยายจำนวน

หลังจากที่ตัวอ่อนของพวกมันฟักออกมา ก็จะหาทางคืบคลาน ลงสู่ซอกของใบและกาบใบข้าว เพื่อทำลายยอดข้าวที่กำลังจะเจริญเติบใหญ่ ให้เกิดเป็นหลอดคล้ายลักษณะของหลอดหอม และหลอดจะปรากฎอยู่ราวๆ 1 สัปดาห์จนกระทั่งตัวหนอนสามารถบุกเข้าไปทำลายได้ถึงจุดปลายหลอดหอม ต้นข้าวและกอข้าวเหล่านั้นจึงปรากฎอาการแคระแกร็น ลำต้นเตี้ยและกลม มีสีเขียวเข้มและไม่สามารถที่จะออกรวงต่อไปได้

ช่วงเวลาการเข้าทำลายของแมลงบั่วที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตมากที่สุด

ผลวิจัยของ ดร.จันทร์จิรา รุ่งเจริญ จาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ซึ่งได้มีการทำการทดลองโดยการเก็บข้อมูลบันทึกอย่างต่อเนื่องระหว่างปี พ.ศ. 2559-2563 พบว่า ในช่วงระยะ 80 วันหลังปักดำ หรือคือระยะที่ข้าวมีการแตกกอ จะเป็นช่วงที่พบการเข้าทำลายของแมลงบั่วมากที่สุด โดยช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงระยะข้าวตั้งท้อง ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของกองทัพบั่วเหล่าและประคับประคองให้ข้าวเกิดช่อดอกได้ (primodia) ก็จะเกิดความเสียหายกับผลผลิตเป็นอย่างมาก ซึ่งในการเก็บข้อมูลพบว่าผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ลดลงจากปกติถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ราบทั่วไป และอาจลดลงถึงร้อยละ 40 สำหรับพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สูงโอบล้อมไปด้วยภูเขา

ข้อสรุปจากงานวิจัยดังกล่าว ตั้งข้อสันนิษฐานว่าหากเกษตรกรสามารถควบคุมและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของแมลงบั่วได้พ้นช่วงที่ ข้าวเกิดช่อดอกได้ (primodia) ไปได้ แมลงบั่วเหล่านั้นก็จะไม่สามารถกลับมาทำอันตรายให้กับผลผลิตในรอบนั้นได้อีกต่อไประยะเวลา 80 วันแรก จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องป้องกันและหยุดการแพร่กระจายของพวกมันให้ได้ทันนั่นเอง

สมุนไพรกำจัดบั่ว
kasetgo.com

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของแมลงบั่ว

ปัจจัยที่สำคัญในการระบาดของแมลงบั่ว ตามข้อมูลทางวิชาการของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง คือ สภาพอากาศที่ชื้นแฉะมีฝนตกต่อเนื่องติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยเป็นลักษณะฝนที่ตกพรำตลอดเวลา มีเมฆหมอกบนท้องฟ้ามาก ปกคลุมมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ฟ้าหลัว มีแสงแดดอ่อนๆ หรือไม่ค่อยมีแสงแดด (น้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน) ความชื้นสัมพัทธ์อากาศอยู่ในระดับ 75–90% รวมถึงหากช่วงเวลาใดมีฝนพรำติดต่อกันนานเกิด 2 สัปดาห์ก็จะยิ่งส่งผลทำให้การฟักไข่ของแมลงบั่วเพิ่มขึ้น ปริมาณแมลงบั่วจึงเพิ่มได้เอย่างรวดเร็ว แต่หากในปีใดที่มีระยะฝนทิ้งช่วง คือมีช่วงที่แสงแดดจัดจนทำให้ความชื้นลดต่ำลงในระหว่างฤดูฝน ข้อมูลทางสถิติจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ก็แสดงให้เห็นชัดว่า การะบาดของเจ้าบั่วเหล่านั้นจะไม่รุนแรง ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า การแพร่ระบาดของแมลงบั่วจะเกิดขึ้นรุนแรงหรือเบาบางนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้น แสงแดด และสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาฤดูฝนของปีนั้นนั่นเอง

ระดับความสูงของพื้นที่และความสัมพันธ์กับการแพร่ระบาดของแมลงบั่ว

ตัวแปรอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการแพร่ระบาดของแมลงบั่ว ก็คือระดับความสูงของพื้นที่ โดยจากข้อมูลวิจัยที่จัดทำโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พบว่ายิ่งระดับความสูงของพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเท่าใด อัตราการสูญเสียผลผลิตจากการเข้าทำลายของแมลงบั่วก็ส่งผลให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

โดยจากข้อมูลพบว่าในพื้นที่เพาะปลูกข้าวในแถบเชิงเขาทางภาคเหนือพบว่าในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน (ระดับความสูง 900 MSL) ในปี พ.ศ.2562 พบแมลงบั่วเข้าทำลายข้าวสูงถึงร้อยละ 9 ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงสูงสุด 610 กก.ต่อไร่ หรือลดลงร้อยละ 63 ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบปริมาณผลผลิตที่ได้จากพื้นที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก (ระดับความสูง 600-700 MSL) พบว่า ฤดูนาปี 2562 ซึ่งมีแมลงบั่วเข้าทำลายเพียงร้อยละ 2-7.5 ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงต่ำสุดที่ 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ หรือลดลงร้อยละ 18-29

การระบาดของแมลงบั่ว
www.aggrogroups.com

การป้องกัน ควบคุม และกำจัดแมลงบั่ว ให้ได้ประสิทธิภาพ

วิธีจัดการที่กลุ่มงานป้องกันกำจัดศัตรูพืชข้าวและภัยธรรมชาติ สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าวได้แนะนำ มีดังต่อไปนี้

  1. ให้กำจัดวัชพืชรอบแปลงนา เช่น ข้าวป่า หญ้าข้าวนก หญ้าไซ หญ้าแดง หญ้าชันอากาศเพื่อทำลายพืชอาศัยของแมลงบั่ว ก่อนการหว่านข้าวในฤดูกาลใหม่เพื่อกำจัดพืชที่เป็นแหล่งที่อยู่ของพวกมัน
  2. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของแมลงบั่วเป็นประจำ เช่นภาพเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ควรหว่านข้าวหรือปักดำข้าวถี่เกินไป โดยควรกำหนดระยะปักดำอยู่ที่ระหว่าง 10×15 และ 15×15 เซ็นติเมตร
  3. ควรปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก โดยปลูกดำ 2 ครั้ง เพื่อลดความรุนแรงที่เกิดจากการเข้าทำลายของแมลงบั่ว โดยในภาคเหนือระยะแรกให้เริ่มในช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง สิงหาคม และ ระยะหลังให้เริ่มหลังจากที่ข้าวชุดแรกมีอายุได้ 45 วัน ส่วนพื้นที่ทางภาพตะวันออกเฉียงเหนือควรปลูกระยะแรกเร็วขึ้นนั่นคือเริ่มในเดือน มิถุนายน ถึง กรกฎาคม
  4. ในระหว่างเวลาพรบค่ำตั้งแต่ 19.00-21.00 น.ของวันจะเป็นช่วงเวลาที่แมลงบั่วจะโบยบินออกจากที่อาศัยของพวกมัน มาเล่นแสงไฟ ออกจับคู่ผสมพันธุ์ ตามบ้านเรือนคน ซึ่งเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการกำจัดและลดจำนวนประชากรของพวกมัน โดยให้ใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัยเขามาในกล่องเพื่อจับมาทำลาย
  5. หากพบการแพร่ระบาดของแมลงบั่งในพืชที่ไม่มาก ให้ถอนต้นข้าวที่มีลักษณะเป็นหลอดยาวหุ้มตัวหนอนออกจากแปลงนานำไปเผาทำลาย รวมถึงการปล่อยให้แมลงศัตรูของพวกมัน เช่น แมงมุมและแตนเบียนมาช่วยควบคุมประชากรของแมลงบั่ว
  6. แต่ถ้ามีการระบาดหนักครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้างให้ใช้สารกำจัดแมลง คลอไทอะนิดิน 16 % เอสจี หรือ คลอร์ไพรีฟอส 40% อีซี หรือ อิทิโพรล 10 % เอสจี ฉีดพ่นตามคำแนะนำ ซึ่งการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงบั่วนั้น ท่านควรทราบว่าแมลงศัตรูในธรรมชาติของพวกมันเช่น ตัวไรห้ำที่เป็นตัวทำลายไข่ของแมลงบั่ว รวมถึงแตนเบียน หนอน Platygasterid Eupelmid และ Pteromid ก็จะโดนทำลายไปด้วย ซึ่งหนทางที่นักวิชาการส่วนใหญ่แนะนำคือการใช้กลไกตามธรรมชาติและการลดโอกาสในการขยายพันธุ์ของแมลงบั่วตามวิธีทางธรรมชาติ ดังที่ได้แนะนำมาในข้างต้นจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับการควบคุมการแพร่ระบาดของแมลงบั่ว โดยไม่ต้องสูญเสียงบประมาณในการใช้สารเคมี อันจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตของท่านต่อไป
สารกําจัดแมลงบั่วในนาข้าว
www.matichon.co.th

แหล่งที่มา


กลุ่มงานป้องกันกำจัดศัตรูพืชข้าวและภัยธรรมชาติ สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว เรื่อง แมลงศัตรูข้าว การป้องกันและกำจัด

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง “แมลงบั่ว” ศัตรูตัวฉกาจของข้าว

กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้