โรคพืช สาเหตุ อาการ และวิธีการจัดการกับโรค

“โรคพืช” หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Plant Disease”  หมายถึง อาการผิดปกติของพืชจากธรรมชาติ หรือความเสียหายของพืช ที่เราสามารถพบได้ตามลำต้น ราก กิ่ง และใบ  เนื่องจาก “พืชเป็นโรค”  ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต และปริมาณผลผลิตในอนาคต เกษตรกรหรือผู้ปลูกพืชจึงควรให้ความสำคัญกับโรคพืชมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตพืชสูง อันเป็นผลมาจากการใช้สารเคมีกำจัดโรคพืช ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อม รวมถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างเรา ๆ ด้วย

โรคพืชเบื้องต้น

สาเหตุที่ทำให้พืชเป็นโรค

สามารถแบ่งสาเหตุที่ทำให้พืชเป็นโรคได้ 2 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

  1. เกิดจากสิ่งมีชีวิต หรือโรคติดต่อ (infectious plant disease) เช่น แบคทีเรีย รา ไวรัส ไส้เดือนฝอย พืชชั้นสูงอย่างกาฝากและฝอยทอง เป็นต้น และสิ่งมีชีวิตนี่เองที่เป็นสาเหตุของ “เชื้อโรคพืช” (Pathogen) ซึ่งจะไปดูดกินสารอาหารภายในเซลล์พืช รบกวนกระบวนการเมตาบอลิซึมด้วยการปล่อยสารพิษต่าง ๆ รวมถึงเป็นตัวการที่ทำให้พืชอ่อนแอ เปิดช่องว่างให้เชื้อโรคชนิดอื่น ๆ เข้ามาทำลายพืชได้นั่นเอง
  2. เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต หรือโรคติดต่อ (non-infectious plant disease) เช่น สภาพแวดล้อม อุณหภูมิ แสงแดด ความชื้น ออกซิเจน รวมไปถึงมลภาวะต่าง ๆ

องค์ประกอบในการทำให้พืชเกิดโรค

แล้วอะไรบ้างที่ทำให้พืชของเราเป็นโรคได้?!  องค์ประกอบในการทำให้พืชเกิดโรคมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่

1.) พืชอาศัย

2.) เชื้อสาเหตุ

3.) สิ่งแวดล้อมที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

เมื่อทั้ง 3 องค์ประกอบได้พบกัน ก็จะทำให้เกิดโรคขึ้นได้นั่นเอง

โรคพืชมีกี่ประเภท

อาการของโรคพืชจากสาเหตุต่าง ๆ

โรคพืชแต่ละชนิดจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป บางชนิดก็มีการแสดงอาการเฉพาะตัว ง่ายต่อการวินิจฉัยและรักษา แต่บางชนิดก็ต้องอาศัยองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง  โดยอาการของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อสาเหตุต่าง ๆ มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • อาการโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

พืชที่เกิดโรคจากเชื้อรา  จะมีอาการแผลตาย อาการเหี่ยว อาการรากบวม  อีกทั้งยังสามารถพบเชื้อราหรือส่วนของเชื้อราได้ตามส่วนต่าง ๆ ของพืชได้อีกด้วย ยกตัวอย่างโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้าง โรคราเขม่าดำ โรคเหี่ยว โรครากเน่า รวมไปถึงโรคใบ้ไหม้

โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • อาการโรคพืชที่เกิดจากแบคทีเรีย

พืชที่เกิดโรคจากแบคทีเรีย จะมีอาการเน่าเละบนส่วนอ่อนนุ่มและอวบน้ำของพืช  เช่น การเน่าเปื่อยของมะเขือเทศ นอกจากนี้ยังอาการแห้งตาย อาการแผลจุดสีน้ำตาลตามลำต้น อาการปุ่มปมที่บริเวณกิ่ง และอาการเหี่ยวเฉา ที่ไม่ได้เกิดจากการขาดน้ำ แต่เป็นการแบคทีเรียขับเอนไซน์ออกมาจากผนังเซลล์ แล้วไปขัดขวางทางเดินน้ำและอาหารของพืช ยกตัวอย่างโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น โรคขอบใบทองหรือเน่าดำ ของพืชตระกูลกะหล่ำ

โรคพืชที่เกิดจากแบคทีเรีย
  • อาการโรคพืชที่เกิดจากไฟโตพลาสมา

พืชที่เกิดโรคจากไฟโตพลาสมา ไม่สามารถเห็นเชื้อได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถทราบอาการโรคได้จาก ลักษณะพืชที่เป็นใบขาว ดอกเขียว และพุ่มแจ้หรือพุ่มฝอย เป็นต้น นอกจากอาการข้างต้นแล้ว ก็ยังอาการอื่น ๆ เช่น อาการใบเหลืองร่วมด้วย ยกตัวอย่างโรคที่เกิดจากไฟโพพลาส เช่น โรคพุ่มไม้กวาดลำไย

โรคพืชที่เกิดจากไฟโตลาสมา
  • อาการโรคพืชที่เกิดจากไวรัส

พืชที่เกิดโรคจากไวรัส สามารถเห็นอาการของโรคได้จากสีที่ผิดปกติ เช่น สีด่าง สีเหลือง สีขาว หรือแดงบนใบพืช อาการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ เช่น พืชแคระ ไม่โต ซึ่งโดยปกติแล้ว ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไม่สามารถเข้าสู่เซลล์พืชได้โดยตรง แต่จำเป็นต้องอาศัยบาดแผลจากการกระทำของสัตว์และมนุษย์ เช่น การติดตา ตอนกิ่ง ยกตัวอย่างโรคที่เกิดจากไวรัส เช่น โรคใบจุดวงแหวนมะละกอ

โรคพืชที่เกิดจากไวรัส
  • อาการโรคพืชที่เกิดจากไส้เดือนฝอย

พืชที่เกิดโรคจากไส้เดือนฝอย ส่วนมากจะมีอาการรากบวม เป็นปุ่มปมหรือเป็นแผล ซึ่งเกิดจากการที่ไส้เดือนฝอย ซึ่งเป็นศัตรูพืชชนิดหนึ่งเข้าไปทำลายระบบราก ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตช้าผิดปกติ แคระแกร็น เหี่ยว เหลืองซีด ทำให้ผลผลิตลดลง หรืออาจจะตายในที่สุด ยกตัวอย่างโรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย เช่น โรครากปม (Root-knot disease)

โรคพืชที่เกิดจากไส้เดือนฝอย

ความสัมพันธ์ของสภาพแวดล้อมกับโรคพืช

โรคพืชจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากสภาพแวดล้อมโดยรอบ อันประกอบด้วย อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ออกซิเจน และมลภาวะในอากาศ ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคพืชต่าง ๆ ที่อาศัยจังหวะที่พืชอ่อนแอจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเข้าโจมตี โดยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ นั้น ส่งผลให้พืชมีอาการ ดังต่อไปนี้

  • อุณหภูมิสูง อาการใบ้ไหม้ เซลล์แห้งตาย หรืออาการแห้งตาย เรียกว่า Sun Burn อัตราการผสมเกสรลดลง
  • อุณหภูมิต่ำ พืชอ่อนแอ ติดเชื้อโรคได้ง่าย เซลล์เกิดอาการฉ่ำน้ำ ทำให้เซลล์แตกและเน่า  (Freezing injury)
  • ความชื้นสูง เซลล์พืชบวม ขยายใหญ่ และปริแตก เนื่องจากความสามารถในการระเหยน้ำลดลง เกิดโรคพืชที่เกิดจากแบคทีเรียและราบางชนิด
  • ความชื้นต่ำ รากพืชเจริญเติบโตช้า แคระแกร็น ใบเหลือง พืชเหี่ยว เพราะขาดน้ำ เช่น ต้นอ้อยในหน้าแล้ง
  • แสงแดดน้อย แสงแดดไม่เพียงพอ ส่งผลให้พืชหยุดการเจริญเติบโต แคระแกร็น สีซีดจาง
  • ออกซิเจนต่ำ ออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่วนมากพบในที่ดินโครงสร้างหนาทึบ ระบายน้ำไม่ดี น้ำขัง ส่งผลให้รากตาย
  • มลภาวะ การสะสมของก๊าซพิษ ทำให้พืชใบไหม้ หมอกควัน ฝุ่นละอองบนผิวใบ ทำให้พืชสังเคราะห์แสงน้อยลง ผลผลิตลดลง
  • ความไม่สมดุลของธาตุอาหาร ธาตุอาหารหลักของพืชมีทั้งหมด 17 ชนิด หากพืชขาดธาตุอาหารอาจจะทำให้พืชตายก่อนผลิดอกออกผล โดยเฉาพะ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม

การจัดการโรคพืช

กลยุทธิ์ในการจัดการโรคพืช

ดร.สมอุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “รู้ทันโรคพืช” ว่า… กลยุทธิ์ในการจัดการโรคพืชนั้น มีหลักการสำคัญสำคัญ 2 ข้อ ได้แก่ 1.) การลดแหล่งสะสมของเชื้อโรค และ 2.) การลดอัตราการเข้าทำลายของเชื้อโรค ซึ่งทั้ง 2 หลักการ มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือการต้องการลดปริมาณของเชื้อโรคพืช และกำจัดเชื้อโรคพืชให้หมดไป ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. การหลีกเลี่ยงโรค หมายถึง การปลูกพืชในพื้นให้เหมาะสมกับฤดูกาล ไม่ปลูกในช่วงโรคระบาดและในพื้นที่ที่ไม่เคยมีโรคปรากฏมาก่อน
  2. การกีดกัน (exclusion) เป็นการจัดการไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกด้วยมาตรการทางกฎหมาย เช่น การตั้งเงื่อนไขในการนำสินค้าเกษตรเข้าประเทศ  หรือการตั้งด่านกักกันพืช (plant quarantines) เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคพืชจากพื้นที่อื่นเข้ามาแพร่กระจาย ด้วยการสั่งห้ามนำเข้าดิน ปุ๋ย หรือพืชบางชนิดเข้ามาในประเทศ ยกตัวอย่าง ห้ามนำเข้าพืชตระกูลส้มที่มีโรคแคงเกอร์เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรีย และแอฟริกา  เป็นต้น
  3. การกำจัด (eradication) หมายถึง การทำลายเชื้อโรคพืชให้หมดไปจากเขตพื้นที่ปลูกพืช ผ่านวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเผาทำลายหรือพ่นสารเคมีพืชอาศัย เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคไม่ให้สมบูรณ์ การปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อลดการเจริญเติบโตของเชื้อโรค รวมไปถึงการรักษาความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะปลูก ไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคนั่นเอง
  4. การป้องกัน (protection)  หมายถึง การป้องกันไม่ให้เกิดโรคขึ้นในพื้นที่ที่มีการปลูกพืชหรือพื้นที่ใกล้เคียง และป้องกันไม่ให้เชื้อโชคสามารถเข้าถึงพืชได้ วิธีการป้องกันนั้นมีหลากหลายมาก ยกตัวอย่าง การปลูกพืชในโรงเรือน ป้องกันการติดเชื้อ การปลูกพืชกันลมฝนไม่ให้พัดเอาเชื้อโรคปลิวเข้าสู่พืชที่ปลูก การไม่เอาพืชมีโรคมาปลูกก็ถือเป็นการป้องกันเช่นเดียวกัน
  5. การใช้พืชพันธุ์ต้านโรค (plant resistance) หมายถึง การใช้พืชที่มีความต้านทานโรค เพื่อลดการสูญเสียจากการติดเชื้อโรค ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่ประหยัด ใช้ง่าย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคอย่างยิ่ง
  6. การรักษาโรค (therapy) หมายถึง การรักษาพืชที่เป็นโรคให้คืนสู่สภาพปกติ โดยใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชนิดต่าง ๆ  เพื่อลดระดับความรุนแรงของโรคและเพื่อรักษาให้โรคหมดไป ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรค รวมถึงสารป้องกันกำจัดพืชชนิดนั้น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อโรคดื้อยาและอันตรายที่อาจะเกิดกับผู้ใช้
โรคพืชที่เกิดจากแมลง
https://today.line.me/th/v2/article/VO7Zql

การควบคุมโรคด้วยการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช

การใช้สารเคมีควบคุมโรคพืช เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยต้นสูงลิ่ว ซึ่งสารเคมีที่ผลิตออกมาเพื่อป้องกันหรือกำจัดโรคพืชมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ชนิดผง ชนิดเม็ดสารเคมีเหลว เป็นต้น ซึ่งในสารเคมีแต่ละชนิดจะมีชื่อระบุด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่

  • ชื่อการค้า (trade name) หมายถึง ชื่อที่ใช้เรียกทางการค้าของสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่จัดจำหน่ายโดยบริษัทต่าง ๆ
  • ชื่อสามัญ (common name) หมายถึง ชื่อเรียกแทนชื่อเคมี เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการจดจำ
  • ชื่อ (chemical name) หมายถึง ชื่อวิทยาศาสตร์ของสารออกฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดโรคพืช
สารควบคุมโรคพืช

โดยชื่อทางเคมีกับสามัญจะมีเพียงชื่อเดียวเท่านั้น แต่ชื่อทางการค้าอาจจะแตกต่างกันออกไป เมื่อไปซื้อสารเคมีตามร้านค้าจำเป็นจะต้องทราบชื่อทางเคมีและสามัญ จากนั้นค่อยเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ของเนื้อสารเคมีบริสุทธิ์ประกอบการตัดสินใจซื้อสารเคมียี่ห้อต่าง ๆ

นอกจาก 2 ชื่อดังกล่าวแล้ว อีกอย่างที่จำเป็นต้องรู้เอาไว้คือค่า แอล ดี 50  หมายถึงปริมาณของสารเคมีที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย 50 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งค่าแอลดี 50 สูง ยิ่งเป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่น

ดังนั้นจะเลือกซื้อสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดมาใช้ ก็ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วน และใช้อย่างถูกวิธี เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดและเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้เองด้วย

แนะนำสารเคมีที่ใช้ป้องกันกำจัดโรคพืช

สารเคมีที่ใช้ควบคุมโรคพืชมีหลากหลายชนิด บางชนิดออกฤทธิ์ควบคุมโดยตรง บางชนิดต้องใช้ควบคู่กับสารชนิดอื่นจึงจะสามารถควบคุมโรคพืชได้ และบางชนิดก็สามารถรักษาให้พืชหายจากโรคได้เลย สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชที่สำคัญ ได้แก่

1.เมธิลโบรไมด์ (Methyl bromide) มีชื่อทางเคมีว่า โบรโมมีเทน (Bromomethane)  เป็นสารเคมีที่อยู่ในลักษณะของแกส เป็นแกสพิษ ที่บรรจุในกระป๋อง ใช้ฆ่าไส้เดือนฝอย ศัตรูพืช โรคพืชชนิดอื่น ๆ รวมไปถึงวัชพืช

เมธิลโบรไมด์

2. ไทยูแรม ไดซัลไฟด์ ( Thaiuram Disulphide) มีชื่อสามัญว่า ไทแรม (Thairam) และมีชื่อทางการค้าว่า เทแรมราซาน ใช้เป็นยาคลุกเมล็ดถั่ว หัวหอมใหญ่ ข้าวโพด เพื่อป้องกันโรคเน่าคอดิน โรคราสนิม  รากเน่า และแอนแทรคโนสของมะเขือเทศ

ไทยูแรม ไดซัลไฟด์

3. ดาโคนิล (Daconil 2787) มีชื่อทางเคมีว่า เตตราคลอโรไอโซพะธาโลไนตริล (tetrachloroisophthalonitril) เป็นยาฆ่าราที่มสามารถใช้กับพืชได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะโรคราแป้ง ใบจุด ไหม้ และผลเน่า เป็นต้น

ดาโคนิล

ที่มา

อุดมศักดิ์  เลิศสุชาตวนิช. รู้ทันโรคพืช. กรุงเทพ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2563.
http://eduserv.ku.ac.th/km/doc/K8003.pdf

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้