โรคเน่าเละ โรคสำคัญที่ต้องพึงระวัง วิธีการป้องกันและกำจัด

โรคที่ชาวเกษตรกรจะต้องพึงระวังเป็นอันดับต้นๆมีอยู่จำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โรคเน่าเละ เป็นโรคพืชที่แพร่หลายมากที่สุด เชื้อแบคทีเรียที่สำคัญ ได้แก่ Xanthomonas campestris pv. Dieffenbachiae โดยในสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างร้อนสลับฝนตกนั้น อาจจะทำให้พืชผักเกิดโรคต่างๆขึ้นได้ ซึ่งโรคที่ทางพืชผักมักจะเกิด ก็คือ โรคเน่าเละ ซึ่งโรคนี้จะแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในพืชผัก ถึงแม้ว่าจะมีพืชผักเพียงแค่ไม่กี่ต้น ก็สามารถทำให้พืชผักในบริเวณใกล้เคียงก็สามารถติดโรคเน่าเละได้ทันทีเช่นกัน ซึ่งถ้ารุนแรงมากก็ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อีกเลย แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เมื่อไมได้เก็บผลผลิตแล้วกลายเป็นซาก เชื้อสาเหตุของโรคก็ไม่ได้ตายตามพืชไป ดังนั้น จึงต้องมีการเรียนรู้วิธีการป้องกันและกำจัดเชื้อโรคเหล่านั้น ให้หมดสิ้นก่อนจะทำลายผลผลิตทางการเกษตรจนทำให้รายได้ของเกษตรกรหายไป

สาเหตุที่มาของโรคเน่าเละ

จากงานวิจัยของทางห้องสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ได้ออกมาเปิดเผยถึงงานวิจัยทางโรคเน่าเละของผักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่าวิทยาศาสตร์ว่า Erwinia carotovora pv. Carotovora ลักษณะของเชื้อจะมีหางรอบตัวประมาณ 1-6 เส้น ที่เรียกว่า peritrichous ใช้ในการเคลื่อนที่ มีขนาด 0.7×1-2 ไมครอน ติดสีแกรมลบ โคโลนีของเชื้อ เมื่อเจริญบน nutrient agar จะมีลักษณะกลมนูน มีขอบเรียบและเป็นมันเยิ้มสีขาวอมเทา ไม่สร้าง capsule หุ้มเซลล์ นอกจากจะก่อให้เกิดโรคเน่าเละกับผักชนิดต่างๆแล้ว เชื้อชนิดนี้ยังก่อโรคที่มีชื่อเรียกแตกต่างออกไปได้อีก เช่น โรคต้นเน่าดำของมันฝรั่ง (potato black leg) โรคต้นใบไหม้ของเบญจมาศ (bacteria blight chrysanthemum) โรคลำต้นและยอดเน่าของข้าวโพด (top rot or stalk rot of corn) โรคต้นเน่าของแกลดิโอลัส (stem rot of gladiolus) เป็นต้น ทางงานวิจัยพบว่าเชื้อสาเหตุโรคเน่าเละจะสามารถทนความร้อนได้มากที่สุดถึง 37 องศาเซลเซียส จึงทำให้เกิดปัญหาต่อพืชของชาวเกษตรกรไทยได้อย่างง่ายดายมาก เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง แครอท พริกหยวก พริกขี้หนู ผักชี มันฝรั่ง มะเขือเทศ ถั่วแขก ถั่วฝีกยาว หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม เป็นต้น

โรคเน่าเละ สาเหตุ
planterunited.com

ลักษณะอาการของโรคเน่าเละ

ทางกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการจัดทำเอกสารให้ความรู้แก่ชาวเกษตรกร เรื่องของโรค-แมลงศัตรูผัก และการป้องกันกำจัด จากเชื้อที่เป็นสาเหตุ อย่างเชื้อแบคทีเรีย Erwinia carotovora จะทำให้ผักมีอาการที่พบได้เกือบทุกระยะการเจริญเติบโตแต่พบมากในระยะที่กะหล่ำปลีห่อหัวโดยใน ระยะแรกพบเป็นกระหรือบริเวณใบมีลักษณะฉ่ำน้ำ คล้ายรอยช้ำ ต่อมาบริเวณนี้จะขยายลุกลามออกไปทำให้เกิดการเน่า และเป็นเมือกเยิ้ม  มีกลิ่นเหม็นจัด เมื่อเป็นรุนแรงจะทำให้กะหล่ำปลี เกิดการเน่าเละทั้งหัว

โรคเน่าเละ ลักษณะ
www.unilife.co.th

การแพร่ระบาดของโรค

สำหรับการแพร่กระจายของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคเน่าเละนั้น เป็นสิ่งที่ง่ายดายเป็นอย่างมาก เนื่องจากถ้าหากว่ามีพืชเศรษฐกิจเป็นประมาณ 1-2 ต้น ก็ทำให้พืชบริเวณรอบๆของต้นที่ติดโรคเน่าเละนั้น ติดอย่างรวดเร็วและง่าย ไม่ว่าจะสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไรก็ตาม ยิ่งถ้าในบริเวณแปลงผักมีการแปรปรวนของอุณหภูมิเป็นอย่างมาก เช่น ร้อนจัดสลับกับฝนตกหนัก ก็สามารถทำให้เชื้อโรคสาเหตุของโรคเน่าเละสามารถก่อตัวและเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ดังนั้น การรู้เท่าถึงเชื้อโรคสาเหตุโรคเน่าเละในการแพร่ระบาดจะเป็นสิ่งที่ดีต่อเกษตรกร

ในการติดเชื้อหรือเริ่มต้นของการเกิดโรคเน่าเละ มักจะมาจากเมือก (slime) หรือน้ำเละๆ ที่เกิดอยู่ตามบริเวณแผลหรือส่วนที่เป็นโรคอยู่ก่อน เมือกเละๆเหล่านี้จะมีแบคทีเรียอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อถูกน้ำชะก็จะกระเซ็นไปติดยังต้นข้างเคียง หรือติดไปกับเครื่องมือเครื่องใช้ที่นำมาปฏิบัติกับพืช การสัมผัสจังต้องตลอดจนเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของผู้ปลูกหรือเกษตรกรเอง หากไปถูกกับส่วนที่เป็นโรคเข้าก็อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดและติดโรคขึ้นได้ นอกจากนี้ยังพบว่าแมลงต่างๆ ที่มากัดหรืออาศัยอยู่บนพืชก็เป็นตัวนำเชื้อให้ระบาดและแพร่กระจายได้โดยเฉพาะแมลงวันผัก (maggot fly) สองชนิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hylemya cilicrura และ Hylemya brassicae พบว่านอกจากจะเป็นตัวนำเชื้อให้แพร่กระจายแล้วยังยอมให้เชื้อแบคทีเรีย สาแหตุโรคอาศัยอยู่ข้ามฤดูภายในตัวของมันในลักษณะความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน (specific relationship) อีกด้วย คือ เริ่มต้นตั้งแต่หนอน larva ซึ่งเกิดจากไข่ที่แมลงวันตัวแม่ไปวางไว้ที่แผลเน่าของผัก ขณะเจริญเติบโตกินอาหารจากเนื้อเยื่อพืชที่เน่า ก็จะกินเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่มากมายในบริเวณนั้นเข้าไปด้วย เมื่อหนอนเข้าดักแด้เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นตัวเต็มวัย เชื้อซึ่งถูกกินเข้าไปในตอนแรกก็จะถูกส่งไปฟักตัวอยู่ในกระเปาะเล็กๆที่เชื่อมต่อกับท่อไข่ (oviduct) เพื่อคอยเคลือบไข่ ขณะที่เคลื่อนผ่านท่อดังกล่าวออกมา ด้วยเหตุนี้ไข่ทุกใบที่เกิดจากแมลงวันเพศเมียที่กินเอาเชื้อเข้าไปขณะที่ยังเป็นตัวหนอนก็จะมีเชื้อแบคทีเรียติดมาด้วย และเมื่อไข่เหล่านั้นถูกนำไปวางลงในรอยแผลหรือรอยแตกบนพืช แบคทีเรียซึ่งติดอยู่ที่เปลือกไข่ก็จะเข้าทำลายพืชทันทีแล้วก่อให้เกิดอาการเน่าขึ้นในที่สุด ตัวหนอนที่ฟักออกมาจากไข่ เมื่อกินส่วนของพืชที่ถูกแบคทีเรียทำลายให้เน่าก็จะกินเอาแบคทีเรียเข้าไปอีก หมุนเวียนเป็นวัฎจักรอยู่เช่นนี้ตลอดไป

ปกติแล้วโรคนี้ไม่ติดต่อโดยผ่านทางเมล็ด เพราะเชื้อพวกนี้ไม่สามารถทนต่อความแห้งในสภาพที่เคลือบติดอยู่กับเมล็ดได้นาน สำหรับการเป็น soil-borne จากการติดอยู่กับเศษซากพืชที่ตายและตกหล่นอยู่ตามดินปลูกนั้นไม่มีผู้ใดยืนยันแน่นอนว่าจะมีชีวิตได้นานเท่าใด

โรคเน่าเละ แพร่ระบาด
www.thaich8.com

การป้องกันกำจัดโรคเน่าเละ

ในการปลูกพืชเศรษฐกิจไม่เพียงแต่จะเป็นเรื่องง่ายเสมอไป แต่จะต้องมีความรู้ในทางเกษตรกรรมในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ทั้งการคัดเมล็ดพันธุ์ การดูแล การบำรุงสภาพแวดล้อม เป็นต้น อีกทั้งยังต้องป้องกันไม่ให้พืชเศรษฐกิจที่ได้ปลูกนั้นไม่ให้เกิดโรคจนต้องเกิดการสูญเสียผลผลิตเหล่านั้นไป รวมไปถึงการกำจัดเชื้อโรคที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตอีกด้วย

วิธีการลดความเสียหายและป้องกันกำจัดโรคเน่าเละที่เกิดจากแบคทีเรีย ดังนี้

  1. การหมั่นสังเกตดูแลเอาใจใส่แปลงและพืชที่ปลูก ให้รีบเก็บทำลายทันทีที่เห็นพืชแสดงอาการ โดยนำทิ้งให้ไกลจากแปลงปลูกหรือเผาทำลายให้หมดหลังจากเก็บเกี่ยวพืชผลแล้ว
  2. ขณะที่แปลงปลูกว่างอยู่ควรขุดหรือไถพลิกกลับหน้าดินขึ้นมาตากแดดประมาณ 2-3 ครั้ง โดยทิ้งระยะให้ห่างกันพอสมควร
  3. ไม่ควรปลูกผักชนิดเดียวกันกับที่เคยเป็นโรคหรือง่ายต่อการเกิดโรคซ้ำที่เดิม ควรทิ้งระยะสัก 2-3 ปี โดยการนำพืชชนิดอื่นมาปลูกสลับแทน
  4. ในการเก็บเกี่ยวผลหรือการกระทำการใดๆต่อต้นพืชระวังอย่าให้เกิดรอยแผลช้ำหรือฉีกขาดกับส่วนของพืชโดยไม่จำเป็น
  5. พืชผลที่เก็บแล้วหากต้องล้างทำความสะอาดควรทำด้วยความระมัดระวังและผึ่งลมให้แห้งก่อนที่จะนำลงบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อ ภาชนที่ใช้บรรจุควรเป็นภาชนะที่ใหม่หรือไม่ก็ต้องสะอาด ปราศจากเชื้อที่ติดอยู่ การบรรจุควรให้พอดี ไม่เบียดอัดแน่นจนเกินไป
  6. การขนส่งผลิตผลจากไร่ออกสู่ตลาด ไม่ควรวางเข่งตะกร้าหรือภาชนะบรรจุซ้อนทับกันหลายชั้น ควรมีไม้วางขวางกั้นระหว่างชั้น
  7. หลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้วหากจำเป็นต้องเก็บไว้ระยะหนึ่ง ควรเก็บพืชผักไว้ในโรงเรือนที่แห้งโปร่งลมพัดถ่ายเทสะดวก หรือเก็บไว้ในโรงเรือนที่ปรับอุณหภูมิได้ โดยหากเก็บในที่เย็น 5-6 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บไว้ได้นานหลายวัน
  8. ไม่ควรปลูกพืชผักให้แน่นหรือเบียดกัน เว้นระยะให้มีช่องว่างระหว่างต้นพอสมควร เพื่อให้แต่ละต้นได้รับแสงแดดพอเพียงทั่วถึงและให้การระบายถ่ายเทอากาศระหว่างต้นเป็นไปอย่างทั่วถึง
  9. การรดน้ำหรือให้น้ำกับต้นพืชควรให้เป็นเวลาและให้ได้พอเพียงครั้งเดียว ควรให้ตอนเช้าจะปลอดภัยที่สุด การให้น้ำแบบสเปรย์หรือพ่นเป็นฝอยละออง ไม่ควรทำกับผักที่ง่ายต่อการเกิดโรค
  10. การใช้สารเคมี เพื่อป้องกันกำจัดโรค ควรจะเป็นวิธีสุดท้ายในกรณีที่ใช้วิธีอื่นไม่ได้ผล หรือกรณีที่ต้องการกำจัดแมลงพาหะและเป็นที่อาศัยของเชื้อโรค เช่น maggot fly เท่านั้น ส่วนบนต้นผักที่กำลังเป็นโรค หรือเพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดรุนแรงลุกลามต่อไป ให้ใช้สารพวกที่มีทองแดงเป็นส่วนผสม เช่น คูปราวิท (cupravit) หรือคอปปิไซด์ (coppicide) ใช้สารพวกจุนสี (CuSo4) เช่น บอร์โดมิกเจอร์ (Bordeaumixture) ปัจจุบันได้มีผู้ทดลองนำเอายาปฏิชีวนะ (antibiotic) เช่น แอกริมัยซิน (agrimycin) แอกริสเตรป (agristrep) มาใช้ทั้งโดยการฉีดพ่นให้กับพืชในแปลง หรือจุ่มแช่พืชผลที่เก็บเกี่ยวแล้วก็ปรากฏว่าป้องกันการเกิดโรคได้ผลดี
  11. ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยเกิดการระบาเของโรคนี้มาก่อน และมีการระบายน้ำที่ดี
  12. ก่อนปลูกพืชควรไถดินให้ลึกมากกว่า 20 เซนติเมตรจากผิวดิน และตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคในดินได้มาก
  13. ไม่ควรปลูกพืชแน่นเกินไป เพื่อไม่ให้มีความชื้นสูง เป็นการลดการระบาดของโรค
  14. ในบริเวณที่พบโรค ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย เนื่องจากจะทำให้เชื้อสาเหตุโรคกระจายไปสู่ต้นข้างเคียงได้
  15. ระมัดระวังไม่ให้ส่วนต่างๆของพืชเกิดผล เป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายพืช
  16. ควรดูแลไม่ให้พืชขาดธาตุแคลเซียม และโบรอน เพราะจะทำให้พืชเกิดแผลจากอาการปลายใบไหม้และไส้กลวง ทำให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายได้ง่าย
  17. ทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรหลังใช้กับต้นที่เป็นโรค
  18. หลังการเก็บเกี่ยว ควรไถกลบเศษพืชผักทันที และจากดินไว้ระยะหนึ่งแล้วไถกลบอีกครั้ง เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค
  19. แปลงที่มีการระบาดของโรค ควรปลูกพืชชนิดอื่น เพื่อเป็นการหมุนเวียน เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด เป็นต้น
โรคเน่าเละ ป้องกัน
Facebook, เกษตรไทยไอดอล

ตัวอย่างพืชที่เกิดข้อมูลโรคเน่าเละ

พืชผัก

มีสาเหตุจากแบคทีเรีย Pectobacterium carootovorum subsp. Carotovorum ซึ่งจะทำให้พืชผักมีอาการเริ่มแรกคือ แผลมีลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำขนาดเล็ก บนใบหรือบริเวณลำต้น ต่อมาแผลจะขยายลุกลามมีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อพืชบริเวณแผลจะยุบตัวลง มีเมือกเยิ้มออกมา และมีกลิ่นเหม็นเฉพาะตัวของโรคนี้ หลังจากนั้นพืชจะเน่า ยุบตายไปทั้งต้น

  • จำพวกกะหล่ำปลี
    จะเกิดโรคเน่าเละได้เยอะมากอันดับต้นๆของพืชผักเลยก็ว่าได้ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค คือ E.carotovora เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปร่างท่อนสั้นที่มีขนาด 0.7×1-2 ไมโครเมตร ทำให้กะหล่ำปลีที่ถูกทำลายจากเชื้อโรคจะแสดงอาการเป็นจุดฉ่ำน้ำใสๆ ต่อมาแผ่นขยายวงกว้างยาวและลึก จนเป็นแผลสีเหลืองอ่อน ที่แผลจะมีเมือกเยิ้ม เปลี่ยนเป็นสีเทา-น้ำตาลคล้ำ ส่งกลิ่นเหม็นฉุน อากาศจะแพร่ง่ายและรุนแรงเมื่อมีอากาศร้อนจัด
  • ผักกาดขาว
    เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Erwinia carotovora pv.  Carotovora เริ่มอาการของโรคเป็นจุดฉ่ำน้ำ ซึ่งจะเน่าอย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อเยื่อเปื่อยเละเป็นน้ำเยิ้มและส่งกลิ่นเหม็นภายในเวลา 2-3 วัน ผักจะเน่ายุบหายไปหมดทั้งต้นและหัว หรือแห้งเป็นสีน้ำตาลอยู่   ที่ผิวดิน อาการเน่าจะเกิดที่ส่วนใดก่อนก็ได้ แต่โดยปกติจะเริ่มที่โคนก้านใบหรือตรงกลางใบอ่อน เชื้อแบคทีเรียจะเข้าไปทางบาดแผล ซึ่งเกิดจากหนอนทำลายไว้ก่อน

กล้วยไม้

เชื้อที่ทำให้เกิดโรคเน่าเละ คือ เชื้อแบคทีเรีย  Burkholderia  gladioli  (Severini) จะทำให้เกิดอาการแผลจุดช้ำ ยอดเน่า ใบเป็นแผลเน่า ดอกเป็นจุดสีน้ำตาลเน่า

โรคเน่าเละ กล้วยไม้

แหล่งอ้างอิง

หนังสือโครงการอิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ศูนย์ประสานงานสารนิเทศ สาขาเกษตรศาสตร์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
งานวิจัยของทางห้องสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, เรื่องของโรค-แมลงศัตรูผัก และการป้องกันกำจัด

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้