ราชาวดี พันธุ์ไม้ดอกหอม ปลูกและดูแลง่าย ช่วยเสริมเรื่องบารมี

ชื่อภาษาอังกฤษ Butterfly Bush, Summer lilac

ชื่อวิทยาศาสตร์ Buddleja paniculata Wall.

ชื่ออื่นๆ ไค้หางม้า, หางกระรอกเขมร

วงศ์ Buddlejaceae

ต้นราชาวดีเป็นพันธุ์ไม้ดอกหอมที่มีต้นกำเนิดไม่แน่ชัดนัก เนื่องจากมีหลายตำราที่ว่าไว้แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะปลูกในลักษณะของไม้ประดับสวน แม้ทรงพุ่มจะดูรกไปบ้างแต่ก็ตัดแต่งให้สวยงามได้ ข้อดีคือเป็นไม้ที่ค่อนข้างทนต่อสภาพแวดล้อม ทนต่อโรคพืชและแมลง เมื่อออกดอกก็จะส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วพื้นที่ แต่เดิมมีความเชื่อว่าต้นไม้ชนิดนี้ไม่อาจปลูกได้ทั่วไปเพราะเป็นต้นไม้ของพระราชา อย่างน้อยก็ต้องเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ถึงจะปลูกในชายคาเรือนได้ กระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนไป ราชาวดีจึงกลายเป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้

ราชาวดี คือ

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นราชาวดี

ในสมัยก่อนจะมีการเปลี่ยนสีเครื่องใช้ของพระราชาที่เรียกว่า ลงยาราชาวดี ส่วนมากใช้กับเครื่องทองที่เป็นเครื่องประดับหรือของตกแต่งของพระราชาเท่านั้น ต่อมาจึงนำชื่อดังกล่าวมาตั้งให้เป็นชื่อต้นไม้ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสืบเนื่องด้วยเหตุผลใด แต่นั่นก็ส่งผลให้มีความเชื่อเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ชนิดนี้ว่าเป็นต้นไม้ของพระราชา หากปลูกไว้ในชานเรือนจะส่งเสริมเรื่องบารมีของคนในบ้าน และทำให้เป็นที่นับหน้าถือตาของผู้อื่น ยิ่งถ้าคนในครอบครัวทำงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายก็ยิ่งเกื้อกูลมากขึ้น

ตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การปลูกภายในบริเวณบ้าน

เนื่องจากต้นราชาวดีจะมีละอองเกสรที่สามารถก่อให้เกิดความระคายเคืองได้สำหรับคนแพ้ง่าย จึงแนะนำว่าให้ปลูกห่างจากตัวบ้านมากสักหน่อย และควรเป็นตำแหน่งที่ไม่มีการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นประจำด้วย ในส่วนของการปลูกเพื่อเสริมสิริมงคลก็มีตำแหน่งที่เหมาะสมอยู่ 2 จุด คือทิศเหนือและทิศตะวันออกของตัวบ้าน

ราชาวดี ความหมาย

ลักษณะของราชาวดี

  • ลักษณะของลำต้น
    ราชาวดีเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีพุ่มใบไม่เป็นทรงนัก กิ่งก้านยืดยาวและมีความโปร่ง เปลือกไม้เป็นสีน้ำตาลอมเทา ผิวค่อนข้างเรียบ ไม่มีร่องแตก แต่ส่วนที่เป็นกิ่งอ่อนจะมีสีเขียวสดและมีขนปกคลุม
  • ใบ
    รูปทรงใบจะโค้งมนคล้ายกับหัวใจ ขอบใบเป็นลอนหยักละเอียด เนื้อใบบางมีสีเขียวสด ผิวใบมีความหยาบและระคายผิวเหมือนต้นวัชพืช
  • ดอก
    ดอกออกเป็นช่อยาวประมาณ 2-3 นิ้ว หากเป็นราชาวดีป่าก็จะสั้นกว่านี้เล็กน้อย ดอกย่อยมีขนาดเล็ก โคนดอกเป็นกรวยยาวแล้วบานออกตรงช่วงปลาย กลิ่นหอมแรง สีสันโทนอ่อนและต่างกันไปตามสายพันธุ์
  • ผล
    ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับรูปร่างของผล เพราะเปอร์เซ็นต์การติดผลน้อยมาก

สายพันธุ์ยอดนิยม

เราสามารถแบ่งต้นราชาวดีได้เป็น 2 กลุ่ม คือราชาวดีป่าและราชาวดีที่นิยมปลูกตามบ้าน ต้นราชาวดีป่าจะมีดอกขนาดเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด ขนาดใบกับทรงพุ่มก็เล็กกว่าเช่นกัน และมีการนำมาใช้ประโยชน์ในบทบาทของสมุนไพรบ้างแล้ว ขณะที่ราชาวดีบ้านยังไม่มีการทดสอบในเรื่องนี้ แต่จะมีจุดเด่นเรื่องช่อดอกที่สวยงาม ดอกย่อยมีขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอมฉุน ยิ่งกว่านั้นคือมีให้เลือกหลายเฉดสี จึงมีการเรียกชื่อโดยแบ่งตามสีของดอกเป็นหลัก เช่น ราชาวดีขาว ราชาวดีม่วง ราชาวดีชมพู เป็นต้น

ราชาวดี ลักษณะ

วิธีการปลูก

แม้ว่าต้นราชาวดีจะมีเมล็ดที่น่าจะนำไปเพาะปลูกได้ แต่เปอร์เซ็นต์การติดผลของต้นพืชมีน้อยมาก ยิ่งนับเฉพาะอัตราการงอกของเมล็ดยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ จึงนิยมขยายพันธุ์ต้นราชาวดีด้วยการปักชำหรือตอนกิ่งมากกว่า ถ้าต้องการปักชำ ให้เลือกกิ่งที่มียอดอ่อนและดูสมบูรณ์แข็งแรงดี ตัดปลายยอดทิ้งเล็กน้อยพร้อมกับตัดใบออกให้เหลือเพียงแค่ 2-3 ใบ จากนั้นนำไปชำในถุงเพาะ คลุมถุงด้วยพลาสติกจนมิดเพื่อรักษาความชื้นสักประมาณ 3-4 วันค่อยแกะออก หากต้นอ่อนยืนต้นไม่ได้ก็สามารถใช้ไม้หลักช่วยได้ในช่วงแรก แต่ถ้าต้องการใช้วิธีตอนกิ่ง จะต้องใช้ฮอร์โมนสูตรเฉพาะมาทาตรงที่ควั่นเนื้อไม้ด้วยถึงจะได้ผลดี

วิธีการดูแลรักษา

  • แสง ต้องการแสงมาก จำเป็นต้องปลูกในตำแหน่งที่ได้รับแดดเต็มวันเท่านั้น
  • น้ำ ต้องการน้ำปานกลาง ให้รดน้ำ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์และระวังอย่าให้น้ำท่วมขัง
  • ดิน เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย
  • ปุ๋ย นอกจากใส่ปุ๋ยบำรุงดินตามความเหมาะสมแล้ว ควรเพิ่มปุ๋ยบำรุงดอกปีละ 3-4 ครั้งด้วย
ราชาวดี การปลูก

คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นราชาวดี

เมื่อพูดถึงประโยชน์ในทางยาก็จะมีข้อมูลการใช้งานเพียงแค่ราชาวดีป่าเท่านั้น คือนำทั้งต้นมาต้มน้ำอาบ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ดี บรรเทาความระคายเคืองผิวหนังจากผื่นแพ้ได้ ส่วนใบใช้ห้ามเลือดและลดความแสบร้อนของแผลไฟไหม้ได้ หรือจะใช้ลำต้นและใบมาต้มน้ำดื่มเพื่อแก้โรคนิ่วและบำรุงร่างกายผู้หญิงหลังคลอดก็ได้ ในขณะที่ราชาวดีขาวที่เราเห็นเพาะปลูกกันทั่วไปตามบ้านเรือนนั้น ยังไม่มีการทดสอบในด้านสรรพคุณทางยา ปัจจุบันจึงมีบทบาทเป็นเพียงไม้ประดับที่มีกลิ่นหอมแรงเท่านั้น แม้จะมีการคาดเดาว่ากลิ่นหอมจากดอกน่าจะมีน้ำมันหอมระเหยที่ใช้ประโยชน์บางอย่างได้ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นนี้

ความลับของต้นราชาวดีที่ยังรอการพิสูจน์

จากความเชื่อของหมอยาสมุนไพรโบราณที่ว่า พืชทุกชนิดหากใช้อย่างถูกวิธีก็จะมีสรรพคุณเป็นยาได้ทั้งหมด จึงมีหลายหน่วยงานที่กำลังค้นหาความลับจากต้นราชาวดีกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบสารออกฤทธิ์ของกลิ่นหอมจากดอก วิธีการเพาะเมล็ดจากผล สรรพคุณของผล รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของลำต้น แต่ด้วยธรรมชาติของราชาวดีที่เติบโตช้ามากและแทบไม่ออกผลเลย ทำให้การศึกษาใช้ระยะเวลายาวนานหลายปี จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังถือว่าได้ข้อสรุปเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ชนิดนี้น้อยมาก

ราชาวดี สรรพคุณ

แหล่งอ้างอิง

www.lib.kps.ku.ac.th

http://www.erc.or.th

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้