ถั่วฝักยาว พืชสวนครัวที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมายาวนาน เป็นพืชล้มลุกระยะสั้น สามารถปลูกได้ตลอดปี ใช้เวลาและต้นทุนน้อยในการปลูกสามารถเก็บฝักได้ทุกวัน จึงเหมาะสำหรับนักปลูกมือใหม่ ที่ต้องการลองปลูกไว้กินเองภายในบ้าน หรือเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้เสริมได้เป็นที่น่าพอใจ แถมยังมีคุณค่าทางโภชนาการเกิดกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด เรียกว่าของดีราคาถูกยังมีอยู่จริง
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาอังกฤษ : Yardlong bean
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vigna unguiculata (L.) Walp. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vigna sinensis (L.) Savi ex Hausskn., Vigna sinensis (L.) Savi ex Hassk., Vigna unguiculata subsp. unguiculata)
จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
ลักษณะของถั่วฝักยาว
ลำต้น
เป็นไม้เลื้อย เถาเป็นสีเขียวอ่อน เถาจะแข็งและเหนียวคล้ายกับถั่วพู ลำต้นม้วนพันสิ่งยึดเกาะได้
ใบ
มีลักษณะเป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ มี 3 ใบย่อยลักษณะคล้ายรูสามเหลี่ยมยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร
ดอก
ของดอกถั่วฝักยาว จะออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีขาว (หรือน้ำเงินอ่อน)
ผลหรือฝัก
มีลักษณะกลม (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร) ยาวประมาณ20-80 เซนติเมตร และในฝักมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด
ประโยชน์ของถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาวถือเป็นพืชสวนครัวเป็นหนึ่งในพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่งที่ คนนิยมปลูกไว้รับประทานในบ้าน เพราะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง นำมาปรุงประกอบอาหาร เมนูถั่วฝักยาวมากมาย เช่น แกงส้มถั่วฝักยาว ถั่วฝักยาวผัดกะปิกุ้ง ถั่วฝักยาวผัดกุ้ง หมูผัดพริกแกงถั่วฝักยาว ผัดเป็ดถั่วฝักยาวหมูสับ หมูผัดเต้าเจี้ยวถั่วฝักยาว ผัดพริกขิงหมูใส่ถั่วฝักยาว กระเพาะหมูใส่ถั่วฝักยาว ถั่วฝักยาวผัดเต้าหู้ยี้ ฯลฯ ซึ่งทานได้ทั้งดิบ และปรุงสุก สารอาหารที่พบในถั่วฝักยาวมีหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินบี ธาตุเหล็ก ซัลเฟอร์ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน ได้เป็นอย่างดีวิตามินซีที่มีสูงยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดโรคหวัด ป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันได้อีกด้วย ถั่วฝักยาวช่วยดูแลผิวพรรณ ในถั่วฝักยาวมีวิตามินซีเป็นส่วนประกอบอยู่ค่อนข้างมาก และอย่างที่เรารู้กันดีว่าวิตามินซี เป็นสารที่ช่วยดูแลผิว ทั้งลดริ้วรอย รอยแดง ยืดอายุผิว และช่วยบำรุงไม่ให้ผิวแห้ง อีกทั้งยังเป็นสารที่สำคัญต่อผิวหนัง หลอดเลือด และเส้นเอ็นในร่างกายเรา
ถั่วฝักยาวยัง สามารถเมล็ดแห้งหรือสดนำมาคั้นสดหรือต้มกินกับน้ำ ช่วยแก้กระหาย ให้รสชุ่มชื่นคอ ใช้เป็นยาบำรุงม้ามและไต
ถั่วฝักยาว มีฤทธิ์สมุนไพรอ่อนๆ ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง เรอเปรี้ยว ด้วยการเคี้ยวฝักสดกิน ถั่วฝักยาวมีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาฝีเนื้อร้าย ช่วยทำให้เนื้อเยื่อเจริญเร็วขึ้น ด้วยการใช้รากสดนำไปเผาแล้วบดจนละเอียดผสมกับน้ำแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น
วิธีการปลูก และ ดูแลการปลูก
ถั่วฝักยาวชอบอากาศค่อนข้างร้อน ฝนไม่ชุก ถ้าสภาพอากาศช่วงปีใดร้อนเกินไปหรือฝนตกชุกมากเกิดปกติ จะทำให้ดอกและฝักร่วง ได้ง่ายผลผลิตไม่ค่อยดี ที่น่าสังเกตคือในฤดูแล้ง ถั่วฝักยาวจะให้ผลผลิตสูงกว่าในฤดูฝน แต่ถ้ามีการดูแลที่ดีในฤดูฝน คุณภาพของฝักที่ได้จะดีกว่าในช่วงฤดูร้อน
การเตรียมดินยกแปลงในการปลูก ให้ไถพรวนดินที่ความลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 5 – 7 วัน เพื่อจัดการกับศัตรูพืชต่าง ๆ ในดิน กำจัดวัชพืชออกจากแปลง อาจใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้นพร้อมกับทำการยกร่อง ให้ร่องกว้างประมาณ 1 เมตร ขนานกับพื้นที่ และเตรียมร่องระหว่างแปลงปลูก 50 – 80 เซนติเมตร ไว้เดินเข้าออก
การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมลึกประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 80 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 50 เซนติเมตร จากนั้นจึงหยอดเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้ หลุมละ 3-4 เมล็ด กลบด้วยแกลบหรือปุ๋ยคอกหรือดินผสม ให้หนาประมาณ 5 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางแห้งบาง ๆ เพื่อรักษาความชื้น รดน้ำให้ชุ่มพอเหมาะ
หลังจากต้นเริ่มโตควรมีการตัดแต่งกิ่งช่วงด้านล่างบ้าง เพื่อไม่ให้ต้นโทรม และทำให้ฝักเต่ง ไม่ลีบ โดยเฉพาะในฤดูฝน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคอยตัดแต่งกิ่งเพื่อไม่ให้ฝักนอนอยู่บนดิน จะทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย
ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือ เมื่อถั่วฝักยาวมีอายุประมาณ 40 วันหลังปลูก หรือหลังดอกบาน 4 – 8 วัน โดยทั่วไปจะเก็บได้ประมาณ 22 – 25 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และการดูแล โดยเลือกเก็บฝักที่สียังไม่จาง และฝักยังไม่พอง เรียบ สม่ำเสมอ ควรทยอยเก็บทุก ๆ 2- 4 วัน ไม่อย่างนั้นฝักจะแก่คาต้น
แสง
ถั่วฝักยาวต้องการแสงแดดตลอดวัน ในสภาพอากาศไม่ร้อนจัดอากาศถ่ายเทได้ดี
ดิน
เจริญได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะในการปลูกที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำได้ดี สภาพความเป็นกรดด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5.5-6.8
น้ำ
หลังหยอดเมล็ดควรให้น้ำทุกวัน เช้า – เย็น จนต้นถั่วฝักยาวสามารถตั้งตัวได้ แล้วจึงค่อยปรับการให้น้ำลง เหลือเพียงวันละหน อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพอากาศ และสภาพดิน แต่ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอ และไม่ควรปล่อยให้น้ำขัง ต้นถั่วฝักยาวอาจตายได้
ปุ๋ย
เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้นการให้ปุ๋ยจะทำตั้งแต่ช่วงก่อนปลูก โดยควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 5-10-5 หรือ 15-15-15 หลุมละครึ่งช้อนแกง คลุกให้เข้ากันกับดินก้นหลุม
สายพันธุ์ถั่วฝักยาว
สายพันธุ์ถั่วฝักยาวที่เป็นที่ต้องการในตลาดของเมืองไทย โดยส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ
พันธุ์ถั่วเนื้อ
ถั่วจะมีฝักอวบ ไม่ยาวมาก เนื้อเยอะ บางพันธุ์อาจไม่ต้องทำค้าง พันธุ์ที่นิยมปลูก เช่น ถั่วฝักยาว ราชินี ตราดอกแดง, ถั่วฝักยาว ยอดเพชรเกษม ตราตะวันต้นกล้า, ถั่วฝักยาว จอมพล ตราตะวันกล้า, ถั่วฝักยาว สุดสาคร ตราเจียไต๋ เป็นต้น
พันธุ์ถั่วเส้น
ถั่วจะมีฝักเรียวยาว ตรงสวย เนื้อไม่เยอะมาก จำเป็นต้องทำค้าง เนื่องจากฝักมีความยาวมากกว่าพันธุ์เนื้อ พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ ถั่วฝักยาว เขียวดกโกลด์ ตราศรแดง, ถั่วฝักยาว ศรสวรรค์ ตราภูเขา, ถั่วฝักยาว มังกรหยก เบอร์ 9 ตราตะวันต้นกล้า เป็นต้น
คุณค่าทางอาหาร ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 47 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 8.35 กรัม
- ไขมัน 0.4 กรัม
- โปรตีน 2.8 กรัม
- วิตามินเอ 43 ไมโครกรัม 5%
- วิตามินบี 1 0.107 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี 2 0.11 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี 3 0.41 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 5 0.55 มิลลิกรัม 11%
- วิตามินบี 6 0.024 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 9 62 ไมโครกรัม 16%
- วิตามินซี 18.8 มิลลิกรัม 23%
- ธาตุแคลเซียม 50 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุเหล็ก 0.47 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุแมกนีเซียม 44 มิลลิกรัม 12%
- ธาตุแมงกานีส 0.205 มิลลิกรัม 10%
- ธาตุฟอสฟอรัส 59 มิลลิกรัม 8%
- ธาตุโพแทสเซียม 240 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุสังกะสี 0.37 มิลลิกรัม 4%
ข้อควรรู้ก่อนทานถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาวประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ ๆ หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินบี ธาตุเหล็ก ซัลเฟอร์ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม และที่สำคัญยังเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยวิตามินซี โฟเลต แมกนีเซียม และแมงกานีสอีกด้วย ซึ่งนับว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากเลยทีเดียว แต่ถึงแม้ถั่วฝักยาวจะมีประโยชน์มากมายอย่างไร แต่หากทานถั่วฝักยาวแบบสด ๆ ดิบ ๆ หรือทานมากไปก็อาจทำให้ท้องอืดได้ เพราะในถั่วฝักยาวดิบจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมีเทนอยู่มาก ซึ่งแก๊สพวกนี้ทำให้เกิดกรดเกินในกระเพาะอาหาร จนมีอาการท้องอืด เป็นปัญหาในระบบย่อยอาหารได้