ถั่วพู ราชาแห่งพืชตระกูลถั่ว ที่มีดีทั้งแต่โคนจรดยอด

ผักถั่วพู พืชเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ลาว พม่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศต่างๆ ในแถบเส้นศูนย์สูตร ถั่วพู มักถูกเขียนผิดให้กลายเป็นถั่วพลู แทนที่จะเป็น ถั่วพู ซึ่งเป็นคำไทยโบราณที่ใช้เรียก ส่วนของพืชผักผลไม้ที่เป็นกลีบใหญ่เหมือนลูกทุเรียน มียวงอยู่ข้างใน ซึ่งคนไทยได้นำเอาลักษณะของถั่วที่มีกลีบและยวงอยู่ข้างในนั้นมาเรียกเป็นชื่อของถั่วว่า ถั่วพู นั่นเอง เป็นหนึ่งในพืชผักพื้นบ้านที่คนไทยชื่อชอบมาช้านานและอยู่ในตำรับอาหารโบราณต่างๆ 

สายพันธุ์ถั่วพู

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อสามัญ : Winged bean, Goa bean, Asparagus pea, Four-angled bean, Winged pea

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psophocarpus tetragonolobus (L.) DC.

จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว : FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE

ลักษณะของต้นถั่วพู ต้น ดอก ผล ใบ

ลำต้น

จัดเป็นไม้เลื้อย ไม่มีเนื้อไม้แต่มีอายุหลายปี ลำต้นเลื้อยพัน เป็นพืชที่มีลำต้นสีเขียวและเขียวปนม่วง ส่วนของรากเป็นรากที่สะสมอาหารอยู่ใต้ดิน มีปมซึ่งเป็นที่อยู่ของเชื้อไรโซเบียมจำนวนมาก

ใบเรียงสลับ

เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมี 3 ใบ โคนใบกลมและเบี้ยว ส่วนปลายใบแหลม มีรูปร่างหลายแบบ เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปไข่ และรูปใบหอก

ดอก

ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบเป็นแบบช่อกระจะ ในช่อหนึ่ง ๆ จะมีดอกอยู่ประมาณ 3-12 ดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันลักษณะคล้ายรูประฆัง ปลายเป็น 5 กลีบ กลีบเป็นซี่สั้น ๆ กลีบดอกมีสีระหว่างขาวและสีม่วงแดง สีน้ำเงิน สีแดง ดอกมีเกสรตัวผู้อยู่ 10 ก้าน แบ่งเป็น 2 มัด มัดหนึ่งมี 9 ก้าน ส่วนอีกมัดมี 1 ก้าน

ฝักถั่วพู

ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของผักชนิดนี้ เป็นรูปขอบขนานถึงรูปแถบ มีหน้าตัดเป็นรูปสีเหลี่ยม และแต่ละมุมของฝักจะมีปีกตามยาว ปีกมีลักษณะเป็นหยักแบบจักคล้ายฟันเลื่อย มีสีเขียว มีรูปร่างเป็นฝักสี่เหลี่ยม มีปีก 4 ปีก ฝักมีความยาวประมาณ 11.2-29.9 เซนติเมตร สีของฝักมีทั้งสีเขียว สีม่วง และสีเหลือง ในฝักถั่วพูจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 8-20 เมล็ด

ลักษณะ ถั่วพู

ประโยชน์ของถั่วพู

  • ถั่วพูเป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหนือกว่าพี่น้องตระกูลถั่วแทบทุกชนิด แถมยังรับประทานได้แทบทุกส่วนของต้น ถั่วพูมีประโยชน์ในการช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้ถึง 39.1-51.9% เมื่อรับประทานถั่วพูเคียงคู่กับอาหารที่มีแคลเซียมสูง ถั่วพูสามารถรับประทานได้ทั้งชนิดแห้งและสด มีเส้นใยอาหารมากช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี 
  • ถั่วพูยังนิยมปลูกประดับไว้ตามริมรั้วหรือในสวนหลังบ้าน หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนาเพื่อใช้เป็นผักสวนครัว โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นอาหารได้แก่ ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ฝักอ่อน รสมัน ใช้กินเป็นผักแกล้ม ผักสดจิ้มรับประทานกับน้ำพริก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับน้ำพริกปลาร้า หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น ผัดกับน้ำมันหอย แกงเผ็ด ลวกราดน้ำกะทิ หรือทำเป็นยำถั่วพู นำมาหั่นเป็นเครื่องเคียงขนมจีน ใช้ผสมในทอดมันเช่นเดียวกับถั่วฝักยาว  สำหรับยอดอ่อน ฝักอ่อน และดอกอ่อน ยังใช้ทานเป็นผักสด หรือนำไปต้ม นำไปผัด ใส่แกงส้ม ทำแกงไตปลาก็ได้ หรือแม้แต่นำมาชุบแป้งทอดเป็นเทมปุระ หรือดองไว้รับประทาน เป็นผักเคียง
  • หัวใต้ดิน ใช้กินเป็นอาหารแห้ง หรือนำมาต้มกินคล้ายกับหัวมัน โดยหัวใต้ดินของถั่วพูนี้จะมีประมาณของโปรตีนสูงถึงร้อยละ 20-30 เลยทีเดียว จึงมีผู้นิยมนำหัวถั่วพูมาแปรรูปเป็นแป้งสำหรับใช้ประกอบเพราะนอกจากจะได้แป้งแล้วยังมีโปรตีนสูงอีกด้วย
  • ส่วนของเมล็ดแก่ สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันพืชสำหรับใช้ปรุงอาหารได้ และยังมีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย โดยในน้ำมันถั่วพูจะมีกรดโอเลอิก 39%, กรดไลโนเลอิก 27%, กรดบีเฮนิก, และกรดพารินาริก ซึ่งไม่ทำให้เกิดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด นอกจากนี้ในน้ำมันถั่วพูยังมีสารโทโคฟีรอลในปริมาณที่สูงมากอีกด้วย โดยเป็นสารที่ทำให้น้ำมันมีรสหวานและอยู่ตัว มีประโยชน์ในเรื่องการต่อต้านอนุมูลอิสระและช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดี 
  • ในด้ายการใช้เป็นยารักษาโรค ถั่วพูสามารถนำมาใช้ในการรักษาสิวและโรคผิวหนังบางชนิดรวมถึงสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี เป็นพืชบำรุงดินชั้นยอดเพราะมีปมรากเป็นที่สามารถเพิ่มไนโตรเจนให้แก่ดิน ดังนั้นเมื่อไถกลบต้นถั่วพูหลังการเก็บเกี่ยวไปแล้วซากของสิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นปุ๋ยพืชที่ดินต้องการอีกด้วย เห็นไหมว่าประโยชน์ของถั่วพูมีสารพัดใช้ได้ทุกส่วนจริงๆ 
ถั่วพู วิธีปลูก

วิธีการปลูก และ ดูแลการปลูก

ถั่วพูเป็นพืชที่ปลูกง่ายและเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ยกเว้นในดินที่มีน้ำขัง ขึ้นได้ในระดับน้ำทะเลจนถึงระดับความสูงที่ 2,300 เมตร ขยายพันธุ์และเพาะปลูกด้วยวิธีการใช้เมล็ดเป็นหลัก

สำหรับการเพาะเมล็ด

ให้นำเมล็ดแก่มาเพาะในถุงดำ หรือในกระบะเพาะชำ หรือถ้าจะปลูกลงดินเลยก็ได้ โดยขุดหลุมให้กว้าง 1 ฟุต ลึก 1 ฟุต รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก เศษใบไม้ผุๆ กาบมะพร้าวสับชิ้นเล็กๆ คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วจึงหยอดเมล็ดลงไปหลุมละ 4-5 เมล็ด กลบดินบางๆ รดน้ำให้ชุ่มเช้า-เย็น ประมาณ 10 วัน ต้นถั่วพู ก็จะงอกขึ้นมา ให้ถอนแยก เลือกเอาต้นที่สมบูรณ์ไว้ 2 ต้น ต่อหลุม เพื่อเป็นต้นแม่พันธุ์ต่อไป พออายุของต้นได้ราวครึ่งเดือนควรหาไม้ไผ่มาทำค้างให้ลำต้นเลื้อยสูงขึ้นไป หากมีพื้นที่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกในกระถาง 

ส่วนการดูแลรักษา

หลักจากที่ต้นกล้าที่เลือกไว้เติบโต ควรมีการทำค้าง หรือกระโจมไว้ข้างบน ลำต้น โดยปักค้างอย่าให้สูงเกินไป เพราะจะเก็บเกี่ยวไม่สะดวก การทำค้างยังสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นกว่าการปลูกแบบไม่ทำค้างอีกด้วย

การรดน้ำ

สำหรับในฤดูฝน น้ำฝนที่ตกลงมาจะเพียงพอต่อความชื้นในดิน ที่ถั่วพูต้องการ  โดยหากพื้นที่ใดมีฝนตกชุกควรยกร่องให้สูง ป้องกันน้ำท่วม หากปลูกในฤดูหรือในเขตแห้งแล้งต้องมีน้ำรดเพียงพอ

การกำจัดวัชพืช

ควรทำในระยะแรก เพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชแย่งสารอาหารกับต้นอ่อน ทำให้ต้นอ่อนเจริญเติบโตช้า

การเก็บเกี่ยว

สามารถทำได้ประมาณ 10 สัปดาห์หลังจากที่เริ่มปลูก หรือนับไปประมาณ 14 วัน หลังจากผสมละอองเกสร (ดอกบาน) ก็จะทำการเก็บผักได้ ข้อสำคัญไม่ควรปล่อยให้อยู่บนต้นนานเกินไป เพราะจะทำให้ถั่วเป็นเสี้ยนทานไม่อร่อย 

สายพันธุ์ถั่วพู

สำหรับสายพันธุ์ถั่วพูที่ใช้ปลูกโดยทั่วไปในเมืองไทย ส่วนใหญ่เป็นถั่วพูพันธุ์พื้นบ้าน ที่เรียกกันว่า พันธุ์ผักบุ้ง ซึ่งมีอัตราการงอกที่ดี  100% เต็ม ซึ่งถั่วพูพันธุ์ผักบุ้ง ยังมีทั้งสายพันธุ์เถาดำและพันธุ์เถาขาว แยกออกไป  นอกจากนั้นยังมี พันธุ์ใบไผ่ ปลูกใด้ทั้งปี   พันธุ์ใบโพธิ์ ฝักใหญ่ ที่ปลูกง่ายโตเร็ว มีรสชาติ ไม่ขม หวาน กรอบ และ พันธุ์ใบโพธิ์ฝักดก เป็นต้น

คุณค่าทางอาหาร ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 409 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 41.7 กรัม
  • เส้นใย 25.9 กรัมลักษณะถั่วพู
  • ไขมัน 16.3 กรัม
  • ไขมันอิ่มตัว 2.3 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 6 กรัม
  • ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 4.3 กรัม
  • โปรตีน 29.65 กรัม
  • น้ำ 8.34 กรัม
  • วิตามินบี 1 1.03 มิลลิกรัม 90%
  • วิตามินบี 2 0.45 มิลลิกรัม 38%
  • วิตามินบี 3 3.09 มิลลิกรัม 21%
  • วิตามินบี 5 0.795 มิลลิกรัม 16%
  • วิตามินบี 6 0.175 มิลลิกรัม 13%
  • วิตามินบี 9 45 ไมโครกรัม 11%
  • ธาตุแคลเซียม 440 มิลลิกรัม 44%
  • ธาตุเหล็ก 13.44 มิลลิกรัม 103%
  • ธาตุแมกนีเซียม 179 มิลลิกรัม 50%
  • ธาตุแมงกานีส 3.721 มิลลิกรัม 177%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 451 มิลลิกรัม 64%
  • ธาตุโพแทสเซียม 977 มิลลิกรัม 21%
  • ธาตุโซเดียม 38 มิลลิกรัม 21%
  • ธาตุสังกะสี 4.48 มิลลิกรัม 47%

ข้อควรรู้ก่อนทานถั่วพู

การรับประทานถั่วพูให้ได้คุณค่าครบถ้วน โดยเฉพาะสารโปรตีน ควรทำถั่วพูให้สุกก่อนรับประทาน เพราะในถั่วพูมีสารชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ยับยั้ง เอนไซม์ทริปซิน ทำให้โปรตีนไม่ย่อยหรือย่อยได้น้อยลง จึงส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายนั่นเอง นอกจากนี้วิธีเลือกถั่วพูก็สำคัญ ควรเลือกฝักที่มีสีเขียวสดไม่ช้ำ ไม่มีตำหนิ หรือเชื้อราเกาะอยู่ ไม่เหี่ยวหรือส่งกลิ่นเหม็น

ถั่วพู ประโยชน์

การเก็บรักษา ควรเก็บไว้ในที่อุณหภูมิต่ำ เช่น เพื่อคงความสดใหม่ให้ได้นาน ถั่วไม่เปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง เหี่ยว ได้ง่ายมาก โดยก่อนนำแช่ตู้เย็น ควรเลือกฝักที่เน่าหรือเสียทิ้งไปก่อน เพราะอาจทำให้มีเชื้อลามไปฝักอื่นๆได้ง่าย จากนั้นห่อด้วยกระดาษ แล้วถึงนำไปแช่ตู้เย็นในช่องแช่ผัก สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการทานถั่วพูแบบสดๆ  ก็แนะนำว่าก่อนรับประทานควรนำถั่วพูไปแช่น้ำแข็งก่อน เพื่อให้ฝักกรอบอร่อยน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น เท่านี้การทานถั่วพูของคุณก็เต็มไปด้วยคุณค่าและรสชาติแบบไม่ขาดไม่เกิน

แหล่งอ้างอิง

: https://www.opsmoac.go.th/

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้