ถั่วแขก เป็นพืชล้มลุกที่อยู่ในตระกูลถั่ว Fabaceae (Leguminosae) โดยมีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของประเทศเม็กซิโก บริเวณหุบเขาเตฮัวกัน (Tehuacán) หลังจากนั้นก็ได้มีการนำมาปลูกในประเทศที่อยู่ทางภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพืชที่มีลำต้นแข็ง แตกกิ่งก้านน้อย และมีการเจริญเติบโตในหลายลักษณะ โดยจะมีการเจริญเติบโตในลักษณะที่เป็นพุ่ม กึ่งเลื้อย ไปจนถึงเลื้อย ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 2-3 ปี ถั่วแขกนั้นเป็นพืชผสมตัวเองและมีฝักอยู่หลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ถั่วแขกเป็นพืชฤดูเดียว สามารถเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่อบอุ่น
ถั่วแขกที่พบปลูกในประเทศไทย ได้แก่ ถั่วแขกพุ่ม และถั่วแขกเลื้อย โดยถั่วแขกที่ให้ผลผลิตค่อนข้างดีก็คือถั่วแขกพุ่ม ซึ่งเป็นสายพันธุ์โบรเคอร์ (Broker) ถูกนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย โดยลำต้นมีลักษณะเป็นทรงพุ่มกว้าง ลำต้นมีความสูงประมาณ 40-45 เซนติเมตร ออกดอกสีขาว ซึ่งจะเริ่มออกดอกประมาณ 34 วัน หลังจากการปลูก โดยจะให้ฝักที่อายุประมาณ 46-52 วัน หลังปลูก และมีเมล็ดในฝักประมาณ 6-8 เมล็ด
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Common bean, French bean, String bean, Green bean, etc.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phaseolus vulgaris L.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ถั่วแขก เป็นพืชล้มลุก ซึ่งจะมีทั้งพันธุ์ที่เป็นไม้ยืนต้นประเภททรงพุ่ม กึ่งเลื้อย และเลื้อย มีลำต้นแข็ง แตกกิ่งก้านน้อย พันธุ์ที่เป็นทรงพุ่มลำต้นจะมีลักษณะเป็นข้อสั้น ๆ โดยจะมี 4-8 ข้อ ลำต้นสูงประมาณ 25-30 เซนติเมตร ส่วนพันธุ์กึ่งเลื้อย ลำต้นสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร และพันธุ์เลื้อยจะมีลำต้นสูงประมาณ 1.8-3 เมตร โดยระบบรากนั้นจะประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนงที่หยั่งลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร
ใบ
ใบของถั่วแขกแตกออกเป็นประกอบ โดยจะแทงออกบริเวณข้อของลำต้น ซึ่งแต่ละใบนั้นมีใบย่อยอยู่ด้วยกัน 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ แต่โดยทั่วไปแล้วใบมักจะมีฐานที่กว้าง ปลายใบแหลม ในส่วนของแผ่นใบและขอบใบนั้นจะดูเรียบ และมีขนปกคลุม แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างมีสีเขียวจาง ๆ
ดอก
ถั่วแขกจะออกดอกในลักษณะที่เป็นช่อตามบริเวณซอกใบในส่วนของปลายยอด ซึ่งประกอบด้วยดอกย่อยที่มีหลากหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์นั้น ๆ อาทิ สีเหลือง สีชมพู และสีขาว โดยดอกย่อยแต่ละดอกนั้นจะมีก้านดอกสั้น ซึ่งประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวที่ฐานของกลีบเชื่อมติดกันเป็นกรวยล้อมรอบบริเวณกลีบดอก โดยมีกลีบดอกอยู่ด้วยกัน 5 กลีบ และดอกจะบานจากดอกโคนไปถึงปลายช่อ นอกจากนี้ดอกของถั่วแขกนั้นก็ถูกจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมเกสรได้ในดอกตัวเองด้วย จึงทำให้ติดฝักได้ครบตามจำนวนดอกที่ออก และดอกจะร่วงจากต้นภายใน 2-3 วันหลังบานไปแล้ว
ผล
ผลหรือฝักของถั่วแขกมีลักษณะคล้ายกับฝักถั่วเขียวแต่มีขนาดสั้นกว่า โดยจะมีลักษณะเป็นทรงกระบอกกลมและเรียวยาว ผิวเรียบและโค้งเล็กน้อย มีความกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว ส่วนฝักแก่มีสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักนั้นมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรียงกันเป็นแถวตามแนวยาวของฝัก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไต โดยจะมีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อาทิ สีขาว สีเหลืองครีม สีชมพู สีเขียว สีม่วง สีน้ำตาล หรือสีดำ และในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดประมาณ 5-8 เมล็ด
สายพันธุ์ของถั่วแขก
ถั่วแขกพันธุ์พุ่ม
ถั่วแขกพันธุ์พุ่ม หรือจำกัด (Bush or Determinate form) ลำต้นมีลักษณะเป็นพุ่มสูง มีช่วงข้อสั้นจำนวน 4-8 ข้อ ลำต้นสูงประมาณ 35-50 เซนติเมตร มักจะนิยมปลูกโดยการหยอดเมล็ดลงหลุมในแปลงปลูกโดยตรง โดยระยะที่ใช้ในการปลูกสำหรับพันธุ์พุ่มนั้นมีระยะประมาณ 10-45-90 เซนติเมตร และถั่วแขกพันธุ์พุ่มก็มีหลายสายพันธุ์ เช่น The Prince, Canadian Wonder, Kinghorn Waxpod เป็นต้น
ถั่วแขกพันธุ์กึ่งเลื้อย
ถั่วแขกพันธุ์กึ่งเลื้อย (Semi-indeterminate form) ลำต้นจะสูงกว่าสายพันธุ์พุ่ม แต่ไม่ยาวเหมือนสายพันธุ์เลื้อย โดยมีความสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร มีปล้อง 4-8 ปล้อง และปล้องจะยาวกว่าต้นเตี้ย ในการปลูกมักจะนิยมปลูกโดยการหยอดเมล็ดลงหลุมในแปลงปลูกโดยตรง
ถั่วแขกพันธุ์เลื้อย
ถั่วแขกพันธุ์เลื้อย หรือไม่จำกัด (Pole or Indeterminate form) มีลักษณะของลำต้นคล้ายกับถั่วฝักยาว จำนวนข้อจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่พืชเจริญเติบโต ลำต้นมีความสูงประมาณ 1.8-3 เมตร ในการปลูกมักจะนิยมปลูกโดยการหยอดเมล็ดลงหลุมในแปลงปลูกโดยตรง โดยถั่วแขกพันธุ์เลื้อยนั้นจะใช้ระยะการปลูกประมาณ 15-22.5-90-120 เซนติเมตร และถั่วแขกพันธุ์เลื้อยก็มีหลายสายพันธุ์ เช่น Largo, Kentucky Wonder เป็นต้น
วิธีการปลูก
- ขั้นตอนแรกให้นำเมล็ดถั่วแขกมาคลุกกับเชื้อไตรโคเดอร์มา และบ่มผ้าในอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 6 ชั่วโมง
- ทำการไถ่ดินตากแดดไม่ต่ำกว่า 14 วัน หรือขุดพลิกดินตากแดดอย่างน้อย 7-14 วัน และทำการเก็บเศษวัชพืชให้สะอาด
- ขึ้นแปลงปลูก โดยให้รองพื้นด้วยปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ในอัตรา 1 กิโลกรัม/ตารางเมตร และใส่ปุ๋ยลงไป โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 10-20 กรัม/ตารางเมตร ซึ่งการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนรองพื้นจะทำให้ต้นกล้านั้นมีความแข็งแรงมากขึ้น
- หยอดเมล็ดที่บ่มแล้วลงไป 2-3 เมล็ดต่อหลุม โดยให้ขุดหลุมลึก 2-3 เซนติเมตร เมื่อหยอดเมล็ดถั่วแขกลงไปแล้วก็ทำการกลบดินและรดน้ำ (ระยะการปลูก ต้น×แถว ควรเว้นในระยะ 30×50 เซนติเมตร)
- ทำการปลูกซ่อม 7-10 วัน หลังจากหยอดเมล็ด โดยให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 10-20 กรัม/ตารางเมตร และหลังจากปลูกได้ 40 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในอัตรา 10-20 กรัม/ตารางเมตร จากนั้นทำการพูนโคนต้นเพื่อป้องกันต้นล้ม
วิธีการดูแล
แสงแดด
ถั่วแขก เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น ดังนั้นถ้าจะให้ดีควรปลูกต้นถั่วแขกไว้ในบริเวณที่แดดส่องถึง เนื่องจากถั่วแขกนั้นเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง และจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีถ้าหากได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของถั่วแขกนั้นอยู่ระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส
น้ำ
ถั่วแขก เป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น สำหรับการรดน้ำ ควรรดน้ำต้นถั่วแขกอย่างสม่ำเสมอในช่วง 30 วันแรกที่ทำการปลูก โดยให้น้ำในระดับปานกลาง ไม่น้อยหรือมากจนเกินไป หลังจากนั้นก็ให้รดน้ำทุก 2-3 วัน ทั้งนี้การรดน้ำก็ขึ้นอยู่กับระดับความชื้นของดินด้วย
ดิน
ถั่วแขก เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ซึ่งสามารถถ่ายเทอากาศได้ดี โดยสภาพดินที่เหมาะสมนั้นคือดินร่วนปนทรายที่สามารถระบายน้ำได้ดี ดังนั้นการปลูกถั่วแขกเพื่อให้ได้ผลดีนั้นควรปลูกด้วยดินร่วนซุย เพราะถั่วแขกชอบสภาพดินที่สามารถระบายน้ำได้ดี และอุณหภูมิดินที่เหมาะสมนั้นอยู่ระหว่าง 18-30 องศาเซลเซียส
ปุ๋ย
ปุ๋ยที่แนะนำคือปุ๋ยที่มีไนโตรเจนมาก โดยปุ๋ยที่มีไนโตรเจนมากนั้นจะส่งผลให้ฝักของถั่วแขกแก่ช้า การให้ปุ๋ยในช่วงอายุ 15 วัน ควรใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตรา 15 กรัม/ต้น, อายุ 30 วัน ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 25 กรัม/ต้น และอายุ 45 วัน ควรใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในอัตรา 25 กรัม/ต้น
ประโยชน์และสรรพคุณ
- เมล็ดของถั่วแขกสามารถนำมาต้มรับประทานกับน้ำพริก ทำเป็นซุปแขก หรือใช้ผสมในขนมหวานต่าง ๆ ได้
- เมล็ดของถั่วแขกสามารถนำมาบดแล้วทำเป็นแป้งเพื่อใช้ทำวุ้นเส้นหรือขนมหวานได้
- ถั่วแขกสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์หรือใช้เลี้ยงสัตว์ได้
- ถั่วแขกพันธุ์พุ่มมีธาตุเหล็กสูง ซึ่งจะช่วยในการสร้างเม็ดเลือดและช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
- ถั่วแขกมีสรรพคุณในการช่วยแก้ดับร้อน ขับปัสสาวะ และช่วยรักษาอาการบวมน้ำ
- ถั่วแขกมีธาตุซิลิคอนในปริมาณที่เพียงพอที่จะช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เล็บแข็งแรง ช่วยบำรุงผิวหนังให้มีสุขภาพดี และช่วยทำให้ผมดกดำเงางามอีกด้วย
- ถั่วแขกอุดมไปด้วยวิตามินเค ซึ่งมีหน้าที่ในการกระตุ้นโอแอลซิน ช่วยให้กระดูกแข็งแรง และทำให้ดูดซึมแคลเซียมได้ดีซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
- ถั่วแขกมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ผิวหนังที่ทำให้แก่ก่อนวัย
- ถั่วแขกมีสารฟลาโวนอยด์ในปริมาณที่สูง ซึ่งจะช่วยทำให้หลอดเลือดสะอาด และช่วยทำให้เลือดไม่เกิดการแข็งตัวอีกด้วย
- ถั่วแขกสามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้ เนื่องจากในถั่วแขกนั้นมีสารที่จะช่วยป้องกันและยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี
คุณค่าทางโภชนาการ
ถั่วแขกเมล็ดดิบ 100 กรัม ประกอบด้วยแร่ธาตุ ดังนี้
- โปรตีน 1.83 กรัม
- ไขมัน 0.22 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 6.97 กรัม
- เส้นใย 2.7 กรัม
- แคลเซียม 37 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 38 มิลลิกรัม
- เหล็ก 1.03 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 10.07 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 12.2 มิลลิกรัม
- ไนอะซิน 0.734 มิลลิกรัม
ข้อควรรู้ก่อนรับประทานถั่วแขก
- ถั่วแขกมีสารออกซาเลตจำนวนมาก ถ้าหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้เพียงพอที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นควรรับประทานในปริมาณที่พอดี
- ถั่วแขกมีเลคตินเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลัก ซึ่งถ้ารับประทานมากเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินอาหารได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น
- ถั่วแขกมีกรดไฟติกเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันการดูดซึมของแร่ธาตุ ผู้ที่มีปัญหาในเรื่องภาวะแร่ธาตุไม่เพียงพอควรงดรับประทานถั่วแขก