กบ คือสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ตลาดในประเทศและต่างประเทศนิยมบริโภค ไม่ว่าจะเป็นสเปน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ประเทศเหล่านี้นิยมบริโภคกบเช่นเดียวประเทศไทย สำหรับผู้ที่เลี้ยงกบหากหลีกเลี่ยงช่วงที่มีการจับกบในแหล่งธรรมชาติก็จะช่วยลดปัญหาด้านราคาตกต่ำได้ แต่ถึงอย่างนั้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมก็ย่อมทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยเลี้ยงตัวตามธรรมชาติของกบลดลง เพราะฉะนั้นแนวโน้มการเลี้ยงกบในอนาคตจึงนับว่ามีลู่ทางที่ดี ไม่มีปัญหาในด้านการจำหน่าย ราคาดี คุ้มต่อการลงทุนและลงแรง อีกทั้งยังสามารถส่งเป็นสินค้าออกช่วยการขาดดุลให้แก่ประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นวันนี้เราจะพาไปดูว่าการเลี้ยงกบนั้นยากง่ายเพียงใด มีวิธีการอะไรบ้าง และสำหรับผู้ที่อยากเลี้ยงกบเพื่อบริโภคหรือจำหน่ายต้องทำอย่างไร บทความนี้จะพาคุณไปหาคำตอบ
ลักษณะทั่วไปของกบ
กบ ลักษณะโดยทั่วไปแล้วจะมีน้ำหนักตั้งแต่ 200-400 กรัม ด้านหลังมีสีน้ำตาลและมีจุดดำ บริเวณท้องมีสีขาว ริมฝีปากมีแถบสีดำ ใต้คางอาจมีจุดดำหรือลายดำ ในส่วนของขาหน้าและขาหลังจะมีความยาวปานกลาง โดยเท้าหน้าจะมี 4 นิ้ว ไม่มีแผ่นหนังยึดติด ส่วนเท้าหลังจะมี 5 นิ้ว อย่างไรก็ตามกบแต่ละชนิดหรือแต่ละสายพันธุ์ก็ย่อมมีลักษณะที่แตกต่างกัน
รูปแบบการเลี้ยงกบ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวว่าการเลี้ยงกบโดยวิธีเกษตรธรรมชาตินั้นมีเป้าหมายคือการเลี้ยงในรูปแบบใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมาทำเป็นบ่อเลี้ยงเพื่อให้มีต้นทุนต่ำ และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ดังนั้นรูปแบบการทำบ่อหรือสิ่งที่ใช้เลี้ยงกบนั้นอาจจะต้องมีการพัฒนานำสิ่งที่หาง่ายในพื้นที่มาใช้ในการสร้าง และวิธีการเพาะเลี้ยงกบสามารถทำได้หลายรูปแบบ ดังนี้
การเลี้ยงกบในบ่อดิน
บ่อดินมีความเหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงกบ เนื่องจากมีการลงทุนต่ำ ซึ่งสามารถใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในครัวเรือนและมีสภาพคล้ายคลึงธรรมชาติ โดยขนาดบ่อนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่ขนาด 2.5×3.0 ตารางเมตร แต่ไม่ควรใหญ่เกินกว่า 3.0×4.0 ตารางเมตร เนื่องจากจะต้องมีการคัดขนาดกบและทำให้ดูแลรักษาได้ยาก และพื้นที่นั้นควรจะเป็นบริเวณที่แดดสามารถส่องถึง เช่น ใช้พื้นที่ประมาณ 100-200 ตารางเมตร ภายในบ่อลึกประมาณ 1 เมตร บ่อขนาด 40 ตารางวา โดยมีความกว้างและความยาวเท่ากัน ลึกประมาณ 1 เมตร นำมุ้งเขียวมาล้อมรอบบ่อ และใช้ตาข่ายดักนกมาทำหลังคาเพื่อป้องกันนกบินมากินกบ ในบ่อควรใส่แพยางให้ทั่วบ่อเพื่อป้องกันกบขึ้น สำหรับวิธีการเลี้ยงนั้นขั้นแรกของการเพาะต้องเพาะในบ่อซีเมนต์ก่อน โดยวิธีการจะเหมือนการเพาะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ จากนั้นนำกบที่คัดขนาดเรียบร้อยแล้วมาใส่ลงในบ่อดินที่เตรียมไว้ประมาณ 12,000 ตัว และให้อาหารตามปกติ กบจะโตได้เร็วกว่า อีกทั้งยังกินอาหารได้มากกว่าการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์อีกด้วย โดยการเลี้ยงกบในบ่อดินนั้นจะเหมาะสำหรับกบเนื้อระยะ 3-5 เดือน และสามารถใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กบหรือเลี้ยงกบข้ามฤดูกาลในช่วงฤดูหนาว แต่มีข้อเสียคือดูแลรักษาความสะอาดยาก สภาพในบ่อไม่ค่อยสะอาดเนื่องจากมีของเสียตกค้างอยู่ภายในบ่อ และใช้ขยายพันธุ์ไม่ได้ ซึ่งการเลี้ยงกบในรูปแบบนี้จะสามารถจับกบจำหน่ายได้เพียงครั้งเดียวในเวลาที่พร้อมกัน ไม่มีการจับกบจำหน่ายปลีกหรือเป็นครั้งคราว
การเลี้ยงกบในคอก
เป็นการเลี้ยงกบอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถจับกบได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะจับหมดทั้งคอกหรือมีการจำหน่ายปลีกก็สามารถทำได้ วิธีการทำคอกเลี้ยงกบเมื่อปรับพื้นที่ราบเรียบเสมอกันแล้วก็ทำการขุดแอ่งน้ำไว้ตรงกลางคอก เช่น คอกขนาด 4×4 เมตร ขนาด 6×6 เมตร หรือขนาด 8×8 เมตร ต้องสร้างแอ่งน้ำขนาด 2×3 เมตร โดยกำหนดความลึกประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นบ่อซีเมนต์และลาดพื้นแอ่งน้ำขัดมันกันรั่ว และใส่ท่อระบายน้ำจากแอ่งขนาด 0.5 นิ้ว รอบ ๆ แอ่งน้ำเป็นพื้นที่ชานบ่อทั้ง 4 ด้าน เพื่อสะดวกต่อการให้อาหารและเป็นที่ให้กบได้พักอาศัย บริเวณรอบ ๆ คอก ปักเสาทั้ง 4 ด้าน โดยให้ห่างกันช่วงละ 2 เมตร ผูกเคร่าบนและล่างยึดเสาไว้ จากนั้นนำอวนสีเขียวมาขึงรอบนอก ส่วนด้านล่างให้ฝังอวนลงใต้ดินลึก 20 เซนติเมตร และเหยียบดินให้แน่น เสร็จแล้วนำไม้มาวางพาดด้านบนและผูกให้ติดกับเคร่าห่างช่วงละ 1 เมตร นำทางมะพร้าวแห้งมาพาดให้เต็มแต่ไม่แน่นเกินไป จากนั้นหากระบะไม้ กะละมังแตก หรือกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ มาวางไว้ในคอกเพื่อให้กบหลบซ่อนตัวในเวลากลางวัน โดยกระบะหรือรังไม้ที่นำมาวางนั้นให้เจาะประตูเข้าออกทางด้านหัวและท้ายเพื่อสะดวกต่อการจับกบจำหน่าย ซึ่งการทำคอกเลี้ยงกบในลักษณะนี้ มีอัตราการปล่อยกบลงเลี้ยง ดังนี้
– คอกขนาด 4×4 เมตร ควรปล่อยกบลงเลี้ยงไม่เกิน 1,000 ตัว
– คอกขนาด 6×6 เมตร ควรปล่อยกบลงเลี้ยงไม่เกิน 1,200 ตัว
– คอกขนาด 8×8 เมตร ควรปล่อยกบลงเลี้ยงไม่เกิน 2,500 ตัว
การเลี้ยงกบในกระชัง
บริเวณที่มีบ่อน้ำ สระน้ำขนาดใหญ่ หรือมีร่องน้ำไหลผ่าน จะเป็นพื้นที่ที่สามารถเลี้ยงกบในกระชังได้ดี โดยขนาดของกระชังไม่ควรเล็กกว่า 1.0×2.0×1.0 เมตร หรือใหญ่กว่า ซึ่งใช้กระชังเลี้ยงเช่นเดียวกับกระชังเลี้ยงปลา โดยมีความกว้างประมาณ 1.50 เมตร และมีความยาว 4 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริเวณพื้นที่ที่จะลอยกระชังด้วย ซึ่งด้านบนกระชังจะต้องมีฝาปิดเพื่อป้องกันศัตรู การเลี้ยงรูปแบบนี้จะต้องหมั่นตรวจสอบว่ามีรอยรั่วหรือรอยขาดของกระชังหรือไม่ ควรจะตรวจดูอย่างสม่ำเสมอ กระชังนั้นสามารถเลี้ยงกบได้ดี ตั้งแต่การอนุบาลลูกอ๊อด ลูกกบเล็ก ไปจนถึงกบใหญ่และพ่อแม่พันธุ์ กบโตไวสมบูรณ์ ซึ่งไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ แต่สำหรับการขยายพันธุ์ถือว่าทำได้ยาก สำหรับการเลี้ยงกบในกระชังเมื่อเพาะกบและเลี้ยงลูกอ๊อดจนเป็นกบเต็มวัยแล้ว จึงคัดขนาดลูกกบนำไปเลี้ยงในบ่อซีเมนต์หรือในกระชังอื่น ๆ หรือนำไปจำหน่าย ส่วนที่เหลือก็นำไปเลี้ยงในกระชังต่อไป พื้นที่ใต้กระชังใช้แผ่นกระดานหรือแผ่นโฟมสอดด้านล่าง เพื่อให้เกิดส่วนนูนในกระชังและกบจะได้ไต่ขึ้นไปอยู่อาศัย ส่วนรอบ ๆ ภายนอกกระชังใช้วัสดุ เช่น แฝกหญ้าคา หรือทางมะพร้าว เพื่อป้องกันไม่ให้กบมองเห็นทิวทัศน์นอกกระชัง ไม่อย่างนั้นกบจะหาหนทางในการหลบหนีออกโดยการกระโดดและชนผืนอวนกระชัง ซึ่งเป็นเหตุให้ปากเป็นบาดแผลและเจ็บปวดจนกินอาหารไม่ได้ และด้านบนกระชังก็ควรมีวัสดุพรางแสงด้วย
การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์
จากข้อมูลของนายยงยุทธ ทักษิญ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสัตว์น้ำ ได้กล่าวว่าการเลี้ยงกบรูปแบบนี้ถือเป็นรูปแบบการเลี้ยงกบที่คนในปัจจุบันนิยมมาก ๆ เนื่องจากสามารถดูแลรักษาง่าย ทำให้กบมีความเป็นอยู่ที่ดีและเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งยังสะดวกสบายต่อผู้เลี้ยงในด้านการดูแลรักษา นอกจากนี้ยังสามารถจับกบได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะจับหมดทั้งบ่อหรือจับจำหน่ายปลีกก็สามารถทำได้ โดยขนาดบ่อที่เกษตรกรนิยมใช้คือ ความกว้าง 3-4 เมตร ความยาว 4-5 เมตร และความสูงประมาณ 1.2 เมตร บ่อกบลักษณะนี้สร้างด้วยการก่อแผ่นซีเมนต์ หรือเรียกว่าแผ่นซีเมนต์บล็อก จากนั้นฉาบด้วยปูนซีเมนต์ โดยปูนที่ฉาบนั้นจะมีความหนาเป็นพิเศษ ตรงบริเวณส่วนล่างที่เก็บขังน้ำจะมีความสูงจากพื้นเพียง 1 ฟุต ซึ่งพื้นล่างมีการเทปูนอย่างหนาเพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้ และมีท่อน้ำระบายน้ำอยู่ตรงส่วนที่ลาดสุด พื้นที่ที่เป็นที่ขังน้ำควรนำวัสดุลอยน้ำ เช่น ไม้กระดาน ขอนไม้ ทางมะพร้าว ฯลฯ มาทิ้งให้ลอยน้ำเพื่อที่กบจะได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย และในส่วนพื้นที่ใต้น้ำสามารถใช้เป็นที่เลี้ยงปลาดุกได้ในอัตรา กบ 100 ตัว ต่อปลาดุก 20 ตัว ซึ่งปลาดุกจะช่วยทำความสะอาดภายในบ่อโดยเก็บเศษอาหารและมูลกบกิน ทำให้น้ำในบ่อมีความสะอาดและอยู่ได้นานกว่าบ่อที่ไม่ได้ปล่อยปลาดุกลงไป นอกจากจะเป็นการทุ่นแรงงานแล้วยังทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากระยะเวลาการเลี้ยงตลอดจนถึงการจำหน่ายกบและปลาดุกนั้นอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน มาในส่วนของด้านบนบ่อ ควรเปิดกว้างเพื่อให้แดดส่องลงไปอย่างทั่วถึง โดยกบนั้นจะขึ้นมาตากแดดตามปกติ นอกจากตัวแห้งมาก ๆ ถึงจะกระโดดลงน้ำแล้วขึ้นมาใหม่ แต่อย่างไรก็ตามควรหาวัสดุมาวางตรงมุมใดมุมหนึ่ง เพื่อเป็นร่มและปิดบังเงาวูบวาบของนกที่บินผ่าน ซึ่งจะทำให้กบตกใจและไม่กินอาหาร อีกทั้งยังไม่ผสมพันธุ์อีกด้วย บ่อเลี้ยงกบปูนซีเมนต์ขนาด 3×4 เมตร สามารถปล่อยกบลงเลี้ยงได้ 1,000 ตัว และปลาดุกอีก 200 ตัว ในพื้นล่างของบ่อดังกล่าว หรือบางแห่งอาจจะใช้การก่อปูนในลักษณะเกาะกลางคือเป็นพื้นซีเมนต์และเป็นเนินลาดจากตรงกลาง ไม่ควรจะสร้างแบบพื้นก้นกระทะและมีชานบ่ออยู่ริมโดยรอบบ่อ เพราะจะทำให้กบมีแรงจากเท้าหลังยันพื้นกระโดดสูงไปได้ แต่ถ้าหากเป็นลักษณะเนินตรงกลางมีพื้นน้ำรอบ ๆ กบจะไม่สามารถมีแรงกระโดดขึ้นจากในน้ำได้ ซึ่งการเลี้ยงกบในบ่อลักษณะนี้จะทำให้กบไม่สามารถมองเห็นโลกภายนอกและไม่คิดที่จะกระโดดหนีออกไปอยู่ที่อื่น
สถานที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงกบ
สำหรับสถานที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงกบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ่อปูนหรือคอกเลี้ยงควรเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้บ้าน สะดวกต่อการดูแลรักษาและป้องกันศัตรู หากบ่อหรือคอกเลี้ยงกบอยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยมากก็จะถูกศัตรูและคนขโมยจับกบไปขายหมดได้ เพราะศัตรูของกบมีค่อนข้างมาก เช่น งู นก หนู หมา แมว ฯลฯ ซึ่งพื้นที่ในการเลี้ยงกบควรจะเป็นที่สูง ที่ดอน เพื่อป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ราบเสมอจะสะดวกต่อการสร้างคอกและแอ่งน้ำในคอก นอกจากนี้สถานที่เลี้ยงกบนั้นควรจะใกล้กับแหล่งน้ำเพื่อสะดวกต่อการถ่ายเทน้ำ แต่ควรห่างจากถนนเพราะอาจมีเสียงรบกวน ซึ่งจะส่งผลให้กบพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ และจะทำให้โตช้า ดังนั้นควรจะเลือกสถานที่ในการเลี้ยงกบที่อยู่ห่างจากถนน
การเพาะพันธุ์กบ
โดยธรรมชาติแล้วกบจะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์วางไข่ในช่วงฤดูฝน หากเกษตรกรคนใดมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อยู่แล้วก็จะนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป โดยต้องเป็นกบที่จับคู่กันแล้วนำไปเลี้ยงในบ่อเพาะ อย่าจับผิดคู่กัน เนื่องจากกบที่จับคู่กันแล้วจะถูกแยกออกเป็นคนละตัว และนำไปเลี้ยงในบ่อเพาะ ถ้าหากไม่ใช่คู่ของมันจะทำให้กบไม่ยอมผสมพันธุ์กัน และสำหรับขั้นตอนการเพาะพันธุ์กบอย่างละเอียด มีอยู่ดังนี้
เตรียมหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ
ขั้นตอนแรกของการเพาะพันธุ์กบจะต้องเตรียมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก่อน ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ หาตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือซื้อจากแหล่งเพาะเลี้ยงกบ และเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบขึ้นมาเอง สำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นเพาะพันธุ์กบแนะนำให้หากบตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ เพราะหาง่าย มีความทนต่อโรค และลงทุนน้อยกว่า
การคัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ
จากข้อมูลของนายวิทยา คำนึง วิทยากรสัมมาชีพ และเจ้าของภูมิปัญญาการเลี้ยงกบนาบ้านหอย หมู่ที่ 7 ตำบลโนนคูณ อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ ได้ให้ข้อมูลว่าการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบนั้นควรคัดจากขนาดที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ก็คือมีน้ำหนัก 300-700 กรัม อายุ 12-16 เดือนขึ้นไป มีไข่แก่และน้ำเชื้อดี ซึ่งถ้าหากเลือกได้แล้วว่าจะหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบจากแหล่งใด ต่อมาก็คัดเลือกลักษณะของกบที่จะมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยแม่พันธุ์ตัวที่มีไข่ส่วนท้องจะขยายใหญ่ และจะมีปุ่มสากข้างลำตัวทั้ง 2 ข้าง เมื่อใช้นิ้วสัมผัสจะรู้สึกได้ ซึ่งแม่พันธุ์ตัวที่พร้อมมากจะมีปุ่มสากมาก แต่เมื่อไข่หมดท้องแล้วปุ่มสากนี้ก็จะหายไป และสำหรับการคัดเลือกพ่อพันธุ์ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องดังและกล่องเสียงที่ใต้คางก็จะพองโปน บริเวณลำตัวจะมีสีเหลืองเข้ม เมื่อใช้นิ้วสอดที่ใต้ท้อง กบจะใช้ขาหน้ากอดรัดนิ้วเราไว้แน่น
การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์กบ
ขั้นตอนแรกให้ทำความสะอาดบ่อเพาะพันธุ์ด้วยด่างทับทิมเข้มข้น 10 ppm โดยแช่ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นล้างทำความสะอาดด่างทับทิมออกให้หมด ขั้นตอนต่อมาเติมน้ำสะอาดใส่บ่อให้ลึกประมาณ 5-7 เซนติเมตร ไม่ควรให้ระดับน้ำสูงเกินไปกว่านี้ เพราะกบตัวผู้จะโอบรัดกบตัวเมียได้ไม่สะดวก เพราะในขณะที่กบตัวเมียเบ่งไข่ออกมาจากท้องนั้นจะต้องใช้ขาหลังยืนที่พื้น หากน้ำลึกมากขาหลังจะยันพื้นไม่ถึงและจะลอยน้ำทำให้ไม่มีพลัง ส่งผลให้ไข่ออกมาได้ไม่มาก และขั้นตอนสุดท้ายคือเตรียมฝนเทียม โดยทั่วไปกบจะจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน แต่วิธีนี้จะเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำท่อ PVC ขนาดครึ่งนิ้ว มาเจาะรูเล็ก ๆ ตามท่อต่อน้ำเข้าไปและให้น้ำไหลออกมาได้คล้ายกับฝนตก จากนั้นนำท่อท่อนนี้ไปพาดไว้บนปากบ่อหรือหลังคาคลุมบ่อ และเปิดใช้เวลาที่จะทำการผสมพันธุ์กบ
การผสมพันธุ์กบ
ปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ลงไปในบ่อที่เตรียมไว้ โดยให้มีกบตัวผู้ต่อตัวเมียจำนวน 1:1 ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร และปล่อยให้กบผสมพันธุ์ในตอนเย็น เมื่อปล่อยกบลงไปแล้วก็เปิดฝนเทียมเพื่อกระตุ้นให้กบจับคู่ผสมพันธุ์กัน ซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 – 22.00 น. ภายในบ่อเพาะจะต้องมีท่อให้น้ำระบายออกด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำสูงเกินไป โดยกบนั้นจะจับคู่ผสมพันธุ์และจะปล่อยไข่ในตอนเช้ามืด
การพัฒนาและการดูแลลูกกบ
การพัฒนาและการดูแลลูกกบหลังจากที่กบผสมพันธุ์จนฟักไข่ออกมาแล้ว มีขั้นตอนดังนี้
การลำเลียงไข่กบจากบ่อผสมไปบ่ออนุบาล
หลังจากกบได้ปล่อยไข่ในตอนเช้าแล้ว ต้องจับกบขึ้นไปใส่ไว้ในบ่อดิน จากนั้นค่อย ๆ ลดน้ำในบ่อลงและใช้สวิงผ้านิ่ม ๆ รองรับไข่ที่ไหลตามน้ำออกมา โดยในขณะที่น้ำลดต้องคอยใช้สายยางฉีดน้ำเบา ๆ ใส่ไข่ ขั้นตอนนี้ต้องทำอย่างระมัดระวังและต้องทำในตอนเช้าในขณะที่ไข่กบยังมีวุ้นเหนียวหุ้มอยู่ จากนั้นนำไข่ที่รวบรวมได้ไปใส่ในบ่ออนุบาลโดยใช้ถ้วยตวงตักไข่โรยให้ทั่ว ๆ บ่อ ขั้นตอนนี้ก็ต้องระวังเช่นกันเพื่อไม่ให้ไข่กบซ้อนทับกันมาก เพราะจะส่งผลให้ไข่เสียและไม่ฟักเป็นตัวเนื่องจากขาดออกซิเจน โดยระดับน้ำที่ใช้ในการฟักไข่จะอยู่ที่ประมาณ 7-10 เซนติเมตร ซึ่งไข่จะฟักเป็นตัวภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อไข่กบฟักออกเป็นตัวแล้ว ในช่วงระยะ 2 วัน ยังไม่ต้องให้อาหาร เนื่องจากลูกกบยังใช้ไข่แดงที่ติดมาเลี้ยงตัวเองอยู่ หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหาร เช่น รำละเอียด ปลาบด ไข่แดงต้ม ไข่ตุ๋น ลูกไร ตลอดจนใบผักกาด ผักบุ้งที่นำมานึ่งจนอ่อนตัว หรือปลาดุกชนิดเม็ดลอยน้ำ โดยลูกกบที่มีอายุ 3-7 วัน ให้อาหาร 20% ของน้ำหนักตัว ในจำนวน 5 มื้อ/วัน, ลูกกบที่มีอายุ 7-21 วัน ให้อาหาร 10-15% ของน้ำหนักตัว ในจำนวน 5 มื้อ/วัน, ลูกกบที่มีอายุ 21-30 วัน ให้อาหาร 5-10% ของน้ำหนักตัว ในจำนวน 4 มื้อ/วัน และลูกกบที่มีอายุ 1-4 เดือน ให้อาหาร 4-5% ของน้ำหนักตัว ในจำนวน 2 มื้อ/วัน โดยการให้อาหารลูกกบนั้นต้องหมั่นสังเกตด้วยว่าลูกกบกินอาหารได้มากน้อยแค่ไหน
การเปลี่ยนถ่ายน้ำ
เมื่อลูกอ๊อดฟักออกเป็นตัวจะต้องเพิ่มระดับน้ำในบ่อขึ้นเรื่อย ๆ จนอยู่ที่ระดับความลึก 30 เซนติเมตร และเมื่อลูกอ๊อดมีอายุครบ 4 วัน จะต้องทำการย้ายบ่อครั้งที่ 1 และระดับน้ำที่ใช้เลี้ยงควรอยู่ที่ระดับ 30 เซนติเมตร โดยต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน วันละประมาณ 50% โดยทุก ๆ 3-4 วัน ให้ทำการย้ายบ่อพร้อมกับคัดขนาดลูกอ๊อด เมื่อลูกอ๊อดเริ่มเข้าที่ขาหน้าเริ่มงอกจะต้องลดระดับน้ำในบ่อลงมาอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร และต้องใส่วัสดุที่ใช้สำหรับเกาะอาศัยลงไปในบ่อด้วย
การดูแลและเลี้ยงกบเต็มวัยจนกบโต
เมื่อลูกอ๊อดเจริญเติบโตจนเป็นกบเต็มวัยแล้ว มันจะขึ้นจากน้ำไปอาศัยอยู่บนบกหรือวัสดุอื่น ๆ ที่ลอยน้ำ เมื่อคัดขนาดนำไปเลี้ยงในบ่อแล้วจะต้องเตรียมอาหารให้ด้วย ถ้าเกิดว่าเป็นลูกอ๊อดที่เคยให้กินอาหารเม็ดตั้งแต่แรกก็สามารถให้กินอาหารเม็ดดังกล่าวต่อไปได้ แต่ถ้าหากเป็นลูกกบที่ไม่ได้รับการฝึกมาก่อนก็ต้องมีการฝึกกินอาหารในขั้นต่อไป เนื่องจากธรรมชาติลูกกบจะกินอาหารเป็นสิ่งมีชีวิต เช่น แมลง ไส้เดือน ปลวก หนอน ลูกปลา ฯลฯ ซึ่งการเลี้ยงกบนั้นไม่สามารถที่จะหาอาหารที่เป็นสิ่งมีชีวิตดังกล่าวมาให้ได้ตลอด ผู้เลี้ยงจึงต้องฝึกให้กบกินอาหารประเภทอื่น และสำหรับการดูแลให้อาหารลูกกบควรจะให้วันละ 2 ครั้ง ในเวลา 07.00 น. และ 17.00 น. โดยให้ปริมาณอาหารเท่ากับ 10% ของน้ำหนักกบ เช่น กบในบ่อมีหน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม ก็ควรจะให้อาหาร 10 กิโลกรัม เป็นต้น
อาหารที่ใช้เลี้ยงกบ
สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงกบนั้นต้องบอกว่าอาหารของกบมีหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงว่าจะสามารถหาอาหารแบบใดมาเลี้ยงกบได้ ซึ่งอาหารส่วนใหญ่ที่ผู้เลี้ยงมักจะให้กบ ได้แก่ เนื้อปลาสับ, ปลายข้าว 1 ส่วน ผักบุ้ง 2 ส่วน นำมาต้มรวมกันกับเนื้อปลา เนื้อหอยโข่ง หรือปู และแมลง สำหรับแมลงเราจะใช้วิธีการเปิดไฟล่อให้แมลงมาเล่นไฟแล้วตกลงในบ่อเลี้ยง แต่วิธีนี้ก็มีผลเสียคือแมลงเหล่านั้นอาจมีพิษหรือเป็นแมลงที่มีสารยาฆ่าแมลงตกค้าง ซึ่งส่งผลให้กบตายได้ วิธีการนี้จึงมีความเสี่ยงมากกว่า และการให้อาหารกบแต่ละระยะ มีอยู่ดังนี้
- การให้อาหารลูกอ๊อด ระยะ 2-3 วันแรกหลังจากที่กลายเป็นลูกอ๊อดยังไม่ต้องให้อาหาร เนื่องจากลูกอ๊อดยังมีถุงไข่แดงที่ติดมากับท้องซึ่งเป็นแหล่งอาหาร โดยลูกอ๊อดจะเริ่มกินอาหารครั้งแรกเมื่ออายุ 3 วัน ไรน้ำเป็นแหล่งอาหารเสริมจากธรรมชาติที่ดีสำหรับลูกอ๊อดที่เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงเองได้ ในกรณีที่มีลูกอ๊อดเป็นจำนวนมากอาจเสริมการให้อาหารด้วยการให้ผักกาดลวกน้ำร้อนกึ่งสุก เศษปลาต้มสุก รำละเอียด เศษเนื้อ ปลาบดผสมรำ เศษเครื่องในสัตว์ต้มสุก หรือหอยเชอร์รี่ต้มสุกบดผสมกับรำละเอียดร่วมด้วย และเมื่อลูกอ๊อดโตขึ้นอาจให้อาหารสังเคราะห์สำเร็จรูปชนิดเม็ดสำหรับใช้เลี้ยงลูกกบโรยให้กินร่วมด้วย โดยการให้อาหารนั้นควรให้ทีละน้อยและวางไว้ตลอดเวลา เพราะลูกอ๊อดจะกินอาหารตลอดวัน
- การให้อาหารลูกกบ ในช่วงแรกจะต้องฝึกให้ลูกกบกินอาหารสังเคราะห์ก่อน เพราะถ้าให้ลูกกบกินอาหารธรรมชาติตั้งแต่เริ่มต้นอาจก่อให้เกิดปัญหาในกรณีที่มีอาหารธรรมชาติไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องฝึกให้กินอาหารสังเคราะห์ก่อน หลังจากนั้นค่อยให้กินอาหารเสริมจากธรรมชาติ เช่น ปลวก ไส้เดือน จิ้งหรีด หรือหนอนนกที่เราสามารถเพาะเลี้ยงได้เอง โดยการฝึกนั้นจะต้องฝึกตั้งแต่ระยะที่ลูกอ๊อดหางหดหมด มีขา 4 ขาเจริญครบสมบูรณ์ ซึ่งเรียกว่าระยะเริ่มขึ้นกระดาน อาหารสังเคราะห์สำเร็จรูปชนิดเม็ดเล็กพิเศษใช้เลี้ยงกบหรือเลี้ยงปลาดุกเล็ก หรือปลาสดบดละเอียดผสมรำที่เกษตรกรผลิตขึ้นเอง 3-5% ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งมีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 30-35% ส่วนวิธีการฝึกให้ลูกกบกินอาหารก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ใส่อาหารในภาชนะหรือบนจานแล้ววางปริ่มน้ำ หรือโรยอาหารเม็ดลงในน้ำ หากโรยอาหารลงในน้ำต้องโรยในบริเวณที่ลูกกบสามารถนั่งได้และหัวไม่จมน้ำ
- การให้อาหารกบรุ่นหรือกบเนื้อ เมื่อลูกกบอายุประมาณ 2 เดือน สามารถให้อาหารสังเคราะห์ที่มีขนาดเม็ดใหญ่ขึ้นร่วมกับอาหารธรรมชาติที่ผู้เลี้ยงสามารถเพาะเลี้ยงได้เอง ทั้งนี้การใช้ชนิดของอาหารนั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และวิธีการเลี้ยง หากผู้ใดที่เลี้ยงกบนาและอยู่ใกล้บริเวณที่สามารถหาปลาสดได้ก็อาจใช้ปลาสดบดหรือสับเป็นชิ้นวางในภาชนะปริ่มน้ำหรือเหนือน้ำ หรือใช้ปลาสดบดผสมรำในอัตรา 3:1 หรือให้อาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดที่ใช้เลี้ยงกบหรือเลี้ยงปลาดุก
- การให้อาหารกบที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ กบพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุ 8-10 เดือน และมีการเจริญเติบโตที่ดีแล้ว ควรลดการให้อาหารให้เหลือเพียงครั้งเดียวในช่วงเวลาเย็น หรือให้อาหารธรรมชาติ เช่น ไส้เดือน หนอนนก จิ้งหรีด ปลวก เป็นต้น ในการให้อาหารกบช่วงเช้าเวลา 07.00 น. ต้องมีการเก็บภาชนะไปล้างในเวลาประมาณ 10.00 น. เพื่อป้องกันอาหารบูด ส่วนอาหารเย็นให้ในเวลา 17.00 น. โดยไม่ต้องเก็บภาชนะไปล้าง เพราะในเวลากลางคืนอาหารจะไม่บูดเสีย และธรรมชาติของกบนั้นจะหากินในตอนกลางคืน อีกสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือการเลี้ยงกบนั้นจะต้องคอยคัดขนาดของกบให้เท่า ๆ กันในแต่ละบ่อ เพื่อป้องกันไม่ให้กบใหญ่กินกบเล็กได้ โดยกบนั้นเป็นสัตว์ที่ชอบความอิสระ หากใช้อวนไนลอนกั้นคอกจะทำให้กบสามารถมองเห็นภายนอกและพยายามหาทางออกไปข้างนอก โดยการกระโดดชนอวนไนลอนจนปากกบบาดเจ็บและเป็นแผล และจะส่งผลให้กินอาหารได้น้อยลงหรือกินไม่ได้เลย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้เลี้ยงเองด้วย
แหล่งที่มา
สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, การเลี้ยงกบ
ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, ศูนย์ประเมินผล สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, การเลี้ยงกบ
ยงยุทธ ทักษิญ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสัตว์น้ำ ราชการบริหารส่วนกลาง กรมประมง, เทคนิคการเลี้ยงกบนาเชิงพาณิชย์
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่, การเพาะเลี้ยงกบโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ