อยากเลี้ยงกระต่ายน่ารักต้องรู้อะไรบ้าง

กระต่าย (Rabbit) เป็นสัตว์ฟันแทะรูปร่างหน้าตาน่ารัก มีหลากหลายสายพันธุ์ โดยปกติแล้วกระต่ายถือเป็นสัตว์ที่มีไว้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์ที่โตกว่า แถมยังถูกนำมาเลี้ยงเป็นปศุสัตว์กระต่ายเนื้อสำหรับการขายเนื้อกระต่าย แต่เมื่อเวลาผ่านไปจากสัตว์ที่มีไว้เพื่อเป็นอาหารก็กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยง นั้นทำให้เป็นที่น่าสนใจว่า ทำไมคนถึงอยากเลี้ยงกระต่าย และมีกระต่ายสายพันธุ์อะไรบ้างที่เป็นที่นิยมกัน

ในหลาย10ปีที่ผ่านมามีการนำกระต่ายมาเป็นสัตว์เลี้ยงและได้ขยายความนิยมไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่เริ่มมีการนำเอาสายพันธุ์กระต่ายจากต่างประเทศเข้ามาขาย ทำให้กระแสการเลี้ยงกระต่ายมีมากขึ้น จึงมีกลุ่มคนที่เริ่มประกอบธุรกิจฟาร์มกระต่าย เพาะพันธุ์ขึ้นมาเอง สามารถกำหนดสีได้ และเมื่อเริ่มมีคนให้ความสนใจมากขึ้นก็มีการจัดประกวดกระต่ายในแต่ละสายพัยธุ์ว่าตัวใดมีลักษณะดีทึ่สุด ในปัจจุบันตลาดกระต่ายมีแน้วโน้มว่าจะเติบโตมากขึ้น อย่างเช่นกระต่ายสายพันธุ์ Holland Lop, Mini Rex เป็นสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยม ราคาเริ่มเต้นอยู่ที่ 2,000-2,500 บาท เป็นตลาดที่สามารถสร้างรายได้เรื่อย ๆ แต่การที่จะทำฟาร์ม หรือ เลี้ยงกระต่าย เราจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลเขา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกรงกระต่ายเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย อาหารที่ต้องให้เขากิน โรคกระต่ายที่ควรรู้วิธีรักษาและการป้องกันโรค 

ซึ่งวันนี้ kaset.today ก็อยากจะเลี้ยงกระต่ายน่ารัก ๆเหมือนกัน เราจึงทำบทความสาระดี ๆเกี่ยวกับกระต่ายมาให้คุณได้อ่าน และเอาไว้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการเลือกซื้อน้องกระต่ายมาเลี้ยง และน่าจะเป็นประโยชน์แก่คนที่กำลังจะเริ่มสร้างธุรกิจฟาร์มกระต่ายเพื่อหารายได้อีกช่องทางหนึ่งได้อีกด้วย 

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับกระต่าย

ชื่อภาษาไทย: กระต่าย

ชื่อภาษาอังกฤษ: Hare, Rabbit

ชื่อทางวิทยาศาสตร์:  Lagomorpha

ตระกูลสัตว์: Leporidae


ลักษณะนิสัยโดยทั่วไปของกระต่าย

ลักษณะทั่วไป

ลักษณะโดยทั่วไปคือมีขนปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย หางกลมสั่น มีใบหูยาวหากเทียบกับสัตว์ในตระกูลหนู กระต่ายมีขาหน้าที่มี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว มีสะโพกที่ยาวและทรงพลัง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ พวกมันจึงสามารถกระโดดได้เป็นอย่างดี ใต้ฝ่าเท้ามีขนนุ่ม ๆ รองรับอยู่ เพื่อมิให้เกิดเสียงเมื่อเคลื่อนไหว

หากแยกความแตกต่างของกระต่ายเลี้ยงที่ถูกปรับปรุงสายพันธุ์มาแล้วกับกระต่ายป่า สามารถแยกได้ที่ส่วนรูปทรงของกะโหลกศรีษะที่กระต่ายเลี้ยงจะมีกะโหลกกลม แต่กระต่ายป่าจะมีกระโหลกรี ลำตัวของกระต่ายป่าจะยาวเพรียวเพื่อสะดวกต่อการวิ่ง แต่กระต่ายเลี้ยงจะอ้วนกลมลำตัวสั้นกว่า

กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีขนาดเล็ก เป็นประเภทสัตว์เลือดอุ่น กระต่ายมีประสาททางด้านกลิ่นดีมาก เป็นสัตว์ขี้ตกใจหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา พวกมันมีตาที่สามารถมองเห็นในที่มืดได้ดีมากเพราะกระต่ายตามธรรมชาติหากินตอนกลางคืน และพวกมันมองเห็นเพียง 2 สีเท่านั้นคือ สีน้ำเงิน และสีเขียว

และพวกกระต่ายเป็นสัตว์ที่อยู่สุดทางของห่วงโซ่อาหาร เพราะเป็นสัตว์ที่กินแต่พืชและผักผลไม้เท่านั้น จึงตกเป็นอาหารของ หมาป่า หมาจิ้งจอก เสือ แมวป่า รวมถึงงูใหญ่บางสายพันธุ์

นิสัยและพฤติกรรมที่พบเห็น

1.พฤติกรรมการกิน

ข้อมูลจาก Premier Pet Hospital กล่าวว่า กระต่ายเป็นสัตว์ฟันแทะแต่จะมีความแตกต่างจากตระกูลหนูซึ่งมีฟันแทะเหมือนกันตรงที่กระต่ายมีฟันตัดคู่หน้า และด้านหลังจะเป็นฟังที่อยู่ด้านบน เรียกว่า  peg teeth แต่หนูและกระรอกจะมีฟันตัดเพียงคู่เดียว กระต่ายจะใช้ฟันทั้ง 2 ด้านเคี้ยวสลับกันไป ต่างจากสัตว์ฟันแทะโดยทั่วไปที่เคี้ยวเคลื่อนหน้าเคลื่อนหลัง

กระต่าย
ฟันกระต่าย Premier Pet Hospital

อาหารของกระต่าย คือ หญ้าแห้ง พืชผักชนิดต่างๆ หรือจะเป็นอาหารเม็ด แต่มีข้อควรระวังที่ควรรู้เกี่ยวกับการให้อาหาร โดย คุณเจี๊ยบ เจ้าของฟาร์ม บุญส่ง แรบบิท ฟาร์ม กล่าวไว้ว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการเกิดสภาวะถ่ายเป็นของเหลวได้ถ้าไม่มีการจัดอาหารให้ถูกต้อง

ดังนั้นอาหารที่ให้หากเป็นพืชผักที่มีน้ำอยู่ในอาหารแล้วไม่ควรให้น้ำเพิ่มกับกระต่าย แต่ถ้าให้กินอาหารเม็ดการให้น้ำถือเป็นเรื่องดี เพราะอุจระบ่งบอกสุขภาพของกระต่ายได้ด้วย ลักษณะอุจระที่ดีต้องเป็นเม็ดกลมและแข็ง และการให้อาหารกระต่าย ให้แค่ 1 มื้อ ต่อ 1 วันถือว่าดี ปริมาณสำหรับอาหารเม็ดคือ 2-3 ช้อนโต๊ะ ต่อกระต่าย 1 ตัว หรือ หญ้าแห้ง 80 เปอร์เซ็น อาหารเม็ด 20 เปอร์เซ็น

ปกติทั้งกระต่ายป่าและกระต่ายบ้าน จะมีพฤติกรรมการกินมูลของตัวเองที่ยังติดกันเป็นพวงหรือเรียกว่าพวงองุ่น ซึ่งยังมีสารอาหารที่ยังนำไปใช้ไม่หมด กระต่ายจึงกินเข้าไปเพื่อดูดซึบได้อีกครั้ง

2.ลักษณะถิ่นที่อยู่

กระต่ายมักอาศัยอยู่ในที่ราบโล่งที่เป็นทุ่งหญ้ามากกว่าป่าทึบ โดยขุดโพรงใต้ดินเป็นรังและที่อยู่อาศัย กระต่ายเป็นสัตว์ที่สืบพันธุ์เร็วปีหนึ่งๆ กระต่ายสามารถออกลูกได้ 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2-3 ตัว กระต่ายเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย

กระต่ายบ้านและกระต่ายป่ามีความแตกต่างกันที่กระต่ายเลี้ยงออกลูกในโพรงใต้ดิน หรือในที่มืดๆ ไม่มีขน และไม่ลืมตาจนกว่าจะมีอายุได้ 10 วัน ส่วนกระต่ายป่าออกลูกบนพื้นดินในพงหญ้ารก ลูกที่ออกมามีขนปกคลุมตัว และตาเปิดตั้งแต่วันแรกเกิด และมีนิสัยชอบวิ่งหนีศัตรูมากกว่าจะหลบในโพรงเหมือนกระต่ายเลี้ยง และกระต่ายป่าชอบอยู่โดดเดี่ยว ในขณะที่กระต่ายเลี้ยงชอบอยู่เป็นฝูง

3.พฤติกรรมที่กระต่ายชอบทำเพื่อแสดงอารมณ์หรือความต้องการ

นิสัยของกระต่ายเป็นสัตว์รักสงบ รักความสะอาด เนื้อตัวกระต่ายจะไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็น แต่ลักษณะที่แสดงออกมาก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของเจ้าของด้วย

1.การกินมูลของตัวเอง เรียกว่า Coprophagy นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลอง และพบว่า การกินอึพวงองุ่นเข้าไปจะช่วยให้ภาวะในลำไส้เป็นปกติ เพราะจะมีแบคทีเรียที่ดี กลับเข้าสู่ลำไส้ และแบคทีเรียในลำไส้กระต่ายสามารถผลิตวิตามินบี ซึ่งเมื่อกระต่ายกินอึเหล่านี้เข้าไปก็จะได้รับวิตามินบีด้วย

2.การส่งเสียง อาการนี้เกิดกับกระต่ายเมื่อมีอาการตกใจ แต่ก็ไม่เสมอไป อาจมีพฤติกรรมขู่ในลำคอ เพื่อสื่อออกมาไม่ให้เข้าไปใกล้

3.การนอน กระต่ายเป็นสัตว์หากินตอนกลางคืน และจะนอนในเวลากลางวัน กระต่างมักจะนั่งหลับนิ่ง ๆโดยไม่หลับตา เพราะกระต่ายมีสัญชาติญาณในการระวังตัวสูง

4.การก้าวร้าว เกิดจากการที่กระต่ายถูกตามใจมากเกินไป และเมื่อไม่ได้ของตามต้องการก็จะขู่ร้อง หรืออาจเกิดจากการถูกรังแกจนฝังใจและเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนั้นก็รู้สึกกลัว

5.การกัดแทะสิ่งของ การกระทำดังกล่าวกระต่ายต้องการขบกัดเพื่อให้ฟันสึก เพื่อไม่ให้ฟันยาวจนเกินไป

6.การขุด กระต่ายมักชอบขุดหลุมเพื่อเอาไปซ้อนตัว หรือถ้าเลี้ยงในกรงก็จะเข้าไปซุกในผ้าเวลาต้องการซ้อนตัวเอง

7.การเคาะเท้า จะเกิดขึ้นเมื่อต้องการส่งสัญญาณว่าจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น หรือจะเป็นการเคาะเท้าของตัวผู้เมื่อมีการผสมพันธุ์เสร็จ

8.การแสดงอาณาเขต เกิดขึ้นได้กับเพศเมียและเพศผู้ แต่จะเกิดขึ้นกับเพศผู้เป็นส่วนใหญ่เพราะเพศผู้จะหวงอาณาเขต และเป็นเรื่องยากที่จะมีตัวผู้อยู่ร่วมกัน 2 ตัวในกรงเดียวกัน แต่ตัวเมียมีแนวโน้มว่าจะอยู่เป็นกลุ่มมากกว่า

9.วิ่งรอบ ๆเท้าของคนเลี้ยง เป็นการแสดงสัญญาณทางเพศตามธรรมชาติของกระต่าย หรือกำลังมีความรัก

10.กระโดด ๆๆ อย่างอารมณ์ดี  แสดงว่ากระต่ายกำลังอารมณ์ดี

11.ทำความสะอาดมากเกินไป เป็นวิธีที่กระต่ายสามารถปลอบตัวเองได้เมื่อรู้สึกกลัว เครียด เบื่อ หรือวิตกกังวลเล็กน้อย ซึ่งถ้าหากกระต่ายมีการทำความสะอาดตัวเองที่มากจนเกินไป และเป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น อาการขนร่วง โรคผิวหนัง หรือภาวะก้อนขนอุดตันในทางเดินอาหารตามมาได้


สายพันธุ์กระต่าย

สายพันธุ์กระต่ายที่คนนิยมเลี้ยงในปัจจุบัน มีสายพันธุ์อะไรบ้างและมีลักษณะอย่างไร

Belgian hare rabbit

เป็นพันธุ์กระต่ายป่ามีมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะกับการเป็นสัตว์เลี้ยงมากขึ้นแต่ยังคงลักษณะของสีดั้งเดิมของกระต่ายป่าคือ สีน้ำตาลแดง มีลำตัวเพรียวยาว กะโหลกศีรษะเป็นทรงรี แต่มีนิสัยเป็นมิตรมากขึ้น เชื่อง และร่าเริง มีหายาว ขาคู่หน้าและหลังยาวกว่ากระต่ายสายพันธุ์อื่น มีความว่องไวสูง ราคาเริ่มต้นที่ 15,000 บาทขึ้นไป

กระต่าย
credit : Zadina

Mini Rex rabbit

ชื่อสายพันธุ์เป็นภาษาลาติน สามารถแปลได้ว่าราชากระต่าย ด้วยสายพันธุ์นี้มีจุดเด่นที่ขนเป็นกำมะหยี่ ขนสั้นนุ่มลื่นมือ หูยาวรีตั้งตรง กะโหลกศีรษะกลมสวย มีหางไม่ยาวมาก เหมาะกับการเลี้ยงใกล้ชิดกับเด็กเล็กเพราะมีปัญหาเรื่องขนน้อยมาก น้องเป็นกระต่ายที่เชื่อง ร่าเริง ราคาตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป

กระต่าย
credit : Marge Pucello

Holland Lop rabbit

เป็นพันธุ์กระต่ายหูตก มีชื่อจริงว่า Dwarf Holland Lop เป็นพันธุ์หูตกที่ตัวเล็กที่สุดในโลก น้ำหนักอยู่ที่ 1.2-1.8 kg. กะโหลกศีรษะกลม หูตกกลมน่ารัก กระต่ายสายพันธุ์นี้เวลาเลี้ยงจะคล้ายการเลี้ยงสุนัข มีนิสัยสุขุม นิ่ง เพราะหูที่ตกมานั้นทำให้ประสาทรับรู้ช้าลง ไม่ค่อยได้ยินเสียง ราคาตัวลูกจะอยู่ที่ 2,000 บาท

กระต่าย
credit : Weebly

Mini Lop

เป็นสายพันธุ์ที่มีหูตก กะโหลกศีรษะกลม ลำตัวสั้นอ้วน ขาทั้ง 4 สั้นป้อม เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียง Holland Lop แต่มีการพัฒนาให้ตัวเล็กลงมากกว่าเดิม

กระต่าย
credit : Petdarling

French Lop

เป็นกระต่ายหูตกฝรั่งเศษ มีลักษณะตัวใหญ่ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์กระต่ายบ้านที่ได้รับความนิยม กระต่ายสายพันธุ์นี้ถูกพัฒนาในศตวรรษที่ 19 จากการผสมระหว่าง กระต่ายหูตกอังกฤษ และ กระต่ายยักษ์ (Flemish Giant) ข้อแตกต่างระหว่างกระต่ายหูตกฝรั่งเศษต่างจากกระต่ายหูตกอังกฤษคือ French Lop จะมีน้ำหนักมากกว่าและมีหูที่สั้นกว่า มีอายุขัยเฉลี่ย 5 ปีขึ้นไป French Lop เป็นกระต่ายที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนัก 4.1-5.4 กิโลกรัม มีหูยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร มีเนื้อแน่นและหัวโต มีขาหน้าที่สั้น มีขนที่หนาแน่นและอ่อนนุ่ม มี 2 กลุ่ม คือ สีพื้น (Solid) และสีลาย (Broken)

กระต่าย
credit : Peter Bicschoff Amsterdam

Netherland Dwarf or ND

เป็นกระต่ายแคระที่ตัวเล็กที่สุดในโลก ตาและหัวของกระต่าย ND มีลักษณะที่ใหญ่เมื่อเทียบกับตัว(ที่มีขนาดเล็ก) หูใบเล็ก ๆ ชี้ขึ้น มีใบหน้าที่กลมและสั้น มีลำตัวกระทัดรัดและโค้งมน คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้มันดูเหมือนเด็ก แม้มันจะมีอายุมากแล้วก็ตาม มีนิสัยร่าเริงขี้เล่น ซน กระต่ายแคระเนเธอร์แลนด์มีน้ำหนักอยู่ในช่วง 0.5 ถึง 1.6 kg. และมันจำเป็นต้องวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีของมันเอง ความเข้าใจที่ว่ากระต่ายแคระต้องการพื้นที่เพียงเล็กน้อยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จริง น้องเหมาะกับผู้เลี้ยงที่ชอบกระต่ายพันธุ์เล็กเลี้ยงง่าย ราคาไม่แพงเริ่มต้นที่ 500 บาทสำหรับลูกกระต่าย น้องน่ารักมากเลยขอบอก

กระต่าย
credit : Sarah Holloway

Jersey Wooly rabbit

เป็นกระต่ายที่พัฒนาสายพันธุ์โดยคนไทย เริ่มจากการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์ที่มีขนยาวอย่าง English Angora มีผสมพันธุ์กับกระต่ายพันธุ์ไทย เริ่มแรกเกิดเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่มีขนยาวทั่วทั้งลำตัวแต่ยกเว้นในส่วนของหัวและใบหน้าที่เป็นขนสั้น นั้นคือสายพันธุ์ Jersey Wooly rabbit

กระต่าย
credit : Rachel Brown

Teddy Bear rabbit

เป็นกระต่ายที่พัฒนาสายพันธุ์ต่อจาก Jersey Wooly rabbit แต่ก็ได้มีการพัฒนาให้มีลำตัวเล็กลงไปอีกจนได้มาเป็น Teddy Bear และในปัจจุบันก็นิยมเลี้ยงกันมาก เพราะว่า รูปร่างน่ารัก ตัวจะกลม ขนจะฟูยาวประมาณ 4-5 นิ้ว มีขนยาวเสมอกันทั้งตัว และก็มีราคาไม่แพง เพาะพันธุ์ขึ้นจากฟาร์มในเมืองไทย ต่างประเทศไม่มี แต่ใครคิดจะเลี้ยงต้องมีเวลาแปรงขนน้องทุกวันนะ

กระต่าย
credit : ตี๋ วัดโพธิ์

Wooly Toy

เป็นกระต่ายสายพันธุ์ขนยาวที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก Teddy Bear rabbit ให้มีขนาดลำตัวเล็กกลม หูสั้นเล็ก กะโหลกศีรษะกลมใหญ่ แต่ยังคงขนยาวไว้ แต่ Wooly Toy ไม่ได้เกิดจากการผสมพันธุ์จากกระต่ายพันธุ์แคระ เพียงแต่พัฒนาสายพันธุ์ให้มีขนาดเล็กลงเท่านั้น

กระต่าย
credit : Rabbit2you

Dutch rabbit

เป็นกระต่ายอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัวโดยเฉพาะแถบสีที่ขึ้นตามลำตัว โดยมีหน้าผากเป็นสามเหลี่ยมสีขาวหูสีน้ำตาล ต้นคอจนถึงไหล่เป็นสีขาว ส่วนช่วงลำตัวเป็นสีน้ำตาล เท้าทั้งสีเป็นสีขาวเหมือนน้องกำลังใส่ถุงเท้า ราคาอยู่ที่ 15,000 บาทขึ้นไป

กระต่าย
credit : Pets4Homes

Flemish Giant

มีอีกชื่อคือ Gentle Giant แปลได้ว่า กระต่ายยักษ์ใจดี เพื่อแสดงให้เห็นว่ากระต่ายเป็นมิตรกับคน สายพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดที่แฟลนเดอส์ (ทางตอนเหนือของประเทศเบลเยี่ยม) กระต่ายสายพันธุ์นี้เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 ที่อยู่ใกล้กับเมืองเกนท์ในเบลเยี่ยม ผสมกันระหว่างกระต่ายพันธุ์ให้เนื้อและพันธุ์ให้ขน อาจรวมถึงพันธุ์  Steenkonijn (เป็นพันธุ์ที่เก่าแก่ของประเทศเบลเยี่ยมที่หนักประมาณ 3.76 กิโลกรัมปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว) และสายพันธุ์ Patagonian สำหรับสีของกระต่ายยักษ์ มีมาตรฐานของสีไว้ 7 สี คือ สีดำ, สีน้ำตาลแกมเหลือง, สีเทาอ่อน, สีทราย, สีเทาและสีขาว มีน้ำหนักตั้งแต่ 5-10 kg. ได้เลย

กระต่าย
credit : BuzzFeed

Himalayan rabbit

กระต่ายสายพันธุ์นี้มีแต้มสี ดำ น้ำตาลเข้ม หรือ น้ำเงินดำอยู่ที่ หู2ข้าง เท้า2คู่ หาง และตรงจมูก มีตาสีแดง ลำตัวสีขาวสะอาด ถือว่าพวกมันเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เก่าแก่และสงบที่สุด ลำตัวจะแตกต่างจากกระต่ายเลี้ยงเพราะเป็นทรงกระบอก หากอยู่ในอากาศหนาวเย็นแต้มสีดำจะเด่นชัดขึ้น นิยมนำไปจัดแสดง ราคาอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทขึ้นไป

กระต่าย
credit : alchetron

การดูเพศและการขยายพันธุ์ของกระต่าย

คุณสมศักดิ์ บัณฑุปัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะการดูเพศผู้และเพศเมียดูได้จาก กระต่ายตัวผู้จะมีลูกอัณฑะอยู่นอกช่องท้องชัดเจน
และ ตัวเมียเห็นอวัยวะเพศอยู่ใต้ทวารหนัก การดูเพศในกระต่ายควรดูในช่วงที่กระต่ายมีอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไป

วิธีดูคือ จับลูกกระต่ายนอนหงายบนฝ่ามือใช้นิ้วมือและนิ้วหัวแม่มืออีกข้าวลูบแล้วกดเบาๆ จะเห็นอวัยวะเพศอยู่เหนือทวารหนัก ถ้าเกิดกดแล้วออกมาเป็นแท่งกลมยื่นออกมาก็จะเป็นตัวผู้ แต่ถ้าหากกดแล้วเห็นเป็นรอยผ่ายาวจนเกือบถึงทวารหนักก็จะเป็นตัวเมีย ดูได้จากรูปดังนี้

กระต่าย

การขยายพันธุ์ของกระต่ายที่พร้อมจะผสมพันธุ์ต้องมีอายุเกิน 5 เดือนขึ้นไป ตัวผู้ 1 ตัวต่อ ตัวเมีย 8-10 ตัว น้ำหนักมากกว่า 2.5 กิโลกรัม อัตราส่วนของพ่อพันธุ์ต่อแม่พันธุ์คือ 1 ต่อ 8-10 ตัวและ พ่อพันธุ์หนึ่งตัวไม่ควรผสมพันธุ์เกิน3 ครั้งต่อสัปดาห์กระต่ายตัวเมียจะมีรอบการเป็นสัด ประมาณ 16 วัน โดยดูที่อวัยวะเพศเมีย ซึ่งจะบวมแดงมีเมือกเยิ้มเป็นสัญญาณพร้อมเพื่อผสมพันธุ์

เมื่อตัวเมียเป็นสัดเต็มที่แล้ว ก็จับกระต่ายตัวเมียไปใส่ในกรงตัวผู้ แล้วตัวเมียจะยกก้นให้ตัวผู้ผสมพันธุ์หลังจากผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ตัวผู้จะตกจากหลังตัวเมีย และมักส่งเสียงร้องพร้อมกับใช้เท้าตบพื้นกรง

แม่กระต่ายจะตั้งท้องประมาณ 29-35 วัน ซึ่งหลังจากผ่านมาแล้ว 15 วันลูกในท้องจะมีการเติบโตเร็วขึ้น ดังนั้นจึงควรให้อาหารที่มีคุณค่าสูง และเพิ่มปริมาณอาหารด้วย

เมื่อแม่กระต่ายตั้งท้องได้ 4 สัปดาห์ให้นำรังคลอดที่ปูด้วยฟางหรือหญ้าแห้งไปใส่ในกรงก่อนคลอด 1-2 วัน แม่กระต่ายจะกัดขน แล้วปูรังคลอด และคาบวัสดุต่างๆ ที่เราจัดไว้ไห้มาจัดรังคลอดใหม่ ส่วนใหญ่แล้วแม่กระต่ายจะคลอดในตอนเช้ามืดและให้ลูกครอกละ 5-12 ตัว ลูกกระต่ายแรกเกิดจะยังไม่มีขนขึ้น และยังไม่ลืมตาแม่กระต่ายจะให้ลูกกินนมในตอนเช้าวันละ 1-2 ครั้งๆละ 3-4 นาที เท่านั้น

เมื่อลูกกระต่ายอายุได้ 7 วันให้นำวัสดุรองพื้นออก และ พออายุ10 วันลูกกระต่ายจะลืมตา และมีขนขึ้นเต็มตัว พออายุประมาณ 15 วัน ลูกกระต่ายจะเริ่มออกจากรังคลอดและเริ่มกินหญ้าหรืออาหารแข็งได้ลูกกระต่ายจะหย่านมเมื่ออายุประมาณ 5-7 สัปดาห์


การเลี้ยงดูกระต่าย

โรงเรือนและอุปกรณ์การเลี้ยง

1.โรงเรือน

ชมรมกระต่าย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ขอบเขต ลักษณะของโรงเรือนที่ดีควรตั้งอยู่ในแนวทิศตะวันออกกับตะวันตก มีลวดตาข่ายล้อม รอบเพื่อป้องกันแมลงและสัตว์ซึ่งจะท าอันตรายและน าโรคมาสู่กระต่าย หลังคาของโรงเรือนจะ ต้องกันแดดและฝนได้ดีพื้นภายในโรงเรือนควรเป็นพื้นคอนกรีต เพื่อไม่ให้เปียกชื้นและท า ความสะอาดได้ง่ายกรณีที่ผู้เลี้ยงมีพื้นที่ในบ้านหรือใต้ชายคาบ้านมากพอสมควร และกระต่าย ที่เลี้ยงมีจ านวนไม่มากนักก็อาจจะไม่จ าเป็นต้องมีโรงเรือน

2.กรง

ขนาดของกรงขึ้นกับจ านวนกระต่าย ถ้าเป็นกรง
เดี่ยวควรมีขนาดกว้าง 50-60 เชนติเมตร ยาว 60-90 เชนติเมตร สูง 45-60 เซนติเมตร ถ้าต้องการเลี้ยงกระต่ายหลายตัว อาจท าเป็นกรงตับและซ้อนกัน 2-3 ชั้น หรือถ้าจะขังหลายๆ ตัวรวมกัน กรงที่ใช้จะต้องใหญ่พอ ที่กระต่ายจะอยู่กันได้โดยไม่หนาแน่นเกินไป วัสดุที่ใช้ท ากรงอาจใช้ไม้ระแนงหรือลวดตาข่าย ที่มีช่องกว้างประมาณ 1/2 – 3/4นิ้ว ถ้าเป็นกรงส่าหรับแม่กระต่ายเลี้ยงลูก ลวดตาข่ายที่ใช้บุพื้น ควรมีช่องขนาด 1/2 นิ้ว เพื่อป้องกันขาของลูกกระต่ายติดในร่องของลวด ถ้าเลี้ยงกระต่ายไม่กี่ตัว อาจชื้อกรงส าเร็จรูปที่มีขายตามร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ทั่วไป แต่ต้องไม่ลืมว่ากรงที่ใช้จะต้อง มีขนาดใหญ่พอที่กระต่ายจะอยู่ได้อย่างสบาย
และต้องแข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน

3.อุปกรณ์การให้อาหาร

ควรใช้ถ้วยดินเผาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว
และมีน้ำหนักมาก พอที่กระต่ายจะไม่สามารถทำล้มได้ อาจใช้กล่องใส่อาหารที่ทำด้วยอลูมิเนียมเป็นรูปสี่เหลี่ยม หรือรูปครึ่งวงกลมผูกแขวนติดกับข้างกรง ถ้าเป็นกระต่ายขุนอาจใช้กล่องอาหารอัตโนมัติเพื่อที่กระต่ายจะได้กินอาหารตลอดทั้งวัน

4.อุปกรณ์การให้น้้า

ในปัจจุบันมีหลายแบบด้วยกัน เช่น ถ้วยดินเผาใส่น้ำ ถ้วยพลาสติก แต่มีข้อเสียคือกระต่ายอาจถ่ายมูลหรือปัสสาวะลงในถ้วย ทำให้สกปรกได้หรืออาจใช้ขวดอุดด้วยจุกยาง ซึ่งมีรูส่าหรับสอดท่อทองแดง วิธีใช้คือให้นำขวดไปเติมน้ำจนเกือบเต็มขวดแล้วคว่ำขวดแขวนที่ข้างกรงกระต่ายให้ปลายท่อ ทองแดงสูงระดับที่กระต่ายกินน้ำได้สะดวก ควรตัดท่อทองแดงให้โค้งพอเหมาะ น้ำจึงจะไหลได้ดี ถ้าเลี้ยงกระต่ายจำนวนมาก ๆ อาจใช้อุปกรณ์ให้น้ำแบบอัตโนมัติก็ได้เพื่อประหยัดแรงงานและอุปกรณ์ แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเลย

กระต่าย

5.รังคลอด

ควรมีขนาดกว้างพอที่แม่กระต่ายและลูกกระต่ายอยู่ได้อย่างสบาย โดยทั่วไปรังคลอดควรมีขนาดกว้าง 30 เชนติเมตร ยาว 40 เชนติเมตรสูง 15 เซนติเมตร พื้นรังคลอดบุด้วยลวดตาข่ายขนาด 1/2 นิ้ว หรือใช้ไม้ตีปิดพื้นให้ทึบ ปูพื้นด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง

การทำความสะอาดโรงเรือนและกรงควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพี่อลดกลิ่นเหม็นที่เกิดจากมูลกระต่าย ส่วนภาชนะใส่น้ำและอาหารควรล้างทำความสะอาด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

อาหาร

1.อาหารหยาบ (Roughage)

คืออาหารที่มีโภชนะย่อยได้ต่ำมีกากใยสูงซึ่งหมายถึงอาหารที่กินเข้าไป และเหลือกากขับถ่ายออกมาเป็นของเสียมาก ส่วนใหญ่ได้มาจากลำต้นและใบของพืช ตระกูลหญ้า และพืชตระกูลถั่ว เช่น หญ้าเนเปียร์ หญ้าขน หญ้ากินนี กระถิน ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วชีราโต ถั่วไกลซีน ถั่วเทาสวิลสไลโล เป็นต้น หรืออาจจะใช้ต้นพืชผักชนิดต่างๆ เช่น ผักบุ้ง ผักโขมผักกาด คะน้า กะหล่ าปลี แครอท ผักกาดหอม หัวผักกาด มันเทศ มันแกว ฯลฯ เลี้ยงกระต่ายก็ได้ อาหารหยาบประเภทใบพืช ผัก หญ้า ควรให้กินเต็มที่ กระต่ายชอบหญ้าสด ผักสด มากกว่าตากแห้ง แต่หญ้าแห้งก็อาจใช้ได้แต่ควรเป็นหญ้าที่อยู่ในระยะยังอ่อน ตากแห้งสะอาดไม่มีรา ไม่สกปรกไม่มียาฆ่าแมลง ควรหั่นเป็นท่อน ๆ ให้ยาวพอควร

2.อาหารข้น (Concentrate)

แม้ว่ากระต่ายจะสามารถยังชีพและขยายพันธุ์ตามปกติธรรมชาติโดยอาศัย อาหารประเภทต้นหญ้าใบพืชได้ก็ตาม แต่หากเราต้องการให้มันเจริญเติบโต ให้ผลิตผลเร็ว ตัวอ้วนกลม ให้ขยายพันธุ์มีลูกดกได้ลูกปีละหลายตัว เราจะต้องเลี้ยงดูให้ดีโดยมีอาหารข้น (Concentrates) เพิ่มเสริมให้ด้วยอาหารข้นซึ่งเป็นอาหารที่มีโภชนะย่อยได้สูง มีเยื่อใยต่ำย่อยง่าย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ

2.1 อาหารที่เป็นแหล่งพลังงาน

คืออาหารที่มีแป้ง และน้ำตาล (คาร์ไบไฮเดรต) หรือไขมันสูงได้แก่ รำปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันเสน และไขมัน จากพืชหรือสัตว์

2.2 อาหารที่เป็นแหล่งโปรตีน

ได้แก่ นมผง ปลาป่น กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง และใบกระถินป่นสำหรับอาหารข้นควรเสริมให้กินในตอนบ่าย กระต่ายที่ไม่ได้เสริมด้วยอาหารข้น ควรมีแร่ธาตุประกอบด้วย เกลือ กระดูกป่น และเปลือกหอยบดอย่างละเท่า ๆ กัน ผสมให้เข้ากัน ตั้งให้กิน

3.อาหารสำเร็จรูป (Complete feed)

เกิดจากการนำอาหารข้นและอาหารหยาบมารวมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม มีสภาพเป็นผงหรืออัดเป็นเม็ด นำมาใช้เลี้ยงกระต่ายได้สะดวก กระต่ายที่เลี้ยงด้วยอาหาร สำเร็จรูปเพียงอย่างเดียวในปริมาณที่เพียงพอจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ในการเลี่ยงโดยทั่วไปนิยมเสริมหญ้าสด เพื่อลดต้นทุนและควรให้หญ้าหลังจากที่กระต่ายกินอาหารสำเร็จรูปในปริมาณมากพอสมควร เพื่อให้กระต่ายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

ความต้องการอาหารของกระต่าย

ควรพิจารณาปริมาณที่ให้โดยให้พอดีกับความต้องการของกระต่ายซึ่งขึ้นอยู่กับระยะ การเจริญเติบโตของกระต่าย น้ำหนักตัวและสภาพเฉพาะของกระต่ายแต่ละตัวด้วยนะ

  1. กระต่ายตั้งท้อง
    ควรให้อาหารที่มีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 15% วันละ 4.5% ของน้ำหนักตัวหรือให้ใน ปริมาณ 120-180 กรัมต่อวัน โดยเริ่มให้ตั้งแต่ตรวจพบว่าตั้งท้องหรือท้องประมาณ 15 วันจนถึงวันคลอด
  2. กระต่ายเลี้ยงลูก
    ควรให้อาหารที่มีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 17% วันละ 4.5% ของน้ำหนักแม่รวมกับ น้ำหนักลูก หรือให้ในปริมาณ 150-300 กรัมต่อวัน
  3. กระต่ายหลังหย่านม
    ควรให้อาหารที่มีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 16% วันละ 5 % ของน้ำหนักตัวหรือให้ใน ปริมาณ 50-150 กรัมต่อวัน
  4. พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์
    ควรให้อาหารที่มีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 15% วันละ 3.5-4 % ของน้ำหนักตัว หรือให้ใน ปริมาณ 90-140 กรัมต่อวัน ปริมาณอาหารส่าหรับพ่อและแม่พันธุ์ควรปรับตามสภาพร่างกาย เพื่อควบคุมไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป ซึ่งจะมีผลทำให้การผสมติดยาก
กระต่าย

วิธีจับกระต่าย

กระต่ายเป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย ดังนั้นการจับกระต่ายจะต้องทำด้วยความนุ่มนวลและ ถูกวิธีเพื่อความ
ปลอดภัยของตัวกระต่ายและตัวผู้จับด้วย ไม่ควรจับกระต่ายโดยการหิ้วหูเพราะจะทำให้กระต่ายเจ็บปวด เพราะบริเวณนั้นมีเส้นเลือดอยู่เป็นจำนวนมาก และไม่ควรไปบิดหูกระต่ายด้วย เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้กระต่ายหูตกได้ การจับกระต่ายที่ถูกวิธีคือ

  1. ลูกกระต่าย
    ใช้มือที่ถนัดจับหนังบริเวณสะโพกให้มั่นคง แล้วยกขึ้นตรง ๆ ค่อยๆยกอย่ารีบ
  2. กระต่ายขนาดกลาง
    ใช้มือขวา (หรือมือที่ถนัด) จับหนังเหนือไหล่ให้มั่นคง มือซ้ายรองใต้ก้นให้ด้านหน้าของกระต่ายหันออกนอกตัวผู้จับ ทำให้กระต่ายรู้สึกมั่นคง
  3. กระต่ายใหญ่
    ใช้มือขวาจับแบบวิธีที่ 2 แล้วยกอ้อมขึ้นมาทางซ้ายมือใช้แขนซ้าย หนีบให้แนบชิดลำตัวโดยใช้มือซ้ายช่วยประคองก้น ให้หน้ากระต่ายหันไปทางหลังของผู้จับ และขากระต่ายชี้ออกนอกตัวผู้จับ เหมือนอุ้มทารกเลย
กระต่าย

อาการผิดปกติและโรคของกระต่าย

โรคกระต่าย

คุณสมศักดิ์ บัณฑุปัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่าเป็นปัญหาที่ไม่ว่าจะเลี้ยงกระต่ายมาก น้อยเท่าใดหรือมีการจัดการที่ดีเพียงใดก็ตาม การที่จะควบคุมโรคกระต่ายให้ได้ผลดีควรเน้นที่การป้องกันไม่ให้เกิดโรคขึ้น และรักษาตั้งแต่กระต่ายเริ่มป่วยเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคและประหยัดค่ารักษาสาเหตุของโรคมีทั้งสาเหตุที่เกิดจากตัวกระต่ายเองและสาเหตุภายนอกซึ่งสาเหตุต่างๆ นั้นอาจเกิดได้ดังนี้

  1. สภาพแวดลอมที่ไม่เหมาะสม เช่น ใกล้แหล่งเชื้อโรค มีพาหะของเชื้อโรคมาก อากาศที่ร้อนชื้นการระบายอากาศที่ไม่ดีเป็นต้น
  2. อาหารและน้ำ ที่ไม่เพียงพอหรือมีสิ่งเจือปนที่เป็นพิษต่อกระต่าย
  3. พันธุกรรม โรคหรือลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างสามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้เช่น ลักษณะฟันยื่นลักษณะกระต่ายฟันยื่น
  4. เชื้อโรค ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตชัว พยาธิเห็บ หมัด เหา ไร เป็นสาเหตุที่ เด่นชัดและพบได้เป็นประจำ

การป้องกันโรค

สามารถทำได้โดยพยายามลดสาเหตุของโรคให้เหลือน้อยที่สุดตั้งแต่จุดเริ่มต้นได้แก่

  1. เลือกชื้อกระต่ายที่แข็งแรงและปลอดโรคมาเลี้ยง
  2. ดูแลกระต่ายให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สบาย สะอาด ได้รับอาหารและน้ำเพียงพอ ไม่ร้อนเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก
  3. หมั่นตรวจและสังเกตลักษณะอาการของกระต่ายเป็นประจำ ถ้าพบกระต่ายป่วย ควรแยกไปเลี้ยงในที่เฉพาะและส่งรักษาทันทีถ้าไม่สามารถรักษาได้ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ สำหรับกระต่ายตัวอื่นที่ยังไม่ป่วยควรดูแลเป็นพิเศษและทำความสะอาดโรงเรือนให้บ่อยขึ้น
  4. ไม่ควรใช้ยาเอง ถ้าไม่มีความรู้เพียงพอ ถ้าจะใช้ยาเองควรทำตามคำแนะนำของ สัตวแพทย์และไม่ควรใช้ยาโดยไม่จำเป็นเพราะจะทำให้เชื้อโรคตื้อยาได้

โรคของกระต่าย

1.พาสเจอร์เรลโลลิส (Pasturellosis) เป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหาที่สำคัญในกระต่าย โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ พาสเจอเรลลา มัลโตซิดา (Pasturella multocida) ซี่งทำให้กระต่ายป่วยและมีอาการ แตกต่างกันตามอวัยวะที่ติดเชื้อดังนี้

  • หวัด กระต่ายจะจามบ่อย ๆ มีน้ำมูกไหลออกจากช่องจมูก หายใจไม่สะดวก จมูกและเท้าหน้าจะเปียกชุ่มและมีน้ำมูกติดเนื่องจากกระต่ายใช้เท้าหน้าเช็ดจมูก รักษาโดยให้ยากิน เช่น เพนนิวิลลิน วี (Penicillin V ) หรือถ้าไม่แน่ใจให้รีบนำไปปรึกษาสัตวแพทย์
  • ปอดบวม มักเกิดจากการเป็นหวัดแล้วลุกลามเข้าสู่ปอด กระต่ายจะหายใจ ลำบาก หอบ ริมฝีปากและเปลือกตาจะมีสีคล้ำ ในระยะแรกจะมีไข้สูง เบื่ออาหารและนอนหมอบนิ่ง ลูกกระต่ายถ้าเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะตาย สำหรับกระต่ายใหญ่จะมี โอกาสรอดเพียง 75 % ดังนั้นถ้าพบอาการเช่นนี้ในกระต่ายควรรีบนำกระต่ายไปพบสัตวแพทย์ทันที
  • ตาอักเสบ มักเกิดหลังจากที่กระต่ายเป็นหวัด เนื่องจากกระต่ายชอบใช้เท้าหน้า เช็ดจมูก ทำให้เชื้อโรคจากจมูกเข้าสู่ตาได้ง่าย อาการเริ่มแรกคือหนังตาและตาขาว อักเสบ บวมแดง บางครั้งมีหนองส่วนแก้วตาจะอักเสบและขุ่นขาว ถ้าไม่รีบรักษาอาจทำให้ตาบอดได้ การล้างตาให้สะอาดโดยใช้น้ำ เกลือ (0.85%) หรือน้ำยาล้างตา แล้วใช้ยาปฏิชีวนะในรูปครีม หรือใช้ยาหยอดตาของคนทาจนกว่าจะหาย
  • อัณฑะอักเสบ เกิดจากติดเชื้อที่อัณฑะ ทำให้ลูกอัณฑะขยายใหญ่ และมีหนองเมื่อ จับที่อัณฑะจะรู้สึกร้อนกว่าปกติการอักเสบมักลุกลามไปที่อวัยวะเพศทำให้สามารถติดต่อได้
  • มดลูกอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อหลังคลอดลูกหรือจากการผสมพันธุ์ผนังมดลูกจะเกิดการอักเสบ มีหนองภายในโพรงมดลูกและอาจพบหนองถูกขับออกมาทาง อวัยวะเพศ มักมีไข้สูง เมื่อคลำตรวจจะพบว่ามดลูกขยายใหญ่ การรักษาทำได้ยากมากและ กระต่ายมักจะเป็นหมันจึงควรคัดทิ้ง

2.สแตฟฟิลโลคอคโคซีส (Staphylococcosis) โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ สแตฟฟิลโลคอคคัส ออเรียล (Staphylococcus aureus) ทำให้กระต่ายป่วยและมีอาการดังนี้

  • ฝีหนองใต้ผิวหนัง เกิดจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทำให้เป็นหนองซึ่งมีเปลือกหุ้ม เมื่อฝีสุกเปลือกฝีส่วนหนึ่งจะบางลงและแตกออกมีหนองไหลออกมา การรักษา ต้องรอให้ฝีสุกและเจาะเอาหนองออก ขูดเปลือกฝีด้านในให้สะอาด แล้วทาด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน
  • เต้านมอักเสบ เต้านมจะร้อน บวมแดง มีไข้ กระต่ายตัวที่เป็นอย่างรุนแรง เต้านม จะมีสีคล้ำ เย็นและแข็ง ถ้าพบอาการเช่นนี้ควรคัดทิ้งหรือถ้าไม่แน่ใจควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์
  • ข้ออักเสบ เกิดจากมีบาดแผลที่ผิวหนังบริเวณฝ่าเท้าแล้วเชื้อโรคลุกลามเข้าสู่ ข้อเท้าทำให้ข้อบวมแดงเจ็บปวด กระต่ายอาจมีไข้และมักพบบาดแผลที่ฝ่าเท้าการรักษา ทำความสะอาดแผล แล้วทาด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน ถ้ามีหนองในข้อจะรักษาได้ยากและอาจจำเป็นต้องตัดขาเหนือข้อที่อักเสบ ควรป้องกันโดยการดูแลพื้นกรงอย่าให้มีส่วนแหลมคมยื่นออกมาตำเท้ากระต่าย

3.โรคบิด (Coccidiosis) เกิดจากเชื้อโปรโตชัวพวกไอเมอร์เรีย ได้แก่ Eimeria stiedac, E.irresdua, E.magna ฯลฯ การติดต่อจะเกิดจากโอโอซิส (Oocyst) ของเชื้อที่ปนมากับอาหารและน้ำอาการที่เกิด ถ้าเป็นน้อยจะไม่แสดงอาการ แต่ถ้าเป็นมากซึ่งมักพบในลูกกระต่ายจะทำให้น้ำหนักลดท้องเสีย อาจถ่ายเป็นน้ำหรือมีเลือดปน และอาจทำให้ตายได้ การรักษาเลือกใช้ยาในกลุ่มซัลฟา (Sulfa) หรือแอมโปรเลียม (Amprolium )

4.โรคพิซเชอร์ (Tizzer ‘s disease) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ แบซิลลัส ฟิลลิฟอร์มิส (Bacillus pilliformis) มักพบในกระต่ายที่มีอายุ 7-12 สัปดาห์มากที่สุด อาการที่แสดงออกคือ ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำหรือเลือด ในรายที่เกิดอย่างเฉียบพลันจะมีเลือดออก จากลำไส้ใหญ่กระต่ายจะตายเนื่องจากเสียน้ำและเลือดมาก การรักษาคือให้ยา ออกซี่เตตร้าไซคลีน (Oxytetracyclin) ละลายน้ำให้กิน

5.โรคติดเชื้อ อี.โค.ไล (Colibacillosis) เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเชื้อ E.coli ในทางเดินอาหารกระต่ายจะมีอาการท้องเสีย อย่างรุนแรงและตาย การรักษาอาจให้ยาปฎิชีวนะเพื่อลดจำนวนแบคทีเรียในลำไส้ ให้น้ำเกลือ ลดอาหารข้น และเพิ่มอาหารหยาบ

6.เอ็นเทอร์โรท๊อกซีเมีย (Enterotoxemia) เกิดจากเชื้อคลอสติเดียม (Clostridium spp.) ทำให้กระต่ายท้องเสียหรือตาย อย่างเฉียบพลัน สามารถรักษาเช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออีโคไล

7.ไรในหู (ear mange or ear canker) เกิดจากไรพวกโชรอบเตส แคนิคุไล(Psoroptes caniculi) อาการที่จะเห็นคือแผ่นสีน้ำตาลคล้ายขี้หูซ้อนเป็นชั้น ๆ ที่ด้านในของใบหู ถ้าสังเกตดี ๆจะพบตัวไรขนาดเล็กสีน้ำตาลจำนวนมาก กระต่ายที่เป็นโรคนี้จะคันหู ทำให้มันสั่นหัวและใช้เท้าเกาหูจนบางครั้งเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ทำให้มีหนองและมีกลิ่นเหม็น สามารถรรักษาด้วยการทำความสะอาดด้านในของใบหูเช็ดด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไชด์(H202) แล้วทาด้วยขี้ผึ้งกำมะถันให้ทั่ว ควรป้องกันโดยการตรวจหูกระต่ายเป็นประจำและทำความสะอาดกรงและอุปกรณ์การเลี้ยงเสมอ ๆ

8.ไรที่ผิวหนัง (skin mange) เกิดจากไรพวก Sarcoptes scabei, var. cuniculi, Notedes
cati var. caniculi อาการที่เกิดคือ ผิวหนังเป็นสะเก็ดหนาและย่น ขนร่วงพบมากที่ปลายจมูกและขอบใบหูการรักษา ขูดผิวหนังให้สะเก็ดหลุดออก ทาด้วยขี้ผึ้งกำมะถัน ถ้ายังไม่หายควรปรึกษาสัตวแพทย์ สามารถทำการป้องกันและควบคุมโดยทำเช่นเดียวกับโรคไรในหู


แหล่งซื้อขายกระต่าย

แหล่งซื้อกระต่ายถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะหากเราไปซื้อในฟาร์มที่มีความน่าเชื่อถือ และได้ซื้อกระต่ายพันธุ์ดีสมบูรณ์ ก็เป็นการการันตีได้ว่ากระต่ายที่เราซื้อมาเป็นสายพันธุ์แท้ และไม่มีโรคแข็งแรง แถมยังมีตัวเลือกให้เราเลือกหลากหลายอีกด้วย

1. Boonsong rabbit farm

2. ร้านขายกระต่าย Sweet Heart Rabbitry

3. บังฮับฟาร์มกระต่าย จำหน่ายกระต่ายทุกสายพันธ์

4. Farmrak ฟาร์มรัก ฟาร์มกระต่ายฮอลแลนด์ลอป

5. บ้านกระต่ายเชียงใหม่ ขายกระต่ายน่ารัก


ใครอ่านมาถึงตรงนี้ก็เป็นการพิสูจน์แล้วว่าคุณสนใจที่อยากจะเลี้ยงกระต่ายจริง ๆ และทาง kaset.today ก็อยากให้บทความนี้ช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจเลือกสายพันธุ์กระต่ายที่คุณชอบ ซึ่งตอนนี้เป็นกลุ่มปศุสัตว์ที่กำลังเป็นที่นิยมทังในหมู่คนเลี้ยง และคนขาย และยังส่งมอบข้อมูลดี ๆให้คุณรู้ ถ้าหากคุณเลี้ยงกระต่ายแล้วก็ควรจะรู้วิธีดูแลและการป้องกันโรคที่สามารถเกิดกับน้องกระต่ายของคุณได้ดี

แหล่งอ้างอิง

Premier Pet Hospital

การเลี้ยงกระต่าย . คุณสมศักดิ์ บัณฑุปัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

การเลี้ยงกระต่าย . ชมรมกระต่าย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้